ThaiPublica > เกาะกระแส > สำรวจ “เหมืองแร่ทองคำชาตรี” ในวันที่ยังไม่รู้อนาคต …จะกลับมาเปิดกิจการได้เมื่อไหร่

สำรวจ “เหมืองแร่ทองคำชาตรี” ในวันที่ยังไม่รู้อนาคต …จะกลับมาเปิดกิจการได้เมื่อไหร่

30 เมษายน 2018


เหมืองทองคำ”อัคราฯ” จ.พิจิตร

กว่า 1 ปีแล้ว ที่ “เหมืองแร่ทองคำชาตรี” ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) หยุดดำเนินกิจการเหมืองแร่จากคำสั่งมาตรา 44 ของ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ได้สร้างความเสียหายให้บริษัทอัคราฯ อย่างมากมาย เพราะนอกจากต้องหยุดทำเหมืองแล้ว ยังต้องทยอยเลิกจ้างพนักงานที่ทำงานในเหมืองร่วมพันคน

ที่ผ่านมา เหมืองทองชาตรีของบริษัทอัคราฯ มีข้อพิพาทกับประชาชนผู้คัดค้านการทำเหมืองมาต่อเนื่องหลายปี เนื่องจากผู้คัดค้านเห็นว่า การดำเนินกิจการเหมืองแร่ในพื้นที่มีส่วนสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชาวบ้าน และเดินหน้ายื่นเรื่องให้เจ้าหน้าที่รัฐตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนี้มาหลายครั้ง

อย่างไรก็ดี แม้จะมีการตรวจสอบทั้งจากภาครัฐ นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ปัญหาข้อขัดแย้ง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทอัคราฯ รวมถึงตั้งคณะย่อยต่างๆ เข้าไปตรวจสอบ แต่ก็ยังจบปัญหานี้ไม่ลง เพราะผลวิเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมยังเป็นข้อถกเถียงเพราะคำตอบที่ได้ไม่ตรงกัน

จนกระทั่งล่าสุด มีรายงานของคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบข้อเท็จจริงการรั่วซึมของบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 (TSF1) ของเหมืองแร่ทองคำชาตรีเผยแพร่ลงในเว็บไซต์กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ระบุว่าพบข้อบ่งชี้การรั่วไหลของน้ำจากบ่อเก็บกากแร่ที่ 1 ของบริษัทอัคราฯ

แต่ก็มีข้อแนะนำแก่ผู้ที่จะนำข้อมูลไปใช้ว่า ยังมีข้อคิดเห็นของคณะทำงานย่อยผู้เชี่ยวชาญฯ บางท่านที่มีความเห็นแตกต่างจากรายงานฉบับสมบูรณ์ พร้อมกับหมายเหตุว่า ควรพิจารณานำข้อมูลไปใช้ด้วยความระมัดระวัง (อ่านรายงานการสำรวจตรวจสอบโอกาสการรั่วไหลของสารพิษจากบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 (TSF1) ของเหมืองทองคำ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) จังหวัดพิจิตร)

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้ามีโอกาสไปร่วมสำรวจ “เหมืองแร่ทองคำชาตรี” ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร หลังจากมีรายงานดังกล่าวเผยแพร่สู่สาธารณะ โดยมีทีมงานของบริษัทอัคราให้การต้อนรับผู้สื่อข่าวและนำลงพื้นที่สำรวจเหมืองแร่ทองคำชาตรี

ปัจจุบันพบว่า เหมืองแร่ทองคำชาตรีอยู่ในสภาพหยุดดำเนินกิจการมานานกว่า 1 ปีแล้ว เครื่องจักรในการผลิตทั้งหมดหยุดทำงานตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 จากคำสั่งมาตรา 44 ของ คสช. แต่ก็ยังมีผู้เข้าเยี่ยมชมศึกษาดูงานที่เหมืองอยู่บ้างเป็นระยะ

เมื่อได้สำรวจบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 ที่ตกเป็นข่าว พบว่าเป็นบ่อกักเก็บกากแร่ขนาดใหญ่ มีพื้นที่กว้างประมาณ 500 ไร่ สูงจากพื้นดินเกือบ 30 เมตร นายสุรชาติ หมุนสมัย ผู้จัดการฝ่ายข้อมูลสุขภาพและวิทยาศาสตร์ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ระบุว่า “ปัจจุบันมีสภาพเป็นกากแร่ ซึ่งก็คือหินที่ถูกบดจนละเอียดเป็นแป้ง เหมือนกับบ่อดินธรรมดา เลิกใช้งานมานาน 5 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2555 ก่อนที่จะถูก คสช. สั่งระงับการทำเหมือง”

