ThaiPublica > สู่อาเซียน > วิถีใหม่ใน “เชียงตุง”

วิถีใหม่ใน “เชียงตุง”

24 ธันวาคม 2020


รายงานโดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์

วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวเชียงตุง (บันทึกภาพในเดือนกันยายน 2554)

สัปดาห์นี้พักเนื้อหาฝั่งลาว มาดูเรื่องราวที่น่าสนใจทางชายแดนอีกด้านหนึ่ง ที่…เชียงตุง

ขณะที่หลายพื้นที่กำลังเผชิญกับภาวะซบเซาหรือหยุดชะงักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ที่เชียงตุง กำลังมีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นเงียบๆ ทีละน้อย อาจไม่ใช่ความเคลื่อนไหวที่ใหญ่โตมาก แต่มีพัฒนาการต่อเนื่องที่น่าติดตาม

เชียงตุงเป็นจังหวัดในภาคตะวันออกของรัฐฉาน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา อยู่ห่างจากชายแดนไทยที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายขึ้นไปทางทิศเหนือประมาณ 160 กิโลเมตร

เชียงตุงเป็น 1 ในเมือง 5 เชียง ที่มีสายสัมพันธ์โยงใยซึ่งกันและกันมาแต่อดีต แต่ด้วยเหตุที่ดินแดนแถบนี้ถูกแบ่งไปตามนิยามรัฐชาติสมัยใหม่ที่ได้รับอิทธิพลจากภายนอกเมื่อกว่า 100 ปีก่อน เมืองเชียงทั้ง 5 จึงต้องถูกแยกออกไปขึ้นกับ 4 ประเทศ ประกอบด้วย

  • เชียงราย
  • เชียงใหม่
  • เชียงตุง (รัฐฉาน–เมียนมา)
  • เชียงรุ่ง (สิบสองปันนา–จีน)
  • เชียงทอง(หลวงพระบาง–ลาว)

ประวัติเมืองเชียงตุงถูกบันทึกเป็นตำนานไว้หลายฉบับ แต่ที่ถูกอ้างถึงมากที่สุด คือประวัติศาสตร์ยุคราชวงศ์มังราย ซึ่งเขียนไว้ว่า…

จุลศักราช 591 ตรงกับ พ.ศ. 1772 พญามังรายได้เสด็จประพาสป่า และไล่ตามกวางทองตัวหนึ่งมาถึงบริเวณที่เป็นเมืองเชียงตุงปัจจุบัน พระองค์มีความพึงพอใจในชัยภูมิของที่นี่ จึงส่งกองทัพมาชิงเมืองจากชาวลัวะเจ้าของพื้นที่เดิม

พ.ศ. 1786 พญามังรายได้ส่งเจ้าน้ำท่วมผู้เป็นโอรสมาครองเมืองเชียงตุง

ส่วนสายสัมพันธ์ระหว่างกันของเมืองเชียงทั้ง 5 สรุปภาพพอสังเขปได้ดังนี้…

พญามังรายเป็นโอรสของลาวเมง กษัตริย์แห่งหิรัญนครเงินยางกับนางเทพคำขยาย พระธิดาของท้าวรุ่งแก่นชาย กษัตริย์แห่งเมืองเชียงรุ่ง สิบสองปันนา

นครเงินยางกับเชียงรุ่งจึงเกี่ยวดองซึ่งกันและกัน

นอกจากเชียงตุงแล้ว พญามังรายยังเป็นผู้สร้างเมืองเชียงรายและเชียงใหม่ หลังสถาปนาเชียงใหม่ขึ้นเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนาแล้ว เชียงตุงได้ถูกจัดเข้าเป็นหัวเมืองหนึ่งของเชียงใหม่ โดยกษัตริย์ผู้ครองนครเชียงตุง เป็นเชื้อสายในราชวงศ์มังราย

สมัยพญาเกสเชษฐราช กษัตริย์เชียงใหม่ลำดับ 12 ในราชวงศ์มังราย (พ.ศ. 2068–2081 และ 2086–2088) พระองค์ได้สร้างสายสัมพันธ์กับอาณาจักรล้านช้าง โดยส่งพระนางยอดคำทิพย์ ราชธิดาไปเป็นพระอัครมเหสีของพระยาโพธิสาลราช กษัตริย์แห่งเชียงทอง (หลวงพระบาง) มีพระราชโอรสคือพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช

พ.ศ. 2089 เชียงใหม่ซึ่งกำลังเผชิญกับการคุกคามของพม่าในสมัยพระเจ้าบุเรงนอง กำลังมีปัญหาภายใน เหล่าขุนนางได้ไปเชิญพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ซึ่งเป็นเชื้อสายราชวงศ์มังราย จากหลวงพระบาง ให้เสด็จมาเป็นกษัตริย์ลำดับที่ 15 ของเชียงใหม่

พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชครองเชียงใหม่ได้ปีเศษ พระเจ้าโพธิสาลราชผู้เป็นบิดาสวรรคต พระองค์จึงเสด็จกลับหลวงพระบาง และได้ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งล้านช้างอีกอาณาจักรหนึ่ง

เมื่อภัยคุกคามจากพม่าแผ่ขยายเข้าไปถึงล้านช้าง พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชตัดสินใจอพยพไหร่พลจากหลวงพระบางลงไปสร้างเมืองหลวงใหม่ ซึ่งอยู่ในชัยภูมิที่ดีกว่าคือเมืองเวียงจันทน์

วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวเชียงตุง (บันทึกภาพในเดือนกันยายน 2554)

หากพิจารณาคุณสมบัติการเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว ทั้งเชียงราย เชียงใหม่ เชียงตุง เชียงรุ่ง เชียงทอง ต่างมีองค์ประกอบครบถ้วน แต่ละเมืองล้วนมีเสน่ห์ทั้งความเป็นธรรมชาติ มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรม มากน้อยแตกต่างกันไป

แต่หากดูวิถีปัจจุบัน เชียงตุงกลับเป็นเมืองที่ยังคงความสดไว้ได้มากที่สุดในเมืองเชียงทั้ง 5 ความทันสมัย กระแสวัตถุนิยม ยังเข้ามาถึงที่เชียงตุงน้อยกว่าเมืองเชียงอื่นๆ
หลายคนเปรียบเทียบเชียงตุงวันนี้ เหมือนกับเชียงใหม่เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว หรือหลวงพระบางเมื่อกว่า 10 ปีก่อน

ชาวบ้านใช้ชีวิตที่สงบ เรียบง่าย พอเพียง กิจวัตรประจำวันอิงอยู่กับประเพณีและความเชื่อทางพุทธศาสนา

ผู้เฒ่า ผู้แก่ เจอคนแปลกหน้า ยังยิ้มแย้มทักทาย ยิ่งถ้าคนแปลกหน้าเด็กกว่ามากๆ มักถูกเรียกเป็นลูก…

ประชากรส่วนใหญ่ของเชียงตุงเป็นชาว “ขืน” เนื่องจากเชียงตุงมีแม่น้ำสายหนึ่งไหลผ่าน แม่น้ำสายนี้ไหลจากทิศใต้ขึ้นไปทางเหนือ ซึ่งเป็นการขืนธรรมชาติ จึงถูกเรียกว่าแม่น้ำขืน ผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณนี้จึงถูกเรียกเป็นชาวขืน

แต่คนไทยมักชินกับการเรียกผู้ที่มาจากเชียงตุงว่าเป็นคน “ไทเขิน”

ชาวขืนเป็นชาติพันธุ์ในกลุ่มเดียวกับชาวลื้อ สำเนียงในภาษาพูดใกล้เคียงกับภาษาลื้อ ส่วนตัวอักษรขืนหรืออักษรไตธรรม ถูกพัฒนามาจากตัวธรรมของล้านนา จึงมีลักษณะคล้ายกับอักษรธรรมล้านนา

อักษรธรรมล้านนาเป็นตัวอักษรที่เคยใช้กันอย่างกว้างขวางในหลายจังหวัดภาคเหนือของไทย และยังถูกพัฒนานำไปใช้เป็นอักษรลื้อในสิบสองปันนา มณฑลยูนนานของจีน อักษรไตธรรมในเชียงตุง เมืองลา เมืองยาง เมืองยอง เมืองพยาก ในรัฐฉาน รวมถึงอักษรลาวธรรมในลาว

มีการนำคุณลักษณะเด่นของเชียงตุง มาตั้งสมญาให้เป็นเมือง “3 จอม 7 เจียง 9 หนอง 12 ประตู”

3 จอม หมายถึงตัวเมืองเชียงตุง มียอดเนิน 3 ลูก เป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญทางศาสนา เปรียบดั่งแลนด์มาร์กของเชียงตุง

