ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดกับดัก “ประชานิยม”

กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดกับดัก “ประชานิยม”

24 ตุลาคม 2021


กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดกับดัก “ประชานิยม” ควัก 5,000 ล้านบาทอุ้มชาวสวนปาล์ม ตรึงราคาดีเซลลิตรละ 30 บาท พลังงานคาดราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีทิศทางขาขึ้น 6 เดือน

จากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นับตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2564 ราคาน้ำมันดิบที่ตลาดดูไบเดือนนี้มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 69.52 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เดือนกันยายน 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 71.47 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และพอมาถึงวันที่ 23 ตุลาคม 2564 ราคาเฉลี่ยของเดือนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 80.30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล บางวันขึ้นไปสูงสุดถึง 81.81 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปทุกชนิดปรับราคาสูงขึ้นมาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มน้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมของ “ไบโอดีเซล B100” ราคาทะลุ 30 บาทต่อลิตร เปรียบเทียบกับปีที่แล้ว ราคาอยู่ที่ประมาณ 18 -21 บาทต่อลิตร ทำให้ผู้ประกอบกิจการรถบรรทุกขนส่งสินค้ามีต้นทุนเพิ่มขึ้น 30-40% จึงรวมตัวกันมาออกมาประท้วง ขอให้รัฐบาลตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ลิตรละ 25 บาท

หากเข้าไปดูโครงสร้างราคาน้ำมันที่เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จะพบว่าราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงมีต้นทุนหลักๆ อยู่ 2 ส่วน คือ ส่วนแรก เป็นต้นทุนของเนื้อน้ำมันที่รับมาจากโรงกลั่น หรือที่เรียกว่า “ราคา ณ โรงกลั่น” ซึ่งอ้างอิงมาจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ตลาดสิงคโปร์ เคลื่อนไหวขึ้น-ลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และส่วนที่ 2 เป็นต้นทุนค่าภาษีกับเงินกองทุนต่างๆ ซึ่งต้นทุนส่วนนี้แปรผันตามราคาน้ำมันเช่นกัน ส่วนค่าการตลาดของผู้ประกอบการถูกกำหนดให้เก็บได้ไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร

จริงๆแล้วราคาของน้ำมันดีเซล ณ โรงกลั่นมีต้นทุนประมาณ 20 บาทต่อลิตร แต่เมื่อนำมาผสมรวมกับไบโอดีเซล B100 ซึ่งปัจจุบันราคาลิตรละ 44.44 บาท ทำให้ราคาน้ำมันดีเซล ณ โรงกลั่นมีต้นทุนเพิ่มสูงตามสัดส่วนของ B100 ที่นำมาผสม ยิ่งผสม B100 มากขึ้นเท่าไหร่ยิ่งทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลแพงขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะในช่วงจังหวะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ทำให้กระทรวงพลังงานต้องไปนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาจ่ายชดเชยให้กับ B7 และ B10 ลิตรละ 2 บาท ส่วน B20 ใช้เงินกองทุนน้ำมันอุดหนุนลิตรละ 4 บาท ทั้งนี้ เพื่อดึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลทั้งกลุ่มลงมาเหลือไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร

ด้วยเหตุนี้เอง ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 จึงตัดสินใจปรับลดส่วนผสมของไบโอดีเซล B100 ในน้ำมันดีเซล B7 และ B10 ลงเป็นการชั่วคราว จากเดิมเคยนำ B100 มาผสมในน้ำมันดีเซล 7% และ 10% สูตรใหม่ให้ปรับลดเหลือ 6% (B6) พูดง่ายๆ ก็คือยกเลิก B7 กับ B10 และให้ประชาชนใช้เฉพาะ B6 กับ B20 แทน โดยดีเซลสูตรใหม่นี้ให้เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 11-31 ตุลาคม 2564 เป้าหมายเพื่อลดต้นทุนราคาดีเซลที่โรงกลั่น และลดภาระค่าใช้จ่ายของกองทุนน้ำมันฯ ในการนำเงินไปอุดหนุนส่วนต่างของราคา B100 กับน้ำมันดีเซล

หลังจากที่น้ำมันไบโอดีเซลสูตรใหม่เริ่มมีผลบังคับใช้ วันที่ 12 ตุลาคม 2564 สมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดตรัง พร้อมตัวแทนเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ก็ยื่นหนังสือถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ขอให้ กบง. ยกเลิกมติปรับลดส่วนผสมของ B100 เหลือ 6% เนื่องจากมาตรการดังกล่าวนี้จะทำให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาปาล์มน้ำมันและรายได้ของเกษตรกร

