ThaiPublica > เกาะกระแส > “ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์” เปิดตัว ”กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน” 3 แนวทาง 6 ข้อเสนอ

“ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์” เปิดตัว ”กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน” 3 แนวทาง 6 ข้อเสนอ

14 พฤษภาคม 2014


เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2557 นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมกับกูรูพลังงานกว่า 30 คน แถลงข่าวเปิดตัว“กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน”
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2557 นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมกับกูรูพลังงานกว่า 30 คน แถลงข่าวเปิดตัว “กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน”

ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา มีข้อถกเถียง ข้อขัดแย้งในข้อมูลพลังงานของไทยที่จะนำไปสู่การปฏิรูปพลังงานไทย ด้วยข้อมูลที่นำเสนอบางส่วนไม่ครบ บางส่วนไม่ตรงกับข้อเท็จจริง สร้างความสับสนให้กับประชาชน จนกลายเป็นกระแสสังคมในขณะนี้

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2557 “นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน” แถลงข่าวเปิดตัว“กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน” ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มบุคคลจากหลายอาชีพผู้มีประสบการณ์ด้านพลังงานโดยตรงกว่า 30 คน มารวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มปฏิรูปพลังงาน เพื่อนำเสนอข้อมูลและแนวทางการปฏิรูปพลังงานที่ยั่งยืนบนฐานข้อมูลที่ถูกต้อง แนวทางที่กลุ่มนี้นำเสนออาจจะไม่ถูกใจประชาชนทั่วไป เพราะไม่ใช่ประชานิยม แต่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการ ทั้งนี้เพื่อสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานให้กับประเทศในอนาคต

การปฏิรูปพลังงานที่ยั่งยืน ตามข้อเสนอของนายปิยสวัสดิ์แบ่งเป็น 3 กลุ่่ม แต่ละกลุ่มมีการนำเสนอทางแก้ หรือขั้นตอนที่จะนำไปสู่การปฏิรูปพลังงานที่ยั่งยืน 6 ประการ ดังนี้

กลุ่มที่ 1 การกำหนดราคาที่เป็นธรรมและสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง แนวทางในการปฏิรูปพลังงานในกลุ่มนี้ นายปิยสวัสดิ์เสนอให้ปรับโครงสร้างราคาพลังงาน เพื่อนำไปสู่การใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรมแก่ผู้ใช้พลังงานกลุ่มต่างๆ ขณะนี้มีผู้ใช้พลังงานบางกลุ่มใช้พลังงานในราคาที่ถูก โดยมีผู้ใช้อีกกลุ่มเป็นผู้จ่ายเงินอุดหนุนในอัตราที่สูง ดังนั้น รัฐบาลจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ราคาพลังงานเป็นเครื่องมือในการให้สวัสดิการสังคมแก่ประชาชน แต่ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องมีการอุดหนุนราคาพลังงาน ควรทำเท่าที่จำเป็นเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย โดยไม่ให้กระทบต่อกลไกตลาด และมีกรอบการใช้เงินที่ชัดเจน

กลุ่มที่ 2 ปฏิรูปบริษัท ปตท. เป็นธุรกิจขนาดใหญ่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในกลุ่มนี้นายปิยสวัสดิ์มีข้อเสนอ 2 ประการ คือ 1) เพิ่มการแข่งขันในธุรกิจพลังงาน และเพื่อไม่ให้มีการเอาเปรียบผู้บริโภค กิจการที่มีการแข่งขันของรัฐวิสาหกิจต้องเข้ามาอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า และให้บริษัท ปตท. ขายหุ้นทั้งหมดในโรงกลั่นบางจากและโรงกลั่นน้ำมันสตาร์ปิโตรเลียม (SPRC Refinery) รวมทั้งแยกกิจการท่อก๊าซธรรมชาติออกจาก ปตท. เปิดให้บริการใช้ท่อก๊าซธรรมชาติแก่บุคคลที่สาม (Third party access) เพื่อให้ผู้ใช้มีทางเลือก โดยขั้นแรก ขอเสนอให้ ปตท. ถือหุ้นโรงแยกก๊าซ 100% ขั้นที่ 2 ให้แยกความเป็นเจ้าของจากผู้ให้บริการ โดยให้รัฐถือหุ้นโรงแยกก๊าซมากกว่า 50% ซึ่งจะเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ กำหนดผู้ให้บริการส่งก๊าซธรรมชาติ ห้ามทำธุรกิจที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ เช่น ไฟฟ้า

