ThaiPublica > เกาะกระแส > เสียงเล็กๆ ของคนเหมืองทองอัคราฯ ในวันที่ถูกสั่งปิด กับข้อเท็จจริงอีกด้านของชุมชน – ข้อกังวลสารพิษกับความจริงที่ใกล้ตัว

เสียงเล็กๆ ของคนเหมืองทองอัคราฯ ในวันที่ถูกสั่งปิด กับข้อเท็จจริงอีกด้านของชุมชน – ข้อกังวลสารพิษกับความจริงที่ใกล้ตัว

16 พฤษภาคม 2016


ตามที่มีคำแถลงจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 กรณีให้เหมืองแร่ทองคำชาตรี ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) หยุดดำเนินกิจการเหมืองภายในสิ้นปี 2559 นี้ ทางบริษัทอัคราฯ ได้ออกแถลงการณ์ว่า กรณีนี้สร้างความประหลาดใจให้กับบริษัทฯ เป็นอย่างมาก เนื่องจากบริษัทฯ ยังคงมีประทานบัตรที่ได้รับอนุญาตอยู่จนถึงปี 2571 ซึ่งบริษัทฯ ได้วางแผนการทำเหมืองไว้แล้วจนถึงเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่บริษัทฯ เริ่มดำเนินกิจการ ได้พิสูจน์ให้เห็นมาตลอดว่าไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนโดยรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรีแต่อย่างใด นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีส่วนช่วยสร้างให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจแก่ประเทศไทยทั้งในระดับท้องถิ่นและต่อประเทศไทยโดยรวม

ทั้งนี้ มติของคณะรัฐมนตรีที่ให้ยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำและประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงคำขอต่ออายุประทานบัตรทั่วประเทศ โดยให้เหตุผลว่าเป็นการลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งบริษัทอัคราฯ ผู้ดำเนินงานเหมืองแร่ทองคำชาตรีได้แถลงข่าวหลังจากนั้น ขอให้ภาครัฐหาข้อสรุปด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมให้กระจ่างตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และคลายความกังวลใจที่เกิดขึ้นในชุมชน

นายสิโรจ ประเสริฐผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน(ที่ 2 จากซ้าย) และนายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการฝ่ายประสานกิจการภายนอก(ที่2จากขวา) บริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)ที่ 2 จากขวา

นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการฝ่ายประสานกิจการภายนอก บริษัทอัคราฯ กล่าวว่า บริษัทเข้าใจถึงเหตุผลการตัดสินใจดังกล่าวว่าเป็นไปเพื่อลดความขัดแย้งด้านผลกระทบที่มีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรี แม้จะยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่ามาจากการดำเนินงานของเหมืองแร่ทองคำชาตรี ดังนั้น บริษัทขอเรียกร้องให้ภาครัฐ

1. ดำเนินการหาข้อเท็จจริงของสาเหตุความขัดแย้งด้านผลกระทบที่มีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรี ตามหลักของวิทยาศาสตร์และธรณีวิทยา เพื่อให้เกิดความกระจ่าง และสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะชาวบ้านตัวจริงที่อาศัยอยู่บริเวณรอบเหมืองแร่ทองคำ 2. บริษัทฯ ยินดีให้ความร่วมมือในทุกด้านอย่างเต็มที่ เพื่อให้ความจริงปรากฏชัด ซึ่งจะนำไปสู่มาตรฐานที่เป็นต้นแบบของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทยต่อไป

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังไม่ได้รับหนังสือข้อสั่งการอย่างเป็นทางการจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จึงยังไม่สามารถให้ข้อมูล รายละเอียดแผนการดำเนินงานต่อจากนี้ได้ และยังไม่มีนโยบาย แนวทางในการใช้มาตรการทางกฎหมาย เนื่องจากต้องการดูข้อสั่งการอย่างละเอียด เพราะถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

ด้านมาตรการฟื้นฟูพื้นที่บริษัทได้ดำเนินการฟื้นฟูควบคู่ไปกับการประกอบกิจการอยู่แล้ว ตามแผนการดำเนินงานภายใต้มาตรการ EHIA อย่างเคร่งครัด แต่หากเหมืองแร่ทองคำชาตรีต้องปิดดำเนินการลงในระยะเวลาอีก 7 เดือนข้างหน้า ทางบริษัทจะต้องดำเนินการปรับแผนการทำงานใหม่

การระเบิดเปิดหน้าหินเพื่อนำแร่เข้าสู่กระบวนการ ใช้มาตรฐาน Green Blasting Technology ควบคุมแรงสั่นสะทเือน เสียงและปริมาณฝุ่นให้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน
รถลำเลียงสินแร่เพื่อนำสู่กระบวนการผลิต (ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงขับ)
การบดหินก่อนเข้าสู่กระบวนการแยกแร่ทอง
ท่อส่งกากแร่
บ่อกักเก็บกากแร่ระบบปิดตามมาตรฐานกรมป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมของรัฐเนวาดา สหรัฐอเมริกา มีแผ่นพลาสติกโพลิเอธีลีน High-density polyethylene(HDPE)ที่มีความคงทนสูง ติดตั้งเสริมความหนาแน่นใต้บ่อ มีจุดวัดคุณภาพน้ำในบ่อและตรวจจับการรั่วซึมอย่างเข้มงวดทั้งในและนอกบ่อตลอดระยะเวลา 15 ปี

