ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > ขายไอเดีย “บริหารจัดการน้ำท่วม-น้ำแล้ง” ด้วย “Water Grid” ในภาวะน้ำต้นทุนที่มีแต่จะลดลง

ขายไอเดีย “บริหารจัดการน้ำท่วม-น้ำแล้ง” ด้วย “Water Grid” ในภาวะน้ำต้นทุนที่มีแต่จะลดลง

19 พฤศจิกายน 2019


นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมาข่าวเวนิสน้ำท่วม จากน้ำทะเลขึ้นสูง เป็นผล Climate Change นับเป็นความเสียหายมากมาย เป็นตัวอย่างที่ต้องนำมาเรียนรู้สำหรับประเทศไทย แม้ลักษณะภูมิประเทศจะไม่เหมือนกัน แต่น้ำทะเลหนุนของไทย ปัจจุบันเข้ามาลึกกว่า 57 กิโลเมตรแล้ว ส่งผลต่อเกษตรกรและเป็นอุปสรรคต่อการนำน้ำในแม่น้ำมาใช้บริโภคอุปโภค

นี่คือกรณีน้ำทะเลหนุนของไทย…ซึ่งเป็นปัญหาการจัดการน้ำที่ประเทศไทยประสบอยู่เช่นกัน ไม่นับรวมน้ำท่วม น้ำแล้ง ที่เป็นปัญหาใหญ่ของการบริหารจัดการของประเทศไทย

ทุกๆ ปีมีน้ำท่วม น้ำแล้ง จนกลายเป็นวัฏจักรที่คุ้นชิน และนานวันเข้าน้ำท่วม น้ำแล้ง ก็ทวีความรุนแรงและขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น นำมาซึ่งความขัดแย้งในสังคม ถ้าน้ำท่วมส่วนใหญ่มักไม่มีใครยอมเป็นพื้นที่แก้มลิง/พื้นที่รับน้ำ หรือถ้าน้ำแล้งมักมีการขโมยสูบน้ำระหว่างทาง กักเก็บน้ำไว้ใช้ในพื้นที่ของตนเอง

เป็นคำถามที่ถามซ้ำซาก ไทยเป็นประเทศที่มีฝนตกชุก ทำไมการบริหารจัดการน้ำจึงไม่ตอบโจทย์ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในประเทศที่ต้องมาหากินในวิถีเกษตร ทั้งเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ เพราะ “น้ำ” คือชีวิตของพวกเขา ยังไม่นับรวมภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ อย่างอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และการใช้น้ำเพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศ

ภาวะน้ำท่วม น้ำแล้ง เป็นภัยพิบัติที่ใช้งบประมาณช่วยเหลือแต่ละปีมากขึ้นเรื่อยๆ และส่วนใหญ่เป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้า เช่น ขนน้ำไปแจก ขุดบ่อบาดาล แจกโอ่ง ถ้าน้ำท่วมทำเขื่อนกั้นน้ำ ผนังกั้นน้ำ ชดเชยความเสียหายของผลผลิต แจกเงิน แจกของใช้จำเป็น ยังไม่รวมเรื่องการหันไปพึ่งพาน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้า

จากการรวบรวมข้อมูลจากมติคณะรัฐมนตรี สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าพบว่าเฉพาะงบประมาณส่วนที่ต้องช่วย “ภัยพิบัติ” ในระยะเวลา 5 ปีของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 100,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละกว่า 20,000 ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่นับรวมของรัฐบาลที่ผ่านๆ มา คาดว่าเป็นเงินมากมายอยู่

ถ้าหากนำงบประมาณแต่ละปีมาใช้เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำของประเทศอย่างจริงจัง จะป้องกันภัยพิบัติอย่างถาวรและยั่งยืนได้หรือไม่

แล้วการบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวมเพื่อแก้ปัญหาน้ำทั้งประเทศต้องทำกันอย่างไร

ก่อนหน้านี้ “ไทยพับลิก้า” เคยสัมภาษณ์ นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งรับผิดชอบในเรื่องการบริหารจัดการน้ำของกรุงเทพมหานครทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำทะเลหนุน และการจัดการน้ำเสีย

อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำและคร่ำหวอดในแวดวงเรื่อง “น้ำๆ” มานาน ตั้งแต่นักเรียนทุนที่ไปศึกษาเรื่องการจัดการน้ำมาโดยเฉพาะ เคยร่วมบริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออกกับบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสวอเตอร์ เพื่อแก้ปัญหาน้ำขาดแคลนในภาคตะวันออก นับเป็นโมเดลการจัดการน้ำที่เป็นตัวอย่างและประสบผลสำเร็จมาแล้ว เพราะที่ภาคตะวันออกมีนิคมอุตสาหกรรมซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมหนัก และเมืองอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จากที่เคยขาดแคลนน้ำรุนแรง วันนี้แม้จะมีบางพื้นที่ที่อาจจะขาดแคลนน้ำบ้าง แต่โดยรวมถือว่าเป็นตัวอย่างของการบริหารจัดการน้ำที่ยั่งยืน

ระบบส่งน้ำ 3 Water – “Grid-Network-Complex”

จากประสบการณ์ดังกล่าว นายอรรถเศรษฐ์เริ่มต้นเฉลยทางออกให้ฟังก่อนว่าสำหรับการบริหารจัดการน้ำ นอกจากการมีอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนที่ใช้เก็บกักน้ำและบริหารน้ำต้นทุนในแต่ละปีแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญในภาพรวมระดับประเทศคือ “ระบบท่อส่งน้ำ” ที่เป็นเครือข่ายให้สามารถผันน้ำไปมาระหว่างอ่างเก็บน้ำต่างๆ ในประเทศหรือจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการน้ำยืดหยุ่นและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่แปรปรวนในปัจจุบันได้ แต่ประเทศไทยไม่ได้ทำเรื่องนี้

การพูดคุยในครั้งนี้นายอรรถเศรษฐ์กล่าวว่า ต้องการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและเสนอไอเดียมากกว่า เพราะประเทศไทยเคยมีการจัดการน้ำที่ดี มีตัวอย่างมาแล้ว ถ้าขยายต่อทำให้ “ระบบส่งน้ำแบบปิด” กระจายเชื่อมกันได้ทั่วประเทศ น่าจะแก้ปัญหาน้ำได้ดีขึ้น แต่นั่นหมายถึงจะต้องมีการทำเรื่องอื่นๆ ประกอบด้วย จึงจะเป็นการบริหารจัดการน้ำที่สมบูรณ์

“สิ่งที่อยากจะขายคือไอเดีย ประเทศไทยเผชิญน้ำแล้งกับน้ำท่วมมาตลอด และรัฐบาลต้องอุดหนุนทุกปี ปีละเป็นหมื่นล้านบาท อันนี้เป็นที่มาว่าจะทำอย่างไรให้มีการบริหารจัดการน้ำที่เต็มรูปแบบ คำว่าเต็มรูปแบบคือรู้ว่าการใช้น้ำมีกี่ประเภท ต้องแยกกันอย่างชัดเจน น้ำอุตสาหกรรม น้ำอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อเกตรกรรม น้ำรักษาระบบนิเวศ (เป็นหัวใจสำคัญ) และภาคเกษตรกรรมที่ใช้มากที่สุด”

นายอรรถเศรษฐ์เล่าย้อนกลับที่ข้อมูลพื้นฐานของ “น้ำ” ในประเทศไทยว่า “น้ำต้นทุน” ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการบริหารจัดการในทุกปีนั้น ไทยมีปริมาณน้ำอย่างจำกัด ไม่ว่าจะเป็นน้ำจากเขื่อน จากอ่างเก็บน้ำ โดยแต่ละปีจะมีอยู่ประมาณ 60,000-70,000 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีแนวโน้มลดลงมากกว่าที่จะเพิ่มขึ้น จึงเป็นโจทย์สำคัญว่าจะทำอย่างไรจึงจะลดการสูญเสียได้

ปัญหาการสูญเสียอันดับแรกมาจากระบบชลประทานของไทยเป็นระบบเปิด คือเป็นการขุดคลองส่งน้ำ ทำให้เกิดการระเหยของน้ำ ทำให้เราสูญเสียทรัพยากรน้ำค่อนข้างมาก

ถ้าหากเริ่มต้นทำเป็นระบบส่งน้ำแบบปิด เรียกว่า“water grid” คือการส่งน้ำทางท่อ การสูญเสียน้อยมาก เปรียบเทียบกันคือส่งน้ำทางท่อสูญเสียน้ำไป 3% แต่ถ้าเราส่งน้ำในระบบเปิดแบบปัจจุบันอาจจะสูญเสียถึง 20-30% เนื่องจากไทยเป็นพื้นที่เขตร้อนอยู่แล้ว น้ำก็ระเหยไปหมด ถ้าส่งน้ำทางท่อ สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายของท่อเข้าไว้ด้วยกันเป็น “water network” หรือระบบเครือข่ายที่สามารถสูบน้ำไป-กลับระหว่างอ่างเก็บน้ำได้

