ThaiPublica > เกาะกระแส > 20 ปี ฝุ่นพิษ “PM10 – PM2.5” สอบผ่านมาตรฐานไทย สอบตกมาตรฐานโลก – “กรมควบคุมมลพิษ” ควบคุมล่าช้า ทั้งที่ใช้มาตรฐาน PM2.5 ปี 2553

20 ปี ฝุ่นพิษ “PM10 – PM2.5” สอบผ่านมาตรฐานไทย สอบตกมาตรฐานโลก – “กรมควบคุมมลพิษ” ควบคุมล่าช้า ทั้งที่ใช้มาตรฐาน PM2.5 ปี 2553

13 มกราคม 2019


เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2562 เวลา 17.40 น.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร กำลังใช้อุปกรณ์ฉีดน้ำดับเพลิงแรงดันสูง ฉีดละอองน้ำเพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองที่กำลังลังวิกฤต บริเวณหน้าสวนจตุจักร

กลับมาอีกครั้งสำหรับ “ฝุ่นพิษ” ภายหลังจากช่วงปลายปี 2560 – ต้นปี 2561 เกิดปรากฎการณ์หมอกปกคลุมกรุงเทพฯในช่วงเช้า โดยภายหลังเป็นที่ทราบกันว่าสิ่งนี้หาใช่หมอกยามเช้า แต่เป็นฝุ่นพิษหรืออนุภาคในอากาศขนาดเล็กต่ำกว่า 10 ไมโครเมตร (PM10) และต่ำกว่า 2.5 ไมโครเมตร (PM2.5) ซึ่งเล็กกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ถึง 9 และ 36 เท่าตามลำดับ และมีผลกระทบต่อสุขภาพที่มากไปกว่าระบบทางเดินหายใจปกติ เนื่องจากฝุ่นเหล่านี้เล็กมากพอที่จะดูดซึมเข้ากระแสเลือดผ่านปอดและนำไปสู่โรคหัวใจหรือโรคทางสมองบางประการ

ความอันตรายนี้สร้างความตื่นตระหนกและตื่นตัวต่อสาธารณชนในวงกว้าง เริ่มจากรณรงค์ให้สวมใส่หน้ากากที่สามารถกรองอนุภาคใหญ่กว่า 0.3 ไมโครเมตร หรือ “หน้ากาก N95” เป็นมาตรการระยะเร่งด่วน ซึ่งแตกต่างจาก “หน้ากากอนามัย” ที่กรองอนุภาคขนาดใหญ่กว่า 3 ไมโครเมตรเท่านั้น นอกจากนี้ กทม.ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่ได้ฉีดน้ำและขอทำฝนเทียม เพื่อลดการกระจายของฝุ่นละออง

ขณะที่มาตรการระยะปานกลาง กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ในฐานะหน่วนงานเจ้าภาพกลางดูแลปัญหามลพิษของประเทศได้เริ่มทยอยเร่งติดตั้งเครื่องตรวจวัดฝุ่นละอองที่สามารถตรวจวัดฝุ่นขนาด PM2.5 ได้เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งจัดทำแอพลิเคชั่นสำหรับให้ประชาชนตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม นโยบายระยะยาวที่เป็นรูปธรรมสำหรับลดฝุ่นพิษในระยะยาว เช่น การจำกัดปริมาณรถยนต์ การควบคุมโรงงาน ฯลฯ ซึ่งมักถูกนำมาใช้ตามประเทศต่างๆทั่วโลกที่เผชิญกับปัญหาฝุ่นพิษเช่นเดียวกัน กลับเงียบหายไปตามจำนวนฝุ่นที่ทยอยไปจากชั้นบรรยากาศไปตามวัฎจักรภายหลังเข้าสู่ฤดูร้อน

1 ปีผ่านไป เมื่อฝุ่นพิษได้หวนกลับมาอีกครั้ง ยิ่งย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐบาลที่ต้องจัดการปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบและให้ปัญหาคลี่คลายไปอย่างยั่งยืนในที่สุด แต่สิ่งที่หลงเหลือจากปีที่ผ่านมากลับเป็นเพียงระบบแจ้งเตือนฝุ่นพิษและประชาชนยังคงต้องหาทางหลีกเลี่ยงกันตามยถากรรมต่อไป

