ThaiPublica > เกาะกระแส > มาตรการ “ระยะห่างทางสังคม” ขยายวงทั่วโลก สกัดไวรัสโควิด-19

มาตรการ “ระยะห่างทางสังคม” ขยายวงทั่วโลก สกัดไวรัสโควิด-19

17 มีนาคม 2020


ประชาชนในอิตาลียืนห่างกันระหว่างรอเข้าซูเปอร์มาร์เก็ต ที่มาภาพ:https://www.vox.com/2020/3/15/21179296/coronavirus-covid-19-social-distancing-bored-pandemic-quarantine-ethics

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่กระจายไปทั่วโลกและมีผู้ติดเชื้อในจำนวนที่มากกว่าจีน ทำให้มาตรการ “ระยะห่างทางสังคม” ถูกนำไปใช้มากขึ้นในวงกว้างและในหลายประเทศ พร้อมๆ กับมาตรการปิดประเทศ หรือ lockdown

สหรัฐฯ ปิดร้านอาหาร-บาร์-โรงเรียน

ในสหรัฐอเมริกาซึ่งการระบาดของโควิด-19 กระจายออกไปหลายรัฐ ทำให้เจ้าหน้าที่ใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อสกัดการระบาด ด้วยการสั่งปิดโรงเรียนและสั่งห้ามการชุมนุมสังสรรค์ รวมทั้งสั่งปิดบาร์และร้านอาหาร และห้ามการรวมตัวของคนที่มีจำนวน 50 คนขึ้นไปเป็นเวลา 8 สัปดาห์

ร้านอาหารและบาร์ถูกสั่งปิดในหลายรัฐของสหรัฐอเมริกา ทั้งนิวยอร์กซิตี แมสซาชูเซตส์ โอไฮโอ วอชิงตัน และเปอร์โตริโก ในบางรัฐอนุญาตให้ขายอาหารได้สำหรับการซื้อกลับบ้านหรือผ่านบริการส่งถึงที่ มาตรการนี้มีผลให้บาร์ในนิวยอร์กซิตี บอสตัน แคลิฟอร์เนีย และที่อื่นๆ ต้องปิดให้บริการ จากปกติที่จะมีลูกค้ามากเป็นพิเศษเนื่องในวันเซนต์แพตทริกซึ่งมีขึ้นทุกวันที่ 17 มีนาคมของทุกปี

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) แนะนำให้งดกิจกรรมที่มีคนเข้าร่วม 50 คนขึ้นไป ทั้งงานแต่งงาน เทศกาลรื่นเริง เดินพาเหรด คอนเสิร์ต กีฬา หรือสัมมนา ในช่วง 8 สัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการรัฐที่จะชะลอการระบาดของไวรัส

ที่มาภาพ: https://edition.cnn.com/2020/03/16/us/nyc-coronavirus /index.html

ในแคลิฟอร์เนีย ผู้ว่าการรัฐ นายเกวิน นิวซัม ขอให้ประชาชนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปอยู่กับบ้าน “เราขอให้ประชาชนผู้สูงวัยทุกรายในแคลิฟอร์เนียอยู่กับบ้าน” รวมทั้งประกาศสั่งปิดบาร์ ไนท์คลับ และร้านไวน์ทุกแห่ง ส่วนร้านอาหารยังอนุญาตให้เปิดได้ แต่ต้องลดจำนวนที่นั่งในร้านลงครึ่งหนึ่ง เพื่อให้มี “ระยะห่างทางสังคม” ของผู้ที่เข้ามารับประทานอาหารภายในร้าน

ทางด้านนายกเทศมนตรีลอสแอนเจลิส นายอีริก การ์เซตติ ได้ประกาศเมื่อเย็นวันที่ 15 มีนาคม ว่า ได้สั่งปิดบาร์ ไนท์คลับ และร้านอาหารชั่วคราว แต่อนุญาตให้ซื้อกลับบ้านและซื้อผ่านระบบเดลิเวอรีได้

จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึงมากกว่า 3,100 รายใน 49 รัฐ หลังจากหลายสัปดาห์ของการส่งสัญญานที่สับสนของรัฐบาลกลาง หน่วยงานระดับรัฐ และระดับท้องถิ่นทั่วประเทศ จึงได้ออกมาตรการที่เข้มงวดเพื่อชะลอการระบาด

นายเกวิน นิวสัม ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่มาภาพ:
https://www.usatoday.com/story/news/nation/2020/03/15/coronavirus-bars-restaurants-closed-states/5055634002/

แม้จะใกล้ช่วงโรงเรียนเปิดเทอม แต่หลายโรงเรียนได้ปิดการเรียนการสอน ซึ่ง CDC ระบุว่า ข้อแนะนำไม่ได้หมายถึงโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษาในระดับสูงขึ้น หรือภาคธุรกิจ และไม่ได้ต้องการที่จะก้าวล้ำคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในแต่ละพื้นที่ เพียงแต่ต้องการไม่ให้มีการระบาดไปยังพื้นที่อื่นเพิ่มขึ้น และชะลอการระบาดของไวรัสในพื้นที่พบการติดเชื้อแล้ว แต่ก็มีหลายส่วนที่ปิดทำการ นิวยอร์กซิตีซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ มีนักเรียน 1.1 ล้านคน ประกาศปิดโรงเรียน ส่วนแมสซาชูเซตส์สั่งปิดโรงเรียนทั้งรัฐเริ่มตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคมนี้ เช่นเดียวกับหลายโรงเรียนทั่วประเทศที่ปิดไปก่อนหน้านี้

  • ทำไม “ระยะห่างทางสังคม” (Social Distancing) อาจเป็นมาตรการดีที่สุดเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดโควิด-19
  • ความสำเร็จจีนต่อสู้ไวรัสโควิด-19 วิธีการโบราณของศตวรรษที่ 14 กับมาตรการ “ระยะห่างทางสังคม”
  • ยุโรป Lockdown ปิดประเทศ

    ไวรัสที่ระบาดไปทั่วทุกภูมิภาคทั้งในยุโรป แอฟริกา ขณะที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ระบุเมื่อวันที่ 13 มีนาคม ว่า ยุโรปกลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของไวรัสไปแล้ว หลังจากที่ผู้ติดเชื้อใหม่โดยรวมเพิ่มขึ้นแต่ละวันสูงกว่าที่จีน โดยเฉพาะที่อิตาลีซึ่งมีผู้ติดเชื้อสูงเป็นอันดับสองรองจากจีน ณ วันที่ 15 มีนาคม 2563 มีผู้เสียชีวิต 1,809 ราย เพิ่มขึ้น 25% จากวันก่อนและสูงสุดภายในหนึ่งวัน ทำให้หลายประเทศมีการใช้มาตรการปิดประเทศห้ามต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ

    นายจูเซปเป กองเต นายกรัฐมนตรีอิตาลี ให้สัมภาษณ์เมื่อวันอาทิตย์ว่า รัฐบาลอาจจะใช้มาตรการเพิ่มเติมเพื่อสกัดการระบาดของไวรัสและเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

    “มาตรการที่ได้ดำเนินการไปแล้วยังไม่เพียงพอ” นายกองเตกล่าวกับหนังสือพิมพ์รายวันกอร์เรียเรอเดลลาเซรา (Corriere della Sera) “หลังการระบาดของไวรัสทุกสิ่งก็จะไม่เหมือนเดิม” นายกองเตหมายถึงประเทศหลังจากที่ใช้มาตรการปิดประเทศหรือ lockdown “เราต้องเขียนกติกาการค้าและตลาดเสรีกันใหม่”

  • อิตาลีประกาศปิดประเทศ ขยายมาตรการกักกันทุกพื้นที่สู้ไวรัสโควิด-19
  • ประเทศอื่นๆ ในยุโรปได้เริ่มใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น โดยสเปนเป็นประเทศที่สองในยุโรปที่ใช้มาตรการล็อกดาวน์ เพราะสถานการณ์การระบาดรุนแรงเป็นอันดับสองรองจากอิตาลี ด้วยการสั่งในวันเสาร์ให้ประชาชน 47 ล้านคนอยู่กับบ้าน หลังจากที่จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และรัฐบาลประกาศว่าภริยานายกรัฐมนตรีติดเชื้อไวรัส

    นายเปโดร ซานเชซ นายกรัฐมนตรีสเปน ประกาศล็อกดาวน์ประเทศตามหลังอิตาลีในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ผ่านรายการโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ โดยประชาชนจะออกนอกบ้านหากจำเป็น เช่น ไปทำงาน พบแพทย์ หรือหาซื้ออาหาร และให้คำสั่งนี้มีผลทันทีและบังคับใช้เป็นเวลา 15 วันภายใต้การประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ และอาจจะขยายเวลาออกไปอีก

    นอกจากนี้ สเปนได้ขยายการปิดร้านอาหาร บาร์ โรงแรม ซึ่งเป็นมาตรการที่ใช้ในบางภูมิภาคอยู่แล้ว ออกไปทั่วประเทศ รวมทั้งสั่งงดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก กิจกรรมทางศาสนา ตลอดจนสั่งปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัย

    ในวันอาทิตย์เจ้าหน้าที่สเปนรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อว่ามีเกือบ 8,000 ราย และมีผู้เสียชีวิต 288 ราย

    ไร้ผู้คนที่ เมืองบาสก์ สเปน ที่มาภาพ: https://www.reuters.com/article/us-health-coronavirus-spain/spain-to-impose-nationwide-lockdown-draft-idUSKBN2110LE

    ส่วนที่ฝรั่งเศส ได้นำมาตรการระยะห่างสังคมมาใช้เช่นกัน โดยสั่งปิดร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านค้าที่ไม่จำเป็น และสั่งให้ประชาชนอยู่กับบ้าน เพื่อชะลอการระบาดของไวรัส พร้อมให้ปิดโรงเรียน ยกเว้นบางโรงเรียนแต่ให้เปิดรับเฉพาะบุตรของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

    นายเอดัวร์ ฟิลิป นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ยังได้สั่งปิดสถานบันเทิงตั้งแต่เที่ยงคืนของวันที่ 15 มีนาคม ในการแถลงข่าววันเสาร์ซึ่ง ณ เวลานั้นมีผู้เสียชีวิตจากไวรัส 91 รายและมีผู้ติดเชื้อราว 4,500 ราย

    “ผมได้ตัดสินใจสั่งปิดสถานที่ที่ไม่จำเป็น เช่น ร้านกาแฟ ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ ไนท์คลับ และร้านค้า เราต้องจำกัดการเดินทางให้มากที่สุด แต่ยกเว้นร้านค้าปลีก ร้านยา และสถานีน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งได้ขอให้ประชาชนงดการเดินทางข้ามเมือง” นายฟิลิปกล่าว

    นายฟิลิปกล่าวต่อว่า รัฐบาลไม่มีทางเลือกมากนัก และต้องใช้มาตรการที่เข้มงวดเพราะยังมีคนจำนวนมากออกไปนอกบ้าน เตร็ดเตร่บนถนน เข้าร้านกาแฟ และร้านอาหาร ไม่มีการกักกันตัวเองตามที่รัฐบาลแนะนำ ซึ่งทำให้การระบาดมากขึ้น แม้ก่อนหน้านี้ได้สั่งปิดโรงเรียนและแนะนำให้ผู้สูงวัย 70 ปีขึ้นไปอยู่กับบ้าน

    ต่อมาวันที่ 16 มีนาคม รัฐบาลได้พิจารณาที่จะล็อกดาวน์กรุงปารีสเต็ม 100% หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 2 เท่าในทุก 3 วัน โดยนายเจอโรม ซาโลมอน รัฐมนตรีสาธารณสุขกล่าวว่า สถานการณ์น่ากังวลมากขึ้นและเลวร้ายลงรวดเร็ว เพราะยังมีคนที่ไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งล็อกดาวน์ของรัฐบาล โดยยังออกมาเตร็ดเตร่นอกบ้าน แม้มีคำสั่งห้ามรวมตัวเกิน 100 คนขึ้นไป สวนสาธารณะยังมีคนเต็ม ร้านอาหารแบบรับกลับบ้านก็ยังเปิดขาย

    ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อไวรัส 5,437 ราย และมีผู้ป่วยในห้องไอซียูมากกว่า 400 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 36 รายใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ทำให้รวมเป็น 127 ราย

    ชาวฝรั่งเศสยังคงออกนอกบ้าน แม้มีมาตรการ lockdown ที่มาภาพ: https://www.dailymail.co.uk/news/article-8116131/France-considering-complete-lockdown-PARIS-people-ignore-advice.html

    ทางด้านเยอรมนีจะปิดพรมแดนที่ติดกับออสเตรีย เดนมาร์ก ฝรั่งเศส ลักเซมเบิร์ก และสวิตเซอร์แลนด์ เป็นการชั่วคราว เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 16 มีนาคมนี้ จากการเปิดเผยของรัฐมนตรีมหาดไทยเมื่อวันที่ 15 มีนาคม

