ThaiPublica > คอลัมน์ > ฝุ่นควัน พาราควอต พันธุ์ข้าว และป่าไม้ บทสะท้อนภาวะรัฐเทียมของสังคมไทย

ฝุ่นควัน พาราควอต พันธุ์ข้าว และป่าไม้ บทสะท้อนภาวะรัฐเทียมของสังคมไทย

24 กุมภาพันธ์ 2019


กฤษฎา บุญชัย

ตัวแทนเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ชูป้ายสนับสนุน #แบนพาราควอตเดี๋ยวนี้หน้ากระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562

“หากให้เลิกใช้สารเคมีใน 1 ปี เรากังวลว่า จะมีผลกระทบกับเกษตรกรจำนวนมาก และการเผาซากพืชจะมีมากขึ้น เพราะใช้ยาปราบศัตรูพืชไม่ได้ จึงได้มีข้อเสนอต่อคณะกรรมการฯ ใช้เวลาปรับวิธีปฏิบัติทำเกษตรปลอดภัยทั่วประเทศใน 2 ปี ผมยืนยันจะทำให้เห็นเป็นแผนชัดเจน เป็นรูปธรรม”

คำให้สัมภาษณ์ของนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่สนับสนุนมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ยืนยันไม่ยกเลิกการอนุญาตให้ใช้พาราควอต ยาฆ่าหญ้าที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง จนกว่าจะครบ 2 ปี

“ระดับที่ PM2.5 ค่าไม่เกิน 50 มคก./ลบม. (ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ให้ส่วนราชการทุกหน่วยต้องดำเนินการตามภารกิจ อำนาจหน้าที่ และกฎหมายที่มีอยู่ให้ครบถ้วนตามสภาวการณ์ปกติ… ระดับที่ PM2.5 ค่าเกิน 50 มคก. ให้ทุกส่วนราชการดำเนินการเพิ่มและยกระดับมาตรการต่างๆ ให้เข้มงวดขึ้น โดยผู้ว่า กทม. และผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ”

มติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2562 พิจารณาแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเมื่อวันที่ 14 ก.พ.2562

ไม่ว่ารัฐบาลจะยืนยันอย่างไร แบบไหน แต่ดูเหมือนคำยืนยันเหล่านี้จะไร้ความหมาย ในเรื่องฝุ่น รัฐบาลเลือกที่จะทำเพียงแค่ควบคุมรถดีเซลปล่อยควันดำ ควบคุมการก่อสร้าง ฉีดน้ำรดอากาศ ซึ่งมาตรการเหล่านี้แทบไม่เปลี่ยนแปลงปัญหาได้เลย เพราะสาเหตุเชิงโครงสร้างมาจากอุตสาหกรรมพลังงาน ระบบผังเมือง และระบบขนส่งสาธารณะ ที่รัฐเมินเฉยในการออกแบบและกำกับอย่างจริงจัง

เห็นได้ว่า รัฐไม่สนใจที่จะควบคุมจำนวนรถส่วนตัวโดยให้มาใช้ขนส่งสาธารณะแทน ไม่เลือกที่จะเปลี่ยนรถที่ใช้น้ำมันมาเป็นรถไฟฟ้า ไม่นำพาที่จะแทนที่พลังงานไฟฟ้าที่พึ่งพาฟอสซิลด้วยพลังงานหมุนเวียน ไม่ส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองอย่างจริงจัง มุ่งแต่จะไปกดดันกับคนยากจน เช่น คนขับรถดีเซล เกษตรกรที่ปลูกอ้อยซึ่งโรงงานสร้างเงื่อนไขบีบคั้นให้ต้องเผาอ้อยเพื่อขายผลผลิตเข้าโรงงานตามกำหนด หรือเกษตรกรที่ต้องเผาไร่ทำพืชพาณิชย์เพื่อป้อนธุรกิจการเกษตร โดยที่กลุ่มธุรกิจเหล่านั้นไม่ได้เข้ามารับผิดชอบปัญหาฝุ่นควันแต่อย่างใด

