ThaiPublica > สู่อาเซียน > Vientiane Smart City วิธีจัดการ “หนี้สิน-สัมปทาน” ที่น่าสนใจของลาว

Vientiane Smart City วิธีจัดการ “หนี้สิน-สัมปทาน” ที่น่าสนใจของลาว

20 พฤศจิกายน 2021


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

ภาพจำลองโครงการ Vientiane Smart City

ยามเย็น บนทางเดินริมฝั่งโขงที่ท่าเสด็จ ในตัวเมืองหนองคาย

คนที่กำลังวิ่งออกกำลังกาย หรือเดินเล่นรอดูพระอาทิตย์ตกดิน ที่มีสะพานมิตรภาพไทย-ลาวเป็นหน้าฉาก หากผายหน้าไปยังบ้านท่าเดื่อที่อยู่ตรงข้าม มองดูรถราที่วิ่งไปมาบนถนนริมโขงฝั่งเวียงจันทน์

ณ วันนี้ อาจยังไม่เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น

แต่ลึกเข้าไปข้างใน สัญญาณของความคึกคักทางเศรษฐกิจกำลังก่อตัว และคาดว่าจะได้เห็นภาพที่ชัดเจนในอีกไม่นานนี้

……

10 พฤศจิกายน 2564 ห้องว่าการ องค์การปกครองนครหลวงเวียงจันทน์ มีหนังสือแจ้งการเลขที่ 083/หนว. สั่งห้ามทำธุรกรรมใดๆ บนที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง หรืออสังหาริมทรัพย์ ในพื้นที่ 5 บ้าน (เทียบเท่าตำบล) ของเมืองไซเสดถา และอีก 7 บ้าน ของเมืองหาดซายฟอง อีกฟากฝั่งแม่น้ำโขง ตรงข้ามกับอำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย

5 บ้านของเมืองไซเสดถา ที่อยู่ในแจ้งการฉบับนี้ ประกอบด้วย บ้านจอมสี บ้านนาควายใต้ บ้านนาควายกลาง บ้านนาโน และบ้านนาไห ส่วนอีก 7 บ้านในเมืองหาดซายฟอง มีบ้านดงโพนแฮ่ บ้านคำจะเลิน บ้านหนองแปนเหนือ บ้านหนองแปนใต้ บ้านเชียงควน บ้านท่าพะ และบ้านหนองพง (ดูแผนที่ประกอบ)

พื้นที่ในวงกลม ซึ่งคาดว่าจะถูกใช้สร้าง Vientiane Smart City

ทั้ง 12 บ้าน มีเนื้อที่รวมมากกว่า 2,900 เฮกตาร์ หรือมากกว่า 18,125 ไร่ (1 เฮกตาร์ = 6.25 ไร่)

ธุรกรรมที่ถูกสั่งห้าม มีตั้งแต่ ห้ามบุคคล นิติบุคคล เจ้าหน้าที่รัฐ ทหาร ตำรวจ บุกรุก หรือเข้าไปกระทำการใดๆ ในพื้นที่นี้

ส่วนผู้ที่อาศัยหรือครอบครองที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในบริเวณนี้อยู่แล้ว ก็ถูกห้ามปลูกสร้าง ต่อเติม ซื้อ ขาย จำนอง โอนสิทธิ์การใช้ที่ดิน ขุดหนองน้ำ แม้แต่การขุดหน้าดินขาย

หนังสือแจ้งการเลขที่ 083/หนว. สั่งห้ามทำธุรกรรมใดๆ บนที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง หรืออสังหาริมทรัพย์ ในพื้นที่ 12 บ้าน ของเมืองไซเสดถา และหาดซายฟอง

เหตุผลที่นครหลวงเวียงจันทน์ต้องออกคำสั่งนี้ เพราะพื้นที่นี้ได้ถูกกำหนดให้อยู่ในเขตพัฒนาเพื่อสร้างเป็นเมืองอัจฉริยะ หรือเมืองทันสมัย (Smart City) และกำลังจะมีการสำรวจปักปันเขตแดนที่แน่นอนก่อนเริ่มต้นโครงการ จึงจำต้องห้ามทำธุรกรรมทุกประเภทเอาไว้ก่อน

