ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > “อาคม” คุยปมการบิน ICAO รื่น นัด FAA หารือปรับ CAT 1 พ.ย. นี้ – ลุ้นบินเข้าสหรัฐฯ มี.ค.ปีหน้า

“อาคม” คุยปมการบิน ICAO รื่น นัด FAA หารือปรับ CAT 1 พ.ย. นี้ – ลุ้นบินเข้าสหรัฐฯ มี.ค.ปีหน้า

4 ตุลาคม 2016


สถานการด้านการบินของไทยในเวลานี้ได้คลายความระอุลงไปมาก ล่าสุดบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน)รับรางวัลสายการบินยอดเยี่ยมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ติดต่อกันเป็นปีที่ 10 จาก TTG Travel Awards 2016 และผลการหารือกับประเทศต่างๆ ภายหลังการประชุมสมัชชาขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) สมัยสามัญ ครั้งที่ 39 ที่จัดขึ้น ณ สำนักงานใหญ่ ICAO เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา เมื่อวันที่ 25-30 กันยายน 2559 ทีผ่านมา ก็เป็นไปในทิศทางที่ดี

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

โดยเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2559 ที่กระทรวงคมนาคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ร่วมกันแถลงข่าวผลการเข้าร่วมประชุมดังกล่าว

นายอาคมกล่าวว่า ในการเข้าร่วมประชุมดังกล่าว ไทยได้รายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาด้านการบินทั้งหมดให้ประเทศสมาชิกทั้งหมด 196 ประเทศรับทราบ โดยประธาน ICAO ได้แสดงความยินดีที่ไทยสามารถเริ่มกระบวนการออกใบอนุญาตผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC) และยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความช่วยเหลือทางวิชาการหรือทางเทคนิคที่จะทำให้ไทยสามารถปลดธงแดงได้โดยเร็ว ซึ่งทางองค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ICAO-APAC) จะเป็นผู้ประสานงานกับไทยอย่างใกล้ชิด

พร้อมกันนี้ ประธาน ICAO ได้ขอบคุณประเทศไทยที่เข้าร่วมภาคีสมาชิกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการอุตสาหกรรมการบิน รวมถึงให้นโยบายอนาคตไทยจะต้องเป็นผู้ให้ เนื่องจากมองว่าไทยมีศักยภาพเป็นผู้นำทางการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

นายอาคมกล่าวต่อไปว่า กระทรวงคมนาคมได้ใช้โอกาสนี้ในการแจ้งความประสงค์ที่จะให้มีการเจรจาสิทธิการบินใหม่กับสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อให้สามารถใช้สิทธิการบินเสรีภาพที่ 5 ได้ คือ การทำการบินเชื่อมต่อจากเกาหลีไปยังประเทศอื่น เบื้องต้นได้มอบหมายให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) วางแผนที่จะทำการบินเข้าสหรัฐฯ ในช่วงปี 2560 ที่จะบินเข้าทางเอเชียแปซิฟิกผ่านทางเกาหลีและญี่ปุ่น

รวมทั้งการขอความร่วมมือจากสำนักงานการบินพลเรือนออสเตรเลียในการพิจารณาใบอนุญาตแก่การบินไทยฯ สามารถนำเครื่องบินรุ่นใหม่ (A350 ที่รับมาใหม่) บินเข้าออสเตรเลียได้โดยเร็ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาความสมบูรณ์ของเอกสารต่างๆ ไปจนถึงการขอความร่วมมือจากญี่ปุ่นในการพิจารณาผ่อนปรนมาตรการเข้มงวดการเพิ่มเที่ยวบินและจุดบินปลายทาง

“ญี่ปุ่นนั้นไทยได้สิทธิทำการบินรูปแบบดังกล่าวอยู่แล้ว ทางเกาหลีนั้นยังไม่ได้ จึงได้มีการเจรจาด้านสิทธิการบินใหม่ ภายหลังที่ถูกมาตรการแช่แข็งห้ามเพิ่มเที่ยวบินและมาตรการคุมเข้มอื่นๆ เนื่องจากติดธงแดง อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเกาหลี ญี่ปุ่น หรือออสเตรเลีย ก็เป็นตลาดท่องเที่ยวที่สำคัญของไทย หากปลดล็อกได้ก็จะช่วยเพิ่มเส้นทางการบินและรายได้ให้แก่สายการบินของไทยที่บินไปยังประเทศต่างๆ” นายอาคมกล่าว

