ThaiPublica > ประเด็นร้อน > โควิด-19 กับ19 นักเศรษฐศาสตร์ > “ร่วมทุกข์ ร่วมสุข” โมเดล

“ร่วมทุกข์ ร่วมสุข” โมเดล

15 เมษายน 2020


ภาวิน ศิริประภานุกูล

COVID-19 มิได้เป็นอันตรายต่อเพียงสุขภาพและชีวิตของผู้คนเท่านั้น แต่ยังนำมาซึ่งความเสียหายทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่อีกด้วย โดยความพยายามในการจัดการกับปัญหาการแพร่ระบาดของประเทศไทย บนเส้นทางของการลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้น้อยที่สุด ต้องแลกมาด้วยปัญหาในด้านปากท้องของผู้คนในวงกว้าง

ภายใต้สถานการณ์แบบนี้ การที่รัฐบาลออกมาตรการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจให้กับผู้คนถือเป็นเรื่องที่พึงกระทำ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเองก็มีทรัพยากรที่จำกัดครับ โดยเราต้องไม่ลืมว่ารัฐบาลมีภาระหน้าที่ตามปกติอยู่แล้ว นอกจากนั้น ในปีนี้รัฐบาลยังมีภาระเพิ่มเติมในการจัดการกับปัญหาภัยแล้ง ไฟป่าในภาคเหนือ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมไปถึงการขยายศักยภาพของระบบสาธารณสุขเพื่อต่อสู้กับโรคติดเชื้อ COVID-19 อีกด้วย

ผมเชื่อว่า โมเดลในการประคับประคองสถานการณ์ที่เน้นพึ่งพาแต่ทรัพยากรจากรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียวอาจทำให้พวกเราทุกคนไม่สามารถรอดพ้นไปจากวิกฤตินี้ไปพร้อมกันได้

โดยการกู้เงินฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาทของรัฐบาล ถ้าไม่บริหารจัดการให้ดี น่าจะมีเพียงพอรองรับสถานการณ์ในระยะ 6 เดือนข้างหน้าเท่านั้น ในขณะที่ยังมีความเสี่ยงอยู่อีกระดับหนึ่งที่วิกฤตินี้จะกินเวลามากกว่า 6 เดือน โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูฝนและฤดูหนาว

นอกจากนั้น เราอาจต้องการงบประมาณก้อนใหญ่อีกก้อนหนึ่งเพื่อทำให้วิกฤตินี้จบลงอย่างแท้จริง ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีที่มีการคิดค้นวัคซีนสำเร็จ เราอาจต้องใช้งบประมาณในการจัดหาวัคซีนให้กับคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ รวมทั้ง เราอาจต้องการงบประมาณเพื่อการฟื้นฟูภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ให้กลับมาดำเนินงานได้เป็นปกติอีกด้วย

เมื่อสำรวจดูรอบตัว ผมคิดว่าพอพบเห็นการปรับตัวที่น่าสนใจของผู้คนบางกลุ่ม ซึ่งน่าจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นโมเดลในการประคับประคองสถานการณ์ระดับประเทศได้ หนึ่งในนั้น คือ กรณีของโรงแรมลายทอง จังหวัดอุบลฯ ซึ่งผันตัวไปเปิดร้านอาหารริมทางชื่อ “เชฟ 5 ดาว” การปรับตัวลักษณะนี้ส่งผลให้โรงแรมและพนักงานของโรงแรมยังพอมีรายได้ ผ่านการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่อาจถูกทิ้งไว้เฉยๆ ในกรณีที่ไม่มีการปรับตัว

พวกเราอาจนำเอาโมเดลของโรงแรมลายทองมาปรับใช้ในระดับประเทศได้ ภายใต้เงื่อนไขที่ประกอบด้วย

    1) การนำเอาทรัพยากรภาคเอกชนมาร่วมใช้ประโยชน์
    2) พึ่งพาทรัพยากรภาครัฐเท่าที่จำเป็น
    3) ให้ความสำคัญกับการป้องกันโรคติดเชื้อ COVID-19 อย่างจริงจัง
    4) เน้นการให้ความช่วยเหลือกับทุกภาคส่วน โดยไม่ทิ้งภาระหลักไว้กับคนใดคนหนึ่ง

โมเดลที่ว่านี้อาจนำเอาผู้นำชุมชน เช่น ผู้ใหญ่บ้านหรือผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาจัดทำบัญชีรายการทรัพยากรและแรงงานที่มีอยู่ในชุมชน จากนั้นนำเอาทรัพยากรดังกล่าวมาผลิตสินค้าจำเป็น เช่น อาหาร หน้ากากผ้า สบู่ล้างมือ เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ และนำมาแจกจ่ายฟรีให้กับผู้คนในชุมชน ทั้งนี้ จะมีค่าตอบแทนการใช้ทรัพยากรให้กับเจ้าของทรัพยากรในชุมชน โดยอาจอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าราคาปกติ

ผู้นำชุมชนสามารถขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐได้ ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าสินค้าที่ผลิตขึ้นจะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับการประคับประคองผู้คนจำนวนมากให้ผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้อย่างแท้จริง และสินค้าที่ผลิตขึ้นในชุมชนต้องมีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าการขอรับการสนับสนุนจากทางภาครัฐ

กิจกรรมในการแจกจ่ายสินค้า จัดหาวัตถุดิบ หรือการผลิต ต้องทำตามเงื่อนไขการรักษาระยะห่างทางสังคมอย่างจริงจัง นอกจากนั้น แต่ละชุมชนต้องมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ควบคู่กันไปด้วย โดยอาจอาศัยความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่เข้าร่วมในโครงการ หรืออาจขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล

และนี่คือ “ร่วมทุกข์ ร่วมสุข” โมเดล ที่ผมขอส่งเข้าร่วมพิจารณาครับ