    อย่างไรก็ตาม จะยังเปิดให้มีการขนสินค้าระหว่างประเทศ และผู้คนยังสามารถเดินทางข้ามแดนได้ มาตรการนี้มีเป้าหมายสกัดการระบาดของไวรัส และลดการตื่นตระหนกและแห่กักตุนของใช้จากชาวต่างชาติ ซึ่งทำให้ขาดแคลนสินค้าบางประเภทในพื้นที่ชายแดน

    ผู้ติดเชื้อในเยอรมนีมีจำนวน 4,585 รายและมีผู้เสียชีวิต 9 ราย

    ส่วนประเทศเพื่อนบ้านของเยอรมนี ทั้งโปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก และเดนมาร์ก ได้ปิดชายแดนและได้ใช้มาตรการที่เข้มงวดมาก่อนหน้านี้แล้ว ขณะที่โปรตุเกสสั่งปิดชายแดนที่ติดกับสเปนเริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 16 มีนาคม

    ในออสเตรีย นายเซบาสเตียน คูร์ซ ได้ขอให้ประชาชนอยู่กับบ้าน สั่งห้ามการรวมตัวของคนมากกว่า 5 คนขึ้นไป รวมทั้งสั่งปิดโรงเรียน ร้านค้า เมื่อวันจันทร์ และจำกัดการเดินทางเข้าประเทศของพลเมืองอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ รัสเซีย และยูเครน

    ที่เนเธอร์แลนด์ได้สั่งปิดบาร์ สปอร์ตคลับ ร้านเซ็กซ์ชอป ร้านกาแฟ ตั้งแต่คืนวันอาทิตย์

    สำปรับประเทศอื่นนั้น สโลวาเกียประกาศภาวะฉุกเฉิน ขณะที่พบผู้ติดเชื้อรายแรกที่ฮังการี ส่วนสาธารณรัฐไซปรัสห้ามเข้าประเทศทุกคนหากไม่มีใบรับรองจากแพทย์ว่าไม่ได้ติดเชื้อไวรัส และรวมถึงคนที่ต้องกักตัว 14 วัน

    นายอังเดร บาบิส นายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐเช็ก เตรียมประกาศให้ประเทศอยู่ในภาวะกักกันหลังจากผู้ติดเชื้อเพิ่มจาก 214 รายเป็น 231 รายแต่ไม่มีผู้เสียชีวิต

    โรมาเนีย ซึ่งมีผู้ติดเชื้อ 123 รายได้ประกาศภาวะฉุกเฉินในวันนี้

    ที่มาภาพ: https://www.bbc.com/news/world-europe-51897069

    ประเทศลัตเวียประกาศมาตรการ หลังประชุมคณะรัฐมนตรีและคณะมนตรีด้านการจัดการฉุกเฉิน (Crisis Management Council) เมื่อบ่ายวันเสาร์ โดย สั่งห้ามการขนส่งคมนาคมที่มีผู้โดยสาร ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคมนี้

    การคมนาคมที่มีผู้โดยสารทั้งรถบัส รถไฟ สายการบิน ต้องระงับตั้งแต่เที่ยงคืนของวันที่ 16 มีนาคม แต่ไม่ห้ามการขนส่งสินค้าเพื่อให้ร้านค้ามีสินค้าจำหน่ายและยังสามารถให้บริการได้ รวมทั้งห้ามการจัดกิจกรรม ทั้งด้านวัฒนธรรม กีฬา และทางศาสนา ตลอดจนห้ามการรวมตัวของคนจำนวน 50 คนขึ้นไป และได้ให้โรงเรียนเลื่อนการสอบปลายภาค

    นอกจากนี้ พรมแดนของลัตเวียที่ติดกับรัสเซียและเบลารุส จะถูกปิดห้ามการเข้าของรถโดยสารสาธารณะและทั้งรถส่วนตัว

    รัฐบาลขอให้ชาวลัตเวียที่อยู่นอกประเทศรีบเดินทางเข้าประเทศให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างไรก็ตาม แม้หลังมาตรการมีผลบังคับใช้ พลเมืองลัตเวียและผู้ที่มีถิ่นฐานในลัตเวียยังเดินทางเข้าประเทศได้

    ทางด้านอาร์เมเนียและรัสเซียทำข้อตกลงระงับการคมนาคมขนส่งผู้โดยสารของทั้งสองประเทศเป็นเวลา 2 สัปดาห์

    อเมริกาใต้-กลางปิดชายแดน

    ทางด้านประเทศในอเมริกาใต้และอเมริกากลาง ต่างใช้มาตรการสกัดการระบาดของไวรัสโควิดเช่นกัน โดยปานามาได้สั่งห้ามชาวต่างชาติซึ่งไม่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศ (non-resident foreigners) เข้าประเทศตั้งแต่เวลา 23.59 น. ของคืนวันที่ 16 มีนาคม และสั่งให้โรงแรม ดิสโก้ บาร์ และคาสิโน หยุดดำเนินการชั่วคราวยกเว้นซูเปอร์มาร์เกต ร้านขายยา ศูนย์แพทย์ นอกเหนือจากการห้ามทำการผ่าตัด และจำกัดการรับผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาล

    ส่วนฮอนดูรัสได้ปิดชายแดนการขนส่งคมนาคมที่มีผู้โดยสารเป็นเวลา 1 สัปดาห์ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนวันที่ 14 มีนาคม รวมทั้งห้ามกิจกรรมที่มีคนร่วม 50 คนขึ้นไป และสั่งให้ธุรกิจหยุดดำเนินการชั่วคราวยกเว้น ซูเปอร์มาร์เกต ร้านขายยา ศูนย์แพทย์ โรงแรม สถานีน้ำมัน และธนาคาร

    ผู้นำของอาร์เจนตินาและเปรูได้สั่งปิดชายแดนเมื่อวันอาทิตย์ เพื่อสกัดการระบาดของไวรัส โดยอาร์เจนตินาจะปิดชายแดน 15 วันสำหรับผู้ที่ไม่มีถิ่นฐาน (non-residents) ในอาร์เจนตินา

    ที่มาภาพ: https://www.reuters.com/article/us-health-coronavirus-central-america-gu/south-central-american-nations-tighten-borders-to-combat-coronavirus-idUSKBN2121E1

    นายอัลแบร์โต เฟอร์นานเดซ นายกรัฐมนตรีอาร์เจนตินา ประกาศผ่านโทรทัศน์ว่า โรงเรียนรัฐและเอกชนจะปิดไปถึงวันที่ 31 มีนาคม และปิดห้ามใช้สวนสาธารณะ

