ASEAN Roundup ประจำวันที่ 27 มีนาคม-3 เมษายน 2564
ค่าเช่าที่ดินเพื่ออุตสาหกรรมเวียดนามสูงขึ้น
ค่าเช่าที่ดินเพื่ออุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายท้องถิ่นในปีที่แล้ว เนื่องจากอุปทานไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่สูงได้ เพราะผู้ผลิตทั่วโลกจำนวนหนึ่งได้ย้ายฐานการผลิตมายังเวียดนาม
ในภาคเหนือค่าเช่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 15.1% เป็น 76 ดอลลาร์ต่อตารางเมตรในจังหวัดหาย เซือง 13.1% เป็น 129 ดอลลาร์ต่อตารางเมตรในฮานอย และ 9.2% เป็น 95 ดอลลาร์ต่อตารางเมตรในจังหวัดบั๊กนิญตามรายงานล่าสุดของที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ซาวิลลส์ เวียดนาม (Savills Vietnam)
ที่จังหวัดหาย เซืองการเช่าที่ดินสูงถึง 82% percent ส่วนฮานอยมีการเช่าที่ดินถึง 90% และ บั๊กนิญสูงมากถึง 95%
ในภาคกลางที่จังหวัดทัญฮว้ามีการแข่งขันค่าเช่าที่ระดับ 40-50 ดอลลาร์ต่อตารางเมตร บริษัทฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ยักษ์ใหญ่ด้านการผลิตของไต้หวันอยู่ระหว่างการเจรจากับจังหวัดเพื่อลงทุน 1.3 พันล้านดอลลาร์
ในภาคใต้ค่าเช่าเพิ่มขึ้น 18% เป็น 65 ดอลลาร์ในจังหวัดบ่าเสียะ-หวุงเต่า ในจังหวัดลองอานเพิ่ม 7.8% เป็น 123 ดอลลาร์ ในจังหวัดบิ่ญเซืองเพิ่มขึ้น 4.9% เป็น 107 ดอลลาร์
ปีที่แล้ว ในจังหวัดบ่าเสียะ-หวุงเต่ามีการเช่าที่ดิน 79% ในจังหวัดลองอาน 84%
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ความต้องการอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งนำไปสู่การขาดแคลน และค่าเช่าที่เพิ่มขึ้นการเช่าที่ดินที่สูงอาจเป็นสาเหตุให้เกิดความกังวลสำหรับ บริษัทข้ามชาติที่กำลังมองหาสถานที่ใกล้เคียงกับเมืองใหญ่ๆ
จอห์น แคมป์เบลล์ ผู้บริหารฝ่ายอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมของ Savills Vietnam กล่าวว่า อัตราค่าเช่าที่สูง ทำให้หลายภาคธุรกิจเมีตุของความกังวล โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่แทบไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มและมีกำไรน้อย เช่น สิ่งทอ และเฟอร์นิเจอร์
แคมป์เบลล์ เตือนว่า หากราคาขึ้นไปเรื่อยๆ ความสามารถในการแข่งขันของเวียดนามในด้านราคาจะลดลง เว้นแต่จะมีอุปทานใหม่เพิ่มขึ้น
เมื่อปลายปีที่แล้วเวียดนามมีนิคมอุตสาหกรรม 284 แห่งโดยมีอัตราการเช่า 70% และกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 85 แห่ง
รัฐบาลเวียดนามหาทางคุมราคาที่ดินพุ่งสูงทั่วประเทศ
รัฐบาลกำลังหาทางที่จะควบคุมราคาที่ดินในหลายๆ ท้องถิ่นที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมีการระบุว่ามีสาเหตุจากนักเก็งกำไรปล่อยข่าวลือเกี่ยวกับแผนการพัฒนา และราคาที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้นมีผลต่อต้นทุนของโครงการสาธารณะทำให้รัฐบาลมีความกังวล
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้สั่งการให้กรมที่ดินดำเนินการตรวจสอบขั้นตอนการจัดการที่ดิน รวมถึงการส่งมอบและให้เช่าที่ดินใน 26 ท้องที่ที่พบว่ามีการกระทำผิด ประพฤติมิชอบ
กระทรวงการก่อสร้างได้เรียกร้องให้หน่วยงานในพื้นที่เผยแพร่ข้อมูลภูมิหลัง และความคืบหน้าของโครงการที่อยู่อาศัย ตลอดจนโครงการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อป้องกันไม่ให้ข่าวลือขยายวงกว้างออกไป
ในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้ราคาในบางพื้นที่เพิ่มขึ้น 10% และมีสัญญาณของการเก็งกำไรในหลายที่ เช่น ฮานอย เมืองฮาลองและจังหวัดบั๊กนิญ
สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์เวียดนามให้ข้อมูลว่า นักเก็งกำไรได้ปล่อยข่าวลือที่ไม่มีมูลเกี่ยวกับแผนการพัฒนาของรัฐบาลในพื้นที่เหล่านี้ และยังสร้างเอกสารเท็จเพื่อสนับสนุนการอ้างสิทธิ์ของพวกเขา นอกจากนี้ยังมีการลักลอบขายผืนป่าและที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่ามีปัจจัยอื่นๆ อีกหลายประการที่เป็นสาเหตุของการเพิ่มขึ้นของราคา รวมถึงการขาดแคลนที่ดิน เนื่องจากความล่าช้าในการออกใบอนุญาต
อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารที่ลดลงจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้นักลงทุนมองหาสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ เพื่อนำเงินไปลงทุนรวมถึงอสังหาริมทรัพย์
เซ็นทรัล รีเทล เตรียมขยายธุรกิจในเวียดนาม
บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (CRC) ซึ่งก่อตั้งในประเทศไทย มีแผนจะใช้จ่ายเงินมากถึง 35 พันล้านบาท (1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ในการขยายเครือข่ายในเวียดนาม ในช่วง 5 ปีข้างหน้า
กลุ่มค้าปลีกข้ามชาติรายนี้มีเป้าหมายที่จะขยายการเข้าถึงไปยัง 55 เมืองและจังหวัดทั่วประเทศ
รายงานระบุว่า ภาคบริการของเวียดนามเติบโต 2.34% ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2020 และมีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศ 33.5% โดยการค้าส่งและค้าปลีกเป็นผู้นำเพิ่มขึ้น 7%
ภาคธุรกิจนี้คาดว่าจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปีนี้ ทำให้เวียดนามเป็นหนึ่งในตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดและน่าสนใจที่สุดในโลก
นายฟิลิปป์ โบรยานิโก ประธานเจ้าหน้าที่ของเซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม เปิดเผยว่า แผน 5 ปีจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาหลายภาคส่วนและหลายแพลตฟอร์ม เพื่อเพิ่มบทบาทในพื้นที่ชนบทและในเมืองของเวียดนาม
เมื่อปีที่แล้วกลุ่มนี้ได้เปิดศูนย์การค้า 4 แห่งในจังหวัดสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงที่จังหวัดจ่าวิญและจังหวัดเบ๊นแจ จังหวัดกว๋างหงายตอนกลาง และจังหวัดดั๊กลักตอนกลาง ในขณะที่เปลี่ยนชื่อซูเปอร์มาร์เกต Big C จำนวน 5 แห่งในเวียดนามเป็น GO
นอกจากนี้ยังมีแผนขยายธุรกิจมูลค่าประมาณ 6.6 พันล้านบาท (211 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในปีนี้ และจะเปิดศูนย์การค้าในจังหวัดไทยเหงียน ไทยบินห์ และหล่าวกาย ทางตอนเหนือและจังหวัด บ่าเสียะ-หวุงเต่าและจังหวัดเต็ยนิญ ในภาคใต้
หลังจาก 9 ปีในเวียดนาม สินค้าอาหารเป็นส่วนสำคัญของเซ็นทรัล รีเทล ซึ่งมีสัดส่วน 70% ในรายได้รวม
กลุ่มเซ็นทรัลตั้งเป้าหมายในการส่งเสริมการพัฒนาในภาคการค้าปลีกของเวียดนาม และยึดแนวทางการบริหารธุรกิจที่เหมาะสมและยืดหยุ่นไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ปัจจุบันเซ็นทรัล รีเทล มีศูนย์การค้า 37 แห่งและร้านค้า 230 แห่งใน 37 เมืองและจังหวัด ให้บริการลูกค้าโดยเฉลี่ย 175,000 คนในแต่ละวันในเวียดนาม
กัมพูชาวางแผนพัฒนาท่าเรือเอนกประสงค์แห่งใหม่ในเกาะกง
รัฐบาลวางแผนที่จะปรับปรุงท่าเรือแดงทอง ท่าเรือเก่าแก่ที่ถูกทิ้งร้างในจังหวัดเกาะกงให้เป็นท่าเรืออเนกประสงค์ขนาดกลาง ในวงเงิน 1.5 ล้านดอลลาร์เพื่อกระตุ้นการค้าทางน้ำกับไทย จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่กรมโยธาธิการและการขนส่งประจำจังหวัด
ท่าเรือนี้จะมีขนาดความยาว 69 เมตรและความกว้าง 6.5 เมตร เป็นท่าเรือคอนกรีต ซึ่งต้องใช้เวลาในการพัฒนาถึง 2 ปี จากการเปิดเผยของ นายอร ธาวุธ อธิบดีกรมโยธาธิการและการขนส่งประจำจังหวัด อย่างไรก็ตามท่าเรือนี้จะเป็นท่าเรือเอนกประสงค์ รองรับอุตสาหกรรมหลากหลายเช่น การขนส่ง การค้าปลีกและการท่องเที่ยว
ท่าเรือเก่าแก่แห่งนี้ตั้งอยู่ในชุมชนสมัครมีชัย ของอำเภอเขมระภูมินท์ ท่าเรือได้รับการปรับปรุงครั้งล่าสุดในปี 2534 ปัจจุบันทรุดโทรมและส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้งาน
