ThaiPublica > คอลัมน์ > พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ กับเศรษฐศาสตร์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ กับเศรษฐศาสตร์

4 พฤศจิกายน 2016


บทความนี้กลั่นกรองเนื้อหาจากบทความ aBRIDGEd ฉบับเต็ม เรื่อง “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ กับเศรษฐศาสตร์” เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

 “ที่มา: ภาพโดย นายทินภัทร ภัทรเกียรติทวี โพควา โปรดักชั่น ( https://goo.gl/5KyIkQ)
“ที่มา: ภาพโดย นายทินภัทร ภัทรเกียรติทวี โพควา โปรดักชั่น ( https://goo.gl/5KyIkQ)

เศรษฐศาสตร์เข้า ‘ท่า’ ฉบับพิเศษจาก ๙ นักเศรษฐศาสตร์ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ต่อพระราชกรณียกิจ พระปรีชาสามารถทางด้านเศรษฐศาสตร์ และการพัฒนาประเทศไทย

๑. ในหลวงรัชกาลที่ ๙ กับเศรษฐศาสตร์

ปิติ ดิษยทัต

ตลอดระยะเวลา ๗๐ ปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้วยพระวิริยอุตสาหะเพื่อวางรากฐานการพัฒนาที่มั่นคงให้กับประเทศ สิ่งที่เป็นประจักษ์ คือ พระปรีชาสามารถในการเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่สมบูรณ์แบบและล้ำยุคสมัย หัวใจสำคัญของวิชาเศรษฐศาสตร์ คือ การจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพ เพื่อบรรลุอรรถประโยชน์สูงสุด ผ่านการสร้างระบบแรงจูงใจที่เหมาะสม เป็น ๓ องค์ประกอบที่ตอบโจทย์ ทำอะไร ทำไม และอย่างไร ของการบริหารเศรษฐกิจ พระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ในวิชาเศรษฐศาสตร์สามารถเห็นได้ผ่านองค์ประกอบทั้ง ๓ ดังนี้

ในด้านการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ พระองค์ท่านได้ทรงเป็นแบบอย่างในการนำความรู้และประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาประยุกต์เข้ากับนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต โดยใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ในการบริหารจัดการน้ำ นอกจากการสร้างเขื่อนและฝายเพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้อย่างพอเพียงแล้ว ยังมีพระราชดำริให้นำน้ำที่กักเก็บเอาไว้มาใช้ประโยชน์ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า หรือในปรัชญาเกษตรทฤษฎีใหม่ที่เน้นการบริหารจัดการความเสี่ยงของครัวเรือนเกษตรกร โดยวางกรอบการจัดการที่ดิน ที่อยู่ และน้ำในพื้นที่อย่างสมดุล

ในขณะเดียวกัน ทรงมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพของปัจจัยการผลิตทั้งดิน น้ำ และที่สำคัญ คือ คุณภาพของคน โดยทรงตระหนักถึงความจำเป็นในการพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศ ผ่านโครงการในพระราชดำริด้านสาธารณสุขหลายโครงการ รวมทั้งการพระราชทานทุนการศึกษาอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง อีกทั้งมีพระวิสัยทัศน์กว้างไกลในการผลักดันกระบวนการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง ดังสะท้อนในพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่นิสิตผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ว่า

“แม้ท่านจะได้เรียนสำเร็จตามหลักสูตรจนได้รับปริญญาแล้วก็ดี ขอให้เข้าใจว่านี่เป็นเพียงชั้นต้นของการศึกษาเท่านั้น ท่านจงพยายามศึกษาและฝึกฝนตนเองต่อไป เพราะสรรพวิทยาการด้านสาขาวิทยาศาสตร์ทั้งหลายนั้น การทดลองค้นคว้าช่วยให้ได้ความรู้ใหม่ๆ ขึ้นมาอยู่เสมอ ถ้าท่านไม่ศึกษาเพิ่มเติมไว้ ต่อไปไม่ช้าท่านจะล้าสมัย”

ในด้านการบรรลุอรรถประโยชน์สูงสุด พระองค์ทรงนิยามอรรถประโยชน์ในความหมายกว้างว่า เป็นการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นอย่างสมดุลทั้งด้านวัตถุ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเน้นความยั่งยืนมากกว่าการหวังผลระยะสั้น ทรงมีสายพระเนตรยาวไกลว่าการพัฒนาที่สมบูรณ์นั้นต้องไม่เพียงมุ่งเน้นแต่การสร้างรายได้ แต่ต้องคำนึงถึงการที่จะทำให้ “ชีวิตของแต่ละคนมีความปลอดภัย มีความเจริญ มีความสุข” เป็นแนวทางการพัฒนาที่มีการแบ่งสรรผลประโยชน์ของการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดความสมานฉันท์ในสังคม และความชอบธรรมของระบบเศรษฐกิจ

ในด้านระบบแรงจูงใจ พระองค์ทรงประยุกต์หลักปรัชญาของพระพุทธศาสนาในการวางกรอบการปฏิบัติที่ยึดทางสายกลาง เน้นความเอื้ออารี สามัคคี การมีส่วนร่วม เพื่อสร้างความหมายและความสุขที่แท้จริงของผู้คนบนพื้นฐานของความพอดีและการรู้จักควบคุมตนเอง เป็นการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและส่งเสริมประชาสังคมให้เป็นสถาบันที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ ดังพระราชดำรัสเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ว่า “สังคมใดก็ตาม ถ้ามีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ด้วยความมุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน สังคมนั้น ย่อมเต็มไปด้วยไมตรีจิตมิตรภาพ มีความร่มเย็นเป็นสุข น่าอยู่”

เศรษฐศาสตร์แท้จริงแล้วเป็นศาสตร์ที่ศึกษาพฤติกรรมและปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ เอกลักษณ์ของพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ คือ การวางปรัชญาเศรษฐศาสตร์ที่ยึด ‘คน’ เป็นที่ตั้ง โดยตระหนักถึงความแตกต่างในระดับปัจเจกชนและความสำคัญของบริบทที่แต่ละคนเผชิญ การที่ทรงยึดมั่นให้คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ได้นำไปสู่กระบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมที่สร้างสรรค์ภายใต้ความสัมพันธ์ที่สมดุลระหว่างคนกับเทคโนโลยี คนกับสิ่งแวดล้อม คนกับสังคม และที่สำคัญคนกับตนเอง

ทั้งหมดนี้แสดงถึงพระอัจฉริยภาพที่ทรงเป็นทั้งนักเศรษฐศาสตร์ทฤษฎี ที่มีพระราชดำริและหลักการในการบริหารเศรษฐกิจที่สะท้อนสัจธรรมของมนุษย์ นักเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ ที่สอบทานทฤษฎีและปรับปรุงองค์ความรู้อย่างไม่หยุดนิ่งจากการศึกษาพัฒนาการที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละพื้นที่ และนักเศรษฐศาสตร์ปฏิบัติ ที่นำปรัชญาและข้อมูลเชิงประจักษ์มาดำเนินการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงและยั่งยืนภายใต้โครงการในพระราชดำริกว่า ๔,๐๐๐ โครงการ เป็นความมหัศจรรย์และความยิ่งใหญ่ในวิชาเศรษฐศาสตร์ที่จะถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์โลกและเป็นแรงบันดาลใจแก่ปวงชนชาวไทยตลอดไป

๒. ศาสตร์พระราชากับการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน

สมชัย จิตสุชน

‘ศาสตร์พระราชา’ คือแนวทางการพัฒนาของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่มีความลุ่มลึก รอบด้าน มองการณ์ไกล และเน้นความยั่งยืนมายาวนานก่อนที่ประชาคมโลกจะตื่นตัวในเรื่องนี้ เป็นแนวทางการพัฒนาที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกหมู่เหล่า องค์ประกอบของศาสตร์พระราชา คือ การศึกษาและสุขภาพ การเพิ่มผลิตภาพการผลิต การค้นคว้าวิจัย การบริหารความเสี่ยง การอนุรักษ์ธรรมชาติ และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แต่ละองค์ประกอบล้วนมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกผู้คนโดยเฉพาะคนจนและผู้ยากไร้

ความโดดเด่นของศาสตร์พระราชา คือแนวปฏิบัติที่มีกระบวนการที่มีเอกลักษณ์ คำนึงถึงบริบททางภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ และสังคมของแต่ละพื้นที่ แก้ปัญหาแบบองค์รวม ให้ความสำคัญกับความรู้สึกเป็นเจ้าของโครงการของคนในพื้นที่ ตามหลักการทรงงานข้อที่ว่าการพัฒนาต้อง ‘ระเบิดจากภายใน’

ตัวอย่างเรื่องเอกลักษณ์การทำงานตามแนวศาสตร์พระราชา คือ การแบ่งเป้าหมายเป็น ๓ ขั้นตอน ได้แก่ เพื่ออยู่รอด (Survival) พึ่งตนเอง (Self-reliance) และยั่งยืน (Sustainable) ดังผู้ที่ได้ตามเสด็จพระราชดำเนินเล่าว่า พระองค์ท่านมักทรงตรัสถามชาวบ้านว่า ‘พอมีพอกิน’ หรือไม่ แสดงว่าพระองค์ท่านทรงมีลำดับขั้นการพัฒนาที่ชัดเจน และยังหมายถึงการเอาใจใส่ต่อคนจนที่สุด (Poorest of the poor) ซึ่งมักถูกละเลยโดยภาครัฐและกลไกตลาด

อีกความโดดเด่นของศาสตร์พระราชา คือ เน้นการค้นคว้าวิทยาการเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาการด้านน้ำ ด้านดิน การเพาะพันธุ์ใหม่ๆ การแปรรูป เป็นต้น เป็นสิ่งที่นักพัฒนาในยุคหลังเห็นตรงกันว่า คือองค์ประกอบที่สำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งย่อมหมายถึงการแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืนด้วยเช่นกัน

ส่วนการอนุรักษ์ธรรมชาตินั้น นอกจากจะเป็นการสร้างความยั่งยืนของระบบนิเวศแล้ว ยังมีส่วนช่วยคุณภาพชีวิตของคนยากคนจนที่ต้องพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การหาของจากป่า และที่สำคัญ ยังช่วยลดผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ที่มักกระทบชีวิตของคนยากจนมากกว่าคนรวย และการที่ศาสตร์พระราชาเน้น ‘ปลูกคน’ ก่อน ‘ปลูกป่า’ นั้นเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดและยั่งยืนกว่ามาตรการปลายทางที่ทำกันอยู่ทั่วไป

ในด้านปัญหาความเหลื่อมล้ำ การยกระดับคุณภาพชีวิตคนจนย่อมมีผลทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลงโดยตรง และในอีกด้านหนึ่ง หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่สอนให้คนมีความซื่อสัตย์ สุจริต หากปฏิบัติตามจะมีส่วนสำคัญในการลดความร่ำรวยที่ไม่ชอบธรรม เช่น ร่ำรวยจากการฉ้อราษฎร์บังหลวง ผูกขาด เอารัดเอาเปรียบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำในไทยสูงมากติดอันดับโลกเช่นทุกวันนี้

