ThaiPublica > เกาะกระแส > ฝุ่นพิษ PM 2.5 จาก “ป้องกัน” สู่ “วาระแห่งชาติ” และแผนปฏิบัติการ 52 หน้า

ฝุ่นพิษ PM 2.5 จาก “ป้องกัน” สู่ “วาระแห่งชาติ” และแผนปฏิบัติการ 52 หน้า

19 ธันวาคม 2019


ภัยจากมลพิษฝุ่นละอองทำให้อายุขัยเฉลี่ยของคนทั่วโลกลดลงมากที่สุด ซึ่งฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพฯ เกิดจากไอเสียดีเซลเป็นหลัก

เกาะติดการรับมือฝุ่นพิษ PM 2.5 ของประเทศไทย ภายใต้รัฐบาลพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จาก “ป้องกัน” สู่ “วาระแห่งชาติ” และแผนปฏิบัติการ 52 หน้า

“ฝุ่นพิษ” หรือฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 กลับมาบุกกรงเทพฯ อีกครั้งอย่างชัดเจนในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนธันวาคม และล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2562 รัฐบาลเริ่มออกมาเคลื่อนไหวอย่างจริงจังอีกครั้ง โดยนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความสำคัญกับสถานการณ์ฝุ่นละอองที่กลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง

“โดยให้กระทรวงสาธารณสุขให้ความรู้ประชาชนในการดูแลสุขภาพ และมอบหมายกรมอนามัยทำหน้าที่ตรวจติดตามปริมาณค่า PM2.5 ทั่วประเทศ พร้อมสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันและผลิตสื่อให้ความรู้แก่ประชาชนผ่านทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รวมถึงให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) แนะนำประชาชนปฏิบัติตนในสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานที่ถูกต้อง” นางสาวไตรศุลีกล่าว

นางสาวไตรศุลีกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้ประสานกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เน้นให้ทุกพื้นที่เตรียมการรับมือและเฝ้าระวังสถานการณ์ประเมินความเสี่ยง แจ้งเตือนประชาชนและให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนทุกวัน ประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ และเตรียมความพร้อมดูแลกลุ่มเสี่ยง ให้ อสม.ให้คำแนะนำกับกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคหอบหืด ผู้สูงอายุ เด็ก และผู้ป่วยติดเตียง พร้อมกันนี้ให้สถานบริการทุกแห่งเตรียมความพร้อม น้ำ ไฟสำรอง ยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล และพร้อมเปิดคลินิกมลพิษ เพื่อรักษา ให้คำปรึกษาแก่ประชาชน และเตรียมห้องปลอดฝุ่นในสถานพยาบาลทุกระดับ เฝ้าระวังผู้ป่วยนอกที่มารับบริการในกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ผิวหนัง ระบบตา และอื่นๆ รายงานส่วนกลางทุกสัปดาห์

ทั้งนี้ หากค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มีปริมาณมากกว่า 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกิน 3 วัน ให้จังหวัดพิจารณาเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข  โดยใช้กลไกคณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัดในการเตรียมการจัดการปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และจัดกิจกรรมองค์กรปลอดฝุ่นเพื่อเป็นต้นแบบขององค์กรลดฝุ่นละออง

“สำหรับสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์ค่าปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ได้ที่แอปพลิเคชัน Air4Thai หรือเพจ “คนรักอนามัยใส่ใจอากาศ PM2.5″ ผู้อาศัยหรือทำงานอยู่ในพื้นที่ที่ยังมีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เกินมาตรฐาน ขอให้ใส่หน้ากากอนามัย และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้งด้วย” นาวสาวไตรศุลีกล่าว

เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2562 เวลา 17.40 น.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร กำลังใช้อุปกรณ์ฉีดน้ำดับเพลิงแรงดันสูง ฉีดละอองน้ำเพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองที่กำลังลังวิกฤต บริเวณหน้าสวนจตุจักร

1 ปีผ่านไปรัฐบาลทำอะไรบ้าง?