นอกจากนี้ นายปิยสวัสดิ์ยังเสนอให้โอนการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าภูมิภาค เข้ามาอยู่ในสังกัดกระทรวงพลังงาน เช่นเดียวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกิจการไฟฟ้า การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต อาทิ สายส่ง Smart grid ระบบจำหน่าย และมาตรฐานการให้บริการ การจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (Demand side management: DSM) และการกำกับนโยบาย ปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าให้มีการแข่งขันให้ประชาชนมีทางเลือกในการซื้อไฟฟ้า และปรับปรุงบทบาทการทำงานของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้เข้มแข็ง ทั้งในเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภคและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน

ข้อเสนอที่ 2) ลดการแทรกแซงทางการเมือง ลดการแทรกแซงโดยมิชอบและแสวงหาประโยชน์ในกิจการพลังงานที่รัฐถือหุ้น และการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีดังนี้

– แยกการกำกับดูแล การกำหนดนโยบาย และการดูแลผลประโยชน์ของรัฐในฐานะของผู้ถือหุ้นออกจากกันอย่างชัดเจน โดยห้ามข้าราชการที่มีหน้าที่กำกับดูแล หรือมีอำนาจในการกำหนดนโยบายที่อาจจะให้คุณให้โทษต่อกิจการ เป็นกรรมการในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีรัฐถือหุ้น
– ปรับปรุงระบบการสรรหาและแต่งตั้งกรรมการในบริษัทที่รัฐถือหุ้นให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลของบริษัทชั้นนำของโลก มีความโปร่งใส ประชาชนสามารถตรวจสอบได้
– ข้าราชการที่เป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ หรือกรรมการในบริษัทมหาชนที่รัฐถือหุ้น ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติหน้าที่ ควรได้รับผลตอบแทนในอัตราที่เหมาะสมหากมีผลตอบแทนส่วนที่เกินควรให้นำส่งคลัง
– เมื่อแยกกิจการท่อส่งก๊าซธรรมชาติออกไปจาก ปตท. จากนั้นรัฐบาลต้องลดสัดส่วนการถือหุ้นใน ปตท. ลงต่ำกว่า 50% จนพ้นสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจ เพื่อลดการแทรกแซงจากภายนอก เพิ่มความคล่องตัวและประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

3 แนวทาง  6ข้อเสนอปฏิรูปพลังงาน

กลุ่มที่ 3 ขจัดอุปสรรค และลดความซ้ำซ้อน ในกลุ่มนี้นายปิยสวัสดิ์ให้ข้อเสนอแนะ 3 ข้อ ดังนี้
ข้อเสนอที่ 1) ปรับปรุงกระบวนการในการกำหนดนโยบาย และการขออนุญาต มีข้อแนะนำดังนี้
– ควรให้มีผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายพลังงาน
– จัดตั้งสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานแบบ EIA ของสหรัฐฯ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลที่ถูกต้องและทำหน้าที่ในการเผยแพร่ที่สมบูรณ์ และเป็นที่ยอมรับ
– แก้ไขกฎระเบียบ และกฎหมายที่มีความซ้ำซ้อน เพื่อแก้ปัญหาความล่าช้าในการขออนุญาตในกิจกรรมที่เกี่ยวกับพลังงาน และเป็นแหล่งแสวงหาผลประโยชน์ที่มิชอบทางการเมือง อย่างเช่น พ.ร.บ.โรงงาน กับ พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ร.บ.ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง และปัญหาความล่าช้าในการกำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเครื่องจักร อุปกรณ์ และอาคาร โดยแก้ไข พ.ร.บ.การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เป็นต้น

ข้อเสนอที่ 2) สำรวจ พัฒนา และจัดหาแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงหลัก สืบเนื่องจากความไม่ไว้วางใจภาครัฐ และไม่เข้าใจในข้อมูล รวมถึงลักษณะเฉพาะของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจนกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาปิโตรเลียม ขณะนี้เริ่มส่งผลกระทบต่อการจัดหาปิโตรเลียมในประเทศ ทำให้การนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืนจึงมีข้อเสนอแนะดังนี้

