เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2560 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ประชุมหารือร่วมกับคณะผู้แทนสมาชิกคณะมนตรีองค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) จากภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ณ กระทรวงคมนาคม
นายอาคมกล่าวภายหลังการประชุมว่า ตัวแทนสมาชิกคณะมนตรีฯ นี้ไม่เกี่ยวข้องกับคณะตรวจสอบทางด้านเทคนิคที่จะเข้ามาตรวจสอบในโครงการตรวจสอบด้านการรักษาความปลอดภัย (Universal Security Audit Programme Continuous Monitoring Approach: USAP-CMA) ระหว่างวันที่ 11-21 กรกฎาคม 2560 นี้แต่อย่างใด
โดยในการประชุมได้มีการบรรยายสรุปกิจกรรมการแก้ไขปัญหา “ธงแดง” ของไทยในช่วงที่ผ่านมา ใน 3 ประเด็น ได้แก่
- ไทยเริ่มต้นแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการปฏิรูปองค์กร โดยการแยกองค์กรจากกรมการบินพลเรือนเป็น 3 ส่วน ได้แก่ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กรมท่าอากาศยาน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในด้านนโยบายและการกำกับดูแล และ 2 หน่วยงานที่ขึ้นตรงกับกระทรวงคมนาคม คือ หน่วยค้นหา และหน่วยสอบสวน
- การปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งร่างพระราชบัญญัติการบินพลเรือน พ.ศ. …. ฉบับใหม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจแก้จากคณะกรรมการกฤษฎีกา
- การแก้ปัญหาธงแดงที่ไทยติดในส่วนของข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญ (Significant Safety Concerns: SSC) ทั้ง 33 ข้อ ในเรื่องการขนส่งสินค้าอันตราย และการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ ซึ่งการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ (AOC Recertification) ให้แก่สายการบินที่ทำการบินระหว่างประเทศทั้ง 28 สายการบิน ปัจจุบันเหลืออีก 22 สายการบินที่ต้องเข้าระบบการตรวจสอบ ซึ่งมี 6 สายการบินที่ได้ใบรับรองฯ แล้ว ได้แก่ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ ไทยแอร์เอเชีย การบินไทย นกแอร์ นกสกู๊ต และไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ และในสัปดาห์หน้าจะมีอีก 2 สายการบินที่จะผ่านการตรวจสอบของ กพท.
นายอาคมกล่าวต่อไปว่า นอกจากความก้าวหน้าในการออกใบรับรองฯ ใหม่ยังมีอีก 1 ภารกิจที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ตามมาตรฐานยุโรปที่ระบุว่านอกจากการออกใบรับรองให้ใหม่แล้วยังต้องทำการติดตามตรวจสอบสายการบินอยู่เสมอ นอกจากนี้ได้รายงานถึงปัญหาด้านบุคลากรของไทยเช่นเดียวกับที่หลายประเทศเผชิญ คือ การขาดแคลนผู้ตรวจสอบ (inspector) ซึ่งทาง ICAO ก็มีนโยบายในการช่วยเหลือและแบ่งปันทรัพยากรคน (Sharing Resources) ซึ่งปัญหาดังกล่าวไทยได้รับความช่วยเหลือจาก ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ในการฝึกอบรมบุคลากรให้กับไทย
