ThaiPublica > เกาะกระแส > ความสำเร็จจีนต่อสู้ไวรัสโควิด-19 วิธีการโบราณของศตวรรษที่ 14 กับมาตรการ “ระยะห่างทางสังคม”

ความสำเร็จจีนต่อสู้ไวรัสโควิด-19 วิธีการโบราณของศตวรรษที่ 14 กับมาตรการ “ระยะห่างทางสังคม”

5 มีนาคม 2020


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ที่มาภาพ : https://www.abc.net.au/news/2020-02-17/questions-over-xi-jinpings-early-knowledge-of-coronavirus/11970870

นับจากต้นเดือนมีนาคม การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจีน ก็เริ่มลดลงอย่างมาก เมื่อวันอังคารที่ 3 มีนาคม ทางการจีนแถลงว่า มีคนติดเชื้อรายใหม่เพียง 125 คน และเสียชีวิตเพียง 31 ราย นับเป็นตัวเลขจำนวนคนติดเชื้อที่ต่ำสุด จากเดิมก่อนหน้านี้ จีนเคยมีตัวเลขคนติดเชื้อไวรัสสูงถึงวันละ 2,500 คน

ตัวเลขที่ลดลงอย่างมาก สะท้อนว่ามาตรการของจีนในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มได้ผล มาตรการที่สำคัญของของจีนประกอบด้วย การจำกัดการเคลื่อนไหวของคนจีนจำนวน 700 ล้านคน ภายในมณฑลเหอเป่ยเอง ที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประทุขึ้นมาเป็นครั้งแรก และมีคนติดเชื้อมากที่สุดในจีน คนไข้ติดเชื้อจำนวน 2,410 คน ได้รับการรักษา จนสามารถออกจากโรงพยาบาล

มาตรการโบราณศตวรรษที่ 14

บทความชื่อ To Take on the Coronavirus, Go Medieval on Itของ New York Times กล่าวว่า การต่อสู้กับโรคระบาด มีอยู่ 2 วิธีการด้วยกัน คือ วิธีการแบบโบราณ กับวิธีการสมัยใหม่

วิธีการสมัยใหม่จะยอมรับว่า เราไม่มีทางหยุดยั้งโรคระบาด และจะหาทางลดความรุนแรงของโรคระบาด ด้วยวิธีการของศตวรรษที่ 20 คือ การคิดค้น วัคซีนป้องกันโรค ยาปฏิชีวนะ หรือใช้เครื่องวัดไข้เทอร์โมสแกน เป็นต้น

ส่วนวิธีการแบบโบราณ ที่ใช้กันตั้งแต่สมัยยุคกลาง เมื่อครั้งเกิดกาฬโรคในยุโรปช่วงปี ค.ศ. 1348-1350 ทำให้มีคนเสียชีวิตกว่า 75 ล้านคน เรียกกันว่า Black Death วิธีการดังกล่าวคือ การปิดพรมแดน การกักกันโรคบนเรือ และการห้ามไม่ให้มีคนเข้าออกเมือง ที่เกิดการแพร่ระบาด รัฐบาลจีนใช้วิธีการโบราณแบบเดียวกันนี้ ในการปิดเมืองอู่ฮั่น เมื่อวันที่ 23 มกราคม กันไม่ให้คนเข้าออกเมือง

รัฐบาลสหรัฐฯเองก็ใช้วิธีการแบบโบราณ ในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยห้ามไม่ใช่คนต่างชาติเดินทางเข้าสหรัฐฯ หากว่าในระยะ 14 วันที่ผ่านมา ได้เคยเดินทางไปจีน และยังออกคำแนะนำไม่ให้คนอเมริกันเดินทางไปจีนและเกาหลีใต้

องค์การอนามัยโลกเองคัดค้านการใช้วิธีการห้ามการเดินทาง แม้จะประกาศว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขของโลก แต่ก็ยอมรับว่า การห้ามการเดินทางออกนอกประเทศของคนจีน ช่วยชะลอการแพร่ระบาดของโรคโควิด19

ที่มาภาพ : https://www.nytimes.com/2020/02/28/sunday-review/coronavirus-quarantine.html