หากย้อนดูสถานการณ์ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาภายหลังจากที่ประชาชนและรัฐบาลตื่นตัวถึงปัญหาดังกล่าว การดำเนินการของรัฐบาลเริ่มต้นจากการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2561 เห็นชอบ “มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในกรุงเทพ/ปริมณฑลและในพื้นที่จังหวัดต่างๆ” ก่อนที่ต่อมาเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 พล.อ. สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการป้องกันและลดปัญหาฝุ่นละออง และกำหนดแนวทางการปฏิบัติ 3 ขั้นตอน ได้แก่

  1. ขั้นเตรียมการ เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  2. ขั้นปฏิบัติการ เพื่อเป็นขั้นตอนการปฏิบัติการในช่วงเวลาเกิดสถานการณ์ฝุ่นละออง
  3. ขั้นฟื้นฟูหลังจากสถานการณ์ได้กลับเข้าสู่ระดับปกติ โดยกำหนดให้มีการประชุมถอดบทเรียนด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีข้อสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดกำหนดมาตรการเพื่อดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหามลภาวะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งในการประชุมของคณะกรรมการควบคุมมลพิษ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562 มีมติเห็นชอบกับ “แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5)” ตามที่กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอ โดยแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน 4 ระดับ ได้แก่

  1. สถานการณ์ระดับที่ 1 คือมีค่าฝุ่นละอองต่ำกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ให้หน่วยงานดำเนินภารกิจตามปกติ
  2. สถานการณ์ระดับที่ 2 คือมีค่าฝุ่นละอองตั้งแต่ 51-75 ทุกหน่วยงานำดำเนินมาตรการให้เข้มงวดขึ้น
  3. สถานการณ์ระดับที่ 3 คือมีค่าฝุ่นละอองตั้งแต่ 76-100 ให้ผู้ว่าราชการ กทม. ปริมณฑล และในพื้นที่จังหวัดต่างๆ เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ในการควบคุมพื้นที่ แหล่งกำเนิด และกิจกรรมที่ทำให้เกิดมลพิษ
  4. สถานการณ์ระดับที่ 4 คือค่าฝุ่นละอองมากกว่า 100 ให้เสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังให้จัดทำมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในกรุงเทพฯ/ปริมณฑล และในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและ ครม.ต่อไปอีกครั้งด้วย พร้อมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติงานในแต่ละระดับให้ กทม.จัดทำเป็นแผนปฏิบัติการต่อไป

ต่อมาวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งขาติเห็นชอบกับ “แนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในกรุงเทพและปริมณฑลและในพื้นที่จังหวัดต่างๆ” ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 ครม.มีมติรับทราบดังกล่าวเช่นกัน โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่

  1.  มาตรการระยะเร่งด่วน แบ่งเป็น 3 ขั้นตอนเช่นเดียวกัน คือ ขั้นเตรียมการช่วงกันยายนถึงพฤศจิกายน เป็นการเตรียมความพร้อมความเข้าใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง, ขั้นปฏิบัติการช่วงธันวาคมถึงเมษายน แบ่งเป็นอีก 4 ระดับตามปริมาณฝุ่นละลอง และขั้นฟื้นฟูหลังจากสถานการณ์เข้าสู่ระดับปกติ
  2. มาตรการระยะกลาง (2562-2564) เป็นการลดการระบายมลพิษและลดจำนวนแหล่งกำเนิด เช่น ประกาศใช้มาตรฐานน้ำมัน พัฒนาโครงข่ายการให้บริการขนส่งสาธารณะ เร่งรัดการเปลี่ยนรถโดยสารหรือรถเมล์ และปรับวิธีการและปรับลดอายุรถที่เข้ารับการตรวจสภาพประจำปี รวมไปถึงการเพิ่มภาษีรถยนต์เก่า ลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
  3. มาตรการระยะยาว (2565-2567) เป็นการลดการระบายมลพิษและแหล่งกำเนิดเช่นเดียวกัน แต่จะเน้นไปที่มาตรการที่ต้องใช้เวลามากขึ้น เช่น ปรับปรุงมาตรการการปล่อยมลพิษของรถยนต์เป็น EURO6 กำหนดให้มีการติดตั้งเครื่องกรองไอเสียในรถยนต์ดีเซลเพิ่มเติม ห้ามนำเข้าเครื่องยนต์ใช้แล้วเข้ามาเปลี่ยนแทนรถยนต์เก่า พัฒนาโครงข่ายขนส่งมวลชนให้เชื่อมโยงและครอบคลุม กำหนดมาตรการระบายอากาศเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมเทียบกับกับสหรัฐอเมริกาและยุโรป กำหนดให้ผู้เผาวัสดุในที่โล่งมีความผิดอาญา ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ติดตั้งหอคอยฟอกอากาศขนาดใหญ่ ปรับปรุงกฎหมาย ปรับมาตรฐาน PM2.5 ให้เป็นไปตามองค์การอนามัยโลก เป็นต้น

