ThaiPublica > คอลัมน์ > ดราม่า เรื่อง PM2.5 ตอน 1: ความเข้าใจพื้นฐาน

ดราม่า เรื่อง PM2.5 ตอน 1: ความเข้าใจพื้นฐาน

24 เมษายน 2018


รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์
ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แม้จะเขียนจั่วหัวเรื่องว่าเป็นเรื่องดราม่า อันเนื่องมาจากคุณภาพอากาศในกรุงเทพมหานครที่เลวมากในช่วงปลายมกราคมต่อต้นกุมภาพันธ์เมื่อต้นปี 2561 โดยดูหรือวัดเอาจากค่าสารมลพิษอากาศหรือ PM2.5 แต่เมื่อเวลาผ่านไป สภาพลมฟ้าดีขึ้น ลมร้อนเริ่มมาและพัดแรงขึ้น มลพิษทั้งหลายซึ่งจริงๆ ไม่ได้มีแค่เพียง PM2.5 ก็ถูกพัดพาให้กระจายออกไป ปัญหามลพิษอากาศจึงน้อยลง และดราม่าเรื่องนี้ก็คล้ายๆ กับเรื่องอื่นๆ คือจางหายไปกับสายลม แต่ในกรณีนี้มันหายไปกับสายลมจริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่การเปรียบเปรย

เรื่องที่จะเขียนต่อไปขอบอกให้ชัดเจนก่อนว่าจะไม่ใช่เรื่องดราม่า แต่เป็นข้อเท็จจริง ที่อย่างน้อยก็เป็นข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเราควรเรียนรู้และทำความเข้าใจกับมัน (แม้ออกจะยากสักหน่อยสำหรับคนทั่วไป) จึงจะจัดการกับมันได้ และเลิกดราม่าแบบไร้เหตุผลกันเสียที และเนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์ที่มีอะไรสลับซับซ้อนอยู่ในตัวของมันเยอะมาก เราจึงจะขออธิบายแยกออกเป็น 6 ตอน โดยมีรายละเอียดที่พยายามให้จบในแต่ละตอนของตัวมันเอง

เรื่องแรก: แม้ในเหตุการณ์ดราม่าเมื่อต้นปีที่ผู้คนต่างได้พูดถึงเฉพาะเรื่องฝุ่น PM2.5 แต่จริงๆ แล้วสารมลพิษอากาศมีมากกว่านั้น ที่โลกให้ความสนใจกันจริงจังและประเทศไทยมีการกำหนดเป็นมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศมีอยู่ 8 ตัว คือ

    1) ก๊าซโอโซน (O3)
    2) ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2)
    3) ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO)
    4) ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2)
    5) ตะกั่ว (Lead)
    6) ฝุ่นใหญ่ (ขนาดไม่เกิน 100 ไมครอน เรียกเป็นทางการว่า Total Suspended Particles หรือ TSP)
    7) ฝุ่นละอองเล็ก (ขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน เรียกเป็นทางการว่า Coarse Particulate Matter, Particulate Matter 10 หรือ PM10)
    และ 8) ฝุ่นละอองจิ๋ว (ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน เรียกเป็นทางการว่า Fine Particle, Fine Particulate Matter, Particulate Matter 2.5 หรือ PM2.5)

แต่ละตัวจะมีอันตรายหรือความเป็นพิษแบบเฉียบพลันหรือแบบเรื้อรังต่างกัน ยกตัวอย่างสารคาร์บอนมอนอกไซด์หรือ CO ที่จะอันตรายแบบปัจจุบันทันที เพราะ CO จะไปแย่งออกซิเจนในเลือด ทำให้คนขาดออกซิเจนและตายได้ ตายแบบที่นอนในรถยนต์ติดเครื่องแล้วไม่ตื่นขึ้นมาอีกเลยนั่นแหละ

เรื่องที่ 2: แม้บทความนี้จะเน้นเรื่อง PM2.5 ซึ่งเป็นเรื่องของฝุ่น แต่ฝุ่นก็ไม่ได้มีเพียงแค่ PM2.5 ฝุ่นในอากาศมีหลายขนาด คือ TSP, PM10, PM2.5 และ PM1.0 ทั้งนี้ TSP หรือ Total Suspended Particles คือ ฝุ่นละอองรวมหรือฝุ่นละอองขนาด 100 ไมครอน* หรือต่ำกว่า ซึ่งจะขอเรียกรวมๆ ว่า “ฝุ่นใหญ่” ส่วน PM10 หมายถึงฝุ่นที่เล็กลงมา คือขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน มีขนาดประมาณเทียบเท่ากับหนึ่งในห้าของเส้นผม ซึ่งเราขอเรียกว่า “ฝุ่นเล็ก” ฝุ่นขนาดนี้ขนจมูกกรองไม่ได้ มันจะเข้าไปในปอดจึงเป็นอันตรายได้ ฝุ่นที่เล็กลงไปอีกคือฝุ่น PM2.5 ซึ่งคือฝุ่นที่เล็กกว่า 2.5 ไมครอน ฝุ่นนี้นอกจากขนจมูกกรองไม่ได้แล้วยังทะลุทะลวงเข้าไปได้ถึงในสุดของปอด จึงอันตรายกว่า PM10 เราขอเรียกฝุ่นนี้ว่า “ฝุ่นจิ๋ว” และฝุ่นจิ๋วนี่แหละที่เป็นต้นเหตุแห่งความเข้าใจผิดซึ่งนำมาซึ่งดราม่าเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

