ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ น้อมรับพระราโชบาย บริหารประเทศให้ ปชช. มีความสุข – มติ ครม. อนุมัติงบฯบัตรทอง 1.9 แสนล้าน – เพิ่มเหมาจ่ายเป็น 3,600 บาท

นายกฯ น้อมรับพระราโชบาย บริหารประเทศให้ ปชช. มีความสุข – มติ ครม. อนุมัติงบฯบัตรทอง 1.9 แสนล้าน – เพิ่มเหมาจ่ายเป็น 3,600 บาท

12 กุมภาพันธ์ 2019


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

น้อมรับ พระราโชบาย บริหารประเทศให้ ปชช. มีความสุข

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ตนได้แจ้งในที่ประชุม ครม. ถึงพระราโชบายในการบริหารประเทศ ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ โดยขอให้คนไทยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ที่พระองค์เห็นความสำคัญของประชาชน โดยท่านมีรับสั่งว่า ให้คณะรัฐมนตรีนึกถึงประชาชนเป็นหลักในการทำงาน ทำให้มีความสุข มีทางออก และมีทางเลือก ที่จะทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น

ขณะที่การแก้ปัญหาสังคมของประเทศนั้น สามารถบรรเทาได้โดยการส้รางวินัยให้กับคนในชาติให้มากขึ้น ซึ่งตนตีความไปถึงการเคารพกฎหมายด้วย เพราะจะทำให้ทุกคนไม่กระทบซึ่งกันและกัน และขอให้ประชาชนทุกคนมีความภูมิใจในประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ วัฒนธรรม ตลอดจนถึงอัตลักษณ์ของประเทศไทย โดยนำความเป็นมา วัฒนธรรมของชาติ ไปสู่การเพิ่มมูลค่าให้กับประเทศชาติ ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้รับดำเนินการอยู่แล้วในเรื่องนี้

อีกประการคือ โครงการจิตอาสาทำความดีด้วยหัวใจ โดยตนได้ให้แนวทางไปใน ครม. ว่าต้องนำสิ่งเหล่านี้ไปขับเคลื่อนให้ได้มากที่สุด โดยให้ไปเชิญช่วยภาคธุรกิจ เอกชน ว่าจะสามาเข้ามาช่วยดูแลเกษตรได้อย่างไรบ้าง เนื่องจากภาคเอกชนมีงบประมาณที่จะทำซีเอสอาร์อยู่แล้ว ให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างรัฐ ประชาชน เอกชน และประชาสังคม ซึ่งวันนี้ประชาชนยังประสบปัญหาในเรื่องอาชีพและรายได้ เรื่องเกษตรกรและผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งต้องดำเนินการแก้ไขทั้งระบบ

จบปม “ฮาคีม” ด้วยดี – ขอให้หยุดวิจารณ์

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่นายฮาคีม อัล อาไรบี อดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน ที่ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และเดินทางกลับไปยังประเทศออสเตรเลีย ว่า รัฐบาลทราบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยทรงห่วงใยในเรื่องนี้ ก็ได้ให้หน่วยงานทุกหน่วยงานทำให้หน้าที่ของตนให้ดีที่สุดภายใต้กฎหมายไทย ซึ่งเรื่องนี้ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ขอให้หยุดการวิพากษ์วิจารณ์ เพราะการแก้ปัญหาครั้งนี้หลายหน่วยงานมีส่วนในการแก้ไข ซึ่งตนไม่สามารถไปก้าวล่วงอำนาจกระบวนการยุติธรรมของทั้งอัยการและศาลได้

ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ดำเนินการประสานงานกับทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งทุกอย่างก็ได้รับการแก้ไขปัญหาไปได้ด้วยดี โดยยืนยันว่ารัฐบาลไทยไม่ได้รับผลประโยชน์อะไรจากกรณีดังกล่าว พร้อมทั้งขอบคุณทางบาห์เรนที่เห็นแก่ความสัมพันธ์พิเศษกับไทย