7 เจียง หมายถึง ชุมชนดั้งเดิมของที่นี่ซึ่งมี 7 แห่ง

9 หนอง หมายถึงเป็นแอ่งน้ำหรือหนองน้ำของเชียงตุงในอดีต มีอยู่ 9 แห่ง แต่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 2 แห่ง หนองน้ำที่ใหญ่และสำคัญที่สุด คือหนองตุง อันเป็น 1 ในที่มาของชื่อเมืองเชียงตุง

12 ประตู หมายถึงประตูเมืองที่ใช้เป็นช่องทางเข้า-ออกเชียงตุง ซึ่งสมัยก่อนมี 12 แห่ง แต่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 2 แห่ง คือประตูป่าแดงและประตูหนองผา

เมื่อผ่านจากด่านแม่สายเข้าไปยังท่าขี้เหล็ก ถนนจากที่นี่เพื่อไปยังเชียงตุงต้องข้ามภูเขาหลายลูก สูง-ต่ำลดหลั่นกันไป เขาลูกสุดท้ายก่อนถึงเชียงตุง มีชื่อว่า “ดอยปางควาย”

ชุมชนริมข้างทางบนดอยปางควายเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว จุดแวะพักคนเดินทางที่จะไปยังเชียงตุง
ชุมชนริมข้างทางบนดอยปางควายเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว จุดแวะพักคนเดินทางที่จะไปยังเชียงตุง
ถนนจากดอยปางควาย ลงสู่เมืองเชียงตุง (บันทึกภาพในเดือนกันยายน 2554)

ดอยปางควายเดิม เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านเล็กๆ มีบ้านเรือนเรียงรายอยู่ 2 ฟากถนน มีร้านค้าให้ผู้ที่เดินทางโดยรถยนต์ได้แวะพักเข้าห้องน้ำ ดื่มน้ำ หรือรับประทานอาหาร ก่อนเข้าสู่ตัวเมืองเชียงตุง

เมื่อ พ.ศ. 2561 คณะสงฆ์กลุ่มหนึ่งในรัฐฉานได้ร่วมกันสร้างพุทธอุทยานขึ้นบนดอยปางควาย ภายในประกอบด้วยพระอภัยราชมุนี พระพุทธรูปองค์ใหญ่ สีขาว นอกจากนี้ยังมีพระมหาโพธิ์เจดีย์ ซึ่งจำลองมาจากเจดีย์พุทธคยา ที่อินเดีย มีสังเวชนียสถานจำลองฯลฯ

ศาสนสถานสำคัญภายในพุทธอุทยาน ดอยปางควาย ปัจจุบัน ที่มาภาพ: จากเฟซบุ๊ก Kovida Vasipake ซึ่งเพจ “รักเชียงตุง” นำมาเผยแพรต่อเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม https://www.facebook.com/KengtungCity/posts/4238633206177680)
ที่มาภาพ: จากเฟซบุ๊ก Kovida Vasipake ซึ่งเพจ “รักเชียงตุง” นำมาเผยแพรต่อเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม https://www.facebook.com/KengtungCity/posts/4238633206177680)
ที่มาภาพ : จากเฟซบุ๊ก Kovida Vasipake ซึ่งเพจ“รักเชียงตุง”นำมาเผยแพรต่อเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม https://www.facebook.com/KengtungCity/posts/4238633206177680)

การก่อสร้างมีความคืบหน้าเป็นลำดับ จนถึงขณะนี้สถานที่หลายแห่งสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว (ดูภาพประกอบ)

เวลาที่ พล.อ. อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพพม่า เดินทางมาราชการในรัฐฉานภาคตะวันออก ถ้ามีเวลา ต้องขึ้นมาดูความคืบหน้าการก่อสร้างพุทธอุทยานบนดอยปางควาย และร่วมถวายปัจจัยสนับสนุนการก่อสร้าง

ก่อนโควิด-19 ระบาด แม้พุทธอุทยานดอยปางควายยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่ก็ได้ถูกจัดให้เป็นจุดแวะชมของนักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม ที่ต้องการเดินทางไปยังเชียงตุง

เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ โควิด-19 เริ่มระบาดรอบแรกในเมียนมาในเดือนมีนาคม

เดือนเมษายนมีการล็อกดาวน์ ประกาศใช้มาตรการห้ามประชาชนออกจากบ้านในหลายพื้นที่ แต่สำคัญที่สุด มีการปิดประเทศ ห้ามชาวต่างชาติเดินทางเข้าไปในเมียนมา

