ThaiPublica > เกาะกระแส > มติครม.ปิดเหมืองทองคำ “อัครา” ให้ทำถึงสิ้นปี 59 – คลอดมาตรการจัดระเบียบหลักสูตรอบรมภาครัฐ

มติครม.ปิดเหมืองทองคำ “อัครา” ให้ทำถึงสิ้นปี 59 – คลอดมาตรการจัดระเบียบหลักสูตรอบรมภาครัฐ

11 พฤษภาคม 2016


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

นายกฯ ยันหลักฐานฟ้อง “แม่จ่านิว” ไม่ได้มีแค่ “จ้า” รับไม่ได้ คนทำผิด ม.112

พล.อ. ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์หลังการประชุม ครม. ถึงเสียงวิจารณ์กรณีที่พนักงานสอบสวนของตำรวจได้ยื่นฟ้อง น.ส.พัฒน์นรี ชาญกิจ แม่ของนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” แกนนำกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ต่อศาลทหารกรุงเทพ ในข้อหาหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) มาตรา 112 หลังมีการเปิดเผยพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนของตำรวจใช้ มีเพียงคำตอบแชทของ น.ส.พัฒน์นรี ในเฟซบุ๊กว่า “จ้า” คำเดียวเท่านั้น ว่า พยานหลักฐานไม่ได้มีแค่ “จ้า” คำเดียว มันมีอีก 8-9 ประโยค แต่ตนเปิดเผยไม่ได้ว่ามีอะไรบ้าง รอให้ศาลทหารกรุงเทพตัดสินมาก่อน รัฐบาลนี้ยืนยันมาตลอดว่าไม่ยอมรับการหมิ่นสถาบันเบื้องสูง การดำเนินคดีดังกล่าวเป็นเรื่องของการทำผิดกฎหมาย ไม่ได้หวังผลทางการเมืองหรือเกี่ยวข้องกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม 2559

พร้อมแจงปมสิทธิมนุษยชนในไทยต่อยูเอ็น

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการเดินทางไปชี้แจงกับคณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติของตัวแทนรัฐบาลไทยว่า ไม่มีอะไรต้องกังวล เพราะกระทรวงยุติธรรมได้เตรียมข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยไว้รอชี้แจงหมดแล้ว ทั้งเรื่องการประกาศใช้กฎอัยการศึก การใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 44 รวมถึงคดีความและการกระทำผิดต่างๆ ส่วนที่นักวิชาการบางส่วนเคลื่อนไหวยื่นหนังสือว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันละเมิดสิทธิมนุษยชน ตนก็อยากถามกลับว่า แล้วการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐบาลชุดอื่นๆ 10 ปีก่อนหน้านี้ นักวิชาการกลุ่มนี้ไปอยู่ที่ไหน ล่าสุด ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศน่าลงทุน ลำดับที่ 21 จากที่ไม่เคยได้รับการจัดอันดับมาก่อน ข่าวดีๆ แบบนี้ทำไมไม่รายงานบ้าง ไปรายงานแต่ข่าวที่ไม่เป็นเรื่อง

“ที่บอกว่ารัฐบาลนี้ละเมิดเสรีภาพสื่อ อยากถามว่าละเมิดตรงไหน ลองบอกมาสักข้อ เสรีภาพสื่อหมายถึงการจะด่ารัฐบาลอะไรก็ได้หรือ ถ้าเป็นเช่นนั้นไว้ค่อยด่ารัฐบาลชุดหน้าแล้วกัน แต่รัฐบาลชุดนี้ ผมให้ได้แค่นี้” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

รื้อปราสาทพระวิหารจำลองไม่เกี่ยวกัมพูชา

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่กองทัพบกเตรียมรื้อประสาทเขาพระวิหารจำลองที่ถูกสร้างไว้บนผามออีแดง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ว่า เป็นเพราะมีคนในประเทศไทยร้องเรียนเข้ามาว่าไม่สบายใจ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทางประเทศกัมพูชาแต่อย่างใด เนื่องจากขณะนี้ คดีเขาพระวิหารถือว่ายังอยู่ในศาลโลก การจะไปทำอะไรต้องระมัดระวัง