    นายมาร์ติน วิซคาร์รา นายกรัฐมนตรีเปรูประกาศวันที่ 15 มีนาคมว่า จะปิดชายแดน ห้ามการเดินทางทั้งทางอากาศและทางทะเล รวมทั้งขอให้พลเมืองอยู่ในกับบ้านเป็นเวลา 15 วัน เพื่อชะลอการระบาดของไวรัส

    โคลอมเบีย ห้ามนักเดินทางที่ไม่ใช่พลเมืองหรือไม่มีถิ่นพำนักในโคลอมเบียเข้าประเทศ และต่างชาติที่มีถิ่นพำนักในโคลอมเบียและพลเมืองที่เดินทางเข้าประเทศหลังวันที่ 16 มีนาคมจะต้องกักกันตัวเอง 14 วัน นอกจากนี้สั่งปิดโรงเรียน มหาวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม พร้อมให้เตรียมแผนการเรียนการสอนออนไลน์

    ชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักในโคลอมเบียและพลเมืองที่เดินทางเข้าประเทศหลังวันที่ 16 มีนาคม จะต้องกักกันตัวเอง 14 วัน

    นอกจากนี้ ปิดชายแดนที่ติดกับเวเนซุเอลาตั้งแต่เช้าวันที่ 14 มีนาคม หลังประกาศภาวะฉุกเฉิน ห้ามการรวมตัวที่มีคนเกิน 500 คนขึ้นไป และห้ามเรือสำราญเทียบท่า

    ด้านเวเนซุเอลา ประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร ออกคำสั่งวันที่ 15 มีนาคม ให้ 7 รัฐเป็นเขตกักกัน รวมทั้งเมืองหลวง แต่ยกเว้นการจำหน่ายอาหาร บริการสาธารณสุข การขนส่งและการรักษาความปลอดภัย

    ขณะที่เอกวาดอร์ ใช้มาตรการที่ใกล้เคียงกัน โดยตั้งแต่เวลา 6.00 น.วันที่ 17 มีนาคม จะจำกัดการเดินทางของคนและรถและจะอนุญาตให้เฉพาะการไปซื้ออาหราร ของใช้จำเป็นและยาก หรือเวชภัณฑ์ต่างๆ การไปพบแพทย์ ไปกลับระหว่างบ้านและที่ทำงาน ดูแลผู้สูงวัย ผู้พิการและผู้ป่วยหนัก ไปเติมน้ำมันและกรณีฉุกเฉินเท่านั้น

    อาเซียนจำกัดต่างชาติเข้าประเทศ

    การระบาดในประเทศในอาเซียนไม่รุนแรงท่ากับในยุโรป ได้ใช้มาตรการที่เข้มงวดเพื่อสกัดการระบาดของไวรัสเช่นกัน โดยล่าสุดวันที่ 16 มีนาคม รัฐบาลสิงคโปร์ได้ปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับ ข้อจำกัดการเดินทางของต่างชาติไว้บนเว็บไซต์ โดยเฉพาะชาติอาเซียน ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร

    สิงคโปร์ใช้ 2 มาตรการควบคู่

  • มาตรการระยะห่างทางสังคม
  • ให้ยกเลิกหรือเลื่อนการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม กีฬา สันทนาการที่จำหน่ายตั๋วเข้าชมและจำนวนคนดู 250 คนขึ้นไป สำหรับกิจกรรมที่ได้เตรียมการไปแล้วให้ผู้จัดรายงานมาตรการป้องกันในระดับที่น่าพอใจก่อนที่กิจกรรมจะมีขึ้น และเมื่อมีการรวมตัวของคน ผู้จัดควรลดจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมหรือเพิ่มพื้นที่ระหว่างคน เช่น การมีระยะห่าง 1 เมตรระหว่างกัน และลดการสัมผัส เช่น การจับมือ

    สำหรับนายจ้างควรมีมาตรการลดการสัมผัส เช่น การใช้การสื่อทางไกล การประชุมทางไกล จัดชั่วโมงทำงานใหม่เพื่อให้พนักงานเดินทางในช่วงที่ไม่ใช่ชั่วโมงเร่งด่วน

    ในสถานที่สาธารณะ มาตรการป้องกันอาจรวมถึงการจัดที่นั่งห่างกันอย่างน้อย 1 เมตรในสถานที่รับประทานอาหาร ส่วนสถานบันเทิงและแหล่งท่องเที่ยว เช่น คาสิโน โรงภาพยนตร์ สวนสนุก และแกลเลอรี ควรจำกัดจำนวนผู้เข้าในแต่ละช่วง และเพิ่มพื้นที่ระหว่างผู้เข้าชม

    นายกัง กิม หยง รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า “มาตรการระยะห่างทางสังคมจะช่วยลดการระบาดได้ จึงได้สั่งงดกิจกรรมทางสังคม เนื่องจากมาตรการระยะห่างทางสังคมเป็นการลดความหนาแน่นแออัดของฝูงชน”

    ที่มาภาพ: https://www.thestar.com.my/news/regional/2020/03/13/singapore-rolls-out-more-measures-to-curb-covid-19-infection

  • มาตรการด้านการเดินทาง
  • ชาติอาเซียน (ปรับปรุงล่าสุด 15 มีนาคม 2563)

    รัฐบาลสิงคโปร์กำหนดว่าตั้งแต่เวลา 23.59 น. ของวันที่ 16 มีนาคม 2563 ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ (รวมทั้งชาวสิงคโปร์ ผู้ถือวีซ่าระยะยาว และผู้ถือวีซ่าระยะสั้น) ซึ่งมีประวัติการเดินทางในประเทศสมาชิกอาเซียนในช่วง 14 วันก่อนหน้าจะได้รับการแจ้งให้กักตัวอยู่ที่พักเป็นเวลา 14 วัน โดยจะต้องแจ้งที่พักที่กักตัวในช่วง 14 วันนี้ เช่น การจองห้องพักโรงแรมตลอดทั้ง 14 วัน หรือที่พัก หรือกับครอบครัว หรืออาจจะต้องถูกตรวจหาเชื้อจากจมูกและคอ แม้ไม่มีอาการ