เจีย จันดารา ประธานสมาคมธุรกิจโลจิสติกส์ (LOBA) กล่าวว่า ท่าเรือทางทะเลทำให้การขนส่งสินค้า ค้าปลีกระหว่างกัมพูชาและไทยราบรื่นและเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว
“ท่าเรือแห่งนี้จะช่วยให้เรือขนส่งสินค้าปลีกจากไทยไปกัมพูชาได้สะดวกและปลอดภัยมากขึ้น สินค้าที่ไหลเข้าสู่จังหวัดเกาะกงจะผ่านด่านพรมแดนจามเยียม ซึ่งมีปริมาณการขนส่งสินค้าจากประเทศไทยจำนวนมาก สินค้าส่วนใหญ่ประกอบด้วยปูนซีเมนต์ เครื่องใช้ และอาหาร”
ในเดือนตุลาคมนายซัน จันฑล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการให้ข้อมูลว่า ท่าเรือในกัมพูชาแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ การค้า อุตสาหกรรม การท่องเที่ยวและขนส่งน้ำมัน
ในการอภิปรายเกี่ยวกับร่างกฎหมายเกี่ยวกับท่าเรือ นายจันฑลกล่าวว่า กัมพูชามีท่าเรือ 105 แห่ง เป็นท่าเรือแม่น้ำ 78 แห่งและท่าเรือทะเล 27 แห่ง
“ท่าเรือเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมกิจกรรมการค้าทุกประเภท ในกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจระดับประเทศภูมิภาคและระหว่างประเทศ”
ข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ของไทยระบุว่า ปริมาณการค้าระหว่างกัมพูชาและไทยสูงถึง 7.236 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้วซึ่งลดลง 23.17% จากปี 2019
กัมพูชาส่งออกสินค้าไปไทย 1.148 พันล้านดอลลาร์ในปี 2563 ลดลง 49.49% เมื่อเทียบเป็นรายปีและมีมูลค่านำเข้า 6.089 พันล้านดอลลาร์ลดลง 14.80% เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบเป็นรายปี
กัมพูชาเริ่มโครงการสนามบินแห่งใหม่ในมณฑลคีรี
การศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างสนามบินภายในประเทศแห่งใหม่มูลค่า 60 ล้านดอลลาร์ในจังหวัดมณฑลคีรี ได้ข้อสรุปแล้ว จากรายงานของสำนักเลขาธิการการบินพลเรือนแห่งชาติรายงานดังกล่าวถูกนำเสนอในการประชุมที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มีนาคมโดยมีนายเมา ฮาวัณนัล รัฐมนตรีที่กำกับดูแลสำนักเลขาธิการการบินพลเรือนแห่งชาติเป็นประธาน
นายฮาวัณนัลให้ข้อแนะนำ 2 เรื่องหลัก คือ การศึกษาควรครอบคลุมกิจกรรมการท่องเที่ยวและการพัฒนาเศรษฐกิจให้มากขึ้น ตามนโยบายของกระทรวงการท่องเที่ยว และการศึกษาจะคำนึงถึงแผนยุทธศาสตร์เพื่อดึงดูดสายการบินให้บินไปยังพื้นที่นั้นมากขึ้น ตัวอย่างเช่น บริษัทควรมีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างสรรค์มากขึ้นหรือมีโครงการลงทุนอื่นๆ
บริษัทต่างๆ ชื่นชมกับข้อเสนอนแนะและรับไปปรับเปลี่ยนการศึกษาความเป็นไปได้
เมื่อปลายปีที่แล้วรัฐบาลได้ให้สิทธิ China Power International Group ในรูปแบบของข้อตกลง build-operate-transfer (BOT) เพื่อลงทุนในโครงการสนามบิน ซึ่งตั้งอยู่ในชุมชน เสน มโนรม อำเภอโอเรียง บนพื้นที่ 300 ถึง 600 เฮกตาร์และคาดว่าจะมีมูลค่ามากกว่า 60 ล้านดอลลาร์
ลาวผลักดันการเชื่อมถนนระหว่างแหล่งผลิตบนเส้นทางรถไฟ
การสร้างถนนและทางรถไฟที่เชื่อมต่อเขตการผลิตกับระเบียงเศรษฐกิจลาว-จีนเป็นสิ่งจำเป็นหากลาวต้องการที่จะได้รับประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญจากการรวมกลุ่มในภูมิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการวางแผนและการลงทุน ดร.สอนชัย สีพันดอน แถลงต่อรัฐสภาเมื่อเร็วๆ นี้ว่า รัฐบาลกำลังมุ่งเน้นที่จะสร้างทางรถไฟและทางด่วนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจลาว-จีน
“โดยพื้นฐานแล้วเรามุ่งเน้นไปที่การพัฒนาทางรถไฟ โดยเฉพาะการสร้างสถานีรถไฟหลัก 4 แห่งที่จะกลายเป็นศูนย์กลางของเมืองใหม่ที่ทันสมัย เมืองเหล่านี้จะเชื่อมต่อกับเขตอุตสาหกรรม และเขตการผลิตทางการเกษตรใน 10 จังหวัดผ่านการยกระดับถนน” รองนายกฯ กล่าว