หลายประการที่กล่าวถึงข้างต้นล้วนแฝงไว้ด้วยแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนของศาสตร์พระราชา แต่ที่ละเลยไม่กล่าวถึงไม่ได้ คือ การที่พระองค์ท่านทรงให้ความสำคัญกับมิติของจิตใจและทัศนคติการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น พระวิริยอุตสาหะที่พระองค์ท่านทรงปฏิบัติตลอดรัชกาลนั้นเป็นแบบอย่างที่หาค่ามิได้ของพระราชหฤทัยที่แน่วแน่และมุ่งมั่น

สิ่งที่ประเทศไทยควรทำ คือ น้อมนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งสร้างความรับรู้ในระดับสากล โดยเฉพาะด้านกระบวนการทำงานที่มีเอกลักษณ์ เป็นองค์รวม และคำนึงถึงบริบทของพื้นที่

๓. กษัตริย์แห่งนวัตกรรมกับการพัฒนาการเกษตรและชุมชนไทย

โสมรัศมิ์ จันทรัตน์

“…การเกษตรนี่มีความสำคัญยิ่ง ถ้าไม่มีการเกษตรก็เกือบจะพูดได้ว่า เราจะต้องตายกันหมด เพราะจะไปอาศัยอาหารวิทยาศาสตร์ก็รู้สึกว่าลำบากอยู่และกินไม่ลง แต่ว่าทำไมคนถึงนึกว่า การเกษตรนี่เป็นสิ่งด้อย ที่ไม่สำคัญ ทั้งๆ ที่ความจริงเราต้องอาศัยการเกษตรเพื่อชีวิตของเรา …การเกษตรนั้นไม่ใช่เฉพาะการเอาเมล็ดผักไปหยอดในร่อง แล้วมันจะขึ้นมาเป็นผลผลิตที่เหมาะสมได้ หากแต่ต้องอาศัยวิชาการอย่างอื่นทุกด้าน ตั้งแต่การหยอดเมล็ดพันธุ์ลงไปในร่อง จนกระทั่งให้ฝักหรือสิ่งนั้นงอกขึ้นมาเป็นประโยชน์ได้ ต้องอาศัยทุกอย่างในชีวิตของคน คือทุกสาขาของความรู้ที่ต้องผ่านมา…”

พระบรมราโชวาทในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ข้างต้นสะท้อนถึงการทุ่มเทพระวรกายและพระสติปัญญาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ในการบูรณาการหลักเศรษฐศาสตร์ร่วมกับศาสตร์อื่นๆ เพื่อทรงศึกษา ทรงทดลอง และทรงเข้าพระราชหฤทัยอย่างถ่องแท้ถึงแนวทางการพัฒนาการเกษตร ซึ่งเป็นรากฐานของการพัฒนาครัวเรือน ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ภายใต้เงื่อนไขการใช้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ตลอดระยะเวลา ๗๐ ปีที่ทรงครองราชย์ พระองค์ทรงพลิกฟื้นพื้นที่เกษตรหลายล้านไร่ทั่วประเทศให้อุดมสมบูรณ์และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยกว่า ๑ ใน ๕ ให้กินดีอยู่ดี และพร้อมที่จะแข่งขันในระบบตลาดได้ ผ่านโครงการในพระราชดำริกว่า ๔,๐๐๐ โครงการและนวัตกรรมที่จดสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยกว่า ๑๐ ชิ้น พระบรมราโชวาทและผลการศึกษาของพระองค์ท่านได้สร้างหลักคิดและแนวปฏิบัติที่สำคัญในการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนใน ๒ มิติ คือ

เกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน การพัฒนาที่ยั่งยืนเริ่มจากเกษตรกรต้องพึ่งพาตนเองได้ โดยการทำเกษตรแบบผสมผสานที่เน้นหลักการจัดสรรทุน (ทรัพยากร) ที่มีและการบริหารจัดการความเสี่ยงในไร่นา โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นที่ตั้ง ถัดมาต้องพึ่งกันและกันได้ในชุมชนโดยการรวมกลุ่ม เช่น สหกรณ์ เพื่อต่อยอดในการเข้าถึงแหล่งทุน การผลิต การตลาด การแบ่งปันความเสี่ยง และการเรียนรู้ต่างๆ โดยกลุ่มองค์กรเกษตรจะเป็นสถาบันหลักในการพัฒนาและสร้างเสริมทุนสังคม เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจชุมชนให้ได้ ก่อนที่จะขยายสู่ขั้นการลงทุน การใช้งานวิจัยและพัฒนามาสร้างธุรกิจชุมชนอย่างครบวงจรและแข่งขันในระบบตลาดอย่างมีความพร้อม โดยมีผลประโยชน์สูงสุดกระจายกลับคืนแก่คนในชุมชน

การใช้นวัตกรรม การวิจัยและพัฒนาที่ผ่านการทดลองจนเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมมาเป็นเครื่องมือ ด้วยพระอัจฉริยภาพ พระองค์ทรงแสดงให้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า นวัตกรรมที่ถูกสร้างสรรค์จากความคิดที่เรียบง่าย ประหยัด ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น สามารถสร้างคุณอนันต์ต่อการเกษตร เช่น กังหันน้ำชัยพัฒนา โครงการฝนหลวง การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ โครงการแกล้งดิน เป็นต้น