“เราเชื่อว่าความขัดแย้งที่เกิดในพื้นที่เกิดจากความไม่รู้ ไม่เข้าใจข้อมูลที่ถูกต้องทั้งด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการไม่เข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำตามมาตรฐานในระดับสากล จึงทำให้เกิดความกังวลในคนบางกลุ่ม ซึ่งหากเขาเหล่านั้นได้รับข้อมูลที่เพียงพอ เช่น ข้อมูลของสารโลหะหนัก เกณฑ์มาตรฐาน ผลที่เกิดต่อสุขภาพ ตามหลักวิทยาศาสตร์และสาธารณสุข ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำมากขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดผลดีต่อทั้งประชาชนในชุมชนเอง เราเชื่อว่าการให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องคือหนทางสู่การลดความขัดแย้ง และแน่นอนว่าความตั้งใจดี ความจริงใจในการแก้ปัญหา และข้อเท็จจริงที่ทางบริษัทฯ มี จะสามารถลดความขัดแย้ง และทำให้เกิดความกระจ่าง จนส่งผลให้ภาครัฐพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้กล่าวไว้” นายเชิดศักดิ์กล่าว

ด้านนายสิโรจ ประเสริฐผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมีความกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของพนักงานและครอบครัวกว่า 4,000 คน ต้องขาดรายได้ และต้องย้ายถิ่นฐานไปทำงานยังพื้นที่อื่น ที่ผ่านมาการดำเนินงานของเหมืองทำให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจในชุมชน เกิดการจ้างงาน การกระจายรายได้สู่ภาคธุรกิจต่างๆ ในท้องที่ เช่น ธุรกิจที่พักอาศัย รีสอร์ต ร้านอาหาร ร้านขายของชำ ต่างก็ได้รับอานิสงส์ มีเงินหมุนเวียนในท้องถิ่นกว่า 4 พันล้านบาทต่อปี

ขณะที่นายคมสัน ขวัญแก้ว อายุ 43 ปี ชาวบ้านหมู่ 8 บ้านนิคม ต.เขาเจ็ดลูก ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานห้องทอง บมจ.อัคราฯ กล่าวถึงการทำงานในเหมืองอัคราว่า ตนมั่นใจในเหมืองอัครา โดยทำงานอยู่กับสารเคมีมามากกว่า 15 ปี ได้รับการตรวจสุขภาพทั้งของบริษัทเองและจากที่อื่นก็ไม่พบสารใดๆ แม้แต่ไซยาไนด์ที่ใช้ในกระบวนการสกัดทองคำที่หลายคนกลัว สุขภาพของตนแข็งแรงปกติดี และครอบครัวของตนก็อาศัยอยู่ใกล้เหมือง หากมีการรั่วไหลของสารเคมีจริงตนคงไม่เอาตัวเองและครอบครัวมาเสี่ยง และก็คงไม่อยากให้อัคราอยู่

“พอได้ยินข่าวว่าเหมืองโดนสั่งปิดก็ช็อค ทำอะไรไม่ถูกเลย เพราะมีผมคนเดียวเป็นคนหารายได้ให้กับครอบครัว ลูกก็ยังเรียนอยู่ อีกทั้งพ่อแม่ที่ต้องดูแล และภาระหนี้สิน ผมเป็นคนในพื้นที่ตัวจริง ขอเป็นตัวแทนเพื่อนๆ พนักงานออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐเห็นใจพี่น้องพนักงาน ครอบครัว และธุรกิจในชุมชน ที่จะได้รับผลกระทบจากการปิดเหมืองแร่ทองคำชาตรี โดยพวกเรากว่าครึ่งหมื่นจะไม่มีอนาคต พวกเราพนักงานจะไม่มีงานทำ บางคนมีอายุมากก็ยิ่งหางานทำได้ยาก และโดยเฉพาะในจังหวัดเองก็ไม่มีอะไรให้ทำ หากเหมืองแร่ทองคำชาตรีปิด เราต้องย้ายไปทำงานในจังหวัดอื่น ต้องห่างจากครอบครัว พ่อ แม่ ลูก จะไม่ได้อยู่พร้อมหน้า พวกเราไม่ต้องการรับเงินชดเชยเพียงเท่านั้น แต่พวกเราต้องการที่จะมีอนาคตที่ดีในบ้านเกิดของพวกเรา” นายคมสันกล่าว

อย่างไรก็ตาม นายคมสันยังตั้งคำถามกับรัฐบาลอีกว่า ยุติธรรมกับตนและพนักงานคนอื่นๆ แล้วหรือที่ตัดสินว่าเหมืองเป็นสาเหตุทำให้สารเคมีรั่วไหล แม้ว่าจะไม่มีใครกล้าออกมาฟันธงเรื่องนี้อย่างจริงจัง พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลไตร่ตรองผลการพิจารณาอีกครั้ง

เสียงเล็กๆ ของคนในพื้นที่

นายธงชัย ธีระชาติดำรง อยู่หมู่ 9 ต.เขาเจ็ดลูก อายุ 66 ปี เป็นชาวบ้านที่อยู่มาก่อนตั้งแต่ยังไม่มีเหมืองทองชาตรีฯ

