ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup สิงคโปร์ ประเทศแรกให้สัตยาบัน RCEP

ASEAN Roundup สิงคโปร์ ประเทศแรกให้สัตยาบัน RCEP

18 เมษายน 2021


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 11-17 เมษายน 2564

  • สิงคโปร์ ประเทศแรกให้สัตยาบัน RCEP
  • สหรัฐฯ ปลดเวียดนามออกจากประเทศแทรกแซงค่าเงิน
  • ไทยยังติด monitoring list ค่าเงิน
  • มาเลเซียตั้งเป้าให้อุตสาหกรรมอีเวนต์ทางธุรกิจติดทอป 5 ของโลก
  • โครงการไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเทิน 1 คืบหน้า 85%
  • รางรถไฟลาว–​​จีนเสร็จ 80%
  • สิงคโปร์ ประเทศแรกที่ให้สัตยาบัน RCEP

    ที่มาภาพ: https://www.visitsingapore.com/see-do-singapore/recreation-leisure/viewpoints/merlion-park/

    สิงคโปร์ได้ให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership — RCEP) เมื่อวันที่ 9 เมษายน นับเป็นประเทศแรกที่ได้ให้สัตยาบันดังกล่าว กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม (MTI) ระบุในการแถลงข่าว

    RCEP เป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยมีสมาชิกคือ 10 ชาติอาเซียน ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้

    “การที่สิงคโปร์ให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคอย่างรวดเร็ว เป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่แข็งแกร่งของสิงคโปร์ ในการเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางการค้าและเศรษฐกิจกับพันธมิตรของเรา เพื่อประโยชน์ของธุรกิจและประชาชนของเรา” นายชาน ชุน ซิง รัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมกล่าว

    “เราหวังว่าประเทศที่เข้าร่วม RCEP จะดำเนินการเช่นเดียวกันเพื่อเร่งให้ข้อตกลงมีผลบังคับใช้” และสิงคโปร์ได้มอบสัตยาบันสารต่อเลขาธิการอาเซียนแล้ว

    RCEP ได้รับการลงนามโดย 15 ประเทศที่เข้าร่วมเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีลี เซียนลุงให้ความเห็นว่า “RCEP เป็นก้าวสำคัญของโลกในช่วงเวลาที่ลัทธิพหุภาคีกำลังสูญเสีย และการเติบโตของโลกกำลังชะลอตัว”

    ความตกลง RCEP สร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน บนพื้นฐานข้อตกลงอาเซียนที่มีอยู่กับพันธมิตรเขตการค้าเสรีหรือ FTA จำนวน 5 รายของกลุ่ม

    โดยที่ความตกลง RCEP มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 30 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศทั่วโลกและมีสัดส่วนเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรโลก ก็จะช่วยส่งเสริมเครือข่าย FTA ที่มีอยู่ของสิงคโปร์และกระตุ้นกระแสการค้าและการลงทุน

    ธุรกิจต่างๆ สามารถคาดหวังว่าจะได้รับประโยชน์จากการยกเลิกภาษีโดยเฉลี่ยประมาณ 92% ตลอดจนกฎแหล่งกำเนิดสินค้าที่มีความคล่องตัวในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ในการเข้าถึงตลาดพิเศษ

    ความตกลง RCEP จะมีผลบังคับใช้หลังจากประเทศสมาชิกอาเซียน 6 ประเทศและพันธมิตร FTA อาเซียน 3 ประเทศได้ให้สัตยาบัน ประเทศที่เข้าร่วมกำหนด เป้าหมายมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2565 กระทรวง MTI ระบุ

    สหรัฐฯ ปลดเวียดนามออกจากประเทศแทรกแซงค่าเงิน

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/economy/higher-fed-interest-rate-could-weaken-vietnamese-currency-3857850.html
    สหรัฐฯ ได้ปลดเวียดนามออกจากรายชื่อประเทศที่จัดว่ามีการแทรกแซงค่าเงิน ซึ่งเป็นการกลับคำตัดสินของรัฐบาลทรัมป์ในเดือนธันวาคม

    กระทรวงการคลังเปิดเผยเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2564 ว่า ขณะนี้ไม่มีประเทศใดที่เข้าเกณฑ์ของสหรัฐฯ ที่จะเข้าข่ายว่าแทรกแซงค่าเงิน แต่เตือนว่าเวียดนาม สวิตเซอร์แลนด์ และไต้หวัน จะยังคงอยู่ภายใต้การการติดตามความคืบหน้า

    สหรัฐฯ ได้ปลดสวิตเซอร์แลนด์และไต้หวันออกจากรายชื่อประเทศที่จัดว่ามีการแทรกแซงค่าเงินเช่นกัน

    สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสรุปได้ว่า เวียดนามกำลังแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน

    ประเทศใดประเทศหนึ่งจะถูกจัดว่ามีการแทรกแซงค่าเงิน หากขายสกุลเงินของตนและซื้อดอลลาร์สหรัฐเพื่อทำให้สกุลเงินตนเองอ่อนค่าลงเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการส่งออก

    “ในปีปฏิทินปี 2563 เราไม่พบการดำเนินการใดๆ ที่เข้าข่ายว่าเป็นการแทรกแซงค่าเงิน” เจ้าหน้าที่ของกระทรวงการคลังกล่าวกับผู้สื่อข่าว

    เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เวียดนามปฏิเสธข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ ที่ว่ามีการแทรกแซงค่าเงิน โดยย้ำว่านโยบายการเงินไม่ได้มีเป้าหมายข้อได้เปรียบทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม และจะทำงานร่วมกับสหรัฐฯ ต่อไป เพื่อให้แน่ใจว่ามีความสัมพันธ์ทางการค้าที่ “สอดคล้องและเป็นธรรม”

    ไทยยังติด Monitoring List ค่าเงิน


    นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังสหรัฐฯ (U.S. Treasury) ได้เผยแพร่รายงานการประเมินนโยบายเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ ฉบับล่าสุด เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2564 ซึ่งระบุว่าประเทศไทยยังคงถูกจัดอยู่ใน monitoring list ต่อเนื่องจากการประเมินครั้งก่อน (เดือนธันวาคม 2563) เนื่องจากประเทศไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากกว่า 20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมากกว่าร้อยละ 2 ของ GDP ซึ่งเป็นเกณฑ์และเงื่อนไขภายใต้กฎหมายภายในของสหรัฐฯ ที่กำหนดให้ติดตามประเทศใน monitoring list ต่อเนื่องไปอีก 2 รอบการประเมิน

    โดยการประเมินรอบนี้ มีคู่ค้า 11 ประเทศที่จัดอยู่ใน monitoring list ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เยอรมนี ไอร์แลนด์ อิตาลี อินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย และเม็กซิโก

    ธปท. ขอย้ำว่า การที่ประเทศไทยถูกจัดอยู่ใน monitoring list ไม่มีนัยสำคัญต่อธุรกิจที่มีการค้าการลงทุนกับสหรัฐฯ ซึ่งภาคเอกชนไทยและสหรัฐฯ ยังคงดำเนินธุรกิจกันได้ตามปกติ อีกทั้งการประเมินดังกล่าวไม่กระทบต่อบทบาทของ ธปท. ในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินภายในประเทศ และเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นไปตามพันธกิจของธนาคารกลางและความเหมาะสมของสถานการณ์ โดย ธปท. จะติดตามและประเมินการเปลี่ยนแปลงของดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในระยะข้างหน้า ที่มีแนวโน้มปรับลดลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อภาคการท่องเที่ยว

    ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ธปท. ได้สื่อสารและทำความเข้าใจกับทางการสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินของไทย รวมถึงสร้างความมั่นใจกับสหรัฐฯ ว่าไทยดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่น และจะเข้าดูแลค่าเงินบาทเมื่อมีความจำเป็น เพื่อชะลอความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้รุนแรงเกินไปทั้งในด้านแข็งค่าและอ่อนค่า โดยไม่มีนโยบายแทรกแซงค่าเงินเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้าระหว่างประเทศแต่อย่างใด

    เวียดนามมีท่าบริการของท่าเรือเดินทะเลเพิ่ม 8 แห่ง

    ท่าเรือที่จังหวัดบ่าเสียะ-หวุงเต่า:https://en.vietnamplus.vn/vietnams-seaport-system-has-eight-more-terminals/199971.vnp

    เวียดนามได้เพิ่มท่าบริการ (terminal) ขึ้น 8 ท่าในบริเวณท่าเรือเดินทะเล ส่งผลให้มีท่าบริการที่ท่าเรือในเวียดนามเพิ่มขึ้นเป็น 286 ท่า

    กระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ในบรรดาท่าบริการที่เพิ่มขึ้น มี 4 ท่าเป็นของท่าเรือหวุงเต่าในจังหวัดบ่าเสียะ-หวุงเต่าทางตอนใต้ ส่วนท่าเรือน้ำลึกที่ ไฮฟอง, คั้ญฮหว่า, ด่งนาย และเมืองโฮจิมิน์ซิตี้ มีท่าบริการใหม่แห่งละ 1 ท่า