“ทั้งนี้ตัวแทนคณะมนตรีฯ ได้มีการสอบถามถึงแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของไทย โดยประเทศไทยได้มีนโยบายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคแปซิฟิก ซึ่งจะมีการพัฒนา 3 สนามบินหลัก ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง และสนามบินอู่ตะเภา โดยจะใช้รถไฟความเร็วสูงในการเชื่อมทั้ง 3 สนามบิน เพื่อให้เกิดความสะดวกสะบายในการเดินทาง ซึ่งเขาอยากให้ไทยพ้นจาก SSC ทั้ง 33 ข้อได้โดยเร็ว หากติดปัญหาดังกล่าวเป็นระยะเวลานานจะยิ่งปิดโอกาสต่อการเป็นฮับของอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาค เพราะเงื่อนไขสำคัญของการติดธงแดงคือไม่มีใครกล้าทำการบินกับประเทศไทย แต่หากผ่านก็จะสามารถสร้างความมั่นใจได้ สายการบินที่ผ่านก็สามารถสร้างความมั่นใจได้” นายอาคมกล่าว
ตั้งเป้าตรวจ USAP-CMA ชี้ต้องผ่าน
เนื่องจากไทยได้ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการบินของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งคาดว่าในปี 2573 สนามบินสุวรรณภูมิจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 120 ล้านคนต่อปี ด้านสนามบินดอนเมือง ในปี 2568 จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 40 ล้านคนต่อปี และในปี 2580 สนามบินอู่ตะเภาจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 60 ล้านคนต่อปี เบื้องต้นในปี 2573 ทั้ง 3 สนามบินจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้รวม 220 ล้านคนต่อปี ดังนั้น ระบบการรักษาความปลอดภัยด้านการบินทั้งภาคพื้นและอากาศจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องได้มาตรฐานสากล
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ กพท. กล่าวถึงการเข้าตรวจสอบของ ICAO ตามโครงการ USAP-CMA ว่า ได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับการตรวจสอบมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการซักซ้อมการตรวจสอบเบื้องต้น โดยใช้เจ้าหน้าที่จาก กพท. เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบเช่นเดียวกับที่ ICAO จะดำเนินการ โดยซักซ้อมจากคำถามที่ได้รับมาก่อนล่วงหน้าทั้งหมด 463 ข้อ ซึ่งมีการแก้ไขข้อบกพร่องจนถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา จากนั้นรอรับการตรวจสอบที่จะมีขึ้นในวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 และอีก 10 วันหลังจากนี้
“ตอนนี้หากพูดถึงความพร้อมคือทุกคนรู้แล้วว่าจะต้องโดนตรวจในประเด็นอะไรบ้าง มีการลงไปกำกับจนถึงพนักงานเอาท์ซอร์ซที่สนามบินจ้างเข้ามาทำงานด้วย เป็นการเตรียมการในส่วนของภาคสนามค่อนข้างเยอะ ทั้งนี้ การตรวจอันดับแรกจะเป็นการตรวจผู้กำกับดูแล คือ กพท. ว่ามีกฎหมาย นโยบาย และกำลังคนเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งจะใช้เวลาตรวจส่วนนี้ 3 วัน และอีก 4 วันคือการตรวจสอบสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองในระดับปฏิบัติ ว่าสามารถปฏิบัติตามกฎหมายและนโยบายที่วางไว้ได้หรือไม่ เป็นการตรวจภาคสนาม” นายจุฬากล่าว
นายจุฬาระบุว่า ในการตรวจสอบตามโครงการของ USAP-CMA นั้นมีเรื่องของข้อพกพร่องที่มีนัยสำคัญ (Significant Security Concern: SSeC) เช่นเดียวกับการตรวจตามโครงการตรวจสอบความปลอดภัย (Universal Safety Oversight Audit Programme: USOAP) ที่ไทยได้รับ “ธงแดง” ไปเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งในส่วนที่มีความเสี่ยงได้เตรียมการอุดช่องว่างทั้งหมดแล้ว โดยมีเป้าหมายให้ไม่โดน SSeC
