ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup สิงคโปร์ผ่อนคลายกฎจ้างคนต่างด้าวชั่วคราว แก้แรงงานขาดช่วงโควิด

ASEAN Roundup สิงคโปร์ผ่อนคลายกฎจ้างคนต่างด้าวชั่วคราว แก้แรงงานขาดช่วงโควิด

15 สิงหาคม 2021


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 8-14 สิงหาคม 2564

  • สิงคโปร์ผ่อนคลายกฎจ้างคนงานต่างด้าวชั่วคราว
  • ลาวเตรียมรับรถไฟจากจีนทดลองวิ่งตุลาคมนี้
  • ลาวแก้กฎหมายมูลค่าเพิ่มดึง MSMEs เข้าระบบ
  • เวียดนามมอบอาคารรัฐสภาใหม่ให้ลาว
  • เวียดนามจะขยายการค้าชายแดนกับกัมพูชา
  • เทคโนโลยีดิจิทัลหนุนเศรษฐกิจอินโดนีเซีย 1%
  • อินโดนีเซียออกเกณฑ์ใหม่สำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ
  • สิงคโปร์ผ่อนคลายกฎจ้างคนงานต่างด้าวชั่วคราว

    ที่มาภาพ: https://www.businesstimes.com.sg/government-economy/singapore-to-temporarily-relax-foreign-worker-hiring-rules-mom

    กระทรวงแรงงาน ได้ยกเลิกการต่ออายุใบอนุญาตทำงานชั่วคราวและเงื่อนไขอื่นๆ เพื่อบรรเทาปัญหาแรงงานในภาคส่วนการก่อสร้าง(construction) อู่ต่อเรือ(marine) และแปรรูป(processing) หรือ CMP ท่ามกลางการปิดชายแดนเพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19

    คนงานก่อสร้างที่มีประสบการณ์ซึ่งใบอนุญาตทำงานถูกยกเลิกจะมีเวลา 30 วันในการหางานใหม่ แทนที่จะถูกส่งตัวกลับประเทศทันที ภายใต้โครงการใหม่ที่สนับสนุนโดย Singapore Contractors Association Ltd (SCAL)

    กระทรวงฯระบุในการแถลงข่าวว่า “ภาคธุรกิจ CMP มีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจของสิงคโปร์ และหน่วยงานภาครัฐได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคธุรกิจ CMP เพื่อปรับโฉมธุรกิจ ลดการพึ่งพากำลังคน และสร้างความสามารถในการปรับตัว”

    แต่ความพยายามในการพลิกโฉมอุตสาหกรรม “ต้องใช้เวลาพอสมควร” ดร.ตัน ซี เล้ง รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน กล่าว “และในขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจ CMP ยังคงเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนกำลังคนอย่างมาก อันเป็นผลมาจากการควบคุมชายแดนที่เข้มงวดขึ้น”

    ภายใต้มาตรการล่าสุด พนักงาน CMP ที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม 2021 สามารถต่ออายุใบอนุญาตได้นานถึง 2 ปี แม้จะไม่ตรงตามเกณฑ์การต่ออายุ เช่น ระยะเวลาการจ้างงานสูงสุดหรืออายุการจ้างงานก็ตาม

    บริษัทในภาค CMP ทั้งหมดจะได้รับการยกเว้นข้อกำหนดตามปกติ เพื่อให้มีพนักงานที่ได้รับอนุญาตอย่างน้อย 10%เป็นแรงงานที่มีทักษะสูงขึ้น

    บริษัทในภาคการก่อสร้างและการแปรรูปได้รับการยกเว้นจากข้อกำหนดประสบการณ์การทำงานขั้นต่ำสำหรับการว่าจ้างผู้ถือใบอนุญาตทำงานจากอินเดีย ศรีลังกา ไทย บังกลาเทศ เมียนมา ฟิลิปปินส์ และจีนแผ่นดินใหญ่

