ThaiPublica > ประเด็นร้อน > โควิด-19 กับ19 นักเศรษฐศาสตร์ > ภาคเกษตรไทย อยู่ตรงไหนในสมการแก้วิกฤติโควิด-19

ภาคเกษตรไทย อยู่ตรงไหนในสมการแก้วิกฤติโควิด-19

15 เมษายน 2020


โสมรัศมิ์ จันทรัตน์

วิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีรากฐานมาจากปัญหา externality ทางเศรษฐศาสตร์ เพราะการติดเชื้อของคนบางกลุ่ม ส่งผลสู่คนในวงกว้าง วิกฤติครั้งนี้จึงถือเป็นวิกฤติของมวลมหาประชาชน ที่ต้องแก้ด้วยความร่วมมือของทุกคน เพราะการไม่ปฏิบัติตามมาตราการสาธารณสุขของคนเพียงบางกลุ่ม ก็อาจส่งผลในวงกว้างทำให้เราไม่สามารถควบคุมการระบาดไว้ได้

และถึงแม้ว่าวิกฤติครั้งนี้จะจบลงไม่ได้หากปัญหาการแพร่ระบาดยังไม่หมดไป แต่มาตรการทางสาธารณสุขในการแก้ไขปัญหาที่มี externality เช่นนี้ ก็มีต้นทุนทางเศรษฐกิจมหาศาล หากเราไม่คำนึงถึงความสูญเสียของระบบเศรษฐกิจและไม่ได้ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง ปัญหาปากท้องของคนเพียงบางกลุ่มก็อาจลุกลามมาทำให้การระบาดไม่จบสิ้นดังที่เราได้เห็นตัวอย่างในหลายประเทศมาแล้ว

กุญแจสำคัญของการแก้วิกฤติครั้งนี้จึงอยู่ที่ความร่วมมือของทุกๆคน การ ‘fine tune’ ของหลักสาธารณสุขและเศรษฐศาสตร์ และมาตราการทางเศรษฐกิจที่ทั่วถึง

ความเหลื่อมล้ำกับอุปสรรคในการแก้วิกฤติโควิด-19 ของประเทศไทย

ระบบเศรษฐกิจของไทยประกอบไปด้วยหน่วยเศรษฐกิจขนาดใหญ่เพียงไม่กี่ราย และรายเล็กรายน้อยจำนวนมาก (SME กว่า 3 ล้านราย และผู้ใช้แรงงานรวมถึงเกษตรกรกว่า 38 ล้านคน) หากเปรียบประเทศเหมือนร่างกาย เราจะมีบริษัทขนาดใหญ่เป็นอวัยวะ และมีหน่วยเศรษฐกิจรายย่อยจำนวนมหาศาลเป็นหลอดเลือดที่คอยเชื่อมต่อและหล่อเลี่ยงการทำงานของอวัยวะทั่วร่างกาย เมื่อเราติดไวรัส ถึงจะรักษาอวัยวะสำคัญไว้ได้ แต่หากเราปล่อยให้เส้นเลือดทั่วร่างกายอ่อนแอลง ร่างกายก็ไม่อาจสู้กับไวรัสได้

ประเทศเรามีความเหลื่อมล้ำเป็นเดิมพันที่คอยจะสร้างโรคแทรกซ้อนให้ร่างกายสู้กับไวรัสได้ยากขึ้น เพราะหน่วยเศรษฐกิจขนาดเล็กจำนวนมาก มักได้รับผลกระทบจากมาตรการ social distancing และการปิดเมืองมากกว่าขนาดใหญ่ เพราะมักมีสถานะทางการเงินที่ตึงตัวอยู่แล้ว มีสายป่านสั้นกว่า เข้าถึงตัวช่วยในการแก้ไขปัญหาได้ยากกว่า และเป็นกลุ่มแรกๆที่มักตกหล่นจากความช่วยเหลือภาครัฐ เพราะมักอยู่นอกระบบและเจอปัญหา digital divide