พล.อ. ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ด้านความมั่นคง ออกมาเปิดเผยว่ามีการโทรศัพท์เข้ามาข่มขู่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่า จับตัวผู้โทรมาได้แล้ว จิตแพทย์ยืนยันแล้วว่าเป็นคนบ้า เขามีเบอร์รัฐมนตรีใน ครม. หมดทุกคน ยืนยันว่าไม่มีรัฐบาลคนไหนหวาดกลัวการข่มขู่ และจะไม่มีการปรับ ครม. ในเร็วๆ นี้

ปิดฉากเหมืองทอง “อัครา” สิ้นปี 59 –ใช้เงิน 45 ลบ. ช่วยพนักงาน

สำหรับวาระการประชุม ครม. อื่นที่น่าสนใจ

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบมติของคณะกรรมการร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหากรณีเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบด้วยตัวแทน 4 กระทรวง คือ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ยุติการดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำของบริษัทอัคราฯ ทั้งหมด ในช่วงสิ้นปี 2559 นี้

สำหรับมติของคณะกรรมการร่วมฯ ดังกล่าว มีจำนวน 3 ข้อ ประกอบด้วย

1. ยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ และประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงคำขอต่ออายุประทานบัตรด้วย

2. ในกรณีของบริษัทอัคราฯ เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของพนักงาน และเพื่อเตรียมการเลิกประกอบกิจการ จึงเห็นควรให้ต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมของบริษัทออกไปจนถึงสิ้นปี 2559 เพื่อให้นำแร่ที่เหลืออยู่ไปใช้ประโยชน์ได้ รวมทั้งให้บริษัทอัคราฯ เร่งดำเนินการปิดเหมือง และฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองให้เป็นไปตามเงื่อนไขการอนุญาต

3. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลประชาชน และบรรเทาปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นภายหลังการปิดกิจการเหมืองแร่และโลหกรรมของบริษัทอัคราฯ ดังนี้

3.1 กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำกับดูแลการปิดเหมือง และฟื้นฟูพื้นที่ของบริษัทอัคราฯ

3.2 กระทรวงสาธารณสุข ดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

3.3 กระทรวงแรงงาน ดูแลพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการ

ทั้งนี้ การช่วยเหลือพนักงานบริษัทอัคราฯ ที่มีจำนวนกว่า 1.5 พันคน นอกจากกระทรวงอุตสาหกรรมจะประสานกับกระทรวงแรงงานในการให้ความช่วยเหลือแล้ว จะประสานผู้ว่าราชการ จ.พิจิตร ให้นำเงินเข้ากองทุนพัฒนาท้องถิ่นซึ่งมีเงินประมาณ 45 ล้านบาท มาช่วยเหลือ

“สำหรับประโยชน์จากการทำเหมืองทองคำ มีการพบแร่ทองคำในประเทศไทยเฉลี่ยปีละ 3-4 ตันเท่านั้น โดยราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 1,200 ล้านบาท คิดเป็นประโยชน์รวมกันเฉลี่ยปีละ 3,600 ล้านบาท ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องพัฒนาเหมืองแร่ เพราะไม่คุ้มกับ social cost” นางอรรชกากล่าว

เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ว่าบริษัทอัคราฯ จะฟ้องร้องกรณีทีสั่งยุติการทำเหมืองทองคำ นางอรรชกากล่าวว่า ไม่กังวลเพราะเป็นนโยบาย หากฟ้องมาก็ต้องชี้แจงข้อเท็จจริงและต่อสู้ไปตามขั้นตอน ทั้งนี้ แม้จะยังไม่ได้สรุปอย่างชัดเจนว่า ปัญหาข้อร้องเรียนและผลกระทบต่างๆ เกิดจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทอัคราฯ หรือไม่ แต่เพื่อประโยชน์ของสังคมและประชาชน เพื่อแก้ปัญหาความแตกแยกของประชาชนในชุมชน ประกอบกับมีคำสั่งของหัวหน้า คสช. เกี่ยวกับการดำเนินการเหมืองแร่ทองคำเมื่อเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2557 ว่าต่อไปต้องโปร่งใส ไม่สร้างมลพิษ และประชาชนไม่ต่อต้าน

เมื่อถามว่า หากเกิดผลกระทบภายหลังการปิดเหมือง ผู้ที่มีภาระในการออกค่าใช้จ่ายคือใคร นางอรรชกากล่าวว่า เป็นของบริษัทอัคราฯ ไม่ใช่กระทรวงอุตสาหกรรม

ด้าน พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า หลังจากปี 2559 เป็นต้นไปประเทศไทยจะต้องไม่มีการทำเหมืองทองคำอีกต่อไป ส่วนการช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ จะให้กระทรวงสาธารณสุขเข้าไปดูแล

สั่ง ศธ. เขียน กม. บังคับรัฐให้การศึกษาภาคบังคับถึง ม.6

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกฯ ฝากชี้แจงถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญที่ให้สนับสนุนการศึกษาจนถึงแค่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.3) ว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ไม่ได้บังคับให้รัฐสนับสนุนการศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา ปีที่ 1 (ป.1) จนถึงระดับชั้น ม.6 แต่เป็นนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ที่มีคนถามว่าทำไมร่างรัฐธรรมนูญฯ ให้ลดลง นายกฯ จึงสั่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาชี้แจงกับสังคม ว่ารัฐจะสนับสนุนการศึกษา 12 ปีเป็นอย่างน้อย และเพื่อเป็นการยืนยัน จึงสั่งให้ร่างกฎหมายเพื่อบังคับให้รัฐบาลทุกชุดสนับสนุนการศึกษาตั้งแต่ก่อนระดับชั้น ป.1 ถึง ม.6

คลอด 5 มาตรการ จัดระเบียบหลักสูตรอบรมภาครัฐ

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแนวทางการจัดระเบียบหลักสูตรการอบรมของหน่วยงานราชการต่างๆ ซึ่งมีอยู่ราว 30 หน่วยงาน ตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ด้านกฎหมายเสนอ หลังจากที่ผ่านมาพบปัญหา อาทิ ข้าราชการบางคนเรียนติดต่อกันจนไม่ได้ทำงานทำให้ประชาชนเดือดร้อน, ข้าราชการบางคนใช้การเข้าอบรมหลักสูตรเหล่านี้ในการสร้างเครือข่าย สุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่การทุจริต, ข้าราชการบางคนวิ่งเต้นเข้าอบรมหลักสูตรต่างๆ จนไปตัดโอกาสบางคนที่เหมาะสมกว่า หรือจำเป็นต้องใช้ในการพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง ฯลฯ

ทั้งนี้ นายวิษณุได้เสนอแนวทางแก้ไข 5 ประเด็น

1. ให้ออกเป็นระเบียบสำนักนายกฯ เพื่อให้มีผลบังคับใช้กับหน่วยงานราชการทุกแห่ง แม้จะไม่มีผลกับศาลหรือองค์กรอิสระ แต่จากการประสานงาน หน่วยงานเหล่านั้นพร้อมที่จะแก้ไขหลักสูตรการอบรมของตัวเองให้สอดคล้องกับระเบียบสำนักนายกฯ ที่จะออกมา

2. กำหนดให้ข้าราชการที่เข้าอบรมหลักสูตรต่างๆ ต้องเว้นวรรคการเข้าอบรมหลักสูตรต่อไปอย่างน้อย 2 ปี เว้นแต่เป็นการเข้าหลักสูตรอบรมที่จำเป็นต้องการเลื่อนตำแหน่ง