    ในปัจจุบันพื้นที่ท่าเรือบางแห่งมีหลายท่าบริการ ได้แก่ ไฮฟอง (50 ท่าบริการ), หวุงเต่า (46), โฮจิมินห์ซิตี้ (42), เกิ่นเทอ (21), ด่งนาย (18), คั้ญฮหว่า (16), กว๋างนิญ (13), ดานัง (8), หงิเซิน และด่งหงายท่าละ 7 ส่วน ห่าติ๋ญ และบิ่ญถ่วน Binh Thuan ที่ละ 6 ท่าบริการ

    ทุกๆ ปีท่าเรือทั่วประเทศให้บริการเรือเข้าออกประมาณ 120,000 ลำ และมีปริมาณการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นเกือบ 16% และให้บริการจัดการสินค้า 692 ล้านตันในปี 2563

    มาเลเซียตั้งเป้าให้อุตสาหกรรมอีเวนต์ทางธุรกิจติดทอป 5 ของโลก

    ที่มาภาพ: https://www.theedgemarkets.com/article/malaysia-aims-business-events-industry-be-among-top-five-world

    มาเลเซียกำลังดำเนินการเพื่อทำให้อุตสาหกรรมอีเวนต์ทางธุรกิจติด 1 ใน 5 อันดับแรกของโลกภายใน 10 ปีตามแผนแม่บทการตลาดเชิงกลยุทธ์สำหรับงานธุรกิจของมาเลเซีย (Malaysia Business Events Strategic Marketing Plan — SMP) ปี 2021-2030

    ดาโต๊ะ สรี อับดุล คานี ดาอุด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการมาเลเซีย (MyCEB) กล่าวว่า เป้าหมายสามารถบรรลุได้โดยการนำ World Expo เข้ามาจัดในประเทศ เพราะกลุ่มประเทศอาเซียนยังไม่ได้มีการจัดงานแสดงสินค้าต่างประเทศเลย

    “ดังนั้นหากเราสามารถเป็นประเทศแรก (ในภูมิภาคอาเซียน) ที่จัดงาน World Expo ได้ก็จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการจัดงานทางธุรกิจของเราโดยรวม

    “นี่เป็นหนึ่งในโครงการริเริ่มที่เราได้เริ่มขึ้นตามแผน SMP 2564-2573 นี้ นั่นก็คือการดึงให้งาน World Expo มาจัดในประเทศของเรา”

    อับดุล คานี กล่าวว่า MyCEB ต้องยกเลิก 60 กิจกรรมและเลื่อน 28 กิจกรรมในปี 2020 เป็นจากการใช้มาตรการควบคุมการสัญจร ดังนั้น SMP 2564-2573 จะเริ่มเปิดทางให้กับกิจกรรมทางธุรกิจและการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติในมาเลเซีย ซึ่งสามารถส่งเสริมอุตสาหกรรมอีเวนต์ทางธุรกิจของมาเลเซียให้กลับมาแข็งแกร่งกว่าเดิมในทศวรรษหน้า

    นอกจากนี้อับดุล คานี ยังกล่าวอีกว่า SMP 2564-2573 มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มสัดส่วนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ 3% ในอุตสาหกรรมการเดินทางและการท่องเที่ยว รวมทั้งสร้างการจ้างงานทั้งหมดประมาณ 25,833 คนภายในปี 573

    “SMP 2564-2573 เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความมุ่งมั่นของภาคธุรกิจและรัฐบาลในการทำงานร่วมกันในทศวรรษหน้า โดยวางกลยุทธ์ใหม่และโอกาสใหม่ในการขยายตัวและพัฒนาสถานะปัจจุบันของเราในตลาดที่มีอยู่”

    ขณะเดียวกัน ดาโต๊ะ สรี แนนซี ซุกรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว ศิลปะ วัฒนธรรม กล่าวว่า ผู้เข้าชมงานธุรกิจใช้จ่ายมากกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปถึง 3 เท่าและมีผลทวีคูณมาก โดย 40% เดินทางกับคู่สมรส และ 60% กลับมาเป็นนักท่องเที่ยวในภายหลัง

    จากข้อมูลของ UNWTO (องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ) นอกเหนือจากการเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแล้ว อีเวนต์ทางธุรกิจยังเป็นตัวสร้างรายได้ การจ้างงานและการลงทุนที่สำคัญ (พร้อม) ผลประโยชน์ที่จะได้รับ นอกเหนือจากการท่องเที่ยว

    “SMP มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และมุ่งเน้นไปที่การดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ให้ผลตอบแทนสูงเข้ามาในประเทศ”