เทศบาลเมืองเชียงตุง อาศัยโอกาสนี้ปรับปรุงสภาพตัวเมืองครั้งใหญ่ในหลายๆ จุด

ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน เฟซบุ๊กแฟนเพจของเทศบาลเชียงตุง เผยแพร่ภาพซ่อมถนนหนทางหลายสายในตัวเมือง มีการลอกผิวถนนเดิมที่ขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อ ปรับผิวให้เรียบ แล้วเทคอนกรีต หรือปูแอสฟัลต์ทับเข้าไปใหม่ มีการวางท่อระบายน้ำริมถนนบางสาย จากเดิมที่ไม่เคยมีมาก่อน

หนองตุง ที่มาภาพ: เพจเทศบาลเมืองเชียงตุง https://www.facebook.com/kyaingtongtpsdevcom)

หนองตุง แลนด์มาร์กสำคัญของเชียงตุง ได้รับการปรับภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบ ติดตั้งป้ายยินดีตอนรับภาษาอังกฤษ เพื่อใช้เป็นจุดสำหรับนักท่องเที่ยวได้เช็คอิน

มีการสร้างหอนาฬิกาหลังใหม่ที่สวยงามขึ้นบริเวณหัวมุมกาดหลวง หรือตลาดประจำเมืองเชียงตุง

หอนาฬิกาหลังใหม่ที่กาดหลวงเชียงตุง ที่มาภาพ: เพจเทศบาลเมืองเชียงตุง https://www.facebook.com/kyaingtongtpsdevcom)

ด้านข้างหอนาฬิกา มีการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่สูง 3 ชั้น ชั้นแรกใช้เป็นที่จอดรถที่จุได้ประมาณ 60 คัน อีก 2 ชั้น แบ่งซอยเป็นร้านค้าจำนวนหลายยูนิต เพื่อยกระดับจากเดิมที่เป็นตลาดแนวราบ ให้มีลักษณะเป็นกึ่งศูนย์การค้า

สิ่งปลูกสร้างทั้งหมด ทยอยเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาตลอดช่วง 9 เดือน ของการปิดประเทศ

แต่นั่น เป็นเพียงพัฒนาการทางวัตถุ

ก่อนโควิด-19 ระบาด เชียงตุง ซึ่งมีอีกฐานะหนึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐฉานภาคตะวันออก ไม่ได้มีไฟฟ้าใช้ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะไฟฟ้าของรัฐยังเข้าไปไม่ถึง ต้องอาศัยไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชน ที่ไม่สามารถปล่อยไฟให้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

การใช้ชีวิต และการดำเนินธุรกิจ จึงไม่สะดวกสบายเหมือนในเมืองใหญ่หลายแห่ง

27 มิถุนายนที่ผ่านมา เป็นวันแรกที่ไฟฟ้าของรัฐเข้าไปถึงยังเชียงตุง ทำให้เชียงตุงจะได้มีไฟฟ้าใช้ตลอด 24 ชั่วโมง!!!

ไฟฟ้าของรัฐที่เพิ่งปล่อยไปยังเชียงตุงวันนั้น มาจากเขื่อนผลิตไฟฟ้าเชียงตองที่อยู่ห่างไปทางทิศตะวันตกของเชียงตุงประมาณ 150 ไมล์

เขื่อนผลิตไฟฟ้าเชียงตองเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง สร้างกั้นแม่น้ำเต็ง ติดกับน้ำตกเชียงตองหรือน้ำตกจงอาง น้ำตกที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของรัฐฉาน จังหวัดดอยแหลม มีกำลังการผลิต 54 เมกะวัตต์ เริ่มผลิตไฟฟ้าได้เมื่อปี 2552

แผนที่สายส่งไฟฟ้าจากสถานีย่อยน้ำจ๋าง มายังเชียงตุง

ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเขื่อนนี้ถูกส่งไปยังสถานีย่อยที่เมืองน้ำจ๋าง ไฟฟ้าส่วนใหญ่ถูกจ่ายไปยังเมืองตองจี เมืองหลวงของรัฐฉานภาคใต้เป็นหลัก ไฟฟ้าส่วนที่เหลือจ่ายให้กับเมืองที่อยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้า เช่น เชียงตอง ลางเคอ เมืองนาย เมืองปั่น