20 ปี “ฝุ่นละออง” ผ่านมาตรฐานไทย ตกมาตรฐานโลก

หากมองในภาพย้อนหลัง สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้ารวบรวมข้อมูลมลพิษทางอากาศจากคพ.ตั้งแต่ปี 2539-2561 ใน 4 พื้นที่ ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ถนนพระรามสี่, สนามกีฬาการเคหะชุมชนห้วยขวาง ถนนรัชดาภิเษก, สถานีการไฟฟ้าย่อยธนบุรี วงเวียนใหญ่ ถนนอินทรพิทักษ์ และกรมอุตุนิยมวิทยาบางนา ถนนสุขุมวิท (โดยมีเพียงพื้นที่ห้วงขวางและวงเวียนใหญ่ที่มีข้อมูลย้อนหลังครบถ้วนตลอด 20 ปี) โดยข้อมูลในอดีตส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลฝุ่นขนาด PM10 ขณะที่ข้อมูลฝุ่นขนาด PM2.5 เพิ่งเริ่มต้นเก็บในบางพื้นที่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจะถูกเก็บเป็นรายชั่วโมงและนำมาหาค่าเฉลี่ยความหนาแน่นของฝุ่นในระยะเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อนำมาเทียบกับค่ามาตรฐานและจัดทำเป็นดัชนีคุณภาพอากาศต่อไป

ทั้งนี้ ในภาพรวมพบว่าการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศของประเทศไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มที่ดีขึ้นในหลายพื้นที่หากเทียบจากค่ามาตรฐานความหนาแน่นของฝุ่นของประเทศไทยที่กำหนดว่าในระยะเวลาเฉลี่ย 24 ชั่วโมงจะต้องมีปริมาณความหนาแน่นของฝุ่นขนาด PM 10 ไม่เกิน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³) และสำหรับฝุ่นขนาด PM2.5 ต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³) แม้ว่าจะมีบางเดือนที่ค่าเฉลี่ยนสูงกว่ามาตรฐาน ซึ่งมักจะเป็นช่วงฤดูหนาวตั้งแต่เดือนตุลาคม – กุมภาพันธ์ในแต่ละปี

อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ซึ่งกำหนดให้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของฝุ่นขนาด PM10 และ PM2.5 ควรต่ำกว่า 50 µg/m³ และ 25 µg/m³ ตามลำดับ ในกรณีนี้จะเห็นว่าความหนาแน่นของฝุ่นละอองไทยยังอยู่ในระดับที่เกินกว่ามาตรฐานใน 4 พื้นที่

ตัวอย่างเช่น ในพื้นที่ห้วยขวาง ความหนาแน่นของฝุ่นขนาด PM10 เฉลี่ยในแต่ละเดือนของช่วงปี 2539-2549 อยู่ที่ 63 µg/m³ ก่อนที่จะลดลงมาเหลือเพียง 40 µg/m³ ในช่วงปี 2550-2561 ขณะที่ค่าเฉลี่ยของค่าสูงสุดของความหนาแน่นของฝุ่น PM10 ในแต่ละเดือนลดลงจาก 119 µg/m³ มาเป็น 62.5 µg/m³ ในช่วงเวลาเดียวกัน หรือในพื้นที่วงเวียนใหญ่ที่ค่าเฉลี่ยของความหนาแน่นของฝุ่นขนาด PM10 ในแต่ละเดือนของช่วงปี 2539-2549 ลดลงจาก 67 µg/m³ เหลือ 35.4 µg/m³ ในช่วงปี 2550-2561 โดยมีค่าเฉลี่ยของค่าสูงสุดของความหนาแน่นของฝุ่นขนาด PM 10 ในแต่ละเดือนลดลงจาก 111.6 µg/m³ เหลือ 60 µg/m³

ขณะที่ในพื้นที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ถนนพระรามสี่ ซึ่งมีข้อมูลตั้งแต่ปี 2545 – 2561 มีค่าเฉลี่ยของความหนาแน่นของฝุ่นขนาด PM10 ที่ 69.2 µg/m³ และมีค่าเฉลี่ยของความหนาแน่นสูงสุดที่ 107.4 µg/m³ และในพื้นที่บางนา ซึ่งมีข้อมูลตั้งแต่ปี 2551-2561 มีค่าเฉลี่ยความหนาแน่นของฝุ่นขนาด PM10 ที่ 40.6 µg/m³ โดยมีค่าเฉลี่ยของค่าสูงสุดของความหนาแน่นของฝุ่นในแต่ละเดือนอยู่ที่ 72 µg/m³