วันที่ 19 ตุลาคม 2564 ภายหลังประชุม ครม. เสร็จเรียบร้อย พล.อ. ประยุทธ์ เรียกประชุมด่วน โดยเชิญรองนายกรัฐมนตรีทุกคน, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพลังงาน, คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติฯ ลฯ มาประชุมกันที่ตึกไทยคู่ฟ้า หารือถึงแนวทางการตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ลิตรละ 30 บาทให้ได้นานที่สุด ภายหลังการประชุมโฆษกรัฐบาลออกมาให้สัมภาษณ์สั้นๆ ว่า นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงเรื่องราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น พร้อมกับสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามราคาสินค้า ไม่ให้ใช้จังหวะนี้ปรับขึ้นราคา

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)

ปรากฏว่า วันที่ 20 ตุลาคม 2564 ที่ประชุม กบง. ก็มีมติกลับลำ ยกเลิกการใช้ไบโอดีเซล B6 สูตรใหม่ และให้กลับไปใช้น้ำมันไบโอดีเซลสูตรเดิม คือ B7, B10 และ B20 รวมทั้งมีมติกำหนดส่วนต่างของราคาขายปลีกน้ำมันไบโอดีเซลใหม่ โดยกำหนดให้ B10 มีราคาถูกกว่า B7 ลิตรละ 0.15 บาท ส่วน B20 กำหนดให้มีราคาถูกกว่า B7 ลิตรละ 0.25 บาท และกำหนดให้ผู้ประกอบการน้ำมันเก็บค่าการตลาดได้ไม่เกินลิตรละ 1.40 บาท โดยให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป

หลังการประชุม กบง. นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยอมรับว่า รัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุกที่เสนอให้รัฐบาลตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกินลิตรละ 25 บาทได้ เนื่องจากต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก แต่ยืนยันว่ารัฐบาลพยายามตรึงราคาดีเซลลิตรละ 30 บาทต่อไปให้ได้นานที่สุด โดยใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปแทรกแซงราคา ณ วันที่ 17 ตุลาคม 2564 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฐานะเป็นบวกอยู่ 9,207 ล้านบาท สามารถตรึงราคาดีเซลไม่เกินลิตรละ 30 บาทต่อไปได้จนถึงสิ้นปี 2564 แต่ถ้าเงินกองทุนน้ำมันมีเหลือไม่เพียงพอ ตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 2562 สามารถกู้ยืมเงินมาใช้รักษาระดับราคาน้ำมันได้อีกไม่เกิน 20,000 ล้านบาท และถ้ายังไม่พออีก ก็จะหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อปรับลดภาษีสรรพสามิตเป็นลำดับต่อไป

  • “สุพัฒนพงษ์” ควักเงินกองทุนฯเดือนละ 5,000 ล้าน – กู้ 2 หมื่นล้าน ตรึงดีเซล 30 บาท ไม่พอลดภาษี
  • นายกฯ เมิน ‘ทักษิณ’ ยกมือไหว้ ขอให้ลาออก-มติ ครม. เติมเงิน “คนละครึ่ง-บัตรคนจน-ยิ่งใช้ยิ่งได้”
  • แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานกล่าวว่า จากการที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจนมาอยู่ที่ระดับราคา 80-83 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลทำให้น้ำมันดีเซลทั้งกลุ่มมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 32 บาทต่อลิตร ทางกองทุนน้ำมันฯ จึงนำเงินเข้าไปอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล B7 และ B10 เฉลี่ยลิตรละ 2 บาท ส่วน B20 จ่ายเงินอุดหนุนเฉลี่ยลิตรละ 4 บาท ทั้งนี้ เพื่อดึงราคาดีเซลทั้งกลุ่มลงมาอยู่ที่ลิตรละไม่เกิน 30 บาทตามนโยบายรัฐบาล และจากการประมาณการของ สนพ. คาดว่าราคาน้ำมันดิบที่ตลาดดูไบน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่เกิน 87.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งจะทำให้น้ำมันดีเซลทั้งกลุ่มปรับราคาขึ้นไปเป็น 33 บาทต่อลิตร คาดการ์ว่ากองทุนน้ำมันฯ จะต้องนำเงินเข้าไปอุดหนุนเดือนละ 5,000 บาท ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้กองทุนน้ำมันฯ จ่ายเงินอุดหนุนเพิ่มขึ้นไปอีก เพื่อดึงราคาน้ำมันดีเซลทั้งกลุ่มลงมาอยู่ที่ลิตรละ 25 บาท ตามข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการรถบรรทุก เพราะต้องใช้เงินเข้าไปแทรกแซงราคาน้ำมันดีเซลกว่า 10,000 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่ง สนพ. คาดว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มอยู่ในช่วงขาขึ้นไปอีก 6 เดือน