นัด FAA หารือปรับ CAT 1 พ.ย. นี้ – ลุ้นบินเข้าสหรัฐฯ มี.ค. 60

นอกจากนี้ ได้มีการหารือทวิภาคีกับองค์กรกำกับดูแลการบินพลเรือนต่างๆ เช่น สำนักงานความปลอดภัยด้านการบินยุโรป (EASA), D.G. Move, สำนักงานใหญ่เพื่อการบินพลเรือนของฝรั่งเศส (DGAC), องค์กรการบินพลเรือนแห่งสหรัฐอเมริกา (FAA) โดยทุกองค์กรได้รับทราบความก้าวหน้าในการแก้ปัญหา และยินดีให้ความช่วยเหลือไทยในการแก้ปัญหาในทุกด้าน

นาอาคมกล่าวถึงผลการหารือกับ FFA ว่า ขณะนี้มีความเห็นร่วมกันที่จะให้มีการประชุมหารือด้านเทคนิคเพื่อกำหนดแผนงานและระยะเวลาร่วมกันที่จะปรับเลื่อนชั้นจาก Category 2 มาสู่ Category 1

การประชุมสมัชชาขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) สมัยสามัญ ครั้งที่ 39 ที่จัดขึ้น ณ สำนักงานใหญ่ ICAO เมืองมอลทริออล ประเทศแคนนาดา เมื่อวันที่ 25-30 กันยายน 2559
การประชุมสมัชชาขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) สมัยสามัญ ครั้งที่ 39 ที่จัดขึ้น ณ สำนักงานใหญ่ ICAO เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา เมื่อวันที่ 25-30 กันยายน 2559

“เขาเองก็ต้องทราบความก้าวหน้าเป็นอย่างดี เขาจึงได้เสนอว่าให้คณะทำงานในระดับเทคนิคได้มีการหารือเพื่อกำหนดแผนงานร่วมกัน และในเรื่องการกำหนดเป้าหมายระยะเวลา คณะทำงานทั้ง 2 ฝ่ายได้นัดหารือร่วมกันในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2559 ทีลอสแอนเจลิส ผมเองก็ได้เรียนถามทาง FAA เนื่องจากสังเกตว่าหลายประเทศใช้ระยะเวลาหลายปีในการแก้ปัญหา ขณะที่บางประเทศใช้เวลาน้อย ทาง FAA ได้ให้คำตอบว่า การแก้ปัญหาเพื่อปรับอันดับนั้นไม่ได้มีมาตรฐานเรื่องเวลา แต่อยู่ที่ความรวดเร็วของประเทศในการตอบข้อซักถาม FAA เกี่ยวกับข้อบกพร่องทั้ง 35 ข้อ (Protocol Question) ได้มากน้อยเพียงไร” นายอาคมกล่าว

เบื้องต้นนั้นไทยได้มุ่งเน้นที่จะแก้ปัญหาในข้อหลักก่อน เพราะหาก FAA พอใจ จะช่วยย่นระยะเวลาให้สามารถปรับอันดับได้เร็วขึ้น ส่วนเมื่อไรนั้นขึ้นอยู่กับการหารือกันในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งภายหลังการหารือจะมีการกำหนดวันและเข้ามาทำการตรวจสอบภายใน 3 เดือน

“ได้ถามไปว่าจะต้องรอให้ปลดธงแดงได้ก่อนไหม เขาก็บอกว่าสามารถที่จะดำเนินการเมื่อไรก็ได้ที่เราพร้อม ผมถึงเรียนว่าเรามีแนวโน้มที่จะปรับได้เร็วขึ้น ส่วนจะเร็วแค่ไหนนั้นต้องขึ้นอยู่กับ กพท.” นายอาคมกล่าว

ด้านนายจุฬากล่าวว่า กรณีของ FAA เรื่องประเด็นที่เป็นปัญหาใหญ่ คือ เรื่องของผู้ออกใบอนุญาตให้กับนักบินที่มีไม่ครบตามแบบของเครื่องบิน เช่น A380 A787 ที่ใช้ทำการบินอยู่ในปัจจุบัน โดยที่ผ่านมากรมการบินพลเรือนมีผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวเพียง 15 คน ซึ่งไม่เพียงพอ ขณะนี้จึงทำการแก้ปัญหาโดยการมอบอำนาจให้แก่นักบินของสายการบินเอกชนที่ทำการคัดสรรและผ่านการฝึกอบรมเข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าวจำนวน 58 คน

