ThaiPublica > เกาะกระแส > ระบบการบินของไทยผ่านประเมิน USAP-CMA ไร้ข้อบกพร่องนัยสำคัญ – เรื่องเดิมที่ถูกติงซ้ำ “แผนมาตรฐานรักษาความปลอดภัยฯ” ไม่ครบ

ระบบการบินของไทยผ่านประเมิน USAP-CMA ไร้ข้อบกพร่องนัยสำคัญ – เรื่องเดิมที่ถูกติงซ้ำ “แผนมาตรฐานรักษาความปลอดภัยฯ” ไม่ครบ

25 กรกฎาคม 2017


ที่มาภาพ: วิทยุการบินแห่งประเทศไทย

อุตสาหกรรมการบินของไทยมีแนวโน้มขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการบินพลเรือนของประเทศ เพิ่งจะมีการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ไปเมื่อปี 2558 หลังจากถูกปัก “ธงแดง” ทำให้องค์กรกำกับดูแลอย่างองค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) ขอเข้าทำการตรวจสอบต่อเนื่องตามโครงการตรวจสอบด้านการรักษาความปลอดภัยด้านการบินพลเรือน (Universal Security Audit Programme Continuous Monitoring Approach: USAP-CMA)

โดยระหว่างวันที่ 11-21 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา ผู้ตรวจของ ICAO จาก 4 ประเทศ ได้แก่ ประเทศเปอร์โตริโก บังกลาเทศ เกาหลีใต้ และศรีลังกา ได้เดินทางเข้าตรวจสอบมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยด้านการบินพลเรือนของไทย ซึ่งประเด็นที่ ICAO ให้ความสำคัญมีหัวข้อหลัก คือ 1. ความปลอดภัยทางการบินเชิงกายภาพ (physical security) 2. ระบบรักษาความปลอดภัย (system security) โดยเฉพาะระบบทางไซเบอร์ 3. แผนรับมือฉุกเฉิน และ 4. ระดับพนักงานดำเนินการ

และเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2560 ณ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) แถลงข่าวสรุปผลการตรวจสอบตามโครงการตรวจสอบด้านการรักษาความปลอดภัยด้านการบินพลเรือน (USAP-CMA)

“ICAO ได้กำหนดข้อตรวจสอบด้านการรักษาความปลอดภัยไว้จำนวน 463 ข้อ เบื้องต้นเรามีประเด็นที่ต้องปรับปรุง แก้ไข 49 ประเด็นจากทั้งหมด 463 ข้อ ซึ่งไม่มีประเด็นที่เป็นของข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อการรักษาความปลอดภัย (Significant Security Concern: SSeC) หมายความว่ามาตรฐานด้านการรักษาความปลอดภัยการบินของไทยที่มีอยู่มีความเพียงพอ และในครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ ICAO มีการตรวจสอบหน่วยงานบริหารด้านการจัดจราจรทางอากาศด้วย คือ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ซึ่งผลการตรวจสอบ บวท. สอบผ่านทั้งหมด ไม่พบข้อบกพร่องใดๆ หรือต้องให้คำแนะนำเพิ่มเติมใดๆ” นายจุฬากล่าว

สิ่งที่ ICAO ได้มีข้อแนะนำให้ปรับปรุงแก้ไข เช่น

  • แนะนำให้ไทยพัฒนากำลังคนในการรักษาความปลอดภัยให้มากขึ้น ทั้งผู้ตรวจสอบจาก กพท. และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำสนามบิน เนื่องจากไทยให้มาตรฐานด้านการรักษาความปลอดภัยเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด 38 ท่าอากาศยานทั่วประเทศ จึงจำเป็นต้องมีจำนวนคนให้เพียงพอตามมาตรฐาน เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่เหนื่อยล้าในการทำงาน
  • และแม้ไทยจะออกแบบมาตรฐานรักษาความปลอดภัยเป็นมาตรฐานเดียวกันหมดทุกสนามบิน อย่างไรก็ตาม แต่ละสนามบินนั้นมีระดับความเสี่ยงที่ไม่เท่ากัน ICAO จึงแนะนำให้สนามบินแต่ละแห่งจัดทำแผนรักษาความปลอดภัยของตนเองส่งให้หน่วยงานกลาง คือ กพท. เป็นผู้ประเมินอีกครั้ง

“ปัจจุบันเรามีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำสนามบินรวมประมาณ 5,000 คน คอยตรวจอาวุธ สกรีนคน ซึ่งเฉพาะส่วนของสนามบินหลักอย่างสุวรรณภูมิและดอนเมืองก็มีเจ้าหน้าที่ประจำการในหลักร้อยแล้ว และการจะพัฒนาเจ้าหน้าที่เหล่านี้จะต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะเจ้าหน้าที่จะต้องผ่านการอบรมและได้รับใบอนุญาต ส่วนแผนการรักษาความปลอดภัยสนามบินเนื่องจากเราออกแบบไว้เป็นมาตรฐานเดียวทั้งหมดก็ต้องปฏิบัติตามข้อแนะนำ ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 10 สนามบินเท่านั้นที่ได้รับการรับรองมาตรฐานแผนการรักษาความปลอดภัยสนามบินจาก กพท. ส่วนใหญ่เป็นสนามบินในความดูแลของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (ทอท.) ส่วนสนามบินในความดูแลของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ที่อยู่ระหว่างการส่งแผนฯ เข้ามา ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่ และท่าอากาศยานนานาชาติสุราษฎร์ธานี” นายจุฬากล่าว