    “ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ มีฐานะเป็นบวกอยู่ก็จริง แต่มีกระแสเงินไหลออกมากกว่าไหลเข้า กล่าวคือ ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ มีรายได้จากการจัดเก็บเงินกับผู้ใช้น้ำมันเบนซิน (ULG) และ E10 ได้มาเท่าไหร่ ก็นำไปจ่ายชดเชยให้กับผู้ที่ใช้น้ำมันเบนซิน E20, E85 และน้ำมันดีเซลทั้งกลุ่ม ฐานะของกองทุนน้ำมันฯ ตอนนี้มีแต่ไหลออก ไม่มีไหลเข้า” แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานกล่าว

    แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานกล่าวต่อว่า แต่อย่างไรก็ดี จากการที่ กบง. มีมติกำหนดส่วนต่างของราคาดีเซล B10 ให้มีราคาถูกกว่า B7 ลิตรละ 15 สตางค์ และ B20 ถูกกว่า B7 ลิตรละ 25 สตางค์ คาดว่าจะทำให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หันมาใช้น้ำมัน B7 เพิ่มมากขึ้น เพียงแค่เพิ่งเงินอีกนิดหน่อยก็ได้ใช้น้ำมันที่มีคุณภาพสูงกว่า ซึ่งตรงนี้จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับกองทุนน้ำมันฯ ในการนำเงินไปอุดหนุน B100 ส่วนที่นำมาผสมกับน้ำมันดีเซล ทำให้เงินกองทุนน้ำมันที่มีเหลืออยู่ 9,207 ล้านบาทสามารถตรึงดีเซลให้อยู่ในระดับราคาไม่เกินลิตรละ 30 บาทได้นานถึงสิ้นปีนี้ หลังจากนั้นก็จะต้องเริ่มกู้เงิน ซึ่งตามกฎหมายกำหนดเพดานให้กองทุนน้ำมันฯ กู้ยืมเงินได้สูงสุดไม่เกิน 20,000 ล้านบาท แต่เมื่อกู้ไปได้ในระดับหนึ่ง ก็คงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังพิจารณาปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลงมา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับภาคธุรกิจและประชาชนต่อไป

    สรุปปัญหาของราคาพลังงานตอนนี้ นอกจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นแล้ว กระทรวงพลังงานยังต้องแบกรับ B100 ส่วนที่นำมาใช้เป็นส่วนผสมของน้ำมันดีเซลในราคาที่แพงกว่าตัวเนื้อของน้ำมันดีเซลจริงๆ ถึง 2 เท่าตัว ยิ่งผสมเข้าไปมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องควักเงินออกอุดหนุนส่วนต่างของราคามากขึ้นเท่านั้น ครั้นจะปรับลดส่วนผสมของ B100 ลงหรือยกเลิก ในทางการเมืองก็ทำไม่ได้อีก เพราะไปกระทบกับรายได้ของชาวสวนปาล์ม ซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคร่วมรัฐบาล และอาจมีผลต่อการเลือกตั้งในสมัยหน้าอีกด้วย

    ขณะที่ผู้ประกอบการรถบรรทุกก็ออกมาเรียกร้อง ขอให้รัฐบาลปรับลดหรือยกเลิกการนำ B100 ที่มีราคาแพงมาผสมกับน้ำมันดีเซลเป็นการชั่วคราว แทนที่จะนำเงินไปใช้ในการอุดหนุนราคาไบโอดีเซล ก็ให้นำมาใช้ตรึงราคาดีเซลไม่เกินลิตรละ 25 บาท ซึ่งจะตรงตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 2562 มาตรา 5 กำหนดวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจและประชาชน

    ดังนั้น จึงไม่ควรนำเงินกองทุนน้ำมันฯ ไปใช้ในการทำประชานิยม ซึ่งอยู่นอกเหนือวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย และก็ไม่ควรใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯ ไปแทรกแซงราคาน้ำมันชนิดใดชนิดหนึ่งหรือตรึงราคานานจนเกินไป ซึ่งอาจจะทำให้โครงสร้างของราคาน้ำมันและการใช้พลังงานของประเทศเกิดการบิดเบือน ส่วนการรักษาเสถียรภาพของราคาผลิตผลทางการเกษตรควรไปใช้กลไกอื่น เช่น การจัดสรรงบประมาณไปชดเชยรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มแทน เป็นต้น

    สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งคาดว่าจะลากยาวออกไปจนถึงไตรมาสแรกของปี 2565 กับการรักษาระดับราคาผลิตผลปาล์มน้ำมันไม่ให้ตกต่ำ รัฐบาลจะหาจุดสมดุลอย่างไร หลังการประชุม ครม.สัญจรจังหวัดกระบี่ และเสร็จสิ้นจากภาระกิจลงพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน เชื่อว่าทุกอย่างก็น่าจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น…