ThaiPublica > เกาะกระแส > ADB ชี้โควิด-19 ดึงตลาดพันธบัตรเอเชียร่วงแรง – เตือนหนี้ท่วมโลกฉุดเศรษฐกิจหนัก

ADB ชี้โควิด-19 ดึงตลาดพันธบัตรเอเชียร่วงแรง – เตือนหนี้ท่วมโลกฉุดเศรษฐกิจหนัก

26 มีนาคม 2020


เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank หรือ ADB) ออกรายงานติดตามภาวะตลาดพันธบัตร ประจำเดือนมีนาคม 2563 หรือ Asia Bond Monitor – March 2020 ระบุว่าการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก กำลังกระทบอย่างหนักต่อตลาดพันธบัตรของเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก ได้แก่ จีน, ฮ่องกง, อินโดนิเซีย, เกาหลีใต้, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ไทย และเวียดนาม

“ตลาดการเงินในภูมิภาคดังกล่าวกำลังรู้สึกถึงผลกระทบที่รวดเร็วและรุนแรงจากการระบาดของโรค เนื่องจากการลงทุนจากต่างประเทศและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กำลังอยู่ในช่วงขาลง รวมไปถึงประเด็นทางการค้าที่ยังดำเนินต่อไป ความพยายามที่จะรองรับผลกระทบด้านลบผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือนโยบายการเงิน เพื่อจะสนับสนุนครัวเรือน ธุรกิจ และตลาดการเงินควรดำเนินต่อไป” นายซาวาดะ ยะซุยูกิ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ เอดีบี กล่าว

นอกจากภูมิภาคดังกล่าว ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลในประเทศที่พัฒนาแล้วยังคงตกต่ำลงเช่นเดียวกับช่วงสิ้นปีที่ผ่านมาจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ จากความกังวลของนักลงทุนที่มากขึ้นและอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่างๆที่เริ่มตระหนักถึงผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรค ผลตอบแทนที่ลดลงดังกล่าวทำให้ตลาดทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกขาดทุน, ค่าเงินของภูมิภาคที่อ่อนค่าลงเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ, ทำให้ส่วนต่างของอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้ (CDS Swap Spread) กว้างขึ้น และการเทขายที่เกิดขึ้นในตลาดที่ดำเนินมาตั้งแต่เดือนมกราคมในบางตลาดก็น่าจะดำเนินต่อไปอีก

ธนาคารกลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกหลายแห่งได้ลดดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจของโรคระบาด ไม่ว่าจะเป็นจีน, ไทย, อินโดนิเซีย, ฟิลิปปินส์, เกาหลีใต้, มาเลเซีย, ฮ่องกง และเวียดนาม ขณะที่ส่วนอื่นของโลก เฟดของสหรัฐอเมริกาได้ลดดอกเบี้ยนโยบายไปแล้วสองครั้งจนเข้าใกล้ 0% อีกครั้ง ร่วมกับมาตรการอัดฉีดตลาดการเงินอื่นๆ

รายงานยังระบุถึงการส่งผ่านผลกระทบของการระบาดต่อเศรษฐกิจไว้ว่า สามารถส่งผ่านไปทั้งการลดลงของอุปสงค์ภายในประเทศ การลดลงของภาคท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง การชะงักของภาคการผลิตและการเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิตกับการค้าทั่วโลก และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาสุขภาพ ทั้งนี้ขนาดของผลกระทบยังต้องติดตามต่อไปและขึ้นอยู่กับพัฒนาการของการระบาด ซึ่งยังไม่แน่นอนสูง การศึกษาเบื้องต้นในหลายสถานการณ์ที่เป็นไปได้คาดว่าการระบาดของโรคจะมีต้นทุนตั้งแต่ 76,700 ถึง 347,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 0.1-0.4% ของจีดีพีโลก โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 155,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 0.2% ของจีดีพีโลก