“ส่วนของบาห์เรนนั้นถือว่ามีความสัมพันธ์พิเศษในทุกระดับ ทั้งราชวงศ์ ราชการ รัฐบาล รวมถึงประชาชน ทำให้การแก้ปัญหานี้เป็นไปได้ด้วยดี ไม่ต้องการให้ไทยที่ไม่มีส่วนได้เสียอะไรต้องมาเผชิญกับภาวะกดดันในเรื่องนี้ ซึ่งรัฐบาลได้พยายามแก้ปัญหาอย่างรอบครอบ จากนี้ก็เป็นเรื่องของทั้ง 2 ประเทศแล้ว ที่ต้องดำเนินการแก้ปัญหากันต่อไป” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ยันเดินหน้าแก้ปัญหาที่ดิน – IUU ต่อ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่มีการมาร้องเรียนเรื่องการแก้ปัญหาที่ดิน ว่า ตนได้สั่งการไปแล้วให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดลอม โดย คสช. ที่รับผิดชอบในการจัดหาที่ดินนำไปพิจารณา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ทั่วถึง เพราะ คสช. ตั้งมาเพื่อดำเนินการในส่วนนี้อยู่แล้ว ฉะนั้นขออย่าเคลื่อนไหวกันอีกเลย ไม่เช่นนั้นจะทำอะไรไม่ได้เหมือนเดิม ต้องให้ความเป็นธรรมคนอื่นด้วย รวมไปถึงปัญหาที่ดินทับซ้อนกระทรวงทรัพยฯ ก็กำลังแก้ปัญหาเหล่านี้อยู่

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปถึง ปัญหาประมง IUU ว่า เมื่อสามารถแก้ปัญหาได้แล้ว ก็ยังคงต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะองค์กรระหว่างประเทศเองก็ยังคงจับตาดูอย่างต่อเนื่อง และเพื่อผลของการประมงส่วนใหญ่ของประเทศ โดยยืนยันว่าจะให้ความสำคัญประมงขนาดเล็กในการแก้ปัญหาดูแลเรือที่ไม่สามารถออกทำประมงได้ พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า เมื่อแก้ปัญหาแล้วจะต้องไปกลับมาสู่วงจรเดิม ดังนั้นต้องหามาตรการที่เหมาะสม

“ในเรื่องการดูแลและเยียวยาชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายใหม่ ก็กำลังหามาตรการที่เหมาะสมจัดหางบประมาณในการดูแลเรื่องเรือต่างๆ ที่ไม่สามารถออกทำประมงได้ในขณะนี้ คงจะเร่งรัดให้เร็ว แต่ทั้งนี้ก็ยังต้องไปเป็นตามขั้นตอนการใช้งบประมาณ เพราะบางกรณีก็สามารถใช้งบกลางได้ บางกรณีก็ต้องตั้งงบประมาณในปีต่อๆ ไป” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ชี้ “ไม่กดดัน” ขึ้นเต็งหนึ่งแคนดิเดตนายกฯ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงความรู้สึกหลังตนมีชื่อเป็นเต็งหนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ ว่า ตนไม่รู้สึกกดดัน เพราะทำงานเต็มที่ทุกวันอยู่แล้ว วันนี้ก็ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. อย่างเต็มที่ ส่วนเรื่องของการเมืองให้เป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่จะดำเนินการไป

สำหรับเหตุการณ์ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา ตนไม่มีความคิดเห็น เป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ส่วนการวางตัวและบทบาทนายกฯ ของตนนั้น ก็ต้องระวังให้มากที่สุด ยืนยันว่าจะปฏิบัติทุกอย่างให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์และกฎหมาย แต่กิจกรรมใดที่เป็นเรื่องสำคัญของประเทศ เรื่องสำคัญของรัฐบาลที่ต้องขับเคลื่อนตนก็ต้องดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ขออย่าเอามาเป็นประเด็นทางการเมือง เพราะเป็นคนละเรื่องกัน ซึ่งการเมือง และการเลือกตั้งเป็นเรื่องของอนาคต เราจะกำหนดบทบาทของประเทศอย่างไร ประชาชนต้องเรียนรู้ในจุดนี้

ต่อคำถามกรณีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่จะหาเสียงโดยการนำชื่อ พล.อ. ประยุทธ์ ที่ได้รับการเห็นชอบจากจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาชูในการหาเสียงนั้น พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า เป็นเรื่องของพรรคฯ ที่จะดำเนินการ สำหรับประชาชนที่สอบถามว่าจะได้พบตัวนายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้น วันนี้ก็พบตนได้ทุกช่องทางอยู่แล้ว ในช่องทางที่สามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ตามที่สอบถามหารือกับ กตต. มาโดยตลอด โดยตนยังมาทำงานทุกวันไม่เคยหยุดราชการอยู่แล้ว ดังนั้นอย่าให้ทุกอย่างเป็นประเด็นเลย

