ThaiPublica > ประเด็นร้อน > โควิด-19 กับ19 นักเศรษฐศาสตร์ > เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมจะช่วยให้ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องได้อย่างไร

เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมจะช่วยให้ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องได้อย่างไร

15 เมษายน 2020


ธานี ชัยวัฒน์

การเว้นระยะห่างทางสังคม เป็นมาตรการสำคัญในการยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งคนในสังคมต่างก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แม้ว่าพวกเขาต้องยอมอดทนที่ถูกจำกัดเสรีภาพ แต่ก็เพื่อผลดีต่อผู้อื่นและต่อตัวพวกเขาเองในอนาคต และหนึ่งในมาตรการสำคัญของการเว้นระยะห่างทางสังคมก็คือ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”

อย่างไรก็ตาม แม้คนจะรู้ว่าการอยู่บ้านจะช่วยลดการแพร่เชื้อ ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมที่มีเหตุผลและพึงกระทำ (rationality) แต่เมื่อเวลาผ่านไป อาจทำให้ผู้คนประสบกับภาวะล้าจากการทำตามมาตรการ จนเลือกไม่ทำต่อ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม (irrationality) ทั้งนี้ก็เพราะความอดทนหรือความไม่สะดวกสบายมีต้นทุนเสมอ

ในทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ความล้าที่เกิดจากการดำเนินมาตรการอยู่บ้านอย่างต่อเนื่อง เรียกว่า “ความเหนื่อยล้าทางพฤติกรรม” (behavioral fatigue) ซึ่งหมายถึงความเบื่อหน่ายที่เกิดจากการต้องทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นระยะเวลานาน จนเริ่มจะทนปฏิบัติตามไม่ไหว นั่นคือ…

ต้นทุนของความอดทนจะค่อยๆ สูงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ขณะที่ผลได้จากการไม่แพร่เชื้อที่คาดว่าจะได้รับในอนาคตจะยังคงเหมือนเดิม และมีจุดหนึ่งที่ต้นทุนสูงกว่าผลได้ในที่สุด

เช่นเดียวกับกรณีของคนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีความตั้งใจจะเลิกดื่ม ช่วงแรกอาจจะเลิกดื่มได้ตามที่ตั้งใจไว้ แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป ก็อาจจะทนไม่ไหว ต้องกลับมาดื่มบ้าง แต่จะดื่มต่อเนื่อง ดื่มเป็นครั้งๆ หรือหักดิบได้ ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะของฟังก์ชันผลได้และต้นทุนของแต่ละคน

ดังนั้น หากภาครัฐต้องการให้คนอยู่บ้านได้นานๆ ก็คงต้องดำเนินมาตรการบางอย่าง โดยหลักการสำคัญก็คือ ต้องยกระดับผลได้ และลดต้นทุนของการอยู่บ้าน เมื่อเปรียบเทียบกับการออกนอกบ้าน ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมก็อาจมีข้อเสนอแนะอย่างน้อย 3 วิธี

วิธีแรกคือ ภาครัฐควรใช้กลไกการกระตุ้นเตือน (reminder) เพื่อกระตุ้นให้เกิดความคาดหวังต่อผลได้ในอนาคตของคนที่สูงขึ้น (increase of expected value) เช่น รัฐบาลออสเตรเลียได้ส่ง SMS เพื่อย้ำเตือนเกี่ยวกับคำแนะนำทางการแพทย์อยู่เสมอ หรืออาจใช้วิธีที่กระตุ้นให้คนรู้สึกว่าได้ลงทุนไปมากแล้ว (sunk cost fallacy) เช่น Behavioral Insight Team ของสหราชอาณาจักร ได้ส่งข้อความให้กับกลุ่มที่กักตัวสังเกตอาการ 7 วันว่า “Congratulate yourself and others in your home for reaching the halfway point.” เพื่อกระตุ้นให้รู้ว่ามาถึงครึ่งทางแล้ว