ขณะที่ข้อมูลฝุ่นขนาด PM2.5 พบว่าค่าเฉลี่ยโดยรวมในแต่ละเดือนยังไม่เกินมาตรฐาน แต่เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของค่าสูงสุดในแต่ละเดือนพบว่าความหนาแน่นเริ่มสูงกว่ามาตรฐาน โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวที่ความหนาแน่นอาจจะสูงกว่ามาตรฐานไปถึง 2 – 3 เท่า ตัวอย่างเช่นในพื้นที่วงเวียนใหญ่ ซึ่งมีข้อมูลตั้งแต่ปี 2559-2561 มีค่าเฉลี่ยของความหนาแน่นโดยรวมในแต่ละเดือนอยู่ที่ 29 µg/m³ อย่างไรก็ตาม หากดูที่ค่าเฉลี่ยของค่าสูงสุดของความหนาแน่นของฝุ่นอยู่ที่ 57.1 µg/m³ ซึ่งเกินค่ามาตรฐาน โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวของแต่ละปีที่ค่าเฉลี่ยความหนาแน่นของฝุ่นอาจจะเพิ่มขึ้นไปสูงกว่า 100 µg/m³ หรือมากกว่ามาตรฐานของประเทศไทย 2 เท่า

หรือในพื้นที่บางนา ที่มีค่าเฉลี่ยของความหนาแน่นของฝุ่นอยู่ที่ 23.8 µg/m³ และมีค่าเฉลี่ยของค่าสูงสุดของความหนาแน่นที่ 45.1 µg/m³ โดยในช่วงฤดูหนาวมีค่าแตะระดับ 80-99 µg/m³ และสุดท้ายในพื้นที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ถนนพระรามสี่ ซึ่งมีข้อมูลตั้งแต่ปี 2560-2561 พบว่ามีค่าเฉลี่ยของความหนาแน่นอยู่ที่ 27.3 µg/m³ และมีค่าเฉลี่ยของค่าสูงสุดของความหนาแน่นของฝุ่นในแต่ละเดือนที่ 50.4 µg/m³ โดยในช่วงฤดูหนาวความหนาแน่นอาจจะสูงไปถึง 80-120 µg/m³

ย้อนรอยประกาศมาตรฐานฝุ่นละอองไทย – ควบคุมมลพิษล่าช้า?

ทั้งนี้ หากย้อนดูการประกาศมาตรฐานคุณภาพอากาศของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พบว่าได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2538 ในประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ.2538) เรื่อง กำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป โดยในข้อ 4 ได้กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาด PM10 ในระยะเวลาเฉลี่ย 24 ชั่วโมงให้ไม่เกิน 120 µg/m³ และในเวลา 1 ปีค่าเฉลี่ยเรขาคณิตจะต้องไม่เกิน 150 µg/m³

ก่อนที่ต่อมาในปี  2547 จะปรับปรุงมาตรฐานจากประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2547) เรื่อง กำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป  โดยในข้อ 2 ได้ปรับปรุงค่าเฉลี่ยรายปีจากค่าเฉลี่ยเรขาคณิตเป็นค่าเฉลี่ยนเลขคณิต ซึ่งจะต้องไม่เกิน 50 µg/m³ และยังคงค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงไว้ไม่เกิน 120 µg/m³ ต่อมาในปี 2553 ได้กำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศโดยเพิ่มการควบคุมฝุ่นละอองขนาด PM2.5 เป็นครั้งแรกในประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 36 (พ.ศ. 2553) เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ์ในบรรยากาศโดยทั่วไป โดยกำหนดค่าเฉลี่ยในระยะเวลา 24 ชั่วโมงต้องไม่เกิน 50 µg/m³ และในระยะเวลา 1 ปีค่าเฉลี่ยเลขคณิตต้องไม่เกิน 25 µg/m³

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตถึงความล่าช้าของการควบคุมมลพิษทางอากาศว่า แม้ประเทศไทยจะเริ่มต้นกำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาด PM2.5 ในปี 2553 แต่ข้อมูลที่เปิดเผยโดยคพ.ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นรายงานจากปี 2559 และอีกหลายแห่งยังไม่ได้มีเครื่องที่สามารถตรวจวัดฝุ่นละลองขนาด PM2.5 ได้ตามประกาศของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แตกต่างจากกรณีฝุ่นละอองขนาด PM10 ที่เมื่อประกาศมาตรฐานในปี 2538 ต่อมาในปี 2539 มีบางพื้นที่เริ่มติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดทันทีและค่อยๆทยอยเพิ่มขึ้นจนครบทุกสถานทีตรวจวัด