เตือน ปชช. เสพข่าวอย่างมีสติ – วอนอย่าเชื่อคนดีแต่พูด

พล.อ. ประยุทธ์ ได้ฝากเตือนประชาชนถึงการรับข่าวสาร โดยระบุว่า ขณะนี้มีข่าวเท็จและข่าวลือจำนวนมาก ขอให้ประชาชนดูด้วย อย่าหลงเชื่อในทันที ควรคิดถึงความถูกต้อง มีสติ รักประเทศชาติ เพราะการบิดเบือนนั้นจะทำให้เสียโอกาสและประเทศเสียหาย ตนไม่อยากไปเกี่ยวข้องในส่วนนี้มากนัก ซึ่งตนพยายามดูแลในเรื่องของกฎหมายที่จะควบคุมเรื่องดังกล่าวให้ถูกต้องมากกว่า

“ขอความกรุณาสื่อให้เผยแพร่ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์บ้าง ว่าวันนี้รัฐบาลแก้ปัญหาอะไรไปแล้วอย่างไร ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนมีหลักคิดที่ถูกต้อง มีเหตุผลในการเลือกตั้ง มากกว่าเหตุผลที่จะเลือกแบบเดิมๆ ด้วยความใกล้ชิด หรือความสัมพันธ์ส่วนตัว ขอให้มองในประเด็นใหญ่ด้วย เพราะเมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้รัฐบาลที่ดีมาก็จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น แก้ปัญหาที่ทุกคนต้องการอย่างเป็นขั้นตอน ไม่ใช่ทำมากหรือน้อยเกินไป เพราะจะทำให้การใช้งบประมาณมีปัญหา” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ต่อกรณีการจัดรายการทุกคืนวันศุกร์ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เนื้อหารายการเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริหารราชการ ไม่ได้พูดถึงการเมืองหรือหาเสียงให้ใครเลย ขอให้เข้าใจตามนี้ด้วย เพราะจำเป็นต้องให้ประชาชนมีการเรียนรู้รับรู้ ว่าปัญหาต่างๆ มีการแก้ไขอย่างไร วิธีการที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ซึ่งจะเห็นได้ว่าระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา บางเรื่องต้องใช้เวลาทั้ง 4 ปี ในการแก้ไข ไม่สามารถแก้ได้ด้วยคำพูดที่พูดออกไปชั่วคราว อยากให้ทุกคนได้เข้าใจตรงนี้ด้วย

“เรื่องการไปร่วมดีเบตต่างๆ เป็นเรื่องของพรรคการเมือง กฎหมายทำได้หรือไม่ได้ ควรหรือไม่ควรก็ต้องพิจารณา อยากจะฝากข้อคิดไปว่า ไม่ว่าจะดีเบตหรือไม่ ใครจะพูดอะไรก็ตาม ขออย่าไปเชื่อ หรือฟังที่พูดเพียงอย่างเดียว เพราะหลายอย่างปฏิบัติไม่ได้ ซึ่งมีผลกระทบทั้งสิ้นในเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ และวิธีการทำงานไม่ใช่ง่ายๆ เกี่ยวข้องกับกฎหมายต่างๆ การจะให้นู่นให้นี่บางทีตัวเลขไม่ได้ เราจะใช้จ่ายงบประมาณได้อย่างไร เพราะภาษีเป็นของทุกคนทุกฝ่าย อยากให้มองไปที่ผลสัมฤทธิ์ว่าเป็นได้จริงหรือไม่ ขอฝากข้อคิดไว้ให้ประชาชน ผมไม่ได้เข้าข้างใคร”

ชูปัญหาฝุ่นเป็นวาระแห่งชาติ

พล.อ. ประยุทธ์ การแก้ไขปัญหาค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานในหลายจังหวัด ว่า วันนี้ในกรุงเทพมหานครก็ดีขึ้น แม้จะมีการเพิ่ม-ลด อยู่บ้าง แต่ก็ยังอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ฉะนั้นเป็นสิ่งที่ต้องทำต่อไป ซึ่งตนได้มีการเสนอในที่ประชุม ครม. ให้กำหนดเรื่องการกำจัดฝุ่นละอองทั้งหมด ให้มีการจัดการฝุ่นละอองในอากาศอย่างยั่งยืน ให้ทุกหน่วยงานจัดลำดับความเร่งด่วนโดยแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง ต้องไม่ยกเลิกความเข้มงวด

