ThaiPublica > เกาะกระแส > เคาะแผนตรวจ 41 สายการบิน คาดปลดธงแดง ICAO ได้ปี’60 – ปม “นกแอร์” กระทบมาตรฐานสากล – สอบเข้มโทษหนักสายการบิน-นักบิน

เคาะแผนตรวจ 41 สายการบิน คาดปลดธงแดง ICAO ได้ปี’60 – ปม “นกแอร์” กระทบมาตรฐานสากล – สอบเข้มโทษหนักสายการบิน-นักบิน

23 กุมภาพันธ์ 2016


ปี 2559 ประเทศไทยยังอยู่ในสถานการณ์ “วิกฤติการบิน” ภายใต้การ ปักธงแดง ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO (International Civil Aviation Organization)เมื่อ 18 มิถุนายน 2558 และ 6 เดือนต่อมาสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ FAA (Federal Aviation Administration) หรือกรมการบินพลเรือนของสหรัฐฯ ได้ปรับให้ไทยอยู่ในระดับ Category 2 เมื่อ 1 ธันวาคม 2558 ด้วยเหตุผลที่ว่าไทยยังไม่สามารถปฏิบัติได้ตามมาตรฐานของ ICAO แม้มีข่าวดีจาก EASA (European Aviation Safety Agency) ที่ประกาศไม่แบนสายการบินไทยเข้าน่านฟ้ายุโรปในช่วงปลายปี 2558 ก็ตาม แต่โดยรวมแล้วอุตสาหกรรมการบินไทยก็ยังอยู่ในอาการที่ต้องรื้อทั้งระบบ

นโยบายลดขนาดองค์กร บทเรียนหน่วยงานรัฐ

วิกฤติครั้งนี้ทำให้ไทยต้องยกมาตรฐานและปรับปรุงโครงสร้างองค์กรการบินพลเรือนครั้งใหญ่ รวมทั้งเป็นข้อเตือนใจรัฐที่ใช้นโยบายลดขนาดโครงสร้างองค์กรโดยไม่คำนึงถึงศักยภาพและความเหมาะสมของแต่ละหน่วยงาน ส่งผลให้สุดท้ายปัญหาทุกอย่างของการบินพลเรือนไทยกระจุกตัวอยู่ที่ “กำลังพล” และ “งบประมาณ”

เบื้องต้น หลังจากได้รับการประกาศข้อบกพร่องจาก ICAO สายการบินเอกชน คือ การบินไทย และแอร์เอเชีย ได้ส่งนักบินพาณิชย์ระดับกัปตันที่ผ่านการอบรมได้การรับรองตามมาตรฐานสากล จำนวน 20 คน รวมทั้งมีการจ้างนักบินอาวุโสที่ปลดประจำการแล้ว เข้าช่วยปลดล็อกข้อบกพร่องจาก ICAO และเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา นักบินจากสายการบินเอกชนชุดสุดท้ายครบกำหนดการยืมตัวชั่วคราว ต้องถอนตัวกลับเข้าทำงานที่สายการบินตามปกติ

นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า กพท. วางแผนสรรหาบุคลากรระยะ 3 ปี ไว้แล้ว ต้องใช้กำลังพลประมาณ 500 คน โดยเบื้องต้นการโยกย้ายบุคลากรจากกรมการบินพลเรือนเดิมประมาณ 233 คน ส่วนการสรรหาบุคลากรที่จะเข้ามาทำงานใหม่ โดยเฉพาะผู้ตรวจสอบใบอนุญาตผู้ดำเนินการเดินอากาศ ออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ (Air Operator Certificate Re-certification: AOC) คาดว่าจะผ่านการคัดเลือกและเริ่มทำงานเดือนมีนาคม 2559

นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ที่มาภาพ www.facebook.com/ThaiDCA/photos
นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ที่มาภาพ: www.facebook.com/ThaiDCA/photos

ตามกรอบระยะเวลาการสรรหากำลังพลของ กพท. ระบุไว้ดังนี้ ช่วงระหว่างเดือนตุลาคม–ธันวาคม 2558 ดำเนินการคัดเลือกบุคลากรจากข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานราชการจากกรมการบินพลเรือนเดิม เข้ามาอยู่ในสังกัด กพท. ช่วงเดือนมกราคม–พฤษภาคม 2559 ดำเนินการคัดเลือกผู้อำนวยการ กพท. ช่วงเดือนกุมภาพันธ์–เมษายน 2559 ดำเนินการคัดเลือกบุคลากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบิน และช่วงเดือนมีนาคม–พฤษภาคม 2559 ดำเนินการคัดเลือกบุคลากรจากบุคคลภายนอกทั่วไป