นอกจากนี้ การเปิดเผยข้อมูลสถิติมลพิษทางอากาศย้อนหลังของคพ.ยังอยู่ในรูปแบบไฟล์ PDF ซึ่งอาจจะทำให้การติดตามการทำงานจากสาธารณชนเป็นไปอย่างยากลำบากหากต้องการรวบรวมข้อมูลมลพิษทางอากาศของทั้งประเทศไทย รวมทั้งข้อมูลยังขาดความครบถ้วนในหลายช่วงเวลา และอาจจะส่งผลต่อการวิจัยหรือการกำหนดนโยบายสาธารณะที่ดี ซึ่งต้องพึ่งพาข้อมูลมลพิษที่มีคุณภาพและเข้าถึงได้ง่าย

เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2562 เวลา 17.40 น.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร กำลังใช้อุปกรณ์ฉีดน้ำดับเพลิงแรงดันสูง ฉีดละอองน้ำเพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองที่กำลังลังวิกฤต บริเวณหน้าสวนจตุจักร

ประสานเสียง “พรรคการเมือง” แก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบนโยบายพรรคการเมืองหลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ปลดล็อกให้ทำกิจกรรมทางการเมืองได้พบว่า ยังไม่มีพรรคไหนมีนโยบายแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอย่างชัดเจน ส่วนใหญ่จะแสดงความห่วงใยและเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาผ่านกระแสข่าว หรือไม่ก็จะบรรจุไว้ในนโยบายสิ่งแวดล้อมของพรรคในภาพกว้าง ยังไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดมากนัก

อาทิเช่น “พรรคชาติพัฒนา” โดยนายเทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรค กล่าวแสดงความเป็นห่วงปัญหาฝุ่นละอองในกรุงเทพฯในช่วงนี้ที่เริ่มมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมระบุว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเอาจริงเอาจังกับมาตราการแก้ไขต่างๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น ติดตั้งเครื่องมือกำจัดฝุ่นด้วยเทคโนโลยีละอองเย็น และควรประชุมวางแผนจัดการเน้นเรื่องการควบคุมรถควันดำ และการก่อสร้างอาคารสูงที่ต้องควบคุมเรื่องฝุ่นละอองอย่างเคร่งครัด ส่วนการแก้ปัญหาในระยาวจำเป็นต้องมีมาตราการที่ชัดเจนเกี่ยวกับการส่งเสริมรถยนตร์ไฟฟ้า ผังเมือง เทศบัญญัติควบคุมการก่อสร้าง นายเทวัญยังกล่าวว่าพรรคชาติพัฒนาให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ เพราะเป็นห่วงสุขภาพประชาชนและผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยจะกำหนดเป็นนโยบายของพรรคต่อไป

ด้าน “พรรคเพื่อไทย” โดย ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ สุรนาทยุทธ์ รองโฆษกพรรค เสนอมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองเกินมาตรฐานว่า ต้องมีการตรวจสอบ จับ ปรับรถที่ปล่อยควันขาวและควันดำอย่างจริงจังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแก้ไขถนนและซอยในเมืองขนาดใหญ่ที่ยังเป็นดินด้วยการเทปูนอย่างเร่งด่วน

นอกจากนี้ควรตั้งมาตรการควบคุมผู้ประกอบการก่อสร้าง ให้ควบคุมค่า PM2.5 ไม่ให้สูงเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด หากมีการกระทำความผิดต้องระงับการก่อสร้างจนกว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ อาทิเช่น กำหนดให้หน่วยงานก่อสร้างต้องทำการล้างฝุ่นบนถนนตลอดวัน เพื่อลดการเกิดฝุ่นละออง

รวมทั้งเสนอให้รถบรรทุกขนดิน ขนทราย และวัสดุก่อสร้างต่างๆ ต้องปฏิบัติตาม พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม แห่งชาติ อย่างเคร่งครัด ส่วนภาครัฐกับภาคเอกชนต้องช่วยกันเฝ้าระวังบริษัทที่ดำเนินกิจการที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น เช่น โรงงานหิน โรงงานทราย โรงงานปูน แท่นหัวเจาะ สถานที่ขนส่งวัสดุต่างๆ โดยกำหนดให้มีเครื่องดูดฝุ่นขนาดใหญ่ หรือติดพัดลมไอน้ำ เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองให้น้อยลง

