ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ผู้ตรวจการแผ่นดิน ฟัน AOT เลือกปฏิบัติ สั่งเปิด “จุดส่งมอบสินค้า” ใน 60 วัน สมาคมดิวตี้ฟรีระบุไม่ทำฟ้องศาล

ผู้ตรวจการแผ่นดิน ฟัน AOT เลือกปฏิบัติ สั่งเปิด “จุดส่งมอบสินค้า” ใน 60 วัน สมาคมดิวตี้ฟรีระบุไม่ทำฟ้องศาล

14 เมษายน 2017


เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 นางรวิฐา พงศ์นุชิต นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย ยื่นหนังสือถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่าน พล.ร.อ. พะจุณณ์ ตามประทีป ประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาเสนอแนะมาตรการและกลไกในการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีสั่งการ ทอท. จัดหาพื้นที่ในอาคารสนามบินทำจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ

ช่วงต้นปี 2559 คงจะจำกันได้ ต่อกรณีที่นางรวิฐา พงศ์นุชิต นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาล เปิดเสรีธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมือง (Downtown Duty Free) โดยเรียกร้องให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ ทอท. ” จัดหาพื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสารของสนามบินนานาชาติทำจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ (Public Pick-up Counter) ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการทั่วไปทุกรายที่มีคุณสมบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กรมศุลกากรกำหนดได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวร่วมกัน

1 ปีที่ผ่านมา นางรวิฐาได้ร้องขอความเป็นธรรมไปยังหน่วยงานต่างๆ โดยยื่นหนังสือร้องเรียนถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กรมศุลกากร, ทอท. , ผู้ตรวจการแผ่นดิน, สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ปรากฏว่ามีผู้ตรวจการแผ่นดินหน่วยงานเดียวที่ตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เชิญสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย และผู้บริหารของ ทอท. มาประชุม เพื่อไต่สวนประเด็นที่เป็นปัญหาข้อพิพาท การประชุมครั้งนั้นที่ประชุมมีมติร่วมกันว่า “จุดส่งมอบสินค้าถือเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากร ซึ่ง ทอท. สามารถดำเนินการได้เองบริเวณพื้นที่ที่เป็นของ ทอท. ดังนั้น จึงขอให้ ทอท. ศึกษาว่าจะสามารถกำหนดจุดส่งมอบสินค้าเพื่อเป็นบริการสาธารณะที่ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรขาออกในเมืองรายอื่นสามารถส่งมอบสินค้า ณ จุดที่ ทอท. กำหนดได้หรือไม่” ทางผู้ตรวจการแผ่นดินจึงทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ ผผ 08/1867แจ้งผลมติที่ประชุมให้ ทอท. รับทราบอีกครั้ง แต่ทอท.ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ

จนกระทั่งล่าสุด สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ ผผ 08/370 ลงวันที่ 27 มีนาคม 2560 ถึงนายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทยและ ทอท. แจ้งผลการวินิจฉัยว่า “กรณี ทอท. อนุญาตให้ผู้ประกอบการรายเดียว เปิดให้บริการจุดส่งมอบสินค้าภายในสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ มีลักษณะเข้าข่ายเป็นการเลือกปฏิบัติ หรือเป็นการปิดกั้นเสรีทางการค้า เนื่องจากจุดส่งมอบสินค้าเป็นการให้บริการประชาชนที่ซื้อสินค้าจากร้านค้าปลอดอากรในเมือง (ขาออก) การให้สิทธิแก่ผู้ประกอบการเพียงรายเดียวเปิดจุดส่งมอบสินค้า ถือเป็นการไม่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน, จำกัดสิทธิผู้ประกอบการรายอื่นในการทำธุรกิจร้านค้าปลอดอากร และไม่เป็นไปตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล ถือว่า ทอท. ปฏิบัติ หรือละเลย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนโดยไม่เป็นธรรมตามมาตรา 13 (1) (ข) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 32 วรรค 1 แห่ง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เสนอแนะให้ ทอท. จัดหาและกำหนดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะให้ผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมืองรายอื่น เพื่อใช้ส่งมอบสินค้า และขอให้ ทอท. รายงานผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้สำนักผู้ตรวจการแผ่นดินทราบภายใน 60 วัน