ทั้งนี้ ในวันแถลงข่าวมีตัวแทนพนักงาน ตัวแทนคนในชุมชนรอบเหมือง ผู้นำชุมชน มาร่วมงาน ผู้สื่อข่าวได้พูดคุยกับนายธงชัย ธีระชาติดำรง อยู่หมู่ 9 ต.เขาเจ็ดลูก อายุ 66 ปี เป็นชาวบ้านที่อยู่มาก่อนตั้งแต่ยังไม่มีเหมืองทองชาตรีฯ มีอาชีพทำไร่ปลูกดอกดาวเรือง เพาะเห็ดขาย เล่าว่า “เป็นคนที่นี่ เมื่อก่อนผมอาศัยน้ำที่สระวัดดื่มกิน อุปโภคบริโภค เริ่มมีน้ำประปาใช้ตอนที่มี อบต. แล้ว ถึงมีน้ำประปาใช้ ตอนนั้นก็ไม่ได้พิสูจน์ว่ามีแมงกานีส มีอะไรต่ออะไร ก็ใช้น้ำกันมาตลอด แต่พอมามีเหมืองเกิดขึ้น จึงมาพิสูจน์ว่าน้ำนั้นมีแมงกานีส แต่ไม่เกินมาตรฐาน แต่ประชาชนร้องเรียน บริษัทอัคราเลยจัดการเอาเครื่องกรองแมงกานีสมาใช้ โดยไม่ให้มีสารแมงกานีส”

“ปกติร่างกายต้องการแมงกานีส แต่ไม่ให้มากเกินไป พอที่ร่างกายจะกำจัดออกได้ ซึ่งผลสรุปแล้วมันไม่มีค่าเกินมาตรฐาน แม้กระทั่งผิวพรรณของผม อายุขนาดนี้ยังเป็นอย่างนี้ ใช้น้ำดื่ม น้ำอาบ ใช้หุงข้าว ซักผ้า โดยไม่ได้เอาน้ำที่อื่นมาใช้ ตรวจร่างกายเมื่อเดือนมีนาคมเมื่อวันที่ 22 ผลออกมาแมงกานีสก็ไม่เกิน หมอพิสูจน์ว่าหากคนที่แมงกานีสเกิน มือจะสั่นและเวลาเดินจะเขย่งเท้า อาการผมปกติ ตั้งแต่อยู่มาก็ปกติ ผมมีโรคประจำตัวไขมัน ความดันโลหิตสูง” นายธงชัยกล่าว

พร้อมระบุว่า “ขออนุญาตผู้สื่อข่าว หากจะลงในพื้นที่ กรุณาอย่าไปลงเฉพาะที่ผู้ร้องเรียนพาไป กรุณาไปหาผู้นำชุมชนหรือประชาชนคนอื่นๆ ที่ไม่ได้ร้องเรียนด้วย ในหมู่บ้านผมมีทั้งหมด 67 คน ผมบอกได้ว่าผู้คัดค้านมี 4-5 คน แต่เราก็ไม่คิดว่า ถึงขนาดร้องเรียนให้ปิดเหมือง แต่ก่อนผมก็เคยร้องเรียนเหมืองเหมือนกัน ตอนที่เริ่มทำเหมืองใหม่ๆ ก็มีผลกระทบจริงๆ เรื่องเสียงและฝุ่น และอีกอย่างเราก็อยากขายที่ดินด้วยในปี 2553-2554 แต่ว่าตอนนั้นเรื่องแมงกานีส เราไม่รู้เรื่องหรอก เพราะไม่ได้เป็นอะไร และที่ผ่านมาเหมืองก็แก้ไขมาโดยตลอด และคุณภาพน้ำก็ดีขึ้น ตอนนั้นที่ร้องเรียนผมก็อยากขายที่ดินให้เหมืองเพราะได้ราคาแพงๆ เขาซื้อราคาไร่ละ 500,000 บาท จากราคาไร่ละ 1,000 บาท ผมขายไป 40 กว่าไร่”

เมื่อถามต่อว่า พอขายที่ดินได้แล้วก็ไม่ประท้วงใช่หรือไม่ นายธงชัยกล่าวว่า “ไม่ใช่ ทีแรกเราเชื่อเขาว่าจะมีผลกระทบอย่างนั้นอย่างนี้ พอเราได้พบกับเหมืองจริงๆ มันไม่เป็นอย่างที่ว่า อย่างภรรยาผม (สิริรัตน์ ม่วงวัดท่า เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 บ้านเขาหม้อ) เป็นทาลัสซีเมีย (ภรรยามาร่วมให้สัมภาษณ์ด้วย) ตัดม้ามออก แต่ก็ไม่เป็นไร หากมีสารพิษจริงๆ ก็อยู่ไม่ได้ เพราะไม่มีที่กรองเชื้อ ดังนั้น หากผู้สื่อข่าวจะลงพื้นที่ขอให้ลงไปที่บ้านผู้ใหญ่ หรือผู้นำชุมชน อย่าไปเจาะจงลงเฉพาะคนที่ต่อต้าน เราต้องให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย”

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ในเมื่อคนที่ต่อต้านมีน้อยทำไมไม่พูดคุยทำความเข้าใจกัน นายธงชัยกล่าวว่า “เขาไม่พูดกับใคร เขามี 4-5 คน เขาไม่สนใจคนในชุมชน เขารู้ว่าเราไม่ร้องเรียน ไม่ร่วมมือกับเขา เขาจะไม่เข้าใกล้เลย เขาก็ไปเอาคนนอกพื้นที่ เช่น เนินมะปราง, สระบุรี คนนอกพื้นที่ที่ช่วยเขา เพราะเขาเป็นเอ็นจีโอด้วยกัน เป็นเครือข่ายกัน จะไปกันเป็นทีมๆ ร้องเรียนเหมืองนี้ก็ยกกันไป ร้องเรียนเหมืองนั้นก็เฮกันไป เราก็บอกรัฐมนตรีว่าผู้คัดค้านนั้นเป็นคนนอกพื้นที่ ถ้าผู้ร้องเรียนจริงๆ ต้องโชว์บัตรประชาชน เราก็รู้ว่าไม่ใช่คนในพื้นที่ ถ้าคนในพื้นที่เราต้องรู้จัก เพราะในหมู่ 9 ของเรามีแค่ 67 คน แต่นี่ไม่มีอะไรมาแสดงให้เราดูว่าคุณเป็นคนพื้นที่จริงไหม และคนที่มาคัดค้านเราก็ไม่เคยเห็น”