    สำหรับจำนวนใบอนุญาตใช้แรงงานต่างชาติ(man-year entitlement) ต่อปี จะได้รับการยกเว้นสำหรับคนงานที่มีประสบการณ์การทำงานในสิงคโปร์แล้ว แต่จะไม่มีระยะเวลาขั้นต่ำตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2021ถึง 31 มีนาคม2022

    ในขณะเดียวกัน ใบอนุญาตทำงานทั้งหมดในภาค CMP รวมถึง S Passes (ใบอนุญาตสำหรับคนต่างชาติที่มีฝีมือแรงงานในระดับกลาง) และ Employment Pass(ใบอนุญาตทำงานสำหรับคนต่างชาติระดับวิชาชีพ) ที่มีทักษะสูงกว่า จะได้รับการอนุมัติตามหลักการให้ขยายเวลา หากผู้ถือใบอนุญาตไม่สามารถเข้าสิงคโปร์ได้เนื่องจากข้อจำกัดด้านพรมแดนตามมาตรการโควิด-19

    นอกจากนี้มีการขยายเวลาอัตโนมัติ 6 เดือนตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม และมีความเป็นไปได้ที่จะขยายเวลาได้อีกถึง 6 เดือน ซึ่งกระทรวงแรงงานระบุว่า “จะช่วยให้นายจ้างที่ได้รับผลกระทบมีเวลาเพียงพอในการนำผู้ถือใบอนุญาตทำงานเข้ามาเพื่อความต้องการทางธุรกิจ”

    อึ้ง เย็ก เม้ง ประธาน SCAL กล่าวว่า โครงการ SCAL Retention Scheme ใหม่ สมาคมฯ จะออกค่าใช้จ่ายสำหรับห้องของแรงงานต่างด้าว การเดินทาง และการทดสอบโควิด-19 ตามปกติในช่วง 30 วันนี้ “เพื่อช่วยรักษาแรงงานในภาคการก่อสร้างให้มากที่สุด”

    “หากคนงานเหล่านี้เต็มใจที่จะอยู่ในสิงคโปร์ ชื่อและงานของพวกเขา ความสามารถของพวกเขา จะถูกเก็บไว้ในการแลกเปลี่ยนกำลังคนของเรา และเราจะจับคู่งานกับนายจ้างบางรายที่เต็มใจจ้างพวกเขา” นายอึ้งกล่าว

    “อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว ผมขอเรียกร้องให้ทุกบริษัท และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกบริษัทจะเปลี่ยนโฉมธุรกิจของตนต่อไป เพื่อลดการพึ่งพากำลังคนด้วยการหันมาใช้เทคโนโลยี และออกแบบงานใหม่เพื่อดึงดูดคนในประเทศให้เข้าร่วมมากขึ้น” ดร. ตัน กล่าว

    ดร. ตันกล่าวว่า การออกมาตรการในตอนนี้ เพราะในเบื้องต้นรัฐเน้นการควบคุมการระบาดไวรัสและเพื่อให้คนงานมีความเป็นอยู่ที่ดีในช่วงที่มีการระบาดในวงกว้างในแคมป์คนงานต่างชาติในปี 2020

    การดำเนินการล่าสุดเกิดจากความพยายามของ SCAL, Association of Singapore Marine Industries และ Association of Process Industry ที่มีขึ้นก่อนหน้านี้เพื่อนำแรงงานต่างชาติจากมาเลเซียและอินเดียเข้ามาในประเทศ ภายใต้โครงการนำร่องที่เริ่มในเดือนมิถุนายน

    บริษัทก่อสร้างยังสามารถนำผู้ถือใบอนุญาตทำงานชาวจีนที่ยังไม่ได้รับการรับรองทักษะพื้นฐานเข้ามาได้ ภายใต้โครงการระยะเวลาหกเดือนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม นั่นก็เท่ากับว่าสิงคโปร์ยังคงห้ามนำเข้าจากบังกลาเทศ อินเดีย เมียนมา เนปาล ปากีสถาน และศรีลังกาอย่างไม่มีกำหนด