“พอมีระบบแบบนี้แล้ว ถามว่าจะบริหารจัดการอย่างไร กรณีน้ำแล้ง ด้วยน้ำส่วนใหญ่ของทั้งประเทศมีปริมาณมากที่สุดคือภาคเหนือ รองลงมาก็อีสาน ทั้งสองภาคนี้เป็นหัวใจหลักของไทยเลย ในปี 2548 เป็นปีที่แล้งอย่างรุนแรง แทบไม่มีน้ำใช้เลย เพราะปริมาณน้ำในประเทศสูญเสียไปเยอะมาก ก็เกิดความคิดว่าจะนำน้ำจากเพื่อนบ้านเอามาเติมในเขื่อนผ่านโครงข่าย water network”

ตัวย่างเช่น น้ำจากแม่น้ำสาละวิน ประเทศเมียนมา ทำอย่างไรให้น้ำไปเติมในเขื่อนภูมิพลได้ นั่นหมายความว่าต้องทำโครงข่ายดึงน้ำจากสาละวินเข้ามาที่แม่น้ำยวม ตอนนั้นศึกษาสองเส้นทางดึงเข้ามาเติมที่แม่น้ำยวม หรือดึงเข้าที่แม่น้ำเมย แล้วทำอาคารยกน้ำเติมเข้าไปในเขื่อนภูมิพล ซึ่งปัจจุบันโครงการนี้ทำแล้ว กำลังเจาะทำอุโมงค์ผันน้ำเข้าไป เพื่อให้มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด คาดว่าจะใช้เวลา 3-4 ปีกว่าจะเสร็จ อันนี้เป็นโครงการนำร่อง คือรัฐบาลเดินมาถูกแล้วว่าควรนำน้ำมาเติม ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าน้ำในเขื่อนภูมิพลไม่สามารถใช้ได้ทั้งหมด เพราะเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าหลักของประเทศ มีน้ำที่ใช้ไม่ได้หรือ dead stock อยู่ 2,500 ล้านลูกบากศ์เมตร ต้องมีน้ำจำนวนนี้อยู่ตลอดเวลา แล้วถ้าต้องการจะใช้ให้ได้ ก็ต้องดึงน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทดแทน

อีกเส้นทางจากฝั่งลาวเป็นการผันน้ำจากแม่น้ำงึมเข้ามาในภาคอีสาน อย่างปีนี้ น้ำท่วมที่ จ.อุบลราชธานี แต่จริงๆ ก็มีน้ำแล้งก่อนหน้านั้น กล่าวคือ ตามสถิติภาคอีสานมีน้ำแล้งมากกว่าน้ำท่วมอยู่แล้ว จากการสำรวจหลายรอบ ได้ข้อมูลว่าแม่น้ำงึม ปกติจะมีน้ำทิ้งต่อวัน 11 ล้านลูกบากศ์เมตร เรียกว่าทิ้งลงแม่น้ำโขงไปเฉยๆ เลย ไม่ได้ใช้งานอะไรเลย ตรงนี้ต้องไปเจรจากับทางลาวว่าสามารถนำข้ามมาใช้งานที่ฝั่งไทยได้หรือไม่ เพื่อนำมาเติมผ่านห้วยหลวง อีกเส้นก็ผ่านแม่น้ำชี-แม่น้ำมูล แล้วไปเติมที่เขื่อนอุบลรัตน์ในกรณีที่เผชิญน้ำแล้ง ซึ่งตอนนี้โครงการห้วยหลวง-น้ำงึม กำลังดำเนินการอยู่เหมือนกันโดยกรมชลประทาน แต่ยังไม่สมบูรณ์

“จริงๆ แล้วจากการคำนวณ เราต้องการน้ำ 112 ลูกบากศ์เมตรต่อวินาที แต่ตอนนี้สูบได้เพียง 12 ลูกบากศ์เมตรต่อวินาที เพราะโครงการยังไม่เสร็จ คงต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน ดังนั้นการนำน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านมาเติมในเขื่อนของไทยเพื่อแก้ปัญหาน้ำแล้ง ตอนนี้ก็มี 2 โครงการนี้”

ระบบ “Water Complex”

นายอรรถเศรษฐ์กล่าวต่อไปว่า ในกรณีของ “น้ำท่วม” ประเทศไทยสามารถใช้ระบบท่อดังกล่าวสูบกลับที่แม่น้ำโขง กลับไปที่แม่น้ำสาละวินเหมือนเดิม จากระบบท่อส่งน้ำจะต้องเป็นทางที่ผันน้ำออกไปได้

