ThaiPublica > เกาะกระแส > สัปดาห์หน้าลุ้นปลดธงแดง! “อาคม” เร่งออก AOC ได้ครบสิ้นปีนี้ – “เอ็มเจ็ท-เคไมล์” ในโลกที่ไม่ได้มีแค่การรับส่งผู้โดยสาร

สัปดาห์หน้าลุ้นปลดธงแดง! “อาคม” เร่งออก AOC ได้ครบสิ้นปีนี้ – “เอ็มเจ็ท-เคไมล์” ในโลกที่ไม่ได้มีแค่การรับส่งผู้โดยสาร

7 ตุลาคม 2017


นายธนกฤต สิงหะคเชนทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการบิน บริษัท เอ็มเจ็ท จำกัด, นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย, นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายเกล็ดชัย เบญจอาธรศิริกุล ประธานบริหารบริษัท เค-ไมล์ แอร์ จำกัด

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2560 ณ กระทรวงคมนาคม ได้มีพิธีมอบใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ (AOC Re-certification) ให้แก่สายการบินเอ็มเจ็ท และสายการบินเค-ไมล์ โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน พร้อมทั้งนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย นายธนกฤต สิงหะคเชนทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการบิน บริษัท เอ็มเจ็ท จำกัด และนายเกล็ดชัย เบญจอาธรศิริกุล ประธานบริหารบริษัท เค-ไมล์ แอร์ จำกัด โดยมีนายกฤชเทพ สิมลี รองปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย บริษัท เอ็มเจ็ท จำกัด บริษัท เค-ไมล์ แอร์ เข้าร่วมในพิธีดังกล่าว

นายอาคมกล่าวว่า สายการบินเอ็มเจ็ท เป็นสายการบินที่ให้บริการแบบเช่าเหมาลำ และสายการบินเค-ไมล์ แอร์ เป็นสายการบินที่ให้บริการขนส่งสินค้า ได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เป็นลำดับที่ 10 และ 11 จากทั้งหมด 21 สายการบิน แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงคมนาคม กพท. และผู้ประกอบการสายการบิน

“ตอนนี้ก็สามารถทำการบินระหว่างประเทศได้ทั้งหมด 11 สายการบิน ยังคงเหลือสายการบินที่อยู่ในกระบวนอีก 10 สายการบิน ซึ่งผมได้มอบหมายให้ กพท. และสายการบินที่เหลือนั้นปรับตารางเวลาให้เร็วขึ้น โดยหลังจากนี้สายการบินใดที่พร้อมที่ส่งคำตอบมาก็จะทำการตรวจสอบให้ทันทีโดยไม่รอ ความช้า-เร็ว ขึ้นอยู่กับความพร้อมของ กพท. และสายการบินที่ต้องเรียนรู้คู่มีอและมาตรฐานที่ปรับปรุงแก้ไข ซึ่งใครทำได้เร็วก็จะได้รับใบรับรองเร็ว แต่ไม่ใช่การตรวจสอบข้อส่งแบบผ่านๆ ไป ยังคงมีความเข้มข้นทั้ง 5 ขั้นตอน ตามมาตรฐานของสำนักงานการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) โดยที่ กพท. ได้ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจาก CAA International Limited (CAAi)” นายอาคมกล่าว

นายเกล็ดชัย เบญจอาธรศิริกุล ประธานบริหารบริษัท เค-ไมล์ แอร์ จำกัด รับมอบใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ จากนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย
นายธนกฤต สิงหะคเชนทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการบิน บริษัท เอ็มเจ็ท จำกัด รับมอบใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ จากนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย

ด้านนายจุฬากล่าวว่า การที่ทั้ง 2 สายการบินได้รับใบรับรองฯ ถือเป็นการยืนยันให้ทุกคนเห็นว่าแม้มีการงดการทำการบินระหว่างประเทศสำหรับสายการบินที่ยังไม่ได้รับใบรับรองฯ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา แต่ กพท. ยังคงดำเนินการตรวจสอบสายการบินอย่างต่อเนื่อง โดยสายการบินต่อไปที่คาดว่าจะได้รับใบรับรองฯ ในเดือนตุลาคมนี้อีก 2 สายการบิน คือ สายการบินโอเรียนท์ไทย และสายการบินไทยเวียดเจ็ท

“ทั้งสองสายการบินได้รับใบรับรองอย่างเป็นทางการจาก กพท. ตั้งแต่สัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยาน โดยสายการบินเอ็มเจ็ทได้ในวันที่ 27 กันยายน 2560 ส่วนสายการบิน เค-ไมล์ ได้ในวันที่ 28 กันยายน 2560 ซึ่งสายการบินทั้ง 2 สามารถให้บริการได้ปกติตั้งแต่วันนั้น และมีพิธีรับมอบในวันที่ 6 ตุลาคม 2560 โดยการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ให้กับทั้ง 2 สายการบินอาจมีความล่าช้าเล็กน้อยเนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ระหว่างที่ ICAO เข้าตรวจประเมินไทยเพื่อทำการปลดธงแดง” นายจุฬากล่าว