    ตั้งแต่เวลา 23.59 น. ของวันที่ 16 มีนาคม 2563 ผู้ถือวีซ่าระยะสั้นทุกรายซึ่งเป็นประชาชนของชาติอาเซียนจะต้องกรอกข้อมูลสุขภาพแก่สำนักงานของสิงคโปร์ในประเทศที่พำนักก่อนกำหนดวันเดินทาง ซึ่งข้อมูลสุขภาพนี้จะต้องผ่านการอนุมัติของกระทรวงสาธารณสุขก่อนจะเดินทางเข้าสิงคโปร์ และจะต้องได้รับการรับรองจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่หน้าด่านในสิงคโปร์อีกครั้ง ผู้ถือวีซ่าระยะสั้นที่เดินทางมาถึงสิงคโปร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจะไม่ให้เข้าประเทศ

    ทั้งนี้จะไม่ครอบคลุมชาวสิงคโปร์และมาเลเซียที่เดินทางด้วยรถหรือทางเรือจากมาเลเซีย และไม่ครอบคลุมผู้โดยสารเปลี่ยนเครื่องในสิงคโปร์ซึ่งไม่ได้ออกจากพื้นที่รอขึ้นเครื่อง

    ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ หรือสหราชอาณาจักร (ปรับปรุงล่าสุด 15 มีนาคม 2563)

    ตั้งแต่เวลา 23.59 น. ของวันที่ 16 มีนาคม 2563 ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ (รวมทั้งชาวสิงคโปร์ ผู้ถือวีซ่าระยะยาว และผู้ถือวีซ่าระยะสั้น) ซึ่งมีประวัติการเดินทางไป ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ หรือสหราชอาณาจักร ในช่วง 14 วันก่อนหน้าจะได้รับการแจ้งให้กักตัวอยู่บ้านหรือที่พักเป็นเวลา 14 วัน โดยจะต้องแจ้งที่พักที่กักตัวในช่วง 14 วันนี้ เช่น การจองห้องพักโรงแรมตลอดทั้ง 14 วัน หรือที่พัก หรือกับครอบครัว หรืออาจจะต้องถูกตรวจหาเชื้อจากจมูกและคอ แม้ไม่มีอาการ

    ทั้งนี้จะไม่ครอบคลุมผู้โดยสารเปลี่ยนเครื่องในสิงคโปร์ซึ่งไม่ได้ออกจากพื้นที่รอขึ้นเครื่อง

    ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และสเปน(ปรับปรุงล่าสุด 13 มีนาคม 2563)

    ตั้งแต่เวลา 23.59 น. ของวันที่ 16 มีนาคม 2563 ผู้เดินทางรายใหม่ที่มีประวัติเดินทางไปฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และสเปนในช่วง 14 วันก่อนหน้าจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศหรือเปลี่ยนเครื่องที่สิงคโปร์

    สำหรับชาวสิงคโปร์และผู้ถือวีซ่าระยะยาว ที่มีประวัติเดินทางไปฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และสเปนในช่วง 14 วันก่อนหน้า จะได้รับการแจ้งให้กักตัวอยู่บ้านหรือที่พักเป็นเวลา 14 วัน และภายใน 14 วันนี้จะต้องอยู่ในบ้านตลอดทั้ง 14 วันหลังจากที่กลับเข้าสิงคโปร์

    ที่มาภาพ: https://www.todayonline.com/singapore/covid-19-singapore-imposes-entry-ban-new-visitors-italy-france-spain-germany

    อิหร่าน และสาธารณรัฐเกาหลีใต้ (ปรับปรุงล่าสุด 3 มีนาคม 2563)

    ตั้งแต่เวลา 23.59 น. ของวันที่ 4 มีนาคม 2563 ผู้เดินทางรายใหม่ที่มีประวัติเดินทางไปอิหร่าน และสาธารณรัฐเกาหลีใต้ในช่วง 14 วันก่อนหน้าจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศหรือเปลี่ยนเครื่องที่สิงคโปร์

    สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสิงคโปร์ (Immigration and Checkpoints Authority: ICA) จะงดให้วีซ่าทุกประเภทแก่ผู้ถือพาสสปอร์ตอิหร่าน สำหรับวีซ่าระยะสั้นและวีซ่าที่เดินทางเข้าออกได้หลายครั้งให้กับผู้ถือพาสสปอร์ตอิหร่านก่อนหน้านี้ จะถูกระงับ และระหว่างการระงับนี้จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสิงคโปร์

    สำหรับชาวสิงคโปร์และผู้ถือวีซ่าระยะยาว ที่มีประวัติเดินทางไปอิหร่าน และสาธารณรัฐเกาหลีใต้ในช่วง 14 วันก่อนหน้าจะได้รับการแจ้งให้กักตัวอยู่บ้านหรือที่พักเป็นเวลา 14 วัน และภายใน 14 วันนี้จะต้องอยู่ในบ้านตลอดทั้ง 14 วันหลังจากที่กลับเข้าสิงคโปร์

    จีนแผ่นดินใหญ่

    ตั้งแต่เวลา 23.59 น. ของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ผู้เดินทางรายใหม่ที่มีประวัติเดินทางไปจีนในช่วง 14 วันก่อนหน้าจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศหรือเปลี่ยนเครื่องที่สิงคโปร์

    ผู้เดินเข้าสิงคโปร์และมีอาการไข้หรือมีอาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจอื่น จะถูกตรวจหาเชื้อจากจมูกและคอที่หน้าด่าน ไม่ว่าจะเดินทางมาจากประเทศใดก็ตาม และจะต้องกักกันตัวเองเป็นเวลา 14 วัน ไม่ขาดแม้วันเดียวแม้ผลตรวจออกมาเป็นลบ

    สำหรับรายที่สงสัยซึ่งหมายถึง ผู้ที่มีอาการตามเกณฑ์ทางคลินิกจะถูกนำส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจสอบให้ละเอียดและเฝ้าระวัง ส่วนรายที่ต้องกักกันตัวเองจะต้องอยู่ในที่พักตลอดทั้ง 14 วันหลังจากเดินทางเข้าสิงคโปร์

    นอกจากนี้จะไม่อนุญาตให้เรือสำราญทุกลำเทียบท่า โดยจะมีผลในทันที

    มาเลเซียปิดประเทศ-ห้ามรวมตัวเกิน 50 คน

    ตัน สรี มูห์ยิดดิน ยัสซิน นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย แถลงเมื่อคืนวันที่ 16 มีนาคม 2563 หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นพร้อมประกาศมาตรการเข้ม ทั้งมาตรการระยะห่างทางสังคมและมาตรการห้ามการเดินทาง

    นายกรัฐมนตรีมาเลเซียกล่าวว่า หนึ่งในมาตรการสกัดการระบาดของไวรัสโควิด-19 คือการห้ามชาวมาเลเซียเดินทางออกไปต่างประเทศ และห้ามชาวต่างชาติทั้งนักท่องเที่ยวและอื่นๆเข้าประเทศ ส่วนชาวมาเลเซียที่เดินกลับประเทศต้องผ่านการคัดกรองและกักกันตัวเอง 14 วัน โดยให้มีผลทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 18-32 มีนาคม 2563