โดยในส่วนงานที่สำคัญอย่างส่วนงานด้านความปลอดภัย ที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการรับรองมาตรฐานสายการบบิน และการตรวจสอบด้านการรักษาความปลอดภัยต่างๆ (Universal Security Audit Programme: USAP) ที่ไทยจะต้องได้รับการประเมินจาก ICAO อีกครั้ง พบว่ายังคงมีกำลังพลเพิ่มอีกถึง 150 อัตรา

เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2559 มติคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติวงเงิน 271 ล้านบาท เพื่อใช้ในการพัฒนาคุณภาพผู้ตรวจสอบความปลอดภัยในการบิน โดยวงเงินงบประมาณ 86 ล้านบาท สำหรับฝึกอบรมผู้ตรวจสอบความปลอดภัยการบินจำนวน 86 ราย และวงเงินงบประมาณ 185 ล้านบาท สำหรับว่าจ้างองค์กรผู้เชี่ยวชาญจาก บริษัท CAA International (CAAi) สหราชอาณาจักร จำนวน 14 คน ร่วมดำเนินการกับผู้ตรวจสอบของไทย

และก่อนหน้านี้ได้มีการว่าจ้างและรับสมัครผู้เชี่ยวชาญพิเศษเพิ่มไป 61 อัตรา พร้อมส่งบุคลากรที่มีเข้าฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ โดยเฉพาะการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และผู้ตรวจสอบที่เกี่ยวกับ “ข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย” (Significant Safety Concerns: SSC) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะปลดล็อกธงแดงจาก ICAO

กพท. ปรับฐานเงินเดือน หวังสร้างแรงจูงใจ

คนในวงการการบินต่างยอมรับค่าตอบแทนและสวัสดิการของราชการที่ต่ำกว่าสายการบินเอกชน ประกอบกับปัญหาภายในองค์กร ทำให้หน่วยงานกำกับด้านการบินของรัฐบาลอย่างกรมการบินพลเรือน (บพ.) ในอดีตไม่สามารถฉุดรั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการบินระดับสูงไว้กับองค์กรได้ ซึ่งปัจจุบันแม้จะไม่สามารถให้ค่าตอบแทนได้สูงทัดเทียมกับสายการบินเอกชน แต่เมื่อรื้อโครงสร้างองค์กรการบินพลเรือนใหม่ กพท. ก็มีการปรับค่าตอบแทนสำหรับคนในองค์กรให้สูงขึ้น

ตามรายงานของเว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจถึงการประชุมคณะกรรมการ กพท. เมื่อวันที่ 25 มกราคม ระบุว่า ได้มีการอนุมัติโครงสร้างอัตราเงินเดือนของสำนักงาน กพท. อาทิ ตำแหน่ง ผอ.กพท. มีการอนุมัติกรอบวงเงิน 350,000–500,000 บาท รอง ผอ.กพท. 118,300–290,000 บาท ผู้จัดการฝ่าย (ผอ.กอง) 83,760-240,000 บาท ทั้งยังกำหนดเงินประจำตำแหน่ง ดังนี้ ผอ.กพท. ในอัตรา 25% ของเงินเดือน รอง ผอ.กพท. 35,000 บาทต่อเดือน ผู้จัดการฝ่าย 25,000 บาทต่อเดือน หัวหน้ากอง 5,000 บาทต่อเดือน

เมื่อตรวจสอบตามประกาศคณะกรรมการกำกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พบว่ามีการปรับฐานเงินเดือนเพิ่มขึ้นให้กับข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานราชการ สังกัดกรมการบินพลเรือน ที่ได้รับการโยกย้ายมายัง กพท. ทุกตำแหน่ง(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

แผนแก้ปัญหาการบินพลเรือน

เคาะแผนตรวจ 41 สายการบิน คาดปลดธงแดงปี 60

การออกใบอนุญาตการเดินอากาศ หรือ AOCs ให้แก่สายการบินต่างๆ ใหม่ เป็นหนึ่งในข้อบกพร่อง SSC ที่ไทยต้องแก้ไข หากนับกรอบการดำเนินการออก AOCs ถูกเลื่อนออกไปแล้วประมาณ 3 ครั้ง

  • จากเดิมที่คาดว่าจะดำเนินการตรวจสอบเฉพาะสายการบินระหว่างประเทศจำนวน 28 สายการบินแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2558 หลังจากไทยถูกปักธงแดงก็ได้มีการเลื่อนวันดำเนินการแล้วเสร็จไปอย่างไม่มีกำหนด
  • เมื่อ FAA เข้าตรวจประเมินประเทศไทยกำหนดการเรียกสายการบินเข้าทำการตรวจสอบเพื่อออกใบรับรองใหม่ก็มีอันชะงักไปชั่วครู่
  • เมื่อ EASA เข้าตรวจประเมินพร้อมทั้งให้ข้อแนะนำให้ตรวจสอบสายการบินในประเทศเพิ่มเติม เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวจากยุโรปเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยและต้องใช้บริการสายการบินในประเทศเป็นจำนวนมาก กำหนดการก็ถูกปรับใหม่อีกครั้งเนื่องจากไทยตัดสินใจทำการออก AOCs ให้แก่สายการบินที่ทำการบินอยู่ใหม่ทั้งหมด 41 สายการบิน