การวิจัยและพัฒนาของพระองค์เน้นการบูรณาการความรู้จากหลายศาสตร์วิชา และมีการทดลองหรือโครงการนำร่องในที่เล็กๆ ให้เห็นผลก่อนจะนำไปใช้ โดยทรงใช้พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเป็นสนามทดลองและศึกษาความคุ้มค่าของนวัตกรรมเพื่อการเกษตรและแนวคิดในการพัฒนาองค์กรและธุรกิจเกษตรต่างๆ พระองค์ทรงใช้โครงการในพระราชดำริ เช่น โครงการชั่งหัวมัน โครงการหลวง และศูนย์ศึกษาการพัฒนา ๖ แห่งทั่วประเทศ เป็นแหล่งผสมผสานวิชาการและการปฏิบัติ โดยเป็นแหล่งศึกษาทดลองเพื่อแสวงหาวิธีการพัฒนาที่เหมาะสมสอดคล้องและใช้ได้จริงในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน เป็น ‘ต้นแบบ’ ของความสำเร็จที่จะเป็นแนวทางให้แก่พื้นที่อื่นๆ เป็นแหล่งความรู้ของเกษตรกร และเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนถ่ายทอดประสบการณ์และแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างมีส่วนร่วมของเกษตรกรและทุกภาคส่วน

คงจะดีไม่น้อยหากทุกภาคส่วนที่จะได้น้อมนำปรัชญาและแนวปฏิบัติของพระองค์ไปทบทวนการวางนโยบาย และการพัฒนาการเกษตรไทยในบริบทปัจจุบันว่าได้ก้าวกระโดดจนอาจเกิดความเปราะบางหรือไม่ และหาทางแก้ไขตามหน้าที่ความรับผิดชอบของตนให้ดีที่สุด เพื่อการพัฒนาการเกษตรและชุมชนไทยอย่างยั่งยืนสมดังพระราชปณิธาน

๔. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์

“…งานด้านการศึกษาเป็นงานที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชาติ เพราะความเจริญและความเสื่อมของชาตินั้น ขึ้นอยู่กับการศึกษาของพลเมืองเป็นข้อใหญ่ จึงต้องจัดการศึกษาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น…”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ณ วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร ๑๒ ธันวาคม ๒๕๑๒

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเพื่อให้ประชาชนมีทักษะ สามารถพึ่งพาตนเอง และจัดการปัญหาของส่วนรวมได้ ดังจะเห็นได้จากพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาการศึกษา ทรงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาทุกระดับทุกประเภท โดยมีตัวอย่างมากมายตั้งแต่สมัยต้นรัชกาล พระองค์ทรงมีความห่วงใยเป็นพิเศษในชีวิตและอนาคตของเยาวชน โดยเฉพาะกลุ่มที่มาจากครอบครัวที่เสียเปรียบทางด้านเศรษฐกิจและสังคม อยู่ในพื้นที่ชนบท หรือในท้องถิ่นชายแดนห่างไกลการคมนาคม

นอกจากงานด้านการศึกษาแล้ว พระองค์ยังทรงริเริ่มโครงการในพระราชดำริหลายโครงการที่สร้างสรรค์นวัตกรรมและองค์ความรู้เพื่อถ่ายทอดให้พสกนิกรสามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยเฉพาะงานทางด้านการเกษตรและการประมง ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่มีความจำเป็นอย่างมากในการพัฒนาประเทศในระยะแรก อาทิ โครงการฟาร์มตัวอย่าง และศูนย์วิจัยและพัฒนาประมง โครงการเหล่านี้ได้กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้แก่เกษตรกรได้นำเอาองค์ความรู้ไปปรับใช้กับสภาพปัญหาในพื้นที่ของตนเองได้อย่างเหมาะสม ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต เพิ่มรายได้ และลดความเหลื่อมล้ำของสังคม

ในช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมาความเป็นอยู่ของประชาชนไทยดีขึ้นมาก ประเทศไทยได้พัฒนาจากประเทศรายได้ต่ำไปเป็นประเทศที่มีระดับรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง เด็กเกือบทุกคนสามารถเข้าเรียนในระดับประถมศึกษา และอัตราการเข้าเรียนในระดับมัธยมก็เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด อย่างไรก็ดี ภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น การขยายโอกาสทางการศึกษาเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะยกระดับประเทศไทยไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงได้ จำเป็นต้องมีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านงานวิจัยและพัฒนา (R&D) ให้ทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เพื่อให้แรงงานไทยมีศักยภาพในการสร้างนวัตกรรม มีทักษะในการใช้และรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากงานวิจัยของธนาคารโลกพบว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนด้าน R&D ของภาครัฐในกลุ่มประเทศ ASEAN+3 เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ ๓๐๐ ในขณะที่ R&D ของภาคธุรกิจมีผลตอบแทนประมาณร้อยละ ๘๐ อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าเสียใจว่าที่ผ่านมาประเทศไทยกลับมีการลงทุนด้าน R&D ที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนเงินลงทุนด้าน R&D ของไทยซึ่งน้อยกว่าร้อยละ ๐.๕ ของ GDP มาโดยตลอด ในขณะที่ประเทศจีนได้เพิ่มสัดส่วนเงินลงทุนด้าน R&D จากร้อยละ ๐.๕ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ มาเป็นร้อยละ ๒.๑ ในปัจจุบัน ส่วนเวียดนามได้ตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนด้าน R&D ไว้ที่ร้อยละ ๒ ภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๓

ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาเป็นประเทศที่มีรายได้สูง รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงปฏิบัติไว้เป็นตัวอย่าง

๕. ในหลวงกับวิสาหกิจเพื่อสังคม

ภาวิน ศิริประภานุกูล

แนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งสะท้อนผ่านกระแสพระราชดำรัสและพระราชกรณียกิจนานัปการของพระองค์ ตั้งอยู่บนหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง โดยการพัฒนาในลักษณะนี้มิได้ต้องการผลลัพธ์ที่รวดเร็วและฉาบฉวย หากแต่มุ่งหวังการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างที่คงทน ที่จะทำให้ประชาชนสามารถยืนหยัดอยู่บนลำแข้งของตนเองได้ในระยะยาว

หน่วยธุรกิจในลักษณะวิสาหกิจเพื่อสังคมถูกนำมาใช้เป็นองค์ประกอบสำคัญเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยปวงชนชาวไทยสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ของวิสาหกิจเพื่อสังคมของพระองค์เพื่อนำมาใช้เป็นแบบอย่างในอนาคต โดยบทความนี้จะขอกล่าวถึง บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ซึ่งมีที่มาและลักษณะการดำเนินการที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ แต่มีจุดเริ่มต้นที่เกี่ยวพันกับพระราชกรณียกิจในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ที่ทรงต้องการแก้ปัญหาการปลูกฝิ่นของชาวเขาในพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศ โดยในช่วงเวลาดังกล่าว พระองค์มีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการหลวงพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขาขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนการปลูกฝิ่น อาทิ ท้อ ลิ้นจี่ แอปเปิ้ล มันฝรั่ง เป็นต้น

การดำเนินการของโครงการหลวงสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนให้หันมาปลูกพืชทดแทนได้ อย่างไรก็ตาม พืชผลทดแทนดังกล่าวมิใช่สิ่งที่ชาวบ้านคุ้นเคย ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาในการจัดหาตลาดเพื่อรองรับผลผลิตดังกล่าว พระองค์จึงมีพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปแก้ไขปัญหา และนำมาซึ่งการจัดตั้ง บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ในที่สุด

การดำเนินการหลักของ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เป็นการดำเนินการด้านการตลาดให้กับผลผลิตทางการเกษตรในโครงการหลวงอย่างครบวงจร โดยมิได้มุ่งหวังผลกำไร บริษัทมีบทบาทหลักในการยกระดับราคาสินค้าเกษตรของโครงการหลวง ผ่านการแปรรูปสินค้าอย่างมีคุณภาพและการจัดหาช่องทางจัดจำหน่ายที่เข้าถึงผู้บริโภค

เมื่อมองจากจุดตั้งต้นแล้วสามารถกล่าวได้ว่า บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งยวดที่ป้องกันมิให้ชาวเขาหวนกลับไปปลูกฝิ่นอีกครั้ง บริษัทยังมีบทบาทในการยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวเขาเหล่านั้น รวมไปถึงยังเป็นพื้นที่สำหรับการฝึกฝนเรียนรู้ในการทำธุรกิจอีกด้วย และที่สำคัญอาจกล่าวได้ว่าการจัดตั้งบริษัทเป็นเสมือนการเติมเต็มในสิ่งที่ขาดให้กับโครงการพัฒนา ซึ่งจะส่งผลให้โครงการดังกล่าวสามารถอยู่รอดและเติบโตได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืนในทุกองค์ประกอบ

พระอัจฉริยภาพที่สะท้อนผ่านการดำเนินโครงการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้สมควรอย่างยิ่งต่อการน้อมรำลึกถึง และการนำไปเป็นต้นแบบในการดำเนินงานการพัฒนาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

๖. ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการดำเนินนโยบายการคลัง

อธิภัทร มุทิตาเจริญ

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้มีพระวิสัยทัศน์กว้างขวาง ทรงตระหนักถึงกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกและผลกระทบในบริบทของประเทศไทย แนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระองค์ท่านพระราชทานแก่พสกนิกรเพื่อให้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข บนหลักความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน สามารถนำมาเป็นบทเรียนสำหรับการดำเนินนโยบายการคลังของประเทศไทยในปัจจุบันได้อย่างดียิ่ง

‘พอประมาณ’ คือ ความพอดี ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป ตั้งอยู่บนความเป็นจริง หลักความพอประมาณนี้ สอนให้ผู้บริหารประเทศตั้งอยู่บนความพอดี ไม่มองโลกในแง่ดีจนเกินไป ใช้ความสมเหตุสมผลในการดำเนินโครงการสาธารณะ ตัวอย่างหนึ่งคือ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โครงการเหล่านี้ควรที่จะได้รับการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility study) อย่างรอบคอบ โดยใช้สมมติฐานที่ตั้งอยู่บนความเป็นจริงและเปิดเผยให้สาธารณชนตรวจสอบได้ ก่อนการตัดสินใจดำเนินการ

ดั่งพระราชดำรัสในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ “จะทำโครงการอะไร ก็ต้องนึกถึงขนาดที่เหมาะสมที่เรียกว่าอัตภาพ หรือกับสิ่งแวดล้อม ฉะนั้นการที่จะทำโครงการอะไร จะต้องทำด้วยความรอบคอบและอย่าตาโตเกินไป”