    นอกจากนี้ห้ามการรวมตัวของคนจำนวนทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมทางศาสนา กีฬา และด้านวัฒนธรรม

    นายกรัฐมนตรีมาเลเซียแถลงมาตรการ ที่มาภาพ: https://www.thestar.com.my/news/nation/2020/03/16/malaysia-announces-restricted-movement-measure-after-spike-in-covid-19-cases?utm_source=headtopics&utm_medium=news&utm_campaign=2020-03-16

    “เพื่อให้ข้อห้ามนี้มีผลบังคับ ศาสนสถานและสถานประกอบการทุกแห่งต้องปิดทำการ ยกเว้นซุปเปอร์มาร์เก็ต ตลาด ร้านค้าปลีก และร้านขายของใช้จำเป็น กิจกรรมทางการศาสนาที่มัสยิดและสุเหร่าต้องระงับชั่วคราว ตามผลการพิจารณาของ Special Muzakarah Councilในวันที่ 15 มีนาคม 2563 ซึ่งรวมถึงการละหมาดทุกวันศุกร์”นายยัสซินกล่าว

    ศูนย์รับเลี้ยงเด็กเล็ก หรือเนิร์สเซอรี่ โรงเรียนรัฐและเอกชน โรงเรียนประจำ โรงเรียนนานาชาติ ศูนย์เรียนรู้ โรงเรียนประถม โรงเรียนมัธยมต้นและมัธยมปลายทุกแห่งต้องปิดการเรียนการสอน รวมถึงมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน ตลอดจนโรงเรียนอาชีวะ

    สถานที่ราชการและบริษัทเอกชนทุกแห่งต้องหยุดทำงานยกเว้นส่วนงานที่จำเป็นเพื่อให้บริการสาธารณะ ได้แก่ น้ำประปา ไฟฟ้า พลังงาน การสื่อสาร ไปรษณีย์ จนส่ง ระบบบริการน้ำ นำ้มัน ก๊าซ เชื้อเพลิง กระจายเสียง การเงิน การธนาคาร สุขภาพ ยา ดับเพลิง เรือนจำ ท่าเรือ การรักษาความปลอดภัย กลาโหม บริการทำความสะอาด ค้าปลลีกและอาหาร

    “เราไม่สามารถปล่อยให้เวลาผ่านไปจนสถานการณ์เลวร้ายลง ดังนั้นมาตรการเข้มงวดมีความจำเป็นเพื่อป้องกันเสียตั้งแต่วันนี้ ไม่ให้ไวรัสระบาดมากขึ้นด้วยการห้ามการเดินทาง”นายกรัฐนตรีกล่าว และเรียกร้องประชาชนไม่ตื่นตระหนกหรือกังวลมากเกินไป

    รัฐบาลท้องถิ่นในมาเลเซียได้ใช้มาตรการเพิ่มเติ่มเพื่อสกัดการะบาดของไวรัส โดยที่รัฐซาบาห์ออกแถลงการณ์ให้เลี่ยงหรือเลื่อนการจัดกิจกรรมที่มีคนเข้าร่วม 50 คนขึ้นไป ขณะที่แนะนำหน่วยงานรัฐ องค์กรเอกชน และหน่วยงานที่ไม่ใช่ภาครัฐให้ใช้การประชุมทางไกลหรือการสื่อสารผ่านระบบดิจิทัล รวมทั้งให้ปฏิบัติตามมาตรการการปฏิบัติงานของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19

    นอกจากนี้ยังแนะนำให้ประชาชนเลี่ยงการเดินทางไปประเทศหรือในรัฐอื่นของมาเลเซียที่มีการพบการติดเชื้อไวรัส รวมทั้งให้รักษาความสะอาด กักกันตัวเอง หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่สาธารณะ และใช้มาตรการระยะห่างทางสังคมด้วยการอยู่ให้ห่างกันอย่างน้อย 2 เมตร เลี่ยงการจับมือ หากมีอาการเช่น ไอ หรือเป็นหวัด หายใจขัดควรไปรับการรักษา

    สมาคมวัฒธรรมรัฐซาบาห์(KadazanDusun Cultural Association :KDCA) ได้ประกาศยกเลิกการจัดงานเทศกาลกามะตัน ฉลองฤดูเก็บเกี่ยวประจำปีในเดือนพฤษภาคม

    ส่วนที่ปีนัง ได้มีการ ยกเลิกและเลื่อนการจัดกิจกรรมและโครงการของรัฐทั้งหมด รวมทั้งประกาศข้อห้ามการเดินทางไปต่างประเทศของข้าราชการ

    ก่อนหน้านี้ได้มีการเลื่อนกิจกรรมการจ่ายเงินผู้สูงวัยไปแล้ว รวมทั้งยกเลิกการเฉลิมฉลองเมืองมรดกโลกจอร์ชทาวน์ และเทศกาลศิลปะ(George Town Festival)

    นับจากที่มีการพบผู้ติดเชื้อรายแรกในรัฐปีนัง โรงงาน 2 แห่งได้ปิดการผลิตชั่วคราวและให้พนักงานทำงานจากบ้าน

    อินโดนีเซียปิดโรงเรียน

    ในอินโดนีเซียหน่วยงานท้องถิ่นได้ใช้มาตรการระยะห่างทางสังคม ด้วยการจำกัดการจัดกิจกรรม สั่งปิดโรงเรียนและแหล่งท่องเที่ยวเพื่อสกัดการระบาดของไวรัส รวมถึงมาตรการอื่นๆ ซึ่งเป็นการดำเนินการก่อนที่ประธานาธิบดีโจโก วิโดโดประกาศให้ประชาชนอยู่ห่างกันพร้อมให้ทำงานและเรียนหนังสือจากบ้าในวันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม 2563 เสียอีก

    รัฐบาลท้องถิ่นจาการ์ต้า ประกาศในวันเสาร์ที่ 13 มีนาคม 2563 สั่งปิดโรงเรียนทั่วทั้งเมืองและระงับการสอบไว้ 2 สัปดาห์โดยมีผลในวันที่ 16 มีนาคม 2563 นักเรียนจะเรียนหนังสือผ่านระบบทางไกล

