ThaiPublica > ประเด็นร้อน > โควิด-19 กับ19 นักเศรษฐศาสตร์ > ผลกระทบของ COVID-19 ต่อระบบการศึกษาของโลกและประเทศไทยในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์

ผลกระทบของ COVID-19 ต่อระบบการศึกษาของโลกและประเทศไทยในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์

15 เมษายน 2020


ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค

ที่มาภาพ : กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.)

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งทำให้เด็กนักเรียนจำนวนกว่า 1.57 พันล้านคน จากกว่า 188 ประเทศ หรือคิดเป็น 91.3% ของผู้เรียนจากทั่วโลก1 จำต้องออกนอกโรงเรียนและหันไปสู่การศึกษานอกห้องเรียนในรูปแบบต่างๆ รวมถึงนักเรียนในประเทศไทยจำนวน 13 ล้านคน ตั้งแต่ระดับปฐมวัยไปจนถึงอุดมศึกษา ซึ่งว่ากันว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ทำให้เกิดผลกระทบทางการศึกษาและพัฒนาการของนักเรียนจากการปิดโรงเรียน รวมไปถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของนักเรียน และอาจรวมถึงผลกระทบทางสุขภาพของครอบครัวทั้งทางกายและจิตด้วย

โดยผลกระทบคงเกิดกับเด็กทุกกลุ่มแต่น่าจะมีความรุนแรงเป็นพิเศษต่อนักเรียนในกลุ่มยากจน ครอบครัวเปราะบาง มีปัญหาความรุนแรง ยาเสพติด นักเรียนกลุ่มการศึกษาพิเศษ นักเรียนผู้พิการ ผู้มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ในด้านต่างๆ ที่ต้องการการดูแลจากครูอย่างใกล้ชิด เด็กที่ต้องพึ่งพาอาหารมื้อเช้าหรือกลางวันจากโรงเรียน สำหรับเด็กกลุ่มนี้ในประเทศไทยพบว่ามี 21.5% หรือประมาณ 2.4 ล้านคนที่ตกอยู่ภายใต้สภาวะความยากจนหลายมิติ2

ในขณะที่ข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาพบว่ามีนักเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นกว่า 7 แสนคนที่จัดอยู่ในกลุ่มยากจนพิเศษ มีรายได้เฉลี่ยเพียงเดือนละ 1,281 บาท3 และข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตบอกว่าประเทศไทยมีนักเรียนที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้มากกว่า 2 แสนคน4 ผลกระทบจากการปิดโรงเรียนในครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อเยาวชนในกลุ่มนี้อย่างรุนแรงที่สุด และควรเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ภาครัฐควรมุ่งให้การดูแลช่วยเหลือ

ผลกระทบต่อผู้เรียนและแนวการปฏิบัติในด้านต่างๆ

1. ผลกระทบจากการปิดเรียนอันยาวนาน งานวิจัยที่ผ่านมาได้เคยทำการศึกษาถึงผลกระทบของการที่ต้องปิดโรงเรียน หรือเปิดเรียนล่าช้า พบว่าการที่นักเรียนต้องอยู่บ้านนานๆ จะส่งผลทำให้การเรียนรู้ของนักเรียนถดถอยลง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กยากจนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเรียนรู้นอกโรงเรียน และการที่เด็กต้องออกจากโรงเรียนประมาณ 6 สัปดาห์ อาจจะทำให้ความรู้ของเขาหายไปถึงครึ่งปีการศึกษา5 ซึ่งสภาวะการถดถอยของทุนมนุษย์ (human capital) อาจจะนำไปสู่การถดถอยของการเติบโตทางเศรษฐกิของประเทศได้6

นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยในลักษณะของการวิเคราะห์ผลกระทบของต้นทุนและประโยชน์จากการปิดโรงเรียน เช่น การที่พ่อแม่ต้องมาอยู่บ้านดูแลบุตร โดยเฉพาะพ่อแม่ที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งอาจจะส่งผลต่ออุปทานของกำลังคนที่จำเป็น มีงานวิจัยที่พบว่าการปิดโรงเรียนในสหรัฐอเมริกา 1 เดือน ส่งผลกระทบต่อ GDP ของประเทศ ถึง 0.1-0.3% 7