ขณะที่ “พรรคอนาคตใหม่” ใส่การแก้ปัญหาฝุ่นละอองไว้ในนโยบายด้านคมนาคม โดยนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ที่ปรึกษาด้านนโยบายคมนาคมพรรค ชี้ว่ามลพิษในเขตกรุงเทพและปริมณฑลที่เกิดขึ้นในช่วงนี้มีสาเหตุสำคัญมาจากฝุ่นควันรถ จึงควรพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะต้องดำเนินการให้เร็วที่สุด เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวลง รวมทั้งนำงบประมาณไปพัฒนาระบบราง แทนที่จะนำมาตัดถนนเพิ่ม เพราะการเพิ่มถนนไม่ช่วยแก้ปัญหาการจราจร ทั้งยังเพิ่มปริมาณรถยนต์ด้วย

“การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะไม่ใช่แค่แก้ปัญหาการจราจรแต่ยังแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม พัฒนาระบบเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วย การพัฒนาไม่ใช่แค่เรื่องใดเรื่องหนึ่งแต่ต้องเชื่อมโยงกัน” นายสุรเชษฐ์ กล่าว

ส่วน “พรรคประชาธิปัตย์” โดยคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ในฐานะรองหัวหน้าพรรค กล่าวถึงปัญหาดังกล่าวเมื่อเร็วๆนี้ว่า ตนได้ศึกษาและติดตามปัญหาเกี่ยวกับฝุ่นละอองขนาดเล็กมาตั้งแต่สมัยลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพฯเมื่อปี 2543 ทำให้มีความรู้เบื้องต้นว่าฝุ่นนี้เกิดจากสภาพอากาศนิ่งโดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวไม่มีลมพัด และเป็นฝุ่นชนิดพิเศษที่เล็กมากไม่สามารถกรองผ่านจมูกคนหรือใช้มาส์กป้องกันได้

คุณหญิงกัลยากล่าวว่า ความตั้งใจศึกษาในขณะนั้นคืออยากให้สิ่งแวดล้อมบริสุทธิ์ กทม.เป็นเมืองน่าอยู่ปลอดภัย ดังนั้นคนกทม.จะต้องเข้าใจเรื่องนี้ เพื่อป้องกันจะได้ทราบว่าหากสูดฝุ่นละอองขนาด PM2.5 เข้าไปแล้วจะมีอาการอย่างไรบ้าง ต้องให้ประชาชนทราบ เพื่อจะได้ตื่นตัวและพบแพทย์ได้ทันท่วงที ก่อนที่จะลุกลามไปมากกว่านี้ โดยเฉพาะเด็ก สิ่งสำคัญคือต้องควบคุมรถสิบล้อที่วิ่งผ่านกทม. เพราะฝุ่นนี้เกิดจากรถสิบล้อ ที่ล้อของรถบรรทุกสิบล้อบดอัดกับถนน

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยท่อไอเสียรถที่ทำให้เกิดทั้งฝุ่นและควัน บวกกับอากาศนิ่งทำให้ในละออง PM2.5 เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากที่ควรจะเป็น ทำให้คนเกิดโรคต่าง ๆ ตามมา โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจ เพราะฉะนั้นต้องให้ความรู้กับประชาชนให้เข้าใจ

“ขอเรียกร้องหน่วยงานต่างๆ อาทิ กทม. แพทย์ กรมควบคุมมลพิษ ช่วยให้ความรู้กับประชาชนมากกว่าเดิม แม้ป้องกันไม่ได้แต่ให้ความรู้กับประชาชนตื่นตัว สังเกตอาการ รู้เท่าทันหากประสบปัญหา จะได้ถึงมือแพทย์ได้ทันท่วงที และอยากเชิญชวนให้ทุกคนมีจิตสำนึก ช่วยกันปลูกต้นไม้ มีที่ว่างตรงไหนก็ปลูกต้นไม้เพราะป้องกันได้หลายอย่าง ทั้งการลดเสียงและกรองฝุ่น ทำให้อากาศบริสุทธิ์” คุณหญิงกัลยา กล่าว