“นักบินเรามีทั้งหมดหลักพันซึ่งหากจะเอาจริงๆ เราต้องทำการออกใบอนุญาตให้ใหม่หมดแม้นักบินคนนั้นจะได้รับใบอนุญาตแล้ว คือ เขามองว่าผลตรวจออกมาจากคนที่ไม่ผ่านมาตรฐานสายการบิน เขามีเครื่องบินแบบไหนมากก็จะส่งคนเขามา ส่วนเวลาตรวจจะนานเท่าไรขึ้นอยู่กับจำนวนนักบินที่ต้องตรวจว่ามีกี่คน แต่หลักๆ อยู่ประมาณ 4-5 ร้อยคน บางคนมีการตรวจไปบ้างแล้ว”

เมื่อถามว่ากรณีให้นักบินเอกชนสามารถตรวจสอบนักบินที่มาจากสายการบินสังกัดเดียวกันได้นั้นจะเกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ นายจุฬากล่าวว่า กรณีนี้เป็นกรณีที่รัฐสามารถจะแต่งตั้งใครไปตรวจแทนรัฐก็ได้ ในต่างประเทศก็ดำเนินการเช่นเดียวกัน การดำเนินการดังกล่าวมีการตรวจสอบแล้วว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากล แต่ก็ต้องมีกติกา มีการออกประกาศ ซึ่งมีการประกาศไปแล้ว ว่าคนที่จะมาตรวจได้มีคุณสมบัติอะไรบ้าง ฉะนั้น ลักษณะนี้เขาก็ตรวจได้ นักบินที่ตรวจสายการบินตัวเองก็มีกระบวนการที่ดูอยู่ว่าเป็นอย่างไร เพราะเราถือว่าคนที่ตรวจ

การหารือวงเล็กกับองค์กรการบินประเทศต่่างๆ
การหารือวงเล็กกับองค์กรการบินประเทศต่างๆ

“หากมีการแก้ไขปัญหาทั้งหมด 35 ข้อ ที่ FAA ตรวจพบแล้วเสร็จ การกลับไปขอทำการบินได้จะต้องขอตามซีซัน ซึ่งเริ่มซีซันหน้าคือประมาณมีนาคม 2560 ซึ่งทาง กพท. ก็พยายามที่จะให้สายการบินสามารถยื่นขอทำการบินเข้าสหรัฐฯ ได้ทันในเดือนมีนาคม”

สำหรับการหารือกับ EASA หลังจากได้รับทราบการรายงานได้ให้ข้อแนะนำแก่ไทยไว้ 2 เรื่อง คือ เรื่องกระบวนการออกใบรับรองนั้นจะต้องมีความโปร่งใส ถ้าหากสายการบินใดไม่ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบของเราทั้ง 5 ขั้นตอน ก็ไม่สมควรที่จะออกใบรับรองให้ ต้องดำเนินการอย่างเข้มงวด และต้องไม่ให้มีอิทธิพลใดก็ตามเข้ามาครอบงำกระบวนการออกใบรับรอง ถ้าสายการบินใดไม่ผ่านก็ต้องไม่ผ่าน

ส่วนเรื่องการเพิ่มขั้นตอนกระบวนการตรวจตรา หรือเฝ้าระวัง (Surveillance) จะต้องทำอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ความมั่นใจกับผู้โดยสารว่าอากาศยานหรือสายการบินนั้นมีความปลอดภัย นายอาคมระบุว่า ตนได้กำชับทาง กพท. แล้ว และขอให้เรียกประชุมสายการบินที่ทำการบินอยู่ในขณะนี้ทั้งในประเทศ และที่ทำการบินนอกประเทศ ขอให้เข้มงวดมาตรการบำรุงรักษา การซ่อมบำรุงต่างๆ เพื่อไม่ให้อากาศยานขัดข้อง

“ก็จะเห็นเป็นข่าวอยู่บ้างที่เครื่องบินมีการดีเลย์ พอดีเลย์แล้วก็ยกเลิกเที่ยวบิน ซึ่งเขาก็คุ้มครอง จัดการให้กับผู้โดยสาร คืนค่าเครื่องบิน หรือถ่ายโอนผู้โดยสารให้สายการบินอื่น แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ เราต้องการให้เขาปฏิบัติตามสิทธิที่เขาได้รับอนุญาตให้ประกอบการและดำเนินการบิน ก็ขอให้ กพท. เรียกสายการบินนั้นมาตักเตือน หากสายการบินไม่พร้อมก็ต้องขอให้ยกเลิกเส้นทางการบินและถอดเที่ยวบินนั้นออกไป ไม่เช่นนั้นก็จะกระทบผู้โดยสาร” นายอาคมกล่าว