บริษัทดวงจะเลิน พัดทะนา ก่อสร้าง จำกัด ได้รับสัมปทานพัฒนาพื้นที่นี้ เพื่อสร้างขึ้นเป็น Smart City แห่งแรกของนครหลวงเวียงจันทน์…

วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 สื่อหลายสำนักในลาวรายงานถึงโครงการ Smart City ว่า บนพื้นที่รวมกว่า 2,900 เฮกตาร์ ได้แบ่งเป็นส่วนของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ 1,500 เฮกตาร์ หรือ 50.70% อีก 600 เฮกตาร์ หรือ 21.18% เป็นส่วนของถนน ลานจอดรถ และลานกิจกรรมและอีก 800 เฮกตาร์ หรือ 27.12% เป็นพื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะ

ตามแผนผังที่บริษัทดวงจะเลินกำหนดไว้ แบ่งการพัฒนาออกเป็น 13 เขต ตามประเภทกิจกรรม ประกอบด้วย

บริษัทดวงจะเลินระบุว่า โครงการ Smart City เป็นต้นแบบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของตัวเมือง การบริหารจัดการเมือง การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน และรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อดึงดูดการลงทุนทั้งจากภายในและต่างประเทศ สร้างงานให้ประชาชนในท้องถิ่น

เมื่อเริ่มก่อสร้าง บริษัทจะจ่ายเงินชดเชยให้เจ้าของที่ดินเดิมซึ่งอยู่ในพื้นที่ ตามอัตราที่รัฐบาลลาวกำหนด รวมถึงให้สิทธิพิเศษแก่เจ้าของที่ดินเหล่านั้น สามารถเข้ามาทำงานกับกิจการต่างๆ ในโครงการเพื่อจะได้มีรายได้ประจำ และกระตุ้นการมีส่วนร่วมในการปกป้องผืนดิน อนุรักษ์และสนับสนุนวัฒนธรรมดั้งเดิมที่มีอยู่ในท้องถิ่น ให้ได้รับการพัฒนาควบคู่ไปกับการสร้างเมืองใหม่ในรูปแบบที่ทันสมัย

……

โครงการ Smart City ไม่เพียงเป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ที่อยู่ไม่ไกลไปจากชายแดนลาว-ไทยเท่านั้น

แต่โครงการนี้ยังเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เกี่ยวกับวิธีการบริหาร จัดการหนี้สิน งบประมาณ และสัมปทาน ระหว่างหน่วยงานของรัฐบาลลาวกับภาคเอกชน

นับแต่ลุงไกสอน พมวิหาน อดีตประธานประเทศลาว ประกาศวิสัยทัศน์ “จินตนาการใหม่” โดยเปิดรับแนวคิดทุนนิยมบางส่วนมาใช้ผสมผสานในการวางแผนพัฒนาประเทศ เมื่อปี 2530

ด้วยความที่ยังขาดแคลนเงินทุนและงบประมาณ ในช่วงแรกของการก่อร่างสร้างประเทศ การพัฒนา ก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคหลายโครงการในลาว ต้องใช้วิธีให้สัมปทานแก่เอกชน มาลงทุน ออกเงินก่อสร้างเองไปก่อน อาจจะทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน จากนั้นรัฐจึงจะชดใช้คืนให้ในรูปแบบต่างๆ ภายหลัง

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2551 องค์การปกครองนครหลวงเวียงจันทน์ มีแผนสร้างถนนเลี่ยงเมือง ระยะทาง 20.3 กิโลเมตร จากถนน 13 ใต้ บริเวณสี่แยกดงโดกไปยังคลังสินค้าท่านาแล้ง ถนนท่าเดื่อ ริมฝั่งแม่น้ำโขง ตรงข้ามอำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย เพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของนครหลวงเวียงจันทน์

ถนนสายนี้เป็นส่วนหนึ่งของถนนวงแหวนเชื่อมถนนสาย 13 เหนือและใต้ ซึ่งเป็นทางหลวงสายหลักของลาว

