ThaiPublica > เกาะกระแส > ICAO “ปลดธงแดง” พ.ย.นี้ รายงานผล EASA รอบสุดท้าย คาดพร้อม FFA ตรวจต้นปีหน้า – EIC ประเมินนักบินจะยิ่งขาดตลาด

ICAO “ปลดธงแดง” พ.ย.นี้ รายงานผล EASA รอบสุดท้าย คาดพร้อม FFA ตรวจต้นปีหน้า – EIC ประเมินนักบินจะยิ่งขาดตลาด

9 ตุลาคม 2017


นายอรุณ มิชรา ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Organization (ICAO) ได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2560  นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสถาบันการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนายอรุณ มิชรา ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Organization: ICAO) ได้เข้าพบ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อรายงานและยืนยันผลการ “ปลดธงแดง” จาก ICAO

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า “ตามที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO ได้เข้ามาตรวจสอบการกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินพลเรือนในช่วงเดือนมกราคม 2558 ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่าประเทศไทยมีความบกพร่องเกี่ยวกับกระบวนการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ โดยมีข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัยด้านการบินพลเรือน (SSC) จำนวน 33 ข้อ และต่อมาเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2558 ได้ประกาศติดธงแดงประเทศไทยบนเว็บไซต์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่าไทยยังไม่มีการกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินพลเรือนอย่างเพียงพอภายใต้มาตรฐานของ ICAO นั้น

รัฐบาลได้ให้ความสำคัญโดยถือเป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน ซึ่งปัญหาการบินพลเรือนเป็นปัญหาที่สะสมมานาน เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลชุดนี้ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นเป็นตอน และเป็นรูปธรรม เริ่มจากการปฏิรูปมาตรฐานการกำกับดูแล ด้วยการปฏิรูปองค์กร โดยแยกงานกำกับดูแลมาตรฐานการบินมาจัดตั้งเป็นองค์กรใหม่ คือ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่จัดทำมาตรฐานและกำกับดูและกิจการการบินพลเรือนของประเทศ

วันนี้จึงเป็นวันที่น่าภาคภูมิใจสำหรับประเทศโดยส่วนรวม ความไว้วางใจของ ICAO ที่ปลดธงแดงให้กับประเทศไทยในครั้งนี้ย่อมแสดงถึงความเชื่อมั่นของ ICAO และนานาประเทศที่มีต่อสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ที่ได้ทำหน้าที่กำกับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินและความเหมาะสมของการเดินอากาศ ได้อย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานของ ICAO และส่งผลที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การสร้างความมั่นใจในการพัฒนามาตรฐานที่กำกับดูแลและสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรกำกับดูแล รวมทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินเพื่อก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคในอนาคตได้อย่างมั่นใจ

ในนามนายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. คณะรัฐมนตรี ขอขอบคุณหน่วยงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือนให้สำเร็จลุล่วงในเวลาที่กำหนด โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคม และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พร้อมกันนี้ขอขอบคุณสำนักงานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ ICAO ณ กรุงเทพมหานคร ที่ได้ให้คำแนะนำและประสานงานอย่างดียิ่ง และหน่วยงานสนับสนุนอื่นที่สำคัญ ได้แก่ ศูนย์บัญชาการการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน (ศบปพ.) และกระทรวงการต่างประเทศ ที่ได้ทำงานร่วมกันอย่างทุ่มเท ทั้งกำลังกาย กำลังใจ สติปัญญา และเสียสละเวลาส่วนตัว เพื่อปฏิบัติภารกิจสำคัญของชาติในการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินพลเรือนจนเป็นที่ยอมรับของ ICAO ในวันนี้”

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสถาบันการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย

นายอาคมได้แถลงยืนยันผลการปลดธงแดงอย่างเป็นทางการอีกครั้งที่กระทรวงคมนาคม โดยระบุว่า ในเว็บไซต์ของ ICAO ที่เผยแพร่ข้อมูลสาธารณะ จะปลดธงแดงลงตั้งแต่คืนวันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมาหลังจากการประชุม ICAO SSC Committee แต่ยังไม่มีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในช่วงเวลาดังกล่าว เพราะต้องการผลยืนยันที่แน่ชัดว่าข้อมูลภายในที่เป็นข้อมูลปิดระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกันนั้นมีการประกาศอย่างเป็นทางการแล้วเช่นกัน ซึ่งวันนี้ได้รับการยืนยันแน่ชัดแล้วว่ามีการปลดธงแดงทั้งข้อมูลสาธารณะและภายในจากนายอรุณ