วิธีที่สองคือ การใช้ความตั้งใจที่ชัดเจน (implementation intention) ในการวางแผน โดยใช้เทคนิค “ถ้าทำ X แล้วจะทำ Y ต่อ (if…, then…)” ต่อเนื่องจนครบทั้งวัน ยกตัวอย่างเช่น ทำงานถึง 11.00 น. จะกินข้าวเที่ยง จากนั้น 13.00 น. จะฝึกภาษาอังกฤษ เพื่อให้ผลได้จากการออกนอกบ้านมีช่วงเวลารบกวนความคิดเราน้อยลง และหากกำหนดกิจกรรมที่มีประโยชน์ และสามารถประสบความสำเร็จในเวลาที่กำหนดได้ ก็จะเพิ่มอรรถประโยชน์จากการอยู่บ้านเข้าไปอีก แนวทางนี้ แดเนียล คาห์เนมาน (Daniel Kahneman) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เคยศึกษาไว้ และภาครัฐอาจจะประชาสัมพันธ์แคมเปญสนับสนุนการใช้ความตั้งใจที่ชัดเจนเมื่ออยู่บ้านขึ้น เพื่อลดโอกาสในการออกนอกบ้านของคนในอนาคต

นอกจากนี้ การที่คนจำนวนมากชอปปิงไม่หยุดเมื่ออยู่บ้าน ก็เพราะการชอปปิงเป็นการเพิ่มอรรถประโยชน์ของการอยู่บ้าน เพื่อทดแทนการออกนอกบ้านรูปแบบหนึ่ง หากลองนำวิธีการใช้ความตั้งใจที่ชัดเจนไปใช้ ก็อาจจะช่วยลดการชอปปิงลงได้เช่นกัน แต่วิธีนี้ก็จะทำให้เศรษฐกิจหดตัวลงกว่านี้ไปอีกเช่นกัน

วิธีที่สามคือ บรรทัดฐานทางสังคม (social norm) จะมีส่วนช่วยให้คนทำตามเป้าหมายได้มากขึ้น เพราะพฤติกรรมคนเราได้รับอิทธิพลจากการกระทำหรือคำพูดจากสังคมและคนรอบข้างด้วย โดยหากเรารู้ว่าคนอื่นๆ ในสังคมยังคงใช้ชีวิตปกติ เราก็จะไม่อยากอยู่บ้านมากขึ้น แต่ถ้าเรารู้ว่าคนอื่นอยู่บ้าน เราก็อยากจะอดทนอยู่บ้านได้มากขึ้น ดังนั้น ภาครัฐควรประชาสัมพันธ์หรือเอ่ยถึงสถิติของคนที่ปฏิบัติตามมาตรการให้สังคมรู้ว่ามีคนที่พยายามทำเช่นเดียวกับตัวเขาเองมากมายขนาดไหน

จากข้อเสนอที่ได้กล่าวข้างต้น ภาครัฐสามารถนำข้อเสนอทั้ง 3 ประการนี้ของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมไปใช้เพื่อช่วยให้คนในสังคมก้าวผ่านความเหนื่อยล้าทางพฤติกรรมไปด้วยกันได้ อย่างไรก็ตาม การจำกัดระยะเวลามาตรการให้สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้จะเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้สังคมเดินหน้าต่อไปได้

ขอบคุณ ชนลักษณ์ ชัยศรีลักษณ์ ที่ช่วยหาข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ

อ้างอิง

Burton, T. (2020, March 26). Retrieved from Financial Review:

Burd, H., & Coleman, C. (2020, April 8). Retrieved from Behavioural Insights Team:

Bird, A., Hunt, J., & Atherton, K. (2020, March 26). Retrieved from Behavioural Insights Team:

Perez, M. (2020). Retrieved from ideas42:

Tantia, P., & Perez, M. (2020). Retrieved from ideas42: