ThaiPublica > คอลัมน์ > ดราม่าเรื่อง PM2.5 ตอน 12: ฝุ่นหรือฝน

ดราม่าเรื่อง PM2.5 ตอน 12: ฝุ่นหรือฝน

13 ตุลาคม 2021


รองศาสตราจารย์ ดร. ศิริมา ปัญญาเมธีกุล ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บรรยากาศกรุงเทพมหานครที่มองจากตึกสูง

ต่อจากตอนที่11

ช่วงนี้เป็นช่วงปลายเดือนกันยายนต้นตุลาคม ซึ่งเป็นฤดูฝนที่ไม่ใช่ช่วงวิกฤติของฝุ่น PM2.5 แต่เราสองคนมีข้อคิดเล็กๆ น้อยๆ ที่อยากเอามาฝากเล่าสู่กันฟังเพื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลฤดูหนาวที่เป็นฤดูแห่ง PM 2.5 สำหรับเอาไว้เป็นความรู้ประดับตัวเพื่อใช้ถกแลกเปลี่ยนกันในโอกาสต่อไป

บังเอิญในปี พ.ศ. 2564 ช่วงกันยา-ตุลาที่ว่านี้มีพายุเข้าด้วย ฝนจึงตกในปริมาณที่มากกว่าปกติ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่าหากฝนตกแรงมากพอ ฝนจะสามารถชะเอาฝุ่นละอองไม่เว้นแม้แต่ฝุ่นขนาดเล็กอย่าง PM2.5 ออกจากมวลอากาศได้ และชักพาให้ฝุ่นนั้นตกลงมายังพื้นดินร่วมไปกับน้ำฝน ทำให้อากาศสะอาด ประกอบกับช่วงนี้มีปัญหาวิกฤติโควิด-19 ทำให้หลายภาคส่วนยังทำงานที่บ้านหรือ work from home หรือแม้กระทั่งคนที่ไม่ได้ทำงานก็ออกจากบ้านน้อยลง อันทำให้จราจรเบาบางลงกว่ากรณีปกติมาก ค่าฝุ่น PM2.5 จึงควรลดน้อยลงจนไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน

สำหรับชาวบ้านคนเดินถนนธรรมดาที่ไม่มีเครื่องวัด PM2.5 วิธีการที่จะบอกกับตัวเองว่าฝุ่นเยอะหรือไม่มักใช้วิธีมองขึ้นไปบนฟ้า ถ้าขุ่นมัวก็น่าจะมีมลพิษอากาศมากหรือฝุ่นเยอะ บางคนถึงกับถ่ายรูปอัปเฟซบอกว่าวันนั้นวันนี้อากาศแย่มาก มองอะไรไม่เห็น ซึ่งมันเป็นจริงเช่นนั้นในทุกกรณีไหม เรามาดูกัน

ขอให้เรามองไปที่รูปที่ 1 ซึ่งเป็นรูปของสภาพอากาศที่มองเห็นได้ด้วยตา บนทางด่วนขาเข้าใกล้เขตพญาไทของเวลาบ่ายสามของวันที่ 20 กันยายน 2564 จากรูปนี้เราจะเห็นสภาพอากาศขุ่นมัวจนมองเห็นอาคารสูงได้ไม่ชัด ซึ่งนั่นหมายถึงว่าคุณภาพอากาศเมื่อเน้นเรื่องฝุ่นน่าจะไม่ดีนัก แต่ถ้าเรามองไปที่รูปถัดไป คือรูปที่ 2 ที่แสดงถึงสภาพอากาศจริงในกรุงเทพมหานครโดยทั่วไปในวันเวลาเดียวกัน จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์กลับไปในทิศทางตรงข้าม คือ คุณภาพอากาศดีจนถึงดีมาก (สีเขียวและสีฟ้า)

หรือถ้าเราต้องการมองอย่างเฉพาะเจาะจงไปที่พื้นที่ตรงนั้น ก็สามารถดูได้ที่รูปที่ 3 ซึ่งแสดงปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนมีค่าเท่ากับเพียง 11 มคก./ลบ.ม. ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับค่ามาตรฐานที่ 50 มคก./ลบ.ม. ซึ่งนั่นก็ยืนยันอีกครั้งว่า คุณภาพอากาศในวันนั้นดีกว่าที่จินตนาการหรือคาดเดาเอาไปเองจากการมองดูด้วยตาเพียงเท่านั้น

รูปที่ 1 สภาพอากาศมองด้วยตา บนทางด่วนขาเข้า ใกล้เขตพญาไท เวลา 15:00 น. วันที่ 20 กันยายน 2564
(ธงชัย พรรณสวัสดิ์, กันยายน 2564)
รูปที่ 2 สภาพอากาศโดยทั่วไปของกรุงเทพมหานคร เวลา 15:00 น. วันที่ 20 กันยายน 2564
(ที่มา: กรมควบคุมมลพิษ)
รูปที่ 3 ปริมาณในเขตพญาไท ระหว่างวันที่ 14-20 กันยายน 2564 ที่มา: กรมควบคุมมลพิษ

แล้วตรงนี้บอกอะไรเรา ในแง่วิทยาศาสตร์ซึ่งเรายังไม่แน่ใจนักเพราะยังไม่มีการพิสูจน์ให้เห็นเด่นชัด แต่เราค่อนข้างมั่นใจว่า “ความขุ่น” ในอากาศนั้นมาจากความชื้น (หรือ moisture content — MC) หรือหมอก และเราไม่ควรอนุมานอย่างง่ายๆ ว่าทุกครั้งที่เห็นฟ้าขุ่นมัวนั้น สาเหตุมันต้องมาจากเรื่องฝุ่นเป็นประการเดียว

เพราะเรื่องทางวิทยาศาสตร์มันซับซ้อนกว่านั้นมากค่ะ (ครับ) นี่ขนาดยังไม่พูดถึงปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างออกไซด์ของไนโตรเจนและแสงแดดในอากาศที่จะก่อให้เกิดสภาพขุ่นมัวในบรรยากาศเพิ่มขึ้นได้อีกเสียด้วยซ้ำ แต่เอาเถอะวันนี้เอาแค่นี้พอ เรื่องยุ่งๆ พวกนั้นให้นักวิทยาศาสตร์เขาไปทะเลาะกันให้ได้ข้อสรุปเช่นไรค่อยมาเล่าให้เราฟัง แล้วเราค่อยมาถกกันต่อในวันหลัง

วันนี้เอาแค่ว่าเรื่องฝุ่น PM2.5 จะใช้แค่ตาดูแล้วบอกว่ามันซีเรียสหรืออันตราย หรือไม่ซีเรียสไม่อันตราย ไม่ได้ค่ะ (ครับ)