“ในส่วนของต่างจังหวัดที่มีปัญหาฝุ่นละอองมากขึ้นก็เนื่องมาจากการเผาในที่โล่ง ซึ่งต้องไปแก้ไขปัญหาที่ต้นทางว่าทำไมเขาถึงเผา สาเหตุหลักคือการใช้เครื่องจักรทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ซึ่งต้นได้สั่งการในที่ประชุม ครม. ให้ไปหาวิธีการแก้ไขปัญหาการเผาไร่/นา ต่างๆ ทั้งหมดอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการเผาในไร่อ้อย ว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญ เพราะใช้พื้นที่เพาะปลูกจำนวนมาก ในหลายๆ พื้นที่และทุกฤดูกาลเก็บเกี่ยวเพื่อนำอ้อยเข้าโรงน้ำตามจะพร้อมกันทั้งหมด ดังนั้นกรณีนี้จะต้องมีการปรับวิธีการจัดระบบให้ดี เพราะทุกคนเร่งตัดเพื่อนำไปขาย ทำให้ต้องใช้วิธีเผาเพื่อประหยัดแรงงาน และค่าใช้จ่าย รวมทั้งการเผาจะช่วยเพิ่มค่าน้ำตาลในอ้อยสูงขึ้น กรณีเช่นนี้จึงต้องอาศัยความร่วมมืองจากโรงอ้อยด้วย ต้องแก้ปัญหาที่ต้นตอ เป็นมาตรการที่ยอมรับได้ ค่อยๆ แก้ไขไป

โดย พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “อะไรที่จบไปแล้วก็จบไป อย่าให้มีปัญหาต่อไปเลย แม้ยังมีคนที่โพสต์อยู่ในโซเชียลมีเดีย แต่เราก็ต้องลดความขัดแย้งลงให้มากที่สุดในสิ่งที่ไม่ใช่สาระสำคัญ ฝากขอบคุณทุกสื่อด้วย ขอให้มีการปรับตัว ผมเองก็ปรับตัว นักการเมือง พรรคการเมืองทุกพรรคก็ต้องปรับตัว ผมไม่ได้หมายถึงทำดี-ทำเลว อย่าไปพูดตรงนั้น พูดแต่เพียงว่าเราต้องปรับตัวเพื่อให้ประเทศเราเดินไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน อันนี้เป็นประเด็นสำคัญ”

“ขอร้องทุกคนแล้วกัน ถือว่านายกรัฐมนตรีขอร้องคนทั้งประเทศ ทุกคนไม่ว่าใครก็ตาม แม้จะมีการเลือกตั้งแต่ต้องมุ่งประเด็นว่าประเทศชาติจะเป็นอย่างไรปลอดภยหรือไม่ ประชาชนจะมีความสุขหรือเปล่าประชาชนจะมีความสุขหรือเปล่า ประเทศชาติจะมีระเบียบวินัยหรือไม่ แก้ไขปัญหาทุจริตได้หรือไม่ ไม่ว่าเราจะมีกฎหมายใดๆ ออกมา ก็อยู่ที่คนเท่านั้นในทางปฏิบัติ ใกล้วันมาฆบูชาแล้วขอชวนประชาชนทุกท่านร่วมกันทำบุญกุศลไปด้วย 3 คำง่ายๆ คือ ทำความดี ละเว้นความชั่ว และทำใจให้บริสุทธิ์ ผมกำลังทำทั้ง 3 อย่างอยู่ ก็ชวนทุกคนช่วยกันทำด้วย” นายกรัฐมนตรีกล่าว

มติ ครม. มีดังนี้

พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พล.ท. วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th/

อนุมัติงบฯบัตรทอง 1.9 แสนล้าน – เพิ่มเหมาจ่ายรายหัวเป็น 3,600 บาท

พล.ท. วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2563 ตามความเห็นของสำนักงบประมาณที่จำนวน 191,000 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2562 จำนวน 6,500 ล้านบาท โดยเป็นเงินเข้าสู่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 141,000 ล้านบาท จากข้อเสนอจำนวน 199,000 ล้านบาท โดยงบที่ได้รับประกอบด้วยรายละเอียด ดังนี้