3. กำหนดสัดส่วนการรับคนนอกหรือเอกชนเข้าอบรมหลักสูตรต่างๆ หากเป็นหลักสูตรการอบรมภายในหน่วยงานนั้นๆ ให้รับคนนอกได้ไม่เกิน 15% แต่หากเป็นหลักสูตรการอบรมทั่วไป เช่น ของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ให้รับเอกชนได้ไม่เกิน 20%

4. สำหรับการดูงาน ให้เน้นการดูงานภายในประเทศ หากจำเป็นต้องไปต่างประเทศ ก็ให้ไปประเทศในกลุ่มอาเซียน+3 แต่ต้องพักภายในประเทศไทย และหากจำเป็นต้องไปประเทศนอกเหนือจากนั้น ก็ให้ทำเหตุผลความจำเป็นเสนอรัฐมนตรีต้นสังกัดอนุมัติ

5. สำหรับค่าใช้จ่ายในการเข้าอบรม สำหรับเอกชนให้ออกค่าใช้จ่ายเอง ส่วนข้าราชการให้เบิกจ่ายได้ตามหลักสูตร ไม่ให้เบิกจ่ายได้ตามสิทธิที่ข้าราชการคนนั้นดำรงตำแหน่งอยู่

เว้นภาษีโอนอสังหาฯ ให้ลูกคนละ 20 ล้าน ต่ออายุรถเมล์รถไฟฟรี 6 เดือน

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.นี้ คือกำหนดให้ยกเว้นภาษีแก่พ่อที่โอนอสังหาริมทรัพย์ให้กับลูกที่ไม่ใช่ลูกบุญธรรมในมูลค่าไม่เกิน 20 ล้านบาท “ต่อคน” ต่อปี จากเดิมที่ให้นับรวมไม่ว่าจะมีลูกกี่คนก็ตาม ให้ “รวมกัน” ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อปี เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างพ่อที่มีลูกคนเดียวหรือมีลูกหลายคน ทั้งนี้ ให้ส่งร่าง พ.ร.บ. นี้ ให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเพื่อออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป 

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่าง พรฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่กองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา) เพื่อจูงใจให้บุคคลธรรมและนิติบุคคลสามารถบริจาคเงินให้แก่กองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ซึ่งปัจจุบันมีเงินประเดิมจากหน่วยงานราชการต่างๆ รวมกัน 230 ล้านบาท โดยบุคคลธรรมสามารถลดหย่อนภาษีได้ตามจริง แต่ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมิน ส่วนนิติบุคคลสามารถลดหย่อนภาษีได้ตามจริง แต่ต้องไม่เกิน 2% ของกำไรสุทธิ

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวอีกว่า ที่ประชุม ครม. ยังมีมติเห็นชอบให้ต่ออายุมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนด้านการเดินทาง (มาตรการรถเมล์ฟรีรถไฟฟรี) ไปอีก 6 เดือน จากเดิมสิ้นสุดในวันที่ 30 เมษายน 2559 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ตุลาคม 2559 โดยรัฐบาลจะชดเชยค่าใช้จ่ายรวมกันกว่า 2,258 ล้านบาท

เผยระบบจัดซื้อจัดจ้างใหม่ช่วยประหยัดงบกว่า 3 หมื่นล้าน

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบตามที่กระทรวงการคลังได้รายงานผลการปรับรูปแบบการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่มีการนำระบบ e-bidding, e-market และ price performance ซึ่งหน่วยงานราชการทุกแห่งได้ปรับใช้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 ว่าสามารถประหยัดงบประมาณไปได้เกือบ 3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นระบบ e-bidding ที่นำมาใช้แทนระบบ e-auction สามารถประหยัดได้ถึง 52 ล้านบาท ระบบ e-market ที่ให้จัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์ที่ไม่มีความซับซ้อน ช่วยประหยัดได้ถึง 28,734 ล้านบาท และระบบ price performance ที่ให้นำเกณฑ์อื่นๆ มาใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างด้วย ไม่ใช่แค่ราคาต่ำสุดเพียงอย่างเดียว ช่วยประหยัดได้ถึง 690 ล้านบาท

