กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์
ระบบเศรษฐกิจประกอบด้วยธุรกิจและครัวเรือนต่างๆ ที่มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันผ่านการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า บริการ รวมถึงปัจจัยการผลิตต่างๆ ทั้งวัตถุดิบ สินค้าขั้นกลาง และแรงงาน ซึ่งแน่นอนว่า หากธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งประสบปัญหา ครัวเรือนและธุรกิจอื่นๆ ที่มีความเชื่อมโยงไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมกับธุรกิจนี้ย่อมได้รับผลกระทบตามไปด้วย
ในภาวะปกติ การเกิดการตายของธุรกิจเป็นเรื่องปกติ กิจการหลายแห่งต้องปิดตัวลงเพราะขาดความสามารถในการแข่งขันหรือจากปัจจัยความเสี่ยงอื่นๆ ซึ่งพลวัตนี้เป็นกลไกที่ช่วยคัดกรองให้ธุรกิจที่เหลืออยู่ในระบบเศรษฐกิจเป็นธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ การปิดกิจการไม่ได้มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการเท่านั้น แต่ยังกระทบลูกจ้างที่ต้องหางานใหม่ และกระทบธุรกิจอื่นๆ ที่เชื่อมโยงผ่านห่วงโซ่อุปทานที่ต้องหาแหล่งวัตถุดิบหรือลูกค้าใหม่ ซึ่งการปรับตัวหลังการปิดกิจการนี้อาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง
ในช่วงนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบอาจอยู่รอดได้โดยอาศัยเงินออมของตนเอง ความช่วยเหลือจากญาติพี่น้อง เงินกู้ยืมจากทั้งในระบบสถาบันการเงินและนอกระบบ หรือเงินชดเชยจากระบบประกันสังคม นอกจากนี้ ธุรกิจที่ปิดกิจการส่วนมากมักมีผลประกอบการที่ไม่ดีติดต่อกันมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งทำให้ลูกจ้างและธุรกิจคู่ค้าที่มองเห็นสถานการณ์สามารถเริ่มปรับตัวแต่เนิ่นๆ การช่วยเหลือจากภาครัฐแก่กิจการที่ปิดตัวลงจึงเป็นส่ิงที่ไม่จำเป็นในภาวะปกติ
สถานการณ์โควิด-19 เป็นภาวะที่ไม่ปกติ เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้มีการคาดการณ์กันมาก่อน เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน และกระทบกับธุรกิจต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจอย่างรุนแรงและเป็นวงกว้าง ทั้งจากปัจจัยทางด้านอุปสงค์ เช่น การเว้นระยะทางสังคม (social distancing) และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง และปัจจัยทางด้านอุปทาน เช่น ห่วงโซ่อุปทานที่ขาดช่วง และการห้ามประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายประเภท ซึ่งธุรกิจจำนวนมากเป็นธุรกิจที่มีผลประกอบการดี ผลิตภาพสูง สามารถทำกำไรได้ในภาวะปกติ และหากอยู่รอดจนภาวะวิกฤติโควิดคลี่คลายจะสามารถดำเนินกิจการต่อได้ ธุรกิจเหล่านี้จึงควรได้รับความช่วยเหลือระยะสั้นเพื่อ “ต่อสายป่าน” ให้ผู้ประกอบการอยู่รอดในช่วงวิกฤตินี้
และที่สำคัญ ความอยู่รอดของธุรกิจหนึ่งๆ ยังช่วยรักษาการจ้างงานและรายได้ของครัวเรือน รักษาห่วงโซ่อุปทาน และป้องกันไม่ให้วิกฤติเศรษฐกิจลุกลามต่อเนื่องจากธุรกิจหนึ่งไปสู่ครัวเรือนและธุรกิจอื่นๆ ที่มีความเชื่อมโยงกัน
ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะการช่วยเหลือสภาพคล่องทางการเงิน เช่น การเลื่อนการชำระหนี้และการสนับสนุนสินเชื่อใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการ จึงเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากธุรกิจและผู้ประกอบการจำนวนมากมีเงินออมที่จำกัดและไม่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจในภาวะเศรษฐกิจที่แทบจะหยุดนิ่ง ในขณะที่ความช่วยเหลือจากแหล่งอื่นๆ ที่พึ่งพาได้ในภาวะปกติก็มีข้อจำกัดในช่วงวิกฤตินี้ การพึ่งความช่วยเหลือจากญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงทำได้ลำบากในสถานการณ์ที่คนจำนวนมากต่างได้รับความเดือดร้อนและไม่สามารถช่วยคนอื่นได้มากนัก การกู้ยืมจากสถาบันการเงินในระบบด้วยกระบวนการปกติทำได้ยาก และหากสามารถกู้หนี้นอกระบบได้ก็ต้องแบกรับต้นทุนอัตราดอกเบี้ยที่สูงยิ่งขึ้นไปจากภาวะปกติ
ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐเป็นพิเศษ
ประการแรก ถึงแม้ธุรกิจเหล่านี้มีขนาดไม่ใหญ่นักแต่มีจำนวนมากและเป็นแหล่งจ้างงานสำคัญของแรงงานในภาคเอกชน สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรายงานว่า ในปี 2563 SMEs คิดเป็น 99.8% ของจำนวนสถานประกอบการ และ 85.6% ของการจ้างงานนอกภาคเกษตร
ประการที่สอง ธุรกิจขนาดกลางและเล็กมีความเปราะบางทางการเงินมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ธุรกิจเหล่านี้มีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จำกัดแม้ในภาวะปกติ และยากยิ่งขึ้นมากในภาวะวิกฤติ นอกจากนี้ ธุรกิจรายย่อยมักมีสายป่านที่สั้นกว่า และมีข้อจำกัดในการบริหารกระแสเงินสด ทำให้ไม่สามารถอยู่รอดหากต้องพักการประกอบกิจการหรือหากมีรายได้ที่ลดลงเพียงไม่นาน
ประการที่สาม SMEs จำนวนมากมีความสามารถในการนำเทคโนโลยีมาใช้บรรเทาปัญหาในช่วงวิกฤติโควิดน้อยกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ถึงแม้ว่าธุรกิจจำนวนหนึ่งได้เพิ่มการขายผ่านออนไลน์แพลตฟอร์มตั้งแต่ช่วงก่อนวิกฤติ และธุรกิจอีกจำนวนมากได้หันมาใช้ออนไลน์แพลตฟอร์มในช่วงวิกฤตินี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังขาดความรู้และความพร้อม ประการสุดท้าย การปิดตัวของธุรกิจ SMEs จำนวนมากย่อมส่งผลต่อเนื่องถึงธุรกิจขนาดใหญ่หลายแห่ง ซึ่งธุรกิจเหล่านี้มีการจ้างงานอีกจำนวนมาก
อุปสรรคและความยากลำบากของภาครัฐในการเยียวยาผู้ประกอบการและลูกจ้างอย่างหนึ่งเกิดจากการที่ประเทศไทยมีภาคเศรษฐกิจนอกระบบ (informal sector) ที่ใหญ่มาก ธุรกิจจำนวนมากไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหรือไม่ได้อยู่ในฐานภาษี การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจหลังวิกฤตินี้ จึงควรสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น เช่น การยกเลิกกฎเกณฑ์ที่ไม่จำเป็น การชี้ให้เห็นประโยชน์ของการเข้าระบบ การปรับปรุงระบบประกันสังคมของภาครัฐให้ตอบสนองต่อผู้ประกอบการและลูกจ้างได้ดีขึ้น ซึ่งการลดขนาดเศรษฐกิจนอกระบบยังช่วยให้ภาครัฐสามารถช่วยเหลือธุรกิจได้อย่างเป็นระบบ ช่วยลดภาระการคลังภาครัฐในภาวะวิกฤติ และช่วยสร้างความเป็นธรรมระหว่างธุรกิจให้แข่งขันภายใต้กติกาเดียวกัน
แน่นอนว่า การช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงวิกฤตินี้มีต้นทุนที่สูง นอกจากต้นทุนทางการเงินแล้ว นโยบายเยียวยาต่างๆ ยังอาจบิดเบือนแรงจูงใจของธุรกิจในระยะยาว เช่น ธุรกิจบางแห่งอาจไม่บริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม โดยมุ่งหวังว่าภาครัฐจะเข้ามาช่วยเหลือเมื่อประสบปัญหา การออกแบบโครงสร้างเชิงสถาบันเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างแรงจูงใจและการเยียวยาที่เหมาะสมในอนาคตจึงเป็นสิ่งจำเป็นอีกประการหนึ่ง
โครงสร้างเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤติโควิดผ่านพ้นไปแล้วจะเปลี่ยนไปในหลายมิติ ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด แต่การปรับตัวต้องใช้เวลา ในช่วงระหว่างวิกฤตินี้ การช่วยเหลือเยียวยาจึงเป็นสิ่งจำเป็นเฉพาะหน้า เพื่อควบคุมการลุกลามและความรุนแรงของวิกฤติ นอกจากนี้ ธุรกิจที่อยู่รอดยังเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจหลังจากที่ควบคุมสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิดได้แล้วอีกด้วย
การหลุดพ้นจากวิกฤติการระบาดของเชื้อโควิด-19 ต้องเริ่มจากการหยุดการแพร่เชื้อจากผู้ติดเชื้อคนหนึ่งไปสู่คนอื่นๆ การหลุดพ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจก็เช่นกัน ต้องเริ่มจากการลดการส่งผ่านผลกระทบจากสถานการณ์โควิดจากธุรกิจหนึ่งไปสู่ครัวเรือนและธุรกิจอื่นๆ บทบาทของภาครัฐในการช่วยเหลือ “ให้ยา” แก่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้ธุรกิจที่ “ติดเชื้อ” เหล่านี้ไม่ “แพร่เชื้อ” ต่อไปในระบบเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งจำเป็นและเร่งด่วน