ล่าสุด นายจุฬาระบุว่า ทาง กพท. ได้จัดทำแผนการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือนใหม่ทั้งหมด ซึ่งต่อจากนี้เป็นต้นไป การดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านการบินจะอยู่ภายใต้แผนการดังกล่าวทั้งหมด เป็นแผนการที่มีความแน่นอนแล้ว คาดว่าจะนำเสนอ ครม. ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559

โดยแผนการดังกล่าวได้วางกรอบเวลาในการออก AOCs แก่สายการบินระหว่างประเทศ ในช่วงเดือนมิถุนายน–พฤศจิกายน 2559 และออก AOCs แก่สายการบินภายภายในประเทศ ในช่วงเดือนเมษายน–กันยายน 2560

ทั้งนี้ ได้มีการจัดกลุ่มสายการบินออกเป็น 4 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มสายการบินที่เริ่มดำเนินการไปแล้ว 7 ราย ได้แก่ Thai Smile Airways Company Limited, Nok Airlines Co.,Ltd., Bangkok Airways Thai Public Company Limited, Orient Thai Airline Co.,Ltd., NokScoot Airlines Co.,Ltd. และ Thai AirAsia Co.,Ltd.

กลุ่มที่ 2 คือ สายการบินที่ได้รับคำแนะนำจาก EASA 13 ราย ได้แก่ Thai AirAsia X Co.,Ltd., Thai VietJet Air Joint Stock Co.,Ltd., Asian Air Co.,Ltd., City Airways Co.,Ltd., Sabaidee Airways Co.,Ltd., Thai Lion Mentari Co.,Ltd., Skyview Airways Co.,Ltd., Siam Air Transport Company Limited, Siam Airnet Co.,Ltd., Jet Asia Airways Co.,Ltd., Asia Atlantic Airlines Co.,Ltd., Thai Express Air Co.,Ltd. และ AC Aviation Co.,Ltd.

กลุ่มที่ 3 สายการบินอื่นๆ 8 ราย ได้แก่ VIP Jets Limited, MJETs Limited (Minor Aviation Limited), Advance Aviation Jet Co.,Ltd., H.S. Aviation Co.,Ltd., Siam Land Flying Co.,Ltd., Thai Flying Services Co.,Ltd., K-Mile Air Co.,Ltd. และ Business Air Center Co.,Ltd.

กลุ่มที่ 4 สายการบินภายในประเทศ 13 ราย ได้แก่ Thai Aviation Service Limited, SFS Aviation Co.,Ltd., Minebea Aviation Co.,Ltd., Bangkok Helicopter Services Co.,Ltd., Royal Skyways Co.,Ltd., Flying Media Co.,Ltd., Kannitai Aviation Co.,Ltd., Heliluck Aviation Co.,Ltd., Advance Aviation Jet Co.,Ltd., RPS System Co.,Ltd., United Offshore Aviation Co.,Ltd., Asian Aerospace Services Co.,Ltd. และ Air inter Transport Co.,Ltd.

และจะมีการเตรียมการเพื่อรับการตรวจสอบ Coordinated Validation Mission (ICVM) จาก ICAO ในช่วงเดือนธันวาคม 2559 – มีนาคม 2560 ซึ่งจะครอบคลุมการตรวจสอบทั้ง 8 ด้าน ที่ ICAO พบข้อบกพร่อง ได้แก่ 1. กฎหมายระเบียบต่างๆ 2. หน่วยงานและหน้าที่การกำกับดูแลความปลอดภัย 3. การออกใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่ 4. การปฏิบัติการบินของอากาศยาน 5. ความสมควรเดินอากาศของอากาศยาน 6. สอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของอากาศยาน 7. การบริการเดินอากาศ และ 8. สนามบินและการช่วยเดินอากาศภาคพื้น เพื่อปลดล็อกธงแดงต่อไป

ปม “นกแอร์” กระทบมาตรฐานสากล – สอบเข้มโทษหนักทั้งสายการบินและนักบิน

ปัญหาการยกเลิก 20 เที่ยวบินของสายการบินนกแอร์ที่เกิดขึ้นนับว่ามีผลกระทบไม่น้อยต่อภาพลักษณ์ความปลอดภัยด้านการบินของไทย แม้ไม่มีการเอ่ยออกมาตรงๆ แต่จากปฏิกิริยาของรัฐบาล และ กพท. ที่มีการหารือกันเครียด พร้อมคำกำชับจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ในที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 ว่า “รัฐบาลรับไม่ได้ในเชิงการคุ้มครองผู้บริโภค จึงไม่สามารถให้มีปัญหาอย่างนี้ได้ ต้องดำเนินการอย่างเข้มงวด” พร้อมทั้งออกมาตรการคุมเข้ม โทษหนักสุดคือการเพิกถอนใบอนุญาตการบิน