โลกจะเรียนรู้อะไรจากจีน

Bruce Aylward หัวหน้าคณะทีมงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่เดินทางไปประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจีน เมื่อ 16-24 กุมภาพันธ์ 2563 ท่ามกลางความสงสัยของคนทั่วโลกที่มีต่อประสิทธิภาพของจีนในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส ในการแถลงข่าวแก่สื่อมวลชนที่ปักกิ่ง เขากล่าวว่า วิธีการแบบเป็นฝ่ายรุกและรวมทั้งการใช้วิธีการแบบโบราณของจีน สามารถให้บทเรียนที่มีค่าแก่โลกเรา

หัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญของ WHO กล่าวว่า ทีมงานของเขาประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ 12 คน ที่มาจากสถาบันสาธารณสุขที่ดีที่สุดในโลก คนเหล่านี้ต้องการดูว่ามีบทเรียนอะไรที่ได้จากจีน จากตัวเลขหลายแหล่ง แสดงว่า จำนวนคนติดเชื้อของจีนลดลง ที่ลดลงเป็นเพราะมาตรการต่างๆของจีน เช่น มาตรการปิดเมืองที่เป็นแหล่งแพร่เชื้อ การตรวจสอบคนที่มีการติดต่อกันอย่างใกล้ชิด การกักกันตัว และการเน้นการรักษาสุขภาพแบบพื้นฐานที่ไม่ต้องใช้ยา เช่นการล้างมือและสวมหน้ากากอนามัย

แต่โลกต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดของจีน ซึ่งก็คือการตอบสนองที่ล่าช้าต่อการอุบัติขึ้นเป็นครั้งแรกของโควิด-19 ที่อู่ฮั่น หัวหน้าคณะ WHO ตั้งคำถามว่า ประเทศอื่นๆในโลกได้เรียนรู้บทเรียนหรือไม่ในเรื่องความรวดเร็วในการดำเนินการ เมื่อมีการแพร่ระบาดที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ มาตรการรับมือไม่จำเป็นต้องปิดเมืองแบบจีน เพราะลักษณะการปกครองของจีน รวมทั้งความมุ่งมั่นจริงจังของคนจีน ทำให้สามารถใช้มาตรการที่เด็ดขาดดังกล่าว

ที่มาภาพ : https://egyptindependent.com/china-virus-death-toll-nears-1400-six-health-workers-among-victims/

มาตรการ “ระยะห่างทางสังคม”

ส่วนบทความชื่อ Controlling Coronavirus Will Mean Keeping People Apart ใน foreignaffairs.com กล่าวว่า ช่วงปลายเดือนมกราคมและต้นเดือนกุมภาพันธ์ จีนใช้มาตรการ “ระยะห่างทางสังคม” (social distancing) ที่เข้มงวดเด็ดขาด โดยการจำกัดคนหลายร้อยล้านคนให้อยู่กับบ้าน ทำให้จำนวนคนติดเชื้อไวรัสลดลง แต่มาตรการควบคุมทางสังคมแบบนี้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากกับประเทศอื่น

ไวรัสโควิด-19 มีความแตกต่างจากไวรัสโรคซาร์ส โควิด-19 สามารถทำให้เกิดอาการแบบไม่รุนแรง การแพร่ระบาดสามารถเกิดขึ้นได้ ก่อนที่คนไข้จะแสดงอาการติดเชื้อ ทำให้ไวรัสโควิด-19 สามารถแพร่ระบาด ก่อนที่ผลการตรวจโรคจะยืนยันการติดเชื้อดังกล่าว

การใช้มาตรการ “ระยะห่างทางสังคม” ของจีน จึงช่วยลดการแพร่ระบาด เมืองสำคัญๆของจีนหลายเมืองกลายเป็นเมืองร้าง บางเมืองอนุญาตให้คนออกจากบ้านได้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อออกไปซื้ออาหาร มีการปิดโรงเรียนและโรงงานเป็นเวลาที่นานกว่าระยะเวลาการหยุดในช่วงตรุษจีน

ในกลางเดือนกุมภาพันธ์ รัฐบาลจีนเริ่มผ่อนคลายการจำกัดการเคลื่อนไหวของคนจีน หลังจากที่มีแอปป์บนสมาร์ทโฟน ที่พัฒนาโดย Alibaba เพื่อตรวจสอบภาวะสุขภาพของประชาชนแต่ละคน สีเขียวสำหรับคนที่สามารถออกจากบ้านได้ สีเหลืองสำหรับคนที่จำเป็นต้องกักกันตัวเองที่บ้าน 7 วัน และสีแดงสำหรับคนที่ต้องกักตัวเองที่บ้าน 14 วัน