“นี่คือการลงทุนในระบบส่งน้ำแบบปิดและต้องเชื่อมโยงกัน ในอดีตไม่ได้มองถึงระบบเหล่านี้ เราปล่อยให้น้ำไหลแบบธรรมชาติ ไหลตามแรงโน้มถ่วงของมัน ไม่เคยเอาระบบหรือเทคโนโลยีเข้าไปจัดการ”

พร้อมกล่าวต่อว่า “จากสายพระเนตรยาวไกลของ ร.9 คือการสร้างแก้มลิง(อ่าง-เขื่อนกักน้ำ)ขนาดกลางค่อนข้างเยอะในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหามากที่สุดของประเทศ แต่คำถามคือแล้วจะทำอย่างไรต่อไป เพราะไม่ใช่ว่าทุกอ่างเก็บน้ำจะมีปริมาณน้ำหรือความจุเท่ากัน บางอ่างอาจจะมีน้ำเยอะ บางอ่างอาจจะไม่มีน้ำเลย สิ่งหนึ่งที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นเลยคือเราไม่สามารถจะโยกน้ำไปมาระหว่างกันได้ จึงเป็นที่มาของคำว่า water grid และ water network คือ ถ้าสมมติว่าเรามีอ่างเก็บน้ำกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ต้องทำอย่างไรให้มันเชื่อมต่อกัน เอาน้ำในอ่างที่มีมากไปเติมอ่างที่มีน้ำน้อย เพราะอ่างที่มีน้ำมากก็ดันออกไปยังอ่างที่มีน้ำน้อย ต้องบริหารจัดการน้ำแบบนี้ ในปัจจุบันน้ำเดินทางเดียว โดยไหลจากเหนือลงใต้หมด แต่เราไม่สามารถเอาน้ำจากใต้ขึ้นเหนือได้ เพราะมันเป็นระบบเปิด แต่พอมันเป็นระบบปิด เราสามารถดึงตามเส้นท่อไปเติมได้หรือระบายออกได้

นายอรรถเศรษฐ์อธิบายต่อว่า ระบบ “water complex” คือระบบการนำน้ำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตัวอย่างเช่น น้ำในโรงงานอุตสาหกรรม หากพัฒนาเป็นน้ำ qualified water สามารถเอากลับมาใช้หล่อเย็นหรือใช้ในอุตสาหกรรมได้หลายรอบมากขึ้น จากเดิมที่เป็นน้ำดิบ เขาใช้ทีเดียวก็ต้องทิ้งออกไป แต่ถ้าเอามาทำใหม่แทนที่จะใช้ครั้งเดียวก็วนกลับมาใช้ได้หลายครั้ง แบบนี้มันช่วยลดการใช้น้ำต้นทุนลง หรือการกรองน้ำเค็มเป็นน้ำจืดด้วยระบบ RO(Reverse Osmosis)ตอนนี้ในหลายที่ เช่น ที่เกาะสมุย ต้นทุนถูกลงอย่างมาก ก็ควรจะเริ่มคิดว่าจะบริหารจัดการน้ำกันอย่างไร

“กรณีน้ำที่กลับมาใช้ใหม่ในโรงงาน รัฐต้องลงทุน เราต้องมองว่าโครงสร้างพื้นฐานแบบนี้มันเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลัก อย่างกรณีโครงการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี รัฐต้องลงทุนทำโครงสร้างพื้นฐานขาย เช่น ถ้าคุณจะซื้อน้ำดิบใช้ได้ครั้งเดียวรัฐขาย 10 บาท แต่ถ้าซื้อน้ำดีอาจจะขาย 30 บาทแต่ใช้ได้ 5-6 ครั้ง นี่คือรัฐต้องลงทุนก่อน เพื่อจูงใจให้คนไปลงทุนในอีอีซี บางครั้งแล้วเอกชนลงทุนเองก็ไม่คุ้มต้องให้รัฐลงทุนพื้นฐานให้ เอกชนก็ต้องมองความคุ้มทุนอยู่แล้ว ซึ่งเรื่องนี้รัฐต้องศึกษาแล้วว่าควรวางระบบแบบนี้ทั้งประเทศ เพื่อให้มีการนำน้ำกลับมาใช้ได้หลายรอบ