ปีงบประมาณ 2558–2559 การไฟฟ้าเมียนมาเริ่มปักเสาเดินสายจากสถานีย่อยน้ำจ๋างมาทางทิศทางตะวันออก เสาและสายส่งไฟฟ้าแรงสูงขนาด 230 KV ค่อยๆ ถูกพาดไปตามป่าเขา จากเมืองน้ำจ๋าง ผ่านเมืองเปง มาถึงเชียงตุง (ดูแผนที่ประกอบ)

เมืองเปงเพิ่งได้ใช้ไฟฟ้าของรัฐเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ก่อนหน้าเชียงตุง 3 อาทิตย์

ปัจจุบัน หลายในภาคตะวันออกของรัฐฉาน ยังไม่มีโรงไฟฟ้าของรัฐ ทำให้หลายเมืองในภาคนี้จำเป็นต้องซื้อไฟจากเอกชนหรือจากต่างประเทศ หลายพื้นที่จึงไม่มีไฟฟ้าใช้ตลอด 24 ชั่วโมง

เมืองท่าขี้เหล็กอยู่ตรงข้ามอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ต้องซื้อไฟฟ้าจากฝั่งไทย บ่อยครั้งเมื่อไฟฟ้าในเชียงรายดับ ท่าขี้เหล็กก็จะไฟดับไปด้วย

เมืองท่าเดื่อ เมืองพยาก และเมืองเชียงลาบริมฝั่งแม่น้ำโขง ในจังหวัดท่าขี้เหล็ก ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับเมืองเชียงกก แขวงหลวงน้ำทา ต้องซื้อไฟฟ้ามาจากฝั่งลาวที่ลากสายข้ามแม่น้ำโขงผ่านทางสะพานมิตรภาพลาว-เมียนมา

การที่เชียงตุงได้มีไฟฟ้าใช้ตลอด 24 ชั่วโมง จึงเป็นจุดเริ่มต้นของวิถีใหม่ๆ ที่กำลังตามเข้ามาในหลากหลายลักษณะ

กาดหลวงเชียงตุงรูปแบบเก่า ที่เป็นตลาดแนวราบ (บันทึกภาพในเดือนกันยายน 2554)
กาดหลวงเชียงตุงรูปแบบเก่า ที่เป็นตลาดแนวราบ(บันทึกภาพในเดือนกันยายน 2554)

กลางเดือนเมษายน ขณะที่หลายพื้นที่ ไม่ว่าเป็นในไทยหรือในรัฐฉาน อยู่ระหว่างการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวด

ที่เชียงตุง ได้ปรากฏข่าวความคืบหน้าของโครงการที่ใช้ชื่อว่า “Naung Tong Hypermarket”

โครงการนี้ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์ตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2560 โดย ดร.ลิน ทุต มุขมนตรีรัฐฉาน มาเป็นประธานในพิธี แต่ดูเหมือนการก่อสร้างอย่างจริงจังได้เริ่มเมื่อประมาณปลายปีที่แล้ว

Naung Tong Hypermarket เป็นศูนย์การค้าแนวราบ ความสูง 2-3 ชั้น สร้างอยู่บนพื้นที่ 10.32 เอเคอร์ หรือประมาณ 26 ไร่ ใจกลางเมืองในย่านหนองแก้ว ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของหนองตุง

กาดหลวงเชียงตุงที่กำลังถูกปรับปรุงเป็นรูปแบบใหม่ ที่มาภาพ: เพจรักเชียงตุง https://www.facebook.com/KengtungCity/posts/4890444614329866)
กาดหลวงเชียงตุงที่กำลังถูกปรับปรุงเป็นรูปแบบใหม่: ที่มาภาพ เพจรักเชียงตุง https://www.facebook.com/KengtungCity/posts/4890444614329866)
กาดหลวงเชียงตุงที่กำลังถูกปรับปรุงเป็นรูปแบบใหม่ ที่มาภาพ: เพจรักเชียงตุง https://www.facebook.com/KengtungCity/posts/4890444614329866)

ภายใน Naung Tong Hypermarket ประกอบด้วยร้านค้าขนาดพื้นที่ 130 ตารางฟุต สูง 15 ฟุต จำนวน 944 ห้อง โรงภาพยนต์ 3 มิติ ขนาด 200 ที่นั่ง ทางเดินกว้าง 6 ฟุต มีห้องโถงขนาดใหญ่ 2 ห้อง ที่สามารถจุคนได้กว่า 4,000 คน มีบันไดเลื่อน 16 ตัว พร้อมพื้นที่จอดรถ ซึ่งสามารถจอดได้ 446 คัน