“แต่หากได้รับ SSeC ได้เตรียมการไว้แล้วว่าถ้าจะต้องเขียนรายงานต่อ ICAO อย่างไร แต่หลักๆ คือจะต้องผ่านการตรวจสอบโดยไม่มี SSeC ให้ได้ ซึ่งกรณีการตรวจ USAP-CMA จะไม่มีการให้ธงแดง เนื่องจากเป็นเรื่องของการรักษาความปลอดภัย หากประกาศให้รู้ว่ามีข้อบกพร่องด้านใดอาจทำให้ประเทศตกเป็นเป้าในการจู่โจมได้ แต่จะมีการแจ้งเป็นทางลับไปยังประเทศสมาชิกว่าประเทศใดมีข้อบกพร่องอะไรบ้าง ประเด็นอะไร เขาจะได้ระมัดระวังในเรื่องนั้น แต่ละประเทศจะมีมาตรการของตัวเองซึ่งไม่สามารถเปิดเผยได้ ซึ่งทั้งหมดผูกโยงกับระบบรักษาความปลอดภัยของโลก หากมีการเปิดเผยข้อมูลประเทศนั้นก็จะมีความเสี่ยง” นายจุฬากล่าว
อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบด้านการรักษาความปลอดภัยครั้งล่าสุดคือปี 2558 ที่ผ่านมา การตรวจสอบครั้งดังกล่าวพบเพียงข้อบกพร่องเล็กน้อยไม่ใช่ SSeC ซึ่งไทยสามารถทำการแก้ไขได้ในระยะเวลาที่กำหนด ที่ผ่านมาไทยยังไม่เคยถูกให้ SSeC จึงต้องทำการรักษามาตรฐานเช่นนี้ต่อไปให้ได้ ทั้งนี้การตรวจสอบทุกอย่างเพื่อช่วยให้เกิดความปลอดภัยและให้เกิดความมั่นคงในอุตสาหกรรมการบินของทุกประเทศทั่วโลก
ประวัติศาสตร์ครั้งแรกของไทย วิทยุการบิน นั่ง ปธ.คณะทำงานระดับสากล
นายอาคมเปิดเผยว่า หลังจากนี้ ICAO จะยกระดับการมาตรการเข้มขึ้นเรื่อยๆ โดยในเดือนกันยายน 2560 จะมีการออกแผนปฏิบัติการด้านการรักษาความปลอดภัยทางด้านการบินของโลก (Global Security Action Plan) ซึ่งทาง ICAO จะมีการเดินสายชี้แจงกับประเทศต่างๆ สำหรับประเทศไทย ในเดือนธันวาคม 2560 ไทยจะเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยด้านการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Security Aviation Conference) ซึ่งจะมีประเทศสมาชิก 38 ประเทศมาเข้าร่วมประชุม
“ไทยยังได้รับความชื่นชมจากตัวแทนคณะมนตรีฯ ในด้านการบริหารงานขององค์กร เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ที่มีมาตรฐานการดำเนินงานในระดับแถวหน้าของสากล โดยเฉพาะ บริษัทวิทยุการบินฯ ที่ได้รับเลือกจาก ICAO-APAC ให้เป็นประธานคณะทำงานด้านการจราจรทางอากาศ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ไทยได้รับเลือกให้เป็นประธานในคณะทำงานเกี่ยวกับการบินระดับสากล โดย ICAO คาดหวังว่าจากสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาของไทยจะทำให้นโยบายต่างๆ ของ ICAO ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะนโยบายไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หรือ no one left behind ให้ประเทศต่างๆ สามารถพัฒนาไม่มีใครล้าหลัง” นายอาคมกล่าว
ทำความรู้จักกับ USAP-CMA