ฟางเส้นสุดท้ายที่ประชาชนคาดหวังต่อรัฐให้ปกป้องอากาศบริสุทธิ์ซึ่งเป็นสิทธิของประชาชนหมดไป เมื่อรัฐผลักดันร่าง พ.ร.บ.โรงงานฉบับใหม่ ที่ส่งเสริมให้เกิดโรงงานอุตสาหกรรมขนาดย่อมๆ ที่ปล่อยควันพิษ ผลิตขยะอันตราย โดยไม่ถูกควบคุมจากมาตรการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ความฝุ่นไม่ทันหาย ความตายจากเรื่องอาหารเป็นพิษก็เข้ามา เมื่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2562 ยืนยันที่จะไม่แบนสารเคมีปราบศัตรูพืชร้ายแรง เช่น พาราควอต ในทันที แต่ให้ขยับออกไป 2 ปีแล้วค่อยมาทบทวนอีกครั้ง ในขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิต ผู้ป่วย และผู้เสี่ยงจากโรคภัยสารเคมีดังกล่าวพุ่งขึ้นสูง สภาพแวดล้อมทั้งดิน น้ำ ล้วนปนเปื้อนไปหมด ทั้งๆ ที่มีงานวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศยืนยันผลกระทบร้ายแรงอย่างไม่สามารถแก้ไขได้ ทำให้กว่า 50 ประเทศได้แบนสารเคมีดังกล่าวไปแล้ว หน่วยงานด้านสาธารณสุข ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เครือข่ายผู้บริโภค และเครือข่ายเกษตรกร ฯลฯ ต่างออกมายืนยันร่วมกันให้แบนโดยทันที

เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2562 เวลา 17.40 น.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร กำลังใช้อุปกรณ์ฉีดน้ำดับเพลิงแรงดันสูง ฉีดละอองน้ำเพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองที่กำลังลังวิกฤต บริเวณหน้าสวนจตุจักร

แต่รัฐบาลกลับเลือกที่จะฟังเสียงของกลุ่มธุรกิจสารเคมี โดยปฏิเสธที่จะแบนสารเคมีทันที หาทางออกที่ไม่แก้ปัญหาแบบเดียวกับเรื่องฝุ่น เช่น ควบคุมการใช้สารเคมีร้ายแรง และส่งเสริมเกษตรปลอดภัยร อินทรีย์เพิ่มขึ้น โดยไม่ได้เข้าใจเลยว่า เมื่อผืนดิน สายน้ำ ปนเปื้อนสารเคมีไปหมดแล้ว เราจะมีเกษตรอินทรีย์ได้อย่างไร และคำถามที่ไม่ได้ตอบคือ เราจะรับผิดชอบอย่างไรต่อผู้เสียชีวิต ผู้ป่วย และผู้เสี่ยงภัยสุขภาพจากสารเคมีเหล่านี้

นอกจากเรื่องฝุ่นควันและอาหารพิษ ปัญหายังประดังเข้ามาเรื่องร่าง พ.ร.บ.ข้าว ที่ไม่ให้ชาวนาปรับปรุงพันธุ์และจำหน่ายพันธุ์ข้าวได้เอง โดยให้กรมการข้าวเข้ามาควบคุมกำกับพันธุ์ข้าวที่ราชการกำหนด การปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และร่าง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ซึ่งปัญหาเดิมคือ กรมอุทยานฯ ใช้การประกาศเขตอุทยานฯ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าครอบทับชุมชนท้องถิ่น ทำให้ได้ดำรงชีพไม่ได้ ถูกจับกุม จนเมื่อมีภาคประชาชนเรียกร้องให้แก้ไข เสนอร่างกฎหมายของประชาชนที่มีเนื้อหารับรองสิทธิชุมชนในการดำรงชีพ จัดการทรัพยากร และมีส่วนร่วมจัดการป่ากับรัฐ ตามหลักรัฐธรรมนูญและหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) แต่ร่างของประชาชนกลับถูก สนช. เมินเฉยไม่นำพามาแก้ไข

และสุดท้ายคือ การที่รัฐบาลเดินหน้าเข้าร่วมในความตกลงครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (CPTPP) ที่มีเงื่อนไขให้ไทยจะต้องรับรองระบบทรัพย์สินทางปัญญาแบบ UPOV 1991 ที่มีระบบสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตที่เข้มงวด จนอาจนำไปสู่การผูกขาดพันธุกรรมอาหารและยาของบรรษัทข้ามชาติ และการยินยอมให้มีการปลูกพืช GMOs ที่มีความเสี่ยงต่อระบบนิเวศ สุขภาพ และการผูกขาดพันธุกรรมได้มากขึ้น

