ThaiPublica > สู่อาเซียน > หมด COVID นั่งรถไฟเที่ยวประเทศเพื่อนบ้าน

หมด COVID นั่งรถไฟเที่ยวประเทศเพื่อนบ้าน

21 ตุลาคม 2020


รายงานโดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์

เส้นทางรถไฟลาว-จีน ที่มีความคืบหน้าให้เห็นเป็นระยะ ทำให้เชื่อได้ว่า ตอนนี้หลายคนคงวางแผนไว้ในใจแล้วว่า ถ้า COVID-19 หยุดระบาดเมื่อใด จะตีตั๋วรถไฟ นั่งจากบางซื่อไปหนองคาย ข้ามสะพานมิตรภาพไปฝั่งลาว และจับรถไฟข้ามประเทศต่อ ขึ้นไปเที่ยวยังสิบสองปันนา และคุนหมิง

นี่คือเส้นทางรถไฟสายเหนือของลาว ซึ่งผู้รับเหมาจีนกำลังเร่งมือก่อสร้าง วางราง ให้เสร็จทันพร้อมเปิดให้บริการในเดือนธันวาคมปีหน้า (2564)

มองในมุมจีน ทางรถไฟสายนี้เป็นหนึ่งในโครงข่ายคมนาคมทางรางขนาดใหญ่ ที่จีนกำลังก่อสร้างตามนโยบาย 1 แถบ 1 เส้นทาง (One Belt One Road ปัจจุบันเรียก Belt and Road Initiative) เพื่อเชื่อมเศรษฐกิจ การค้า กับประเทศในภูมิภาคต่างๆ

ทางรถไฟลาว-จีน มีจุดเริ่มต้นจากคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนาน ลงมาถึงยวี่ซี ผ่านผูเอ่อ เชียงรุ่ง (สิบสองปันนา) มาถึงชายแดนจีน-ลาวที่เมืองบ่อหาน มีปลายทางอยู่ที่สถานีเวียงจันทน์

เมืองยวี่ซียังเป็นเหมือนชุมทาง เพราะจากสถานีนี้ยังมีทางรถไฟอีกเส้นหนึ่งสร้างแยกต่อไปถึงชายแดนเวียดนาม เชื่อมเข้ากับโครงข่ายทางรถไฟจีน-เวียดนาม ที่กำลังมีแผนสร้างทางรถไฟความเร็วสูงเหนือ-ใต้ ยาว 1,549 กิโลเมตร มีปลายทางอยู่ที่นครโฮจิมินห์

การก่อสร้างทางรถไฟจากต้าหลี่มายังหลินซาง จากสำนักข่าว Mizzima เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562
ที่มาภาพ :http://www.mizzima.com/article/construction-tunnel-along-china-myanmar-international-railway-underway?fbclid=IwAR2duDuIpYJrmyIii0KkgBne5A3eDmBy7sMFq8es77V5lA–It0MjZNu7Us

จีนยังมีเส้นทางรถไฟเชื่อมอาเซียนทางฝั่งตะวันตก เริ่มจากนครคุนหมิงไปยังเมืองต้าหลี่

จากเมืองต้าหลี่ ขณะนี้บริษัท Railway No. 10 Engineering Group กำลังเร่งมือก่อสร้างทางรถไฟสาย Dalin ต้าหลี่-หลินซาง (Dalin: Dali-Lincang) ระยะทางยาว 202 กิโลเมตร มีกำหนดเปิดให้บริการในปีหน้าเช่นกัน

หลินซางเป็นจังหวัดชายแดนจีน-เมียนมา ฝั่งตรงข้ามเป็นเขตปกครองตนเองโกก้างและเขตพิเศษหมายเลข 2 สหรัฐว้า ในภาคเหนือของรัฐฉาน

รถไฟสาย Dalin ซึ่งกำหนดความเร็วไว้ที่ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะใช้เป็นต้นทางสำหรับโครงข่ายทางรถไฟจีน-เมียนมา (ดูภาพแผนที่ประกอบ)

แนวทางรถไฟความเร็วสูงจีน-เมียนมา จากเว็บไซต์ TravelChinaGuide.com ที่สำนักข่าว Shan News นำมาใช้ประกอบข่าวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่มาภาพ: https://shannews.org/archives/11088

