
เว็บไซต์ คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด(Kingsgate Consolidated Limited) (ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย มีชื่อย่อว่า KCN) ได้เผยแพร่ เอกสารข่าวเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 ว่า ขณะนี้บริษัทได้รับประทานบัตรเหมืองแร่( mining lease ) 4 ฉบับจากรัฐบาลไทยแล้ว ซึ่งเปิดทางให้กลับมาดำเนินการเหมืองทองคำชาตรีอีกครั้ง
ประทานบัตรที่ได้ประกอบด้วยประทานบัตรเหมืองชาตรีใต้ 3 แปลง เหมืองแร่ควอตซ์ 1 แปลง และเป็นประทานบัตรเดิมที่รอการอนุมัติมาตั้งแต่ปี 2554 และจำเป็นต้องมีเพื่อใช้ประโยชน์จากแปลง A Pit อย่างเต็มที่
โดยประทานบัตรเหมืองแร่ทั้ง 4 ฉบับได้แก่ หนึ่ง ประทานบัตรเลขที่ 26910/15365 สอง ประทานบัตรเลขที่ 26911/15366 สาม ประทานบัตรเลขที่ 26912/15367 และ สี่ ประทานบัตรเลขที่ 25528/14714
ประทานบัตรแต่ละฉบับมีผลใช้บังคับเป็นระยะเวลา 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2564
คิงส์เกตยังระบุว่า ขั้นตอนที่จำเป็นทั้งหมดสำหรับการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรม(Metallurgical Processing Licence:MPL ) นั้น เสร็จสมบูรณ์และได้รับการอนุมัติแล้ว พนักงานของอัคราจะไปรับใบอนุญาต MPL จากรัฐบาลไทยในเร็วๆนี้
การอนุมัติประทานบัตรนี้ทำให้เหมืองทองคำชาตรีสามารถกลับมาเปิดได้อีกครั้งตามที่แจ้งตลาดฯและเผยแพร่ขาวประชาสัมพันธ์ในหัวข้อ “Chatree Gold Mine set to Re-Open” ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2564 และกำลังดำเนินการเพื่อจะสรุปค่าใช้จ่ายในการลงทุน เพื่อเริ่มดำเนินการเหมืองอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะรวมถึงการปรับปรุงทั้งโรงงาน 1 และ 2 ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมกันกว่า 5 ล้านตันต่อปี นอกจากนี้ ยังได้แต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดหางานเพื่อสรรหาเจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคที่สำคัญต่อการปฏิบัติงานในเหมือง
ขณะนี้บริษัทฯมุ่งไปที่การยกระดับ และการรายงานปริมาณแร่และปริมาณแร่สำรองและหลังจากได้รับใบอนุญาต MPL ก็กำลังอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการปรับปริมาณสำรองตามมาตรฐาน JORC
นอกจากนี้คิงส์เกตยังได้สำรวจทางเลือกการจัดหาเงิน ซึ่งรวมถึงการเจรจากับผู้ให้กู้ที่มีศักยภาพเพื่อเร่งเปิดเหมืองอีกครั้ง
คิงส์เกตตระหนักถึงความร่วมมือและความปรารถนาดีที่รัฐบาลไทยแสดงผ่านการออกใบอนุญาตหลักเหล่านี้ และการเปิดเหมืองทองคำชาตรีอีกครั้งจะช่วยสร้างโอกาสการเติบโตที่มีมูลค่าสูงแก่บริษัท ชุมชนท้องถิ่น ธุรกิจ และเศรษฐกิจของไทย ในขณะที่มีการเจรจาเพิ่มเติมบางด้านแต่ยังให้ความสำคัญกับการเปิดเหมืองก่อน
ประธานกรรมการบริหารของคิงส์เกต นายรอสส์ สมิธ-เคิร์ก กล่าวว่า “ความสนใจหลักยังคงอยู่ที่การเปิดการดำเนินการเหมืองทองคำชาตรีอีกครั้งโดยเร็วที่สุด เพราะทำให้มีทางเลือกในการพิจารณา โครงการ Nueva Esperanza ในชิลี”
เว็บไซต์คิงส์เกตได้ให้ข้อมูลเหมืองทองคำชาตรีว่า คิงส์เกต และบริษัทในเครือ บมจ.อัครารีซอร์สเซส เป็นเจ้าของเหมืองทองคำชาตรีในประเทศไทย
เหมืองทองชาตรี (“ชาตรี”) ตั้งอยู่ภาคกลางของประเทศไทย ห่างจากกรุงเทพฯ ไปทางเหนือประมาณ 280 กิโลเมตร การดำเนินงานของชาตรีในอดีตเคยเป็นเหมืองทองคำแบบเปิดขนาดใหญ่เกรดต่ำ
ชาตรีเป็นเหมืองทองคำสมัยใหม่แห่งแรกและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนพฤศจิกายน 2544 ตั้งแต่นั้นมา ชาตรีได้ผลิตทองคำมากกว่า 1.8 ล้านออนซ์และเงินมากกว่า 10 ล้านออนซ์
ชาตรีมีประวัติด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่โดดเด่นมาตลอด ควบคู่ไปกับการควบคุมสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด ซึ่งทำให้เหมืองทองคำแห่งนี้เป็นหนึ่งในเหมืองทองคำที่ปลอดภัยและดีที่สุดในโลก ด้วยเหตุนี้ ชาตรีจึงได้รับรางวัลมากมายสำหรับประวัติด้านสุขภาพและความปลอดภัยแบบไร้ที่ติ และการดำเนินงานที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤษภาคม 2559 รัฐบาลไทยประกาศว่า การขุดทองทั้งหมดในประเทศไทยจะยุติลงภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 ส่งผลให้ชาตรีอยู่ภายใต้การดูแลและบำรุงรักษาเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2560
นับตั้งแต่ประกาศในเดือนพฤษภาคม 2559 คิงส์เกตได้มุ่งเน้นไปที่หาวิธีแก้ไขสถานการณ์