นอกจากนี้ยังมี “พรรคกรีน” ซึ่งเป็นพรรคการเมืองทางเลือก โดยนายพงศา ชูแนม หัวหน้าพรรค โพสต์ข้อความเฟซบุ๊กส่วนตัวกล่าวถึงการแก้ปัญหาฝุ่นควันในกรุงเทพฯเมื่อเร็วๆนี้ว่า กทม. มีพื้นที่สีเขียวน้อย เนื่องจากติดกรอบความคิดว่ามีอำนาจทำอะไรได้เพียงแต่ที่ดินของรัฐเท่านั้น จึงเสนอนโยบายสร้างพื้นที่สีเขียวลดมลพิษในเมือง โดยใช้พื้นที่เอกชนเป็นพื้นที่สีเขียว สร้างแรงจูงใจให้เอกชนปลูกต้นไม้ในที่ดินตนเอง แล้วมีรายได้โดยตรงจากขนาดพื้นที่สีเขียวต่อตารางเมตร และรวมถึงพื้นที่สีเขียวที่แผ่ออกจากที่ดินตนเองมาบนที่ดินของรัฐเช่นถนน แม่น้ำลำคลอง เป็นต้น

สาธารณสุขเปิดศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังฝุ่นพิษ

อนึ่ง เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2562 นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบให้กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ กรมอนามัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามเฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพและให้ความรู้ในการป้องกันตนเองจากสภาพอากาศที่มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐานในพื้นที่กทม.และปริมณฑลอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2561 อย่างไรก็ดีจากการติดตามสถานการณ์กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในวันนี้ (14 มกราคม 2562) ปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มลดลง คุณภาพอากาศโดยรวมยังอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จึงได้มอบให้นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อติดตามเฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพ ให้ความรู้ประชาชนและวิธีป้องกันตัวที่ถูกต้อง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้วางแนวทางในการดูแลและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน จากมลพิษในอากาศร่วมกับกทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้มาตรการทางกฎหมายภายใต้พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 รวมทั้งการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพในพื้นที่ กทม. ใน 2 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจและโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด มีการสื่อสารเตือนภัยให้ประชาชนทราบความเสี่ยงและป้องกันดูแลสุขภาพของตนเองได้

“ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ เนื่องจากฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่ได้เกินค่าในทุกพื้นที่ และพื้นที่ที่มีค่าเกินมาตรฐานก็ไม่ได้ค่าสูงอยู่ตลอดเวลา ข้อมูลการเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยาที่ได้รับรายงานในโรงพยาบาลเครือข่ายกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระหว่างวันที่ 3 สิงหาคม 2561 – 7 มกราคม 2562 ไม่พบว่ามีผู้ป่วย 3 กลุ่มโรคที่เฝ้าระวังสูงขึ้นผิดปกติ หรือพบเป็นกลุ่มก้อนเมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่ผ่านมา ได้แก่ หอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด และไม่มีรายงานผู้ที่มีอาการรุนแรง” นายแพทย์สุขุมกล่าว

ด้านแพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง ในกลุ่มเสี่ยงได้แก่ ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้ป่วยด้วยโรคประจำตัว เช่นโรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด ภูมิแพ้ โรคหัวใจ หากออกจากบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันและสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจมีเสียงวี๊ด แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าผิดปกติ หรือวิงเวียนศีรษะขอให้ไปพบแพทย์

7 ล้านคนเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ

Air Pollution หรือ มลพิษทางอากาศ มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของคน จากการสูดอากาศเข้าไป โดย องค์กรอนามัยโลก (World Health Organization:WHO) ให้ข้อมูลAir Pollution and Health ว่า มลพิษทางอากาศทำให้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรราว 7 ล้านคนต่อปี ด้วยโรคไม่ติดต่อ ในปี 2016 มลพิษทางอากาศทำให้คนเสียชีวิตมากถึง 4.2 ล้านคน เฉพาะมลพิษทางอากาศจากการหุงหาอาหารในครัว เรือน การเผาไหม้เชื้อเพลิง และเทคโนโลยี่มีผลทำให้คนเสียชีวิตถึง 3.8 ล้านคนในปีเดียวกัน