ขณะเดียวกัน ข้างล่างบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 จะมีบ่อเฝ้าระวังประมาณ 60 บ่อ เพื่อดูว่ามีอะไรรั่วไหลลงไปในบ่อหรือไม่ ซึ่งตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ดำเนินกิจการมายังไม่เคยพบ อย่างไรก็ตาม จะมี กพร. เป็นหน่วยงานหลักเข้ามาตรวจสอบอย่างเป็นทางการอีกชั้นหนึ่ง นอกจากนี้ยังสังเกตได้ว่า มีต้นไม้ต้นหญ้าขึ้นเยอะพอสมควรตามธรรมชาติ ซึ่งทีมงานบริษัทอัครา รีซอร์สเซส ชี้แจงว่า ไม่ได้มีสารร้ายแรงอะไรรั่วไหลอย่างที่เป็นข่าว

“ตัวอย่างน้ำที่เราเก็บและตรวจในช่วงปีสุดท้าย ไม่พบว่ามีสารไซยาไนด์หรือสารอันตรายอื่นๆ แต่อย่างใด เพราะบ่อมันแห้งไปแล้ว แต่ผลสรุปของคณะกรรมการตรวจสอบพบข้อบ่งชี้การรั่วไหลของสารเคมี แต่ก็มีข้อโตแย้งจำนวนมากจากคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญอีกหลายคนที่ไม่เห็นด้วยในเชิงวิชาการจำนวนมาก”

นายวรงค์ สราญฤทธิชัย ผู้จัดการทั่วไป บมจ.อัครา รีซอร์สเซส เล่าว่า ทุกวันนี้บ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 มีสภาพเป็นพื้นที่แห้ง แต่พอช่วงหน้าฝน น้ำก็จะซึมลงบ่อ แต่ก็จะมีการสูบน้ำมาเก็บไว้ที่บ่อกักเก็บกากแร่ที่ 2 (TSF2) ซึ่งก็ไม่ได้มีการใช้งานเช่นกัน หลังถูกสั่งระงับการทำเหมือง

แต่ประเด็นที่มีผู้ร้องเรียนนั้นคือน้ำฝนที่ตกลงมาแล้วซึมมาตามท่อพีวีซีที่บริษัทวางไว้ก้นบ่อที่ 1 ซึ่งบริษัทได้ตรวจเมื่อปีสุดท้ายที่หยุดดำเนินการ คือปี 2555 ไม่พบสารไซยาไนด์หลงเหลืออยู่ในน้ำแล้ว ขณะที่ปี 2559 และปี 2560 ก็ทำการตรวจและไม่พบสารอันตรายเช่นกัน

นายวรงค์กล่าวว่า บริษัทมีแผนต้องฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองแร่มาแล้ว เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เป็นแผนฟื้นฟูระยะยาว แต่ปัจจุบันยังมีบางพื้นที่ไม่สามารถเข้าไปฟื้นฟูได้ เพราะถูกสั่งระงับให้หยุดกิจการในช่วงก้ำกึ้งของแผนการฟื้นฟูเหมืองแร่

ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาของบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 เมื่อถูกใช้งานจนเต็มถึงปี 2555 ก็ต้องเข้าสู่ช่วงฟื้นฟูพื้นที่ แต่ตรงกลางบ่อเป็นแอ่งกระทะ ซึ่งการฟื้นฟูต้องใช้กากแร่เติมให้เต็ม แล้วเอาหินกลบ เอาพืชคลุมดินคลุมข้างบนอีกชั้นหนึ่ง

แต่เมื่อโดนสั่งระงับทำเหมือง ก็ไม่มีกากแร่ไปเติมสำหรับใช้ในงานฟื้นฟู จะให้เอาหินในโครงการไปใช้ก็ไม่พอ รวมทั้งการฟื้นฟูต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ทาง กพร. แจ้งเรามาว่าต้องทำการฟื้นฟู แต่ก็ชี้แจงไปว่าติดปัญหาหลายด้าน ยังทำไม่ได้ ดังที่ยกตัวอย่าง