จากการเคลื่อนไหวทางนโยบายของรัฐทั้งหมดที่กล่าวมาถึงตรงนี้ บ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่า รัฐได้ฉีกข้อตกลงและคำมั่นสัญญาต่อสหประชาชาติหลายเรื่องไปแล้ว ไม่มีหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทาง SDGs ในการกำหนดกรอบนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่มีหลักการสิทธิมนุษยชนที่จะคุ้มครองชีวิตภายใต้นโยบายรัฐ และไม่มีหลักสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่จะคุ้มครองคุณภาพชีวิตประชาชนจากแนวนโยบายรัฐ

สิ่งที่เราควรทำความเข้าใจคือ รัฐมีวิธีคิดอย่างไรในการกำหนดนโยบาย และโครงสร้างการกำหนดนโยบายคืออะไร สุดท้ายคือ เรากำลังอยู่หรือเผชิญกับรัฐแบบไหนที่กำหนดแนวนโยบายได้เช่นนี้

วิธีคิดปกป้องผลประโยชน์ชนชั้นนำ รื้อสร้างความเป็นสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฝุ่นควัน พาราควอต และอื่นๆ จุดร่วมคือ การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ของกลุ่มทุนกับผลกระทบที่มีต่อสาธารณะ รัฐเลือกที่จะปกป้องประโยชน์ของกลุ่มผลประโยชน์ให้คงไว้ เช่น กลุ่มผลประโยชน์ทั้งในส่วนรัฐและเอกชนที่ผูกขาดพลังงานในระบบฟอสซิล และอุตสาหกรรมที่สร้างมลพิษ หรือกลุ่มธุรกิจสารเคมีเกษตร หรือธุรกิจอาหารและยา ซึ่งธุรกิจเหล่านี้เชื่อมต่อกับทุนโลกก้าวข้ามผลประโยชน์ของชาติไปแล้ว แนวนโยบายของรัฐในการปกป้องประชาชนจึงมีแค่มาตรการเฉพาะหน้าบำบัด บรรเทาผลกระทบสาธารณะ แต่ผลกระทบที่แท้จริงด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ การดำรงชีพ ประชาชนต้องแบกภาระไว้เอง

ยุทธวิธีที่รัฐใช้คือการรื้อสร้างความเป็นสาธารณะ คือ ทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบเป็นเรื่องผลกระทบเฉพาะกลุ่ม โดยนิยามให้เป็นกลุ่มเดือดร้อนที่ขาดความรู้ และกลุ่มทางอุดมการณ์ที่มีเป้าหมายแฝงที่ดูไม่ประสงค์ดีต่อชาติ พร้อมไปกับเปลี่ยนสภาพผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มของชนชั้นนำให้กลายเป็นประโยชน์ “สาธารณะ” ขณะที่ผู้ได้ผลกระทบถูกเรียกร้องให้ต้องเสียสละเพื่อ “สาธารณะ” อย่างไม่รู้จบ เราจึงเห็นประชาชนที่แม้จะตื่นตัวทั้งประเทศในเรื่องพิษภัยพาราควอตและฝุ่นควัน แต่กลับถูกมองว่าเป็นเพียงปัญหาเฉพาะกลุ่ม หรือเป็นเรื่องที่ปัจเจกชนต้องหาทางออกกันเอง