    1) งบบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว จำนวน 174,000 ล้านบาท ครอบคลุมค่าใช้จ่ายหน่วยบริการในส่วนเงินเดือน ค่าตอบแทนบุคลากร และค่าบริการสาธารณสุขในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่สำหรับประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) จำนวน 48.26 ล้านคน คิดเป็นอัตราเหมาจ่ายรายหัว 3,600 บาทต่อประชากร บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 เป็นจำนวน 173 บาทต่อประชากรผู้มีสิทธิ โดยคาดว่าจะมีการใช้สิทธิที่เฉลี่ย 3.76 ต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ

    2) งบบริการสาธารณสุขผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ จำนวน 3,596 ล้านบาท

    3) งบบริการสาธารณสุขผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง จำนวน 9,405 ล้านบาท

    4) งบบริการบริการควบคุมป้องกันความรุนแรงโรงเรื้อรัง จำนวน 1,037 ล้านบาท

    5) งบค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย และพื้นที่ชายแดนภาคใต้ จำนวน 1,490 ล้านบาท

    6) งบค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงในชุมชน จำนวน 1,025 ล้านบาท

    7) งบค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมบริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัว จำนวน 268 ล้านบาท

พล.ท. วีรชน กล่าวว่า จากงบประมาณที่รัฐบาลสนับสนุนเพิ่มเติมในปีงบประมาณ 2563 นี้ โดยเฉพาะในส่วนงบเหมาจ่ายรายหัวจะนำมาสู่การพัฒนาระบบ เพิ่มการเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขที่จำเป็นให้กับประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีสิทธิประโยชน์ทั้งการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การรักษาผู้ป่วยนอก การรักษาผู้ป่วยใน

ซึ่งในปีนี้ได้มีสิทธิประโยชน์ที่ผ่านการพิจารณาและเตรียมเดินหน้าในปีงบประมาณ 2563 ได้แก่ การตรวจคัดกรองยีน HLA-B*1520 ก่อนเริ่มยา Carbamazepine เพื่อป้องกันการแพ้ยาชนิดรุนแรง, ปรับการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในประชากร อายุ 50-70 ปีให้เกิดความสะดวกมากขึ้น, เพิ่มบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับอีก 12 รายการ เพิ่มการผ่าตัดผ่านกล้องและอุปกรณ์ทันสมัยเพื่อให้กลับบ้านได้เร็วขึ้น, การเพิ่มยารักษาโรคอัลไซเมอร์ มะเร็งไทรอยด์ โรคที่เกิดจากการทำลายเส้นประสาท และเพิ่มสูตรยาต้านไวรัสเอดส์ที่ดื้อยา, เพิ่มเครื่องตรวจติดตามค่าน้ำตาลในเลือดให้ผู้ป่วยเบาหวานเด็ก, เพิ่มวัคซีนป้องกันโรคท้องร่วงในเด็ก และขยายสิทธิประโยชน์ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในกลุ่มผู้บริจาคที่ไม่ใช่ญาติ

นอกจากนี้ยังปรับระบบการจัดการให้ประชาชนมีแพทย์ประจำครอบครัวใหม่, การดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงทุกกลุ่มอายุ โดยปี 2563 ให้ครอบคลุมถึงผู้ป่วยสิทธิสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคมจากความร่วมมือหน่วยบริการในพื้นที่และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) การเพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการแพทย์แผนไทยมากขึ้น

“ในปีงบประมาณ 2563 นี้ สปสช. ยังได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยนำร่องการจัดบริการเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นและมีคุณภาพชีวิตเพิ่มขึ้น เช่น นำร่องบริการตรวจคัดกรองภาวะดาวน์ซินโดรมทารกในครรภ์ นำร่องการล้างไตผ่านเครื่องอัตโนมัติในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง และนำร่องป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีด้วยวิธี Pre-Exposure Prophylaxis (PrEP) ในกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อเอชไอวี” พล.ท. วีรชน กล่าว

ช่วยภัยแล้งชาวนา – จัดงบฯอุดหนุนเมล็ดพันธุ์ 275 ล้าน

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติโครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าวหอมมะลิ ปีการผลิต 2562/63 กรอบวงเงินงบประมาณ ทั้งสิ้น 275,147,520 บาท ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ รวมค่าขนส่ง จำนวน 10,000 ตัน วงเงิน 270,000,000 บาท โดยเบิกจ่ายจากทุนหมุนเวียนเพื่อผลิตและขยายพันธุ์พืช และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานโครงการ วงเงิน 5,147,520 บาท โดยกรมการข้าวดำเนินการปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562