การตรวจสอบของ ICAO ตามโครงการตรวจสอบด้านการรักษาความปลอดภัย (Universal Security Audit Programme: USAP) หลังจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2544 เป็นการเพิ่มระดับการรักษาความปลอดภัยด้านการบินทั่วโลก จากเดิมที่ประเมินเพียงด้านเทคนิค และใช้ระบบสมัครใจในการเข้ารับการตรวจประเมิน เพื่อให้รัฐสมาชิกสามารถดำเนินการตามมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยด้านการบิน รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในด้านการขนส่งมวลชนทางอากาศ ซึ่งมีมาตรฐานการตรวจสอบตามภาคผนวกที่ 17 ประกอบกับภาคผนวกที่ 9 ของอนุสัญญาชิคาโก และมีการปรับโครงการเป็น USAP-CMA ในปี 2558 เพื่อให้การตรวจสอบมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ด้านการรักษาความปลอดภัยทางการบินของแต่ละประเทศมากขึ้น
โดยการตรวจสอบจะครอบคลุม 8 องค์ประกอบสำคัญในระบบการกำกับดูแลความปลอดภัยการบินพลเรือน ได้แก่
- กฎหมายที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยการบิน
- การดำเนินการรักษาความปลอดภัยการบิน
- มาตรฐานและนโยบายของรัฐในการรักษาความปลอดภัยการบิน
- คุณสมบัติและการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่
- การให้คำแนะนำด้านเทคนิคและข้อมูลสำคัญด้านการรักษาความปลอดภัยการบิน
- การดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนการรักษาความปลอดภัยการบิน
- การตรวจสอบและการควบคุมคุณภาพการรักษาความปลอดภัยการบิน
- การแก้ไขปัญหาด้านการรักษาความปลอดภัยการบิน
สำหรับขั้นตอนการตรวจสอบจะเริ่มตั้งแต่ ICAO จะทำการแจ้งประเทศสมาชิกล่วงหน้าเป็นเวลาประมาณ 4-6 เดือนก่อนเข้าตรวจสอบ ซึ่งประเทศดังกล่าวจะต้องให้ส่งแบบสอบถามกิจกรรมการรักษาความปลอดภัยการบินของรัฐ (State Aviation Security Activity Questionnaire: SASAQ) และสำเนาเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ ICAO จัดทำแผนการตรวจสอบ หลังจากนั้น ICAO จะส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบรวมทั้งข้อมูลที่จำเป็นอื่นๆ กับมาเพื่อให้ประเทศสมาชิกเตรียมพร้อมรับการตรวจสอบ
โดยคณะตรวจสอบจะใช้เวลาประมาณ 5-10 วันในการเข้าตรวจสอบ และจะมีการสุ่มเลือกสนามบินบางแห่งเพื่อทำการตรวจสอบในระดับภาคสนาม และจะได้รับการแจ้งผลการตรวจสอบว่ามีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไขหรือไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ภายใน 60 วันหลังการตรวจสอบเสร็จสิ้น
“เมื่อตรวจสอบเสร็จหากพบว่ามี SSeC จะมีการแจ้งตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2560 และผู้ตรวจจะแจ้งไปยังหน่วยงานกลางที่มอนทรีออลภายใน 15 วัน เพื่อขอคำยืนยันว่าจะให้ SSeC กับประเทศไทยหรือไม่ หลังจากนี้หากมี SSeC จะให้เวลาแก้ไขเบื้องต้นอีก 15 วัน เบ็ดเสร็จคือมีระยะเวลาแก้ไข 30 วัน หากสามารถแก้ไขได้ภายในกำหนดเวลา ก็จะไม่ถูกแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร” นายจุฬากล่าว
ทั้งนี้ หากไม่สามารถทำการแก้ไขได้ทันก่อนที่จะมีการประกาศผลการตรวจสอบ จะต้องจัดทำแผนการแก้ไขข้อบกพร่อง (Collective Action Plan: CAP) โดยระบุว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร และจะใช้เวลาเท่าไรในการดำเนินการ เมื่อดำเนินการแก้ไขเสร็จสิ้นจะต้องแจ้งไปยัง ICAO เพื่อให้มาดำเนินการตรวจสอบใหม่อีกครั้ง ซึ่งในทางปฏิบัติการแก้ไขปัญหาด้านการรักษาความปลอดภัยด้านการบินจะต้องดำเนินการให้เสร็จโดยเร็วไม่ปล่อยให้ยืดเยื้อเกินกว่า 60 วัน