โดยจากหลินซาง จีนมีแผนวางรางรถไฟต่อไปถึงเมืองรุ่ยลี่ เขตปกครองตนเองชนชาติไต-จิ่งพัว เต๋อหง เมืองชายแดนซึ่งอยู่ตรงข้ามกับเมืองหมู่เจ้ ในฝั่งรัฐฉาน

หมู่เจ้-รุ่ยลี่ เป็นประตูการค้าชายแดนที่สำคัญที่สุดระหว่างจีนและเมียนมา มูลค่าการค้าที่ด่านนี้แต่ละปีไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์ สินค้าจากจีนที่จะเข้าไปขายในเมียนมา ต้องส่งเข้าผ่านประตูนี้ ในทางตรงข้าม ผลิตผลการเกษตรของเมียนมาที่จะส่งออกไปขายยังจีน ก็ต้องส่งผ่านประตูนี้ด้วยเหมือนกัน

จากเมืองหมู่เจ้ เมืองที่อยู่เหนือสุดของรัฐฉาน จีนกับเมียนมามีข้อตกลงที่จะสร้างทางรถไฟความเร็วสูงลงไปถึงมัณฑะเลย์ ระยะทาง 431 กิโลเมตร

ตามแบบที่ได้สำรวจออกแบบไว้เบื้องต้น ทางรถไฟสายหมู่เจ้-มัณฑะเลย์ จะมีสะพานข้ามหุบเหว 77 แห่ง เจาะอุโมงค์ทะลุภูเขาอีก 77 จุด ความยาวรวม 115 กิโลเมตร มีสถานีรับส่งสินค้าและผู้โดยสารรวม 12 แห่ง มีจุดตัดทางรถไฟ 24 จุด

เมื่อสร้างเสร็จ จะใช้เวลาเดินทางจากหมู่เจ้ไปยังมัณฑะเลย์ 3 ชั่วโมง

ที่มัณฑะเลย์ รถไฟจะเชื่อมเข้ากับโครงข่ายทางรถไฟเดิมของเมียนมา ที่มีเส้นทางวิ่งต่อลงไปถึงกรุงย่างกุ้ง

เมื่อครั้งที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนเดินทางมาเยือนเมียนมา ตอนต้นปีนี้ ก่อนที่ COVID-19 จะเริ่มระบาด 1 ในข้อตกลงกว่า 20 ฉบับ ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เซ็นกับออง ซาน ซูจี คือการเดินหน้าสร้างทางรถไฟสายหมู่เจ้-มัณฑะเล

COVID อาจทำให้ทางรถไฟสายนี้ล่าช้าไปบ้าง แต่เชื่อว่าจีนจะเดินหน้าก่อสร้างทันที่ที่ทุกอย่างพร้อม…(อ่านเพิ่มเติม)

การก่อสร้างทางรถไฟลาว-จีน ช่วงในจีนจากเมืองยวี่ซีมายังบ่อหาน ที่มาภาพ: http://www.xinhuanet.com/english/asiapacific/2019-04/27/c_138015698.htm

หันกลับมามองในมุมของลาว ทางรถไฟสายเหนือเวียงจันทน์-บ่อเต็น-ยวี่ซี จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลแห่งนี้ ให้เป็นชุมทางการคมนาคมในภูมิภาค ตามวิสัยทัศน์เปลี่ยน land locked ให้เป็น land link ที่ลุงไกสอน พมวิหาน อดีตนายกรัฐมนตรีลาววางไว้เมื่อหลายสิบปีก่อน

แต่ลาวเอง มิได้มองเฉพาะทางรถไฟสายเหนือเพียงเส้นเดียว

16 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่โรงแรมคราวพลาซ่า นครหลวงเวียงจันทน์ กระทรวงแผนการและการลงทุน สปป.ลาว ได้เซ็น MOU ให้บริษัทศรีนครการโยธา จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ศึกษาความเป็นไปได้ และออกแบบรายละเอียดการก่อสร้างทางรถไฟจากเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน ผ่านแขวงสะหวันนะเขต แขวงสาละวัน และวกกลับมายังเมืองวังเต่า แขวงจำปาสัก ระยะทาง 345 กิโลเมตร (ดูภาพแผนที่ประกอบ)