อย่างไรก็ตามสัปดาห์ต่อมา ครม.มีมติเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 ให้ “การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง” เป็น “วาระแห่งชาติ” และต้องจัดทำ “แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และให้กระทรวงทรัพยาการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษเป็นเจ้าภาพหลัก โดยคณะกรรมการควบคุมมลพิษเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 มีมติให้ปรับปรุงจาก “แนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง” (มติ ครม.เมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2562)

“วันนี้ในกรุงเทพมหานครก็ดีขึ้น แม้จะมีการเพิ่ม-ลดอยู่บ้าง แต่ก็ยังอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ฉะนั้นเป็นสิ่งที่ต้องทำต่อไป ซึ่งตนได้มีการเสนอในที่ประชุม ครม.ให้กำหนดเรื่องการกำจัดฝุ่นละอองทั้งหมด ให้มีการจัดการฝุ่นละอองในอากาศอย่างยั่งยืน ให้ทุกหน่วยงานจัดลำดับความเร่งด่วนโดยแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง ต้องไม่ยกเลิกความเข้มงวด” พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 ที่เสนอให้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นวาระแห่งชาติ

เริ่มต้นจากวันที่ 22 มีนาคม 2562 กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดทำร่างแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติฯ และประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้พิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการ ก่อนที่วันที่ 26 มีนาคม 2562 ได้นำเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมมลพิษอีกครั้ง ซึ่งมีมติให้ปรับปรุงเล็กน้อยตามข้อสังเกตที่เกี่ยวข้อง จนในที่สุดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 คณะกรรมการควบคุมมลพิษได้ให้ความเห็นชอบต่อแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติฯ และส่งให้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2562 และ ครม.มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562

คลอด 3 มาตรการ แผน 5 ปี

ในรายละเอียดตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติฯ ครอบคลุมระยะเวลา 5 ปี ที่ใช้เวลาจัดทำเกือบ 6 เดือน จำนวน 52 หน้า ระบุว่าแบ่งเป็น 3 มาตรการและแบ่งตามระยะเวลาคือเร่งด่วน ระยะสั้น (2562-2564) และระยะยาว (2565-2567) ได้แก่

มาตรการที่ 1 การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ มีแนวทางดำเนินการที่เกี่ยวข้อง 68 ข้อ แบ่งเป็นระยะเร่งด่วน 52 ข้อและระยะสั้น 16 ข้อ ทั้งนี้ มาตรการส่วนใหญ่จะเน้นที่ทบทวน วิเคราะห์ และประเมินผลข้อมูลที่เกิดขึ้น รวมทั้งแจ้งเตือนประชาชนอย่างสม่ำเสมอเท่านั้น และปรับปรุงแผนแผนตอบโต้สถานการณ์หรือแผนเผชิญเหตุตามพื้นที่ต่างๆ ของประเทศในลักษณะเฉพาะหน้าตามระดับฝุ่นละออง 4 ระดับโดยไม่ได้กำหนดมาตรการใดๆ อย่างเป็นรูปธรรมมากนัก

