ThaiPublica > เกาะกระแส > กราฟที่แสดงว่า ทำไมการชะลอไวรัสโควิด-19 ไม่ให้แพร่ระบาดอย่างเร็ว จึงมีความสำคัญ

กราฟที่แสดงว่า ทำไมการชะลอไวรัสโควิด-19 ไม่ให้แพร่ระบาดอย่างเร็ว จึงมีความสำคัญ

19 มีนาคม 2020


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://www.economist.com/briefing/2020/02/29/covid-19-is-now-in-50-countries-and-things-will-get-worse

นิตยสาร The Economist ฉบับวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ได้พิมพ์บทความชื่อ Covid-19 is now in 50 countries, and things will get worse โดยกล่าวว่า เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ทางการอิตาลีแถลงว่า ได้ตรวจพบการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 16 ราย ที่เกิดขึ้นแบบกระจุกตัวในเมืองเล็กๆชื่อ Codogno ที่อยู่ห่างจากมิลาน 60 กิโลเมตร วันต่อมา มีการตรวจพบการติดเชื้อเพิ่มเป็น 60 ราย และมีคนสูงอายุเสียชีวิต 5 คน

ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ทางการอิตาลีประกาศให้หลายเมืองในจังหวัดลอมบาร์ดี รวมทั้งเมือง Codogno ให้เป็นเขตสีแดง ที่มีการปิดเมืองอย่างเข้มงวด กำลังทหารและตำรวจ 500 คนตรวจตราคนที่จะออกจากเมือง รัฐบาลท้องถิ่นของจังหวัดลอมบาร์ดี สั่งปิดสถานที่ต่างๆ ที่คนมาร่วมชุมนุมกัน เช่นโรงภาพยนตร์ โรงเรียน และมหาวิทยาลัย อินเตอร์มิลานต้องยกเลิกการแข่งขันฟุตบอลในบ้านของตัวเอง

เชื้อโรคที่โลกรู้ว่าจะจัดการอย่างไร

บทความ The Economist กล่าวว่า การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นในอิตาลี ต่อมาอิหร่าน และก่อนหน้านี้ที่เกาหลีใต้ ทำให้นักระบาดวิทยามีความเห็นว่า การพยายามที่จะควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้อยู่เฉพาะแต่ในจีน เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และก็เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ที่จะบอกว่า ไวรัสโควิด-19 จะระบาดอย่างไรในสัปดาห์หน้าหรือในเดือนหน้า

แต่ในทางหลักการ ไวรัสโควิด-19 เป็นเชื้อโรคที่โลกเรารู้ว่า จะจัดการกับมันอย่างไร เส้นทางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ถูกกำหนดโดยตัวแปรที่เรียกว่า “อัตราการผลิตซ้ำ” (Reproductive Rate) หรือ R ที่หมายถึงการติดเชื้อรายใหม่ทำให้เกิดการติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนเท่าใด หาก R มีจำนวนสูง ตัวเลขของผู้ติดเชื้อจะพุ่งขึ้นสูงสุดอย่างรวดเร็ว ก่อนที่จะตกลงมา

หาก R มีจำนวนต่ำ เส้นกราฟการติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นและลดลงอย่างช้าๆ แต่จะไม่ไปถึงระดับสูงสุด ในขณะที่ไวรัสโควิด-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลก

เป้าหมายของนโยบายสาธารณสุข ทั้งในระดับของเมือง ของประเทศ และของโลก คือการทำให้กราฟจำนวนการติดเชื้อเป็นเส้นแบนราบที่แผ่ยาวออกไป ทำให้จำนวนการติดเชื้อกระจายออกไปตามระยะเวลา