สำหรับประเด็นข้อร้องเรียนที่นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย ส่งให้ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยมี 2 กรณี ดังนี้

1. กรณีบริษัท เซ็นทรัล ดิวตี้ ฟรี ช็อปส์ จำกัด ยื่นคำร้องต่อกรมศุลกากร ขอจัดตั้งร้านค้าปลอดอากรและคลังเก็บสินค้า แต่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรว่าผู้ยื่นคำขอต้องระบุพื้นที่และที่ตั้งของจุดส่งมอบสินค้า (Pick-up Counter) ในสนามบินนานาชาติแห่งใดแห่งหนึ่งเท่านั้น ทั้งๆ ที่กฎหมายไม่ได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้ยื่นคำขอแต่อย่างใด จึงมาร้องขอความเป็นธรรมต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน

ประเด็นนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยแล้วพบว่า แบบคำขอจัดตั้งถือเป็นส่วนหนึ่งของประกาศกรมศุลกากรที่ 20/2549 ผู้ยื่นคำขอต้องแจ้งพื้นที่และที่ตั้งของจุดส่งมอบสินค้าให้กรมศุลกากรทราบ จากการพิจารณาข้อเท็จจริงดังกล่าว ไม่ปรากฏว่ากรมศุลกากรปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 13 (1) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบฯ ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงวินิจฉัยให้ยุติการพิจารณาเรื่องร้องเรียนประเด็นนี้

อย่างไรก็ตาม ในแบบคำร้องขอจัดตั้งร้านค้าปลอดอากรไม่ได้ระบุคำว่า “ต้องเป็นสนามบินนานาชาติ” อาจทำให้ผู้ประสงค์ขอจัดตั้งร้านค้าปลอดอากรเกิดความสับสน ทางผู้ตรวจการแผ่นดินจึงขอให้กรมศุลกากรกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ตั้งของจุดส่งมอบสินค้าให้ชัดเจนไว้ในคู่มือสำหรับประชาชน เพื่อให้ผู้ประกอบการรับทราบและทำความเข้าใจก่อนมายื่นคำร้องขอจัดตั้งร้านค้าปลอดอากร

2. กรณีบริษัท ล็อตเต้ ดิวตี้ ฟรี (ไทยแลนด์) จำกัด ทำหนังสือถึง ทอท. ขอเช่าพื้นที่ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) และท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) เพื่อทำจุดส่งมอบสินค้า ท่าอากาศยานดอนเมืองทำหนังสือแจ้งบริษัทล็อตเต้ฯ ว่าไม่สามารถจัดสรรพื้นที่ให้ได้ ส่วนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไม่ได้แจ้งผลการพิจารณาให้ทราบ ทางบริษัทล็อตเต้ฯ จึงทำเรื่องร้องเรียนผ่านสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทยเพื่อยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยขอให้พิจารณา กรณี ทอท. ให้สัมปทานแก่เอกชนรายเดียวกันได้รับสัมปทานบริหารพื้นที่ภายในอาคารท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิโดยวิธีการประมูล ถือเป็นการเอื้อประโยชน์แก่เอกชนรายดังกล่าวเพื่อผูกขาดธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมือง เลือกปฏิบัติ และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือไม่

ก่อนที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะทำการวินิจฉัยประเด็นข้อร้องเรียนดังกล่าว ก็ได้ทำการศึกษาที่มาและโครงสร้างการประกอบธุรกิจของร้านค้าปลอดอากรของสนามบินนานาชาติทั้ง 2 แห่ง

เริ่มจากท่าอากาศยานดอนเมือง บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ได้รับสัมปทานจาก ทอท. ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร, จุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร และสัญญาเช่าพื้นที่มีอายุสัมปทาน 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 โดยสัญญาดังกล่าว ทอท. ไม่มีสิทธิในการอนุญาตให้ผู้ประกอบการรายอื่นเข้ามาทำธุรกิจร้านค้าปลอดอากรและจุดส่งมอบสินค้าได้อีก ยกเว้นพื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสาร

กรณีบริษัทล็อตเต้ฯ ทำเรื่องขอเช่าพื้นที่ท่ากาศยานดอนเมือง เพื่อทำจุดส่งมอบสินค้านั้น ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณารายได้ของ ทอท. ครั้งที่ 2/2558 วันที่ 27 มกราคม 2558 พิจารณาแล้ว มีความเห็นว่า ปัจจุบัน ทอท. อนุญาตให้บริษัทคิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรและจุดส่งมอบสินค้าไปแล้ว และไม่สามารถจัดสรรพื้นที่ให้ได้ จึงทำหนังสือแจ้งผลการพิจารณาของ ทอท. ให้บริษัทล็อตเต้ฯ รับทราบไปแล้ว

ส่วนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ได้รับสัมปทานจาก ทอท. ในโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์และสัญญาเช่าพื้นที่ ซึ่งทั้ง 2 สัญญากำลังจะครบกำหนดวันที่ 23 กันยายน 2563

จุดส่งมอบสินค้า บริษัท ล็อตเต้ ดิวตี้ ฟรี (ไทยแลนด์) จำกัด สนามบินอู่ตะเภา

จากนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ทำการพิจารณาขอบเขตและความหมายของคำนิยามต่างๆ ที่กำหนดไว้ในสัญญาระหว่าง ทอท. กับบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด เฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อร้องเรียนของบริษัทล็อตเต้ฯ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

คำนิยาม “การอนุญาต” ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาฯ ข้อ 2 ระบุว่า ทอท. ได้อนุญาตให้บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ เป็นผู้บริหารจัดการโครงการดังกล่าวเพียงรายเดียว

ข้อ 1.1 “สัญญา” หมายถึง สัญญาฉบับนี้ ซึ่งรวมทั้งเอกสารแนบท้ายให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ตลอดจนที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมในอนาคต

ข้อ 1.2 “โครงการ” หมายถึง โครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ อาคารผู้โดยสาร สนามบินสุวรรณภูมิ

ข้อ 1.4 “การบริหารจัดการเชิงพาณิชย์” หมายถึง การบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์สำหรับร้ายค้าย่อย หรือบริการต่างๆ ภายในพื้นที่ของโครงการที่อยู่ในอาคารผู้โดยสาร สนามบินสุวรรณภูมิ ไม่รวมการดำเนินกิจการร้านค้าปลอดอากร โฆษณา และบริการขนส่งผู้โดยสาร

ข้อ 1.5 “พื้นที่ของโครงการ” หมายถึง พื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ ที่ ทอท. จัดสรรให้ใช้เป็นพื้นที่บริหารกิจกรรมเชิงพาณิชย์ของโครงการ

แต่เนื่องจากสัญญาในข้อที่ 5 กำหนดให้บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ ทำสัญญาเช่าพื้นที่กับ ทอท. แยกออกมาต่างหากอีกฉบับ โดยในสัญญาเช่าพื้นที่ฉบับดังกล่าว ทอท. อนุญาตให้บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ เป็นผู้บริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ 22,046.58 ตารางเมตร และปรากฏตามเอกสารใน TOR ข้อ 2.1.2 ระบุว่า กิจการเชิงพาณิชย์ของโครงการมีพื้นที่ 20,000 ตารางเมตร ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวได้หักลบพื้นที่ร้านค้าปลอดอากรแล้ว

