ThaiPublica > คอลัมน์ > การบริหารน้ำท่วมไล่หลังความเจริญ

การบริหารน้ำท่วมไล่หลังความเจริญ

20 กันยายน 2021


อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี

น้ำท่วมขัง คือทุกข์ของคนกรุงเทพฯโดยเฉพาะฝั่งพระนคร อาการหนักหนาสาหัสทุกครั้ง เพราะสภาพถนนมีแต่น้ำรอระบาย

ช่วงบ่ายของวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมาได้ ฝนตกในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร หลายจุด แล้วเกิดน้ำรอระบายในหลายพื้นที่

การแก้ปัญหาของสำนักระบายน้ำกรุงเทพมหานคร ได้กำหนดพื้นที่บริหารจัดการน้ำท่วมแบบปิดล้อมย่อย(Sub Polder System)จำนวน 22 พื้นที่

การที่ต้องปิดล้อมย่อย เนื่องจากกรุงเทพมีคันกั้นน้ำพระราชดำริรอบกรุงเทพ อันนี้เป็นการปิดล้อมใหญ่ แต่การที่ต้องย่อยการปิดล้อมในแต่ละพื้นที่ลงมา เพื่อให้สามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่ “ด้วยความสามารถของเครื่องสูบน้ำ” ได้ดีขึ้น

ถ้าไม่ย่อยการปิดล้อม แล้วสูบน้ำออก การบริหารจัดการจะทำได้ช้ามาก เช่น ฝนไม่ได้ตกในทุกพื้นที่ในเวลาเดียวกัน ก็ไม่จำเป็นต้องเดินเครื่องสูบน้ำในพื้นที่นั้นๆ เดินเฉพาะบริเวณที่มีฝนตกเท่านั้นถึงจะระบายออกได้เร็ว

แผนที่แสดงพื้นที่บริหารจัดการน้ำกรุงเทพมหานคร 22 พื้นที่
พื้นที่บริหารจัดการน้ำท่วมถนนจันทร์ เซนต์หลุยส์ ทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร และเขตยานนาวา เนื้อที่ประมาณ 25.253 ตร.กม.

สำหรับการกำหนดพื้นที่บริหารจัดการจุดอ่อนน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร(340.802 ตารางกิโลเมตร) ดังนี้

1. พื้นที่บริหารจัดการน้ำท่วมดอนเมือง อนุสรณ์สถาน พื้นที่ 37.640 ตารางกิโลเมตร
2. พื้นที่บริหารจัดการน้ำท่วมแจ้งวัฒนะ พื้นที่ 35.778 ตารางกิโลเมตร
3. พื้นที่บริหารจัดการน้ำท่วมรัชดาภิเษก พหลโยธิน แยกเกษตร พื้นที่ 36.760 ตารางกิโลเมตร
4. พื้นที่บริหารจัดการน้ำท่วมลาดพร้าว บางกะปิ นวมินทร์ พื้นที่ 42.017 ตารางกิโลเมตร
5. พื้นที่บริหารจัดการน้ำท่วมถนนพหลโยธิน สนามเป้า พื้นที่ 26.500 ตารางกิโลเมตร
6. พื้นที่บริหารจัดการน้ำท่วมถนนเพชรบุรี จากทางรถไฟถึงถนนอโศกมนตรี พื้นที่ 9.540 ตารางกิโลเมตร
7. พื้นที่บริหารจัดการน้ำท่วมถนนทหาร พระรามที่ 6 คลองสามเสน พื้นที่ 6.423 ตารางกิโลเมตร
8. พื้นที่บริหารจัดการน้ำท่วมพระรามที่ 5 คลองผดุงกรุงเกษม คลองสามเสน พื้นที่ 6.423 ตารางกิโลเมตร
9. พื้นที่บริหารจัดการน้ำท่วมรามคำแหง พื้นที่ 11.444 ตารางกิโลเมตร
10. พื้นที่บริหารจัดการน้ำท่วมถนนพระจันทร์ รอบสนามหลวง ถนนท้ายวัง พื้นที่ 8.692 ตารางกิโลเมตร
ถนนหน้าพระลาน
11. พื้นที่บริหารจัดการน้ำท่วมถนนจันทร์ เซนต์หลุยส์ สวนพลู ทุ่งมหาเมฆ พื้นที่ 25.253 ตารางกิโลเมตร
12. พื้นที่บริหารจัดการน้ำท่วมพระรามที่ 1 พื้นที่ 11.660 ตารางกิโลเมตร
13. พื้นที่บริหารจัดการน้ำท่วมถนนสุขุมวิทฝั่งเหนือ พื้นที่ 22.595 ตารางกิโลเมตร
14. พื้นที่บริหารจัดการน้ำท่วมถนนสุขุมวิทฝั่งใต้ ศรีนครินทร์ พื้นที่ 40.357 ตารางกิโลเมตร
15. พื้นที่บริหารจัดการน้ำท่วมตลิ่งชัน ฉิมพลี มุ่งมังกร สวนผัก พื้นที่ 3.600 ตารางกิโลเมตร
16. พื้นที่บริหารจัดการน้ำท่วมเพชรเกษม พื้นที่ 8.750 ตารางกิโลเมตร
17. พื้นที่บริหารจัดการน้ำท่วมถนนบางบอน 1 (เขตบางบอน) พื้นที่ 0.813 ตารางกิโลเมตร
18. พื้นที่บริหารจัดการน้ำท่วมถนนบางขุนเทียน (เขตบางขุนเทียน) พื้นที่ 2.490 ตารางกิโลเมตร
19. พื้นที่บริหารจัดการน้ำท่วมถนนประชาอุทิศ (เขตทุ่งครุ) พื้นที่ 3.326 ตารางกิโลเมตร
20. พื้นที่บริหารจัดการน้ำท่วมถนนสุวินทวงศ์ (เขตมีนบุรี) พื้นที่ 0.741 ตารางกิโลเมตร
21. พื้นที่บริหารจัดการน้ำท่วมถนนพัฒนาการ (เขต) พื้นที่ 13.251 ตารางกิโลเมตร
22. พื้นที่บริหารจัดการน้ำท่วมบางซื่อ (เขต) พื้นที่ 2.846 ตารางกิโลเมตร

อย่างไรก็ตามการจัดการพื้นที่ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่ตอบโจทย์การบริหารจัดการน้ำท่วมให้เหมาะกับการเจริญเติบโตของเมือง

กรณีฝนตกเมื่อวานนี้(19 กันยายน 2564)ที่บริเวณถนนสาทรในปริมาณ 96 มิลลิเมตร(มม.)/ชั่วโมง บริเวณถนนสาทร ถนนจันทน์ ถนนสวนพูล ถนนนางลิ้นจี่ ถนนสาธุประดิษฐ์ ทำให้พื้นที่สาทรตกอยู่ในสภาพน้ำรอระบาย ถึงขนาดรถเล็กไม่สามารถสัญจรได้ ในพื้นที่บริเวณนี้อยู่ในพื้นที่ปิดล้อมย่อย(Sub Polder System)ในแผนการบริหารจัดการน้ำของสำนักระบายน้ำ ลำดับที่ 11 โดยมีพื้นที่ปิดล้อม 25.253 ตารางกิโลเมตร

น้ำรอระบายบริเวณพื้นที่สาทรเมื่อวานอยู่ในพื้นที่ปิดล้อมที่รวมพื้นที่ถึง 25 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ใหญ่ ขณะเดียวกันในบริเวณพื้นที่สาทร ไม่มีพื้นที่ดินคอยซับน้ำฝน เวลาฝนตกในพื้นที่นี้ จะใช้เวลาสูบนาน ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงจำเป็นต้องย่อยพื้นที่นี้ลงมาอีกเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำจะทำได้เร็วขึ้น

ที่ผ่านมา สำนักระบายน้ำได้แก้ปัญหาพื้นที่นี้มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเพิ่มเครื่องสูบน้ำและทำโครงการ Pipe Jacking (คือเทคนิคการดันท่อระบายน้ำใต้ดิน เป็นเทคโนโลยี่ที่ไม่ได้เปิดหน้าดินเพื่อขุดถนนทำให้เสียช่องการจราจร) ในบริเวณดังกล่าว เรียกได้ว่าพยายามแก้ปัญหาในพื้นที่อย่างเต็มระบบ

คำถามคือเมื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำเต็มที่เช่นนี้ ทำไมน้ำยังรอระบายอีก

คำตอบคือพื้นที่ปิดล้อมใหญ่เกินไปแล้วมีความแออัดอย่างสูง แถมไม่มีพื้นที่ซับน้ำ

ดังนั้นแล้ว สำนักการระบายน้ำควรต้องหันมาพิจารณาแบ่งพื้นที่ปิดล้อมให้มีพื้นที่ให้เหมาะสมกับความเจริญของเมือง

หากผู้บริหารกทม. บอกว่า กรุงเทพมหานครสามารถรับปริมาณน้ำฝนได้สูงสุด 60 มม./ชม เพราะฉะนั้นถ้าฝนตกเกินที่ กทม. รับได้ จำเป็นต้องมีน้ำรอระบายอันนี้ก็ถูกต้องตามที่ กทม. หรือผู้บริหาร กทม. ชี้แจงประชาชน

ทั้งนี้ทั้งนั้นคนกรุงเทพเองไม่ได้คาดหวังถึงขนาดต้องไม่มีน้ำรอระบายในเวลาที่ฝนตก แต่น่าจะหวังได้ว่าควรระบายได้เร็วกว่านี้ ไม่ใช่รอระบายหลายชั่วโมง ถ้ากทม.รองรับปริมาณน้ำฝนได้ 60 มม./ชม ดังนั้นถ้าเมื่อวานฝนตก 96 มม./ชม. คิดง่ายๆน้ำจะรอระบาย ควรจะรอระบายแค่ 36 นาที

จึงฝากไว้ให้คิด…

อ่านเพิ่มเติม

  • น้ำรอระบาย เขตลาดกระบัง “เกาไม่ถูกที่คัน”
  • แนวทางการบริหารจัดการปรับปรุงคลองระบายน้ำในทางสายกลาง ที่ควรจะเป็น
  • “อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี” ที่ปรึกษาผู้ว่ากทม. ชวนแกะรอยปัญหา “น้ำท่วมกรุงเทพฯ” จาก “ท่อระบายน้ำ” ถึง “แม่น้ำเจ้าพระยา”
  • ขายไอเดีย “บริหารจัดการน้ำท่วม-น้ำแล้ง” ด้วย “Water Grid” ในภาวะน้ำต้นทุนที่มีแต่จะลดลง
  • จับตามอง #Extreme Weather 2021