ประชากร 9 ใน 10 หายใจเอาอากาศที่มีมลพิษสูงเข้าในร่างกาย เช่น ผงฝุ่นเขม่าดำ หรือ Black carbon ที่เข้าไปเกาะลึกในปอดและระบบหัวใจและหลอดเลือด ( Black carbon คือ อนุภาคหรือผงเขม่าที่เกิดจากกระบวนการเผาไหม้ต่างๆ อันได้แก่ การเผาเศษวัสดุชีวมวลจำพวกเศษวัชพืชและต้นไม้ หรือ Biomass burning) การเผาเชื้อเพลิงแข็ง เช่น ถ่าน ไม้ ฟืน เพื่อการประกอบอาหารหรือกิจกรรมอื่นๆ และการเผาไหม้เชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ หรือ Engine combustion โดยเฉพาะไอเสียการจากเผาไหม้ของน้ำมันดีเซล เป็นต้น)

ที่มาภาพ:https:// www.who.int/airpollution/en/

การเสียชีวิตมากกว่า 90% จากสาเหตุมลพิษทางอากาศเกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง โดยส่วนใหญ่ในเอเชียและอัฟริกา รองลงมาคือประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลางในเมดิเตอร์เรนียนตะวันออก ยุโรปและอเมริกา

ประชากรราว 3 พันล้านคน หรือมากกว่า 40% ของประชากรโลก ยังไม่เข้าถึงเชื้อเพลิงและเทคโนโลยี่ที่สะอาดสำหรับการหุงหาอาหารของครัวเรือน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของมลพิษทางอากาศที่มาจากครัวเรือน เช่น ยังมีการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ มูลสัตว์ ถ่านหิน น้ำมันก๊าด

นอกจากนี้ 91% ของประชากรโลกอาศัยในพื้นที่ที่คุณภาพอากาศต่ำกว่ามาตรฐานที่ WHO กำหนด และ 80% ของประชากรในเขตเมืองประสบกับมลพิษทางอากาศที่สูงเกินเกณฑ์ของ WHO

WHO ให้ความสำคัญกับปัญหานี้อย่างมาก โดยได้ติดตามสถานการณ์มลพิษทางอากาศในภาคครัวเรือนมามากกว่า 10 ปี แม้ว่าการเข้าถึงเชื้อเพลิงและเทคโนโลยี่สะอาดเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ได้เป็นระดับที่น่าพอใจ เพราะจำนวนประชากรทั่วโลกเพิ่มขึ้น และยังได้ร่วมมือกับหลายประเทศในการแก้ไข เพื่อให้สภาพอากาศดีขึ้น เพราะเป็นมลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อ

โดยการเสียชีวิตของประชาชนผู้ใหญ่จากโรคหัวใจด้วยสาเหตุมลพิษทางอากาศ มีสัดส่วน 25% ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด ซึ่งแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุนี้ 2.4 ล้านคน การเสียชีวิตจากภาวะสมองขาดเลือดมีสัดส่วน 24% โดยแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุนี้ราว 1.4 ล้านคน การเสียชีวิตจากโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 43%แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตด้วยสาเหตุนี้ 1.8 ล้านคน ส่วนการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดคนมีสัดส่วน 29% และเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบหายใจส่วนล่างอีก 17%

โดยได้จัดประชุมระดับโลกเรื่อง มลพิษอากาศกับสุขภาพเป็นครั้งแรกที่กรุงเจนีวา ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม-1 พฤศจิกายน 2018 ร่วมกับโครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ(UN Environment) องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก(World Meteorological Organization:WMO) สำนักเลขาธิการของรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ( United Nations Framework Convention on Climate Change ), คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งยุโรปของสหประชาชาติ (United Nations Economic Commission for Europe), โครงการความร่วมมือโครงการเพื่อลดการปล่อยสารมลภาวะทางอากาศที่มีอายุสั้น Climate and Clean Air Coalition to Reduce Short-lived Climate Pollutants(CCAC)

ที่มาภาพ:https:// www.who.int/airpollution/en/

ก่อนหน้านี้ในปี 2016 ประเทศสมาชิกได้ให้ความเห็นชอบ โรดแมปที่ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ 4 หลักได้แก่