    ผู้ถือใบอนุญาตทำงานหรือผู้ถือบัตร S Pass ในภาค CMP สามารถ ไม่ต้องการกักตัวอยู่บ้าน (SHN) 14 วัน เมื่อเดินทางมาถึงสิงคโปร์ หาก 21 วันก่อนหน้าอยู่ในบรูไน นิวซีแลนด์ ไต้หวัน หรือแผ่นดินใหญ่ ประเทศจีนนอกมณฑลเจียงซู หรือสามารถกัก 7 วันในโรงแรมหรือที่อยู่อาศัยแทนที่จะเป็นสถานที่ที่รัฐกำหนด หากอยู่ในฮ่องกง มาเก๊า หรือมณฑลเจียงซู

    จำนวนแรงงานในอุตสาหกรรมหดตัวลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยสิงคโปร์จ้างผู้ถือใบอนุญาตทำงาน 311,000 รายในภาค CMP ณ สิ้นปี 2020 ลดลงจาก 423,300 รายเมื่อสิ้นปี 2015

    ผู้ถือใบอนุญาตทำงานในภาคธุรกิจนี้ได้รับอนุญาตให้มาจากประเทศต้นทางหรือภูมิภาคที่ผ่านการคัดเลือกเท่านั้น เช่น มาเลเซีย จีนแผ่นดินใหญ่ ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินเดีย ศรีลังกา ไทย บังคลาเทศ เมียนมา และฟิลิปปินส์

    ลาวเตรียมรับรถไฟจากจีนทดลองวิ่งตุลาคมนี้

    ที่มาภาพ: https://vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Trains157.php?fbclid=IwAR2qMhHEeZvw7ooLJcGPIG02syIVilB9_TWyJKorjDHQd0HPvSb5Kw3UdYk

    โครงการรถไฟลาว-จีนจะนำขบวนรถไฟ ซึ่งขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าและอุปกรณ์อื่น ๆ เข้ามาจากจีนในเดือนกันยายน เพื่อ ดำเนินการทดลองเดินรถไฟครั้งแรกในเดือนตุลาคม

    แผนการทดลองเดินรถได้นำเสนอในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการรถไฟลาว-จีน ครั้งที่ 10 ซึ่งจัดขึ้นที่เวียงจันทน์ และมีดร. สอนไซ สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการวางแผนและการลงทุนเข้าร่วม

    เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบโครงการกล่าวว่า คณะกรรมการบริหารโครงการกำลังร่างบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการเปิดจุดตรวจทางรถไฟชั่วคราว เพื่อนำหัวรถจักร ขบวนรถ และอุปกรณ์อื่นๆ เข้ามาในลาวในเดือนกันยายนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการดำเนินการทดลองเดินรถ

    เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม การก่อสร้างทางรถไฟลาว-จีนจากจุดผ่านแดนบ่อเต็นทางตอนเหนือของลาว ติดกับจีน ไปยังเมืองท่านาแล้งในเวียงจันทน์ เสร็จสมบูรณ์ 93.82% และคาดว่าทางรถไฟจะแล้วเสร็จตามแผนและจะเปิดให้บริการต่อสาธารณะได้ในวันที่ 2 ธันวาคม

    วันที่ 26-30 กรกฎาคม คณะทำงานด้านเทคนิคจากการรถไฟ คณะกรรมการบริหารโครงการ สำนักงานชายแดน กระทรวงการต่างประเทศ และบริษัทการรถไฟลาว-จีน ได้ดำเนินการตรวจสอบ และในวันที่ 16 สิงหาคม จะตรวจสอบทางรถไฟฝั่งจีนเพื่อกำหนดจุดเชื่อมต่อที่จะแล้วเสร็จในเดือนนี้

    คณะกรรมการตรวจสอบจะดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติมตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม ถึง 19 พฤศจิกายน ซึ่งจะร่วมด้วยกรรมการ เจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคทั้งหมดของคณะกรรมการอำนวยการ สำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง โดยจะมีการตรวจสอบพื้นที่ที่ทางรถไฟวิ่งผ่าน ขณะที่กลุ่มอื่นๆ จะดำเนินการตรวจสอบความพร้อมก่อนเปิดทางรถไฟในวันที่ 2 ธันวาคม

    กฎหมายรถไฟได้มีการประกาศใช้ในปี 2019 และพระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับอำนาจของรถไฟได้มีการลงนามเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2021 โดยเป็นกฎหมายที่แตกมาจากพระราชบัญญัติระเบียบการรถไฟ ซึ่งครอบคลุมตำรวจรถไฟและผู้ตรวจการรถไฟ

    การรถไฟและการตำรวจรถไฟได้ร่างข้อตกลงเกี่ยวกับการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ และตำรวจรถไฟซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้ในเดือนกันยายน ข้อตกลงดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับการดูแลความปลอดภัยบนรถไฟและที่สถานีรถไฟ

    ทางรถไฟที่เชื่อมต่อเวียงจันทน์กับชายแดนจีน ลัดเลาะผ่านนครหลวงเวียงจันทน์ หลวงพระบาง อุดมไซ และหลวงน้ำทา และผ่านอุโมงค์ 75 แห่ง ระยะทางรวม 197.83 กิโลเมตร

    การก่อสร้างทางรถไฟมูลค่า 5.986 พันล้านดอลลาร์ (37.4 พันล้านหยวน) เริ่มขึ้นในเดือนธันวาคม 2016

    การรถไฟลาว-จีนเป็นส่วนสำคัญของโครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางของจีน และแผนของรัฐบาลลาวในการเปลี่ยนลาวจากประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลให้กลายเป็นประเทศที่เชื่อมโยงทางบกภายในภูมิภาค

    ลาวแก้กฎหมายมูลค่าเพิ่มดึง MSMEs เข้าระบบ

    ที่มาภาพ:https://www.phnompenhpost.com/business/laos-revises-vat-law-promote-investment-msmes

    กระทรวงการคลังลาวในนามของรัฐบาลได้ขอให้สภาแห่งชาติ (National Assembly:NA) พิจารณาแก้ไขกฎหมายว่าด้วยภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาทางการเงินของประเทศ โดยนำเสนอการแก้ไขกฎหมายไว้ในวาระแห่งชาติวาระใหม่ที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาทางการเงินซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาในการประชุมวาระพิเศษของ NA

    นายบุนชม อุบนปะเสิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เสนอร่างกฎหมาย 4 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับวาระแห่งชาติ ได้แก่ กฎหมายภาษีอากร ภาษีเงินได้ ภาษีสรรพสามิต และภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ในสมัยประชุม

    นายบุนชมรายงานต่อสมาชิก NA ว่า การแก้ไขกฎหมายการเงินบางมาตรามีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจและให้แน่ใจว่ามีการชำระภาษีตามกฎหมายเหล่านี้

    “การแก้ไขกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่ม จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถมีส่วนร่วมในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มและเพิ่มกำลังซื้อของผู้บริโภค นอกจากนี้ยังจะทำให้การดำเนินการเชิงกลยุทธ์ของกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มชัดเจนขึ้นโดยมุ่งเน้นที่ภาคพลังงานและเหมืองแร่มากกว่าสาขาอื่นๆ ”

    การแก้ไขกฎหมายยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSMEs) เพื่อเพิ่มจำนวนธุรกิจขนาดเล็กที่เข้าร่วมในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม

    ในบรรดา 21 มาตราที่เสนอแก้ไขในกฎหมายทั้ง 4 ฉบับ มี 12 มาตราอยู่ในกฎหมายว่าด้วยภาษีมูลค่าเพิ่ม การแก้ไขมาตราในกฎหมายทั้ง 4 ฉบับ จะมีบทบาทพื้นฐานในการสร้างผลเชิงบวกในการปฏิรูปการบริหารการเงิน รวมทั้งส่งเสริมการลงทุนในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น
    ในระหว่างการประชุม สมาชิกของ NA ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขก่อนที่จะเสร็จสิ้นร่างและอนุมัติการแก้ไข

    กฎหมายว่าด้วยภาษีมูลค่าเพิ่มกำหนดหลักการ ระเบียบ วิธีการ และมาตรการที่เกี่ยวข้องกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ธุรกิจและผู้บริโภคเป็นผู้จ่ายเพื่อเข้าสู่งบประมาณของรัฐ

    กฎหมายดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการผลิตและการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการหมุนเวียนสินค้าและบริการ

    เวียดนามมอบอาคารรัฐสภาใหม่ให้ลาว

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/ceremony-held-to-hand-over-new-lao-na-house/206025.vnp
    เมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมาได้มี พิธีมอบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ให้กับลาวซึ่งนับเป็นของขวัญจากพรรคคอมมิวนิสต์ รัฐบาลและประชาชนเวียดนาม เวียงจันทน์ และเป็นการแสดงถึงมิตรภาพระหว่างเวียดนามและลาว ตลอดจนเป็นการพัฒนาครั้งสำคัญของความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ

    อาคารนี้ใช้เวลาก่อสร้างเกือบ 38 เดือน โดยกระทรวงการก่อสร้างของเวียดนามเป็นสนับสนุนทุนหลักของโครงการ และกองกำลังทหารที่ 11 ของกระทรวงกลาโหมเป็นผู้สร้าง

    อาคารรัฐสภามีพื้นที่ 7,000 ตารางเมตรในบริเวณลานพระธาตุหลวงในตัวเมืองเวียงจันทน์ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นสัญลักษณ์ของความสามัคคีของลาว สร้างขึ้นด้วยเงินรวมประมาณ 112 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญจากเวียดนาม ลาว และญี่ปุ่น

    เวียดนามจะขยายการค้าชายแดนกับกัมพูชา

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/50912806/gia-lai-province-in-vietnam-to-boost-trade-links-with-cambodias-border-provinces/
    จังหวัดซา ลายในเวียดนามจะ ขยายการเชื่อมโยงการค้ากับจังหวัดชายแดนของกัมพูชา โดยจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการค้าชายแดนระหว่างจังหวัดซา ลาย กับท้องถิ่นของกัมพูชาที่มีแนวพรมแดนเดียวกันเพื่อส่งเสริมกิจกรรมการค้าและการแลกเปลี่ยนสินค้าภายใต้โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการค้าชายแดนของเวียดนามจนถึงปี 2025 ตามวิสัยทัศน์ถึงปี 2030

    คณะกรรมการประชาชนของซา ลาย ซึ่งเป็นจังหวัดที่ราบสูงตอนกลาง ได้จัดทำแผนเพื่อขับเคลื่อนโครงการ ที่ได้รับการอนุมัติจากนายกรัฐมนตรีให้ส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาและเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานการค้าชายแดนระหว่างจังหวัดซา ลายและชายแดนกัมพูชาที่มีศักยภาพและข้อได้เปรียบของทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายเพื่อช่วยดึงดูดนักลงทุนและส่งเสริมการลงทุนเอกชนในภาคการก่อสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานชายแดน

    โครงการดังกล่าวจะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างท้องถิ่นชายแดนอย่างใกล้ชิดในด้านการค้าเศรษฐกิจและวัฒนธรรมสังคม ซึ่งจะช่วยยกระดับชีวิตของผู้คนบริเวณชายแดน และมีผลต่อความมั่นคงของประเทศ ระเบียบสังคม และความปลอดภัยในพื้นที่

    ภายใต้แผนดังกล่าว ซา ลายจะประสานงานกับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เพื่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกด้านโครงสร้างพื้นฐานการค้าชายแดน โดยให้ความสำคัญกับโครงการที่ใช้งบประมาณของรัฐและโครงการที่ดึงการลงทุนจากเอกชน

    จังหวัดซา ลาย จะทบทวนและปรับแผนงาน พร้อมลงทุนในการยกระดับและสร้างโครงสร้างพื้นฐานและงานด้านสังคมในเขตเศรษฐกิจชายแดน Le Thanh International Border Gate Economic Zone ส่งเสริมโครงการยกระดับตลาดชายแดนเพื่ออำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนสินค้าผ่านด่านระหว่างประเทศ Le Thanh International Border Gate

    จังหวัดซา ลายจะให้ความสำคัญในการจัดสรรเงินงบประมาณของรัฐเพื่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานชายแดนที่ภาคเอกชนไม่สามารถเข้าร่วมได้ ส่งเสริมและช่วยเหลือผู้ประกอบการในการเข้าร่วมการก่อสร้างตลาดการค้าชายแดน

    ในเร็วๆนี้ ทางการจังหวัดจะสนับสนุนการแลกเปลี่ยนและการหมุนเวียนของสินค้าและข้อตกลงความร่วมมือระหว่างพื้นที่ชายแดนของจังหวัดซาลายและจังหวัดรัตนคีรี ของกัมพูชา

    โดยจะเน้นที่การเพิ่มคุณภาพทรัพยากรบุคคลเพื่อจัดการและพัฒนาทีมผู้ค้าผ่านการเผยแพร่กฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับที่มาของสินค้าและวิธีการชำระเงิน การลงนามในสัญญา และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ค้าและผู้อยู่อาศัยตามชายแดน

    สำนักงานอุตสาหกรรมและการค้าจังหวัดได้รับมอบหมายให้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมการลงทุนเพื่อดึงดูดธุรกิจภายในและภายนอกจังหวัดให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการค้าชายแดน

    เทคโนโลยีดิจิทัลหนุนเศรษฐกิจอินโดนีเซีย 1%

    ที่มาภาพ: https://moderndiplomacy.eu/2021/08/01/ensuring-a-more-inclusive-future-for-indonesia-through-digital-technologies/
    โยเซ ไรซาล ดามูริ หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจของ Center of Strategic and International Studies (CSIS) ของอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า การนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ในอินโดนีเซียช่วย กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้ 1%

    “ดังนั้น ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า เราต้องการมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่มากกว่านี้จริงๆ”

    นอกจากนี้ ผลการศึกษา CSIS พบว่า เขตและเมืองที่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงสุดในอินโดนีเซีย เช่น 50% มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้น 0.4% เมื่อเทียบกับภูมิภาคที่ไม่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต

    “ดังนั้นจึงมีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างอินเทอร์เน็ตและการเติบโตทางเศรษฐกิจ” ด้วยเหตุนี้ จำเป็นต้องมีการเข้าถึงแอปพลิเคชันเทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขึ้นในอนาคตเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

    การใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอินโดนีเซียนับตั้งแต่เกิดโควิด-19 จากรายงานของสำนักงานสถิติอินโดนีเซีย( Statistics Indonesia:BPS) ที่ระบุว่า การใช้อินเทอร์เน็ตในอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 9% ภายในหนึ่งปีของการระบาดใหญ่

    อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของแอปพลิเคชันเทคโนโลยีดิจิทัลไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่มีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่แข็งแกร่งและเพียงพอ

    หากไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ อินโดนีเซียจะประสบปัญหามากมายในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นในด้านเศรษฐกิจ ธรรมาภิบาล หรือภาคสังคมอื่นๆ

    จากข้อมูลของกระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศ รายได้ของภาคไปรษณีย์ของอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบเป็นรายปีในภาคการศึกษาแรกของปี 2019 เนื่องจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

