ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ตามหางบฯ ฉุกเฉินสู้วิกฤติโควิด -19 วงเงิน 96,000 ล้านบาท

ตามหางบฯ ฉุกเฉินสู้วิกฤติโควิด -19 วงเงิน 96,000 ล้านบาท

1 เมษายน 2020


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

มี.ค. 2563 เดือนเดียว รัฐบาลประยุทธ์เร่งอนุมัติงบฉุกเฉิน 96,000 ล้าน เกลี้ยง เยียวยา-ป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 เกือบ 80,000 ล้านบาท ภัยแล้งกว่า 8,300 ล้านบาท

ก่อนตอบคำถามนี้ ขอทำความเข้าใจความหมายของคำว่า “งบกลาง” ซึ่งในที่นี้หมายถึง งบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้ เพื่อจัดสรรให้ส่วนราชการและหน่วยงานรัฐอื่นๆ ของรัฐนำไปใช้จ่ายนอกเหนือจากงบประมาณที่ได้รับตามปกติ รวมทั้งงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้เป็นค่าใช้จ่ายเฉพาะเรื่อง

ในปีงบประมาณ 2563 มีทั้งหมด 11 รายการ มีวงเงินรวม 518,000.92 ล้านบาท ในจำนวนอยู่ในความดูแลของกรมบัญชีกลางมี 7 รายการ วงเงินรวม 418,771 ล้านบาท ประกอบด้วย

    1) ค่าใช้จ่ายชดใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน 3,000 ล้านบาท
    2) ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ 71,200 ล้านบาท
    3) เงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ 4,940 ล้านบาท
    4) เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ 265,716 ล้านบาท
    5) เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ 10,465 ล้านบาท
    6) เงินสมทบลูกจ้างประจำ 670 ล้านบาท
    7) เงินสำรอง เงินสมทบ เงินชดเชยของข้าราชการ 62,780 ล้านบาท

งบกลางส่วนที่เหลืออีก 100,000 ล้านบาท อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงบประมาณสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีมี 4 รายการ ได้แก่

    8) ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินและต้อนรับประมุขต่างประเทศ 1,000 ล้านบาท
    9) ค่าใช้จ่ายตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 2,500 ล้านบาท
    10) เงินชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง 500 ล้านบาท
    11) เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 96,000 ล้านบาท

ข้อสังเกต ในช่วงที่นำเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร งบกลางทั้ง 11 รายการจะกำหนดเฉพาะหัวข้อรายการกับวงเงินงบประมาณเท่านั้น ส่วนรายละเอียดของโครงการนั้น ไม่มี หรือเรียกกันว่า “ตีเช็คเปล่า”

แต่อย่างไรก็ตาม ทั้ง 11 รายการได้กำหนดหัวข้อและวัตถุประสงค์การใช้จ่ายเงินเอาไว้ชัดเจน การที่จะโยกนำงบฯ ไปใช้จ่ายในวัตถุประสงค์อื่นทำได้ค่อนข้างลำบาก และที่สำคัญ งบกลางแต่ละรายการจะมีเจ้าของจับจองกันไว้หมดแล้ว ยกตัวอย่าง งบฯ รักษาพยาบาล แต่ละปีงบประมาณที่ตั้งไว้ไม่พอจ่าย มีการเบิกเงินก็ต้องไปยืมเงินคงคลังมาใช้ก่อน แล้วก็ตั้งงบฯ มาชดใช้กันในปีถัดไป

แต่ที่เป็นประเด็นคำถามขึ้นมาในตอนนี้ เป็นที่เข้าใจว่ามีเพียงงบกลาง ในหมวดสำรองจ่าย กรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นวงเงิน 96,000 ล้านบาท ที่สามารถนำมาใช้เพื่อต่อสู้วิกฤติโควิด-19ได้ ดังนั้นเพื่อตอบคำถามว่ารัฐบาลบริหารจัดการงบกลางประเภทนี้อย่างไร ตอนนี้อนุมัติจ่ายไปหมดหรือยัง อยู่ในขั้นตอนไหน

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ค้นข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถึงวันที่ 24 มีนาคม 2563 พบว่าที่ประชุม ครม. ได้อนุมัติงบกลาง รายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นไปประมาณ 11 ครั้ง รวมเป็นวงเงิน 96,835 ล้านบาท มีดังนี้

วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ที่ประชุม ครม. อนุมัติงบกลาง กรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 116 ล้านบาท ให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ไปทำโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว “ถึงเวลาทัวร์ ให้ทั่วไทย” 2 มาตรการ คือ 1) มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว “ร้อยเดียว เที่ยวทั่วไทย” และ 2) มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว “เที่ยววันธรรมดา ราคา SHOCK โลก” โดยให้เบิกจ่ายตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 2562 ไปพลางก่อน เนื่องจากงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ยังไม่มีผลบังคับใช้

