ThaiPublica > ประเด็นร้อน > โควิด-19 กับ19 นักเศรษฐศาสตร์ > COVID-19 เมื่อการล้อมรั้วระบบการเงินเป็นเรื่องจำเป็น และไม่ได้เป็นการช่วยแค่คนรวย

COVID-19 เมื่อการล้อมรั้วระบบการเงินเป็นเรื่องจำเป็น และไม่ได้เป็นการช่วยแค่คนรวย

15 เมษายน 2020


ณชา อนันต์โชติกุล

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกที่เกิดจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ครั้งนี้ ส่อเค้ารุนแรงกว่าวิกฤติเศรษฐกิจทุกครั้งที่ผ่านมาในช่วงชีวิตของพวกเราแทบทุกคน กระทบต่อทั้งการดำเนินชีวิตและเงินในกระเป๋าของทุกคนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง รัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกจึงต่างพากันผลักดันมาตรการช่วยเหลือเยียวยาชุดใหญ่ ไทยเองก็เช่นกัน ซึ่งส่วนหนึ่งของมาตรการที่ออกมาล่าสุด คือ มาตรการด้านการเงิน ทั้งมาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ SMEs และมาตรการดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน

สิ่งที่หลายคนตั้งข้อสงสัยคือทำไมภาครัฐต้อง ‘อุ้ม’ ตลาดการเงินรวมไปถึงภาคธนาคารด้วย เป็นการอุ้มบริษัทของคนรวย แทนที่จะมาดูแลประชาชนตาดำๆ ที่ได้รับผลกระทบหนักกว่าด้วยซ้ำ

COVID-19 สร้างความเสี่ยงเชิงระบบ

ต้องยอมรับก่อนว่า COVID-19 และมาตรการปิดเมืองโดยภาครัฐสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อทุกภาคส่วนอย่างฉับพลันโดยที่ไม่มีใครตั้งตัวได้ทัน ธุรกิจได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้าอาจจะมากน้อยแตกต่างกันไป รายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจจู่ๆ ก็ดูย่ำแย่ลงไปในทันที ทั้งๆ ที่ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้มาจากการขาดความระมัดระวังในการทำธุรกิจ

ในสถานการณ์ที่ความเสี่ยงและความไม่แน่นอนสูงลิ่วเช่นนี้ ย่อมทำให้นักลงทุนรวมทั้งสถาบันการเงินเองต้องคิดหนักมากขึ้นที่จะลงทุนเพิ่มหรือให้กู้ยืมกับบริษัทต่างๆ เมื่อไม่มีใครอยากจะรับความเสี่ยงในเวลานี้ นั่นก็หมายถึงการทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการจัดสรรเงินทุนและกระจายความเสี่ยง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบบการเงินนั้นกลับหยุดชะงักลง

ธุรกิจที่ขายของไม่ได้เหมือนเก่าเพราะถูกกระทบจากการปิดเมือง ก็ยิ่งต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อให้ยังเลี้ยงลูกน้องอยู่ได้ จ่ายค่าน้ำค่าไฟ ค่าหนี้ค้างจ่ายให้กับซัพพลายเออร์ได้ หรือเพื่อหันไปลงทุนทำอย่างอื่นทดแทนในช่วงที่ขาดรายได้จากกิจการหลัก แต่ก็จะไม่สามารถทำได้เพราะกู้เงินไม่ได้จากการที่ระบบการเงินทำงานไม่เป็นปกติ

ปัญหาสภาพคล่องตึงตัวของธุรกิจนี้ หากลากยาวไปก็อาจทำให้ธุรกิจจำเป็นต้องปิดตัวลง ล้มละลาย ต้องเลิกจ้างพนักงาน กระทบต่อชีวิตคนทำงานและครอบครัว เจ้าหนี้ทางธุรกิจไม่ได้รับเงินคืน และส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่กันต่อๆ ไปจากความเชื่อมโยงในห่วงโซ่เศรษฐกิจ เพียงเพราะจากสภาพคล่องทางการเงินหยุดชะงัก ซึ่งอันที่จริงแล้วควรจะเป็นปัญหาเพียงชั่วคราว

การที่ shock ครั้งนี้กระทบเศรษฐกิจรุนแรงและเป็นวงกว้างมาก ทำให้ปัญหานี้ไม่ใช่เป็นปัญหาเฉพาะกับบางธุรกิจหรือครัวเรือนไม่กี่ราย แต่เรียกว่าแทบจะทั้งระบบเศรษฐกิจเลยก็ว่าได้