ทางรถไฟลาว-จีนมูลค่า 5.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จในปลายปีนี้และทางด่วนเวียงจันทน์-บ่อเต็น ได้บรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 9 ของรัฐบาลสำหรับปี 2564-2568
รัฐบาลได้จัดตั้งหน่วยงานขึ้นเพื่อผลักดันให้มีการพัฒนาโครงการคมนาคมทั้งสองโครงการให้มากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน และขับเคลื่อนเป้าหมายของลาวในการเปลี่ยนสถานะประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลเป็นประเทศที่มีการเชื่อมโยงทางบก
ดร.สอนชัยย้ำว่า ภายใต้โครงการความร่วมมือลาว-จีนจะมีการสร้างเมืองใหม่ขนาดใหญ่ 3 เมือง โดยเมืองแรกจะตั้งอยู่ในประเทศจีนและเมืองที่สองจะตั้งอยู่ระหว่างหลวงพระบางและจังหวัดอุดมไซ เมืองที่สามจะตั้งอยู่ในเวียงจันทน์ในเขตพัฒนาไชยเศรษฐา
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาคณะกรรมการความร่วมมือลาว-จีนได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานใน 10 จังหวัดและหน่วยงานของจีนเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ
นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ผู้ผลิตลาวปลูกพืชเพื่อส่งออกไปยังประเทศจีน อย่างไรก็ตามพืชผลที่ส่งออกต้องเป็นไปตามมาตรฐานทั้งหมดที่ตลาดจีนกำหนด
ในช่วงกลางเดือนมีนาคมเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกระทรวงโยธาธิการและการขนส่งและหน่วยงานจังหวัดอุดมมีไชย ได้ไปเยี่ยมชมทางรถไฟที่กำลังก่อสร้างในอำเภอนาหมอ ซึ่งได้เห็นความคืบหน้าของการก่อสร้างทางรถไฟและสถานี
สถานีในอำเภอนาหมอ เป็น 1 ใน 9 สถานีหลักที่สร้างขึ้นตามแนวระเบียงเศรษฐกิจลาว-จีน ซึ่งออกแบบมาเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หน่วยงานรัฐมีแผนที่จะปรับปรุงถนนหมายเลข 2 และเส้นทางขนส่งอื่นๆ ในจังหวัดอุดมไซเพื่อเชื่อมโยงแหล่งผลิตกับทางรถไฟและทางด่วน เพื่อดึงดูดการค้าและการลงทุนตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ
จีนเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในลาวและเป็นคู่ค้าที่สำคัญ ในปี 2019 จีนได้ลงทุนในโครงการพัฒนา 785 โครงการโดยมีมูลค่าการลงทุนรวมกัน 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการค้าระหว่างกันของสองประเทศสูงถึง 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2019 เพิ่มขึ้น 17.4% จากปี 2018
นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหมดตามแนวระเบียงเศรษฐกิจลา-จีนจะช่วยส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากและจะนำการลงทุนมาสู่ภูมิภาคมากขึ้น
ความคืบหน้าของความร่วมมือทางการเงินอาเซียน
ผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ครั้งที่ 7 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รมว.คลัง) ร่วมการประชุม รมว.คลังอาเซียน (ASEAN Finance Ministers’ Meeting: AFMM) ครั้งที่ 25 และการประชุม รมว.คลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน (ASEAN Finance Ministers’ and Central Bank Governors’ Meeting: AFMGM) ครั้งที่ 7
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน ครั้งที่ 25 และการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน (ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเงินและเศรษฐกิจและผู้ว่าการธนาคารกลาง บรูไนดารุสซาลาม เป็นประธานร่วม ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียนได้หารือกับผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย ธนาคารพัฒนาเอเชีย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารโลก และสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 ซึ่งผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศได้ให้ข้อเสนอแนะโดยเฉพาะการส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล (digital infrastructure) และโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (green infrastructure)