แล้วภาคเกษตรไทย อยู่ตรงไหนในสมการแก้วิกฤติโควิด-19

ภาคเกษตรอาจถูกมองว่าเป็นหน่วยเศรษฐกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากวิกฤติโควิด-19 เพราะราคาพืชผลที่สูงขึ้น และความต้องการสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นในยามคนตื่นตระหนก และอาจเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในการรองรับและแก้ปัญหาคนว่างงานในเมืองตามทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ Harris-Todaro model

แต่แนวคิดเหล่านี้อาจเป็นเพียงมายาคติ หากเรายังไม่สามารถเข้าใจผลกระทบของวิกฤติครั้งนี้ต่อครัวเรือนเกษตรได้ดีพอ เพราะกลุ่มเกษตรกรมักตกหล่นจากการสำรวจวิกฤติโควิด-19 ของหลายสำนัก ที่มักทำ online และผ่าน social media

ทีมวิจัยของเราได้เริ่มเก็บข้อมูลรายสัปดาห์จากเกษตรกรทางโทรศัพท์ โดยกลุ่มตัวอย่างถูกสุ่มมาจากเกษตรกรที่ลงทะเบียนเกษตรกว่า 6 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ โดยจากผลเบื้องต้น เราพบทั้งความท้าทายและโอกาสของภาคเกษตรไทยภายใต้วิกฤติครั้งนี้

ห้ามิติที่วิกฤติโควิด-19 กระทบกลุ่มเกษตรกรไทย

ในทางสาธารณสุข ครัวเรือนเกษตรก็มีความเสี่ยงจากการติดเชื้อ เนื่องจากนโยบายสาธารณสุขทำให้เกิดการโยกย้ายของแรงงานในเมืองและต่างประเทศกลับไปในพื้นที่จำนวนมาก โดย 1 ใน 5 ของตำบลที่เราสัมภาษณ์มีแรงงานที่ย้ายกลับไป

และที่สำคัญครัวเรือนเกษตรส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน เนื่องมาจาก

  • ประการที่หนึ่ง มาตรการสาธารณสุขทำให้ทำเกษตรไม่ได้ เช่น การ curfew ส่งผลให้กรีดยางไม่ได้
  • ประการที่สอง 90% ของครัวเรือนเกษตรยังพึ่งพิงรายได้นอกภาคเกษตร (ซึ่งเฉลี่ยเกิดครึ่งของรายได้ทั้งหมด) และวิกฤติโควิด-19 ทำให้ครัวเรือนเกษตร 43% สูญเสียรายได้จากการรับจ้าง และ 30% จากการทำธุรกิจอื่นๆ
  • ประการที่สาม 54% ของครัวเรือนยังพึ่งพิงเงินโอนจากแรงงานที่เข้าไปทำงานในเมืองและต่างประเทศ มาช่วยชำระหนี้และใช้จ่ายในยามที่ไม่มีรายได้ เมื่อมาตรการภาครัฐทำให้แรงงานในเมืองต้องตกงานเป็นจำนวนมาก ครัวเรือนกลุ่มดังกล่าวต้องขาดรายได้ส่วนนี้ไป และ 10% ยังต้องส่งเงินไปช่วยเหลือ
  • ประการที่สี่ ครัวเรือนเกษตรส่วนใหญ่มีภาวะทางการเงินที่ตึงตัวมากอยู่แล้ว เพราะมีหนี้สูง (เฉลี่ย 420,000 บาทต่อครัวเรือน จาก 3 แหล่ง) และมีการออมต่ำ รายได้ที่ลดลงเนื่องมาจากวิกฤติโควิด-19 ทำให้ 23% ไม่สามารถชำระหนี้คืนได้
  • ประการที่ห้า 10% ของครัวเรือนเกษตรเป็นครอบครัวฟันหลอ จึงเผชิญกับข้อจำกัดในการสอนลูกหลานในยามที่โรงเรียนต้องปิดลง และอาจส่งผลในระยะยาวต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของครัวเรือนได้

