ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
คงจะเป็นที่ทราบโดยทั่วกันแล้วว่า ประชาชนในหลายประเทศทั่วโลกกำลังถูกกักตัวด้วยนโยบายล็อกดาวน์ ผมและแอนดรูว์ ออสวอลด์ (Andrew Oswald) ศาสตราจารย์ทางด้านเศรษฐศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวอริก (Warwick) ต่างก็เห็นด้วยกันกับนโยบายล้อกดาวน์ หรือนโยบายการกักตัวของรัฐบาลอังกฤษและในอีกหลายๆ ประเทศในขณะนี้ ซึ่งเป็นนโยบายที่มาจากผลงานวิจัด้านระบาดวิทยา จุดประสงค์ก็คือการหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคให้มากที่สุด การทำให้อัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 นั้นลดลงให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
แต่ในขณะเดียวกัน ผลกระทบที่ตามมาจากนโยบายล็อกดาวน์นี้ก็คือความเสียหายที่ใหญ่หลวงมากต่อเศรษฐกิจ ในขณะนี้มีคนตกงานเพราะโควิดหลายล้านคนทั่วโลก มีหลายที่ที่จำเป็นต้องปิดกิจการไปเพราะนโยบายล็อกดาวน์ และอีกไม่นานนัก ถ้าเรายังถูกกักตัวไปเรื่อยๆ เป็นเดือนๆ ล่ะก็ โลกเราจะมีคนตายเพราะความยากจน เพราะเขาไม่มีงานทำเป็นแสนๆ — อาจจะสูงถึงล้านคน — ทั่วโลก
และตราบใดที่เรายังไม่มีวัคซีน และยังไม่มี antibody test ที่เชื่อถือได้ ที่สามารถนำมาตรวจคนใน scale ที่ใหญ่ได้ เราก็จะไม่มีนโยบายใดๆ เลยที่ง่ายต่อการตัดสินใจ ถึงแม้ว่าเราจะสามารถ flatten the curve เรียบร้อยไปแล้ว เพราะไม่ว่าเราจะออกนโยบายอะไรออกมา เราก็จะต้องเสี่ยงกับการสูญเสียด้วยกันทั้งนั้น
ไม่ว่าจะเป็นนโยบายที่ปล่อยให้ทุกๆ คนออกมาใช้ชีวิตเหมือนเดิม (เสี่ยงต่อการเกิดคลื่นลูกที่สองของการระบาด) หรือการยืดการล็อกดาวน์ต่อไปเรื่อยๆ (เสี่ยงต่อความพังพินาศของเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนในระยะยาว)
ผมและแอนดรูว์ก็เลยให้ข้อเสนอ ที่เป็นข้อเสนอของ exit strategy หรือกลยุทธ์ทางออกจากการใช้นโยบายล็อกดาวน์ ดังต่อไปนี้
“เมื่อใดก็ตามที่เราสามารถ flatten the curve เรียบร้อยแล้วนั้น เราควรจะปล่อยประชาชนที่มีอายุ 20-30 ปีที่ไม่ได้พักอาศัยอยู่กับพ่อแม่ออกจากการกักตัวก่อนคนอื่น”
หลังจากนั้น หลังจากที่เรามี antibody test เรียบร้อยแล้ว เราค่อยปล่อยคนที่มีภูมิคุ้มกันออกมาเป็นระลอกๆ ไป
ทั้งนี้ก็เพราะว่า อัตราการเสียชีวิตของคนที่ยังมีอายุน้อย — ประมาณ 20-30 ปี — นั้นต่ำมากๆ เมื่อเทียบกันกับคนที่มีอายุสูง (อัตราการเสียชีวิตจากโควิดสำหรับคนที่มีอายุ 20-30 ปี = 3 คนจากคนติดเชื้อ 10,000 คน ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำมากเมื่อเทียบกันกับคนอายุ 60 ปี = 220 คนจากคนติดเชื้อ 10,000 คน)