    อินโดนีเซียออกเกณฑ์ใหม่สำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ

    ที่มาภาพ:https://en.antaranews.com/news/183458/transportation-ministry-issues-new-regulation-on-international-travel

    กระทรวงคมนาคมได้ออกหนังสือเวียนหมายเลข 63/2021 ว่าด้วยการเดินทางระหว่างประเทศโดยการขนส่งทางอากาศ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีผลในวันที่ 11 สิงหาคม 2021

    “ชาวอินโดนีเซียที่มาจากต่างประเทศได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศอินโดนีเซียได้โดยใช้มาตรการด้านสุขภาพที่เข้มงวด ในขณะเดียวกัน ยังคงห้ามชาวต่างชาติเข้า ยกเว้นผู้ที่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายและคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิทธิมนุษยชน ฉบับที่ 27/2021 และข้อตกลงการเดินทางแบบทวิภาคี(Travel Corridor Arrangement bilateral agreement )หรือได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นพิเศษจากกระทรวง/หน่วยงานของชาวอินโดนีเซีย” โนวี ริยันโต ผู้อำนวยการทั่วไปด้านการบินพลเรือนของกระทรวง กล่าวในแถลงการณ์

    นอกจากนี้ นักเดินทางต่างชาติทุกคนจะต้องพกใบรับรองการฉีดวัคซีนที่แสดงว่า ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบถ้วนแล้ว

    “หากผู้เดินทางเป็นชาวอินโดนีเซียที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนในต่างประเทศ พวกเขาจะได้รับการฉีดวัคซีนที่สถานที่กักกันเมื่อมาถึงอินโดนีเซียหลังจากการทดสอบ RT-PCR ครั้งที่สองและมีผลลบ กฎระเบียบนี้ยังใช้กับชาวต่างชาติอายุ 12- 17 ปี ผู้ถือวีซ่าทางการทูตหรือบริการ ตลอดจนผู้ถือบัตรอนุญาตพำนักถาวรหรือจำกัดการพำนัก”

    “ในขณะเดียวกัน ชาวต่างชาติในอินโดนีเซียที่ต้องการเดินทางในประเทศหรือต่างประเทศ จำเป็นต้องรับการฉีดวัคซีนผ่านโครงการระดับชาติหรือโครงการความร่วมมือระหว่างกันตามระเบียบข้อบังคับของแต่ละประเทศ”

    อย่างไรก็ตาม กฎการถือใบรับรองการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จะไม่มีผลบังคับใช้กับ

    ชาวต่างชาติที่ถือวีซ่าทูตหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับการเยือนอย่างเป็นทางการของเจ้าหน้าที่ต่างประเทศในระดับรัฐมนตรีขึ้นไป รวมถึงผู้ที่เข้าสู่อินโดนีเซียผ่านข้อตกลงการเดินทาง

    ชาวต่างชาติที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนและตั้งใจที่จะเดินทางจากเมืองต้นทางไปยังสนามบินนานาชาติเพื่อขึ้นเที่ยวบินระหว่างประเทศออกจากอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม พวกเขาจะต้องแสดงตั๋วและได้รับอนุญาตจากสำนักงานสุขภาพที่สนามบิน นอกจากนี้ ชาวต่างชาติที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนและกำลังพักรอก่อนจะเดินทางต่อไปในเที่ยวบินระหว่างประเทศอื่น ก็ไม่จำเป็นต้องแสดงใบรับรองการฉีดวัคซีนตราบเท่าที่ยังคงอยู่ในพื้นที่รอ

    ชาวต่างชาติอายุต่ำกว่า 18 ปี และ ชาวต่างชาติที่มีภาวะด้านสุขภาพ อย่างไรก็ตาม จะต้องนำใบรับรองจากโรงพยาบาลของรัฐในประเทศต้นทางที่ระบุว่าไม่สามารถรับวัคซีนได้