สำหรับการตรวจสอบ ICVM (ICAO Coordinated Validation Mission) โดย ICAO เมื่อวันที่ 20-27 กันยายน 2560 เพื่อแก้ไขปัญหาการบินพลเรือนของประเทศไทย คาดว่าจะทราบผลการตรวจสอบ ICVM ในสัปดาห์หน้า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างประชุมหารือผลการตรวจสอบที่สำนักงานใหญ่ เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา และคาดว่าจะดำเนินการตรวจสอบเพื่อออกใบรับรองผู้ดำเนินการการเดินอากาศใหม่แล้วเสร็จทุกสายการบินภายในเดือนธันวาคม 2560 ซึ่งหลังจากนี้จะเปิดให้สายการบินภายในประเทศอีก 10 สายการบิน และเฮลิคอปเตอร์อีก 7 แห่ง รวมถึงสายการบินใหม่ๆ ที่เข้าดำเนินการตรวจสอบเพื่อขอใบรับรองฯ ต่อไป

“เอ็มเจ็ทและเค-ไมล์” ในโลกที่ไม่ได้มีแค่การรับส่งผู้โดยสาร

หลายคนอาจคุ้นเคยกับสายการบินที่ทำการรับส่งผู้โดยสารไม่ว่าจะเป็นการเดินทางในประเทศหรือระหว่างประเทศ เที่ยวบินเหล่านี้สามารถย่นระยะทางและระยะเวลาให้สามารถเดินทางข้ามโลกภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ในโลกของธุรกิจการบินแบบเช่าเหมาลำ หรือ Private Jet ที่กำลังเติบโตและได้รับความนิยม จนกรมท่าอากาศยานมีแผนที่จะดำเนินโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานส่วนบุคคล (General Aviation) เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดดังกล่าว

ขณะเดียวกัน เที่ยวบินขนส่งสินค้าก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจการบินที่กำลังเติบโตจากการตอบรับตลาดอีคอมเมิร์ซ ซึ่งงานวิจัยโดยWorld Air Cargo Forecast (2559-2560)บริษัทโบอิงคาดการณ์ว่าจำนวนเครื่องบินที่ใช้บรรทุกสินค้าของสายการบินที่ให้บริการขนส่งสินค้า หรือ แอร์คาร์โก ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จาก 1,770 ลำในปัจจุบันเป็นประมาณ 3,010 ลำ ภายใน 20 ปี ซึ่งแนวโน้มของธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่เติบโตอย่างมากในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะส่งผลให้เอเชียกลายเป็นผู้นำในตลาดแอร์คาร์โกของโลก และปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศรวม 2.23 แสนล้านตันกิโลเมตร (ระวางการบรรทุกคูณระยะทางการบิน)ในปี 2558 เป็น 5.09 แสนล้านตันกิโลเมตร ในปี 2578

ที่มาภาพ: http://boeing.mediaroom.com/2016-10-26-Boeing-Forecasts-World-Air-Cargo-Traffic-to-Grow-Long-Term-as-Economy-Strengthens#assets_117

ย้อนกลับไปที่ข้อมูลในปี 2548 สมาคมการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศ (The International Air Cargo Association: TIACA) ได้ประมาณว่า กว่าร้อยละ 34 ของการมูลค่าการค้าระหว่างประเทศในปัจจบุบันต้องอาศัยการขนส่งสินค้าโดยทางอากาศ ซึ่งในเวลานั้นสินค้าที่ขนส่งทางอากาศ ณ ท่าอากาศยานกรุงเทพมีปริมาณคิดเป็นน้ำหนักกว่า 9.5 แสนตันต่อปี จัดเป็นอันดับ 7 ของเอเชียและอันดับที่ 19 ของโลก

สำหรับเอ็มเจ็ท นายธนกฤตกล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีเครื่องบินในบริการเช่าเหมาลำจำนวน 4 ลำ สามารถให้บริการไปในเส้นทางได้ทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ใช้บริการเป็นนักธุรกิจ นอกจากนี้ เอ็มเจ็ทถือเป็นผู้ให้บริการการจัดการอากาศยาน (Fixed-Base Operation: FBO) แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งครอบคลุม 7 ธุรกิจหลัก ได้แก่ บริการเครื่องบินเช่าเหมาลำ บริการเครื่องบินพยาบาล การจัดหา และบริหารเครื่องบิน บริการอาคารผู้โดยสารส่วนบุคคลพร้อมทั้งห้องรับรองพิเศษ บริการซ่อมบำรุงเครื่องบินสำหรับเครื่องบินโดยสารส่วนบุคคล และบริการด้านการดูแลผู้โดยสารบนภาคพื้น

