ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ตรึงราคา “ดีเซล-ก๊าซหุงต้ม” ใครได้-ใครเสีย?

ตรึงราคา “ดีเซล-ก๊าซหุงต้ม” ใครได้-ใครเสีย?

7 พฤศจิกายน 2021


ตรึงราคาไบโอดีเซลลิตรละ 30 บาท – ก๊าซหุงต้มถังละ 318 บาท ใครจ่าย-ใครได้รับเงินชดเชย ล่าสุด กพช. เปิดไฟเขียวให้กองทุนน้ำมันฯ กู้ได้เต็มเพดาน 40,000 ล้านบาท หลังฐานะกองทุนน้ำมันฯมีเงินคงเหลือสุทธิ 7,000 ล้านบาท พร้อมขอใช้งบฯ คณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ฯ 2,000 ล้านบาท เตรียมแหล่งเงินแทรกแซงราคาน้ำมัน-LPG ถึงไตรมาสแรกของปี 2565

จากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงอย่างต่อเนื่อง จากเดือนสิงหาคม 2564 ราคาน้ำมันดิบทั้งเบรนต์และเวสต์เท็กซัสเฉลี่ยอยู่ที่ 69 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล พอมาถึงเดือนตุลาคม 2564 ราคาเฉลี่ยขึ้นมาอยู่ที่ 83 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ดึงราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ในตลาดโลก (CP Saudi Aramco) ปรับตัวสูงขึ้นตาม จากเดือนสิงหาคม 2564 ราคา LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 670 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ปัจจุบันราคาขึ้นมาอยู่ที่ 800 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน โดยนักวิเคราะห์สถาบันการเงินหลายแห่งคาดว่า แนวโน้มของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังอยู่ในทิศทางขาขึ้นไปจนถึงไตรมาสแรกของปี 2565

ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในช่วงสถานการณ์โควิดฯ รัฐบาลจึงประกาศเดินหน้าตรึงราคาขายปลีกน้ำมันไบโอดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร และก๊าซ LPG หรือ “ก๊าซหุ้งต้ม” ไม่เกิน 318 บาทต่อถัง (ถังละ 15 กิโลกรัม) โดยใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปดึงราคาขายปลีกน้ำมันไบโอดีเซลและก๊าซหุงต้มให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบต่อต้นทุนการขนส่ง การผลิต และราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น เพราะหากปล่อยให้ราคาพลังงานลอยตัวตามตลาดโลก จะส่งผลต่อปัญหาเงินเฟ้อและภาพรวมเศรษฐกิจตามมา

  • ttb analytics ชี้ราคาน้ำมันพุ่ง…กระทบธุรกิจ-ครัวเรือน ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 2 แสนล้านบาท
  • ถามว่า กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเอาเงินจากไหนมาใช้ในการแทรกแซงราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ก่อนอื่นต้องขออธิบายที่มาที่ไปของกองทุนน้ำมันฯ ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 2562 ที่ได้กำหนดวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนน้ำมันฯ เพื่อทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์น้ำมัน โดยมีคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ “กบน.” ทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการนำส่งเงินเข้าเป็นรายได้ของกองทุนน้ำมันน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น ถ้าเป็นน้ำมันที่ผลิตในประเทศ ก็ฝากให้กรมสรรพสามิตจัดเก็บเงินจากโรงกลั่นนำส่งกองทุนน้ำมันฯ แต่ถ้าเป็นน้ำมันนำเข้าจากต่างประเทศ ก็ฝากกรมศุลกากรจัดเก็บเงินจากผู้นำเข้า นำส่งกองทุนน้ำมันฯ เป็นต้น นอกจากนี้ กบน.ยังมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและอัตราการจ่ายเงินชดเชยพลังงานประเภทต่างๆ รวมทั้งดำเนินการกู้ยืมเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมัน ในกรณีเงินกองทุนน้ำมันฯมีไม่เพียงพอ

    จากข้อมูลโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ที่นำมาแสดง (ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2564) จะเห็นได้ว่าผู้ที่จ่ายเงินนำส่งเป็นรายได้ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมากที่สุด คือ กลุ่มคนที่ใช้น้ำมันเบนซิน 95 ที่นอกจากจะเสียภาษีแพงที่สุดแล้ว ยังต้องจ่ายเงินนำส่งกองทุนน้ำมันฯ ลิตรละ 6.58 บาท รองลงมาคือ กลุ่มคนที่ใช้น้ำมันเบนซิน E10 ทั้งแก๊สโซฮอล์ 91 และแก๊สโซฮอล์ 95 จ่ายเงินนำส่งกองทุนน้ำมันฯ ลิตรละ 62 สตางค์ และกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมันเตาทั้งชนิด A และ C จ่ายเงินนำส่งกองทุนน้ำมันฯ ลิตรละ 6 สตางค์ เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

    ส่วนผู้ที่ได้รับเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมากที่สุด คือ ก๊าซหุงต้ม ที่ได้รับเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ กิโลกรัมละ 17.61 บาท รวมก๊าซหุงต้ม 1 ถังบรรจุได้ 15 กิโลกรัมก็จะได้รับการชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ ประมาณ 264.21 บาทต่อถัง ถัดมาเป็นกลุ่มของน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น ผู้ที่ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ได้รับการชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ ลิตรละ 7.13 บาท และผู้ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 ได้รับการชดเชยลิตรละ 2.28 บาท และกลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มผู้ใช้น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ B20 ได้รับเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ ลิตรละ 4.16 บาท ส่วนไบโอดีเซล B7 และ B10 ได้รับการชดเชยลิตรละ 1.99 บาท ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันไบโอดีเซล B20 มีราคาถูกกว่า B7 และ B10 ลิตรละ 25 สตางค์