เช่นเดียวกับการเดินเครื่องจักร ซึ่งหลังจากถูกสั่งระงับก็หยุดไปเลย มีแต่ทีมงานดูแลรักษาสภาพเครื่องจักร ถ้ารัฐบาลให้กลับมาทำ เราต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5-6 เดือน ในการเตรียมบุคลากร เตรียมเครื่องจักร ก่อนจะเริ่มสตาร์ทโรงงานใหม่อีกครั้ง

นายวรงค์เปิดเผยด้วยว่า ตั้งแต่เหมืองแร่โดนสั่งระงับประกอบกิจการ จำนวนพนักงานรวมผู้รับเหมาในเหมืองก็ลดลงจากพันกว่าคนเหลืออยู่ประมาณ 20 คน คอยทำหน้าที่ดูแลโรงงานและฟื้นฟูพื้นที่ แต่ไม่รู้ว่าจะดูแลได้อีกนานแค่ไหน เนื่องจากมีค่าใช้จ่าย แต่ไม่มีรายได้จากผลกระทบการหยุดดำเนินกิจการ ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงที่เกิดขึ้นกับบริษัท

นอกจากนั้นยังมีผลกระทบด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ชุมชนรอบเหมือง พนักงานที่ต้องออกไปต่างแยกย้ายไปหางานทำที่กรุงเทพฯ หรือตามจังหวัดใหญ่ๆ เพื่อหารายได้มาเลี้ยงครอบครัว เนื่องจากพนักงาน 70-80% ของเหมืองทองชาตรีเป็นคนในพื้นที่ จึงมีผลกระทบค่อนข้างชัดเจน

“ถ้าบอกว่าชุมชนล่มสลายมั้ย ผมคิดว่าชัดเจน ก่อนหน้านี้ในส่วนของผู้ร้องเรียนก็จะบอกว่ามีเหมืองอยู่ทำให้ชุมชนล่มสลาย แต่หลังจากที่เหมืองปิด ผมคิดว่าเราเห็นภาพของชุมชนล่มสลายจริงๆ เพราะมันไม่มีงานรองรับให้ชุมชนพื้นที่ มองไปในภาพใหญ่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ก็กระทบกันหมด ตัวเลขการใช้จ่ายของจังหวัดก็หายไปจำนวนมาก” นายวรงค์กล่าว

นายวรงค์บอกว่า ขณะนี้บริษัทพยายามที่จะดูแลในส่วนของงานฟื้นฟูเหมืองตามข้อกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ให้ได้มากที่สุด แต่เงินที่บริษัทจะนำมาใช้ในส่วนนี้ก็ร่อยหรอลงไปทุกที ซึ่งหากสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้ ยังไม่ได้ความชัดเจนจากรัฐบาล ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าอนาคตเหมืองจะเป็นยังไง หรือได้เปิดกิจการเมื่อไหร่

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองส่วนตัวมองว่า ทางบริษัทแม่ (คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด) คงไม่เพิกเฉยในเรื่องการฟื้นฟูเหมือง เพราะเป็นหน้าที่ที่บริษัทจะต้องดูแล ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีรายได้เข้ามาก็ตาม

นายวรงค์กล่าวถึงการเรียกร้องขอความเป็นธรรมกรณีเหมืองแร่ทองคำชาตรีถูกสั่งระงับการประกอบกิจการด้วยว่า ขณะนี้ได้เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย แต่อย่างไรก็ดี บริษัทต้องการที่จะเจรจาต่อรองกับรัฐบาลมากกว่าการเรียกร้องค่าเสียหาย

“บริษัทได้ฟ้องอนุญาโตตุลาการ แต่ก็ไม่ได้ปิดกั้นทางอื่นๆ เพราะบริษัทต้องการที่จะเจรจาต่อรองกับรัฐบาล ซึ่งช่วงปีที่ผ่านมาเราพยายามขอเจราจาต่อรองกับรัฐบาล โดยมีเงื่อนไขที่เราเสนอด้วยความจำเป็นทั้งระยะเวลาและงบประมาณ แต่อาจจะยังไม่เห็นความชัดเจน แต่ทางบริษัทก็ยังยินดีที่จะคุยกับทางรัฐบาลเพื่อหาข้อสรุป”