    ดร. อานีส์ บาสวีดาน ผู้ว่าการกรุงจาการ์ต้ากล่าวในการแถลงข่าวว่า “มีเด็กจำนวนหนึ่งตรวจผบผลบวก และอาจจะเป็นพาหะไปติดผู้ใหญ่ ที่ไปส่งเด็กที่โรงเรียน ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงจึงต้องปิดโรงเรียนเชื้อ” นอกจากนี้จะใช้แนวทางของเวียดนามและสิงคโปร์ ที่ห้ามการจัดกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากเข้าร่วม

    ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผู้ว่าการกรุงจารการ์ต้าได้ขอให้ประชาชนอยู่กับบ้านและลดกิจกรรมนอกบ้านลง ยกเว้นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน เพื่อเลี่ยงการรวมตัวของคนจำนวนมากในที่สาธารณะ ซึ่งรวมถึงกิจกรรมทางศาสนา และให้ยกเลิกการแต่งงาน หรือจัดงานแต่งงานก็ได้แต่ต้องมีมาตรการป้องกันรัดกุม เช่น แยกห้องสำหรับแขกที่ป่วย มีการวัดอุณหภูมิแขกที่มาร่วมงาน มีเจลล้างมือเตรียมไว้ตรงทางเข้าและทางออก และห้ามจับมือและมีการสัมผัสทางกาย

    ก่อนหน้านี้จาการ์ต้าได้ปิดสถานที่พักผ่อนหย่อนใจหลายแห่งที่เป็นทรัพย์สินของเมืองชั่วคราว เช่น สวนสนุก สวนสัตว์ และพิพิธภัณฑ์ ยกเลิกวันคาร์ฟรีเดย์ประจำสัปดาห์ 2 อาทิตย์ แต่ยังให้บริการรถสาธารณะ บริการสาธารณะ ศูนย์สุขภาพชุมชน

    ที่มาภาพ: https://www.nst.com.my/world/world/2020/03/574602/jakarta-closes-all-schools-covid-19-cases-surge

    ที่สุราการ์ต้า ชวากลาง ได้ประกาศภาวะฉุกเฉิน หลังจากมีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัส พร้อมกับสั่งห้ามจัดกิจกรรม รวมทั้งงดคาร์ฟรีเดย์เป็นเวลา 14 วัน งดการแคมปิ้ง การจัดทัศนศึกษา นอกเหนือจากการสั่งให้ประชาชน 62 คนที่สัมพันธ์กับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสกักกันตัว

    ผู้ว่าการ ชวากลางได้ประกาศปิดโรงเรียนทุกแห่งชั่วคราว 14 วันและใช้วิธีการเรียนออนไลน์แทน แต่การสอบของนักเรียนเกรด 12 ยังคงมีอยู่

    ส่วนที่มาลัง ชวาตะวันออก มีการยกเลิกการแข่งขันบาสเก็ตบอล ขณะที่ ชวาตะวันตกสั่งให้เด็กนักเรียนเรียนหนังสือออนไลน์ 2 สัปดาห์ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2563 โดยในสัปดาห์แรกเด็กจะเรียนเกี่ยวกับไวรัสโควิด -19 และวิธีการป้องกันตัวเอง

    ทางด้านมหาวิทยาลัยทั่วประเทศก็ได้มาตรการป้องกัน โดย มหาวิทยาลัยกัดจาห์ มาดา ที่ยอร์กจาการ์ต้า สถาบันเทคโนโลยีบันดุง ในบันดุง ชวาตะวันตก มหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย ในจาการ์ต้าและสถาบันแห่งรัฐเพื่ออิสลามศึกษาในสุราการ์ต้า เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันการศึกษาที่ยกเลิกการเรียนการสอนแบบเดิม และหันไปสอนผ่านระบบออนไลน์แทน และหลายแห่งได้สั่งห้ามการจัดกิจกรรมของนักศึกษา และยกเลิกการเดินทางไปต่างประเทศ

    ฟิลิปปินส์ปิดกรุงมะนิลา

    รัฐบาลฟิลิปปินส์ประกาศเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 สั่งระงับการเดินทางเข้าออกกรุงมะนิลาเป็นเวลา 1 เดือนตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2563 ถึง 14 เมษายน 2563 และให้กักกันทั้งเมือง เพื่อสกัดการระบาดของไวรัส หลังจากมีการระบาดมากขึ้นในหลายพื้นที่

    รัฐบาลได้ยกระดับการระบาดเป็นระดับ 2 ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่มีการติดต่อในชุมชนอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยได้รับเชื้อในพื้นที่ หลังจากประกาศการระบาดระดับ 1 ไปในเวลาไม่กี่วันนับจากวันที่ 7 มีนาคม 2563

    ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต้ จึงประกาศหลังการประชุมด่วนกับทีมงานเฉพาะกิจรับมือการระบาดของไวรัสที่ประกอบด้วยหลายหน่วยงาน ว่า “จำเป็นต้องใช้มาตรการการกักกันชุมชนทั่วทั้งมะนิลา”

    “นี่เป็นการปิดเมือง เพื่อปกป้องและดูแลประชาชนจากการระบาดของไวรัส” ประธานาธิบดีดูเตอร์เต้กล่าวและว่า การเดินทางเข้าและออกกรุงมะนิลาไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางเรือ หรือทางอากาศภายในประเทศจะถูกระงับชั่วคราวในช่วง 1 เดือน อีกทั้งสั่งขยายการหยุดการเรียนการสอนทุกระดับในมหานครมะนิลา(Metro Manila) ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2563 ไปจนถึงวันที่ 12 เมษายน 2563 และจะประเมินสถานการณ์เป็นวันต่อวัน

    ที่มาภาพ: https://www.untvweb.com/news/metro-manila-under-30-day-community-quarantine-amid-covid-19-outbreak/

    ระบบรถไฟ ทั้งรถไฟรางเบา(LRT) รถไฟฟ้า(MRT) และเส้นทางรถไฟจากการรถไฟแห่งชาติ(PNR) และขนส่งสาธารณะทุกประเภทยังเปิดให้บริการ

    แต่กรมขนส่งออกคำแนะนำให้ใช้ “ระยะห่างทางสังคม” ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญในการป้องกันการระบาด

    รัฐบาลสนับสนุนให้บริษัทเอกชนอนุญาตให้พนักงานทำงานจากบ้าน โดยยึดข้อแนะนำจากกระทรวงแรงงานและกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรม เพื่อดูแลสวัสดิการพนักงาน

    “โรงงาน ธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจบริการยังคงเปิดทำการได้ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการระยะห่างทางสังคมอย่างเข้มงวด” แถลงการณ์ทำเนียบประธานาธิบดีระบุ ซึ่งประธานาธิบดีดูเตอร์เต้กล่าวว่า อาจะปรับเปลี่ยนแนวปฏิบ้ติเป็นคำสังประธานาธิบดี(Executive Order)