“รูปแบบการจัดซื้อจัดจ้างนี้จะใช้ไปจนถึงร่าง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. …. จะมีผลบังคับใช้ โดยล่าสุด กฤษฎีกาได้ตรวจทาน ร่าง พ.ร.บ. นี้เสร็จสิ้นแล้ว อยู่ระหว่างส่งไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำความเห็นกลับมาอีกครั้ง เนื่องจากมีการขอปรับแก้เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. นี้ในบางประเด็น จากกระทรวงที่มีรัฐวิสาหกิจในการกำกับดูแล” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

ตีกลับมาตรการจูงใจดึงต่างชาติถ่ายหนังในไทย

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติตีกลับมาตรการจูงใจกองถ่ายจากต่างประเทศให้มาใช้ประเทศไทยเป็นโลเกชั่นในการถ่ายทำด้วยวิธีการคืนเงิน (cash rebate) ที่ พล.อ. ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯ เสนอ ทั้ง 2 ประเด็น คือ 1. เรื่องสัดส่วนการคืนเงิน กรณีที่มาถ่ายทำอย่างเดียว ซึ่งใช้จ่ายเกิน 30 ล้านบาท จะได้สิทธิคืนเงินไม่เกิน 15% ของรายจ่ายทั้งหมด และการถ่ายทำและโพสต์โปรดักชันต่างๆ เช่น การตัดต่อ ฯลฯ ซึ่งใช้จ่ายเกิน 30 ล้านบาท จะได้สิทธิคืนเงินไม่เกิน 20% ของรายจ่ายทั้งหมด เนื่องจากสัดส่วนที่เสนอมายังน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศ เช่น ประเทศมาเลเซีย ที่ให้สูงสุดถึง 30% ของรายจ่ายทั้งหมด และ 2. เรื่องแหล่งเงินทุนที่จะใช้ในมาตรการนี้ ว่าจะใช้จากแหล่งใด โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ เสนอให้ใช้เงินจากกองทุน competitive fund

“โดย ครม. มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปพิจารณาทั้ง 2 ประเด็นให้มีความเหมาะสม ก่อนนำกลับมาเสนอ ครม. เพื่อพิจารณา อีกครั้ง” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

ช่วยชาวไร่อ้อยช่วงวิกฤติแล้ง ตันละ 160 บาท

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิตแก่ชาวไร่อ้อย ในฤดูการผลิต 2558/2559 ในอัตรา 160 บาท/ตัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภาวะภัยแล้งเป็นการชั่วคราวเฉพาะฤดูกาลนี้ โดยอนุมัติให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน เพื่อนำมาใช้จ่ายสำหรับมาตรการดังกล่าว

ทั้งนี้ จะมีการเก็บเงินที่เป็นส่วนต่างของราคาค่าอ้อยขั้นสุดท้ายที่สูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูกาลปี 2558/2559 เข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ในอัตราไม่เกิน 25 บาท/ตัน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายมีมติว่าหากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้นจะต้องเก็บเงินเข้ากองทุนฯ เพื่อรักษาเสถียรภาพของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลให้เป็นระบบมากขึ้น

นางอรรชกา กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม ครม. มีมติตีกลับข้อเสนอในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เช่น ปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง, ส่งเสริมให้ทำเกษตรแปลงใหญ่สมัยใหม่เพื่อเพิ่มผลิตภาพ, จัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ฯลฯ เป็นต้น เพื่อให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปจัดทำแผนดังกล่าวให้มีความชัดเจนมากขึ้น ก่อนนำกลับมาเสนอที่ประชุม ครม. อีกครั้ง