แอปนี้จะคอยติดตามการเคลื่อนไหวของแต่ละคน หากคนๆนั้นติดต่อกับคนที่ติดเชื้อ หรือเดินทางไปยังพื้นที่มีการแพร่ระบาด ภาวะสุขภาพจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลืองหรือสีแดง คนที่อยู่ในภาวะสีเขียนจะได้รับอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจ หรือเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ หรือใช้บริการสาธารณะอื่นๆ การตรวจสอบการเคลื่อนไหวของประชาชน จะดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และคณะกรรมการท้องถิ่น

แอปแสดงการจัดระดับสุขภาพคนจีน เป็นสีเขียว เหลือง และแดง

บทความของ foreignaffairs.com กล่าวว่า ประเทศต่างๆจะใช้มาตรการจำกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะการห้ามนักเดินทางจากต่างประเทศเดินทางเข้ามา หากมาจากประเทศที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 นักวิทยาศาสตร์เองคาดการณ์ว่า การตรวจจับนักเดินทางเข้าประเทศ จะสามารถระบุคนที่ติดเชื้อได้เพียง 1 ใน 3 ส่วน 2 ใน 3 ของคนติดเชื้อจะตรวจจับไม่ได้ เพราะเหตุนี้จะเกิดการแพร่ระบาดอย่างเงียบๆขึ้นมา

ดังนั้น ความสำคัญอันดับแรกจึงอยู่ที่การลดการแพร่ระบาดที่จะเกิดขึ้นในชุมชน การป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดดังกล่าว จะต้องอาศัยวิธีการ 2 แบบ

วิธีการแรกคือ การแยกคนที่ติดเชื้อออกมา นำมาแยกตัวรักษาในโรงพยาบาล ติดตามคนที่สัมผัสอย่างใกล้ชิดกับคนติดเชื้อ และดำเนินการกักกันคนเหล่านี้ หากคนที่ถูกกักกันมีอาการ ก็จะไม่แพร่เชื้อแก่คนอื่น วิธีการนี้เคยได้ผลในการจำกัดการแพร่ระบาดของโรคซาร์สมาแล้วในปี 2003

วิธีการที่ 2 เรียกว่า การกำหนดระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distrancing ซึ่งเป็นมาตรการลดการติดต่อสัมพันธ์ของคนในชุมชน เช่น การห้ามการชุมนุม การปิดโรงเรียน การยกเลิกการแข่งขันกีฬา การแสดงดนตรี หรือการร่วมพิธีกรรมทางศาสนา เป็นต้น ส่วนธุรกิจก็อาจดำเนินงานโดยลดจำนวนพนักงานให้น้อยลง หลายประเทศที่เกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในชุมชน ก็เริ่มใช้มาตรการกำหนดระยะห่างทางสังคม เช่น อิตาลีสั่งปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ จนถึงวันที่ 15 มีนาคม

มาตรการจำกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของจีน ที่มาภาพ : https://www.foreignaffairs.com/articles/china/2020-02-26/controlling-coronavirus-will-mean-keeping-people-apart

Howard Markel นักประวัติศาสตร์การแพทย์ ที่เขียนหนังสือชื่อ Quarantine บอกกับ New York Times ว่าการที่ประเทศจะมีเอกภาพในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรค

“จะต้องอาศัยความเป็นผู้นำจากระดับสูง และต้องทำให้เกิดความเชื่อมั่นวางใจ ในการแพร่ระบาดของโรค ความคิดที่ว่า “คนแต่ละคนต่างก็มีสิทธิในข้อเท็จจริงส่วนตัวของแต่ละคน” คือสิ่งที่อันตรายอย่างแท้จริง”

เอกสารประกอบ

To Take on the Coronavirus, Go Medieval on It, 28 February 2020, nytimes.com
Who chief: what rest of world can learn from China’s fight against coronavirus, 27 February 2020, scmp.com
Controlling Coronavirus Will Mean Keeping People Apart, Benjamin Cowling, 26 February 2020, foreignaffairs.com