‘มีเหตุผล’ คือ คิดไตร่ตรองผลกระทบอย่างรอบด้าน หลักความมีเหตุผลนี้สำคัญยิ่งสำหรับการออกแบบมาตรการการคลังเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ แนวปรัชญานี้ชี้ว่า เราไม่ควรจะมุ่งหวังแค่เพียงผลลัพธ์ในรูปของตัวเลขการขยายตัวของ GDP เท่านั้น แต่ควรที่จะคำนึงถึงผลกระทบในระดับจุลภาค ต่อความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างแท้จริงด้วย ตัวอย่างหนึ่ง คือ โครงการการมอบแรงจูงใจในรูปภาษี หรือตัวเงินอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนเร่งซื้อของ หรือสร้างหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนด รัฐบาลควรที่จะพิจารณาไม่เพียงแค่ประสิทธิผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเพียงไม่กี่ไตรมาสเท่านั้น แต่ยังควรที่จะไตร่ตรองผลกระทบรายบุคคลต่อสภาวะทางการเงินของผู้เข้าร่วมโครงการด้วย

ดั่งพระราชดำรัสในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ “ทฤษฎีว่าถ้ามีเงินเท่านั้นๆ มีการกู้เท่านั้นๆ หมายความว่าเศรษฐกิจก้าวหน้า แล้วประเทศก็เจริญมีหวังว่าจะเป็นมหาอำนาจ ขอโทษเลยต้องเตือนเขาว่าจริง ตัวเลขดี แต่ถ้าเราไม่ระมัดระวังในความต้องการพื้นฐานของประชาชนนั้นไม่มีทาง”

‘มีภูมิคุ้มกัน’ คือ สร้างเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่งจากภายใน ลดความอ่อนไหวต่อปัจจัยทั้งในและนอกประเทศ พระองค์ท่านทรงสอนให้คนไทยสร้างรากฐานในการดำรงชีวิต ซึ่งรากฐานนั้นจะมั่นคงได้ต้องอาศัยภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่ง ในบริบทการคลัง ภูมิคุ้มกันหนึ่งที่สำคัญคือการมีพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) ที่มากเพียงพอที่จะรองรับสิ่งต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดฝัน ตัวอย่างหนึ่งคือ การรักษาระดับหนี้สาธารณะไว้ไม่ให้สูงเกินไปจนจำกัดความสามารถของรัฐบาลในการก่อหนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในยามที่จำเป็น

ดั่งพระราชดำรัสในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ “เศรษฐกิจพอเพียงสอนให้เราไม่โลภจนเป็นการผลาญตัวเอง แต่เป็นเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และมีภูมิคุ้มกัน”

จะเห็นได้ว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นสะท้อนความเป็นจริงในบริบทการคลังได้เป็นอย่างดี การดำเนินนโยบายการคลังโดยให้ความสำคัญกับ ๓ ห่วง นั่นคือ ความพอประมาณ การมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกัน ภายใต้เงื่อนไขของการมีความรู้และคุณธรรม จะสามารถนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

๗. ธนบัตรไทยในสมัยรัชกาลที่ ๙

พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม

นับเป็นเวลาถึง ๑๑๔ ปีที่ประเทศไทยได้ใช้เงินกระดาษหรือธนบัตรเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จวบจนมาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ธนบัตรไทยได้มีวิวัฒนาการครั้งสำคัญที่ควรจะถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การออกใช้ธนบัตรอยู่สามประการ คือ

หนึ่ง การจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรขึ้นใช้ในประเทศเป็นผลสำเร็จ โดยมีพิธีเปิดโรงพิมพ์ธนบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๒ ซึ่งเป็นมงคลฤกษ์เดียวกับวันที่ใช้ประกาศให้ตราพระราชบัญญัติธนบัตรสยาม รัตนโกสินทร ศก ๑๒๑ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานและมีพระราชดำรัสดังความว่า

“การที่ทางราชการจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรขึ้นได้สำเร็จนับเป็นความสำเร็จและความก้าวหน้าขั้นสำคัญของชาติ ทุกคนที่จะดำเนินงานสำคัญนี้ต่อไปควรจะระลึกว่ามีภาระและความรับผิดชอบอย่างหนัก เพราะงานในหน้าที่มีความผูกพันอยู่กับประชาชนทุกคน มีความสำคัญยิ่งทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และการปกครองของประเทศ ความบกพร่องใดๆ อันจะเกิดขึ้นย่อมกระทบกระเทือนถึงความมั่นคงของบ้านเมืองโดยตรง ดังนั้น จึงต้องสังวรระวังในเรื่องความเสียหายดังกล่าว และพยายามใช้ความรู้ความสามารถ ความสุขุมรอบคอบ พร้อมทั้งความบริสุทธิ์ใจในการปฏิบัติงานอยู่เสมอ”

ก่อนการจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรขึ้นใช้ภายในประเทศนั้น รัฐบาลได้สั่งพิมพ์ธนบัตรจาก บริษัท โทมัส เดอ ลา รู จำกัด ในประเทศอังกฤษ และการขนส่งธนบัตรที่ผ่านมามักไม่เป็นปัญหามากนัก จนกระทั่งได้เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้น ในช่วงแห่งสงครามนี้เองที่ได้มีการจัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขึ้น ในวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ โดยภารกิจแรกของ ธปท. ที่ต้องเผชิญทันทีเมื่อแรกตั้งคือ ปัญหาขาดแคลนธนบัตรในช่วงสงคราม เนื่องจากบริษัทไม่สามารถจัดส่งมาที่ประเทศไทยได้ ทำให้ทางการไทยจำเป็นต้องพึ่งพิงแหล่งผลิตอื่นๆ ทั้งจากประเทศญี่ปุ่นที่เป็นพันธมิตรสงครามและจากโรงพิมพ์ภายในประเทศที่ขาดความพร้อมทั้งวัตถุดิบและเทคโนโลยีสำหรับการพิมพ์ธนบัตรให้ยากต่อการปลอมแปลง เวลาดังกล่าวนี้ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความโกลาหลที่สุดในประวัติศาสตร์การออกใช้ธนบัตรไทยรวมถึงปัญหาเงินเฟ้อที่ลุกลามต่อเนื่อง

สอง การออกบัตรธนาคารของธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นใช้เป็นครั้งแรก ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ ธปท. มีสิทธิ์แต่ผู้เดียวที่จะนำบัตรธนาคารออกใช้แทนธนบัตรของรัฐบาล แม้ว่า ธปท. จะได้เคยติดต่อให้บริษัทโทมัส เดอ ลา รู จำกัด ออกแบบบัตรธนาคารขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๘๘ แต่ก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้เพราะเกรงว่าประชาชนจะไม่คุ้นชินและไม่เชื่อมั่น พร้อมกับสถานการณ์การเงินของประเทศก็ยังไม่มั่นคง จนกระทั่งวาระมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๖๐ พรรษา ธปท. จึงได้ออกบัตรธนาคารชนิดราคา ๖๐ บาทขึ้น โดยประกาศออกใช้เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๐ เป็นจำนวน ๙,๙๙๙,๙๙๙ ฉบับ โดยขนาดของธนบัตรมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ความกว้างยาวด้านละ ๑๕๙ มิลลิเมตร โดยที่ เลข ๑ หมายถึง การออกบัตรธนาคารของธปท. เป็นครั้งแรก เลข ๕ หมายถึง เฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ และเลข ๙ หมายถึง รัชกาลที่ ๙

สาม เอกลักษณ์ของธนบัตรที่แสดงถึงความเป็นชาติไทยได้อย่างสมบูรณ์ การที่มีโรงพิมพ์ธนบัตรขึ้นเองนั้น รวมถึงการมีช่างทั้งด้านเทคนิคและด้านศิลปกรรมเป็นคนไทย ได้ทำให้พัฒนาการด้านการออกแบบรูปพรรณของธนบัตรก้าวไกลไปมาก ซึ่งนอกจากจะเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและป้องกันการปลอมแปลงแล้ว ยังทรงคุณค่าด้วยลวดลายไทยที่มีความชดช้อยอ่อนหวาน และแสดงถึงสถาปัตยกรรม ศิลปวัฒนธรรมอันดีของไทย จนอาจกล่าวได้ว่า ธนบัตรไทยที่มีพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพิมพ์เป็นภาพประธานด้านหน้าของธนบัตร และในด้านหลังที่เป็นภาพพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ที่ทรงพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ จึงไม่ได้เป็นเพียงเงินกระดาษที่แสดงมูลค่าตามชนิดราคาเท่านั้น หากแต่สะท้อนคุณค่าความเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยไว้อย่างลงตัว

๘. ในหลวงกับแนวคิดด้านเศรษฐกิจมหภาค

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ มีพระอัจฉริยภาพในทางเศรษฐกิจ และทรงเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความสามารถในการประยุกต์เอาหลักวิชาการมาปรับใช้กับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมได้อย่างดียิ่ง แม้พระราชกรณียกิจและพระราชดำรัสของพระองค์ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของประชาชน เศรษฐกิจชนบท และการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศ แต่พระองค์ก็ทรงได้แสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญในด้านเศรษฐกิจมหภาค อีกทั้งยังได้พระราชทานแนวความคิดเพื่อเป็นหลักในการดำเนินชีวิตของประชาชน โดยมุ่งให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและความมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทย

ตัวอย่างเช่น ในช่วงที่ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับวิกฤติเศรษฐกิจและแนวทางการแก้ไขในหลายโอกาส ในพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่บุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ พระองค์ได้ทรงวิเคราะห์สาเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจผ่านเรื่องเล่าสนุกๆ ๗ เรื่อง ซึ่งพอจะสรุปได้ว่าสาเหตุสำคัญของวิกฤติเศรษฐกิจคือ ๑. ความฟุ้งเฟ้อ การใช้จ่ายเกินตัว ๒. การสร้างหนี้ไปใช้ในสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์และไม่เกิดรายได้ ๓. การลงทุนเกินขนาดที่เหมาะสม ๔. การขาดการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม

การวิเคราะห์ของพระองค์ท่าน มิได้ต่างไปจากการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญในปัจจุบัน ที่มองว่าสาเหตุสำคัญของวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลก ได้แก่ การสร้างหนี้อย่างรวดเร็วเกินตัว การขาดการบริหารความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ และการใช้จ่ายและลงทุนเกินตัวที่นำไปสู่ปัญหาความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจต่างๆ เช่น การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และการพึ่งพิงเงินทุนเคลื่อนย้ายจากต่างประเทศ และนำไปสู่ปัญหาทางเศรษฐกิจในที่สุด

นอกจากนี้ พระองค์ท่านยังได้พระราชทานแนวคิดเรื่องหลักเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมีหลักคิดสำคัญคือ ‘ความพอดี ความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน’ และคำนึงถึงการบริหารความเสี่ยง เป็นหลักที่มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และนอกจากจะเป็นการสร้างเสถียรภาพให้กับ ‘ชีวิตของแต่ละคน’ แล้ว ยังเป็นการสร้าง ‘เสถียรภาพ’ ให้เศรษฐกิจในภาพรวมหรือเศรษฐกิจมหภาคอีกด้วย