ด้านนางสิริรัตน์ในฐานะผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 กล่าวเสริมว่า “ในส่วนที่ออกข่าวว่ามีชาวบ้านเสียชีวิตเรื่อยๆ พูดจริงๆแล้ว หมอออกใบมรณบัตรมาส่วนใหญ่มะเร็งทั้งนั้น ไม่เกี่ยวกับเหมือง เราไปงานศพบ่อย ไปทอดผ้าบังสกุลบ่อย เราย่อมรู้ หากบอกว่าน้ำมีสารพิษ ที่เขาบอกว่าเป็นผื่นคัน เป็นน้ำเหลืองเฟอะฟะ ไม่เกี่ยว บางคนอาจจะไปทำงาน ไปรับจ้างฉีดยามา แต่ไม่ได้ทำความสะอาดที่ดีพอก็เป็นผื่นคัน เราเป็นคนพื้นที่ เรารู้คนคนนี้เขาทำอาชีพอะไร รับจ้างอะไร เรารู้หมด”

พนักงานเหมืองอัคราฯ
พนักงานเหมืองอัคราฯ

image

ด้านพนักงานอีกกลุ่มหนึ่งร่วมกัน(ภาพด้านบน)ให้ความเห็นว่า “เรามาเรียกร้องความเป็นธรรม ว่าสิ่งที่คุณตัดสินให้ปิดเลยมันถูกแล้วเหรอ ทั้งที่เหมืองยังไม่มีความผิดเลย ผมอยากให้ดูว่านี่คือบัตรสภากาชาดไทย มารับบริจาคเลือดในเหมือง หลายปีมาแล้ว ทุก 3 เดือนเขามาครั้งหนึ่ง ทำไมเขายังไปรับบริจาคเลือดจากพนักงาน หากมีปัญหาเรื่องสารเคมีทำไมยังมารับบริจาคเลือด และพนักงานก็กินน้ำ ใช้น้ำ กินอาหารในบริเวณนั้น พนักงานไม่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ สภากาชาดยังยอมรับเลือดของพวกผมเลย ชาวบ้านบางกลุ่มบอกว่าพวกผมมีสารพิษ อยู่ในเหมือง ร่างกายผมมีเลือดบริสุทธิ์ที่สามารถไปช่วยคนอื่นได้ ต้องถามกาชาดว่าเลือดที่ได้มาจากเหมืองมีอะไรปนเปื้อน และเคยมีที่ใช้ไม่ได้เลยหรือไม่”

พนักงานกลุ่มนี้เล่าต่อว่า “ความขัดแย้งมาจากเสียงผู้คัดค้านสร้างกระแสจากคนตาย เมื่อไม่นานในหมู่บ้านผมมีคนแก่อายุเกือบ 80 ปีแล้ว แกป่วยมานานแล้ว หูตาไม่ดี และเสียชีวิตลง ผู้นำคัดค้านก็หยิบประเด็นขึ้นมาว่าสาเหตุมาจากเหมือง พูดง่ายๆ ใครที่ตายที่อยู่รอบๆ เหมือง ถ้าป่วย เสียชีวิตเพราะป่วย คือโทษเหมืองอย่างเดียว คนตายเหล่านี้จะตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มผู้คัดค้านเหมือง จะไปดึงเข้ามาเป็นเครื่องมือ เพื่อสร้างกระแส ขณะที่ญาติคนตายยังออกมาขอร้องว่าอย่าเอาครอบครัวเขาไปเป็นเครื่องมือ ญาติเขาบอกว่าไม่ใช่เป็นเพราะเหมือง ยิ่งลงสื่อแล้วดูไม่ดีจากคนภายนอก ใบมรณบัตรก็ชัดเจนว่าไม่ได้เกิดจากเหมือง ระบุชัดเจน เขาก็เอามาเล่น ใครเป็นแผลพุพอง ผื่นคัน ก็หยิบมาเป็นประเด็นหมด ตกเป็นเครื่องมือหมด”

“พวกผมจะดูแลคนในหมู่บ้านหากใครเจ็บป่วย ตั้งแต่เริ่มเจ็บป่วย ทุกวันนี้ก็ยังดูแลเขาอยู่ แต่พวกประท้วง จะเอามาเป็นเครื่องมือเป็นช่วงๆ แล้วพอถึงเวลาก็หายไป ไม่มาดูแล พออยากจะเอามาเป็นประเด็นก็เข้าไปหา หากเหมืองปิดไปใครจะมาดูแลรับผิดชอบพาไปหาหมอ ใครจะไปหาหมอวันไหนเราขึ้นกระดาน เราไปรับส่ง เขาไม่มีรถไป เราก็ไปส่ง”

พนักงานกลุ่มนี้เล่าต่อว่า “วันนี้ ในส่วนของผู้คัดค้าน หากเหมืองปิดไปจริงๆ ผู้คัดค้านในพื้นที่ ผมว่าเขาก็เสียใจในส่วนลึกๆ ของเขา เพราะมันตรงข้ามกับสิ่งเขาต้องการ จริงๆ เขาไม่ได้อยากให้เหมืองปิดหรอก เขาออกมาประท้วงเพราะเขาต้องการขายที่ดิน ขายบ้าน ต้องการให้รัฐบาลสั่งให้เหมืองเยียวยา ตอนนี้คนประท้วงน้ำตาตก เพราะไม่ได้อพยพ ไม่ได้เงิน ขายที่ไม่ได้ ผิดแผน เชื่อไหมว่า เด็กนักเรียนที่อยู่ในชุมชน ออกไปเรียนข้างนอก ไม่ใช่สาเหตุจากเหมือง ที่เขาไปเรียนข้างนอก สาเหตุจากเหมืองคือเขามีเงินทุน ถึงจะออกไปเรียนข้างนอกได้ ถ้าเกิดไม่มีเหมืองก็อยู่ที่นี่ต่อไป”

พนักงานกลุ่มนี้กล่าวว่า “กลุ่มคนที่เขาคัดค้านบางคน เขาก็มีญาติ ลูกหลานของเขา ทำงานอยู่กับเหมือง แต่โดนกลุ่มประท้วงไปดึงมาเป็นเครื่องมือ เพื่อจะเอาชนะ เพื่อจะขายที่ให้ได้ แต่ถ้าเหมืองปิดไป ลูกหลานที่ทำงานในเหมือง เขาต้องรู้สึกไม่ดีกับญาติที่ประท้วง เพราะพวกประท้วงไปเกลี้ยกล่อมบอกว่าถ้าช่วยไปประท้วง เหมืองจะมาซื้อที่ของเรา บ้านของเรา เขาจะได้เงินก้อน ถ้าเหมืองปิด ลูกหลานก็มองไม่ดีกับญาติเขา และตัวเขาที่ถูกบอกว่าจะขายที่ได้ก็ไม่ได้อะไรเลย ผมเป็นคนที่นี่อยู่ที่เขาเจ็ดลูก เป็นคนในพื้นที่ ผมอยู่ที่นี่มานาน 36 ปี ผมคิดว่าหากเหมืองปิดจริง ความขัดแย้งยิ่งกว่าเหมืองอยู่ ปัญหาสังคมจะกลับมาเยอะ ตั้งแต่มีเหมือง เดี๋ยวนี้ยาเสพติดน้อยลงมาก

“เมื่อก่อนผมไปทำงานต่างจังหวัดก็ให้ลูกอยู่กับปู่ ตอนนี้กลับมาอยู่บ้าน 6-7 ปี มากินรายวันที่เหมืองก่อน ตอนนี้ก็เป็นพนักงานแล้ว ผมต้องเลี้ยงลูก 3 คน ได้อยู่กับลูก สอนหนังสือ หากผมตกงานใครจะรับผิดชอบ และคนงานเหมืองกว่า 1,500 คน ประมาณ 80% เป็นคนในพื้นที่”

ชาวบ้านที่อยู่รอบเหมือง มีอาชีพขายของอุปโภคบริโภคและแม่บ้านที่มีอาชีพเสริมจากวิสาหกิจชุมชนที่เหมืองอัคราให้การสนับสนุน เช่น ทำน้ำดื่มขาย
ชาวบ้านที่อยู่รอบเหมือง มีอาชีพขายของอุปโภคบริโภคและแม่บ้านที่มีอาชีพเสริมจากวิสาหกิจชุมชนที่เหมืองอัคราให้การสนับสนุน เช่น ทำน้ำดื่มขาย

ส่วนชาวบ้านที่เป็นกรรมการวิสาหกิจชุมชน ที่ได้รับการสนับสนุนจากเหมืองเล่าว่า มีการรวมกลุ่มตั้งโรงน้ำดื่มวิสาหกิจของหมู่บ้านที่เหมืองสนับสนุนอยู่เพื่อขายในพื้นที่ใกล้เคียง แต่สำหรับหมู่บ้านรอบเหมืองทั้ง 3 จังหวัดในเขตรอยต่อ แจกน้ำดื่มฟรี พร้อมยืนยันว่าตนเป็นคนไปขอใบอนุญาต เอาน้ำไปตรวจ เราทำมาตลอด ทำให้คนในหมู่บ้านมีรายได้ สิ้นปีมีการปันผล

“เหมืองอัคราเขาดูแลมาตลอดสนับสนุนการเลี้ยงไก่ เลี้ยงกบ เย็บผ้าพรมเช็ดเท้า ทุกหมู่บ้านทำกันหมด ทำให้แม่บ้านมีรายได้ เป็นกลุ่มอาชีพที่เราบริหารกันเอง กลุ่มหนึ่งประมาณ 10 คนขึ้นไป ถึงปีก็เอามารวมกันแล้วมาปันผล เราทำรายรับรายจ่ายไม่ให้ขาดทุน มีบัญชีครัวเรือนต่อคน บางคนทำหลายอย่าง เรามีกองทุนเหล่านี้มา 10 ปีแล้ว เดือนหนึ่งตกคนละ 7,000 บาท เฉพาะการทำน้ำดื่ม”

ข้อกังวลสารพิษกับความจริงที่ใกล้ตัว

นายเชิดศักดิ์กล่าวถึงสารหนู แมงกานีส และไซยาไนด์ ที่เป็นข้อกังวลของประชาชนว่า “สารหนู” โดยทั่วไปเวลาคนเราตรวจร่างกายไม่ได้ตรวจสิ่งเหล่านี้ พอมาตรวจก็จะตกใจ เพราะคิดว่าในตัวของตัวเองไม่ควรมีสิ่งเหล่านี้อยู่ แต่โดยข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์สิ่งเหล่านี้มีอยู่รอบๆ ตัวเรา สารหนูมาจากอาหารทะเลหลายตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สาหร่าย ปลาหลายชนิด ตรงนี้ในพื้นที่ จ.พิจิตร หลายคนบอกว่าห่างทะเล ไม่น่าจะมีอาหารทะเลกินเยอะแยะ แต่นั่นเรากำลังตัดสินจากทัศนะของคนกรุงเทพฯ เวลาพูดถึงซีฟู้ดส์ เราจะนึกถึงปลากระพงทอดน้ำปลา ปลาหมึกผัดเผ็ด ปลาเก๋านึ่งมะนาว แต่โดยข้อเท็จจริงในพื้นที่ อาหารที่มีสารหนูจะหาได้โดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นกุ้งแห้ง กะปิ น้ำปลา ปลาหมึกสด ปลาหมึกแห้ง ปลากระป๋อง พวกนี้ในทุกๆ บ้านมีอยู่และบริโภคเป็นประจำ ดังนั้น ที่มาของสารหนูในพื้นที่เหล่านั้นก็ยังมีอยู่ นั่นข้อที่ 1

ข้อที่ 2 “สารหนู” ถ้าใช้เกณฑ์องค์การอนามัยโลกจะอยู่ที่ 100 ไมโครกรัมต่อลิตร ซึ่งถ้าคนมีค่าสารหนูเกิน 100 ไม่แปลว่า “ป่วย” ต้อง 300-400-500 ถึงจะสงสัย โดยทั่วไปคนที่มีสารหนูเกิน 100 คุณหมอแนะนำให้กลับมาตรวจอีกครั้งในระยะเวลา 3 เดือน เพื่อดูค่าความเปลี่ยนแปลง ถ้าครั้งที่ 2 ยังเกินอยู่ คุณหมอก็จะตรวจละเอียดขึ้น การทำงานของตับ ไต อื่นๆ เป็นอย่างไร มันมีอาการที่บ่งบอกไหมว่าจะมีโรคภัยไข้เจ็บที่เกี่ยวกับสารหนู ถ้าไม่มีก็คือไม่มี ที่สำคัญคือคนที่มีค่าสารหนูสูงไม่ใช่คนป่วย ตราบใดที่ไม่มีอาการป่วยตามที่แพทย์ระบุ (ดูเอกสารเพิ่มเติม)

“สิ่งที่มีปัญหาอยู่ก็คือ มีคนไปโฆษณา ว่าถ้าร่างกายมี ‘เกิน’ นั้นป่วยแน่ ตายแน่ จะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งใครก็กลัวหากใครเอาเรื่องที่ตัวเองไม่มีความรู้พื้นฐานมาพูด แล้วบอกว่าคุณจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตรงนี้เป็นจุดที่เราจะใช้โอกาสนี้ในการพยายามสื่อสารกับชาวบ้านรอบเหมือง ถึงเรื่องความรู้พื้นฐานในเรื่องสุขภาพ ถ้าเขาเปิดใจรับฟังและเข้าใจ เมื่อเขามีความรู้ ผลการตรวจร่างกายออกมา ก็จะเข้าใจได้ ส่วนคนที่ไม่อยากจะเข้าใจก็ต้องพยายามทำอยู่ แต่ก็อาจจะยากนิดหนึ่ง ผมว่าเราคงพยายามเน้นหนักการทำงานกับคนที่ใจเป็นกลาง แล้วทำให้เขามีความรู้พื้นฐานในเรื่องเหล่านี้ เขาจะได้คลายความกังวล จะดีกว่าไปพูดกับคนที่ปิดหูปิดตาไม่ยอมฟังอะไรสักอย่าง”

“สารหนู” ข้อดีคือร่างกายเราสามารถขับออกได้เองภายใน 2-3 วัน มีงานวิจัยสนับสนุน โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในอเมริกา ให้คน 12 คนมาอยู่โรงพยาบาล ให้ทานอาหารทะเลต่อเนื่อง 2-3 วัน เสร็จแล้วตรวจสารหนูในปัสสาวะ พบว่าบางคนมี 200 300 500 800 1000 หลังจากนั้นให้ทุกคนที่อยู่โรงพยาบาลอดอาหารทะเล ทานอาหารอย่างอื่น คนที่เคยสูงๆ หลังผ่านขบวนการนี้สารหนูก็ลดลงเหลือ 10-15 ไมโครกรัมต่อลิตร แต่ทุกคนไม่มีใครเกิน อันนี้คือฐานความรู้ที่เราเอามาใช้ โดยคำแนะนำของแพทย์ ว่าหากคุณจะตรวจเรื่องสารหนูในปัสสาวะ คุณต้องขอให้เขางดเว้นอาหารทะเลอย่างน้อย 3 วัน ซึ่งเห็นได้ชัดจากผลการตรวจของเราในครั้งที่ 3 ไม่มีใครเกินเลย

