ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > ความคิด “ชาตินิยมวัคซีน” ทำให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยาวนานออกไปอีก

ความคิด “ชาตินิยมวัคซีน” ทำให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยาวนานออกไปอีก

5 มกราคม 2021


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : nytimes.com

ในบทความของ The New York Time ชื่อ For Covid-19, Some Are Too Rich and Too Poor กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในโลกเรา กำลังเป็นตัวกำหนดที่ว่าประเทศไหนจะได้วัคซีนโควิด-19 ก่อนประเทศอื่น ส่วนในแอฟริกาใต้ โอกาสดีที่สุดที่ประชาชนของประเทศนี้จะได้รับวัคซีนได้เร็วสุด คือการเข้าร่วมโครงการทดลองวัคซีน

ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โรงงานผลิตวัคซีนในแอฟริกาใต้ จะผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้วันละ 1 ล้านโดส แต่วัคซีนที่ผลิตออกมานี้จะรีบส่งไปยังศูนย์แจกจ่ายวัคซีนในยุโรปตะวันตก ที่ได้สั่งซื้อล่วงหน้าเป็นมูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ ไม่มีจำนวนวัคซีนส่วนไหนที่จะนำมาใช้ในแอฟริกาใต้ ประเทศหนึ่งที่มีจำนวนคนติดไวรัสโควิด-19 มากที่สุดในโลก เป็นจำนวน 1 ล้านคน

ชาตินิยมวัคซีน

ส่วนบทความของ foreignaffairs.com ชื่อ Vaccine Nationalism Will Prolong the Pandemic กล่าวว่า นับเป็นวิกฤติทางการแพทย์ของโลกอีกครั้งหนึ่ง ในเรื่องการเข้าถึงยารักษาโรค เมื่อประเทศมั่งคั่งจำนวนน้อย รวมทั้งสหรัฐอเมริกา ที่ใช้เงินนับพันล้านดอลลาร์ในการซื้อวัคซีนโควิด-19 ที่อยู่ในช่วงระยะแรกของการผลิต

หากสหรัฐฯ ใช้สิทธิ์ที่จะซื้อวัคซีนของ Pfizer & BioNTech เพิ่มอีก 500 ล้านโดส ก็หมายความว่า ในปี 2021 สหรัฐฯ ที่มีประชากรแค่ 1 ใน 7 ของโลก จะมีปริมาณวัคซีนสำรองมากกว่าครึ่งหนึ่งของการผลิตวัคซีนของโลก

การผลิตวัคซีนโควิด-19 มีต้นทุนที่แพงกว่าการผลิตยารักษาโรค HIV/AIDS กระบวนการผลิตวัคซีนก็ซับซ้อนมากกว่า ปัจจุบันมีประเทศเพียง 10 กว่าประเทศที่สามารถผลิตวัคซีนโควิด-19 ดังนั้น ในช่วงระยะแรก ประเทศต่างๆ ในโลกจะเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่จึงขึ้นอยู่กับว่าประเทศผู้ผลิตวัคซีนยินยอมหรือไม่ ที่จะกระจายวัคซีนตามหลักเกณฑ์ความจำเป็นทางสาธารณสุข ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับกำลังซื้อของประเทศนั้นๆ

บทความของ foreignaffairs.com กล่าวว่า ประเทศร่ำรวยได้สั่งซื้อวัคซีนล่วงหน้าเป็นจำนวนมาก และยังสต็อกวัคซีนในปริมาณที่เกินสัดส่วนจำนวนคนติดเชื้อโควิด-19 และจำนวนประชากรของตัวเอง เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา และญี่ปุ่น มีประชากรน้อยกว่า 1% ของโลก แต่มีปริมาณสต็อกวัคซีนโควิด-19 รวมกันมากกว่าปริมาณวัคซีนของประเทศในลาตินอเมริการวมกัน ที่มีประชากรติดโควิดถึง 17% ของโลก

ปริมาณสต็อกวัคซีนจำนวนมากของประเทศร่ำรวย แสดงว่า การฉีดวัคซีนในประเทศเหล่านี้ จะให้ครอบคลุมประชากรทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงเท่านั้น ดังนั้น ประเทศเหล่านี้จะยังไม่บริจาควัคซีนที่มีอยู่ล้นเกิน จนกว่าจะรู้แน่ชัดว่า ประสิทธิผลของวัคซีนโควิด-19 อยู่ได้ยาวนานแค่ไหน