เมื่อสร้างเสร็จ รถบรรทุกขนาดใหญ่ หลังจากข้ามแม่น้ำโขงจากหนองคายในฝั่งไทย ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 มาถึงฝั่งลาวแล้ว สามารถเลี้ยวซ้ายใช้ถนนตัดใหม่ไปยังสี่แยกดงโดก เข้าสู่ถนนสาย 13 เพื่อเดินทางต่อไปยังภาคเหนือหรือภาคใต้ของลาวได้เลย โดยไม่ต้องเลี้ยวขวา ซึ่งต้องผ่าเข้าตัวเมืองเวียงจันทน์

เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 450 ปีของการตั้งเมืองเวียงจันทน์ ในปี 2553 นครหลวงเวียงจันทน์จึงตั้งชื่อถนนสายนี้ว่า “ถนน 450 ปี”

เอกสารแถลงข่าวของแบงก์ชาติลาว เรื่องการโอนสิทธิ์การใช้ที่ดินริมถนน 450 ปี ให้บริษัทดวงจะเลินนำไปขาย เพื่อนำเงินมาชำระหนี้

นครหลวงเวียงจันทน์ได้ว่าจ้างบริษัทดวงจะเลินเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างถนน 450 ปี และนครหลวงเวียงจันทน์ได้กู้เงินจากธนาคารแห่ง สปป.ลาว (แบงก์ชาติลาว) สำหรับนำมาใช้ในโครงการนี้

ไม่มีการเปิดเผยตัวเลขงบประมาณก่อสร้างถนน 450 ปี รวมถึงวงเงินที่นครหลวงเวียงจันทน์กู้ยืมมาจากแบงก์ชาติลาว และเงินลงทุนที่บริษัทดวงจะเลินได้ใช้ไปสำหรับการก่อสร้างถนนสายนี้ ว่าเป็นจำนวนทั้งสิ้นเท่าใด

มีการวางแผนชำระหนี้ไว้ว่า หลังถนนสร้างเสร็จแล้ว นครหลวงเวียงจันทน์จะนำที่ดินตลอดแนว 2 ฝั่งถนน 450 ปี ลึกฝั่งละ 50 เมตร ขายให้กับผู้ที่สนใจ เพื่อนำเงินมาชำระหนี้คืนแก่แบงก์ชาติลาว

อย่างไรก็ตาม แม้ถนนได้สร้างเสร็จและเปิดใช้งานมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ปีที่ ที่ดิน 2 ฝั่งถนนสายนี้สามารถขายออกไปได้เพียง 20% เท่านั้น โดยขายได้เฉพาะที่ดินแปลงที่สวย กับแปลงที่อยู่ติดกับตัวเมือง

ที่ดินส่วนที่เหลือซึ่งขายไม่ออก เป็นแปลงที่ไกลจากตัวเมือง รูปที่ดินไม่สวย เป็นท้องทุ่งหรือหนองน้ำ ไฟฟ้าและประปายังเข้าไปไม่ถึง

ที่สำคัญคือ ราคาที่นครหลวงเวียงจันทน์ตั้งขายเอาไว้สูงกว่าราคาตลาด

แบงก์ชาติลาวได้ประชุมร่วมกับนครหลวงเวียงจันทน์หลายครั้ง เพื่อหาวิธีการแก้ไขหนี้สินก้อนนี้ ในที่สุด เมื่อปี 2563 ทั้ง 2 หน่วยงานก็ได้เห็นพ้องกันในเบื้องต้นว่า จะโอนสิทธิ์การใช้ที่ดินส่วนที่ยังขายไม่ได้ให้บริษัทดวงจะเลินนำไปพัฒนา เพื่อหาเงินมาชำระหนี้สินทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยแก่แบงก์ชาติลาว

อย่างไรก็ตาม ด้วยวิธีนี้ บริษัทดวงจะเลินต้องลงทุนอีกมากกว่า 30 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ที่ดินเหล่านี้ โดยพัฒนาระบบสาธารณูปโภค สร้างถนน ซอยแยกไปสู่ที่ดิน โดยแบงก์ชาติลาวให้เวลาไว้ 5 ปี เพื่อให้สามารถขายที่ดินได้หมด!!!