    “กิจกรรม ไม่ว่าจะได้เตรียมการไว้แล้วหรือจัดกระทันหันที่มีคนจำนวนมากเข้าร่วม ต้องมีการสั่งห้าม”ประธานาธิบดีดูเตอร์เต้กล่าวและเรียกร้องประชาชนให้ความร่วมมือ

    เวียดนามห้ามกลุ่มประเทศเชงเก้น-อังกฤษ

    กระทรวงต่างประเทศเวียดนามประกาศเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2563 ว่า ห้ามการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศที่ใช้วีซ่าเชงเก้นและอังกฤษ โดยมีผลตั้งแต่เที่ยงวันของวันที่ 15 มีนาคม 2563 หลังจากที่มีการระบาดของไวรัสรุนแรงในยุโรป

    เว็บไซต์กระทรวงต่างประเทศระบุว่า จากการที่ไวรัสโควิด-19 ระบาดไปในวงกว้างทั่วโลก เวียดนามจึงตัดสินใจที่จะห้ามการเดินทางเข้าประเทศเป็นการชั่วคราวของนักท่องเที่ยวที่มาจากกลุ่มประเทศที่ใช้วีซ่าเชงเก้น สหราชอาณาจักร และไอร์แลนด์เหนือ หรือได้เดินทางไปเยือนประเทศเหล่านี้รวมทั้งเปลี่ยนเครื่องในประเทศกลุ่มนี้ในช่วง 14 วันก่อนหน้าที่จะเข้าเวียดนามเป็นเวลา 30 วัน

    นอกจากนี้ยังได้ระงับการออกวีซ่าหน้าด่าน(Visa upon arrival) ให้แก่ชาวต่างชาติจากทุกประเทศชั่วคราว

    สำหรับต่างชาติที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหารธุรกิจ แรงงานทักษะสูง ต้องรับการตรวจและกักกันตัวตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข

    ก่อนหน้านี้เวียดนามได้ยกเลิกฟรีวีซ่าที่ให้กับ พลเมืองจาก 8 ประเทศยุโรป ได้แก่ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี นอร์เวย์ สเปน สวีเดนและอังกฤษ จากการระบาดของไวรัสโควิด-19

    กัมพูชาห้ามคน 5 ชาติเข้าประเทศ

    รัฐบาลกัมพูชาได้ ห้ามคน 5 ชาติเข้าประเทศได้แก่ อิตาลี เยอรมนี สเปน ฝรั่งเศส และสหรัฐฯเป็นเวลา 30 วันเพื่อป้องการระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังจากพบว่า ชาวต่างชาติจากหลายประเทศติดเชื้อ

    แถลงการณ์กระทรวงสาธารณสุขที่ประกาศออกมาวันที่ 14 มีนาคม 2563 ระบุว่า ข้อจำกัดนี้จะมีผลในเวลาเที่ยงคืนวันที่ 17 มีนาคม 2563 และในแถลงการณ์อีกฉบับ กระทรวงฯได้สั่งปิดโรงเรียนนานาชาติแคนาดาซึ่งตั้งในเกาะเพชร ชั่วคราวเพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ พร้อมให้ครูและนักเรียนกักกันตัวเอง 14 วัน หลังจากมีชาวแคนาดา 2 รายคลุกคลีกับเด็ก

    ลาวให้สายการบินต่างชาติวัดอุณหภูมิผู้โดยสาร

    สปป.ลาวซึ่งไม่มีผู้ติดเชื่อได้ออกมาตรการป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วยการขอให้ สายการบินต่างชาติวัดอุณหภูมิผู้โดยสารและลูกเรือทุกรายก่อนบินเข้าลาว

    คณะทำงานป้องกันและควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ประกาศเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2563 ว่า สายการบินต่างชาติทุกแห่งต้องวัดอุณหภูมทุกคนทั้ง นักบิน พนักงานต้อนรับ และผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่อง และหากใครมีอาการไข้หวัดจะต้องรับการรักษาที่ประเทศต้นทาง ส่วนผู้ที่เดินทางมาถึงลาวและแสดงอาการจะถูกส่งโรงพยาบาลเพื่อเฝ้าระวังและตรวจการติดเชื้อ

    ที่มาภาพ : https://laotiantimes.com/2020/03/05/laos-asks-foreign-airlines-to-check-passengers-temperatures-before-flying/?fbclid=IwAR0i7hqIzZLIwtT5fPbKnVXcdId5dY3TfMwbcCPgXaWX0f7W1wnd2kU0mN8

    เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 ลาวได้เพิ่มมาตรการคัดกรองชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศ หลังจากมีประวัติเดินทางไปเกาหลีใต้ และจีนที่มีการระบาดของไวรัสรุนแรง โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางไปสองประเทศนี้ในช่วง 14 วันก่อนเข้าลาวจะต้องผ่านกระบวนการคัดกรองที่เข้มงวด โดยต้องกรอกข้อมูลสุขภาพเมื่อเข้าลาว ผู้มีอาการต้องผ่านการตรวจซ้ำถึง 3 ครั้งเพื่อให้แน่ใจ

    เมียนมายกเลิกการจัดงาน

    เมียนมาเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ แต่ได้เฝ้าระวังและทำเนียบประธานาธิบดี ประกาศห้ามการจัดกิจกรรมที่มีคนเข้าร่วมจำนวนมากรวมไปถึงการยกเลิกการจัดงานเทศกาลต่างๆ ไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน

    การสั่งห้ามมีขึ้นเนื่องจากไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายได้เร็วในกลุ่มคนที่อยู่รวมกันจำนวนมาก และหากจำเป็นก็จะขยายการห้ามจัดกิจกรรมออกไปอีก

    ที่มาภาพ: https://www.thestar.com.my/news/regional/2020/03/13/myanmar-on-high-covid-19-alert-and-restrict-public-events-until-late-april

    แถลงการณ์ทำเนียบประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2563 ระบุว่า ยังไม่มีการพบผู้ติดเชื้อในประเทศ แต่ขอความร่วมมือประชาชนให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อป้องการอุบัติของโรคในประเทศ

    นางออง ซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา ได้เรียกประชุมฉุกเฉินเพื่อเตรียมแนวทางในการป้องกันและรับมือกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมทั้งลดกระทบที่มีต่อการค้าและเศรษฐกิจ หาแนวทางช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้าง ร้านค้าที่ปิดกิจการ