โครงการดังกล่าวมีเป้าหมานในพื้นที่ 2,000,000 ไร่ จำนวน 23 จังหวัด (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และภาคเหนือ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดพะเยา) ไร่ละ 5 กิโลกรัม ตามพื้นที่ปลูกข้าวจริงที่ประสบฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง แต่ไม่เกินครัวเรือนละ 10 ไร่ (ครัวเรือนละไม่เกิน 50 กิโลกรัม) ซึ่งคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว ในการประชุมครั้งที่ 6/2561 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการด้วยแล้ว

“ทั้งนี้ ในปี 2561/62 เกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิจำนวนมาก (ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ) ผลผลิตข้าวเสียหาย เนื่องจากเกิดสภาวะฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วงอย่างรุนแรง ทำให้ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวหอมมะลิไว้ทำเมล็ดพันธุ์ข้าวสำหรับการเพาะปลูกในปีการผลิตต่อไป รวมทั้งเกษตรกรขาดแคลนเงินทุนในการจัดซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิไปเพาะปลูก ทั้งนี้ หากปล่อยให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวขาดแคลนเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีไปปลูกในฤดูนาปี ปี 2562/63 จะทำให้ผลผลิตข้าวหอมมะลิมีคุณภาพต่ำลง ส่งผลกระทบต่อการค้าและการตลาดข้าวหอมมะลิของประเทศไทย” นานณัฐพรกล่าว

จัดระบียบการนำเข้ามะพร้าว ป้องกันการลักลอบ

พล.ท. วีรชน กล่าวว่า ครม. เห็นชอบร่างประกาศของกระทรวงพาณิชย์ เรื่องการกำหนดให้มะพร้าวเป็นสินค้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบการนำเข้าในราชอาณาจักร เพื่อป้องกันการลักลอบนำมะพร้าวเข้ามาโดยผิดกฎหมาย ทำให้ไม่สามารถกำหนดราคาได้ และราคาไม่ดีขึ้น โดยจะควบคุมให้นำเข้ามะพร้าวเฉพาะที่ท่าเรือกรุงเทพฯ และท่าเรือแหลมฉบัง เท่านั้น

ผ่านร่างกฎกระทรวงตั้งกรมการขนส่งทางราง

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติรับทราบร่างกฎกระทรวง รวม 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยกลุ่มภารกิจ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. 2. ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม พ.ศ. …. 3. ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีนำร่างกฎกระทรวงว่าด้วยกลุ่มภารกิจ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาลงนาม และส่งร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม พ.ศ. …. และร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาลงนาม ทั้งนี้ ให้ดำเนินการลงนามเมื่อร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2562 (การจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง) มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมาย แล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษา

“สืบเนื่องจากการจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางได้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติและรอประกาศใช้เป็นกฎหมาย ครม. จึงเห็นว่าเพื่อความรวดเร็วของการจัดตั้งภายหลังจากที่ประกาศใช้กฎหมาย จึงเห็นชอบร่างกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องไว้ก่อนและสามารถดำเนินการได้ทันทีภายหลังจากกฎหมายบังคับใช้ โดยกรมการขนส่งทางรางจะทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลและผู้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการขนส่งทางราง ขณะที่รัฐวิสาหกิจอย่าง รฟท. และ รฟม. จะทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการต่อไป นอกจากนี้ในอนาคตยังมีแนวคิดจะจัดตั้งสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีทางราง เป็นองค์กรมหาชนอีกแห่ง เพื่อทำให้การพัฒนาระบบรางของไทยในอนาคตสมบูรณ์สอดคล้องตามแผนพัฒนาประเทศ” นายณัฐพรกล่าว