หลักเศรษฐกิจชนชั้นนำที่ฉาบเคลือบด้วยภาษาการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นมลพิษอากาศที่แม่เมาะลำปาง ที่มาบตาพุต จ.ระยอง หรือที่กรุงเทพฯ หรือกรณีผลกระทบร้ายแรงจากพาราควอตต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม เมื่อเสียงเรียกร้องให้ควบคุมกำกับมลพิษมีแนวโน้มจะกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของชนชั้นนำ หลักการทางนโยบายอื่นๆ เช่น หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน หลักสิทธิมนุษยชน หลักสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ที่ถูกนำมาใช้เพียงประกอบฉากสร้างความชอบธรรมให้กับนโยบายเหล่านี้มาตลอดก็จะถูกโยนทิ้งไป หรือใช้วิธีลดลัดตัดตอน (short cut) ให้กระบวนนโยบายด้านปกป้องสิทธิของประชาชนถูกรวบรัดจนหมดความหมาย เช่น ลดขั้นตอนกระบวนการทำอีไอเอ ลดประเภทโรงงานที่ต้องควบคุม อนุญาตให้ใช้พาราควอตโดยไม่ประเมินผลกระทบ ทวงคืนผืนป่าโดยหลับตาต่อหลักสิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญ

กระบวนการกำหนดนโยบายผูกขาด ปรากฏในโครงสร้างคณะกรรมการต่างๆ ที่กำกับนโยบาย เช่น คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการวัตถุอันตราย คณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ฯลฯ ซึ่งมีทั้งส่วนรัฐมนตรี ตัวแทนกระทรวง และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเปิดช่องให้กับภาคเอกชนเข้ามามีบทบาททั้งทางตรงและแฝงได้ แต่ภาคประชาสังคมเข้าถึงกลไกนโยบายเหล่านี้ได้ยากมาก ด้วยเหตุนี้ เมื่อระบบเกิดการผูกขาด การมีส่วนร่วมของประชาชนจึงไม่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง สิทธิประชาชนและสิทธิชุมชนจึงไม่มีอิสระ แต่ถูกตีกรอบให้ดำเนินการตามระบบกลไกนโยบายที่รัฐผูกขาด

ในยุคเทคโนโลยีข่าวสารเป็นอำนาจ รัฐต้องเผชิญกับสนามต่อสู้ข้อมูลข่าวสารอย่างหนัก แต่ด้วยการตรึงกระบวนการกำหนดนโยบายผูกขาดไว้ กลไกดังกล่าวได้กำหนดกรอบกำกับให้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจทางนโยบายถูกผูกขาดเฉพาะข้อมูลที่กลไกรัฐเลือกสรร ส่วนข้อมูลวิชาการจากประชาสังคมที่โต้แย้งรัฐ แม้ว่าจะมีความก้าวหน้าทางวิชาการมากกว่าเพียงใด ก็มีสภาพเป็นข้อมูลที่ไม่มีความหมายต่อการตัดสินใจทางนโยบาย

กลไกรัฐควบคุมแบบสหมิติ กลไกรัฐไม่ได้มีเพียงกลไกควบคุม (กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม ฯลฯ) แต่ยังมีกลไกอุดมการณ์ (การสร้างกลุ่มเทคโนแครต นักวิชาการ การสื่อสาร) และกลไกจัดสรรทรัพยากร (การเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ ทุน โครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี ฯลฯ) ทั้งหมดนี้จะทำงานไปพร้อมกัน หากกลไกใดอ่อน กลไกอื่นจะมาทดแทน

กรณีป่าไม้ที่ดิน กฎหมายป่าไม้สร้างระบบกรรมสิทธิ์รัฐแบบเบ็ดเสร็จในการกำกับพื้นที่ป่า แม้จะถูกวิจารณ์เรื่องความบกพร่องของการประกาศเขตที่ไปซ้อนทับชุมชนโดยไม่ตรวจสอบ แต่รัฐก็อาศัยกลไกอุดมการณ์ที่ปลุกเร้าให้สังคมมองที่ปลายทางว่าชาวบ้านเป็นผู้บุกรุกอย่างผิดกฎหมายที่ต้องรอการพิสูจน์สิทธิ์ตามเกณฑ์ของรัฐ

กรณีพาราควอต กฎหมายกำหนดให้หน่วยราชการมีอำนาจในการควบคุมกำกับ แต่เมื่อถูกวิจารณ์ทางวิชาการถึงผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก ก็อาศัยกลไกวิชาการและการสื่อสารของรัฐออกมาสร้างความสับสน และประทับตราให้กับการยืนยันใช้พาราควอตต่อไป

