เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2560 ที่กระทรวงคมนาคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน (กบร.)
สายการบินออก AOC ไม่ทัน 30 มิ.ย. หยุดบิน ตปท.
จากกำหนดเวลาที่ปรับให้องค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO)เข้าตรวจประเมินเร็วขึ้นอาจทำให้ไม่สามารถออกใบอนุญาตการเดินอากาศใหม่(AOC Recertification) ได้ครบทั้ง 23 สายการบิน ก่อนวันที่ 30 มิถุนายน 2560 กพท. จึงปรับแผนการออกใบรับรองการเดินอากาศใหม่
ภายหลังการประชุม นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า ในวันที่ 4 เมษายน 2560 กพท. จะมีการชี้แจงทำความเข้าใจกับสายการบินทั้งหมด 14 สายการบิน เพื่อให้รับทราบและรับกับสถานการณ์ ว่าหลังจากวันที่ 30 มิถุนายน 2560 เป็นต้น สายการบินเหล่านี้จะอยู่ในฐานะที่ไม่สามารถบินระหว่างประเทศได้ หากไม่ได้ใบรับรองการเดินอากาศใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงทำการบินในประเทศได้ต่อไป
“หากเราไม่ทำแบบนั้น จะยื่นขอให้ ICAO มาตรวจประเมินใหม่เพื่อปลดธงแดงไม่ได้ เพราะต้องการปลดธงแดงให้ได้ภายในปีนี้ แต่ที่สุดแล้วตามกระบวนการ สมมติเราขีดเส้นใต้วันที่ 1 กรกฎาคม 2560 จะหยุดให้บริการระหว่างประเทศ ในระหว่างนี้ใครที่ผ่านกระบวนการออกใบรับรองการเดินอากาศใหม่ก็มาบินต่อได้ แต่ถ้าเมื่อไรประเทศปลดธงแดงได้ก็บินได้ทั้งหมด แต่การจะขอตรวจใหม่จาก ICAO การแก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (Significant Safety Concerns: SSC) ก็ต้องเรียบร้อยแล้วเช่นกัน ซึ่งตอนนี้คืบหน้าแล้ว 70% ทาง กพท. ได้เตรียมความพร้อมบุคคลที่จะเป็นผู้ชี้แจงและตอบคำถาม ICAO ไว้แล้ว”
ทั้งนี้ การตรวจสอบและประเมินเพื่อออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ ปัจจุบันมีสายการบินของไทยได้ใบรับรองฯ แล้ว 1 สายการบิน คือ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์
นายจุฬากล่าวว่า ภายในเดือนเมษายน 2560 จะสามารถออกใบรับรองฯ ให้ได้อีก 2 สายการบิน คือ บมจ.การบินไทย (THAI) และสายการบินไทยแอร์เอเชีย และคาดว่าภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2560 จะสามารถออกใบรับรองฯ ให้สายการบินที่ทำการบินต่างประเทศ 12 สายการบิน จากทั้งหมด 23 สายการบิน ก่อนที่ กพท. จะยื่นขอให้องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศเข้าตรวจสอบ
“ต่อจาก 3 สายการบินแรก สายการบินถัดมาที่จะเข้าดำเนินการตรวจคือ สายการบินนกสกู๊ต สายการบินไทยสมายล์ และสายการบินแอร์เอเชียเอ็กซ์ ซึ่งสายการบินไทยสมายล์เริ่มเข้ากระบวนการที่ 4.1 แล้ว (การตรวจสอบการปฏิบัติการบิน) ยังมีสายการบินที่ติดค้างในขั้นตอนที่ 3 อยู่คือ สายการบินโอเรียนท์ไทย และสายการบิน เค-ไมล์”
นายจุฬากล่าวต่อไปว่า หลังจากดำเนินการออกใบรับรองฯ ให้แก่ 9 สายการบินหลัก ได้แก่ สายการบินการบินไทย, บางกอกแอร์เวย์, ไทยแอร์เอเชีย, สายการบินไทยสมายด์, เค-ไมล์ แอร์, สายการบินนกแอร์, โอเรียนท์ไทย แอร์ไลน์, สายการบินแอร์เอเชียเอ็กซ์ และสายการบินนกสกู๊ต จะมีการจัดลำดับใหม่เพื่อให้สามารถดำเนินการได้เร็วขึ้น โดยสายการบินใดที่มีความพร้อมสามารถแสดงความจำนงเข้ากระบวนการออกใบรับรองฯ ได้ก่อน และทาง กพท. จะพิจารณาจัดลำดับตามปริมาณผู้โดยสารร่วมด้วย
เบื้องต้นได้มี 10 สายการบินที่เข้าแสดงความจำนงเข้ากระบวนการออกใบรับรองฯ เร็วขึ้น ได้แก่ ไทยไลออน แอร์, สายการบินสบายดี, สยามแอร์, สายการบินเอ็มเจ็ท, สายการบิน เอซี เอวิเอชั่น, ไทย ฟลายอิ้ง เซอร์วิส, สยามแลนด์ ฟลายอิ้ง, สายการบินวีไอพี เจ็ท, สายการบินเอช เอส เอวิเอชั่น และสายการบินไทย เวียดเจ็ท ที่ยื่นแสดงความจำนงเข้ามาช้ากว่ากำหนด และเหลืออีก 4 สายการบินที่ยังไม่ได้แสดงความจำนงเข้ามา