ในรายละเอียดกฎกระทรวงแต่ละฉบับ มีรายละเอียดดังนี้ 1) การแบ่งกลุ่มภารกิจด้านขนส่งเปลี่ยนแปลงจาก กรมการขนส่งทางบก, กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี และกรมการขนส่งทางอากาศ เป็น กรมการขนส่งทางบก (คงเดิม), กรมเจ้าท่า (เปลี่ยนชื่อ), กรมท่าอากาศยาน (เปลี่ยนชื่อ) และกรมการขนส่งทางราง (ตั้งใหม่) 2) การแบ่งส่วนราชการของกรมการขนส่งทางรางจะแบ่งเป็น สำนักงานเลขานุการกรม, กองกฎหมาย, กองกำกับกิจการขนส่งทางราง, กองมาตรฐานความปลอดภัยและบำรุงทาง และกองยุทธศาสตร์และแผนงาน และ 3) การแบ่งส่วนราชการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ให้ยุบสำนักงานโครงการพัฒนาระบบราง และย้ายภารกิจมายังกรมการขนส่งทางรางแทน

เห็นชอบแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน

พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2561-2564 ตามที่คณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติเสนอ โดยมีรายละเอียด 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

  • ยุทธศาสตร์ที่ 1 การปฏิรูประบบการจัดการด้านความปลอดภัยทางถนน มีเป้าประสงค์ ดังนี้ 1. การเพิ่มขีดความสามารถองค์กรการบริหารความปลอดภัยทางถนน 2. เพิ่มประสิทธิภาพระบบฐานข้อมูล 3. การปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย และ 4. เพิ่มสัดส่วนงบประมาณ ทรัพยากร และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ
  • ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืน มีเป้าประสงค์ ดังนี้ 1. สร้างพฤติกรรมด้านความปลอดภัยทางถนนในกลุ่มเยาวชน/ในสังคม 2. ส่งเสริมให้เกิดผู้ขับขี่คุณภาพ และ 3. เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการปัจจัยเสี่ยงหลักที่นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ
  • ยุทธศาสตร์ที่ 3 ประเทศไทยขนส่งทางถนนปลอดภัย 4.0 มีเป้าประสงค์ ดังนี้ 1. ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของยานพาหนะ 2. ยกระดับถนนที่ปลอดภัย และ 3. ส่งเสริมการเดินทางเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
    ยุทธศาสตร์ที่ 4 ประชารัฐเพื่อถนนปลอดภัย มีเป้าประสงค์ ดังนี้ ส่งเสริมความมีส่วนร่วมเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนจากทุกภาคส่วน

“นอกจากนี้ แผนดังกล่าวได้กำหนดค่าเป้าหมายตัวชี้วัด ปี พ.ศ. 2560-2564 จากอัตราการเสียชีวิตต่อประชากรหนึ่งแสนคน เป็น 30, 27, 24, 21, 18 คน ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังได้มีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ในระยะเวลา 20 ปี (ปี 2561-2580) ความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทยเพื่อเป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาประเทศในระยะยาวเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในระยะเวลา 20 ปี เพื่อสร้างให้เกิดความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืน ซึ่งคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนและคณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบแผนแม่บทฯ พ.ศ. 2560-2563 โดยให้ปรับเป็นแผนแม่บทฯ พ.ศ. 2561-2564 เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12” พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าว

ไฟเขียวร่าง MOU ป้องกันการค้ามนุษย์กับเมียนมา

พล.ท. วีรชน กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาว่าด้วยความร่วมมือในการต่อต้านการค้ามนุษย์และเห็นชอบให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็มให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย และไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้ พม. ดำเนินการได้ โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง

สาระสำคัญของร่างบันทึกความเข้าใจฯ มุ่งป้องกันและปราบปรามบุคคลและกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ โดยเชื่อมั่นว่า การปราบปรามการค้ามนุษย์และการคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์โดยการร่วมมือกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพ และจะเพิ่มพูนความร่วมมือระดับทวิภาคีอันเป็นประโยชน์ร่วมกันสำหรับทั้งสองประเทศในการต่อต้านการค้ามนุษย์และกระชับความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างคู่ภาคี

โดยมีมาตรการป้องกันการค้ามนุษย์ในทุกรูปแบบ เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ และมาตรการควบคุมชายแดนที่เข้มงวดเกี่ยวกับการตรวจหนังสือเดินทางและบัตรผ่านแดนที่จุดตรวจชายแดนระหว่างสองประเทศ การคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ เช่น ให้คู่ภาคีพัฒนาหลักเกณฑ์ที่มีประสิทธิภาพในการคัดแยกผู้เสียหาย และแนวปฏิบัติทั่วไปว่าด้วยการคัดแยกและส่งตัวผู้เสียหายของกระบวนการความร่วมมือระดับรัฐมนตรีของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ และกฎหมายภายในของภาคีแต่ละฝ่าย