2. การวิเคราะห์เรื่องความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษา รวมถึงผลลัพธ์ของการเรียนรู้แบบออนไลน์ พบว่าการเรียนรู้ที่เป็นที่นิยมของสถานศึกษาในยุค COVID-19 คือการเรียนผ่านระบบออนไลน์ แต่ก็มีปัญหาในบางมิติ ในด้านของความเหลื่อมล้ำดิจิทัล (digital divide) ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ สัญญาณอินเทอร์เน็ต ทักษะความรู้ของครูและผู้ปกครองในการช่วยสนับสนุน ปัญหาการใช้เวลาหน้าจอมากเกินไป ข้อมูลจากการสำรวจของ OECD ต่อเด็กกลุ่มอายุ 15 ปีทั่วโลกในปี 20188 พบว่า ในประเทศไทย นักเรียนอายุ 15 ปีมากกว่า 30% ไม่มีห้องส่วนตัวหรือพื้นที่เงียบๆ ในการทำการบ้าน (ประเทศพัฒนาแล้วมีเด็กที่ขาดแคลนพื้นที่เรียนน้อยกว่า 15%)

นักเรียนไทยเพียง 59% มีเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับใช้ในบ้าน (ในขณะที่สหรัฐฯ ยุโรป นักเรียนมากกว่า 85% มีคอมพิวเตอร์) โดยเฉพาะเด็กไทยที่กลุ่มที่อยู่ในเศรษฐฐานะยากจนที่สุด (bottom 20%) มีเพียง 55% ที่มีพื้นที่ทำงานในบ้าน และเพียงแค่ 17% มีคอมพิวเตอร์ไว้ใช้งาน แต่อย่างไรก็ตาม 86% ของเด็กไทยมีโทรศัพท์สมาร์ทโฟน แม้แต่เด็กไทยกลุ่มยากจนที่สุดก็ยังมีถึง 79% ที่มีมือถือแบบใช้อินเทอร์เน็ตได้ ดังนั้นการถ่ายทอดความรู้ผ่านทางมือถืออาจจะเป็นอีกช่องทางที่เหมาะสมกับเด็กไทย

อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรคาดหวังว่าการเรียนแบบออนไลน์จะสามารถมาช่วยเติมเต็มได้อย่างสมบูรณ์แบบมากนัก เพราะมีงานวิจัยว่าแม้แต่โรงเรียนที่เน้นเฉพาะทางออนไลน์ในสหรัฐอเมริกา (virtual charter school) ยังมีผลลัพธ์ของการจัดการศึกษาที่ไม่น่าพอใจเท่าไรนักหากเทียบกับการเรียนแบบผสมผสานหรือใช้ห้องเรียนเป็นหลัก9 ในกรณีของไทยอาจจะใช้ช่องทางอื่นๆ เช่น โทรทัศน์การศึกษา วิทยุการศึกษา การจัดสรรวัสดุอุปกรณ์เพื่อการเรียน (box set) เป็นทางเลือกที่อาจจะสามารถเข้าถึงเด็กกลุ่มด้อยโอกาสได้เช่นกัน

3. การให้เงินอุดหนุน ให้เงินอุดหนุนไปที่สถานศึกษา ศูนย์เด็กเล็ก และแนวทางการช่วยเหลืออื่นๆ ในปัจจุบันหลายประเทศได้เร่งบรรเทาความเดือดร้อนของนักเรียนและผู้ปกครองในด้านต่างๆ เช่น การให้เงินอุดหนุนเงินลงไปที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในระดับปฐมวัย โรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย10 การดูแลเรื่องอาหารและโภชนาการแก่เด็กที่ต้องการ การแจกหรือให้ยืมอุปกรณ์ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์มือถือ เครื่องส่งสัญญาณ WiFi แบบมือถือ ให้แก่นักเรียนในกลุ่มยากจนที่ไม่มีอุปกรณ์การศึกษา การให้ความช่วยเหลือในเรื่องของการให้คำปรึกษาต่างๆ หรือนักจิตวิทยา แก่เด็กหรือพ่อแม่ การประสานความร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์ วิทยุ ไปรษณีย์ ในเรื่องของการส่งผ่านบทเรียนหรืออุปกรณ์การเรียนต่างๆ