วันที่ 22 ตุลาคม 2562 ครม.อนุมัติงบกลาง 2,000 ล้านบาท ให้กระทรวงการคลังไป ดำเนินโครงการชิม ช้อป ใช้ เฟส 2 โดยให้เบิกจ่ายตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2562 ไปพลางก่อน

วันที่ 7 มกราคม 2563 ครม. อนุมัติงบกลาง 3,079 ล้านบาท ให้ให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ใช้เป็นค่าใช้จ่ายในโครงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/2563

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นวันเดียวกับ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา และให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 วันนี้ ที่ประชุม ครม. อนุมัติงบกลาง 2,968 ล้านบาท ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำไปใช้ในโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการฟื้นฟู เยียวยา เกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วง อุทกภัย ปี 2562

วันที่ 3 มีนาคม 2563 ครม. อนุมัติงบกลาง 225 ล้านบาท ให้กระทรวงมหาดไทย เป็นค่าวัสดุอุปกรณ์ในการจัดทำหน้ากากอนามัยในโครงการพลังคนไทยร่วมใจป้องกันไวรัสโคโรนา 2019 โดยการจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 7,774 แห่ง (เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล)

วันเดียวกันนี้ ครม. ได้อนุมัติงบกลาง 1,233 ล้านบาท ให้กระทรวงสาธารณสุขจัดทำโครงการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 ระยะที่ 2 เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิต รวมทั้งควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงจำกัด และยกระดับสมรรถนะการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุม ของประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

วันที่ 10 มีนาคม 2563 ครม. อนุมัติงบกลาง 20,000 ล้านบาท ให้กระทรวงการคลังออกมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 เฟสที่ 1 ซึ่งมีทั้งมาตรการภาษีและมาตรการการเงินผ่านสถาบันเฉพาะกิจของรัฐ

วันที่ 17 มีนาคม 2563 ครม. อนุมัติงบกลาง 17,310 ล้านบาท ให้สำนักงบประมาณ จัดสรรงบประมาณบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ประมาณ 9,002 ล้านบาท และแก้ปัญหาภัยแล้ง 8,308 ล้านบาท

วันที่ 24 มีนาคม 2563 ครม.อนุมัติงบกลาง 3 รายการ คือ 1. อนุมัติงบกลาง 45,000 ล้านบาท ให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จัดทำทำมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 เฟสที่ 2 แจกเงินช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ อาชีพอิสระ คนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน 2. อนุมัติงบกลาง 4,380.16 ล้านบาท ให้ออมสิน, ธ.ก.ส. และธพว. ไปจัดทำมาตรการเสริมความรู้ และ 3. อนุมัติงบกลาง 523 ล้านบาท ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร

สรุปในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถึงวันที่ 24 มีนาคม 2563 รัฐบาลได้มีการอนุมัติงบกลางไปประมาณ 11 ครั้ง รวมเป็นวงเงินประมาณ 96,835 ล้านบาท โดยเฉพาะในเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาดอย่างรุนแรง มียอดอนุมัติงบกลางมากถึง 88,672 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 91.57% ของวงเงินที่ได้รับการอนุมัติจาก ครม.

หากจำแนกตามวัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงิน แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ

  • กลุ่มแรก ใช้แก้ปัญหาการแพร่ระบาดและเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประมาณ 79,841 ล้านบาท
  • กลุ่มที่ 2 ใช้แก้ปัญหาขาดแคลนน้-ภัยแล้ง 14,355 ล้านบาท
  • กลุ่มที่ 3 เอาไปใช้กระตุ้นการบริโภค จับจ่ายใช้สอยผ่านโครงการชิม ช้อป ใช้ เฟส 2 และ โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว “ถึงเวลาทัวร์ ให้ทั่วไทย” 2,116 ล้านบาท
  • กลุ่มสุดท้าย ป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร 523 ล้านบาท

อนึ่ง การสืบค้นข้อมูลจากเว็บไซต์ข่าวทำเนียบรัฐบาลครั้งนี้ ยังไม่นับรวมงบกลางที่มีวงเงินไม่ถึง 100 ล้านบาท ตามระเบียบการจัดสรรงบกลาง กรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น อยู่ในอำนาจการอนุมัติของผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ หรือนายกรัฐมนตรี อาจไม่จำเป็นต้องขออนุมัติจาก ครม. และไม่นับรวมงบกลาง ส่วนที่ ครม. อนุมัติ ให้เบิกจ่ายตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 2562 ไปพลางก่อน แต่เมื่องบประมาณรายจ่ายปี 2563 มีผลบังคับใช้แล้ว ต้องนำไปหักออกจากงบฯ ปกติที่ได้รับจัดสรรจากสำนักงบฯอยู่แล้ว

ตอนต่อไป เงินภาษีเรา เขาเอาไปทำอะไร “งบกลาง” ค้างท่อเกือบ 3 แสนล้านบาท