“เนื่องจากได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะยื่นขอให้ ICAO เข้าตรวจในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ เท่ากับเลื่อนขึ้นมา 6 เดือน จากแผนเดิมเป็นเดือนมกราคมปี 2561 ทั้ง 23 สายการบินได้ผ่านขั้นตอนเฟส 1-2 มาแล้ว แต่บางรายอาจยังไม่พร้อม เพราะคิวเดิมของเขาอยู่เดือนตุลาคม ซึ่งในสายการบินที่ยังไม่พร้อมก็จะถูกจัดอยู่ในลำดับหลังโดยทาง กพท. จะเป็นผู้จัดลำดับให้เอง”
มั่นใจผลประเมินเดือน พ.ค. EASA ไม่แบน
สำหรับการตรวจสอบด้านการรักษาความปลอดภัย (Universal Security Audit Programme: USAP) ในเดือนกรกฎาคม 2560 นายจุฬากล่าวว่า ปัจจุบันอยู่ในขั้นการเตรียมเอกสารที่จะส่งให้ ICAO เนื่องจากต้องส่งเอกสารไปให้เขาล่วงหน้า 2 เดือน โดยต้องส่งไปในเดือนพฤษภาคม2560
“ตอนนี้ดำเนินการไป 50% แล้ว ในรายงานก็จะแจ้งว่าสถานะปัจจุบันของไทยเป็นอย่างไรแล้ว เขาก็จะเตรียมไว้ตอนมาตรวจเดือนกรกฎาคมอีกที”
ด้านสถานการณ์จากหน่วยงานความปลอดภัยการบินยุโรป (European Aviation Safety Agency: EASA) ยังเป็นไปในทิศทางที่ดี ภายหลังที่ไทยเข้ารายงานความคืบหน้าการแก้ปัญหาด้านการบินครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา
นายจุฬากล่าวว่า ทาง EASA ค่อนข้างพอใจในความก้าวหน้าของไทย ซึ่งได้รับคำชมว่าเห็นความก้าวหน้าในรอบนี้ค่อนข้างเยอะ เห็นอะไรเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น มั่นใจว่าเมื่อมีการประชุมคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ในเดือนเมษายน 2560 จะไม่มีรายชื่อประเทศไทยในกลุ่มที่ถูกแบน
ต่อกรณีกระแสข่าวที่สหรัฐอเมริกาห้ามนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขึ้นเครื่องบิน นายจุฬาระบุว่ากรณีดังกล่าวเป็นรักษาความปลอดภัยที่ทางสหรัฐฯ ได้รับข้อมูลมาว่าจะมีกรณีการก่อการร้าย จึงตรวจสอบและสั่งห้ามเที่ยวบินที่เห็นว่ามีความเสี่ยง ในเที่ยวบินจาก 10 สนามบิน ใน 8 ประเทศ ซึ่งไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อไทย
“ปกติเขาจะไม่ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ เพราะเป็นเรื่องอ่อนไหว ที่จะทำให้คนร้ายรู้ตัว การแบนในลักษณะนี้ หรือการให้ข้อมูลในลักษณะนี้จะเป็นกรณีเฉพาะ ท่าอากาศยานนั้นของประเทศเหล่านั้นไปยังสถานีปลายทางบางสนามบินเท่านั้น เช่น ห้ามจากดูไบไปนิวยอร์ก บนสายการบินนี้เท่านั้น ผลจะไม่กระทบต่อการบินไปไฟลต์อื่นของสายการบินอื่น หรือสนามบินอื่นของอเมริกา ซึ่งของอังกฤษก็มีการติดประกาศตามมาอีกวันหนึ่ง”
อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ต่างไปจากกรณีที่สายการบินแต่ละแห่งห้ามนำ สมาร์ทโฟน ซัมซุง รุ่นกาแล็คซี่ โน๊ต 7 ขึ้นเครื่องบิน ซึ่งเป็นคำเตือนจากสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ (Federal Aviation Administration: FAA) เรื่องความปลอดภัยที่ประกาศโดยทั่วกัน และมีการประกาศตามหลายหน่วยงานของต่างประเทศ
นอกจากนี้ นายจุฬาเปิดเผยว่า ในช่วงเดือนพฤษภาคมจะนำเรื่องการกำหนดเพดานราคาสายการบินชั้นประหยัดรอบใหม่เข้าที่ประชุม กบร. เนื่องจากมีการปรับครั้งสุดท้ายในปี 2553 ปัจจุบันสถานการณ์ได้เปลี่ยนไป จึงต้องทบทวนเรื่องดังกล่าวใหม่
“ปัจจุบันมีเพดานอยู่ที่ 13 บาท ที่เราจะทำอีกอันคือจะมีเพดานสำหรับโลว์คอสต์ที่ไม่มีการบริการอะไรเลย ใครมีบริการเพิ่มจะเป็นอย่างไรก็ว่าอีกที เท่ากับเราจะมี 2 ฐาน Full service และ Non service”