“จุฬา” รับแก้ปม ICAO ยังไม่ถึงครึ่ง แต่เป็นไปตามแผน

แถลงผลการประชุม icao

นายอาคมกล่าวถึงความคืบหน้าในการปลดธงแดงว่า ขณะนี้ทำอะไรก็รายงานไปผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งทาง ICAO จะมอนิเตอร์ในเรื่องความก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา ขณะนี้ได้รายงานเรื่องการออกใบรับรองให้ 25 สายการบิน เรื่องการปรับองค์กร เรื่องการจัดหาบุคลากรด้านการตรวจสอบ (Inspector) และเรื่องการออกกฎหมาย ตนได้รายงานไปเช่นกันว่า ในขณะนี้นั้นไทยได้นำรูปแบบกฎหมายต้นแบบ (Primary Registration) ของ ICAO ที่ออกแบบไว้สำหรับประเทศทั่วๆ ไปมาใช้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการร่างกฎหมาย คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2559 นี้

อย่างไรก็ตาม ความมุ่งหวังที่แท้จริงคือ เมื่อเราเสร็จสิ้นกระบวนการออก AOC ใหม่แล้วเสร็จ สามารถที่จะตอบคำถามที่ถูก Finding หมดหรือ ดำเนินการตามที่วางแผนไว้ได้ครบ (Fully Address) จะยื่นขอให้ ICAO มาตรวจสอบใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก่อนที่เราจะยื่นขอให้เขามาตรวจสอบใหม่นั้นจะต้องมีความมั่นใจว่าในทุกๆ ข้อคำถามและกระบวนการออกใบรับรองของเรานั้นมีความรัดกุม รอบคอบ โปร่งใส ชัดเจน ซึ่งเรื่องนี้นั้นต้องมีความพร้อม 100% หากไม่พร้อม 100% ก็คงไปยื่นแล้วอาจไม่เกิดผลดี

“เมื่อเขามาตรวจสอบจะต้องมีข้อพิสูจน์ หลักฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานที่เป็นเอกสาร หรือเอกสารที่อยู่ในระบบออนไลน์ เขาสามารถที่จะตรวจสอบขั้นตอนได้ เมื่อนั้นจึงจะมีการปลด SSC ให้ แต่จริงๆ แล้วประเทศต่างๆ ล้วนให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยตามมาตรฐาน ICAO ซึ่งแต่ละประเทศก็อาจมีกฎกติกาที่เข้มงวดแตกต่างกันไปได้ เราเองก็ต้องปฏิบัติด้วย” นายอาคมกล่าว

ด้านนายจุฬา กล่าวถึงความคืบหน้าในการดำเนินการออก AOC ให้แก่สายการบินใหม่ว่า ในการออก AOC ที่ต้องดำเนินการ 5 ขั้นตอน ขณะนี้ได้ดำเนินการถึงขั้นตอนที่ 3 แล้ว คือ ทำการตรวจสอบเอกสารที่แต่ละสายการบินยื่นเข้ามา ซึ่งมีบางสายการบินที่ดำเนินขั้นตอนที่ 3 เสร็จเรียบร้อยแล้ว

“ต่อไปจะเป็นการตรวจลำดับที่ 4 คือตรวจภาคสนาม ซึ่งใช้ระยะเวลานานที่สุด ประมาณ 2-3 เดือน แต่ยังคงเป็นไปตามแผนที่วางไว้ คือจะออก AOC ให้สายการบินได้ในช่วงเดือนธันวาคม 2559 – มกราคม 2560 โดยสายการบินกลุ่มแรกที่ทำการยื่นเอกสาร เช่น การบินไทย บางกอกแอร์เวย์ และแอร์เอเชีย จะเป็นสายการบินที่เริ่มทำการตรวจสอบก่อน โดยที่สายการบินบางกอกแอร์เวย์เป็นสายการบินที่ตรวจเอกสารในขั้นที่ 3 เสร็จแล้วเนื่องจากแบบเครื่องบินมีน้อย แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าบางกอกแอร์เวย์จะได้ AOC สายการบินแรก เพราะกระบวนการตรวจลำดับที่ 4 ยังต้องมีอยู่” นายจุฬากล่าว