    SMP 2564-2573 เป็นงานของ MyCEB สำหรับอุตสาหกรรมอีเวนต์ทางธุรกิจของมาเลเซียซึ่งยึดตามเสาหลัก 3 ประการ ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการมองการณ์ไกลและความสามารถในการแข่งขัน

    SMP ประเมินจุดแข็งและจุดอ่อนในอดีต โดยการประมวลผลข้อมูลภายในเพื่อกำหนดกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการในอนาคต ในขณะที่ใช้แนวทางการตลาดที่ยั่งยืน ซึ่งขับเคลื่อนโดยกระบวนการต่อเนื่องในการปรับตัวสู่ดิจิทัลและนวัตกรรม

    โครงการไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเทิน 1 คืบหน้า 85%

    ที่มาภาพ: https://laotiantimes.com/2021/04/06/nam-theun-1-hydropower-project-now-85-percent-complete/

    โครงการไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเทิน 1 ก่อสร้างคืบหน้า 85% และคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนพฤษภาคม 2022 ขณะนี้ได้เริ่มกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการผลิตไฟฟ้าแล้ว

    นายปรีชา คันธมูล ซีอีโอของบริษัท น้ำเทิน 1 จำกัด กล่าวว่า โครงการไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเทิน 1 กำลังการผลิต 650 เมกะวัตต์จะแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการในเดือนพฤษภาคมปีหน้า

    โครงการโรงไฟฟ้า “น้ำเทิน 1” ตั้งอยู่บนลำน้ำกะดิ่ง หมู่บ้านพลเจริญ อำเภอปากกะดิ่ง แขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว

    “โครงการไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเทิน 1 เริ่มก่อสร้างในเดือนมิถุนายน 2559 มูลค่ารวม 1,335 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเงินกู้ 70% จากกลุ่มธนาคารไทยและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 30%”

    โครงการขนาด 650 เมกะวัตต์ได้รับการออกแบบรองรับความต้องการในการผลิตไฟฟ้าจํานวนมากในช่วงเวลาสั้น (hydro-peaking) โดยมีความจุกักเก็บประมาณ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตรในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ 9,360 เฮกตาร์

    โครงการนี้มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำนวน 514.3 เมกะวัตต์ และกับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (Electricite du Laos — EDL) จำนวน 130 เมกะวัตต์

    โครงสร้างโครงการเป็นเขื่อนคอนกรีตอัดรีดแรงโน้มถ่วงแบบโค้งพร้อมสปิลเวย์ที่มีรั้วรอบขอบชิดสูง 177 เมตร ยาว 771 เมตร และมีอายุสัมปทาน 27 ปี

    รางรถไฟลาว–​​จีนเสร็จ 80%

    ที่มาภาพ: https://laotiantimes.com/2021/04/05/laos-china-railway-track-80-percent-complete/
    การวางรางรถไฟสำหรับโครงการรถไฟลาว–​​จีนขณะนี้เสร็จไปแล้ว 80% รางรถไฟลาว–​​จีนเสร็จ 80% โดยส่วนสุดท้ายของทางรถไฟมีกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคมปีนี้

    นายหู ปิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและวิศวกรอาวุโสของบริษัทรถไฟจีนหมายเลข 2 กล่าวว่า ขณะนี้มีการวางรางรถไฟจากเมืองหลวงเวียงจันทน์เชื่อมไปยังหลวงพระบางและจังหวัดอุดมไซแล้ว

    “เส้นทางรถไฟลาว–​​จีนกำลังอยู่ระหว่างการวางรางจากจังหวัดอุดมไซไปยังสถานีรถไฟบ่อเต็น ในแขวงหลวงน้ำทา และคาดว่าจะแล้วเสร็จในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า” นายหู ปิน กล่าว

    โครงการก่อสร้างทางรถไฟลาว–​​จีนเริ่มในเดือนธันวาคม 2559 และมีกำหนดแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการในเดือนธันวาคม 2564

    “โครงการนี้ไม่เพียงมุ่งเน้นไปที่การสร้างทางรถไฟเท่านั้น แต่ยังมีการจ้างคนงานชาวลาวจำนวนมาก โดย 60% ของแรงงานในโครงการมาจากในประเทศ” นายหู ปิน กล่าว

    ทางรถไฟลาว–​​จีนมีความยาว 414 กิโลเมตร รวมถึงอุโมงค์ 198 กิโลเมตร และจะข้ามสะพานที่มีความยาว 62 กิโลเมตร จะวิ่งจากพรมแดนบ่อเต็นเชื่อมลาวเหนือกับจีนลงไปที่นครหลวงเวียงจันทน์ด้วยความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง