ThaiPublica > เกาะกระแส > คำถามที่นายกรัฐมนตรี – ทอท.ไม่ตอบ (ตอน 7) : ผู้ตรวจการแผ่นดิน จี้ AOT เปิด ““Pick up Counter จุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ” จนสุดซอย!

คำถามที่นายกรัฐมนตรี – ทอท.ไม่ตอบ (ตอน 7) : ผู้ตรวจการแผ่นดิน จี้ AOT เปิด ““Pick up Counter จุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ” จนสุดซอย!

22 มิถุนายน 2019


เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” ประกาศผลประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรี ซึ่งผู้ชนะคือ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และพื้นที่เชิงพาณิชย์ บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ในพื้นที่สนามบินสุวรรณ ระยะเวลา 10 ปี 6 เดือน โดย ทอท.ระบุว่าผู้ชนะเสนอผลตอบแทนสูงกว่าที่ ทอท.เคยได้รับอยู่เดิม และสูงกว่าที่ ทอท.คาดหมาย

วันที่ 10 มิถุนายน 2562 ทอท.ประกาศผลคะแนนรวมสูงสุดของผู้ยื่นข้อเสนองานประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต, เชียงใหม่ และหาดใหญ่ คือบริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด

และเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2562 นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ประกาศผลการคัดเลือกผู้ที่ได้รับสิทธิในสัมปทาน 3 สัญญา ได้แก่ สัญญาสัมปทานกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.),สัญญาสัมปทานกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ทสภ. และสัญญาสัมปทานกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต,เชียงใหม่ และหาดใหญ่

สำหรับผลการคัดเลือกผู้ที่ได้รับสิทธิในสัมปทานทั้ง 3 สัญญามีรายละเอียดดังนี้ เริ่มจากผลการคัดเลือกผู้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ทสภ. กำหนดอายุสัญญา 10 ปี 6 เดือน ระหว่างวันที่ 28 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2574 มีรายละเอียดดังนี้

    อันดับ 1 บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับสิทธิที่คะแนนสูงสุด คือ 94.30 คะแนน และเสนอค่าผลประโยชน์ตอบแทนปีละ 15,419,000,000 บาท
    อันดับ 2 กิจการร่วมค้าการบินกรุงเทพ ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี (ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ) คือ 83.10 คะแนน และเสนอค่าผลประโยชน์ตอบแทนปีละ 8,516,653,333 บาท
    อันดับ 3 บริษัท โรงแรมรอยัลออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ยื่นข้อเสนอการดำเนินงานในนามกิจการร่วมค้า ประกอบด้วย บริษัทโรงแรมรอยัลออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท เอ็มไพร์ เอเชีย กรุ๊ป จำกัด และ WDFG UK LIMITED คือ 78.85 คะแนน และเสนอค่าผลประโยชน์ตอบแทนปีละ 7,255,000,000 บาท

  • ทอท.ประกาศผลคะแนน – ซองราคา “คิง เพาเวอร์” จ่ายค่าตอบแทนปีแรก 2.35 หมื่นล้าน
  • เป็นที่ทราบว่ากลุ่มคิงเพาเวอร์ได้ใช้พื้นที่ของ ทอท.ในการทำธุรกิจดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิมาตั้งแต่ปี 2548 โดยที่ ทอท.ขณะนั้นไม่ได้เปิดประมูลใหม่ แต่เป็นการขอต่อสัญญาต่อเนื่อง จากการย้ายสนามบินดอนเมืองมายังสนามบินสุวรรณภูมิ พร้อมคำอ้างว่าเวลาเหลือ 1 ปี 9 เดือนอาจจะไม่ทันการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิในเดือนกันยายน 2548 จึงทำสัญญา 10 ปีจนถึงปี 2558 จากนั้นได้รับการต่อสัญญาอีก 2 ครั้ง โดยอ้างว่าความไม่สงบทางการเมืองทำให้นักท่องเที่ยวหายไป ได้รับการขยายสัญญาจนสิ้นสุดปี 2563 รวมเวลา 14 ปี