มูลค่าการลงทุนโครงการนี้ 15,000 ล้านจั๊ต หรือประมาณ 345 ล้านบาท

ช่วงที่เริ่มมีข่าวโครงการนี้ใหม่ๆ ข้อมูลที่ปรากฏออกมาระบุว่า Naung Tong Hypermarket เป็นโครงการที่อยู่ในกลุ่มบริษัทหนองตุง (Nawngtung Co.Ltd) โดย The Voice Myanmar เคยสัมภาษณ์จายติ๊ดอ่อง ผู้อำนวยการบริษัทหนองตุงไว้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 ยืนยันว่า Naung Tong Hypermarket เป็นโครงการของบริษัทหนองตุง

สถานที่ก่อสร้าง Naung Tong Hypermarket ซึ่ง The Voice Myanmar นำเสนอไว้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 (http://thevoicemyanmar.com/news/8786-kwm)

บริษัทหนองตุง เป็นเจ้าของหนองตุง บูติคโฮเต็ล โรงแรมเก่าแก่ขนาด 32 ห้อง ตั้งอยู่ริมหนองตุง สร้างมาตั้งแต่ปี 2535 ก่อนที่จะมีการปิดปรับปรุงในปี 2553 และเปิดให้บริการใหม่อีกครั้งในปี 2554

นอกจากนี้ ยังเป็นเจ้าของโรงแรมขนาดกลาง ระดับ 3 ดาว ภายใต้แบรนด์ “ตุงคบุรี” (Tungapuri Hotel) ซึ่งมีทั้งในกรุงย่างกุ้ง เมืองเนปิดอว์ และปินอูลวิน เมืองตากอากาศชื่อดังของมัณฑะเล

“ตุงคบุรี” เป็นชื่อเดิมของเชียงตุง จุดเด่นของที่นี่คือการนำเอาเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของเชียงตุงมาเป็นธีม ตกแต่งบรรยากาศภายใน และให้บริการด้วยกลิ่นอายวัฒนธรรมขืน

รูปแบบโครงการ Naung Tong Hypermarket ที่มาภาพ: Naung Tong Hypermarket https://www.facebook.com/naungtonghypermarket
รูปแบบโครงการ Naung Tong Hypermarket ที่มาภาพ: Naung Tong Hypermarket https://www.facebook.com/naungtonghypermarket
รูปแบบโครงการ Naung Tong Hypermarket ที่มาภาพ: Naung Tong Hypermarket https://www.facebook.com/naungtonghypermarket

นอกจากนี้ เป็นเจ้าของร้านอาหารไทใหญ่ที่ใช้ชื่อว่า Tai Kitchen อยู่ในโรงแรมตุงคบุรีที่เนปิดอ และมีสาขาในเมืองปยินมะนา

อย่างไรก็ตาม ในคลิปแนะนำโครงการที่เผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก Naung Tong Hypermarket ล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ ชื่อเจ้าของโครงการ Naung Tong Hypermarket ได้ถูกเปลี่ยนเป็น Naung Tong Service Company

Naung Tong Hypermarket คาดว่าจะสร้างเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการประมาณเดือนเมษายน ปีหน้า

โครงการ Naung Tong Hypermarket ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างจริง ที่มาภาพ: เพจ Naung Tong Hypermarket https://www.facebook.com/naungtonghypermarket

ผู้ที่เคยไปยังเชียงตุงก่อนโควิด-19 เริ่มระบาด หากมีโอกาสกลับไปอีกครั้งหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายไปแล้ว เชื่อได้ว่าต้องแปลกตากับรูปแบบใหม่ๆ ที่ได้ปรากฏขึ้นในเมืองที่เคยเงียบสงบ ร่มเย็นแห่งนี้

แน่นอน หลายคนย่อมมีมุมมองต่อการเปลี่ยนแปลงของเชียงตุงที่แตกต่างกัน

บางคนอาจชอบ เพราะเห็นว่าเป็นความเจริญที่ได้เข้ามาถึงแล้ว ขณะที่บางคนอาจไม่สบายใจที่เอกลักษณ์ดั้งเดิมที่งดงาม และเป็นเสน่ห์ของที่นี่ กำลังจะสูญหาย

ขึ้นอยู่กับว่าใคร จะมองเห็นโอกาสในแบบใด ในอนาคตของเชียงตุง