หลังจากผู้ตรวจการแผ่นดินได้ทำการวิเคราะห์ความหมายของคำนิยามที่กำหนดไว้ในสัญญา ในข้อ 1.1, ข้อ 1.2, ข้อ 1.4, ข้อ 1.5 ของสัญญาเช่าพื้นที่และ TOR ที่ระบุว่า ให้ ทอท. อนุญาตให้บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ ได้รับสิทธิบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ 22,046.58 ตารางเมตร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพียงรายเดียวนั้น ปรากฏว่า ทอท. นำมากล่าวอ้างว่าได้ให้สิทธิในการตั้งจุดส่งมอบสินค้าแก่บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ เพียงรายเดียว หากผู้ประกอบการรายอื่นต้องการเปิดจุดส่งมอบสินค้าในพื้นที่ดังกล่าว ต้องได้รับความยินยอมจากบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ ในฐานะผู้รับสัมปทานก่อน จึงจะสามารถเปิดจุดส่งมอบสินค้านั้นได้

ขณะที่การตรวจสอบข้อเท็จ พบว่า ที่ผ่านมา ทอท. เคยอนุญาตให้บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตจากกรมศุลกากรให้เปิดจุดส่งมอบสินค้าจากร้านค้าปลอดอากรในเมือง มาเช่าพื้นที่กับ ทอท. เปิดจุดส่งมอบสินค้าบริเวณห้องรับรองผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศของบริษัทการบินกรุงเทพ ชั้น 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

จากข้อเท็จจริงตามที่กล่าวมาในข้างต้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงมีความเห็นว่า กรณี ทอท. (ท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ) กล่าวอ้างว่า ทอท. ได้อนุญาตให้ผู้ประกอบการรายเดียวเป็นผู้ตั้งจุดส่งมอบสินค้า มีลักษณะเข้าข่ายเลือกปฏิบัติ หรือเป็นการปิดกั้นเสรีทางค้า เนื่องจากจุดส่งมอบสินค้าเป็นเรื่องของการให้บริการประชาชนที่ซื้อสินค้าจากร้านค้าปลอดอากรในเมืองการให้สิทธิแก่ผู้ประกอบการรายเดียวตั้งจุดส่งมอบสินค้า เป็นการไม่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และจำกัดสิทธิของผู้ประกอบการรายอื่น และไม่เป็นไปตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศของรัฐบาล

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงมีความเห็นว่า ทอท. ปฏิบัติ หรือละเลย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม ตามมาตรา 13 (1) (ข) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 32 วรรค 1 แห่ง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เสนอแนะให้ ทอท. ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ พิจารณาจัดหาและกำหนดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรรายอื่นใช้ในการส่งมอบสินค้า ซึ่งจะก่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีภายใต้กลไกตลาด ช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค และยังส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวม จึงขอให้ ทอท. รายงานผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินทราบภายใน 60 วันด้วย

นางรวิฐา พงศ์นุชิต นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย

ด้านนางรวิฐา พงศ์นุชิต นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย เปิดเผยว่า หลังจากผู้ตรวจการแผ่นดินทำหนังสือแจ้งผลการวินิจฉัยถึง ทอท. แล้ว หาก ทอท. ไม่ดำเนินการจัดหาพื้นที่เปิดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ เพื่อผู้ประกอบการรายอื่นได้ใช้ร่วมกัน ซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำของผู้ตรวจการแผ่นดินภายใน 60 วัน ทางผู้ตรวจการแผ่นดินจะดำเนินการตามมาตรา 33-34 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 โดยส่งเรื่องร้องเรียนทั้งหมดรวมทั้งคำแนะนำของผู้ตรวจการแผ่นดินดังกล่าวไปยังนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พิจารณาสั่งการให้ ทอท. จัดหาพื้นที่ในสนามบินนานาชาติ เพื่อให้ผู้ประกอบการรายอื่นใช้เป็นจุดส่งมอบสินค้าของร้านค้าปลอดอากรในเมือง ทั้งนี้ หาก ทอท. เพิกเฉย ทางสมาคมฯ จะให้ผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมือง นำคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินไปร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครองกลางและศาลอาญาต่อไป

“ยืนยันว่าจุดส่งมอบสินค้าไม่ใช่สัมปทานตามที่ ทอท. หยิบยกขึ้นมากล่าวอ้าง หากผู้ประกอบการรายอื่นต้องการเปิดจุดส่งมอบสินค้าต้องได้รับความยินยอมจากผู้รับสัมปทาน เพราะที่ผ่านมา ทอท. เคยอนุญาตให้บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดจุดส่งมอบสินค้าในสนามบินสุวรรณภูมิ แม้ต่อมาจะอ้างว่าได้ยกเลิกจุดส่งมอบสินค้าดังกล่าวไปแล้ว ก็ยังถือได้ว่าการกระทำดังกล่าวได้สำเร็จและมีผลตามกฎหมายไปแล้ว นอกจากนี้ ทอท. ยังมีการปรับเปลี่ยนค่าตอบแทนให้ผู้ประกอบการจุดส่งมอบสินค้าที่อ้างว่าเป็นสัมปทานและต้องจ่ายให้ ทอท. อีกหลายครั้ง เช่น เดิมตามสัญญาสัมปทาน ผู้รับสัมปทานต้องจ่ายค่าตอบแทนให้ ทอท. 15% ของรายได้ ก็มีการปรับขึ้นเป็น 3% ของมูลค่าสินค้าปลอดอากรที่นำไปผ่านจุดส่งมอบสินค้า ต่อมาก็ปรับเปลี่ยนเป็น 15% ของ 3% ของมูลค่าสินค้าที่นำมาผ่านจุดส่งมอบสินค้า จากนั้นก็มีการปรับกลับมาเป็น 3% ของมูลค่าของสินค้าปลอดอากรจนถึงปัจจุบัน หากจุดส่งมอบสินค้าในสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิเป็นสัมปทานจริง เหตุใด ทอท. จึงให้ผู้อื่นดำเนินธุรกิจเดียวกันได้อีก นอกจากนั้นยังมีการปรับเปลี่ยนค่าตอบแทนจากผู้รับสัมปทานอีกหลายครั้ง ทอท. ใช้อำนาจอะไรไปแก้ไขสัมปทาน ทั้งการอนุญาตให้ผู้อื่นเข้าไปดำเนินการทับซ้อนกับธุรกรรมที่อ้างว่าได้ให้สัมปทานไปแล้ว” นางรวิฐากล่าว

นางรวิฐากล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ ในช่วงที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเรียก ทอท. และสมาคมฯ มาประชุมร่วมกัน ทางกรมศุลการไดัแจ้งต่อที่ประชุมให้ทราบถึงองค์ประกอบที่สำคัญของการประกอบธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมืองว่าจะมี 3 องค์ประกอบ คือ 1. สถานที่ตั้งของร้านค้าปลอดอากรในเมือง 2. ลูกค้าผู้มีสิทธิ์ซื้อสินค้าปลอดอากร และ 3. จุดส่งมอบสินค้าที่ผู้ซื้อสินค้านั้น ต้องไปรับสินค้าที่ซื้อไว้ตามระเบียบของกรมศุลกากรจึงอาจถือได้ว่า จุดส่งมอบสินค้าเป็นองค์ประกอบหนึ่งของธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมือง ดังนั้น ในกรณีที่ ทอท. อ้างว่า จุดส่งมอบสินค้าดังกล่าวเป็นพื้นที่สัมปทานของผู้ได้รับสัญญาบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ ทอท. จะอนุญาตให้ผู้อื่นใช้บริการอีกไม่ได้ เท่ากับเป็นการผูกขาดร้านค้าปลอดอากรในเมืองให้กับนิติบุคคลในกลุ่มของตน ก็อาจถือได้ว่า ผู้รับสัญญาผิดเงื่อนไขสัมปทาน เพราะในเงื่อนไขสัมปทานในพื้นที่เชิงพาณิชย์ ห้ามไม่ให้ประกอบธุรกิจร้านค้าปลอดอากร และเท่ากับว่าผู้ประกอบการรายนั้นได้รับสัมปทานร้านค้าปลอดอากรในเมืองไปด้วยใช่หรือไม่

[scribd id=345054749 key=key-qvR9WP2aDxZ9DDFAxUkY mode=scroll]
ป้ายคำ :