นโยบายดังกล่าวมีประโยชน์อยู่ 2 ประการ คือ ประการแรก ระบบบริการสาธารณสุขจะสามารถรับมือกับโรคระบาดนี้ หากว่าไม่เกิดการติดเชื้อกับคนจำนวนมากในเวลาเดียวกัน ระบบบริการสาธารณสุขที่สามารถดูแลคนติดเชื้อได้ หมายความว่า การเสียชีวิตของคนป่วยจะลดน้อยลง นอกจากนี้ การที่มีเวลารับมือกับโรคระบาดมากขึ้น ทำให้สามารถปรับปรุงวิธีการรักษา

ประโยชน์ประการที่ 2 การทำให้เส้นกราฟการแพร่ระบาดเป็นเส้นแบนแผ่ออกไป จะทำให้จำนวนคนติดเชื้อทั้งหมดในช่วงระยะที่มีการระบาด มีจำนวนลดน้อยลง แต่การทำให้กราฟการแพร่ระบาดมีลักษณเป็นเส้นแบนราบนั้น หมายความว่า จะต้องทำให้การแพร่ระบาดชะลอตัวลง ไวรัสโควิด-19 ระบาดผ่านละอองฝอยที่มาจากไอและจามของคนติดเชื้อ จุดนี้หมายความว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 สามารถลดน้อยลงได้ เพราะสิ่งปิดกั้นทางกายภาพ การมีสุขอนามัยที่ดี และมาตรการ “ระยะห่างทางสังคม”

บทความของ The Economist กล่าวว่า ไข้หวัดใหญ่จะระบาดในฤดูหนาวและในอากาศชื้น หากไวรัสโควิด-19 มีพฤติกรรมแบบเดียวกัน คือระบาดน้อยลงในช่วงฤดูร้อนและอากาศแห้ง กราฟการระบาดจะมีลักษณะเป็นเส้นแบบราบ ซึ่งจะทำให้ได้ประโยชน์ที่มีเพิ่มขึ้น เพราะอัตราการผลิตซ้ำจะลดลง ทำให้มีเวลาที่จะสะสมยารักษาโรค การพัฒนายารักษาโรค และวัคซีน

ที่มาภาพ : https://www.nytimes.com/2020/03/11/science/coronavirus-curve-mitigation-infection.html

ความหมายสำคัญของกราฟเส้นแบน

บทความของ New York Times ชื่อ Flattening the Coronavirus Curve กล่าวว่า ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ดรูว์ แฮร์ริส (Drew Harris) นักวิเคราะห์ด้านสาธารณสุขของมหาวิทยาลัย Thomas Jefferson ในฟิลาเดลเฟีย ได้อ่านบทความจากนิตยสาร The Economist เรื่องการลดความเสียหายจากการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส

ในการให้สัมภาษณ์กับ New York Times ดรูว์ แฮร์ริสกล่าวถึงความหมายของคำ “ทำให้กราฟเป็นเส้นแบน” ว่า ในการต่อสู้กับโรคระบาด เป้าหมายสูงสุดคือการหยุดยั้งการระบาดอย่างชิ้นเชิง แต่การชะลอหรือลดการระบาด (mitigation) ก็มีความสำคัญ การลดจำนวนคนติดเชื้อ ทำให้แพทย์ โรงพยาบาล ตำรวจ หรือ ผู้ผลิตวัคซีน มีเวลาที่จะเตรียมตัวรับมือโดยไม่อยู่ในสภาพที่มีงานล้นมือ จนไม่รู้ว่าจะดำเนินการอย่างไร

กราฟเส้นโค้งแสดงการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีอยู่ 2 เส้น กราฟทั้ง 2 เส้นแสดงจำนวนคนติดเชื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้นในแต่ระยะ กรณีคนติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น เส้นโค้งจะสูงขึ้น เพราะแสดงว่าไวรัสแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว เส้นโค้งที่ต่ำแสดงว่าการติดเชื้อชะลอตัว การทำให้เส้นโค้งเป็นเส้นแบน คือ กรณีติดการเชื้อใหม่ลดลง ซึ่งจะช่วยลดภาระด้านทรัพยากรสาธารณสุขที่จะให้การรักษา