– เพื่อสร้างความมั่นใจในข้อมูลและความโปร่งใส ควรให้ประเทศไทยสมัครเป็นสมาชิกของโครงการเพื่อความโปร่งใสในภาคอุตสาหกรรมการสกัดทรัพยากร (Extractive Industries Transparency Initiative: EITI)
– จัดตั้งคณะกรรมการที่มีผู้แทนจากทุกฝ่ายเพื่อพิจารณาความเหมาะสมของการปรับปรุงระบบการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในปัจจุบัน ให้ได้ข้อยุติใน 3 เดือน และเดินหน้าเปิดพื้นที่สำรวจและพัฒนาปิโตรเลียม รอบที่ 21 โดยเร็ว
– ควรนำพื้นที่ในภาคเหนือที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงกลาโหมเข้ามาอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียมและภาษีเงินได้ปิโตรเลียม
– เร่งพิจารณาแนวทางการพัฒนาแหล่ง สำหรับสัมปทานปิโตรเลียมในพื้นที่ผลิตที่ไม่สามารถขยายระยะเวลาได้อีกตามกฎหมาย เพื่อให้ได้ข้อยุติอย่างน้อย 5 ปีก่อนการสิ้นสุดสัมปทาน
– ให้กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน และคณะกรรมาธิการร่วมของรัฐสภา ร่วมกันวางแนวทางและมอบหมายให้จัดตั้งคณะเจรจา เพื่อหาข้อยุติกับกัมพูชา ในการเข้าไปสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาในทะเล

ข้อเสนอสุดท้าย ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พลังงานหมุนเวียน และพลังงานสะอาด มีรายะเอียดลดังนี้

– แก้ไขกฎกระทรวงออกตามความใน พ.ร.บ.โรงงาน ให้การผลิตไฟฟ้าเป็นโรงงานจำพวกที่ 1 (ไม่ต้องขออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน) เพราะต้องขออนุญาตจาก กกพ. อยู่แล้ว และยุบเลิกคณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยโอนภารกิจไปให้ กกพ. ส่วนโครงการ SPP/VSPP ด้านพลังงานแสงอาทิตย์ที่ยังค้างการพิจารณาอยู่ เสนอให้ปรับเงื่อนไขและราคารับซื้อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี ต้นทุน และศักยภาพของวัตถุดิบในประเทศไทย สถานการณ์ตลาดในปัจจุบัน และปฏิบัติต่อผู้ลงทุนทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน
– แก้ไขพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเพื่อให้สามารถเร่งกำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพการใช้พลังงานขั้นต่ำของเครื่องจักร อุปกรณ์ และอาคาร ให้มีความเข้มข้นมากขึ้น
– จัดทำแผนในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ และการจัดหาพลังงานเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างเป็นระบบ

“ข้อเสนอนี้เป็นข้อเสนอเพื่อให้รัฐบาลนำไปพิจารณาปฏิบัติ ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล โดยในขั้นแรกรัฐจะต้องเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักวิชาการ ส่วนราชการ ผู้ประกอบการด้านพลังงาน ผู้ใช้พลังงาน และภาคประชาชน ทั้งนี้ต้องสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตร โดยผู้ร่วมแสดงความเห็นต้องเปิดใจฟังความเห็นของผู้อื่น การปฏิรูปพลังงานที่ยั่งยืน (www.energyreform.in.th) ไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ยอมฟังความเห็นที่แตกต่างกัน แต่กลับใส่ร้ายป้ายสีผู้ที่คิดต่าง” นายปิยสวัสดิ์กล่าว

ด้าน ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า ปัญหาการบิดเบือนข้อมูลพลังงานที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยในขณะนี้เกิดจากความเชื่อ หากประชาชนได้รับข้อมูลไม่ถูกต้อง ก็จะไปมองอีกมุมหนึ่งจนทำให้เกิดความสับสน อย่างเช่น ข้อความที่ว่าประเทศไทยมีแหล่งผลิตปิโตรเลียมจำนวนมาก และถ้าเชื่อว่ามีแหล่งพลังงานเป็นจำนวนมาก ราคาก็ควรจะถูกกว่านี้ แต่โดยหลักวิชาการ การกำหนดราคาพลังงาน ต้องสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง อย่างเช่น ประเทศนอร์เวย์มีพลังงานเป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่ได้กำหนดราคาพลังงานในระดับที่ต่ำ อย่างไรก็ตาม มีประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่บางประเทศ กำหนดราคาพลังงานต่ำกว่าความเป็นจริง แต่ก็เกิดปัญหาตามมาในอนาคต เช่น เวเนซุเอลา อินโดนีเชีย เป็นต้น

