จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พบว่า ประเทศไทยมีการผลิตแร่ทองคำมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ก่อนปี พ.ศ. 2511 มีการทำเหมืองทองคำในหลายพื้นที่ แต่ไม่ได้รับการสนับสนุน จากรัฐเท่าที่ควร
จนกระทั่งมาถึงยุค รัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ กระทรวงอุตสาหกรรม ออกประกาศกำหนดพื้นที่พัฒนาเหมืองแร่ทองคำให้เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ 5 แห่ง ปรากฏว่าไม่มีนักลงทุนรายใดสนใจ เพราะเป็นช่วงที่ราคาทองคำในตลาดโลกตกต่ำ และรัฐบาลเก็บค่าภาคหลวงสูง จึงไม่คุ้มค่าในการลงทุน
ต่อมา ในสมัยของรัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ คณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงอุตสาหกรรมออกอาชญาบัตรและประทานบัตรทำเหมืองทองคำให้กับภาคเอกชนที่สนใจ นโยบายดังกล่าวก็เริ่มมีผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
ปี 2534 บริษัท ทุ่งคา ฮาเบอร์ จำกัด และบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เข้าทำได้รับประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำในจังหวัดเลย
ปี 2535 รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ปรับลดค่าภาคหลวงแร่เหลือร้อยละ 2.5
ปี 2543 บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด ได้รับประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำที่จังหวัดพิจิตรและเพชรบูรณ์
หลังจากภาคเอกชนเปิดดำเนินกิจการมาได้ไม่นาน ก็เริ่มมีปัญหาความขัดแย้งกับชาวบ้านในพื้นที่ ทำให้รัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ต้องหันกลับมาทบทวนนโยบายใหม่ โดยเปลี่ยนวิธีจัดเก็บค่าภาคหลวง จากอัตราคงที่ ร้อยละ 2.5 เป็นอัตราก้าวหน้า ร้อยละ 0-20 (อัตราการจัดเก็บที่แท้จริง หรือ effective rate อยู่ที่ร้อยละ 10)
แต่ความขัดแย้งก็ยังมีมาอย่างต่อเนื่องจนถึงยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ส่งทีมแพทย์ลงพื้นที่ตรวจเลือดชาวบ้าน พบโลหะหนักในเลือด แต่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าผลกระทบดังกล่าวเกิดจากการทำเหมืองหรือไม่?
ปัญหารุนแรงขึ้น จนในที่สุด พลเอกประยุทธ์ ต้องออกคำสั่งระงับการทำเหมืองทองคำ และห้ามต่ออายุประทานบัตรเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2560
ปลายปี 2560 บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท อัคราฯ ยื่นให้ไทยเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศช่วงปลายปี 2560
“นี่คือเหตุการณ์ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา จากรัฐบาลพลเอก เปรม ถึงรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จากนโยบายส่งเสริมการลงทุนทำเหมืองทองคำในปี 2530 ปัจจุบันกำลังก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 รวมทั้งมียุทธศาสตร์ชาติที่จะมุ่งเน้นการพัฒนาประเทศ ให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน จึงจำเป็นต้องยึดตามกรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ เพื่อประโยชน์ของชาติ ดูแลสุขภาพประชาชนและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”