ความร่วมมือในการปราบปรามการค้ามนุษย์ เช่น ให้หน่วยงานของคู่ภาคีที่รับผิดชอบในการบังคับใช้กฎหมายร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เช่น การดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดฐานค้ามนุษย์ข้ามชาติ การส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามกฎหมายภายในของภาคีแต่ละฝ่าย การส่งกลับและการกลับคืนสู่สังคม โดยให้คู่ภาคีนำมาตรฐานขั้นตอนการปฏิบัติงานทวิภาคีว่าด้วยการบริหารจัดการคดีและการส่งกลับและการกลับคืนสู่สังคมของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์มาใช้ปฏิบัติ ซึ่งประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าว เช่น เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและทันกับสถานการณ์การค้ามนุษย์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น และเพื่อเป็นการเพิ่มมาตรการต่างๆ ในการป้องกันกลุ่มเสี่ยงมิให้ถูกแสวงหาประโยชน์จากการค้ามนุษย์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เคยจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ในลักษณะเดียวกันนี้กับประเทศอื่นๆ แล้ว เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐประชาชนจีน และรัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น

เพิ่มวันหยุดสงกรานต์

พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบให้วันที่ 12 เมษายน 2562 เป็นวันหยุดราชการเพิ่มเติม เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ และให้รัฐวิสาหกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย และภาคเอกชน กำหนดวันหยุดตามความเหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงผลกระทบต่องานราชการและการบริการประชาชนเป็นหลัก

เห็นชอบ ก.ยุติธรรม สร้างบ้านพัก ขรก. 87 โครงการ 3,022 ล้าน

รายงานข่าวจากสำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการบ้านพักข้าราชการ (บ้านหลวง) ซึ่งดำเนินการโดย กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) จำนวน 87 โครงการ รวม 3,190 หน่วย 162 อาคาร ภายในวงเงิน 3,022.438 ล้านบาท ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) โดยให้คำนึงถึงความคุ้มค่าและประหยัด เป้าหมาย ประโยชน์ที่จะได้รับ และผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้นในการดำเนินโครงการ พร้อมจัดทำรายละเอียด แบบรูปรายการ ประมาณการค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างให้เป็นมาตรฐานเดียวในแต่ละระดับ ให้สอดคล้องกับร่างบัญชีราคามาตรฐานการออกแบบอาคารที่ทำการ อาคารอยู่อาศัยรวม และบ้านพัก โดยมีรายละเอียดดังนี้

    1. กรมราชทัณฑ์ (54 โครงการ) จำนวน 2,132 หน่วย 109 อาคาร วงเงิน 2,065.108 ล้านบาท

    2. กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน (16 โครงการ) จำนวน 672 หน่วย 27 อาคาร 582.33 ล้านบาท

    3. กรมคุมประพฤติ (5 โครงการ) จำนวน 182 หน่วย 14 อาคาร 183.52 ล้านบาท

    4. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (1 โครงการ) 24 หนวย 1 อาคาร 20.59 ล้านบาท

    5. กรมบังคับคดี (11 โครงการ) จำนวน 180 หน่วย 11 อาคาร 170.89 ล้านบาท

“บิ๊กฉัตร” แจงสถานการณ์น้ำ สั่ง กษ.-มท. ดูแลน้ำดื่ม ปชช.

พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่า พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานถึงปัญหาเรื่องภัยแล้ง ว่าขณะนี้น้ำในเขื่อนของประเทศไทยทั้ง 35 เขื่อน อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่จะมีระดับน้ำลดลงในอีก 10 เขื่อน แต่ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดูแลบริหารจัดการเรื่องน้ำนี้อยู่ และให้ความสำคัญในเรื่องของการมีน้ำดื่มน้ำใช้และอุปโภคบริโภคของประชาชนเป็นอันดับหนึ่ง และช่วยกันดูแลให้ความสำคัญกับเรื่องของแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยฝากให้ทางกระทรวงมหาดไทยไปดูแลน้ำประปาเพื่อให้ไปถึงพี่น้องประชาชนให้ครบทุกหมู่เหล่าด้วย

อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562เพิ่มเติม