แต่ฝุ่น PM2.5 ยังไม่เล็กสุด ปัจจุบันบางประเทศที่วิทยาการทางเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมไปไกลมากได้ทำการตรวจวัดความเข้มข้นของฝุ่น PM1.0 (หรือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 1 ไมครอน) ด้วย เช่น บริเวณสนามบินฮีทโทรว์ (Heathrow airport) เพราะเขาคิดว่ามันอันตรายกว่าฝุ่นจิ๋ว PM2.5 เสียอีก เพราะฝุ่นนี้หากขนาดยิ่งเล็กลงก็ยิ่งมุดเข้าไปได้ลึกขึ้นในร่างกายเรา ถึงขนาดสามารถเข้าสู่กระแสเลือดได้ อันตรายจึงมากขึ้น เราขอเรียกฝุ่นนี้ว่า “ฝุ่นไมโคร” เพื่อให้ฟังดูขึงขัง เข้าใจยาก และชวนติดตาม

เรื่องที่ 3: อันมลพิษอากาศนั้นมี ปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้มันเกิดขึ้นได้อยู่ 2 ประการ ปัจจัยแรก ได้แก่ สารมลพิษที่ปล่อยออกมาจากแหล่งกำเนิดต่างๆ ส่วนปัจจัยที่สอง ได้แก่ สภาพภูมิอากาศ เราจะเห็นได้ว่าปัจจัยที่เราพอจะควบคุมได้และจัดการได้คือปัจจัยแรกเท่านั้น ส่วนปัจจัยที่สองนั้นเราควบคุมหรือทำอะไรไม่ได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะปัจจุบันที่สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (climate change) อย่างรุนแรง จนเราคาดเดาอะไรล่วงหน้านานๆ แทบไม่ได้ ฉะนั้น ถ้าเราจะมีมาตรการใดๆ ออกมาเพื่อลดปัญหาก็ต้องเพ่งเล็งไปที่ปัจจัยแรกเป็นประการเดียวเท่านั้น และสำหรับในกรุงเทพมหานครจะต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษในช่วงปลายปีต่อต้นปี หรือตั้งแต่เดือนธันวาคมไปจนถึงเดือนมีนาคม (ถ้าเป็นพื้นที่ภาคเหนือก็จะเริ่มตั้งแต่กุมภาพันธ์จนถึงเมษายน)

หมายเหตุ: ไมครอนหรือไมโครเมตรเป็นหน่วยวัดความยาว เช่นเดียวกับ นิ้ว เมตร หรือ ไมล์ 1 ไมครอน = 1⁄1,000 มิลลิเมตร, หรือ 1 ไมครอน = 1⁄1,000,000 เมตร

ซึ่งมักเป็นช่วงที่อากาศสงบ ลมนิ่ง สารมลพิษอากาศจึงสะสมตัวอยู่ในชั้นบรรยากาศได้ยาวนานกว่าในช่วงฤดูอื่นๆ ดังจะเห็นได้ว่าดราม่า PM2.5 ในกรุงเทพมหานครเมื่อเดือนกุมภาพันธ์หรือต้นปี 2561 ได้จางหายไปเมื่อลมร้อนเดือนมีนาคม-เมษายนเริ่มเข้ามาไล่สารมลพิษอากาศเหล่านั้นให้กระจายหายไป

เรื่องที่ 4: แม้จะมีดราม่าว่ามลพิษอากาศบ้านเราแย่มากจนจะอยู่กันไม่ได้แล้ว แต่เชื่อหรือไม่ว่าแม้จะมีจำนวนรถยนต์ในกรุงเทพมหานครมากขึ้นทุกปีๆ ซึ่งจะว่าไปแล้วคุณภาพอากาศควรจะต้องเลวลงๆ แต่คุณภาพอากาศของเราโดยเฉพาะ PM10 เฉลี่ยรายปีแล้วกลับดีขึ้นทุกปี

รูปที่ 1 ความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ในกรุงเทพมหานคร เฉลี่ย 24 ชั่วโมงสูงสุด
ตั้งแต่ปี 2539 ถึง 2555 ค่ามาตรฐาน 120 มคก./ลบ.ม.
ที่มา: กรมควบคุมมลพิษ (2555) รายงานสถานการณ์ประจำปี พ.ศ. 2555
รูปที่ 2 ความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ในกรุงเทพมหานคร เฉลี่ยรายปี
ตั้งแต่ปี 2539 ถึง 2555 ค่ามาตรฐาน 50 มคก./ลบ.ม.
ที่มา: กรมควบคุมมลพิษ (2555) รายงานสถานการณ์ประจำปี พ.ศ. 2555

จากกราฟในรูปที่ 1-2 แม้ว่าข้อมูลจะเป็นตัวเลขของ PM10 มิใช่เป็นข้อมูลของฝุ่นจิ๋ว PM2.5 แต่ก็ชี้ชัดได้ว่าเราทั้งรัฐและรัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหานี้มาโดยตลอด เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้คุณภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงคือเราได้มีการออกกฎหมายที่ทำให้สภาพการณ์ดีขึ้น โดยได้เปลี่ยนมาตรฐานไอเสียของรถยนต์และมาตรฐานของน้ำมันเชื้อเพลิงจากมาตรฐานยูโร 3 เป็น มาตรฐานยูโร 4 อันทำให้มลพิษต่างๆ ลดลงไปได้มาก

นอกจากนี้ เรายังได้มีการควบคุมการก่อสร้างไม่ให้ปล่อยฝุ่นออกมามากเหมือนแต่ก่อน รวมทั้งมีการล้างทำความสะอาดถนนอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ไม่มีฝุ่นมาฟุ้งกระจายทำอันตรายต่อสุขภาพของเราและลูกหลานเรา ซึ่งคุณความดีนี้ต้องยกให้กับเจ้าหน้าที่รัฐทุกท่านที่มีส่วนทำให้อากาศของเราสะอาดขึ้น