ปัญหาหลักคือการขาดแคลนนักบิน นักบินต้องทำการบินเกินข้อกำหนด ซึ่งจะส่งผลต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้โดยสาร

เมื่อตรวจสอบข้อมูลพบว่า ข้อกำหนดในการออก AOC ให้แก่สายการบินต่างๆ ที่ ICAO พิจารณาเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินนั้น มีการพิจารณาถึงโครงสร้างขององค์กรและบุคลากรของฝ่ายการบินว่ามีความพร้อมในการปฏิบัติการบินในเครื่องแต่ละประเภทของสายการบิน รวมทั้งการอนุญาตให้นักบินทําการบินโดยไม่เกินขีดจำกัด (Flight time and flight duty period limitations)

สำหรับประเทศไทยมีกฎข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว คือ ข้อบังคับคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ฉบับที่ 85 ว่าด้วยใบรับรองผู้ดำเนินอากาศ ข้อบังคับ กบร. ฉบับที่ 86 ว่าด้วยการเดินอากาศยาน และประกาศกรมการบินพลเรือน พ.ศ. 2552 และ พ.ศ. 2553 ที่เกี่ยวกับการกำหนดข้อจำกัดเวลาทำการบินและเวลาปฏิบัติหน้าที่ กำหนดตารางเวลาทำการบินและเวลาปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงตารางเวลาการพักผ่อนให้นักบินและผู้ดำเนินการเดินอากาศปฏิบัติตาม

ที่มาภาพ : www.nokair.com
ที่มาภาพ: www.nokair.com

หากมีการตรวจพบว่าสายการบินปล่อยให้นักบินหรือลูกเรือปฏิบัติงานจนเกินข้อจำกัดเวลาทำการบินฯ สายการบินจะมีโทษทางปกครอง คือการพักใช้หรือเพิกถอนใบรับรองการเดินอากาศ เนื่องจากการฝ่าฝืนข้อกำหนดอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อการทำการบินได้ และมีโทษทางอาญาตาม พ.ร.บ. การเดินอากาศ คือ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท

ส่วนนักบินหรือลูกเรือที่ปฏิบัติงานจนเกินข้อจำกัดเวลาทำการบินฯ ก็ต้องรับโทษเช่นกัน โดยมีโทษทางปกครอง คือ การพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่นั้น และมีโทษทางอาญา ตาม พ.ร.บ.การเดินอากาศ คือ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท เช่นกัน

ทั้งนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการตรวจเยี่ยมสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมาว่า ทางสายการบินนกแอร์ได้จัดส่งเอกสารชี้แจงการยกเลิกเที่ยวบินเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2559 แล้ว โดยมอบให้ กพท. พิจารณารายละเอียดการชี้แจงของสายการบินนกแอร์ว่าครบถ้วน ชัดเจน มากน้อยเพียงใด และเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาสั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 พร้อมทั้งให้ กพท. ดำเนินการ ดังนี้

1. ตรวจสอบข้อมูลบันทึกเวลาทำการบินของนักบินสายการบินนกแอร์ทุกคน ว่าเป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดหรือไม่
2. ขอข้อมูลเพิ่มเติมจากสายการบินนกแอร์ เกี่ยวกับการเลิกจ้างนักบินจำนวน 1 คน และกระบวนการสอบสวนนักบินส่วนที่เหลือว่ามีข้อเท็จจริงอย่างไร และพิจารณาบทลงโทษตามกฎหมาย
3. ตรวจสอบระบบคุณสมบัติผู้บริหารของสายการบินฯ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
4. ทำความเข้าใจกับสายการบินอื่นๆ เรื่องการยกเลิกเที่ยวบินโดยไม่มีเหตุอันควรนั้นไม่สามารถกระทำได้ หากจะยกเลิกเที่ยวบินจะต้องแจ้งล่วงหน้าทุกครั้ง พร้อมทั้งวิธีแก้ไขปัญหา
5. ตรวจสอบกับสายการบินฯ ว่าได้ดำเนินการตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง การคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางบินประจำภายในประเทศ พ.ศ. 2553 ข้อ 5 การยกเลิกเที่ยวบินหรือการปฏิเสธการขนส่ง หรือไม่ เพียงใด โดยให้ กพท. พิจารณาเรื่องการชี้แจงของสายการบินฯ ภายในเวลา 1 เดือน

และล่าสุดได้ประกาศยกเลิกเที่ยวบินในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 อีก 20 เที่ยวบิน