ในตลาด Medical Tourism ที่กำลังเติบโต ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรระบุว่า รายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่เน้นจับตลาดคนไข้ต่างชาติกลับเติบโตได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของรายได้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนรวมที่ร้อยละ 11.7 (ค่าเฉลี่ยปี 2557-2558) โดยมีรายได้ที่มาจากกลุ่มคนไข้ต่างชาติที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 15.1 (ค่าเฉลี่ยปี 2557-2558) ซึ่งเอ็มเจ็ทได้เตรียมพร้อมที่จะเพิ่มเครื่องบินพยาบาลเพื่อตอบสนองการโตของ Medical Tourism เช่นกัน

ที่มาภาพ : http://www.mjets.com/th/sZYqJ#

“นอกจากเครื่องไพรเวทเจ็ท เรายังมีเครื่องบินพยาบาลอีก 1 ลำ พร้อมให้บริการลําเลียงผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งในประเทศและในภูมิภาค ซึ่งเนื่องจากระบบการรักษาพยาบาลของไทยมีคุณภาพ กลุ่มลูกค้า (Medical Tourism) จากประเทศรอบบ้านทั้งจากเมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม ไปจนถึงบังกลาเทศ ใช้บริการเครื่องบินพยาบาลเพื่อเข้ามารักษาตัวในกรุงเทพฯ ซึ่งบริษัทมีแผนที่จะเพิ่มเครื่องบินพยาบาลเพื่อรองรับลูกค้าในกลุ่มตะวันออกกลางที่จะมีเพิ่มขึ้นในอนาคต” นายธนกฤตกล่าว

ด้านนายปุญณัฐส์ นำพา ผู้อำนวยการฝ่ายความปลอดภัยและคุณภาพ เค-ไมล์ กล่าวว่า เค-ไมล์เป็นสายการบินเดียวในไทยที่ให้บริการขนส่งสินค้า โดยส่วนใหญ่เป็นการขนส่งสินค้าให้กับบริษัท ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด หรือดีเอชแอล ประมาณ 95% โดยใช้กรุงเทพฯ เป็นฐานการบินไปยังหลายเส้นทาง เช่น ฮ่องกง อินโดนีเซีย กัมพูชา สิงคโปร์

“ปัจจุบันมีบริษัทมีเครื่องบินโบอิง 737 จำนวน 3 ลำ มีนักบินประจำกว่า 10 ราย และหลังจากได้ใบรับรองฯ แล้วทางเค-ไมล์ ก็มีแผนจะเพิ่มเครื่องบินอีก 1 ลำ ซึ่งจะทำการขยายการให้บริการไปยังพม่าและอินเดียด้วย แต่ยังคงเว้นตลาดจีนไว้เนื่องจากเขามีแอร์คาร์โกจำนวนมาก โดยเค-ไมล์อยู่ประมาณอันดับที่ 4-5 ของเอเชียแปซิฟิก สำหรับในอาเซียนนอกจากไทยมีผู้ให้บริการแอร์คาร์โก คือ ที่ดินโดนีเซียและสิงคโปร์ ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาการซื้อขายผ่านออนไลน์มีการเติบสูง ส่งผลให้ธุรกิจแอร์คาร์โกเติบโตเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยเฉลี่ยเค-ไมล์เติบโตประมาณ 5-10% ต่อปี” นายปุญณัฐส์กล่าว

ทั้งนี้ นายปุญณัฐส์ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า แม้ธุรกิจแอร์คาร์โกมีผู้เล่นในตลาดไม่มาก เป็นนิชมาร์เก็ต เนื่องจากผู้ให้บริการจะต้องเชื่อมโยงเครือข่าย มีบริการที่เป็นมาตรฐานสากล ตรงต่อเวลา รักษาคุณภาพสินค้าได้ดีจนมีฐานลูกค้าที่มั่นคง จึงจะสามารถเติบโตได้ในระยะยาว แต่การให้บริการแบบแอร์คาร์โกนั้นได้เปรียบกว่าสายการบินโดยสารที่มีความผันผวนทางธุรกิจสูงกว่ามาก และมีเรื่องที่ต้องควบคุมดำเนินการมากกว่า ทั้งการบริการ การต้อนรับ การจัดการสัมภาระผู้โดยสาร ฯลฯ ต่างจากคาร์โกที่ขนส่งสินค้าให้ถึงปลายทางเพียงอย่างเดียว ซึ่งด้วยศักยภาพในเชิงพื้นที่ของไทยแล้วถือเป็นแอร์คาร์โกฮับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รัฐควรจับตา