ในกรณีแมงกานีส ในร่างกายเรามีแมงกานีสอยู่แล้ว ถ้าไม่มีจะเดือดร้อน จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับระบบประสาท การรับรู้ การเรียนรู้ ส่วนจะมีมากมีน้อยก็อีกเรื่องหนึ่ง และแมงกานีสมีมากในผักสีเขียว เราได้การสนับสนุนให้กิน เพื่อประโยชน์ที่จะได้วิตามิน เอ บี ซี ดี รวมทั้งการขับถ่ายด้วย เพราะฉะนั้น คาดหมายได้เลยว่าทุกคนมีแมงกานีสสูงในระดับหนึ่ง ยิ่งคนกินมังสะวิรัติ ยิ่งไปกันใหญ่

นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ
นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ

“คุณหมออธิบายว่า ในประะเทศไทยยังไม่เคยมีการตั้งเกณฑ์ว่าแมงกานีสในเลือดควรเป็นเท่าไหร่ ตรงนี้เกณฑ์ในแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน เพราะอยู่ภูมิประเทศลักษณะที่แตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ตาม ที่เราพูดถึง 15 หมอจะบอกว่าให้คุณระวัง แต่ไม่ใช่ว่า 15 แล้วป่วยแน่ จะต้องเป็นโรคนั้นโรคนี้ มีได้ แต่ไม่ควรจะเยอะนัก

สำหรับน้ำประปาในพื้นที่ ไม่มีที่ไหนที่มีสารหนูหรือโลหะหนักที่เป็นพิษเกินมาตรฐาน อันนี้เป็นงานของกรมอนามัย ที่เขาติดตามเรื่องน้ำบาดาลในทุกพื้นที่ ในกรณีที่น้ำบาดาลอาจจะมีแมงกานีสกับเหล็กเกินได้ ทั้งนี้เพราะปัญหาพื้นฐานของประเทศเรา มีการกระจายตัวในลักษณะอย่างนี้ ถ้าดึงข้อมูลของกรมน้ำบาดาลออกมาดู แมงกานีสที่เกินเกณฑ์ของกรมน้ำบาดาลคือสีแดง จะเห็นว่ามีการกระจายตัวของจุดแดงเต็มไปหมดทั้งพื้นที่ ของเราอยู่ตรงนี้ ซึ่งไม่แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ เพราะฉะนั้นถึงบอกว่า แมงกานีส ยังไงก็ไม่ใช่ผลจากเหมืองแน่ๆ

“แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเรารู้จากผลของกรมอนามัยแล้วว่าน้ำประปาบาดาลในพื้นที่มีปัญหา เขาขอความร่วมมือมาว่าทางอัคราฯ เข้าไปช่วยดูได้ไหม เข้าไปปรับปรุงระบบกรองน้ำได้ไหม เราก็โอเค 16 แห่งรอบๆ เหมืองใน 2 ตำบล ช่วยเหลือเป็นเงิน 1.1 ล้านบาท งานเหล่านี้เสร็จแล้ว กรมอนามัยเข้าไปเก็บตัวอย่างน้ำที่ผ่านการกรองจากระบบใหม่ที่เราทำ เมื่อช่วง 27-28 เมษายนที่ผ่านมา คาดว่า อีก 2 อาทิตย์ผลจะออกมา เรามั่นใจว่าใช้ได้ เพราะเก็บมาตรวจแล้ว แต่คราวนี้ทางกรมอนามัยเก็บเอง ผลวิเคราะห์น้ำจะออกมา นี่คือสิ่งที่เราให้ความร่วมมือกับทางสาธารณสุขในการดูแลชาวบ้าน ไม่พูดว่าใครผิดใครถูก แต่ว่าเมื่อเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนในพื้นที่ เราก็ทำอยู่แล้ว”

“ไซยาไนด์” คนกลัวมาก เพราะว่าเป็นสารพิษที่เรารู้จักกันดีเพราะใช้ในการรมยิวสมัยสงครามโลก ที่คนตายกันเป็นแสน แต่ความรู้เรื่องไซยาไนด์ของคนเราก็จำกัดเหมือนกัน เพราะคิดว่าไซยาไนด์ทำควันพิษ เอามารมควัน แต่จริงๆ ไซยาไนด์อยู่ใกล้ตัวเราทุกคน ไม่มีใครรู้ว่าไซยาไนด์เป็นสารเคมีในอุตสาหกรรม ที่เป็นสารประกอบระหว่างคาร์บอนกับไนโตรเจน ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม เยอะแยะ

“เอาใกล้ตัวของคุณที่สุดเลย สีน้ำเงินของกางเกงบลูยีนส์ออร์จินัล นั่นคือไซยาไนด์กับเหล็ก สีย้อมเปิดดูในอินเทอร์เน็ตเขาจะเรียก พรัซเซียนบลู (Prussian blue) มีสีลักษณะเฉพาะของยีนส์เก่า เราใช้ไซยาไนด์ห่อหุ้มร่างกายมานานโดยที่เราไม่รู้ หรือในร่างกายเรา สามารถมีไซยาไนด์ได้จากหลายสาเหตุ หน่อไม้ มีไซยาไนด์ค่อนข้างสูง แต่ไซยาไนด์มีข้อดีคือถูกความร้อนทำลายได้ง่ายนิดเดียว เพราะฉะนั้น จะทานหน่อไม้ก็ต้มให้สุก จากที่มี 200-300 ก็เหลือ 10-20 คุณต้องกินทีละ 10 กิโลกรัมถึงจะตาย นอกจากนั้นอีก 3 วันจะขับออกหมด ถ้าคุณไม่กินหน่อไม้ทุกๆ วัน วันละหลายๆ กิโล ก็ปลอดภัยแน่นอน และที่ใกล้ตัวคืออัลมอนด์ ส่วนแอปเปิ้ล ไม่ได้มีที่เนื้อ แต่มีที่เมล็ด ทางพฤกษศาสตร์บอกว่าเป็นการป้องกันตัวเองของมันระหว่างที่มันยังเล็กไม่ให้ใครกิน ใครกินตาย นกรู้จะไม่กิน เพราะฉะนั้น อย่าไปกินเมล็ดแอปเปิ้ล”