    หากรวมสัมปทานรอบนี้อีก 10 ปี 6 เดือนนั่นหมายถึงกลุ่มคิงเพาเวอร์ได้สัมปทานรวม 24 ปี 6 เดือน จนเป็นที่มาของตั้งคำถามคำว่า “ผูกขาด” หรือไม่ แต่ไม่ใช่ “ผูกขาด” ในนิยามของทอท. ที่ระบุว่า ได้เปิดทอท.เปิดเสรี “Pick up Counter” แล้ว เท่ากับเปิดเสรีธุรกิจดิวตี้ฟรี

  • ข้อเท็จจริง “คิงเพาเวอร์-ทอท.” ขอต่อสัญญาปี 2547 ทำดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิ เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ เพียงรายเดียว
  • ต่อจากตอนที่แล้ว “คำถามที่นายกรัฐมนตรี – ทอท.ไม่ตอบ (ตอน 6) : ทวง 14,290 ล้านคืนรัฐ เหตุปรับค่าสัมปทาน “Pick up Counter” จาก 15% ทำไมเก็บแค่ 3%?” เป็นอีกเรื่องที่ยังไม่ได้คำตอบจากนายกรัฐมนตรี รวมทั้งผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลคือกระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.”

    ประเด็นที่จะกล่าวถึงในตอนนี้ คือ กรณี ทอท.ผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัยว่า การที่ ทอท. อนุญาตให้ผู้ประกอบการรายเดียว เปิดให้บริการจุดส่งมอบสินค้าภายในสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ มีลักษณะเข้าข่ายเป็นการเลือกปฏิบัติ หรือ ปิดกั้นเสรีทางการค้า จึงมีข้อเสนอแนะให้ ทอท. จัดหาพื้นที่ทำจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ (Public Pick up Counter) เพื่อให้ผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีในเมืองรายอื่นใช้ส่งมอบสินค้าปลอดอากรร่วมกัน ผลปรากฎว่าทอท.ไม่สามารถปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินได้ เนื่องจากบริษัท คิง เพาเวอร์สุวรรณภูมิ ในฐานะผู้รับสัมปทานพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิ ไม่อนุญาตให้ผู้ประกอบการรายอื่น เข้ามาประกอบกิจการส่งมอบสินค้าปลอดอากร

    นับตั้งแต่สถาปนาผู้ตรวจการแผ่นดินขึ้นมา เพื่อถ่วงดุลอำนาจในการตรวจสอบ กรณีนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน เดินมาจนมาถึงสุดซอย! แต่เรื่องก็ยังไม่คืบหน้าใดๆ

    โดยในช่วงปลายปี 2561 ผู้ตรวจการแผ่นดินได้จัดทำรายงานกรณีทอท.ไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ ตามขั้นตอนและกระบวนการที่บัญญัติไว้พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560ครบถ้วนทุกกระบวนการแล้ว ปรากฏว่าเรื่องนี้เงียบหายไป โดยที่ไม่มีคำตอบว่าได้มีการดำเนินการต่อ อย่างไร?

  • “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ส่งหนังสือถึงนายกฯ เสนอครม. ชี้ขาด กรณี AOT ไม่เปิดจุดส่งมอบสินค้าดิวตี้ฟรี ตามคำวินิจฉัย
  • ความเป็นมาของเรื่องนี้ เริ่มต้นช่วงปลายปี 2557 บริษัท ล็อตเต้ ดิวตี้ ฟรี (ไทยแลนด์) จำกัด และ บริษัท เซ็นทรัล ดิวตี้ ฟรี ช็อปส์ จำกัด ยื่นคำร้องต่อกรมศุลกากร ขอเปิดกิจการร้านค้าปลอดอากรในเมือง

    เจ้าหน้าที่ศุลกากร บอกให้ผู้ยื่นคำร้อง ต้องระบุพื้นที่ในการจัดตั้งจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร (Pick-up Counter) ในสนามบินนานาชาติด้วย

    นางรวิฐา พงศ์นุชิต
    นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย

    บริษัท ล็อตเต้ ฯ จึงทำหนังสือไปถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อขอเช่าพื้นที่เปิดจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร ท่าอากาศยานดอนเมืองอ้างพื้นที่แออัดมาก จึงตอบปฏิเสธ ส่วนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไม่ตอบกลับ จึงมาร้องเรียนนางรวิฐา พงศ์นุชิต นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย

    ช่วงปี 2558 สมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย จึงเดินสายชี้แจงหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กระทรวงการคลัง , กระทรวงคมนาคม , กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำความเข้าใจถึงผลประโยชน์ที่ประเทศชาติจะเปิดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะให้ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองที่ได้รับอนุญาตจากกรมศุลกากร ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งจะนำไปสู่การแข่งขันเสรี

    ปรากฏเรื่องนี้ไม่มีความคืบหน้าแต่ประการใด วันที่ 25 เมษายน 2559 สมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย จึงไปยื่นหนังสือถึงนายศรีวราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบกระบวนการขออนุญาตเปิดจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มธุรกิจบางรายหรือไม่ รวมทั้งขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง

    ผู้ตรวจการแผ่นดินใช้เวลาไต่สวนข้อเท็จจริงเกือบ 1 ปี วันที่ 27 มีนาคม 2560 ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้แจ้งผลการวินิจฉัยต่อสมาคมการค้าร้นค้าปลอดอากรว่า “กรณี ทอท. อนุญาตให้ผู้ประกอบการรายเดียว เปิดให้บริการจุดส่งมอบสินค้าภายในสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ มีลักษณะเข้าข่ายเป็นการเลือกปฏิบัติ หรือ เป็นการปิดกั้นเสรีทางการค้า เนื่องจากจุดส่งมอบสินค้าเป็นการให้บริการประชาชนที่ซื้อสินค้าจากร้านค้าปลอดอากรในเมือง (ขาออก) การให้สิทธิแก่ผู้ประกอบการเพียงรายเดียวเปิดจุดส่งมอบสินค้า ถือเป็นการไม่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน , จำกัดสิทธิผู้ประกอบการรายอื่นในการทำธุรกิจร้านค้าปลอดอากร และไม่เป็นไปตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล ถือว่า ทอท. ปฏิบัติ หรือละเลย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนโดยไม่เป็นธรรมตามมาตรา 13 (1) (ข) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 32 วรรค 1 แห่ง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เสนอแนะให้ ทอท. จัดหาและกำหนดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะให้ผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมืองรายอื่น เพื่อใช้ส่งมอบสินค้า และขอให้ ทอท. รายงานผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้สำนักผู้ตรวจการแผ่นดินทราบภายใน 60 วัน

    ช่วงเดือนมีนาคม – ตุลาคม 2560 สมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี 4 ครั้ง ขอให้พิจารณาสั่งการ ทอท.จัดหาพื้นที่ทำจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร ตามคำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดิน วันที่ 12 ตุลาคม 2560 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพิ่งจะส่งเรื่องให้กระทรวงคมนาคม และทอท. พิจารณา แต่ก็ไม่ผลคืบหน้าแต่ประการใด

    วันที่ 15 ธันวาคม 2560 ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเห็นชอบ ให้จัดทำรายงานเสนอที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นวาระเร่งด่วน ตามาตรา 12 , มาตรา 33 วรรค 2 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ 2552หลังจากที่ได้รับแจ้งจากทอท.ไม่สามารถปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินได้

    หลังผู้ตรวจการแผ่นดินทำรายงานเรื่องร้องเรียนไปถึงสนช.แล้ว ปรากฎเรื่องเงียบหาย วันที่ 26 มกราคม 2561 สมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย จึงไปยื่นหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.ขณะนั้น ขอให้ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ฯ นำเรื่องผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งให้ที่ประชุมสนช.พิจารณา เป็นวาระเร่งด่วน

    วันที่ 26 มีนาคม 2561 สนช.ส่งเรื่องคืนผู้ตรวจการแผ่นดิน เนื่องจากพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 28 ธันวาคม 2560 เป็นต้นไป จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายฉบับใหม่

  • “ผู้ตรวจการแผ่นดิน”จี้ AOT เปิด “จุดส่งมอบสินค้า” ให้ทางเลือก “ใน-นอก” พื้นที่สัมปทานดิวตี้ฟรีภายใน 30 วัน
  • ผู้ตรวจการแผ่นดินนำเรื่องนี้กลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง วันที่ 15 มิถุนายน 2561 ผู้ตรวจการแผ่นดิน เชิญกระทรวงการคลัง , กระทรวงคมนาคม และทอท. มาประชุม โดยผู้ตรวจการแผ่นดิน เห็นควรให้ทอท. ให้พิจารณาดำเนินการ 2 ทางเลือก คือ 1. ให้ ทอท. จัดหาพื้นที่นอกสัญญาโครงการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อทำจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะแก่ผู้ประกอบการรายอื่น สามารถประกอบกิจการได้ หรือ 2. ให้ ทอท. ประสานกับบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด (คู่สัญญา) จัดหาพื้นที่เปิดให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรแก่ผู้ประกอบการรายอื่นได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันนั้น โดยผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้เวลาทอท.พิจารณาภายใน 30 วัน