นอกจากนี้ เลขาธิการอาเซียนได้คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนในปี 2564 ที่ร้อยละ 5.2 ซึ่งฟื้นตัวจากปี 2563 ที่หดตัวร้อยละ 4.4 อันเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทาน โดยการเชื่อมโยงเครือข่ายการคมนาคมขนส่ง การอำนวยความสะดวกด้านศุลกากร โดยเฉพาะด้านดิจิทัล และการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 เพื่อเป็นแนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างยั่งยืนและทั่วถึงในระยะยาว
ที่ประชุม AFMGM ยังได้รับฟังข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากผู้แทนภาคเอกชน ได้แก่ สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน สภาที่ปรึกษาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน และสภาที่ปรึกษาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน ในประเด็นความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อส่งเสริมกลไกการระดมทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อความยั่งยืนของอาเซียน การส่งเสริมเทคโนโลยีทางการเงินสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (digital transformation) การส่งเสริมพลังงานที่ยั่งยืน (sustainable energy) เพื่อสร้างเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (low carbon economy) และความร่วมมือด้านภาษีอากรของประเทศสมาชิกอาเซียน
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ของประเทศไทยในการดำเนินมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-wallet) ของรัฐบาล เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ผ่านมาตรการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) และมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ที่ให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิซื้อทรัพย์สินนั้นคืนในภายหลัง รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลสำหรับตลาดทุน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศและช่วยให้ประชาชนเข้าถึงตลาดทุนได้มากขึ้น อีกทั้งยังชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของฐานข้อมูลดิจิทัลที่ถูกต้องจะช่วยให้การเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
2) ที่ประชุม AFMM ครั้งที่ 25 และ AFMGM ครั้งที่ 7 ได้เห็นชอบประเด็นด้านการเงินที่ประธานอาเซียนต้องการผลักดันในปี 2564 ประกอบด้วย (1) การลงนามพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ฉบับที่ 9 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน (2) การจัดสัมมนาให้ความรู้ทางการเงินของอาเซียน ในปี 2564 และ (3) การริเริ่มการพัฒนามาตรฐานและเกณฑ์การจัดหมวดหมู่ด้านการเงินที่ยั่งยืนของอาเซียน (ASEAN Taxonomy on Sustainable Finance) ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนต่างเห็นพ้องที่จะร่วมกันผลักดันให้บรรลุประเด็นดังกล่าวข้างต้นให้แล้วเสร็จภายในปีนี้
