เมื่อ20 มกราคม 2559 บริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)ชี้แจงกรณี กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับคดีผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำ จ. พิจิตร เป็นคดีพิเศษว่าจากกรณีที่มีการรายงานข่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับคดีผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำ จ. พิจิตร เป็นคดีพิเศษในวันที่ 19 มกราคม 2559 ที่ผ่านมานั้น บริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ได้ออกเอกสารข่าวชี้แจงว่าขณะนี้บริษัท อัคราฯยังไม่ได้รับแจ้งเรื่องดังกล่าวจากดีเอสไอแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ขอยืนยันว่าได้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรีตามมาตรฐานสากลด้วยความรับผิดชอบต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมเสมอมาตั้งแต่เริ่มดำเนินการ ซึ่งการประกอบกิจการนั้นเป็นไปตามกฏหมาย และปฏิบัติตามมาตรการ EHIA อย่างเคร่งครัดทุกประการ
นอกจากนั้นบริษัทฯ ยังได้รับการตรวจวัดทางสิ่งแวดล้อมอย่างละเอียด ได้จัดให้มีการตรวจวัดฝุ่น เสียง น้ำ แรงสั่นสะเทือน และก๊าซจากปล่องในโรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนตรวจสุขภาพประชาชนที่อาศัยโดยรอบทุกๆ 3 เดือนตามหลักวิชาการ และข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์สามารถตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน จากหน่วยงานที่กำกับดูแลโดยตรง คือกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร) และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในทุกๆ 3 และ 6 เดือนอยู่สม่ำเสมอ จึงไม่ใช่สาเหตุที่ก่อให้เกิดผลกระทบในด้านต่างๆ ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพตามที่เกิดเป็นข้อกล่าวหา ซึ่งบริษัทฯ ได้ดำนินการให้ข้อมูล และหลักฐานทางวิชาการต่างๆ แก่หน่วยงานที่กำกับดูแลอยู่เป็นระยะ และพร้อมให้ข้อมูลดังกล่าวแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสื่อมวลชน
การดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรีนั้น ได้มาตรฐานสากล มีความปลอดภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะระบบบริหารจัดการบ่อเก็บกากแร่ (บ่อ TSF) ได้รับการรับรองความปลอดภัยสูงสุดในการใช้สารเคมี หรือ Cyanide Management Code ซึ่งเป็นเครื่องหมายยืนยันมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในวงการอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทั่วโลก
รวมทั้งพนักงานจำนวนมากของทางเหมืองฯ ที่อยู่ใกล้ชิดและคลุกคลีกับกระบวนการผลิตที่ถูกกล่าวอ้างว่าได้รับผลกระทบด้านสุขภาพนั้น ต่างได้รับการตรวจสุขภาพอย่างละเอียด และมีผลยืนยันว่า ทุกคนยังคงมีสุขภาพแข็งแรง และมิได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการฯ ตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด โดยในปี 2558 ที่ผ่านมาผลการตรวจหาสารไซยาไนต์ในเลือดของพนักงานทั้ง 354 คนที่ทำงานในเหมืองแร่ฯ นั้น ไม่พบสารไซยาไนต์ในเลือดของพนักงานเลยแม้แต่รายเดียว ดังนั้นน่าจะเป็นการยืนยันได้ดีถึงมาตรฐานสากลในการทำเหมืองแร่ฯ ที่สอดรับกับมาตรฐานการดำเนินการที่คำนึงถึงผลกระทบของการประกอบกิจการต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของ ผู้มีส่วนได้เสียทุกท่าน โดยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของพนักงานเหมืองแร่ทองคำชาตรี ต่างเป็นประชาชนในพื้นที่ที่บริษัทฯ เปิดดำเนินการ