ผลกระทบย้อนกลับระหว่างภาคการเงินกับภาคเศรษฐกิจจริง

ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ หากปัญหานี้ทำให้เกิดเป็นปัญหาในภาคการเงินลุกลามเป็นวงกว้างแล้ว จะส่งผลกระทบย้อนกลับมายังภาคเศรษฐกิจจริงในระลอกถัดไป (feedback loop) และจะยิ่งซ้ำเติมให้ธุรกิจและลูกจ้างแรงงานทั้งหลายประสบความยากลำบากยิ่งขึ้นไปอีก ดังที่นักเศรษฐศาสตร์และผู้ทำนโยบายทั่วโลกได้เรียนรู้บทเรียนราคาแพงนี้จากวิกฤติการเงินโลกในปี 2008

feedback loop หรือกลไกความเชื่อมโยงระหว่างภาคเศรษฐกิจจริงและภาคการเงินนั้น ทำงานผ่านหลายช่องทาง ทั้งผ่านราคาสินทรัพย์ที่ลดลงจากสภาวะตลาดการเงินที่อยู่ในช่วงขาลง สถานะงบดุลของธุรกิจและครัวเรือนที่ย่ำแย่ลงจากรายได้ที่หายไปและภาระหนี้ที่ยังค้างคาอยู่ อีกทั้งพฤติกรรมของนักลงทุนที่กลัวความเสี่ยงมากขึ้นยามที่ความไม่แน่นอนยังอยู่สูง ทั้งหมดนี้ทำให้ธุรกิจและครัวเรือนเข้าถึงสินเชื่อยากขึ้นและมีสภาพคล่องลดลงไปในยามที่ต้องการมันมากที่สุด ยิ่งทำให้ภาวะวิกฤติทั้งในภาคการเงินและเศรษฐกิจจริงดำดิ่งลึกลงไปอีก

วิกฤติการเงินกระทบชนชั้นกลางมากกว่าคนรวย

ไม่ใช่เพียงแต่เศรษฐกิจโดยรวมที่จะถูกกระทบหนักจากวิกฤติการเงินเท่านั้น ในแง่ของการกระจายของผลกระทบ งานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ทั้งจาก IMF และ World Bank รวมถึงนักเศรษฐศาสตร์ในสถาบันชั้นนำหลายต่อหลายชิ้น ต่างมีข้อสรุปในทางเดียวกันว่า วิกฤติทางการเงินส่งผลกระทบต่อชนชั้นกลางและระดับรากหญ้ามากกว่าคนรวย จากรายได้ที่ลดลงในสัดส่วนที่มากกว่าและการถูกเลิกจ้างในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ โดยเฉพาะชนชั้นกลางในเขตเมืองที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการหดตัวของภาคการผลิตและภาคบริการ

เพราะเหตุนี้ การป้องกันไม่ให้ผลกระทบจาก COVID-19 ลุกลามกลายเป็นวิกฤติในภาคการเงินจึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งยวด เพื่อรักษา ‘ระบบ’ เศรษฐกิจและการเงินให้คงอยู่ได้ มิใช่การที่จะปกป้องอุ้มชูคนรวยบางกลุ่ม

เพราะหากไม่ตัดไฟเสียแต่ต้นลม ปล่อยให้ลุกลามเป็นวงกว้างแล้ว ผลกระทบหนักจะตกอยู่กับคนที่มีทางเลือกน้อยและมีความเปราะบางทางการเงินมากกว่าด้วยซ้ำ

จริงอยู่ที่ในยามปกติ ผู้ทำนโยบายควรปล่อยให้ภาคธุรกิจและภาคการเงินเป็นไปตามกลไกตลาด ควบคู่ไปกับการเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการสะสมของความเสี่ยงในระบบมากจนเกินไป แต่ในยามวิกฤติที่ประเทศกำลังเผชิญกับ shock ขนาดมหึมาอยู่ในขณะนี้ ไม่ใช่เรื่องที่เป็นปกติ กลไกในระบบการเงินเกิดติดขัด ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

ดังนั้น นอกจากบทบาทในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงแล้ว ภาครัฐยังจำเป็นต้องดูแลรักษาเสถียรภาพของระบบโดยรวมให้คงอยู่ได้ สร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกฝ่ายว่าเหตุการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติได้อีกครั้งหลังมรสุมผ่านพ้นไป เพราะหากระบบล้มพังไปเสียแล้ว ก็ยากที่ใครจะอยู่รอด