“ระบบน้ำสองท่อ” ทำเพื่ออะไร

นายอรรถเศรษฐ์กล่าวต่อไปว่าอีกระบบที่น่าสนใจคือ “ระบบน้ำสองท่อ” เพื่อให้นำน้ำกลับมาใช้ให้มากที่สุด ซึ่งปกติแล้วจากสถิติคิดง่ายๆ คนเราจะใช้น้ำประมาณ 200 ลิตรต่อวัน และเป็นการใช้น้ำชะล้างแล้วทิ้งไปในระดับที่สูงมาก ขณะที่น้ำที่ใช้บริโภคหรือดื่มไม่มากนัก นั่นหมายความว่าน้ำในการใช้น้ำชะล้างพวกนี้เราเอากลับมาใช้ใหม่ได้ เพียงแค่เอาไปบำบัดแล้วเอาไปรดน้ำต้นไม้ ล้างรถ ฯลฯ โดยการแยกท่อของน้ำที่ผ่านการบำบัดและน้ำประปาออกจากกัน

“จริงๆ โครงการนี้มามานาน หลายอาคารใช้อยู่ วิธีการคือเอาน้ำเสียที่ชำระล้างไปบำบัด แล้วกลับมาใช้ใหม่อีกเส้นท่อหนึ่ง ท่อหนึ่งเป็นท่อระปา พอใช้แล้วเอาไปบำบัดแล้วส่งกลับมาอีกท่อหนึ่งที่ไม่ได้ใช้น้ำเพื่อการบริโภค เป็นลดการใช้น้ำต้นทุนได้ สมมติบริโภค 50 ลิตร ทิ้ง 150 ลิตร แบบนี้อาจจะไม่ใช่ต้องนำกลับมาใช้ได้ทั้งหมดก็ได้ เอาแค่ 100 ลิตร ก็เยอะแล้ว โครงการแบบนี้ทำได้ง่าย ผมว่าต่อไปกำหนดเป็นเงื่อนไขในการขอ EIA สร้างอาคาร คอนโดมีเนียม บ้านให้มีเงื่อนไขนี้ ระบุเอาไว้เลย โครงสร้างพื้นฐานนี้ต้องทำ รัฐต้องมีคนมาใส่ใจเป็นเรื่องเป็นราว ไม่ใช่มาแก้ปลายเหตุกันไป รัฐอาจจะสนับสนุนเรื่องเหล่านี้ เช่น การทำแก้มลิงเล็กๆในบ้าน ส่งเสริมให้คนติดตั้งแทงก์น้ำในบ้าน สมมติหนึ่งบ้านมีแทงก์น้ำ 1,000 ลิตรหรือ 1 ลูกบาศก์เมตร กรุงเทพมหานครมี 6 ล้านหลังคาเรือน เท่ากับมีแก้มลิง 6 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคนที่ทำระบบสองท่อ รัฐให้มาตรการจูงใจ เช่น ลดหย่อนภาษีเพื่อกระตุ้นให้เขาทำ เป็นต้น”

พร้อมกล่าวต่อว่า “คนไทยพอได้ยินเรื่องน้ำรีไซเคิลก็ไม่อยากใช้ มักจะกลัว จริงๆ มันไม่ได้มีอะไรเลย สิงคโปร์ก็ทำเหมือนกัน แต่ไม่เรียกว่ารีไซเคิล เรียกว่า “new water” หรือเป็นน้ำใหม่ อารมณ์คนมันก็ไม่เหมือนกันแล้ว เขาใช้น้ำที่ใช้แล้วมาบำบัดเหมือนกัน แต่พอเรียกชื่อต่างกันบริบทก็ไม่เหมือนกัน แต่ถ้าวันหนึ่งเราบอกว่าเลิกใช้คำว่ารีไซเคิล คนอาจจะเปลี่ยนก็ได้ ของพวกนี้เทคโนโลยีมันทดสอบในห้องทดลองหมดแล้ว กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้”

แนะดู “อีสเทิร์นซีบอร์ด” โมเดล

นายอรรถเศรษฐ์กล่าวย้อนไปถึงที่มาของของแนวคิดดังกล่าวว่าเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2535 ตั้งแต่ก่อตั้งอีสวอเตอร์ขึ้นมาตามมติ ครม. (คณะรัฐมนตรี) เพื่อจัดการน้ำภาคตะวันออกให้นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่นั่น ไม่ให้เกิดการแย่งน้ำและแบ่งกันให้ชัดเจนว่าส่วนไหนคือน้ำอุตสหากรรม ส่วนไหนน้ำเพื่อการเกษตร จนส่งผลให้ภาคตะวันออกเป็นภาคเดียวที่ไม่ค่อยมีปัญหาท่วมแล้งเท่าไหร่เมื่อเทียบกับที่อื่นๆ เพราะมีการบริหารจัดการแบบระบบเส้นท่อ