  • แนะนำให้ปรับปรุงแผนรักษาความปลอดภัย โดยให้เจาะจงในรายละเอียดให้ลึกขึ้น เช่น ครัวการบินในส่วนของสายการบินที่รับอาหารจากภายนอกมาให้บริการบนเครื่องบิน สินค้าไปรษณีย์ รวมทั้ง กพท. ควรมีข้อแนะนำ และเช็คลิสต์ก่อนการตรวจสอบให้กับผู้ปฏัติการ
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)

หลังจากนี้ตัวแทน ICAO จะสรุปผลไปยังคณะกรรมการกลาง ใช้เวลาประมาณ 60 วัน (ประมาณสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกันยายน 2560) จึงจะได้ผลตรวจอย่างเป็นทางการ จากนั้น กพท. มีระยะเวลาตอบกลับว่าเห็นด้วย หรือมีข้อทักท้วงต่อข้อแนะนำต่างๆ หรือไม่ภายใน 30 วัน หากเห็นด้วยก็จะต้องจัดทำแผนดำเนินการตามข้อแนะนำ (Collective Action Plan: CAP) ส่งไปยัง ICAO ภายใน 30 วัน ซึ่งไทยจะเป็นผู้กำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินการเองทั้งหมด โดยมี ICAO คอยติดตามความคืบหน้าเป็นระยะ

อย่างไรก็ตาม ข้อแนะนำของ ICAO ในครั้งนี้ แทบไม่ต่างไปจากข้อแนะนำขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ICAO-APAC) ที่มีสำนักงานอยู่ในประเทศไทย โดยให้การแนะนำผ่านรายงานผลการติดตามเพื่อช่วยเหลือไทยในการแก้ปัญหาด้านการบิน เมื่อเดือนเมษายน 2559 โดยเฉพาะด้าน “สนามบินและการช่วยเดินอากาศภาคพื้น”

ตามรายงานเดือนเมษายน 2559 ระบุว่า “ไทยมีสนามบินที่ยังใช้งานทั้งหมด 38 แห่ง (โดย 28 แห่งอยู่ภายใต้การดูแลของ ทย. ในจำนวนนี้ 6 แห่งเป็นสนามบินนานาชาติ มี 9 แห่งที่เป็นสนามบินของเอกชน และในจำนวนนี้ 6 แห่งเป็นของ ทอท. อีก 3 แห่งเป็นของบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และมี 1 แห่งที่อยู่ภายใต้การดูแลของกองทัพ) ทั้งนี้ในจำนวน 38 แห่ง มีเพียง 12-13 แห่งเท่านั้นที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน โดยที่ผ่านมาไทยมุ่งแก้ปัญหาเกี่ยวกับข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญ หรือ SSC เพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นข้อบกพร่อง 33 ข้อ จากข้อบกพร่องทั้งหมด 572 ข้อ โดยทุกข้อเป็นปัญหาสำคัญทั้งหมด จึงควรถูกจัดการให้ได้มาตรฐานตั้งแต่แรก”

“กันยายน 2560” ลุ้นปลดธงแดงอีกครั้ง พร้อมระงับบิน สายการบินไม่ได้ AOC

อย่างไรก็ตาม การออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ (AOC Recertification) ให้กับสายการบินที่ทำการบินระหว่างประเทศทั้งหมด 28 สายการบิน แต่มีบางสายการบินระหว่างประเทศถอนตัว ปัจจุบันมี 21 แห่ง ที่ขอเข้าระบบการตรวจสอบเพื่อออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ ขณะนี้มี 8 สายการบินที่ได้ใบรับรองฯ แล้ว ได้แก่ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ ไทยแอร์เอเชีย การบินไทย นกแอร์ นกสกู๊ต และไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ โดยสายการบินไทยสมายล์ และสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ เป็นสายการบินล่าสุดที่ได้รับ AOC ใหม่ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา

นายจุฬาระบุว่า ภายในเดือนสิงหาคม 2560 จะสามารถออก AOC ใหม่ ให้กับอีก 2 สายการบิน คือ สายการบินนิวเจนแอร์ไลน์ และเอ็มเจ็ทแอร์ไลน์ ส่วนที่เหลืออีก 13 สายการบินจะพิจารณาต่อไป

อย่างไรก็ตาม กพท. ขีดกรอบการพิจารณาให้ AOC กับสายการบินที่บินในเส้นทางระหว่างประเทศ โดยหลังจากเดือน กันยายน 2560 หากยังไม่ได้รับ AOC ใหม่ ต้องหยุดบินทันที เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของกรมการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)

นายวิวัฒน์ ปิยะวิโรจน์ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยสมายล์ และนายอัศวิน ยังกีรติวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ (AOC) จากนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้คาดว่าภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2560 สายการบินทั้งหมดที่ได้รับ AOC จะมีผู้โดยสารรวมทั้งสิ้นคิดเป็น 98% ของจำนวนผู้โดยสารทั้งหมดที่ใช้บริการเข้า-ออกประเทศไทย และจะเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการที่ ICAO จะเข้ามาตรวจสอบ ICVM (ICAO Coordinated Validation Mission) เพื่อปลดธงแดง ตามที่ กพท. ได้ยื่นขอไปแล้วตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2560 ซึ่งคาดว่าทาง ICAO จะตอบรับและเดินทางเข้าตรวจสอบเพื่อปลดธงแดงในเดือนกันยายน 2560 นี้