แผนผังทางรถไฟสายใต้จากท่าแขก-วังเต่าของลาว ที่เพจ AeroLaos จัดทำประกอบข่าวเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/478509568864279/posts/3294225640625977/?extid=0&d=n

เมืองวังเต่าอยู่ตรงข้ามกับด่านช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี

ทางรถไฟสายนี้ คาดว่าต้องใช้งบประมาณก่อสร้าง 2 หมื่นล้านบาท บริษัทศรีนครการโยธาจะลงพื้นที่ภาคสนามเก็บข้อมูลทันทีที่ไทยและลาว เปิดด่านให้เดินทางข้ามประเทศกันได้อีกครั้ง โดยจะใช้เวลาสำรวจและออกแบบ 6-10 เดือน

ก่อนหน้านั้นเล็กน้อย เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2563 บริษัทปิโตรเลียมเทรดดิงลาว ได้เซ็นสัญญาให้บริษัทเนชันแนลคอนซัลติงกรุ๊ปป็นผู้ประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างละเอียด (ESIA) ในโครงการทางรถไฟลาว-เวียดนาม

โครงการนี้เกิดจากความเห็นพ้องต้องกันของรัฐบาล 2 ประเทศ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561

เนชันแนลคอนซัลติงกรุ๊ปเป็นบริษัทที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อมซึ่งจัดทำ EIA ให้กับโครงการทางรถไฟลาว-จีนด้วย

ทางรถไฟลาว-เวียดนาม ความยาว 555 กิโลเมตร เริ่มจากนครหลวงเวียงจันทน์ วิ่งขนานกับแนวถนนสาย 13 (ใต้) ไปยังแขวงบ่ลิคำไซ และแขวงคำม่วน

จากนั้นเลี้ยวซ้ายไปทางทิศตะวันออก ขนานกับแนวถนนสาย 12 สู่ชายแดนลาว-เวียดนาม เข้าสู่เวียดนามที่ด่านนาเพ้า-จาลอ แล้วเข้าพื้นที่จังหวัดกว่างบิงห์ กับจังหวัดฮาติงห์ มีปลายทางที่ท่าเรือหวุงอ๋าง(อ่านเพิ่มเติม)

เฉพาะช่วงจากเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน (ตรงข้ามจังหวัดนครพนม) ไปสู่ท่าเรือหวุงอ๋าง เป็นทางรถไฟรางเดี่ยว ความยาว 240 กิโลเมตร

โครงการนี้ ได้รับเงินสนับสนุนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศเกาหลี (Korea International Cooperation Agency: KOICA)

15 ตุลาคมปีที่แล้ว รัฐบาลลาวได้เซ็น MOU ให้บริษัทปิโตรเลียมเทรดดิงลาวเป็นผู้สำรวจและออกแบบก่อสร้างทางรถไฟสายนี้ ให้เป็นทางออกสู่ทะเลที่ใกล้ที่สุดของลาว และเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ Lao Logistics Link ซึ่งรวมโครงข่ายคมนาคมทางถนน ทางด่วน ทางรถไฟ และท่าเรือบก

การเซ็นสัญญาระหว่างบริษัทปิโตเลียมเทรดดิงลาว กับเนชันแนลคอนซัลติงกรุ๊ป เพื่อศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเส้นทางรถไฟลาว-เวียดนาม ที่มาภาพ : http://lsxdisclosure.com.la/upload/LA3000040003/1_20201013135417.pdf

ปิโตรเลียมเทรดดิงลาวอยู่ในเครือพงสะหวัน เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลาว

นอกจากทางรถไฟลาว-เวียดนามแล้ว บริษัทปิโตเลียมเทรดดิงลาวยังเป็น 1 ในผู้บริหารท่าเรือหวุงอ๋าง และได้สัมปทานจากรัฐบาลลาวให้เป็นผู้สร้างและบริหารโครงการเวียงจันทน์โลจิสติกส์พาร์ก และท่าเรือบกที่บริเวณท่านาแล้ง นครหลวงเวียงจันทน์

ทางรถไฟลาว-เวียดนาม จะเริ่มก่อสร้างปลายปีหน้า กำหนดแล้วเสร็จเปิดให้บริการได้ในปี 2568

การท่องเที่ยวโดยรถไฟในประเทศเพื่อนบ้านมีหลากหลายเส้นทางให้เลือกมากขึ้นเรื่อยๆ…