“ที่พูดถึงกันมากอีกประเด็นเป็นเรื่องการบริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียม ซึ่งมีการปั่นกระแสให้เกิดความเชื่อว่าระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) ทำให้รัฐได้รับผลประโยชน์มากกว่าระบบสัมปทานเดิมที่เรียกว่า Thailand III การนำข้อมูลที่ไม่ถูกต้องมาสร้างกระแส อาจจะทำให้การกำหนดนโยบายผิดเพี้ยน ประเทศไทยมีแหล่งพลังงานมากจริง แต่ไม่พอใช้ ตลอด 40 ปีที่ผ่านมาต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ อดีตเคยนำเข้าพลังงานสูงถึง 90% ของปริมาณความต้องการใช้พลังงานในประเทศ แต่หลังจากที่ค้นพบแหล่งปิโตรเลียมในประเทศ ทำให้ยอดนำเข้าพลังงานในปัจจุบันมีสัดส่วนลดลงมาอยู่ที่ระดับ 50-60% แต่ในอนาคตมีแนวโน้มว่าจะมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากบริหารจัดการขาดประสิทธิภาพ นโยบายไม่ชัดเจน ธุรกิจพลังงานบางประเภทมีการแข่งขันน้อยเกินไป การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานถูกต่อต้านในหลายพื้นที่ เพราะคิดว่ารัฐจะมาหลอกลวงเอาผลประโยชน์” ดร.ทวารัฐกล่าว

ปฏิรูปพลังงาน

ส่วนนายมนูญ ศิริวรรณ อดีตผู้บริหารบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมเรื่องปัญหาโครงสร้างราคาพลังงานที่บิดเบือนว่า เรื่องแรกที่ต้องทำคือ ทบทวนโครงสร้างอัตราภาษีสรรพสามิต ปัญหาคือขณะนี้น้ำมันดีเซลแทบจะไม่เสียภาษีเลย หรือเสียภาษีในอัตรา 0.005 บาทต่อลิตรเท่านั้น ในอดีตกรมสรรพสามิตเคยเก็บภาษีในอัตรา 5.31 บาทต่อลิตร หากจะกลับไปเก็บในอัตราเดิมในทันทีคงจะมีผลกระทบมากมาย ดังนั้นการปรับขึ้นอัตราภาษีดีเซลควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือทยอยปรับขึ้น คงจะปรับขึ้นไปไม่ถึง 5 บาทต่อลิตร แต่ไม่เก็บภาษีเลย หรือเก็บแค่ 0.005 บาทต่อลิตรคงไม่ได้ เพราะผู้ที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นผู้ก่อมลภาวะ การตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรเป็นเวลานานทำให้ประชาชนหันมาใช้น้ำมันดีเซลเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบแก้ไข

นายมนูญกล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องแก๊สแอลพีจี (LPG) ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการปรับโครงสร้างราคาไปบ้างแล้ว โดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติให้ปรับราคาแอลพีจีที่ใช้ในภาคครัวเรือนเดือนละ 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม ส่วนนี้คงจะปล่อยให้เป็นไปตามมติของ กพช. แต่แอลพีจีที่ใช้ในภาคขนส่ง กพช. ไปกำหนดราคาสูงสุดไว้ที่ 21.38 บาทต่อกิโลกรัม ไม่สามารถปรับราคาขึ้นไปพร้อมกับแอลพีจีที่ใช้ในภาคครัวเรือนได้ เรื่องนี้คงต้องรอรัฐบาลชุดใหม่ปรับราคาขึ้นไปพร้อมๆ กัน ส่วนก๊าซเอ็นจีวี (NGV) มีปัญหามาก คือไม่จ่ายภาษีเลย ถือว่าไม่เป็นธรรมกับผู้ที่ใช้พลังงานรูปแบบอื่น และการกำหนดราคาเอ็นจีวีต่ำเกินไป ทำให้การใช้พลังงานขาดประสิทธิภาพ แทนที่จะส่งเสริมให้ใช้เอ็นจีวีในภาคขนส่งสาธารณะเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีรถยนต์ส่วนบุคคลหันมาใช้เอ็นจีวีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงขอเสนอให้กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีเอ็นจีวี

“หากเก็บภาษีเอ็นจีวีถามว่ากระทบกับประชาชนจำนวนมากหรือไม่ ผมคิดว่าไม่ส่งผลกระทบมากนัก แต่ถ้าเราไปตรึงราคาไว้ที่ 10.50 บาทต่อกิโลกรัมต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่ทำอะไร อนาคตจะมีคนหันมาใช้เอ็นจีวีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดไม่สามารถแก้ไขได้ เหมือนกับรถยนต์ที่ใช้แอลพีจี ปัจจุบันรัฐบาลก็ยังไม่สามารถยับยั้งการขยายตัวของรถยนต์ที่หันมาใช้แอลพีจีได้ ต่อไปเอ็นจีวีก็จะมีสภาพเช่นเดียวกันกับแอลพีจี” นายมนูญกล่าว