ยกเว้นในพื้นที่ กทม.ที่ระบุรายละเอียดที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ปรับเปลี่ยนรถโดยสารประจำทางปรับอากาศเก่าของ ขสมก. ให้เป็นรถโดยสารปรับอากาศ NGV ให้ครบ 489 คัน ภายในมีนาคม 2562, วางระบบการเดินทางร่วมกันของเจ้าหน้าที่ในหน่วยราชการ, จัดทำระเบียบและระบบเพื่อองรับการทำงานจากระยะไกล (work from remote) สำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และขยายผลในวงกว้างต่อไป, เร่งให้ใช้เครื่องมือวัดควันดำแบบความทึบแสงในการตรวจวัดและตรวจสภาพรถทั้งหมดตั้งแต่ 1 มกราคม 2568, ออกกฎกระทรวงตามมาตรา 144 ของพระราชบัญญัติจราจรทางบก (2562) พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติมเพื่อกำหนดวิธีการตรวจรับรองรถที่ถูกสั่งเป็นหนังสือให้ระงับการใช้ เนื่องจากมีควันดำเกินเกณฑ์, ปฏิบัติการทำฝนหลวงภายใต้เงื่อนไขภาวะอากาศที่เอื้ออำนวย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีมาตรการอีกหลายข้อมีการมองว่าจะปฏิบัติได้จริงหรือไม่ เช่น บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับรถและเรือที่มีควันดำ, ขยายเขตพื้นที่ในการจำกัดเวลาให้รถบรรทุกขนาดใหญ่เข้ามาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร, ห้ามจอดรถบนถนนสายหลักและสายรองตลอด 24 ชั่วโมง เป็นต้น

มาตรการที่ 2 การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) มีแนวทางดำเนินการ 47 ข้อ โดย 34 ข้ออยู่ในมาตรการระยะยาว (นับจากระยะเวลาสูงสุดที่แผนฯ ระบุไว้โดยอาจจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ระยะสั้น) และที่เหลือเป็นมาตรระยะสั้นทั้งหมด และที่เหลือเป็นมาตรการระยะสั้น สะท้อนให้เห็นว่ามาตรการส่วนใหญ่อาจจะเริ่มเห็นผลในอีก 3 ปีข้างหน้าเป็นอย่างน้อย แบ่งเป็น 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ ควบคุมและลดมลพิษจากยานพาหนะ, ควบคุมและลดมลพิษจากการเผาในที่โล่ง/ภาคการเกษตร, ควบคุมและลดมลพิษจากการก่อสร้างและผังเมือง, ควบคุมและลดมลพิษจากภาคอุตสาหกรรม และควบคุมและลดมลพิษจากภาคครัวเรือน

มาตรการที่ 3 การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ มีแนวทางดำเนินการ 19 ข้อ โดย 8 ข้ออยู่ในมาตรการระยะยาว และที่เหลือเป็นมาตรระยะสั้นทั้งหมด แบ่งเป็น 7 กลุ่มหลัก พัฒนาเครือข่ายการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ, ทบทวน/ปรับปรุงกฎหมาย/มาตรฐาน/แนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับสถานการณ์, ส่งเสริมการวิจัย/พัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการติดตามตรวจสอบ การตรวจวิเคราะห์ และนวัตกรรม เพื่อลดมลพิษทางอากาศ รวมถึงเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์, การแก้ไขปัญหามลพิษข้ามแดน, จัดทำบัญชีการระบายมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิด, พัฒนาระบบฐานข้อมูลและระบบเฝ้าระวังที่เป็นหนึ่งเดียว และพัฒนาระบบคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง

ทั้งนี้ จากแนวทางดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติฯ 123 ข้อ จะพบว่าส่วนใหญ่เป็นมาตรการระยะสั้นหรือยาวกว่า 66% ของแนวทางดำเนินการทั้งหมด ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการอย่างน้อยอีก 2-5 ปีข้างหน้าถึงจะแล้วเสร็จ โดยแบ่งเป็นมาตรการระยะยาว 42 ข้อ หรือคิดเป็นประมาณ 34% ของแนวทางดำเนินการทั้งหมด ซึ่งจะแล้วเสร็จอย่างช้าสุดในปี 2567 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า และเป็นมาตรการระยะสั้น 40 ข้อ หรือคิดเป็น 32% ของแนวทางดำเนินการทั้งหมด ซึ่งจะแล้วเสร็จอย่างช้าสุดในปี 2564 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า

กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการติดตั้งหอสูงฟอกอากาศ จำนวน 1 ชุด บริเวณศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