หนึ่ง ขยายฐานความรู้ด้านผลกระทบของมลพิษทางอากาศที่มีต่อสุขอนามัย
สอง ติดตามและรายงานผลแนวโน้มสุขอนามัยและความคืบหน้าในการจัดการกับมลพิษทางอากาศตามเป้าหมายความยั่งยืนหรือ SDGs
สาม ใช้ประโยชน์จากภาคสาธารณะสุขในการสร้างความรับรู้และตระหนักถึงผลดีของการมีสุขภาพดีจากการลดมลพิษทางอากาศ
สี่ เพิ่มขีดความสามารถของงานด้านสาธารณสุขในการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นทุกระดับ เพื่อจัดการกับผลกระทบด้านสุขภาพที่มีสาเหตุจากมลพิษทาอากาศด้วยการฝึกอบรม การให้แนวปฏิบัติ รวมทั้งการจัดทำแผนปฏิบัติการ

มลพิษทางอากาศนอกบ้าน ครอบคลุมตั้งแต่หมอกควันภายนอกบ้านไปจนถึงควันในบ้าน คือปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพของคน เป็นปัญหาหลักด้านสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อสุขภาพของประชากร และมีผลต่อการเสียชีวิตโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากรับฝุ่นละอองในอากาศ(Particulate Matter:PM) ที่มีขนาดเล็ก 10 ไมครอน(PM 10) และ 2.5 ไมครอน (PM 2.5) สามารถเข้าไปสู่ระบบไหลเวียนของเลือดและปอด

สำหรับเด็กและผู้หญิง การได้รับมลพิษทางอากาศทั้งชั่วคราวและระยะยาว จะมีผลต่อการทำงานของปอด ระบบหายใจและทำให้คนที่เป็นโรคหอบหืดอยู่แล้วมีอาการที่แย่ลง ส่วนผลกระทบต่อหญิงมีครรภ์ เด็กที่คลอดออกมากอาจจะมีน้ำหนักน้อย หรือคลอดก่อนกำหนด ตัวเล็กกว่าอายุครรภ์ปกติ รวมไปถึงอาจจะมีผลต่อระบบประสาทและเบาหวานในเด็ก

แหล่งที่มาของการเกิดมลพิษทางอากาศนอกบ้านมาจาก ภัยธรรมชาติ เช่น ไฟป่า หรือ พายุทราย และการกระทำของคน ซึ่งมีผลต่อมลพิษทางอากาศมากกว่าธรรมชาติ โดยที่เกิดจากเครื่องยนต์ ระบบทำความร้อน การเผาพืชพลทางการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม เช่น การเผาไหม้ของเครื่องยนต์ ระบบพลังงานและความร้อน ทั้งที่ใช้ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน แหล่งทิ้งขยะและระบบการจัดการขยะด้วยเตาเผา

ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่สามารถผ่านเข้าไปในระบบทางเดินหายใจประกอบด้วย ไนโตรเจนไดออกไซด์ ที่ปล่อยออกมาจากระบบการผลิตพลังงาน เช่น โรงไฟฟ้า การผลิตในภาคอุตสาหกรรมและการจราจร ส่วนซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ปล่อยออกจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน และน้ำมัน เช่น ผงฝุ่นเขม่าดำ หรือ Black carbon ฝุ่นแร่ และน้ำ รวมทั้งโอโซนระบบพื้นผิวดิน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของหมอกน้ำตาล หรือหมอกควันที่เกิดจากการปล่อยควันพิษจากเครื่องยนต์ต่างๆ

มลพิษทางอากาศนี้สามารถเคลื่อนไหวไปได้ไกลจากแหล่งต้นกำเนิดในเวลา 4-6 วัน เช่น ลมพัดฝุ่นจากทะเลทรายในอัฟริกา มองโกเลีย เอเชียกลางและจีน สามารถพัดพากลุ่มฝุ่นละอองขนาดเล็กไปด้วย และมีผลต่อคุณภาพของอากาศในพื้นที่ห่างไกลออกไป ดังนั้นความร่วมมือของทั้งโลกจึงจำเป็นในการแก้ไขปัญหา เพื่อเป็นการเสริมในสิ่งที่ประเทศและภูมิภาคได้ดำเนินการอยู่

คุณภาพอากาศมีความสัมพันธ์กับสภาพอากาศของโลกและระบบนิเวศทั่วโลก สาเหตุของการเกิดมลพิษทางอากาศเป็นส่วนหนึ่งของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โอโซนและผงฝุ่นเขม่าดำ เป็นมลภาวะทางอากาศที่มีอายุสั้นที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร

นโยบายในการจัดการกับมลพิษทางอากาศต้องเป็นวางกลยุทธ์ที่สามารถตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งในระยะสั้นและระยะยาวและปัญหาสุขภาพควบคู่กัน