สำหรับกรณีของประเทศไทย รายงานระบุว่าอาจจะสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยว ตั้งแต่ 4,265.8 – 11,923.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นจีดีพีที่ลดลงไป 0.845 – 2.361%

“2 ใน 3 ของผลกระทบทั้งหมดคาดว่าจะตกอยู่กับประเทศจีน ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียจะได้รับผลกระทบจากการลดลงของภาคท่องเที่ยว และบางประเทศ เช่น ฮ่องกง จีน ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการเชื่อมโยงของภาคการค้าและการผลิตด้วย” รายงานระบุ

ขณะที่การตอบสนองของภาคการเงินในระยะที่ผ่านมาพบว่าตลาดทุนได้รับผลกระทบในระดับทั้งตลาด และการตอบสนองของตลาดการเงินมักจะขึ้นอยู่กับข่าวภายในประเทศ มากกว่าข่าวที่เกิดขึ้นในภูมิภาคหรือประเทศอื่นๆในโลก หากตลาดการเงินถูกกระทบจากการระบาดในหลายภูมิภาคมากขึ้นเรื่อยๆจะทำให้เกิดการ “ติดต่อ” ระหว่างตลาดการเงินและทำให้ตลาดการเงินตกต่ำอย่างที่เห็นในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์

อนึ่ง ยอดคงค้างของตลาดพันธบัตรในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ณ ธันวาคม 2562 มีมูลค่ากว่า 16 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้น 2.4% จากเดือนกันยายนของปี 2562 และสูงกว่าเดือนธันวาคมของปี 2561 ถึง 12.5% และยอดการออกพันธบัตรใหม่ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 คิดเป็น 1.44 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 9.5% จากเดือนกันยายนของปี 2561 โดยเกาหลีใต้และมาเลเซียมีสัดส่วนของยอดคงค้างพันธบัตรต่อจีดีพีสูงสุดถึง 130.5% และ 104.6% ตามลำดับ

สำหรับยอดคงค้างของตลาดพันธบัตรของไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 มีมูลค่ารวม 13,236 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 6.4% แบ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาล 9,451 ล้านบาท และของเอกชนอีก 3,786 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 5.2% และ 9.4% ตามลำดับ)

รายชื่อบริษัทเอกชนผู้ออกหุ้นกู้มากที่สุด 15 อันดับแรก

เตือนหนี้ท่วมโลกอาจฉุดเศรษฐกิจหนักกว่าคาด

ในวันเดียวกัน เอดีบีได้ออกบทความเตือนถึงภาวะหนี้ของโลกที่อยู่ในระดับสูงและอาจจะกระทบต่อเศรษฐกิจได้มากกว่าที่คาด หากโรคระบาดยังคงดำเนินต่อไป โดยนางสาวซินยอง ปาร์ก (Cyn-Young Park) ผู้อำนวยการด้านการรวมกลุ่มและความร่วมมือของภูมิภาค ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและความร่วมมือของภูมิภาค (Director for Regional Cooperation and Integration, Economic Research and Regional Cooperation Department) กล่าวว่านักเศรษฐศาสตร์ได้เตือนมาหลายปีแล้วว่าความเสี่ยงของการสะสมหนี้ปริมาณมหาศาล ขณะที่ภาคธุรกิจจะลดการกู้ลงในระยะที่ผ่านมา แต่วิศวกรรมการเงินยังคงมีบทบาทสำคัญในการขยายหนี้ไปยังบริษัทที่มีความเสี่ยงสูง หรือ Leveraged loan และในช่วง 10 ปีของภาวะดอกเบี้ยต่ำที่ผ่านมาก็ทำให้มีนักลงทุนสนใจที่จะซื้อมันค่อนข้างมาก