กทม.ติดตั้งเครื่องกรองฝุ่นพิษ PM2.5 หน้าเซ็นทรัลเวิลด์

นอกจากการดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติฯ ของรัฐบาลแล้ว ทางด้านกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการติดตั้งหอสูงฟอกอากาศ จำนวน 1 ชุด บริเวณศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพในการลดปัญหาฝุ่นและมลพิษจาก PM2.5 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2562 โดยจะเปิดเดินเครื่องตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับหอสูงฟอกอากาศ มีลักษณะเป็นเสาสูง 4 เมตร กว้าง 1.5 เมตร น้ำหนักประมาณ 200 กิโลกรัม ใช้หลักการทำงานของพัดลมขนาดใหญ่ที่มีปริมาณลมสูง (air volume) และ กำลังการดึงลมสูง (air pressure) ดึงอากาศให้ไหลผ่านแผ่นกรองฝุ่น 2 ชั้น โดยใช้แผ่นกรองชนิด HEPA filter ขนาด 1 ไมครอน สามารถฟอกอากาศให้บริสุทธิ์ได้ไม่น้อยกว่า 17,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ครอบคลุมพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1,000 ตารางเมตร เครื่องดังกล่าวจะทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ โดยใช้กำลังไฟฟ้า 3.5 กิโลวัตต์

“ในวันนี้ได้มีเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมเก็บข้อมูลปริมาณความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 ซึ่งในช่วงเช้าก่อนเปิดเครื่องฟอกอากาศวัดค่าได้ 31 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่หลังจากที่เปิดเดินเครื่องแล้ววัดค่าได้ 28 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อย่างไรก็ตาม กทม.คงต้องใช้เวลาทดสอบเครื่องประมาณ 2-3 เดือน โดยจะมีการประเมินผลประสิทธิภาพการใช้งานแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น 24 ชั่วโมง, ระยะกลาง 3 วัน และระยะยาว 30 วัน เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์เปรียบเทียบความเข้มข้นของฝุ่นและมลพิษ รวมถึงประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องว่าสามารถลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ได้หรือไม่” พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าว

จากแผนสู่การปฏิบัติครั้งแรก

ทั้งนี้ ในแง่การปฏิบัติการในปี 2562 ฝุ่นพิษได้กลับมาอีกครั้งเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2562 ก่อน ครม.เห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติฯ อย่างเป็นทางการ 1 วัน โดยในช่วงเช้าค่าฝุ่นจาก แอปพลิเคชัน Air Visual ระบุว่า สภาพอากาศโดยทั่วไปของกรุงเทพมหานครตามมาตรฐานดัชนีคุณภาพอากาศสหรัฐอเมริกกา (U.S. Air Quality Index — U.S. AQI) อยู่ที่ 179 หรือคิดเป็น 57.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และเป็นระดับที่ไม่ดีต่อสุขภาพ (unhealthy)

โดยในช่วงเช้า ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รายงานสภาพอากาศผ่านเฟซบุ๊กโดยระบุว่า “ท่านนายกฯ เป็นห่วงพี่น้องประชาชนทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เนื่องจากขณะนี้ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 เริ่มอยู่ในระดับเกินเกณฑ์มาตรฐาน หากมีความจำเป็นต้องออกไปทำกิจกรรมข้างนอกขอให้สวมหน้ากากอนามัยกันด้วยนะคะ โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนที่ได้เตรียมไว้อย่างเร่งด่วน พร้อมขอความร่วมมือสถานที่ก่อสร้างและโรงงานอุตสาหกรรมลดการระบายฝุ่นและมลพิษทางอากาศในช่วงนี้ สำหรับรถยนต์ประเภทดีเซลที่มีอายุการใช้งานหลายปี ขอให้ตรวจสอบเครื่องยนต์กันด้วย”

ก่อนที่ช่วงบ่ายเวลา 15:00 น. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เรียกประชุมสั่งการทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับผู้ว่าราชการจังหวัดจังทั่วประเทศกรณีการจัดการปัญหาอุทกภัยและรับมือกับสถานการณ์ฝุ่นมลพิษ PM2.5 ที่เกิดขึ้น โดย ศ. ดร.นฤมล แจ้งการประชุมผ่านเฟซบุ๊กเช่นกัน พร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชนด้วยว่า “ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้แจ้งเตือนให้ประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงทางสุขภาพที่จะได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ได้แก่ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว ในพื้นที่ที่ฝุ่นละอองเกินมาตรฐานควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรม หากจำเป็นต้องออกนอกบ้านเป็นเวลานาน ควรสวมหน้ากากอนามัย”