“นายกรัฐมนตรีพึงพอใจในผลการดำเนินงาน ซึ่งการปลดธงแดงแสดงความเชื่อมั่นของ ICAO ต่อการการแก้ไขปัญหา การปรับปรุงคู่มือการปฏิบัติงาน ซึ่งจะช่วยขจัดปัญหาการระงับการเพิ่มเที่ยวบิน-จุดบิน และการห้ามเปลี่ยนแบบเครื่องบินที่ทำการบินเข้าประเทศปลายทางให้หมดไป ส่งผลให้สายการบินไทยที่ทำการบินระหว่างประเทศสามารถทำการบินไปยังประเทศใดก็ได้ที่มีข้อตกลงทางการบินหว่างกัน (Air Service Agreement: ASA) และอยู่ในข้อกำหนดเรื่องจำนวนเที่ยวบินของประเทศนั้นๆ สำหรับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซึ่งระงับการเพิ่มเที่ยวบินจากไทยไว้ ถือเป็นตลาดการท่องเที่ยวสำคัญและเขาก็ต้องการเที่ยวบินจากไทย เมื่อทางสะดวกแล้วก็จะมีการเจรจาในการขอเพิ่มเที่ยวบินกับประเทศดังกล่าวต่อไป” นายอาคมกล่าว

ข้อมูลจาก: https://www.icao.int/safety/Pages/USOAP-Results.aspx
ข้อมูลด้านการเดินอากาศของไทยเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน
ข้อมูลจาก: https://www.icao.int/safety/Pages/USOAP-Results.aspx
ข้อมูลด้านการเดินอากาศของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคต่างๆ
ข้อมูลจาก: https://www.icao.int/safety/Pages/USOAP-Results.aspx

นายอาคมกล่าวต่อไปว่า โจทย์ที่นายกรัฐมนตรีให้ต่อไปคือจะทำอย่างไรในการรักษาคุณภาพและวางแผนแก้ไขข้อบกพร่องที่เหลือ ในส่วนที่ไม่ใช่ข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญ เพื่อให้ไทยได้อยู่เหนือมาตรฐานสากล (Global Average) ที่วันนี้ไทยยังไปไม่ถึง รวมถึงเรื่องบุคลากรที่ต้องมีการเพิ่มกำลังพลให้เพียงพอและการฝึกอบรมบุคลากรที่ ICAO ย้ำไว้มาก และสิ่งที่ต้องดำเนินการต่อกับองค์การการบินพลเรือนสหรัฐอเมริกา (Federal Aviation Administration: FAA) และหน่วยงานความปลอดภัยการบินยุโรป (European Aviation Safety Agency: EASA) ซึ่งตนคิดว่าเมื่อปลดธงแดงได้แล้วการดำเนินงานต่อไปกับทั้ง 2 องค์กรคงไม่ใช่เรื่องยาก

“ทาง ICAO ก็ชื่นชมว่าเราทำงานรวดเร็ว ใช้เวลาไป 2 ปี 4 เดือน ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ใช้เวลาขั้นต่ำในการแก้ปัญหาที่ 2 ปี 10 เดือน และบางประเทศแม้ไม่ถูกปักธงแดงแต่ต้องเผชิญการตรวจสอบจาก ICAO ทุกๆ ปีเพราะเขายังไม่มั่นใจในมาตรฐานอย่างเพียงพอ สำหรับประเทศไทยต่อจากนี้ทาง ICAO เอเชียแปซิฟิกมีแผนที่จะสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมบุคลากรด้านการบิน และจะให้ผู้ตรวจสอบ (Inspector) ของไทยที่ผ่านการฝึกอบรมและผ่านการตรวจรับรองแล้วเป็นผู้ตรวจสอบของ ICAO ที่จะร่วมทีมตรวจสอบประเทศอื่นๆ ต่อไปในอนาคต แสดงให้เห็นว่าผู้ตรวจสอบไทยมีมาตรฐานที่ ICAO ยอมรับ” นายอาคมกล่าว

ด้านนายจุฬาเปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 13-14 พฤศจิกายน 2560 ตนจะต้องไปรายงานผลการแก้ไขปัญหาการบินให้แก่คณะกรรมการใหญ่ของ EASA ซึ่งก่อนหน้านั้นในงานประชุมด้านการบินพลเรือนระหว่างประเทศที่จัดขึ้นในสหภาพยุโรปนั้นไทยได้รับเกียรติให้ร่วมบอกเล่าประสบการณ์การแก้ไขปัญหาเพื่อปลดธงแดง หลังจากนั้นในช่วงเดือนธันวาคม 2560 จะเชิญ FAA มาทำการ PER audit เป็นระยะเวลา 3 วัน ก่อนยื่นขอทำการตรวจประเมินเพื่อปรับอันดับจาก Category2 เป็น Category1 ไม่เกินไตรมาสแรกของปี 2561 เพื่อให้การบินไทยสามารถเปิดเส้นทางการบินไปยังสหรัฐฯ ได้ในช่วงเดือนตุลาคม 2561

“ที่ผ่านมาแม้ EASA ไม่ได้แบนประเทศไทย แต่ระหว่างที่ไทยติดธงแดงจะต้องมีการรายงานการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือนให้ EASA ทราบทุก 6 เดือน คาดว่าการรายงาน EASA ครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งการปลดธงแดงก็มีผลต่อการแก้ไขปัญหาข้อบกพร่องทั้ง 35 ข้อที่ FAA พบ ทำให้การแก้ปัญหาในส่วนนี้คืบหน้าไป 70% เหลืออีกเพียง 30% ซึ่งเป็นส่วนของการออกใบอนุญาตนักบิน ที่ปัจจุบันออกใบอนุญาตให้แล้วกว่า 1,000 ราย จากทั้งหมด 5,000 ราย ซึ่งจะมีการส่งแผนการแก้ปัญหาให้ทาง FAA ภายในปีนี้” นายจุฬากล่าว

อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป หลัง ICAO ปลดล็อกธงแดง?

ที่มาภาพ : EIC ธนาคารไทยพาณิชย์

ขณะที่อีไอซี ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า การปลดธงแดงจะส่งผลดีต่อไทยทั้งในอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว สำหรับอุตสาหกรรมการบิน การปลดธงแดงจะช่วยสร้างความเชื่อถือของหน่วยงานด้านการบินของไทย และสร้างความเชื่อมั่นต่อนักท่องเที่ยวในการเลือกใช้สายการบินสัญชาติไทย อีกทั้งยังอาจส่งผลให้สำนักงานบริหารองค์กรการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (FAA) ปรับเพิ่มระดับมาตรฐานด้านการบินของไทยจากประเภท 2 ซึ่งห้ามการเปิดเส้นทางใหม่ในสหรัฐฯ เป็นประเภท 1 ดังเดิมก่อนถูกปักธงแดง สำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยมีแนวโน้มจะปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเดินทางในรูปแบบการเช่าเหมาลำ เนื่องจากหลายสายการบินที่ได้ AOC recertification สามารถกลับมาให้บริการได้แล้ว

การแข่งขันระหว่างสายการบินมีแนวโน้มรุนแรงยิ่งขึ้นจากการเปิดเส้นทางใหม่และการขาดแคลนบุคลากร ซึ่งในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มีหลายสายการบินเตรียมเปิดให้บริการในเส้นทางยอดนิยม เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จากสนามบินหลักอย่าง สุวรรณภูมิและดอนเมืองหรือจากสนามบินรองอื่นๆ เช่น อู่ตะเภา เชียงใหม่ ภูเก็ต นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของเที่ยวบินยังส่งผลให้เกิดการแข่งขันเพื่อแย่งชิงบุคลากรด้านการบิน เช่น นักบิน แอร์โฮสเตส วิศวกร และช่างเทคนิค เป็นต้น

นอกจากนี้ อีไอซีมองข้อจำกัดจากปัญหาด้าน time slot และความจุของสนามบินทั้งในไทยและต่างประเทศ อาจทำให้การเพิ่มความถี่และเปิดเที่ยวบินใหม่ไม่ราบรื่นนัก ในปัจจุบัน สนามบินในไทยหลายแห่งเริ่มมี time slot ที่หนาแน่นแล้ว ประกอบกับจำนวนผู้โดยสารที่เกินขีดความสามารถในการรองรับ ในขณะเดียวกัน สนามบินในต่างประเทศ โดยเฉพาะสนามบินในเส้นทางที่ได้รับความนิยม เช่น นาริตะของญี่ปุ่น และอินชอนของเกาหลีใต้ ก็ประสบกับปัญหาที่คล้ายคลึงกัน ทำให้การเพิ่มความถี่และขยายเส้นทางอาจทำได้ไม่ง่ายนัก