“สถานการณ์การระบาดของโรคในปัจจุบันสร้างความกังวลว่าบริษัทเหล่านี้อาจจะผิดนัดชำระหนี้ และเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่่ไปยังระบบการเงินทั่วโลกเหมือนกับที่วิกฤตการเงินโลกในปี 2551 ในสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะในเอเชียที่มีหนี้ต่อจีดีพีเพียง 33% ในปี 2561 เทียบกับ 34% ในช่วงวิกฤตการเงินโลกครั้งก่อนหน้า และดูเหมือนจะมีภูมิคุ้มกันต่อวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในฝั่งตะวันตก แต่หากดูผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจรอบที่แล้วก็ดูเหมือนจะไม่ได้เป็นแบบนั้น”

ในช่วงวิกฤติการเงินโลกครั้งนั้น คุณภาพสินทรัพย์ลดลงอย่างรวดเร็วและทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงินระหว่างธนาคาร ธนาคารที่มีปัญหาในประเทศพัฒนาแล้วก็รีบวิ่งเข้ามาถอนเงินทุนออกจากประเทศกำลังพัฒนา การส่งผ่านผลประทบของวิกฤติระหว่างประเทศดูเหมือนจะรุนแรง เมื่อธนาคารที่มีปัญหากลายเป็นผู้ให้สินเชื่อรายใหญ่และมีส่วนสำคัญในระบบการเงินโลก และภายใต้การเชื่อมโยงทางการเงินที่มากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อาจจะส่งผลให้ธนาคารในเอเชียได้รับผลกระทบจากการผิดนัดชำระหนี้ได้ค่อนข้างมาก หากเกิดขึ้นในระบบธนาคารเป็นวงกว้างในประเทศที่พัฒนาแล้ว

อนึ่ง ธนาคารเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศ (The Bank for International Settlements) คาดการณ์ว่าปัจจุบันมีหนี้ดังกล่าวคงค้างอยู่ประมาณ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงสิ้นปี 2561 ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ธปท.พร้อมให้ความช่วยเหลือกองทุนรวมตราสารหนี้ทุกกอง

วันที่ 26 มี.ค.2563 นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท. พร้อมให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแก่กองทุนรวมทุกกอง ที่เป็นกองทุน Money Market Fund และกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นกองเปิดทุกกอง ที่ได้รับผลกระทบจากการขาดสภาพคล่องของตลาดการเงิน โดยได้จัดตั้งกลไกพิเศษเพื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแก่กองทุนรวมตราสารหนี้ (Mutual Fund Liquidity Facility: MFLF) ซึ่งกองทุนรวมทุกกองจะขอรับสภาพคล่องผ่านธนาคารพาณิชย์

โดยการกู้ยืมผ่านการธุรกรรม repo หรือการกู้ยืมเงินโดยมีหลักประกันและมีสัญญาว่าจะซื้อคืน ซึ่งธนาคารพาณิชย์ที่ให้ความช่วยเหลือจะสามารถกู้ยืมสภาพคล่องผ่านธุรกรรม repo จาก ธปท. ได้ ด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษ (อัตราดอกเบี้ยนโยบาย -0.5%) นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ สามารถรับซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนตามเกณฑ์และสามารถใช้หน่วยลงทุนมาเป็นหลักประกันในการกู้ยืมสภาพคล่องจาก ธปท. ได้เช่นกัน

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีธนาคารพาณิชย์ได้เริ่มทดลองใช้กลไกพิเศษดังกล่าว แต่ปริมาณการขอรับความช่วยเหลือมีจำนวนไม่มากซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี เนื่องจากตลาดการเงินไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น สภาพคล่องของกองทุนรวมปรับดีขึ้นจากสัปดาห์ก่อน หลังจากผู้ถือหน่วยลงทุนลดความตื่นตระหนก ได้ศึกษาทำความเข้าใจทรัพย์สินที่กองทุนรวมลงทุนมากขึ้น รวมถึงเข้าใจว่าการไถ่ถอนหน่วยลงทุนในภาวะที่ตลาดการเงินไม่ปกตินั้น อาจทำให้ได้รับผลตอบแทนต่ำกว่าที่ควรโดยไม่จำเป็น