พูดง่ายๆ ก็คือโอกาสที่คนที่มีอายุน้อยจะเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิดนั้นมีอยู่น้อยมาก
ทางด้านเศรษฐกิจ กลุ่มคนที่มีอายุ 20-30 ปีเป็นกลุ่มที่สูญเสียมากที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ คนที่มีอายุน้อยเหล่านี้ส่วนใหญ่ต้องตกงาน ส่วนใหญ่ไม่มีเงินออม ส่วนใหญ่ต้องเช่าบ้านคนอื่นเขาอยู่ ส่วนใหญ่บ้านไม่ได้รวย และถ้าพวกเขาไม่มีงานทำต่อไปเรื่อยๆ โอกาสที่พวกเขาจะต้องเผชิญกับความยากจนก็จะเพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อยๆ
ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มคนที่มีอายุ 20-30 ปีนี้ก็เป็นกลุ่มคนที่ถึงแม่ว่าจะมีกฎหมายออกมาให้เขากักตัวเองอยู่กับบ้าน ก็คงจะมีหลายคนที่จะเลือกไม่ทำตามกฎอยู่ดี
เราทั้งสองคำนวณออกมาว่า ในสหราชอาณาจักรมีคนที่มีอายุ 20-30 ปีที่ไม่ได้พักอยู่กับพ่อแม่อยู่ประมาณ 4.2 ล้านคน และกว่าสองล้านกว่าคนที่ทำงานอยู่ในภาคเอกชน ซึ่งถ้าพวกเขาสามารถกลับไปทำงานได้ หรือสามารถก่อตั้งกิจการให้กับตัวเองได้ สามารถจ่ายภาษีได้ เราสามารถอัดฉีดเงินให้กับเศรษฐกิจได้ถึง 13 พันล้านปอนด์ด้วยกัน
ยิ่งไปกว่านั้น คนที่มีอายุมากกว่า 30 ปียังสามารถช่วยผลักดันเศรษฐกิจได้จากที่บ้านด้วยการควบคุม ดูแล ให้คำแนะนำคนที่มีอายุน้อยกว่าที่ออกไปทำงานได้จากที่บ้านตัวเองผ่าน Skype ผ่าน Zoom
แล้วเราจะดูแลและบังคับให้คนทำตามนโยบายนี้ยังไง เราทั้งสองคิดว่าทางรัฐก็ยังต้องออกกฎหมายมาบังคับให้คนที่มีอายุ 20-30 ปีไม่ไปสุงสิงหรือพบเจอกับคนที่มีอายุมากกว่า และตำรวจสามารถจับและปรับคนที่ฝ่าฝืนกฎหมายนี้ได้
และเป็นเรื่องที่แน่นอนอยู่แล้วที่นโยบายนี้จะส่งผลทำให้คนที่มีอายุมากกว่า 30 ปีเกิดความอิจฉาริษยาได้ ซึ่งมันก็เป็นหน้าที่ของทางภาครัฐที่จะต้องออกมาอธิบายถึงเหตุผลของนโยบายนี้ให้กลุ่มคนส่วนใหญ่ฟัง และให้ความหวังกับคนที่ยังไม่ถูกปล่อยจากการกักตัว
แต่นโยบายนี้ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะมีหลายคนที่จะเสียชีวิตอยู่ (เราคำนวณไว้ว่าอาจจะมีคนในกลุ่มที่มีอายุ 20-30 ปีที่อาจจะต้องเสียชีวิตเพราะติดเชื้อถึง 630 คนด้วยกัน) แต่เราก็ยังเชื่อว่าผลลัพธ์ของนโยบายนี้จะมีจำนวนคนเสียชีวิตน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการปล่อยทุกคนออกจากการกักตัวหรือการล็อกดาวน์ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอวัคซีน ซึ่งอาจจะนานไปจนถึงกลางปี 2021 ก็เป็นได้