“อย่างที่เล่าว่าน้ำต้นทุนของไทยมีจำกัด ในภาคตะวันออกมันก็จำกัดเหมือนกัน อ่างเก็บน้ำที่ใช้อยู่ เช่น อ่างเก็บน้ำประแส อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำดอกกาย อ่างเก็บน้ำบางพลัด มีการทำเส้นท่อเชื่อมต่อหากัน ในพื้นที่ก็เกิดประปาชุมชน เพราะน้ำในเส้นท่อเป็นน้ำคุณภาพที่ดีแล้ว จากเส้นท่อน้ำจากประแสมาเติมหนองปลาไหล ต่อมาได้ขยายวงเชื่อมเส้นท่อเข้าหากัน สามารถโยกน้ำไปมาได้(ดูภาพประกอบ) แต่โครงข่ายที่มีเป็นโครงข่ายทางเดียว สิ่งที่คาดหวังคือว่าจากฝายท่าลาด(ฉะเชิงเทรา) เชื่อมต่อเขื่อนสียัด เป็นโครงข่าย แล้ววนกลับมาเข้า”ประแส” ได้ก็จะวงเดียวกัน ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับคือแถบปราจีนบุรีได้รับผลประโยชน์หมด นี่เป็นโครงข่ายเล็กๆ แต่ถ้าเอาตัวอย่างนี้ไปขยายทำในทุกภาค แล้วค่อยมาเชื่อมกันทั้งประเทศ แบบนี้จะเกิดความยั่งยืนในอนาคต

นายอรรถเศรษฐ์เล่าว่า “ตอนนั้นเริ่มต้นทำโครงการขึ้นมาคือ เริ่มจากสร้าง water grid เดินท่อส่งน้ำในภาคตะวันออกทั้งหมดประมาณ 400 กิโลเมตรเหมือนท่อส่งก๊าซ ท่อส่งน้ำมันของ ปตท. ต่อมาพอเจอปัญหาวิกฤติแล้งในปี 2548 เป็นวิกฤติเดียวที่ภาคตะวันออกเจอ ตอนนั้นมาบตาพุดเกือบต้องปิดหมด เพราะมันไม่มีแหล่งน้ำสำรองเลย แล้วเราไม่สามารถโยกน้ำจากที่อื่นมาใช้ได้ ก็ทำโครงการที่ 2 ให้เชื่อมต่อเป็นวงกลม เพื่อดึงน้ำจากที่มีน้ำมาก เอามาช่วย แล้วสุดท้ายก็เกิดพัฒนาเป็น water complex ขึ้นมา”

“มันเกี่ยวพันกันไปหมดเลย เพราะโจทย์คือทำอย่างไรให้น้ำต้นทุนที่มีจำกัดสามารถใช้งานได้เต็มที่ หรือเอาน้ำจากแหล่งอื่นเข้ามา ไม่ว่าจะทำน้ำทะเลเป็นน้ำจืด หรือเอาน้ำไปบำบัดแล้วเอากลับมาใช้ใหม่ได้หลายรอบ ต้องแยกก่อนว่าจะทำอย่างไรให้ใช้ได้หลายรอบ”

พร้อมขายไอเดียต่อว่า “ความคาดหวังผมอันแรกคือทำให้เกิดโครงข่าย water grid มาก่อนของทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่ที่ระยอง ยกตัวอย่างง่ายๆ เขื่อนอุบลรัตน์ต่อกับเขื่อนป่าสักไปถึงเขื่อนขุนด่านปราการชล เชื่อมอ่างเก็บน้ำ หรือเขื่อนพวกนี้เข้าหากันก่อน พอเชื่อมต่อกันได้มันจะโยกย้ายน้ำได้ อันนี้อยากให้รัฐเข้ามาดูตรงนี้ ความคาดหวังที่สองคือทำให้เป็น water network ผมว่าตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปัจจุบันเราไม่ได้เอาโมเดลของอีสวอเตอร์มาเป็นต้นแบบเลย ไม่ได้ดูเลยว่าปัจจัยที่ประสบความสำเร็จของมันคืออะไร แต่ถ้าเรามองย้อนกลับไป เราจะเห็นว่ารัฐบาลตอนนั้นได้วางแผนเอาไว้ถูกต้องแล้ว แต่เราไม่ได้ต่อยอดไปที่อื่นเลย ดังนั้นถ้าสามารถต่อยอดและเชื่อมกันได้ ก็ทำให้การบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศยั่งยืนอย่างแท้จริง ซึ่งหลายประเทศใช้ระบบนี้”