ดรูว์ แฮร์ริสกล่าวเปรียบเทียบว่า “ให้คิดว่าความสามารถของระบบสาธารณสุข ก็เหมือนกับรถไฟใต้ดินที่สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้มากสุดในช่วงเวลาหนึ่ง ในชั่วโมงแออัด ความสามารถในการบรรทุกไม่พอกับความต้องการโดยสาร ทำให้คนต้องรอที่ชานชลา สำหรับรถไฟใต้ดินคันต่อไป การสลับชั่วโมงทำงานจะลดชั่วโมงเร่งด่วน ทำให้คุณมีโอกาสที่จะได้ขึ้นรถไฟ และอาจะมีที่นั่งด้วย การหลีกเลี่ยงการพุ่งขึ้นมาของการติดเชื้อโคโรนาไวรัส ช่วยให้คนที่ต้องการได้รับการรักษา สามารถได้รับการดูแลจากโรงพยาบาล”

เปลี่ยนเส้นกราฟแดงเป็นน้ำเงิน

ดรูว์ แฮร์ริสกล่าวว่า โรคระบาดเกิดขึ้น เมื่อคนๆหนึ่งแพร่เชื้อให้อีกคนหนึ่งหรือหลายคน แล้วคนเหล่านี้ก็ไปแพร่เชื้อต่อไปอีก การแพร่ระบาดเกิดขึ้นรวดเร็วแค่ไหน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น เชื้อโรคแพร่ระบาดอย่างไร มีคนจำนวนมากแค่ไหนที่มีจุดอ่อนแอ และคนเหล่านี้ป่วยรวดเร็วแค่ไหน

ไข้หวัดใหญ่แตกต่างจากไวรัสโควิด-19 คนจำนวนมากมีภูมิคุ้มกันเต็มที่หรือบางส่วนจากไข้หวัดใหญ่ เพราะเคยเป็นมาก่อนหรือได้รับวัคซีน แต่คนจำนวนมากมีจุดอ่อนต่อไวรัสโควิด-19 ทำให้กลายเป็นโอกาสที่จะมีการแพร่ระบาดมากขึ้น ดังนั้น การทำให้คนอยู่ห่างจากกันและกัน ด้วยมาตรการ “ระยะห่างทางสังคม” การโดดเดี่ยวตัวเอง และการกักกันตัวเอง จึงเป็นการลดโอกาสการแพร่ระบาด

ตัวอย่างจากรถไฟใต้ดินอีกครั้งหนึ่ง รถไฟใต้ดินที่มีคนโดยสารแออัด หรือชานชลาที่มีคนแออัด เป็นจุดสำคัญที่จะทำให้ไวรัสแพร่ระบาด การลดจำนวนคนที่แออัดในรถไฟใต้ดิน โดยการให้คนทำงานที่บ้าน หรือเหลื่อมเวลาทำงาน ช่วยทำให้คนเราอยู่ห่างจากกันและกัน จึงเป็นการลดการแพร่ระบาดของไวรัส จุดนี้ก็คือการลงมือทำในสิ่งที่เรียกว่า “ระยะห่างทางสังคม”

  • ทำไม “ระยะห่างทางสังคม” (Social Distancing) อาจเป็นมาตรการดีที่สุดเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดโควิด-19
  • ความสำเร็จจีนต่อสู้ไวรัสโควิด-19 วิธีการโบราณของศตวรรษที่ 14 กับมาตรการ “ระยะห่างทางสังคม”
  • มาตรการ “ระยะห่างทางสังคม” ขยายวงทั่วโลก สกัดไวรัสโควิด-19
  • เอกสารประกอบ
    Covid-19 is now in 50 countries, and things will get worse, February 29, 2020 economist.com
    Flattening the Coronavirus Curve, March 11, 2020 nytimes.com