จังหวะใกล้เคียงกันนี้เอง รัฐบาลลาวก็มีแนวคิดจะสร้าง Smart City ขึ้นในนครหลวงเวียงจันทน์…

พิธีเซ็นสัญญา 3 ฝ่าย ระหว่างนครหลวงเวียงจันทน์ แบงก์ชาติลาว และบริษัทดวงจะเลิน มอบ-โอนสิทธิ์การใช้ที่ดิน 2 ข้างทางถนน 450 ปี และการชำระหนี้ให้แก่แบงก์ชาติลาว เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2563

วันที่ 7 สิงหาคม 2563 กระทรวงแผนการและการลงทุน เซ็นบันทึกความเข้าใจ (MOU) ให้บริษัทดวงจะเลินศึกษาความเป็นไปได้ ออกแบบ และพัฒนาโครงการ Smart City ในพื้นที่บ้านหนองแปน เมืองหาดซายฟอง

วันที่ 21 ตุลาคม 2563 มีข้อตกลงระหว่างรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน ฉบับที่ 1719/กผท.หขสพ.6 ว่าด้วยการตั้งคณะกรรมการ เพื่อเก็บข้อมูลที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ในพื้นที่โครงการ Smart City

วันที่ 23 ตุลาคม 2563 ที่โรงแรมแลนด์มาร์ค แม่โขง ริเวอร์ไซด์ ได้มีพิธีลงนาม 3 ฝ่าย ระหว่างนครหลวงเวียงจันทน์ แบงก์ชาติลาว และบริษัทดวงจะเลิน ในสัญญามอบ-โอน สิทธิ์การใช้ที่ดิน 2 ข้างทางถนน 450 ปี และการชำระหนี้ให้แก่แบงก์ชาติลาว มีคำวง ทิบพะวง รองผู้ว่าการ แบงก์ชาติลาว อาดสะพังทอง สีพันดอน รองเจ้าครองนครหลวงเวียงจันทน์ และคำผาย สีลาซา ประธานกลุ่มบริษัทดวงจะเลิน เป็นผู้ร่วมลงนาม

ที่ดินริมถนน 450 ปี ที่ถูกระบุไว้ในสัญญา 3 ฝ่ายที่เซ็นกันวันนั้น เป็นคนละส่วนกับที่ดินที่จะสร้างขึ้นเป็น Smart City

วันที่ 21 ธันวาคม 2563 แผนกทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นครหลวงเวียงจันทน์ ได้ประกาศขายสิทธิครอบครองที่ดิน 93 แปลง ในเขตสงวนตลอดแนว 2 ฝั่งถนนสาย 450 ปี ลึกฝั่งละ 50 เมตร เนื้อที่รวม 283,500 ตารางเมตร หรือประมาณ 177.19 ไร่ ระบุให้บุคคลหรือนิติบุคคลที่สนใจ เข้าไปติดต่อยังสำนักงานภาคสนามของแผนกทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ริมถนน 450 ปี ที่บ้านโพนทอง เมืองไซเสดถา

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 กรมที่ดิน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีหนังสือฉบับที่ 0371 กำหนดพื้นที่ของโครงการ Smart City ว่าให้อยู่ในเขตเมืองไซเสดถาและหาดซายฟอง

วันที่ 8 กรกฎาคม 2564 เจ้าครองนครหลวงเวียงจันทน์ มีข้อตกลงฉบับที่ 538/จนว. แต่งตั้งคณะชี้นำเพื่อสำรวจ เก็บข้อมูลเนื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในพื้นที่เมืองไซเสดถาและหาดซายฟอง สำหรับใช้สร้างโครงการ Smart City

วันที่ 13 กรกฎาคม 2564 นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ได้ออกใบมอบสิทธิ์เลขที่ 78/นย ให้รัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน เซ็น MOU กับบริษัทดวงจะเลิน เพื่อพัฒนาโครงการ Smart City

ตามมาด้วย ประกาศห้ามทำธุรกรรมใดๆ กับที่ดินในเขต 12 บ้าน ของเมืองไซเสดถาและหาดซายฟอง เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

……

บริษัทดวงจะเลิน พัดทะนา ก่อสร้าง จำกัด ก็เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของลาวกลุ่มหนึ่ง ที่เติบโตขึ้นจากการได้รับสัมปทานโครงการต่างๆ จากภาครัฐ

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2562 บริษัทดวงจะเลิน พัดทะนา กะสิกำ ในกลุ่มดวงจะเลิน ได้รับสัมปทานทำสวนกล้วยจากแขวงบอลิคำไซ บนเนื้อที่ 150 เฮกตาร์ ในเมืองบ่อลิคัน

ก่อนหน้านั้น วันที่ 4 มิถุนายน 2561 กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ของลาว ได้เซ็น MOU ให้บริษัทดวงจะเลิน พัดทะนา ก่อสร้าง เป็นผู้ศึกษาความเป็นไปได้ โครงการสร้างทางด่วนสายใต้ (เวียงจันทน์-จำปาสัก) ช่วงจากเมืองท่าแขก (แขวงคำม่วน) ไปยังแขวงสะหวันนะเขต ระยะทาง 117 กิโลเมตร

……

แผนผังโครงการเวียงจันทน์ โลจิสติก พาร์ค ที่ท่านาแล้ง เมืองหาดซายฟอง เมื่อครั้งที่คณะของสมสะหวาด เล่งสะหวัด (เสื้อสีชมพู) อดีตรองนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว เพิ่งไปเยี่ยมชม เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564

บริษัทดวงจะเลินถือว่าได้ทำโครงการ Smart City ในจังหวะเวลาที่เหมาะสม

เมืองหาดซายฟองอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของตัวเมืองเวียงจันทน์ ตรงข้ามกับอำเภอเมืองหนองคาย

พื้นที่เมืองหาดซายฟองเป็นที่ตั้งของสถานีสินค้าเวียงจันทน์ใต้ ปลายทางของขบวนรถไฟขนส่งสินค้าในเส้นทางรถไฟลาว-จีน ที่กำลังจะเปิดให้บริการในวันที่ 2 ธันวาคมนี้

นอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟท่านาแล้ง ปลายทางรถไฟของลาวที่เชื่อมกับโครงข่ายรางรถไฟไทย ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ที่สถานีหนองคาย

หาดซายฟองยังเป็นที่ตั้งของโครงการเวียงจันทน์ โลจิสติก พาร์ค ท่าบก (Dry Port) และศูนย์ขนถ่ายสินค้าขนาดใหญ่ของนครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งมีแผนเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟลาว-เวียดนาม ที่กำลังจะก่อสร้าง โดยมีปลายทางอยู่ที่ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของจังหวัดฮาติงห์ ของเวียดนาม

ศูนย์โลจิสติกและโครงข่ายการคมนาคมทั้งหมดที่กล่าวถึงข้างต้น อยู่ทางทิศตะวันตก ห่างจากพื้นที่โครงการ Smart City ไม่มากนัก

ส่วนเมืองไซเสดถาอยู่ทางตะวันออกของตัวข้อมูลจำเพาะล่าสุด ของ “รถไฟลาว-จีน” เป็นที่ตั้งของเขตพัฒนาครบวงจรไซเสดถา นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของนักลงทุนจีนในนครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งมีเนื้อที่บางส่วนอยู่ติดกับพื้นที่โครงการ Smart City

ห่างออกไปทางทิศตะวันตกของโครงการ Smart City เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษบึงทาดหลวง โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งของนักลงทุนจีนในนครหลวงเวียงจันทน์

ไซเสดถาอยู่ทางใต้ของเมืองไซทานี ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟนครหลวงเวียงจันทน์ ต้นทางของขบวนรถโดยสารของทางรถไฟลาว-จีน

ทำเลที่ตั้งของโครงการ Smart City จึงเหมือนอยู่กึ่งกลางพื้นที่เชื่อมต่อโครงข่ายทางรถไฟ 4 ประเทศ ทั้งรถไฟลาว-จีน , รถไฟลาว-ไทย และทางรถไฟลาว-เวียดนามที่กำลังจะสร้างในอนาคต…

อ่านเพิ่มเติม