ThaiPublica > ประเด็นร้อน > โควิด-19 กับ19 นักเศรษฐศาสตร์ > “โควิด-19 กับ 19 นักเศรษฐศาสตร์” : 19 มุมมองสู่ทางรอดประเทศไทย

“โควิด-19 กับ 19 นักเศรษฐศาสตร์” : 19 มุมมองสู่ทางรอดประเทศไทย

15 เมษายน 2020


โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายอันใหญ่หลวงอย่างที่ไม่เคยประสบมาก่อน จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งกระทบรุนแรงและเป็นวงกว้างต่อทั้งการแพทย์ การท่องเที่ยว การบริการ การผลิตอุตสาหกรรม การค้า และการเกษตร กระทบต่อรูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้คน ทั้งคนรวย คนจน คนวัยทำงาน เด็ก และคนชรา นี่อาจเป็นครั้งแรกที่ปรากฏการณ์ใดปรากฏการณ์หนึ่งสามารถจุดประเด็นในทุกมิติได้ในคราวเดียวกันเช่นนี้

การรับมือกับปัญหาที่เรากำลังประสบอยู่นี้จึงจำเป็นต้องผสมผสานแนวคิดจากศาสตร์หลากหลายแขนง และเป็นที่มาของการรวมตัวกันของ 19 นักเศรษฐศาสตร์ไทย คนที่จะมาให้มุมมองและข้อเสนอแนะต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง สาธารณสุข สังคม แรงงาน การศึกษา และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดในวงการวิชาการและในสังคมไทย และตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการมองปัญหาให้ครบด้าน ไม่ตกหล่นด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อนำไปสู่ประสิทธิผลสูงสุดของการวางกลยุทธ์รับมือกับศึกใหญ่ของประเทศในครั้งนี้

เริ่มต้นจาก ดอน นาครทรรพ ที่ฉายภาพให้เห็นถึงความรุนแรงของปัญหาโควิด-19 จาก มุมมองของเศรษฐศาสตร์มหภาค ตั้งแต่ผลกระทบระยะสั้นไปจนถึงการจุดประเด็นให้เห็นถึงการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับบริบทที่จะเปลี่ยนแปลงไปหลังโควิด-19 และชี้ว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน รุนแรงและกว้างขวางเช่นนี้ ทำให้ความช่วยเหลือขนานใหญ่จากภาครัฐเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในระยะสั้นเพื่อประคับประคองให้ประชาชนและภาคธุรกิจสามารถรอดพ้นจากวิกฤตในครั้งนี้ไปได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเปราะบางสูง กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการให้ความช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีข้อจำกัดทางธุรกิจและการเงินเป็นทุนเดิม อีกทั้งยังมีความเชื่อมโยงสูงกับธุรกิจอื่น ๆ

โควิด-19 ไม่เพียงแต่สร้างความท้าทายต่อธุรกิจในภาคเศรษฐกิจจริงเท่านั้น แต่ยังนำมาซึ่งความเสี่ยงเชิงระบบที่เพิ่มขึ้นในภาคการเงินอีกด้วยจากปัญหาสภาพคล่องในระบบการเงิน ณชา อนันต์โชติกุล ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของการดูแลป้องกันไม่ให้ผลกระทบในภาคเศรษฐกิจจริงลุกลามไปเป็นวิกฤตการเงิน ซึ่งจะย้อนรอยกลับมาซ้ำเติมระบบเศรษฐกิจจริงอีกรอบและจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนที่มีทางเลือกน้อยและความเปราะบางในดีกรีที่สูงกว่า พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย อธิบายโครงสร้างของระบบการเงินไทยที่เปลี่ยนไปมากจากในอดีต โดยเฉพาะตลาดทุนที่มีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทำให้ธนาคารกลางจำเป็นต้องออกจากกรอบการทำนโยบายแบบเดิมและใช้เครื่องมือรูปแบบใหม่ในการรับมือกับปัญหาในปัจจุบันได้อย่างทันท่วงที

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตขึ้นอีกในระยะต่อไปจะยังคงมีอยู่ เราจึงจำเป็นต้องใช้บทเรียนในครั้งนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สมประวิณ มันประเสริฐ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างระบบกลไกผ่านสถาบันทางเศรษฐกิจที่มีลักษณะถาวร เพื่อเป็นเครื่องมือเชิงอัตโนมัติที่สามารถตอบสนองได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงทีต่อวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นใหม่ได้อีกครั้ง

นอกจากการรองรับผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจการเงินเป็นการเฉพาะหน้าแล้ว ในฝั่งของมาตรการทางการคลัง อธิภัทร มุทิตาเจริญ เสนอแนะบทบาทของนโยบายภาษีทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ที่สามารถช่วยลดผลกระทบและสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสมในระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดของภาครัฐ ภาวิน ศิริประภานุกูล เสนอให้ภาคเอกชนเองต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน โดยอาศัยการพึ่งพาความช่วยเหลือจากภาครัฐเท่าที่จำเป็นภายใต้โมเดล ‘ร่วมทุกข์ ร่วมสุข’