    วันที่ 13 กรกฎาคม 2561 ทอท.ทำหนังสือแจ้งผู้ตรวจการแผ่นดินว่าได้ดำเนินการตามข้อที่ 2 โดยทอท.ได้ทำหนังสือถึงบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ขอความร่วมมือ จัดหาพื้นที่เปิดจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรให้ผู้ประกอบการรายอื่นใช้ร่วมกัน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา

  • “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ส่งหนังสือถึงนายกฯ เสนอครม. ชี้ขาด กรณี AOT ไม่เปิดจุดส่งมอบสินค้าดิวตี้ฟรี ตามคำวินิจฉัย
  • วันที่ 4 ธันวาคม 2561 ผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำหนังสือถึงสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทยว่า “ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับแจ้งจากทอท. ทางบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ไม่อนุญาตให้ผู้ประกอบการรายอื่น เปิดจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรได้ เนื่องจากบริษัท คิง เพาเวอร์ ฯ เป็นผู้ได้รับสิทธิในสัมปทานพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิแต่เพียงรายเดียว จึงย่อมเป็นสิทธิโดยชอบของบริษัทที่จะบริหารจัดการใด ๆ ภายใต้สิทธิ และข้อกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ตามกำหนดไว้ในสัญญา หากให้ผู้ประกอบการรายอื่นเข้ามาเปิดบริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร อาจส่งผลกระทบโดยตรงกับประมาณการต่างๆ ตามที่บริษัทได้ยื่นเสนอค่าตอบแทนให้แก่ ทอท. ซึ่งไม่เป็นธรรมกับบริษัท และเป็นการละเมิดเงื่อนไขสัญญา หากมีการดำเนินการใดๆ อันเป็นการละเมิดสัญญา หรือข้อตกลงดังกล่าว ขอสงวนสิทธิในการดำเนินการตามกฎหมายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ รวมถึงการใช้สิทธิทางศาล เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิโดยชอบของบริษัท”

    ขณะที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีความเห็นว่า กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอแนะให้ ทอท. ประสานกับบริษัท คิง เพาเวอร์ ฯ เปิดให้บริการจุดส่งมอบสินค้าแก่ผู้ประกอบการรายอื่น ก็จะทำให้ผู้ประกอบการรายอื่นสามารถดำเนินธุรกิจนี้ได้ ส่วนบริษัท คิง เพาเวอร์ ฯ ก็จะมีรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียม และค่าบริการจากผู้ประกอบการรายอื่น เป็นผลดีกับบริษัทและผู้ประกอบการรายอื่น มิได้เกิดผลกระทบหรือละเมิดเงื่อนไขสัญญาตามที่บริษัทได้กล่าวอ้าง

    ส่วน ทอท. ก็จะมีรายได้จากผลประกอบกิจการดังกล่าว และเป็นการส่งเสริมภาคธุรกิจไทยให้เข้มแข็ง ป้องกันการผูกขาดธุรกิจสินค้าปลอดอากร เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของประเทศ และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐ

    การที่ ทอท. ไม่สามารถดำเนินการตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินได้โดยไม่มีเหตุผลอันควร จึงเป็นกรณีที่ไม่อาจหาข้อยุติได้ ตามที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 มาตรา 34 กำหนดให้นำความในมาตรา 33 วรรค 2 ที่ระบุว่า “ในกรณีที่ไม่อาจหาข้อยุติได้ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควรมาใช้บังคับโดยอนุโลม”

    ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงเสนอเรื่องดังกล่าวไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควรแล้ว แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่ได้คำตอบจากนายกรัฐมนตรี เช่นเดียวกับคณะกรรมการทอท.ที่ “คน” กระทรวงการคลังนั่งเป็นประธานกรรมการ(นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง)และเป็นกรรมการ(นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง และนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร) ได้ดำเนินการตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัยหรือไม่ อย่างไร?