ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > มลพิษในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลงช่วงโควิด 2020

มลพิษในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลงช่วงโควิด 2020

9 กันยายน 2021


ที่มาภาพ: https://news.un.org/en/story/2021/09/1099092

มีการยืนยันว่าคุณภาพอากาศดีขึ้นจากการล็อกดาวน์ในช่วงโควิด-19

แถลงการณ์คุณภาพอากาศและสภาพภูมิอากาศ (Air Quality and Climate Bulletin) ขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO) ระบุว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีระดับอนุภาคในอากาศที่เป็นอันตราย ซึ่งเกิดจากการจราจรและการผลิตพลังงานลดลงถึง 40% ในปี 2020

ส่วนในจีน ยุโรป และอเมริกาเหนือการปล่อยมลพิษก็ลดลงและมีคุณภาพอากาศดีขึ้นในช่วงปีแรกของการระบาดเช่นกัน ขณะที่หลายๆ ประเทศ เช่น สวีเดน คุณภาพอากาศดีขึ้นเพียงเล็กน้อย เนื่องจากมีระดับอนุภาคขนาดเล็ก (PM2.5) ของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ที่เป็นอันตราย ไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) และโอโซน (O3) ค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว

ดร. Oksana Tarasova หัวหน้าแผนกวิจัยสิ่งแวดล้อมในบรรยากาศของ WMO อธิบายว่า แม้การพัฒนาให้อากาศสะอาดนั้นจะเป็นเรื่องที่ดีกับผู้ที่ปัญหาทางด้านการหายใจจำนวนมาก แต่การไม่มีอนุภาคขนาดเล็กที่เป็นอันตรายเหลืออยู่ทำให้เกิด โอโซนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งถือเป็น “หนึ่งในมลพิษที่อันตรายที่สุด”

“มีการทดลองเกี่ยวกับเคมีบรรยากาศที่คาดไม่ถึง เราได้สังเกตเห็นในหลายส่วนของโลกว่า แม้ว่าจะลดการขนส่งและลดการปล่อยมลพิษอื่น ๆ แต่คุณภาพอากาศจะยังไม่เป็นไปตามข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO)”

แม้การปล่อยมลพิษทางอากาศจากมนุษย์จะลดลงในช่วงที่มีการจำกัดการเดินทางและเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากโควิด-19 แต่สภาพอากาศที่รุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมทำให้เกิดพายุทรายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งรวมถึงเมฆฝุ่น “ก็อตซิลลา (Godzilla)” ในเดือนมิถุนายน ปี 2020 ซึ่งเป็นพายุฝุ่นแอฟริกันที่ใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ และไฟป่าตั้งแต่ออสเตรเลียถึงไซบีเรีย ซึ่งทำให้คุณภาพอากาศแย่ลงอย่างมาก

“มีแนวโน้มที่จะเป็นแบบนี้ต่อไปในปี 2021” WMO ระบุ ไฟป่าในอเมริกาเหนือ ยุโรป และในเขตทุนดราของรัสเซีย “ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศของคนนับล้าน และพายุทรายและพายุฝุ่นได้ปกคลุมหลายภูมิภาคและเดินทางข้ามไปยังหลายทวีป”

หน่วยงานของ UN กล่าวว่ามลพิษทางอากาศมีผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพของมนุษย์ ค่าประมาณจากการประเมินภาระโรคในระดับโลก (Global Burden of Disease: GBD) แสดงให้เห็นว่าอัตราการเสียชีวิตทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 2.3 ล้านคนในปี 1990 (จากฝุ่นละออง 91% จากโอโซน 9%) เป็น 4.5 ล้านคนในปี 2019 (จากฝุ่นละออง 92% จากโอโซน 8%)

จากแถลงการณ์คุณภาพอากาศและสภาพภูมิอากาศฉบับแรกของ WMO อิงจากการศึกษามลพิษทางอากาศที่สำคัญจากการสังเกตการณ์ในสถานีมากกว่า 450 แห่ง ใน 63 เมือง และ 25 ประเทศ ทั่วทั้ง 7 ทวีปของโลก

การวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่าความเข้มข้นโดยรวมของ PM2.5 ในช่วงการล็อกดาวน์ปี 2020 ลงลดเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2015-2019

WMO กล่าวว่าระดับของ PM2.5 “มีพฤติกรรมที่ซับซ้อนแม้แต่ในภูมิภาคเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น มีการเพิ่มขึ้นในบางเมืองของสเปน ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการแพร่กระจายในระยะไกลของฝุ่นแอฟริกันและการเผาไหม้ชีวมวล”

นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงความเข้มข้นของโอโซนแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละภูมิภาค โดยมีตั้งแต่ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจนถึงมีการเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเช่น ในยุโรป และมีการเพิ่มขึ้นมาก (เพิ่มขึ้น 25% ในเอเชียตะวันออก และเพิ่มขึ้น 30% ในอเมริกาใต้)

และจากแถลงการณ์ของ WMO ความเข้มข้นของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในทุกภูมิภาคลดลง 25-60% ในปี 2020 เมื่อเทียบกับช่วงปี 2015–2019 และระดับคาร์บอนมอนอกไซด์ลดลงในทุกภูมิภาคเช่นกัน โดยลดลงมากที่สุดในอเมริกาใต้ อยู่ที่ประมาณ 40%

น่าประหลาดที่แม้ว่าไฟป่าที่รุนแรงทำให้มลภาวะของอนุภาคขนาดเล็ก “สูงผิดปกติ” ในหลายพื้นที่ของโลกในปี 2020 แต่ WMO อธิบายว่าไฟป่าในออสเตรเลียตะวันตกเฉียงใต้ในเดือนธันวาคม ปี 2018 และในเดือนมกราคม ปี 2019 “นำไปสู่การเย็นตัวชั่วคราวทั่วทั้งซีกโลกใต้ ซึ่งเทียบเท่ากับที่เกิดจากเถ้าจากภูเขาไฟระเบิด”