ด้านการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้ได้ประสิทธิผลสูงสุด จำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจไม่เพียงแต่ศาสตร์ด้านระบาดวิทยาเท่านั้น ความเข้าใจด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมของมนุษย์ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ธานี ชัยวัฒน์ ยกประเด็นที่น่าสนใจถึงธรรมชาติของ ‘ความเหนื่อยล้าทางพฤติกรรม’ ของมนุษย์หากต้องอดทนอยู่กับความไม่สะดวกสบายนาน ๆ พร้อมชี้แนวทางที่จะทำให้การรณรงค์ ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ ได้ผลสำเร็จสูงสุด และเมื่อสถานการณ์การติดเชื้อเริ่มคลี่คลายลงในอนาคต การเตรียมพร้อมสำหรับการเดินเครื่องระบบเศรษฐกิจต่อจะมีความสำคัญในลำดับต่อไป ณัฐวุฒิ เผ่าทวี นำเสนอกลยุทธ์จากการออกจากมาตรการ Lockdown ที่หลายประเทศรวมทั้งไทยดำเนินการอยู่ในขณะนี้ โดยการคำนึงถึงความสมดุลระหว่างผลเสียที่จะเกิดจากการติดเชื้อเพิ่มขึ้น กับผลประโยชน์จากการเปิดให้กิจกรรมเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติมากขึ้น

เมื่อมองในภาพที่ยาวขึ้น นพพล วิทย์วรพงศ์ แนะให้ภาครัฐไม่เพียงแต่ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังต้องมองไปถึงปัญหาด้านสาธารณสุขในระยะถัดไปที่เป็นผลพวงของโควิด 19 ด้วย เช่น ผู้ป่วยโรคจิตเวชจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ การสูญเสียบุคลากรและทรัพยากรทางการแพทย์ และการเตรียมรับกับการระบาดใหญ่ในลักษณะนี้อีกในอนาคต ในขณะที่ สมชัย จิตสุชน เน้นความสำคัญของการวางยุทธศาสตร์รับมือกับโควิดที่จำเป็นต้องผสมผสานทั้งตรรกะพื้นฐานทางสาธารณสุขและเศรษฐศาสตร์หลายแขนงเข้าด้วยกัน ทั้งยังจุดประเด็นเรื่องการใช้ข้อมูลแบบ Big Data เข้ามาช่วยในการออกแบบนโยบายให้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น นฎา วะสี ตอกย้ำความสำคัญของการใช้ข้อมูล แบบจำลองเชิงสถิติ รวมถึงความรู้ทั้งในเชิงวิทยาศาสตร์และศาสตร์ด้านพฤติกรรม เพื่อนำไปสู่การออกแบบและบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สถานการณ์โควิดในครั้งนี้ยังสะท้อนถึงประเด็นสำคัญทางสังคมหลากหลายมิติให้เด่นชัดขึ้น โดยเฉพาะประเด็นด้านความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย กิริยา กุลกลการ มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นได้สร้างบททดสอบความพร้อมสู่โลกการทำงานแห่งอนาคต ทำให้ธุรกิจที่สามารถปรับตัวได้ทันสามารถได้ประโยชน์อย่างมากจากเทคโนโลยีและการเข้าถึงข้อมูล ในขณะที่ชนชั้นแรงงานอาจถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรและปัญญาประดิษฐ์รวดเร็วขึ้น สันติธาร เสถียรไทย เห็นไปในทางเดียวกันว่าโควิด-19 ทำให้โลกอนาคตมาถึงเร็วขึ้น และเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (Digital Divide) ที่ต้องเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจเหตุผลที่แตกต่างกันของแต่ละกลุ่มคนที่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงเครื่องมือดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียมกันเพราะภายใต้วิกฤติโควิดความเหลื่อมล้ำจะกลายเป็นปัญหาของทุกคน

ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาคชี้ให้เห็นว่าโควิดและมาตรการ Social Distancing ไม่เพียงแต่สร้างปัญหาทางเศรษฐกิจแต่ยังทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาและพัฒนาการของเด็กวัยเรียนรุนแรงขึ้น จากความ (ไม่) พร้อมที่แตกต่างกันในการเรียนระยะไกล ด้วยความแตกต่างด้านรายได้ การเข้าถึงเทคโนโลยี สภาพแวดล้อม และด้านโภชนาการ ที่จะส่งผลกระทบต่อการดูแลเด็กที่ต้องเรียนและใช้เวลาอยู่ที่บ้านตลอดเวลา

ธร ปีติดล มองว่าวิกฤตโควิดเผยให้เห็นจุดอ่อนของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี พร้อมเสนอให้มีการสร้างกลไกที่จะเอื้อให้ทุกคนสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ถึงแม้จะมีทุนทางสังคมที่แตกต่างกัน ผ่านระบบรัฐสวัสดิการที่เข้มแข็ง เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา หยิบยกประเด็นความเหลื่อมล้ำและปัญหาความยากจนของประชากรไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทั้งจากภัยแล้งและภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ คนรายได้น้อย แรงงานนอกระบบ และผู้สูงอายุมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ผลกระทบซ้ำเติมจากเหตุการณ์โควิดทำให้ประเทศไทยต้องกลับมาคิดทบทวนโครงข่ายรองรับทางสังคม (Social Safety Net) อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมมากขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ในมุมกลับ ความโชคร้ายจากโควิด-19 สามารถเป็นกระจกเงาสะท้อนให้เราได้ทบทวนและคิดในเชิงบวกจากสิ่งที่เราได้ประสบในครั้งนี้ โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ มองเห็นโอกาสในการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการเกษตรของไทย เพื่อเป็นกลไกรองรับ Shock ที่อาจเกิดกับภาคอุตสาหกรรมได้อีกในอนาคต การไหลกลับของแรงงานสู่ภาคเกษตรยังเป็นโอกาสในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาพลิกโฉมทางการเกษตรไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนขึ้น ขนิษฐา แต้มบุญเลิศชัยชวนพวกเราทุกคนมองให้เห็นประเด็นเชิงบวกในด้านสิ่งแวดล้อม ใช้โอกาสที่หาได้ยากจากการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ทางสังคมและเศรษฐกิจในการตั้งหลักใหม่บนเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง

หมายเหตุ :อ่านบทความคลิกที่ชื่อ จะปรากฏบทความแต่ละท่าน