นอกจากนั้น ไซยาไนด์มีมาจากสาหร่าย แบคทีเรีย ที่สังเคราะห์ไซยาไนด์ขึ้นได้เอง เพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้ใครมากิน มีอยู่แต่ในปริมาณไม่มากนัก แล้วก็มีในบุหรี่ มันสำปะหลัง ดังนั้น การเจอไซยาไนด์น้อยๆ ในร่างกายไม่ใช่เรื่องแปลก

“พิษของไซยาไนด์คือความเฉียบพลัน ถ้าได้ไปถึงเกณฑ์ ก็ไปเลย ถ้าเป็นประเภทป่วยเรื้อรังแล้วมาบอกว่าเป็นไซยาไนด์ ไม่ใช่ อย่างพวกกล้ามเนื้ออ่อนแรง ยังไงก็ไม่ใช่มาจากไซยาไนด์

ส่วนการนำเอาไซยาไนด์มาใช้ในเหมือง ต้องทำตาม “ไซยาไนด์โค้ด” ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ออกโดยสถาบันวิจัย ที่ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในกระบวนการไซยาไนด์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ผู้ขนส่ง ผู้ใช้อย่างเรา หรือใครก็ตาม ลงขันเพื่อตั้งสถาบันนี้ขึ้นมา และให้เขาทำการศึกษาวิจัยในหลายๆ เรื่อง แต่ตัวที่สำคัญที่สุดคือเป็นคนออกกฎเกณฑ์สำหรับทุกคนที่เกี่ยวข้อง ว่าเวลาที่คุณทำอะไรเกี่ยวกับไซยาไนด์ คุณต้องทำอย่างไรบ้าง เช่น ผู้ผลิตต้องทำอะไรบ้าง คอนเทนเนอร์ต้องเป็นรูปร่างหน้าตาอย่างนี้ ต้องตรวจเช็คอะไรบ้าง คนที่ขนส่งจะต้องทำแพคเกจจิ้งอย่างไร เช่น ไม่ให้โดนความร้อน เส้นทางการขนส่งต้องตายตัว ความเร็วของรถต้องเท่านั้นเท่านี้ มีเช็คพอยต์อย่างนี้ๆ เพื่อให้มั่นใจ ส่วนผู้ใช้อย่างเราเมื่อซื้อมาใช้แล้ว การเก็บรักษาต้องทำอย่างไร ต้องตรวจสอบอะไรบ้าง ใช้เสร็จแล้ว ขบวนการ detoxification เพื่อลดพิษไซยาไนด์ต้องทำอย่างไร ใช้กระบวนการอะไรบ้าง จนสุดท้ายไปอยู่ที่บ่อกากแร่

“ถ้าไล่ให้ดูถึงความเข้มข้นของไซยาไนด์ในขณะที่ละลายทองคำ เราใช้ 130 ส่วนในล้านส่วน (130 PPM) พอใช้เสร็จแล้ว ไปผ่านกกระบวนการ detoxification แล้ว ไซยาไนด์ก่อนที่จะออกจากโรงงานจะต้องไม่เกิน 20 ส่วนในล้านส่วน (20ppm) ซึ่งตรงนี้มีหลักเกณฑ์ที่เข้มงวดมากกว่ามาตรฐานสากลด้วยซ้ำ ประเทศที่เขาพัฒนาแล้วเขาไม่ตื่นเต้นกับไซยาไนด์ ของมาตรฐานสากลเขากำหนดที่ 50 ของเรากำหนด 20 หากไปดูย่อยลงไปอีก มาตรฐานสากลกำหนด Total 50 ของเราไปกำหนดตัวย่อย 20 ทำยากกว่าอีก แต่ขณะเดียวกันไซยาไนด์ที่ออกจากโรงงานไม่เคยเกิน 10 ส่วนในล้านส่วนตั้งแต่ทำมา พอไปอยู่ที่บ่อกากแร่ มันก็สลายตัว ความเข้มข้นเฉลี่ยของไซยาไนด์ในบ่อกากแร่ไม่เกิน ประมาณ 1 ตลอดเวลา ส่วนมาก 0.02-0.05 เพราะฉะนั้น หากพูดเชิงเปรียบเทียบ ความเข้มข้นของไซยาไนด์ในบ่อกากแร่น้อยกว่าในกาแฟ”

อย่างไรก็ตามนายเชิดศักดิ์กล่าวสรุปว่าเมื่อพูดถึงไซยาไนด์คนก็จะกลัว จึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความรู้ นี่คือสาร 3 ตัวที่ประชาชนกังวล ดังนั้น ในจดหมายกระทรวงอุตฯ แม้จะยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน แต่เพื่อความสงบสุขของสังคม ของชุมชน ลดปัญหาความขัดแย้ง ก็ให้ปิด เพราะฉะนั้น ในมุมหนึ่ง ถ้าคนมองโลกในแง่ดี ก็บอกว่าเท่ากับการันตีเราว่าไม่ใช่ (ทำให้เกิดปัญหา) เขาปิดด้วยเหตุผลอื่นที่เขาก็บอกว่าไม่รู้