ThaiPublica > เกาะกระแส > กพท. ออก 3 มาตรการ เยียวยา 12 สายการบิน ถูกระงับบินระหว่างประเทศ เตรียมรับตรวจ “ปลดธงแดง” ก.ย. นี้

กพท. ออก 3 มาตรการ เยียวยา 12 สายการบิน ถูกระงับบินระหว่างประเทศ เตรียมรับตรวจ “ปลดธงแดง” ก.ย. นี้

2 กันยายน 2017


วันที่ 1 กันยายน 2560 เป็นวันแรกที่สายการบินที่ทำการบินระหว่างประเทศยังไม่ได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ (AOC Recertification) จะต้องทำการหยุดให้บริการ เนื่องจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ยื่นหนังสือร้องขอให้องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) เข้ามาตรวจสอบ ICAO Coordinated Validation Mission (ICVM) เพื่อปลดธงแดง ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2560 ซึ่งคาดว่า ICAO จะเข้ามาตรวจสอบ ICVM ช่วงสัปดาห์ที่สามของเดือนกันยายน 2560

ที่มาภาพ: blog.eiqnetworks.com

โดยสายการบินที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ 12 สายการบิน ได้แก่

1. บริษัท เอ็มเจ็ท จำกัด
2. บริษัท โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ จำกัด
3. บริษัท ไทยเวียตเจ็ท แอร์ จอยท์ สต๊อค จำกัด
4. บริษัท เค-ไมล์ แอร์ จำกัด
5. บริษัท เจ็ท เอเชีย แอร์เวย์ จำกัด
6. บริษัท เอซี เอวิเอชั่น จำกัด
7. บริษัท สยามแลนด์ ฟลายอิ้ง จำกัด
8. บริษัท เอเชีย แอทแลนติก แอร์ไลน์ จำกัด
9. บริษัท วีไอพี เจ็ทส์ จำกัด
10. บริษัท เอช เอส เอวิเอชั่น จำกัด
11. บริษัท แอ็ดวานซ์ เอวิเอชั่น จำกัด
12. บริษัท สกาย วิว แอร์เวย์ จำกัด

สำหรับสายการบินที่ผ่านการตรวจสอบ Recertification และสามารถให้บริการได้ตามปกติขณะนี้ มีทั้งสิ้น 9 ราย ได้แก่

1. บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
2. บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
3. บริษัท ไทย แอร์เอเชีย จำกัด
4. บริษัท ไทย แอร์เอเชียเอ็กซ์ จำกัด
5. บริษัทสายการบินนกสกู๊ต จำกัด
6. บริษัทสายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน)
7. บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด
8. บริษัท ไทย ไลอ้อน เมนทารี จำกัด
9. บริษัท สบายดี แอร์เวย์ส จำกัด

อย่างไรก็ตาม ผลการประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน ครั้งที่ 6/2560 มีมติให้ กพท. ให้ความช่วยเหลือเยียวยาชั่วคราวแก่ผู้ดำเนินการเดินอากาศ ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการหยุดทำการบินภายหลังการยื่น ICVM ไป จนกว่าจะได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ หรือได้รับแจ้งให้พักใช้หรือเพิกถอนใบรับรองที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ไม่เกินวันที่ 31 มกราคม 2561

โดยกำหนดเป็นหลักการให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศ สามารถยื่นคำขอผ่าน กพท. เพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศของผู้ดำเนินการเดินอากาศแต่ละราย ภายใต้มาตรการดังต่อไปนี้

  • ให้เพิ่มการจัดสรรสิทธิในเส้นทางบินภายในประเทศในการให้บริการแบบประจำมีกำหนดภายในประเทศไม่เกิน 7 เที่ยวต่อสัปดาห์ต่อเส้นทาง ทั้งนี้ ในกรณีที่ขอเพิ่มเส้นทางย่อย เมื่อรวมกับจำนวนผู้ดำเนินการเดินอากาศที่มีอยู่แล้วจะต้องไม่เกิน 3 ราย ซึ่งอำนาจอนุญาตเป็นของ ผอ.กพท. ตามข้อ 40 ของประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ พ.ศ. 2559
  • ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศเฉพาะแบบไม่ประจำสามารถทำการจำหน่ายบัตรโดยสารโดยตรงให้แก่สาธารณชนเป็นรายบุคคล ในลักษณะเดียวกับผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศแบบประจำได้ทุกช่องทางการจำหน่าย ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในการยกเว้น ข้อ 63 ของประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ พ.ศ. 2559
  • กพท. จะขอความร่วมมือไปยังกรมท่าอากาศยานและการท่าอากาศยานอู่ตะเภา กองทัพเรือ เพื่อพิจารณาให้ส่วนลดค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (parking fee) เพื่อเป็นการลดผลกระทบจากการที่ต้องหยุดทำการบิน และป้องกันปัญหาการจอดอากาศยานทิ้งไว้ที่สนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ

ทั้งนี้ กพท. ให้เหตุผลที่เลือกใช้มาตรการเหล่านี้ว่า เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ ทั้งแบบประจำระหว่างประเทศ หรือแบบไม่ประจำ ยังคงสามารถดำเนินกิจการเป็นการชั่วคราวได้ จนกว่าจะได้รับการตรวจ Recertification เสร็จสิ้น ซึ่งคาดว่าจะสามารถตรวจครบทุกสายการบินภายในเดือนมกราคม 2561 และจะได้ช่วยลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการ พนักงาน และลูกจ้างของสายการบินนั้นๆ เพราะหากหยุดทำการบิน นอกจากผู้ประกอบการจะขาดรายได้เป็นจำนวนมากแล้ว ยังอาจส่งผลต่อการจ่ายค่าจ้างพนักงานและลูกจ้างของสายการบินนั้นๆ อีกด้วย

ส่วนผู้ประกอบการแบบเฮลิคอปเตอร์ที่ให้บริการเส้นทางระหว่างประเทศนั้น กพท. ได้ดำเนินการชี้แจงผู้ประกอบการให้ทราบถึงผลกระทบไปก่อนหน้านี้แล้ว และผู้ประกอบการได้มีการเตรียมแผนรองรับไว้ จึงไม่ได้อยู่ในแผนการช่วยเหลือเยียวยานี้

หลักเกณฑ์การได้รับการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ ที่เข้าข่ายได้รับการช่วยเหลือเยียวยาในกรณีนี้จะต้อง

(1) ได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC) โดยได้รับอนุญาตให้บริการแบบประจำระหว่างประเทศและ/หรือแบบไม่ประจำ และ
(2) ได้ยื่นขอรับการตรวจ AOC Recertification แต่ยังไม่สามารถตรวจให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2560

ทั้งนี้ ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศที่ไม่ได้ยื่นขอรับการตรวจ หรือได้ยื่นขอรับการตรวจ AOC Recertification แต่ไม่ผ่านการตรวจ จะไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาในกรณีนี้

กพท. แจงเหตุ “ระงับบิน” ย้ำสายการบินอย่าทิ้งผู้โดยสาร

อนึ่ง ภายหลังจากที่ไทยได้รับ “ธงแดง” เพื่อให้แก้ไขปัญหาด้านการบิน กพท. ได้หารือร่วมกับ ICAO ในกระบวนการที่จะยื่นขอรับการตรวจสอบ ICVM ซึ่งมีองค์ประกอบหลักที่ กพท. ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ คือ

(1) การแก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญ Significant Safety Concern: SSC จำนวนทั้งสิ้น 33 ข้อ และ
(2) การดำเนินการ AOC Recertification

แนวทางปฏิบัติทั่วไป ณ วันที่ยื่นขอรับการตรวจ ICVM ผู้ดำเนินการเดินอากาศที่ยังดำเนินการ AOC Recertification ไม่แล้วเสร็จจะต้องหยุดดำเนินการบินระหว่างประเทศ จนกว่าจะผ่านการตรวจประเมิน Recertification จึงจะสามารถกลับมาปฏิบัติการบินระหว่างประเทศได้อีกครั้ง

โดยเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 กพท. ได้เชิญผู้ดำเนินการเดินอากาศกลุ่มที่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ Recertification เข้าประชุม โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานฯ และได้แจ้งให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศได้ทราบถึงเงื่อนไขของ ICAO ข้างต้น ตลอดจนเป้าหมายในการยื่นขอรับการตรวจสอบ ICVM และขอให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศแสดงความพร้อมเพื่อเข้ารับการตรวจภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

ต่อมา ในวันที่ 4 เมษายน 2560 กพท. ได้จัดการประชุมเพื่อแจ้งลำดับในการเข้ารับการตรวจ Recertification เพื่อรับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ โดยพิจารณาลำดับของการรับการตรวจจากจำนวนการขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 2559 และความพร้อมของสายการบิน หากสายการบินใดพร้อมก่อน ให้เข้ารับการตรวจสอบก่อน และยังได้แจ้งให้สายการบินเตรียมการล่วงหน้า หากภายหลังจะไม่สามารถให้บริการระหว่างประเทศได้ เพื่อป้องกันปัญหาการร้องเรียนหรือทิ้งผู้โดยสาร และ กพท. ได้ชี้แจงขั้นตอนการดำเนินการทั้งหมดอย่างชัดเจนและละเอียดเพื่อให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศได้รับทราบตั้งแต่ต้น รวมทั้ง กพท. ได้ชี้แจงให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศเหล่านั้นทราบว่า การดำเนินการนี้เป็นความจำเป็นของประเทศที่จะแก้ไขปัญหาธงแดง เพื่อให้ ICAO สามารถเข้ามาตรวจสอบ ICVM ภายในเดือนกันยายนหรือตุลาคม 2560

นอกจากนี้ กพท. ระบุว่า ได้แจ้งให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศที่อาจไม่สามารถให้บริการระหว่างประเทศได้ให้ดำเนินการมาตรการเพื่อป้องกันปัญหาการร้องเรียนหรือทิ้งผู้โดยสาร โดยหากได้รับผลกระทบและต้องการให้ กพท. ดำเนินการหรือเสนอมาตรการเพื่อเป็นการเยียวยาความเสียหายในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ให้ยื่นแสดงความต้องการต่อ กพท. เพื่อพิจารณาเป็นรายๆ ไป