หรือกรณีเรื่องฝุ่น ที่รัฐล้มเหลวในเชิงนโยบาย แต่กลไกข้อมูลข่าวสารของรัฐทำให้เรื่องดังกล่าวกลายเป็นปัญหาพฤติกรรมปัจเจกชนที่ปล่อยฝุ่น ควันดำ โดยไม่มองถึงปัญหาการขยายตัวของเมือง อุตสาหกรรม และระบบรัฐที่ล้มเหลว

จุดชี้ขาดสำคัญอยู่ที่กลไกการจัดสรรทรัพยากรที่จะบ่งบอกว่าแนวนโยบายรัฐที่แท้จริงอยู่ที่เรื่องไหน ดังเช่น นโยบายเกษตรและอาหารที่สนับสนุนงบประมาณกับเกษตรเคมีซึ่งเอื้อกับธุรกิจสารเคมี นโยบายพลังงานที่ยังแสวงประโยชน์จากพลังงานฟอสซิล นโยบายป่าไม้ที่แสวงประโยชน์จากการผูกขาดพื้นที่ป่า หรือนโยบายการค้าเสรีที่เปิดช่องให้กลุ่มทุนแสวงประโยชน์จากสาธารณะจากระบบทรัพย์สินทางปัญญาได้อย่างเสรีมากขึ้น

เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า เราอยู่ในรัฐราชการที่เชื่อมตัวเอง หรือวางตนเองเป็นส่วนหนึ่งของกลไกแสวงประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ตนเองออกแบบ กำกับ ไม่ได้เป็นกลไกของส่วนรวมที่จะบริหารเพื่อการปกป้องสิทธิ เสรีภาพของสาธารณะ และสร้างความเป็นธรรมให้สังคมอีกต่อไป จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่าทำไมประเทศไทยถึงถูกจัดลำดับให้มีความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมสูงที่สุดอันดับหนึ่งของโลก เมื่อเราอยู่ภายใต้โครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจเช่นนี้

ปัญหาฝุ่นควัน พาราควอต ป่าไม้ และข้าว ฯลฯ ได้บ่งชี้ให้เราเห็นว่า รัฐปัจจุบัน สูญเสียความเป็นรัฐที่แท้จริงที่เป็นของสาธารณะ ปกป้องผลประโยชน์ และรับผิดชอบต่อสาธารณะ เราจึงเหลือแต่รัฐเทียมที่เป็นเพียงกลุ่มผลประโยชน์ที่แสวงความมั่นคั่งของตนอย่างถูกกฎหมาย

ภัยจากมลพิษฝุ่นละอองทำให้อายุขัยเฉลี่ยของคนทั่วโลกลดลงมากที่สุด ซึ่งฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพฯ เกิดจากไอเสียดีเซลเป็นหลัก

หากเราจะออกจากปัญหาเหล่านี้ เราคงต้องออกไปจากโครงสร้างอำนาจรัฐเทียม และกอบสร้างรัฐที่กลไกของสาธารณะขึ้นมาใหม่ที่พร้อมรับผิดชอบต่อสาธารณะอย่างแท้จริง ด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้สาธารณะเป็นที่ตั้ง กำกับการแสวงประโยชน์ของกลุ่มผลประโยชน์ไม่ให้ละเมิดสาธารณะ ยึดหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน สิทธิมนุษยชน และความเป็นธรรมทางสังคมเป็นฐานกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง กระจายอำนาจสู่สาธารณะและท้องถิ่น เปิดกว้างต่อการมีส่วนร่วมและตรวจสอบจากสาธารณะ โดยภาคประชาสังคมจะต้องสานพลัง สร้างพื้นที่ กลไกให้สาธารณะเข้ามาร่วมออกแบบระบบ กลไก กระบวนการกำหนดและขับเคลื่อนทางสังคมและการเมือง ซึ่งจะเป็นกระบวนการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง

ทั้งหมดนี้ไม่สามารถเกิดได้จากกลุ่มผลประโยชน์อำนาจนำในปัจจุบัน หรือที่กำลังอาสาเข้ามาเป็นกลุ่มผลประโยชน์ใหม่ ที่ประสงค์จะเข้ามาผลิตซ้ำโครงสร้างเหลื่อมล้ำแบบเดิมอีกต่อไป