    แต่อย่างไรก็ตาม จากการที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันดีเซล ณ โรงกลั่นปรับตัวสูงขึ้น และเมื่อนำมาผสมกับไบโอดีเซล B100 (น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์) ราคา 44.44 บาทต่อลิตร ซึ่งมีราคาแพงกว่าตัวเนื้อของน้ำมันดีเซล 2 เท่าตัว ทำให้ต้นทุนราคาไบโอดีเซล ณ โรงกลั่นขึ้นมาอยู่ที่ 22-25 บาทต่อลิตร หากกองทุนน้ำมันฯ ไม่นำเงินเข้าไปชดเชยลิตรละ 1.99 บาท ก็จะทำให้ราคาไบโอดีเซลทั้งกลุ่มทะลุ 30 บาทต่อลิตร โดยเฉพาะ B20 ซึ่งมีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 20% เป็นเหตุผลที่ทำให้สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยออกมาเคลื่อนไหว ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลยกเลิกการนำ B100 มาผสมในน้ำมันดีเซลเป็นการชั่วคราว เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กองทุนน้ำมันฯ พร้อมกับลดภาษีสรรพสามิตลงมา เพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันดีเซลไม่เกินลิตรละ 25 บาท แต่ทว่าแต่ข้อเสนอดังกล่าวนี้ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล เพราะเกรงว่าการยกเลิกผสม B100 ในน้ำมันดีเซลจะไปกระทบกับราคาผลปาล์มสด และรายได้ของชาวสวนปาล์ม ซึ่งเป็นฐานเสียงของรัฐบาลและพรรคร่วมฯ ทางสหพันธ์การขนส่งฯ จึง ยกระดับข้อเรียกร้อง โดยการจัดกิจกรรม “Truck Power” และประกาศหยุดเดินรถบรรทุกขนส่งสินค้า 20% ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป

    นอกจากเรื่องราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นแล้ว กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังมีภาระค่าใช้จ่ายในการนำเงินไปแทรกแซงราคาก๊าซหุงต้ม นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิดฯ เมื่อปี 2563 จนถึงปัจจุบัน กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนำเงินเข้าไปแทรกแซงราคาก๊าซหุงต้มไปแล้วประมาณ 19,000 ล้านบาท คงเหลือเงินที่จะนำมาดูแลราคาน้ำมันไบโอดีเซลและก๊าซหุงต้มตามเป้าหมายของรัฐบาลอีก 7,000 ล้านบาท ท่ามกลางสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกที่ยังอยู่ในทิศทางขาขึ้น

    นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน (กลาง)

    ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ ได้มีมติปรับแผนรับมือวิกฤติการณ์น้ำมัน โดยเห็นชอบให้กองทุนทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกู้ยืมเงิน เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงได้เกินกรอบวงเงิน 20,000 ล้านบาท (ลอตแรก) ซึ่งตามมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 2562 ได้เปิดช่องให้กองทุนน้ำมันฯ ดำเนินการได้ แต่เมื่อนำวงเงินกู้ทั้งหมดมารวมกับเงินกองทุนน้ำมันฯ ที่เหลืออยู่แล้วต้องไม่เกิน 40,000 ล้านบาท โดยการกู้ยืมเงินในส่วนที่เกินจากกรอบวงเงินตามกฎหมาย (ลอตแรก) จะต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเสนอที่ประชุม ครม. อนุมัติ ซึ่งจากการที่ กพช. มีมติให้กองทุนน้ำมันฯ การขยายวงเงินกู้ครั้งนี้ สนพ. คาดว่าจะใช้รักษาระดับราคาดีเซลและก๊าซหุงต้มไปได้จนถึงไตรมาสแรกของปี 2565 นอกจากนี้กระทรวงพลังงานยังได้ทำเรื่องไปของบประมาณอีก 2,000 ล้านบาท จากคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ เพิ่มเติมวงเงิน 500,000 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการตรึงราคาก๊าซหุงต้มที่ใช้ในภาคครัวเรือนต่อไป

    ทั้งหมดนี้ ก็เป็นความคืบหน้าในการบริหารจัดการราคาพลังงานให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมของรัฐบาล โดยใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เข้าไปตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร และก๊าซหุงต้มไม่เกิน 318 บาทต่อถัง ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และพยายามดูความสมดุลให้กับทุกภาคส่วน ทั้งดูแลค่าขนส่งสินค้า และรักษาราคาสินค้าเกษตรให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อไป

  • กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดกับดัก “ประชานิยม”
  • เบื้องหลัง กบง. กลับลำ ยกเลิก B6
  • กพช.เห็นชอบกองทุนน้ำมันฯกู้เพิ่ม เล็งออก พ.ร.ฎ.กู้เต็มที่ 30,000 ล้าน ตรึงดีเซลลิตรละ 30 บาทถึงปีหน้า