ภายหลังการประชุม ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้รับทราบรายงานสรุปสถานการณ์ PM2.5 ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑลย้อนกลับไปช่วงปลายปี 2561 ถึงต้นปี 2562 พบมีค่าเกินมาตรฐาน ขณะที่ปัจจุบันพบค่า PM 2.5 เกินมาตรฐานตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2562 โดยมีสาเหตุมาจากความกดอากาศแผ่ลงมาจากภาคเหนือส่งผลให้อากาศนิ่ง ลมสงบ ทำให้ฝุ่นละอองสะสม รวมทั้งการใช้รถยนต์ที่มีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ที่สูงดังกล่าวยังไม่ได้สูงมากถึงขั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพ  และช่วงบ่ายของวันนี้ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เริ่มลดลงหลายพื้นที่แล้ว เนื่องจากมวลอากาศเริ่มแผ่วเบาประกอบกับมีมรสุมจะทำให้มวลอากาศต่ำหรือมวลอากาศร้อนเข้ามาทำให้มีลมไปดันค่าฝุ่นละออง PM2.5 ขึ้นไปชั้นบรรยากาศ

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่าตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 จะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น เป็นร้อยละ 20 ของพื้นที่ ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ปริมาณ PM2.5 ที่สะสมในบรรยากาศลดลง ซึ่งสาเหตุหลักส่วนหนึ่งมาจากยานพาหนะที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ซึ่งเรื่องนี้ก็จะมีการแก้ไขปัญหาให้เป็นตามมาตรการที่กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติเรื่องการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องนำไปปฏิบัติโดยจะมีการนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

“การประชุมวันนี้เป็นไปตามแผนในมาตรการที่ 1 ในช่วงของการดำเนินการก่อนวิกฤติ โดยการประชุมชี้แจงเตรียมการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับมือกับสถานการณ์ฝุ่นมลพิษ PM2.5 ควบคุมพื้นที่ ควบคุมแหล่งกำเนิดและกิจกรรมที่ทำให้เกิดมลพิษ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เน้นให้เข้มงวดในการตรวจจับรถยนต์และรถโดยสารสาธารณะที่ปล่อยควันดำที่ส่งผลให้เกิดฝุ่นละออง PM2.5 โดยหากตรวจพบว่าไม่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานก็จะให้หยุดวิ่งจนกว่าจะดำเนินการปรับปรุงให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดไว้จึงให้มาวิ่งได้เช่นเดิม และให้ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนเพื่อจะได้ปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะเด็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ ควรมีการสวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องออกไปทำกิจกรรมข้างนอกหรือกลางแจ้ง หรืออยู่ในพื้นที่ที่ค่าฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐานและเป็นพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งให้งดการออกกำลังกายกลางแจ้งในช่วงนี้” ศ. ดร.นฤมล กล่าว

อย่างไรก็ตาม ภายหลังวันดังกล่าวสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ได้ทยอยคลี่คลายไปตามสภาพอากาศที่กลับมาเปิดอีกครั้ง และรัฐบาลก็ไม่ได้มีการประชุมดำเนินการในลักษณะดังกล่าวอีก มีเพียงการายงานจากจากเฟซบุ๊กของโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นระยะ ซึ่งทยอยลดลงไปเมื่อความรุนแรงของสถานการณ์เบาบางลงไป จนกระทั่งช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาเฟซบุ๊กของโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ทยอยกลับมารายงานสภาพอากาศและฝุ่นละอองอีกครั้งอย่างต่อเนื่อง

2 คำถามที่ยังไม่มีคำตอบ…สอบตกมาตรฐานโลก

ทั้งนี้ หากมองย้อนกลับไปภายใน 1 ปีที่ผ่านมาจะพบว่ายังมีคำถามที่ไม่มีคำตอบอีกหลายประการ ประการแรก เริ่มต้นจาก “ค่ามาตรฐาน” ของฝุ่นละอองว่าระดับที่เป็นพิษควรจะมีค่าเท่าใด ถ้าอ้างอิงตามกรมควบคุมมลพิษจะนับที่ระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ หากมีค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของฝุ่นขนาด PM10 และ PM2.5 มากกว่า 120 ไมโครกรัมต่อลูกบากศ์เมตร และ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบากศ์เมตร ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับค่า มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของฝุ่นขนาด PM10 และ PM2.5 ถูกกำหนดว่าควรต่ำกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบากศ์เมตร และ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบากศ์เมตร ตามลำดับ