ทั้งนี้ แผนการพัฒนาไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการบิน (Aeropolis) และศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) มีโอกาสประสบความสำเร็จเพิ่มสูงขึ้น นอกจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมด้านการบินแล้ว การที่ CAAT สามารถปรับปรุงให้มีมาตรฐานในระดับโลกได้ จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ ความเชื่อมั่น และดึงดูดผู้ประกอบการต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในโครงการทั้งสองมากยิ่งขึ้น

ย้อนรอยเส้นทาง “ปลดธงแดง”

“การที่ ICAO ได้ประกาศติดธงแดงประเทศไทยบนเว็บไซต์ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2558 เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่าไทยยังไม่มีการกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินพลเรือนอย่างเพียงพอภายใต้มาตรฐานของ ICAO  แต่ก็เป็นประโยชน์แก่ประเทศไทยที่จะได้กลับมาทบทวนตัวเอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเท้าความและยอมรับว่ามาตรฐานการบินพลเรือนของไทยในเวลานั้นมีความบกพร่อง

โดยที่ผ่านมา การแก้ปัญหาด้านการบินพลเรือนของไทยมีการประกาศใช้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามมาตรา 44 ไปด้วยกัน 4 ครั้ง

  • โดยครั้งแรกเพื่อแก้ปัญหาในการปรับโครงสร้างองค์กรและการแก้ไขกฎหมายการบิน โดยคำสั่งดังกล่าวกำหนดให้มีการตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน (ศบปพ.) หรือ Command Center for Resolving Civil Aviation Issues (CRAC) เป็นศูนย์เฉพาะกิจขึ้นตรงกับหัวหน้า คสช. โดยมีผู้บัญชาการทหารอากาศเป็นผู้บัญชาการศูนย์

ซึ่งกรมการบินพลเรือนของไทยได้มีการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ โดยแยกส่วนงานด้านกำกับดูแล (Regulator) เป็นสำนักงานการบินพลเรือนแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ ทำหน้าที่ในด้านการบริหาร ด้านมาตรฐานการบิน มาตรฐานสนามบินการออกใบอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ (AOL) และใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC) งานด้านความปลอดภัย และด้านเทคโนโลยีต่างๆ ส่วนงานด้านการควบคุม (Operator) จะมีการจัดตั้งกรมท่าอากาศยาน เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ทำหน้าที่ดูแลบริหารสนามบินในความรับผิดชอบของ บพ. จำนวน 28 แห่ง ส่วนงานด้านความปลอดภัย (Safety) ได้ตั้งหน่วยงานสอบสวนอุบัติเหตุ และอุบัติการณ์รุนแรงของอากาศยาน และหน่วยงานการค้นหาช่วยเหลืออากาศยาน และเรือประสบภัยแห่งชาติ ให้ขึ้นตรงกับกระทรวงคมนาคม

  • ครั้งที่ 2 เป็นการโยกย้ายให้นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยานในขณะนั้น มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) แทน น.ต. อลงกต พูลสุข ซึ่งในช่วงเวลา 1 ปีแรก เก้าอี้ผู้บริการหน่วยงานด้านการบินพลเรือนของไทยมีการปรับเปลี่ยนไปถึง 5 ครั้ง 
  • และครั้งล่าสุดกับการให้อำนาจ กพท. ในการงดเที่ยวบินระหว่างประเทศของสายการบินที่ยังไม่ผ่านการตรวจเพื่อรับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่

“ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เกิดความเชื่อมั่นและเชื่อถือจากกิจการการบินพลเรือนทั่วโลก จำเป็นที่จะต้องแก้ไขข้อบกพร่องทั้ง 33 ข้อ ที่เกี่ยวกับข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (Significant Safety Concerns: SSC) โดยทบทวนการตรวจประเมินการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ทั้งหมด 28 สายการบินที่ทำการบินระหว่างประเทศ (ปัจจุบันเหลือ 21 สายการบิน) แก้ไขกฎหมายการเดินอากาศใหม่ และพัฒนาบุคลากรที่มีความขาดแคลน ทั้งที่เป็นไปตามเงื่อนไขที่ประเทศไทยได้ตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรกับ ICAO” นายอาคมกล่าว