3) ที่ประชุม AFMM ครั้งที่ 25 ได้ติดตามความคืบหน้าของความร่วมมือทางการเงินอาเซียนในประเด็นต่างๆ เช่น ด้านศุลกากร ด้านภาษีอากร ด้านการประกันภัย ด้านการระดมทุนเพื่อโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการพัฒนาตลาดทุน โดยที่ประชุมได้รับทราบความสำเร็จของ (1) การประเมินความเสี่ยงและให้คำปรึกษาด้านความเสี่ยงเพื่อประกอบการจัดทำแม่แบบของข้อมูลความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และข้อมูลความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจากภัยพิบัติแล้วเสร็จใน 3 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประเทศไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และ (2) การดำเนินการเดินรถจริงของโครงการนำร่องระบบศุลกากรผ่านแดนอาเซียน (ASEAN Customs Transit System: ACTS) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกอาเซียนใช้ประโยชน์จากระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (ASEAN single window: ASW) และดำเนินโครงการผู้ประกอบการระดับมาตรฐานเออีโอ (authorized economic operator: AEO) ภายในประเทศ เพื่อส่งเสริมระบบความปลอดภัยทางโลจิสติกส์และการค้าระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางออนไลน์ ซึ่งเป็นข้อเสนอของประเทศไทยสำหรับการแลกเปลี่ยนหนังสือรับรองการมีถิ่นที่อยู่เพื่อการรัษฎากรที่เป็นมาตรฐาน (standardised certificate of residence: CoR) ของอาเซียน เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน (double taxation agreement: DTA) ระหว่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
4) ที่ประชุม AFMGM ครั้งที่ 7 ได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินการในสาขาต่างๆ ภายใต้แผนงานการรวมกลุ่มด้านการเงินของอาเซียน (Roadmap for Monetary and Financial Integration of ASEAN) และความร่วมมือด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนอาเซียน (ASEAN Sustainable Finance Cooperation) โดยที่ประชุมได้รับรองข้อริเริ่มการจัดทำ ASEAN Taxonomy ดังกล่าวซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาคตลาดทุน ภาคการธนาคารและภาคประกันภัย ที่จะเป็นการสนับสนุนการระดมทุนและการลงทุนในกิจกรรมเพื่อความยั่งยืนของอาเซียน
อนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านนโยบายการเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศไทยต่อที่ประชุม โดยเฉพาะการผลักดันโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว อันจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ประเทศไทย รวมถึงการเติบโตอย่างทั่วถึง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเท่าเทียมกันยิ่งขึ้น ซึ่งในปี 2563 กระทรวงการคลังโดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้ออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน เพื่อระดมทุนสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มและโครงการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ สบน. ยังมีแผนที่จะดำเนินการออกพันธบัตรเพิ่มเติมเพื่อสร้างสภาพคล่องให้แก่พันธบัตรและสนับสนุนการระดมทุนอย่างยั่งยืนต่อไป
ปัจจุบันประเทศไทยมีการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและแผนการดำเนินการที่ส่งเสริมการเงินเพื่อความยั่งยืน รวมถึงมีกลไกการระดมทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมุ่งเน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอแนะของผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศและผู้แทนภาคเอกชนข้างต้น นอกจากนี้ การเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ที่มุ่งเน้นในด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงิน และการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อพัฒนาการเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ต่อเนื่องและยั่งยืน
สำหรับการประชุม AFMM และ AFMGM ครั้งต่อไปในปี 2565 จะมีราชอาณาจักรกัมพูชาเป็นเจ้าภาพ โดยคาดว่าจะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม-ช่วงต้นเดือนเมษายน 2565