นอกจากนี้ ปัญหาภัยแล้งที่กำลังส่งผลกระทบเกือบ 80% ของพื้นที่เกษตรไทย ข้อจำกัดในการเข้าถึงชลประทานใน 74% ของพื้นที่ ข้อจำกัดเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินใน 40% ของครัวเรือน และข้อจำกัดในการเข้าถึงเงินทุนของครัวเรือนเกษตรที่ส่วนใหญ่มีภาระหนี้สินมากอยู่แล้ว เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของภาคเกษตรในการรองรับปัญหาว่างงานในเมือง และเป็น growth engine ให้กับประเทศในระยะยาว

สามศักยภาพ จากวิกฤติโควิด-19 สู่การพัฒนาภาคเกษตรไทย

วิกฤติโควิต-19 ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความเข้มแข็งของ social network หรือเครือข่ายทางสังคมของสถาบันชุมชนและสถาบันเกษตรกรได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะในการสร้างความร่วมมือของคนในชุมชนในการทำมาตราการสาธารณสุข เราพบว่า 84%ของครัวเรือนมีความตระหนัก เข้าใจ เข้าถึงและปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ อย่างเคร่งครัด

ผลของวิกฤติโควิด-19 ยังทำให้มีกำลังแรงงานที่ว่างงานและพร้อมทำงานเฉลี่ย 1 คนต่อครัวเรือนทั่วประเทศ และส่วนใหญ่ก็มีอายุน้อย หากเราสามารถแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างอื่นๆได้ แรงงานเหล่านี้อาจเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันภาคเกษตร แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และการเข้าสู่สังคมสูงวัยของภาคเกษตรไทยได้

นอกจากนี้ เรายังเห็นถึงศักยภาพของสังคมเกษตรไทยในการใช้ digital technology โดยพบว่าครัวเรือนเกษตรเกือบทั้งหมดที่เราสัมภาษณ์มีการลงทะเบียนโครงการเราไม่ทิ้งกัน (โดย 76% มี smartphone และ 87% ใช้ internet)

จากวิกฤติโควิด-19 สู่การปฏิรูปภาคเกษตรไทยนโยบายเกษตรควรมุ่งไปที่ใด

สี่แนวทางเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของภาคเกษตรในการเป็น growth engine ให้กับประเทศในระยะยาวคือ

1) Priority แรกคือต้องมุ่งเยียวยาและเสริมสภาพคล่องให้ครัวเรือนเกษตร โดยมาตรการเยียวยาควรทำแบบมีเงื่อนไข เช่น workfare ที่เกษตรกรต้องทำงาน (เช่น ช่วยโครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาศักยภาพพื้นที่เกษตรและชุมชน) หรือเข้าอบรมเรียนรู้ (เพื่อพัฒนาการใช้เทคโนโลยีและการตลาด)เพื่อแลกกับเงินเยียวยา

2) เร่งส่งเสริมศักยภาพแรงงานภาคเกษตรและฉวยโอกาสจากแรงงานที่กำลังว่างงาน โดยมุ่งเลือกจูงใจให้แรงงานอายุน้อยหันมาทำเกษตรมากขึ้น และส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยี และการทำการตลาด เช่น e-commerce

3) ถือโอกาสเร่งปลดล๊อคศักยภาพของทรัพยากรภาคเกษตร โดยแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างเพื่อให้เพิ่มพื้นที่ให้เกษตรกรส่วนใหญ่ทำเกษตรได้ตลอดทั้งปี โดยเน้นไปที่การบริหารจัดการน้ำและที่ดิน และแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร

4) เร่งสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยมุ่งส่งเสริมความหลากหลายของ ‘ผู้เล่น’ ในระบบนิเวศน์ สร้างตลาดสินค้าเกษตร ควบคู่ไปกับงานนอกภาคเกษตร เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ชุมชนเกษตร