แนวทางเหล่านี้เป็นประสบการณ์ที่หลายๆ ประเทศได้ปฏิบัติกันมาในสถานการณ์อันไม่ปกติเช่นนี้ คงต้องพิจารณาว่าสิ่งใดเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยและพยายามพลิกแพลงนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับบริบทของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะต้องอาศัยการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรส่วนท้องถิ่น นักการศึกษา ครูผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ โรงเรียน และผู้ปกครอง เพื่อให้สามารถผ่านวิกฤติการณ์ครั้งนี้ไปได้ด้วยกัน

อ้างอิง

1.ข้อมูลจาก UNESCO (https://en.unesco.org/covid19/educationresponse) ณ วันที่ 12 เมษายน 2563

2.รายงานความยากจนหลายมิติของเด็กในประเทศไทย โครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และแก้ไขความยากจนแห่งมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ร่วมกับ UNICEF และสภาพัฒน์ฯ รายงานความยากจนหลายมิติของเด็กในประเทศไทยhttps://www.unicef.org/thailand/th/reports/

3.กสศ.ช่วยเด็กทุนเสมอภาคกว่า 7 แสน https://www.eef.or.th/กสศ-ช่วยเด็กทุนเสมอภาคก/

4.รายงานสถานการณ์เด็กด้อยโอกาสในสังคมไทย กรมสุขภาพจิต http://www.prdmh.com/90-infographic/984-สถานการณ์เด็กด้อยโอกาสในสังคมไทย.html

5.งานวิจัยเรื่องความรู้ที่หายไปในช่วงการหยุดเรียนนานๆ ในช่วงปิดเทอมใหญ่ เช่น Summer Learning Loss: What We Know and What We’re Learning https://www.nwea.org/blog/2018/summer-learning-loss-what-we-know-what-were-learning/

Brookings Report (2017) Summer learning loss: What is it, and what can we do about it? https://www.brookings.edu/research/summer-learning-loss-what-is-it-and-what-can-we-do-about-it/

6.Hanushek and Woessman (2020) Education, Knowledge Capital, and Economic Growth in Economics of Education, 2nd Editionhttp://hanushek.stanford.edu/publications/quantitative-look-economic-impact-european-union%E2%80%99s-educational-goals

7.งานวิจัยในเรื่องผลกระทบของต้นทุนและประโยชน์ที่ได้ของการปิดโรงเรียนในแง่มุมต่างๆ
Bayham and Fenichel. Impact of school closures for COVID-19 on the US health-care workforce and net mortality: a modelling study. The Lancet, April 2020

Jérôme Adda Economic Activity and the Spread of Viral Diseases: Evidence from High Frequency Data The Quarterly Journal of Economics, Volume 131, Issue 2, May 2016

Lempel H, Epstein JM, Hammond RA. Economic cost and health care workforce effects of school closures in the US: Brookings Report, September 2009 https://www.brookings.edu/research/economic-cost-and-health-care-workforce-effects-of-school-closures-in-the-u-s/

8.A framework to guide an education response to the COVID-19 Pandemic of 2020 จัดทำโดย OECD และ Harvard Graduate School of Education https://globaled.gse.harvard.edu/files/geii/files/framework_guide_v2.pdf

9.งานวิจัยเกี่ยวกับโรงเรียนแบบออนไลน์ระดับชาติในสหรัฐอเมริกา
Online schools ‘worse than traditional teachers’ https://www.bbc.com/news/business-34671952

Inside Online Charter Schools https://www.mathematica.org/our-publications-and-findings/publications/inside-online-charter-schools

Virtual Schools in the U.S. 2019 http://nepc.colorado.edu/sites/default/files/publications/Virtual%20Schools%202019.pdf

10.California colleges and universities share in $1.7 billion in emergency stimulus funds
https://edsource.org/2020/california-colleges-universities-share-in-1-7-billion-in-emergency-stimulus-funds/628763