ดังพระราชดำรัสที่ว่า“เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็มและลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป”

๙. กษัตริย์นักเศรษฐศาสตร์ นักพัฒนาที่ยิ่งใหญ่

สมประวิณ มันประเสริฐ

“…ในการพัฒนาประเทศนั้นจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น เริ่มด้วยการสร้างพื้นฐาน คือ ความมีกินมีใช้ของประชาชนก่อน ด้วยวิธีการที่ประหยัดระมัดระวัง แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อพื้นฐานเกิดขึ้นมั่นคงพอควรแล้ว จึงค่อยสร้างเสริมความเจริญขั้นที่สูงขึ้นตามลำดับต่อไป …การถือหลักที่จะส่งเสริมความเจริญให้ค่อยเป็นไปตามลำดับ ด้วยความรอบคอบระมัดระวังและประหยัดนั้น ก็เพื่อป้องกันความผิดพลาดล้มเหลว และเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จได้แน่นอนบริบูรณ์…” พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๑๗

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเป็นนักเศรษฐศาสตร์ นักพัฒนาที่มีพระอัจฉริยภาพยิ่ง หากเรามองย้อนกลับไปถึงการพัฒนาของประเทศไทยในช่วง ๗๐ ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นขั้นตอนและเกิดจากการวางแผนอย่างมียุทธศาสตร์ มีโครงการในพระราชดำริหลายโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศและเป็นตัวอย่างสำหรับก้าวเดินแรกของการพัฒนาทางเศรษฐกิจไทยในมิติต่างๆ เริ่มจากการพัฒนาภาคเกษตร เป็นเกษตรแปรรูป ต่อเนื่องไปยังการพัฒนาอุตสาหกรรม

ถึงแม้การพัฒนาทางเศรษฐกิจดังกล่าวจะเกิดขึ้นในระดับมหภาคเพื่อยกฐานะของประเทศในภาพกว้าง พระองค์ยังทรงเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาควบคู่กันไปในระดับล่าง ไม่ใช่แต่เพียงมุ่งไปข้างหน้าและละเลยผู้ที่อยู่ข้างหลัง

โครงการหลวงหลายโครงการเกี่ยวข้องกับคนในพื้นที่ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาและสร้างประโยชน์โดยตรงกับประชาชน ดังนั้น การพัฒนาที่เกิดขึ้นจึงมีทั้งแบบ ‘บนลงล่าง’ และ ‘ล่างขึ้นบน’ ซึ่งเป็นการพัฒนาแบบคู่ขนาน (Dual Track) สามารถช่วยลดปัญหาความเลื่อมล้ำทั้งทางด้านรายได้ โอกาส และการเข้าถึงทรัพยากรของคนในประเทศได้เป็นอย่างดี

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ยังมีพระวิสัยทัศน์กว้างไกลว่า เศรษฐกิจในระยะยาวต้องเติบโตจากการพัฒนาองค์ความรู้ ตัวอย่างเช่น ในภาคเกษตรกรรมมีโครงการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวและการมีแปลงนาทดลอง หรือการพัฒนาสินค้าแปรรูปเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น นมอัดเม็ดที่เราต่างคุ้นเคย ดังนั้น พระองค์ท่านจึงทรงมองแบบนักเศรษฐศาสตร์ว่า เมื่อพัฒนาแล้วต้องพัฒนาต่อ นั่นคือมีการใช้‘นวัตกรรม’ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาว

เศรษฐกิจพอเพียงบอกเอาไว้ว่า เราควรทำในสิ่งที่เรามีศักยภาพ อย่าทำเกินทรัพยากรที่มี ดังนั้น หัวใจของเศรษฐกิจพอเพียงก็คือ เศรษฐศาสตร์ การพัฒนาทางเศรษฐกิจไม่สามารถยั่งยืนได้หากคนในระบบเศรษฐกิจทำเกินกว่าทรัพยากรและความสามารถของตน ประสบการณ์จากวิกฤติเศรษฐกิจทำให้เรารู้ว่า สาเหตุส่วนใหญ่มาจากความไม่พอเพียง วิกฤติเศรษฐกิจปี พ.ศ. ๒๕๔๐ มีการกู้เงินไปเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์เป็นจำนวนมาก หลายคนไม่ได้มองตนเองว่ามีศักยภาพหรือไม่ แต่กลับทำเพราะเห็นคนอื่นทำกัน หากเราน้อมรับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ เราจะพบว่าการทำตามคนอื่นนั้นจะไม่เกิดขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการกลับมามองที่ตัวเราเองว่ามีศักยภาพหรือไม่ เช่นเดียวกับการพัฒนาประเทศ การเติบโตที่ ‘รวดเร็วเกินไป’ อาจส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว การเติบโตที่เร็วไปในระยะสั้นแต่สิ่งนั้นกลับนำมาซึ่งวิกฤติเศรษฐกิจจะไม่ยั่งยืนเท่ากับการเติบโตที่มีความ สม่ำเสมอ ทั่วถึง และ ‘พอเพียง’

คณะผู้เขียน
ปิติ ดิษยทัต สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สมชัย จิตสุชน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ ธนาคารโลก
ภาวิน ศิริประภานุกูล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อธิภัทร มุทิตาเจริญ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน)
สมประวิณ มันประเสริฐ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ป้ายคำ :