นายอรรถเศรษฐ์ตั้งคำถามเสียงดังๆว่า “ตอนนี้พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี รัฐตั้งใจให้เป็นเมืองใหม่ แล้วจะเอาน้ำที่ไหนมาใช้ ในเมื่อน้ำต้นทุนก็มีเท่าเดิม ทุกวันนี้อีสท์วอเตอร์ขายน้ำให้อุตสาหกรรมที่มีอยู่ก็ปริ่มๆ ไม่ได้เหลือขายให้อีอีซี แม้จะบอกว่าเป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ไม่ต้องใช้น้ำเยอะ อุตสาหกรรมต้องใช้น้ำหมด ไม่มีอุตสาหกรรมไหนที่ไม่ต้องหล่อเย็น ต้องใช้น้ำหมด ต่อให้เป็นไฮเทค สิ่งที่ตามมาก็คือต้องมีโรงไฟฟ้า แล้วโรงไฟฟ้าจะอยู่ได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซ หรือจะเป็นการผลิตไฟฟ้าอื่นๆ ต้องใช้น้ำอยู่แล้ว แล้วอีอีซีขนาดโครงการใหญ่กว่าอีก จะเอาน้ำที่ไหน สนามบินขยายอีกจะเอาน้ำที่ไหนใช้ ต่อไปเมืองพัทยาโตขึ้น ตอนนี้น้ำก็ไม่พอแล้ว จึงเป็นคำถามว่าต่อไปจะเอาน้ำที่ไหน คือเมืองโตขึ้น แต่น้ำต้นทุนมีเท่าเดิม”

ดังนั้นจึงกลับมาที่เรื่องการลงทุนทำโครงสร้างพื้นฐานของระบบส่งน้ำ “คือผมต้องพูดแบบนี้ว่า ถ้าหากต้องอุดหนุนช่วยเหลือน้ำท่วมน้ำแล้ง ก็ต้องช่วยตลอด วันนี้เราต้องเริ่มคิดลงทุนครั้งเดียว แล้วค่อยๆลดการอุดหนุนลงเรื่อยๆ จะได้โครงการที่ยั่งยืนกว่า และเป็นวิธีการที่ยั่งยืนกว่า เพราะเดี๋ยวท่วมเดี๋ยวแล้ง แต่ในด้านการบริหารจัดการน้ำ ไม่ได้จัดการอะไรเลย ถ้ามีการจัดการ คงไม่ท่วม คงไม่แล้ง เพราะภัยพิบัติเหล่านี้ไม่ได้ลดน้อยลงเลย มีแต่จะมากขึ้นด้วยซ้ำ”

ตัวอย่างที่ทำสำเร็จบ้างแล้ว ก็มีให้เห็นอยู่ ตรงนี้มันน่าจะขยายผล อย่าไปดูแค่งบลงทุนที่อาจจะสูง น่าคิดต่อไปว่าเราต้องทำอะไร ระบบนี้เหมือนท่อส่งน้ำมัน ปตท.ยังส่งน้ำมันไปเชียงใหม่ได้ แล้วทำไมจะส่งน้ำไปไม่ได้ ความสลับซับซ้อนมันก็ง่ายกว่าด้วย ไม่ได้ไวไฟ ไม่ได้อันตรายอะไร มันคือน้ำ ต่อไปการแย่งน้ำก็จะไม่เกิดขึ้น การทะเลาะอะไรก็ไม่เกิดขึ้น มันส่งตรงไปตามแนวท่อ แรงดันน้ำก็เท่ากันทุกพื้นที่อีก ประชาชนทั่วประเทศมีน้ำประปาใช้ทั่วถึง

พร้อมย้ำว่า “ที่กล่าวมานี่เป็นแค่แนวไอเดียความคิดในการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย”

สร้างเขื่อนกั้นน้ำเค็มรุก – เพิ่มน้ำต้นทุนที่ใช้ได้

นายอรรถเศรษฐ์กล่าวว่า อีกประเด็นที่สำคัญและอาจจะไม่ถูกพูดถึงมากนักคือความจำเป็นต้องมีปริมาณน้ำส่วนหนึ่งที่ต้องรักษาระบบนิเวศอยู่ แต่ปัจจุบันแม่น้ำเจ้าพระยา น้ำทะเลมันรุกเข้าไปสูงสุดถึง 57 กิโลเมตร เลยจังหวัดอยุธยาไปแล้ว ซึ่งอนาคตมองว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างอันตรายกับผู้บริโภค ต้องแยกแยะก่อนว่าถ้าน้ำเค็มรุกขึ้นไปมากๆ น้ำใช้ทำการเกษตรไม่ได้ อุปโภคบริโภคก็ไม่ได้ แม้แต่แม่น้ำบางปะกง ที่ปัจจุบันน้ำเค็มจนสูบน้ำมาใช้ได้เพียงปีละ 2-3 เดือนเท่านั้น

ทางออกหนึ่งที่เป็นไปได้คือสร้างเขื่อนกั้นน้ำเค็ม ในเวลาปกติที่น้ำทะเลไม่หนุนก็ไม่เปิด พอน้ำหนุนสูงก็ยกขึ้นมาให้น้ำทะเลเข้ามา ก็จะใช้น้ำในแม่น้ำสายหลักได้มากขึ้น ญี่ปุ่นเคยมาทำให้เราแต่ก็ไม่ได้เปิดใช้เพราะถูกต่อต้าน จริงๆ มีแนวคิดว่าเราควรทำเขื่อนคร่อมเจ้าพระยา บางปะกง เกาหลีใต้เคยทำคร่อม 40-50 กิโลเมตร ตอนนั้นเขาก็ประท้วงกัน ตอนนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นผลงานไปเลย

ปรับหน่วยงานใหม่ต้องมีอำนาจ

นายอรรถเศรษฐ์กล่าวปิดท้ายไว้ว่า การบริหารการจัดการน้ำในระดับประเทศต้องมีหน่วยงานเฉพาะขึ้นมาดูแล แล้วแบ่งการดูแลบริหารจัดการให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม รักษาระบบนิเวศ และอุปโภคบริโภค ก็ต้องถามว่าหน่วยงานนี้มีอำนาจอย่างแท้จริงไหม หรือมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการสั่งการได้หรือไม่

อย่าง กรมกรมชลประทาน ทำเรื่องน้ำเพื่อการเกษตร แต่ไม่ใช่หน่วยงานจัดการน้ำทั้งประเทศ แต่การบริหารจัดการน้ำต้องมีองค์รวมที่ดูแลต่างหาก ต้องเห็นภาพรวมทั้งประเทศ เมื่อมีหน่วยงานบริหารจัดการน้ำของประเทศแล้ว เขาสามารถสั่งการกรมชลประทานได้ มีงบประมาณในการจัดการ แต่ปัจจุบันกรมชลประทานทำหน้าที่นี้เกือบทั้งหมด ทั้งที่ควรดูแลแค่น้ำเพื่อเกษตรกรรม ขณะที่น้ำอุตสาหกรรมก็ไม่มีหน่วยจัดการ มีแค่ภาคตะวันออกที่บริษัทอีสท์วอเตอร์ที่ทำอยู่ แต่จะใช้น้ำก็ต้องไปขอกรมชลฯ เพราะเป็นเจ้าของอ่างเก็บน้ำ

ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำของประเทศต้องมาดูภาพรวมทั้งหมด เพราะความต้องการน้ำ ไม่ได้มีแค่ภาคเกษตรกรรม และภาคเกษตรไม่ใช่ผู้ใช้น้ำทั้งหมดของประเทศ(เกษตรกรรม 66%) ดังนั้นการให้กรมชลประทานดูเรื่องน้ำ ต้องไม่ใช่ดูทั้ง 100% เพราะยังมีความต้องการน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศแล้ว ภาคอุตสาหกรรม การอุปโภคบริโภค

“ส่วนการตั้งหน่วยงานใหม่ถามว่าดีไหม ดี ต้องถามว่ามีอำนาจสั่งการได้หรือไม่ หรือตั้งมาเพื่อรายงานนายกรัฐมนตรีอย่างเดียว แต่ไม่มีอำนาจหรือเปล่า”

นี่เป็นทั้งคำตอบและคำถามทิ้งท้าย ถึงการบริหารจัดการน้ำประเทศไทยแบบจัดเต็มรูปแบบ

  • “อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี” ที่ปรึกษาผู้ว่ากทม. ชวนแกะรอยปัญหา “น้ำท่วมกรุงเทพฯ” จาก “ท่อระบายน้ำ” ถึง “แม่น้ำเจ้าพระยา”
  • แนวทางการบริหารจัดการปรับปรุงคลองระบายน้ำในทางสายกลาง ที่ควรจะเป็น