นโยบายของประเทศร่ำรวยตะวันตกดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อโครงการนานาชาติเรียกว่า COVAX ที่จะให้ประเทศต่างๆ เข้าถึงวัคซีนโควิด-19

โครงการ COVAX

COVAX เป็นโครงการนานาชาติ เพื่อดำเนินการให้ประเทศต่างๆในโลก โดยเฉพาะประเทศยากจน สามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 โครงการนี้ริเริ่มจากองค์การอนามัยโลก ฝรั่งเศส และสหภาพยุโรป COVAX ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนและราคาของวัคซีน โดยมีเป้าหมายว่า เมื่อสิ้นปี 2021 จะแจกจ่ายวัคซีน 2 พันล้านโดส ให้แก่ประเทศต่างๆ ที่มีฐานะยากจนหรือรายได้ปานกลาง ปริมาณวัคซีนดังกล่าว คาดว่าพอเพียงที่จะปกป้องกลุ่มคนที่เสี่ยง รวมทั้งบุคลากรสาธารณสุข

บทความของ The New York Times กล่าวว่า ประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางส่วนใหญ่ไม่อยู่ในฐานะจะเจรจาซื้อวัคซีนในตลาดเปิดทั่วไป จึงต้องอาศัยโครงการ COVAX ในการแบ่งปันวัคซีนระหว่างนานาประเทศ COVAX ตั้งขึ้นมาก็เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในเรื่องการกระจายวัคซีนในหมู่ประเทศต่างๆ เจ้าหน้าที่ของแอฟริกาใต้คาดหวังว่า ภายใต้โครงการ COVAX ประเทศนี้จะได้รับวัคซีนในกลางปี 2021 นี้ แต่ก็ได้เจรจาขอซื้อวัคซีนมาเสริมจากบริษัทเอกชนผู้ผลิตวัคซีน

ที่มาภาพ : nytimes.com

ทางเลือกของคนจน

สำหรับคนยากจนจำนวนมากของแอฟริกาใต้ โอกาสดีที่สุดที่จะได้รับวัคซีนโควิด-19 ให้เร็วที่สุด คือการเข้าร่วมโครงการทดลองวัคซีน จุดนี้ทำให้เกิดประเด็นเรื่องจริยธรรมขึ้นมา แอฟริกาใต้สนับสนุนบริษัทยา 4 บริษัท ที่จะเข้ามาทำการทดลองวัคซีน คำถามมีอยู่ว่า หากการทดลองประสบความสำเร็จ แอฟริกาใต้ควรได้รับหลักประกันการได้รับวัคซีนหรือไม่ แต่รัฐบาลแอฟริกาใต้ก็ไม่ได้รับหลักประกันจากจากบริษัทยา เวลาเดียวกัน หากมีหลักประกันดังกล่าว ก็อาจเป็นการลงโทษประเทศอื่น ที่เข้าร่วมการทดลองวัคซีนแต่ไม่ประสบความสำเร็จ

คนแอฟริกาใต้เคยประสบปัญหาแบบเดียวกันนี้มาแล้ว ในทศวรรษ 1990 เมื่อมีการพัฒนายารักษาโรค AIDS คนแอฟริกาใต้เป็นอาสาสมัครในการทดลองยาดังกล่าว โดยที่รู้ดีว่า ตัวเองไม่มีวันที่จะมีเงินมาซื้อยาตัวนี้

ดังนั้น โครงการ COVAX จึงถูกริเริ่มขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยได้เงินทุนมาจาก WHO และประเทศร่ำรวย ประเทศที่ไม่สามารถหาซื้อวัคซีนที่มีราคาสูงในจากตลาดเปิด ก็ไปซื้อจาก COVAX ส่วนประเทศยากจน จะได้รับวัคซีนฟรี