พร้อมกับชี้ว่า “ผมมองว่าความชัดเจนอยู่ที่รัฐบาล หากถ้ารัฐบาลจริงใจผมคิดว่ามันหาข้อสรุปกันได้ ส่วนในพื้นที่เหมืองทองแห่งนี้อาจจะยังไม่ใช่เหมืองร้าง เพราะเรายังมีหน้าที่ฟื้นฟูอยู่ แต่อนาคตหากไม่มีความชัดเจน ผมมองว่ามันก็มีความเป็นไปได้ โดยเฉพาะตอนนี้พื้นที่รอบๆ เหมืองจากเมื่อก่อนที่เคยมีการจับจ่ายใช้สอย มีความเจริญเข้ามาในพื้นที่ แต่ตอนนี้ถ้ามีโอกาสลงพื้นที่ดูชุมชนรอบพื้นที่ ก็จะเริ่มเห็นความชัดเจนแล้วว่ามันเริ่มจะร้าง”

“และถ้ายังเป็นลักษณะอย่างนี้ต่อไป บริษัทอาจจะไม่มีเงินมาใช้ฟื้นฟูพื้นที่แล้ว โจทย์ก็คือบริษัทหรือรัฐบาลจะทำอย่างไร ผมมองว่าเป็นโจทย์มหภาคว่าถ้าถึงจุดนั้นรัฐบาลจะช่วยเหลือชุมชนที่นี่อย่างไร ขณะเดียวกันเวลานี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนจากรัฐบาลว่า ถ้าเรากลับมาทำงาน คุณจะไม่มาปิดเราอีก”

ขณะที่นายสุรชาติ ชี้แจงและตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับรายงานของคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบข้อเท็จจริงการรั่วซึมของบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 ที่ระบุพบข้อบ่งชี้การรั่วไหลของสารเคมีในประเด็นสำคัญว่า เนื้อหาในรายงานเป็นความเห็นของผู้วิจัยเท่านั้นไม่ใช่ข้อสรุปของคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญ

นอกจากนั้น เนื้อหาในรายงานเป็นแค่ข้อสงสัย ไม่มีข้อพิสูจน์ว่ามีการรั่วไหลจริง เป็นเพียงการคาดคะเน เช่น มีข้อบ่งชี้, อาจจะ, คาดว่า แต่ไม่มีข้อพิสูจน์ว่ามีการรั่วไหลจริง รวมทั้งประเด็นสำคัญคือ วิธีการสำรวจเป็นแบบธรณีฟิสิกส์ ซึ่งไม่สามารถบอกผลในเชิงประจักษ์ เป็นเพียงการคาดคะเน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้สำรวจ

รวมถึงในขั้นตอนการพิจารณาวิธีการสำรวจ มีคณะผู้เชี่ยวชาญหลายท่านไม่เห็นชอบให้ใช้วิธีการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ แต่ประธานได้ขอร้องให้มีการดำเนินการตามแผนโครงการเนื่องจากมีระยะเวลาจำกัด และจำเป็นต้องสรุปผลการดำเนินการให้เป็นรูปธรรมให้กับคณะกรรมการชุดใหญ่ (คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา ข้อขัดแย้ง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ)

ดูเหมือนว่า การใช้มาตรา 44 ของ คสช. ต่อกรณีการระงับการทำเหมืองแร่ทองคำชาตรี จะยังหาข้อสรุปจากข้อพิพาทที่เกิดขึ้นไม่ได้?

อ่านเพิ่มเติม
1.“คนเอาเหมือง” ชุมชนรอบเหมืองทองอัครา 29 หมู่บ้าน – บริษัทรับเหมาช่วง รวมกว่า 5 พันคน ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอให้ฟังชาวบ้านตัวจริง
2.เหมืองทองอัคราฯแจ้งรัฐบาลไทยละเมิดข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย หลังถูกสั่งปิดกิจการ
3.เหมืองทองอัคราแจงมาตรฐานระดับโลก ไม่ใช่ต้นเหตุก่อมลภาวะ หลังดีเอสไอรับเป็นคดีผู้ได้รับผลกระทบเป็นคดีพิเศษ

ลำดับเหตุการณ์กรณีเหมืองทอง บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)