นายจุฬาระบุว่า ขณะนี้เหลือสายการบินระหว่างประเทศจำนวน 25 สายการบินที่ต้องทำการออก AOC ให้ใหม่จากเดิม 28 สายการบิน เนื่องจากมี 3 สายการบินที่ใบอนุญาตหมดอายุไปกลางคัน กรณีนี้ต้องทำการเริ่มขอยื่นเรื่องเข้ามาใหม่ซึ่งจะเริ่มดำเนินการออก AOC เสมือนมายื่นขอครั้งแรก ในช่วงเดือนเมษายน 2560

สำหรับสายการบินในประเทศอีก 13 สายการบิน ขณะนี้อยู่ในช่วงทำการตรวจเอกสาร ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ส่วนสายการบินในประเทศที่ต้องการขอทำการบินระหว่างประเทศด้วย กรณีนี้ก็ต้องยื่นขอใหม่ในช่วงเมษายน 2560 เช่นเดียวกับสายการบินที่ใบอนุญาตหมดอายุ

ทั้งนี้ การที่จะขอให้ ICAO เข้ามาตรวจสอบใหม่ ความคืบหน้าในการแก้ปัญหาโดยรวมจะต้องอยู่ที่ 75% แต่ขณะนี้เมื่อวัดจากการดำเนินการออก AOC ที่เป็นประเด็นหลักแล้ว การดำเนินงานปัจจุบันนั้นยังไม่ถึง 50%

พร้อมรับการตรวจระลอก 2 – สัปดาห์นี้เรียก “นกแอร์” คุยเหตุเที่ยวบินล่าช้า

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)

นายจุฬากล่าวถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อรับการตรวจสอบสายการบินและท่าอากาศยาน ตามโครงการตรวจสอบด้านการรักษาความปลอดภัย (Universal Security Audit Programme: USAP) หรือยูแซปของ ICAO ในเดือนกรกฎาคม 2560 ซึ่งได้มีการขอให้ ICAO-APAC เข้ามาช่วยในการเตรียมการด้วย

การตรวจยูแซป คือการตรวจภาครัฐ ตรวจกระบวนการ ตรวจ กพท. ว่ามีระบบมีคนเพียงพอไหม ตอนนี้ก็ยังมีอยู่ ตรวจสนามบินเราก็จะตรวจอุปกรณ์ เครื่องเอ็กซเรย์ และเรื่องของแอร์ไซส์ แอร์คาร์โก แต่เรายังไม่ได้ข้อสอบมาว่าเขาจะตรวจอะไรบ้าง น่าจะส่งมาในช่วงเดือนตุลาคมนี้ เพราะเหลือเวลาอีก 10 เดือน

“ที่เรากังวล คือ กระบวนการมีบ้างอยู่แล้ว แต่ก็ต้องดูเรื่องคุณภาพของคน ต้องให้แม่นๆ ในเรื่องของผู้ตรวจสอบ การฝึกอบรมเรื่องอะไรปัญหาก็เหมือนกับโครงการตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัย (Universal Safety Oversight Audit Program: USOAP) ที่ทำการตรวจ ซึ่งหลักๆ น่าจะตรวจสนามบินของบริษัท ท่าอากาศยาน ไทย จำกัด (มหาชน) มากกว่า โดยเฉพาะสนามบินที่เป็นระหว่างประเทศ เช่น สนามบินใหญ่ๆ อย่างดอนเมืองหรือสุวรรณภูมิ” นายจุฬากล่าว

นายจุฬากล่าวเพิ่มเติมว่า จากนโยบายและมาตรการเรื่องการให้บริการของสายการบินที่มีเที่ยวบินล่าช้าหรือยกเลิกเที่ยวบินบ่อยนั้น ภายในสัปดาห์นี้จะเรียกผู้บริหารสายการบินนกแอร์เข้ามาหารือถึงปัญหาที่เกิดขึ้น โดยจะพิจารณาถึงเงื่อนไขและสาเหตุของปัญหาก่อน รวมถึงแผนการแก้ปัญหาด้วย ทั้งนี้ หากมีคำสั่งยกเลิกการบินไปเลยอาจจะทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน

สำหรับรายงานจาก ICAO-APAC นายจุฬาระบุว่า ตนได้รับทราบแล้ว และยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมาการรายงานปัญหาแก่ ICAO มีการขาดช่วงไป แต่ทาง กพท. ไม่ได้หยุดดำเนินการแก้ปัญหาด้านการบิน ซึ่งขณะนี้ทั้งปัญหาด้านบุคลากรและปัญหาด้านอื่นๆ ที่ปรากฏในรายงานได้ค่อยๆ คลี่คลายแล้ว