เจ้าหน้าที่แอฟริกาใต้กล่าวว่า โครงการ COVAX สำคัญ แต่ก็แสดงความผิดหวัง รัฐบาลจะต้องจ่ายเงินล่วงหน้า โดยที่ไม่รู้ว่าจะได้รับวัคซีนแบบไหน หรือมีหลักประกันว่าจะได้รับวัคซีนเมื่อไหร่ COVAX จะคำนวณราคาวัคซีนต่อโดส แต่ COVAX ช่วยอะไรไม่ได้มาก หากว่าราคาวัคซีนเกิดสูงขึ้น ประเทศต่างๆ ต้องรับความเสี่ยงเองทั้งหมด เช่น หากวัคซีนเกิดล้มเหลวขึ้นมา

ราคาวัคซีน ความลับธุรกิจ

แอฟริกาใต้จ่ายเงินไป 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อจัดหาวัคซีนผ่าน COVAX สำหรับฉีดให้กับประชากรราวๆ 10% ที่ประกอบด้วยบุคลากรทางการแพทย์ และคนที่มีความเสี่ยงสูง ส่วนการหาวัคซีนให้กับประชากรอีก 50 ล้านคน จะอาศัยการจัดซื้อวัคซีนจากบริษัทยา

การจัดซื้อวัดซีนจากบริษัทเอกชนผู้ผลิตเป็นกระบวนการที่เป็นความลับ รัฐบาลประเทศต่างๆ ไม่เปิดเผยรายละเอียดเรื่องราคาของวัคซีน แต่เมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา The New York Times รายงานข่าวเรื่อง เจ้าหน้าที่ด้านงบประมาณของเบลเยี่ยมคนหนึ่งเกิดผิดพลาดขึ้นมา โดยเปิดเผยราคาวัคซีนของบริษัท Pfizer-BioNTech

คณะกรรมาธิการยุโรป (EU Commission) ทำหน้าที่เจรจาแทนประเทศสมาชิก 27 ประเทศ ในการจัดหาวัคซีน 410 ล้านโดส สำหรับพลเมืองของ EU คณะกรรมาธิการจะเก็บเรื่องราคาวัคซีนเป็นความลับ แต่ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่เบลเยี่ยมเปิดเผยว่า วัคซีนของ Pfizer-BioNTech มีราคาโดสละ 12 ยูโร หรือ 14.7 ดอลลาร์ ดังนั้น ต้นทุนวัคซีนต่อคนที่ต้องการ 2 โดส คือ 24 ยูโร แต่ราคาวัคซีนทางการของ Pfizer-BioNTech อยู่ที่โดสละ 19.5 ดอลลาร์ ดังนั้น ราคาวัคซีนต่อคนเท่ากับ 39 ดอลลาร์

ข้อมูลของกลุ่ม EU ยังระบุราคาวัคซีนซื้อจากบริษัท Moderna อยู่ที่โดสละ 18 ดอลลาร์ ทาง Moderna ประกาศว่า จะคิดราคาวัคซีนโดสหนึ่ง 25-37 ดอลลาร์ แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ทำสัญญาซื้อจาก Moderna ในราคาที่ถูกกว่า คือโดสละ 15 ดอลลาร์ ทั้งนี้เพราะสหรัฐฯ ให้เงินสนับสนุนแก่ Moderna ในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ขึ้นมา แต่สหรัฐฯ กลับจ่ายให้วัคซีนของ Pfizer-BioNTech ในราคาที่สูงกว่ากลุ่ม EU

ที่ผ่านมา โครงการให้ความช่วยเหลือแบบมูลนิธิการกุศล มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือประเทศที่มีฐานะยากจนในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจ การช่วยเหลือด้านอาหาร และการต่อสู้กับโรค AIDS

แต่วิธีการแบบการกุศลอาจไม่ใช่คำตอบในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก การแก้ปัญหาต้องอาศัยการร่วมมือของนานาชาติ บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน แบบเดียวกับโครงการ COVAX ในการเอาชนะวิกฤติทางสาธารณสุขของโลกครั้งนี้

เอกสารประกอบ

For COVID-19 vaccines, some are too rich, and too poor, December 28, 2020, nytimes.com
A European Official Reveals a Secret: The US. Is Paying More for Coronavirus Vaccines, December 22, 2020, nytimes.com
Vaccine Nationalism Will Prolong the Pandemic, December, 2020, foreignffairs.com