นายมนูญกล่าวว่า นอกจากเรื่องการทบทวนโครงสร้างภาษีพลังงานแล้ว ตนเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่ทบทวนอัตราการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันทุกวันนี้ไม่มีความเป็นธรรม เช่น เบนซิน 95 ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันลิตรละ 10 บาท และเงินที่เก็บได้นำไปอุดหนุนให้คนที่ใช้แอลพีจีหรือแอลพีจีนำเข้า ทำให้เกิดการอุดหนุนข้ามภาค จริงๆ แล้วกองทุนน้ำมันไม่ได้มีหน้าที่จ่ายเงินอุดหนุนให้กับคนที่ใช้พลังงานบางกลุ่ม แต่มีหน้าที่รักษาเสถียรภาพราคาพลังงาน ถือว่าใช้เงินกองทุนน้ำมันผิดวัตถุประสงค์

“แนวทางแก้ไข คอต้องปรับราคาแอลพีจีให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง หากเราแก้ปัญหาเรื่องราคาแอลพีจีได้ เราก็จะแก้ปัญหาราคาน้ำมันเบนซินและเบนซินแก๊สโซฮอล์ที่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันในอัตราที่สูงเกินไปได้ ซึ่งทำให้โครงสร้างราคาพลังงานปรับตัวเข้าสู่ภาวะสมดุลตามมา” นายมนูญกล่าว

ขณะที่ นายบรรยง พงษ์พานิชประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงขั้นตอนการแปรรูปบริษัท ปตท. ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลว่ามีขั้นตอนและหลักการสำคัญดังนี้ คือ ประการแรก ต้องปรับปรุงในเรื่องของธรรมาภิบาลก่อน โดยเฉพาะการสรรหาคณะกรรมการ ปตท. ต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล ประการที่ 2 ลดอำนาจเหนือตลาด โดยการขายหุ้นโรงกลั่นน้ำมันบางแห่งออกไป และแยกกิจการท่อส่งก๊าซธรรมชาติออกจาก ปตท. ช่วงแรกให้ ปตท. ถือหุ้นกิจการท่อส่งก๊าซฯ 100% จากนั้นทยอยขายหุ้นออกเพื่อลดสัดส่วนการเป็นเจ้าของ โดย ปตท. จะมีรายได้จากการเก็บค่าบริการผ่านท่อก๊าซพอสมควร

“การแปรรูป ปตท. ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ควรทบทวนแผนธุรกิจของ ปตท. อีกครั้ง ก่อนที่จะนำไปสู่ขั้นตอนสุดท้าย คือ รัฐถือหุ้น 0% ประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในเรื่องของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจก็คือประเทศอังกฤษ รัฐบาลไม่ได้ถือหุ้นเลย ทำให้การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ขณะที่รัฐจะทำหน้าที่ควบคุมดูแลเท่านั้น หากรัฐบาลชุดใหม่ตัดสินใจแปรรูป ปตท. ออกไป คาดว่ารัฐบาลจะมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5 แสนล้านบาท สามารถนำไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยไม่เป็นภาระหนี้สาธารณะ หรือทำจำนำข้าวได้อีกหลายฤดู” นายบรรยงกล่าว

นายบรรยงกล่าวต่อไปอีกว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีปัญหามากมาย อย่างเช่น ปัญหาคอร์รัปชัน ปัญหาการใช้อำนาจรัฐเกินขอบเขต วิธีแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุดคือต้องลดขนาดของรัฐลงไป ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นขายสมบัติชาตินั้น ผมขอชี้แจงว่าในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจกว่า 30,000 แห่งเกิดขึ้นใน 120 ประเทศโลก โดยเฉพาะประเทศคอมมิวนิสต์ที่เคยมองว่ารัฐเก่ง รัฐดี ทุกอย่างต้องเป็นของรัฐ แต่ในที่สุดทุกประเทศก็ยอมรับว่าหลักการดังกล่าวใช้ไม่ได้ ผิด จึงต้องคืนกิจการเหล่านี้ไปให้เอกชนเป็นผู้บริหารกิจการ