และเนื่องจากปัญหาเรื้อรังเรื่องการขาดบุคลากรในการทำหน้าที่ตรวจสอบ ซึ่งในช่วงที่ไทยถูกปักธงแดงนั้น ไทยมีเจ้าหน้าที่เพียง 11 คน ที่กำกับดูแล 41 สายการบิน โดยมติคณะรัฐมนตรีเคยอนุมัติวงเงิน 271 ล้านบาทเพื่อใช้ในการพัฒนาคุณภาพผู้ตรวจสอบความปลอดภัยในการบิน โดยวงเงินงบประมาณ 86 ล้านบาท สำหรับฝึกอบรมผู้ตรวจสอบความปลอดภัยการบินจำนวน 86 ราย และอีก 185 ล้านบาท สำหรับว่าจ้างองค์กรผู้เชี่ยวชาญจาก บริษัท CAA International (CAAi) สหราชอาณาจักร จำนวน 14 คน ร่วมดำเนินการกับผู้ตรวจสอบของไทย และก่อนหน้านี้ได้มีการว่าจ้างและรับสมัครผู้เชี่ยวชาญพิเศษเพิ่มไป 61 อัตรา พร้อมส่งบุคลากรที่มีเข้าฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากทั้งฝรั่งเศสและญี่ปุ่นในการช่วยเหลือการฝึกอบรมบุคลากร และสนับสนุนในด้านเทคนิคการตรวจสอบต่างๆ

นอกจากนี้ ในส่วนของการออกใบอนุญาตการเดินอากาศ หรือ AOCs ให้แก่สายการบินต่างๆ ใหม่ เป็นหนึ่งในข้อบกพร่อง SSC ที่ไทยต้องแก้ไข ซึ่งกรอบการดำเนินการออก AOCs ถูกเลื่อนออกไปประมาณ 3 ครั้ง และเริ่มมีเค้าโครงที่แน่ชัดกับแผนที่นำเสนอคณะรัฐมนตรีในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 แต่ก็มีการปรับเปลี่ยนกำหนดการที่เดิมได้วางกรอบเวลาในการออก AOCs แก่สายการบินระหว่างประเทศ ในช่วงเดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน 2559 และออก AOCs แก่สายการบินภายภายในประเทศ ในช่วงเดือนเมษายน-กันยายน 2560 ออกไป เป็นกำหนดการปัจจุบัน อย่างไรก็ดี การปรับเลื่อนก็เป็นผลมาจากการตรวจสอบที่เข้มข้นเอาจริงเอาจัง ส่งผลให้บางสายการบินที่ประเมินศักยภาพว่ายังไม่พร้อมต้องขอถอนตัวออกไปก่อน

“ที่ผ่านมามีคำถามว่าทำไมต้องออก AOCs ใหม่ ทำไมถือใช้ระยะเวลานาน เราโดนธงแดงเพราะที่ผ่านมาระบบการออก AOCs ไม่ได้มาตรฐานจึงต้องเคลียร์ฐานของปัญหาใหม่ทั้งหมด มีการออกระเบียบใหม่ เตรียมความพร้อมของบุคลากรประมาณ 7-8 เดือน แล้วจึงดำเนินการตรวจจริง ซึ่งในการตรวจประเมินของ ICAO ระหว่างวันที่ 20-27 กันยายน ที่ผ่านมา ได้มีการสุ่มตรวจสอบ 2 สายการบิน คือ สายการบินไทยแอร์เอเชีย และสายการบินนิวเจน จาก 9 สายการบินที่ได้รับ AOC ไปก่อนเดือนกันยายน 2560 ซึ่งผ่านไปได้ด้วยดี” นายจุฬากล่าว

อนึ่ง ข้อพกพร่องที่ไทยยังต้องแก้ไขอีกมีอีกจำนวน 572 ข้อใน 8 กลุ่มงาน ได้แก่ การออกกฎหมาย (Legislation), โครงสร้างองค์กร (Organization), การออกใบอนุญาต (Licensing), การดำเนินการ (Operations) ด้านการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยการบิน (Airworthiness), การสอบสวนอุบัติเหตุ (Accident Navigation) การให้บริการการเดินอากาศ (Air Navigation Service) และสนามบินขนาดเล็ก (Aerohrone) ซึ่งในปีหน้า กพท. นอกจากการปรับมาตรฐานจาก FAA แล้ว กพท. ต้องเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อรับการตรวจทำการปลดล็อกข้อบกพร่องอีกทั้ง 572 ข้อจาก ICAO