ทั้งนี้ ย้อนหลังไป 20 ปี ตั้งแต่ปี 2539-2561 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าเคยรวบรวมข้อมูลมลพิษทางอากาศใน 4 พื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเก็บข้อมูลในระดับ PM10 เท่านั้น ขณะที่ PM2.5 เริ่มต้นเก็บข้อมูลในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยพบว่าคุณภาพอากาศมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ต่ำกว่าระดับที่องค์กรอนามัยโลกแนะนำอย่างชัดเจน

ประการที่ 2 เป็นประเด็นเกี่ยวกับการจัดสรรองค์กรและหน่วยงานที่จะรับมือกับสถานการณ์PM2.5 โดยแหล่งข่าวผู้เชี่ยวชาญตั้งคำถามว่ากรมควบคุมมลพิษในฐานะหน่วยงานดูแลหลัก กลับไม่ใช้อำนาจที่มีในการออกกฎระเบียบและจัดการ “ควบคุม” มลพิษอย่างจริงจัง แต่สิ่งที่ทำกลับกลายเป็นการ “รายงานค่ามลพิษ” ซึ่งเป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ใช่การแจ้งเตือนล่วงหน้าให้ประชาชนเตรียมพร้อม หน้าที่นี้ควรเป็นหน้าที่ของกรมอุตุนิยมวิทยาหรือไม่ ที่ควรแจ้งเตือนล่วงหน้าเหมือนการพยากรณ์อากาศ

“ถ้าหากไปดูจำนวนเครื่องวัดกลับกลายเป็นว่าเครื่องมือเหล่านี้ส่วนมากอยู่กับกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งมีแต่เพียงเครื่องตรวจวัดฝุ่น ไม่สามารถตรวจวัดอากาศ ทิศทางลม ฯลฯ ทำให้พยากรณ์ฝุ่นไม่ได้ ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาที่ทำหน้าที่พยากรณ์ มีเครื่องมือเกี่ยวกับอากาศทั้งหมด แต่กลับไม่มีเครื่องตรวจฝุ่น จึงไม่สามารถพยากรณ์ฝุ่นเพื่อแจ้งเตือนประชาชนได้ ดังนั้นคำถามคือว่าการจัดองค์กรและอำนาจหน้าที่ควรจะชัดเจนกว่านี้ กรมควบคุมมลพิษทำหน้าที่ควบคุมมลพิษ ออกมาตรการมาจำกัดแหล่งกำเนิดฝุ่นพิษ กรมอุตุฯ ก็ให้เครื่องมือเขาไปตรวจฝุ่น พยากรณ์อากาศและมลพิษ แจ้งเตือนประชาชน แบบแจ้งเตือนเรื่องอากาศ ขณะที่หน่วยงาน กทม.พบว่ามีเครื่องตรวจวัดฝุ่นมากกว่ากรมควบคุมมลพิษเสียอีกด้วยซ้ำ แต่กทม.ไม่มีอำนาจสังการใดๆ ได้แต่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ”

ทั้งนี้ หากดูจำนวนเครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กของ กทม.และกรมควบคุมมลพิษ พบว่า กทม.มีเครื่องวัดอยู่ 51 เครื่อง เป็นเครื่องที่วัดฝุ่นละออง PM2.5 ได้ 23 เครื่อง และที่เหลือเป็นเครื่องวัดฝุ่น PM10 ขณะที่กรมควบคุมมลพิษมีเครื่องรวจวัดฝุ่น PM2.5 ทั้งหมด 47 เครื่อง เป็นเครื่องตรวจวัดฝุ่นใน กทม. 36 เครื่อง และในปริมณฑล 11 เครื่อง

นี่คือการรับมือฝุ่นพิษ PM 2.5 ของประเทศไทย ภายใต้รัฐบาลพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ป้ายคำ :