ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ผู้ตรวจการแผ่นดินสั่ง ทอท. เร่งเปิด “จุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ” สลายผูกขาดดิวตี้ฟรีในเมือง-สมาคมร้านค้าปลอดภาษีชี้ต้องตอบใน 30 วัน

ผู้ตรวจการแผ่นดินสั่ง ทอท. เร่งเปิด “จุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ” สลายผูกขาดดิวตี้ฟรีในเมือง-สมาคมร้านค้าปลอดภาษีชี้ต้องตอบใน 30 วัน

4 มกราคม 2017


Pickup Counter

ในช่วงปี 2559 ที่ผ่านมา นายกสมาคมร้านค้าปลอดอากรไทยออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะที่ผูกขาดมานาน โดยขอให้ผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมืองทุกรายที่ได้รับอนุญาตจากกรมศุลกากรได้มีพื้นที่เล็กๆ ทำจุดส่งมอบสินค้าที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน (pick-up counter) ภายในอาคารผู้โดยสารของสนามบินนานาชาติ เพื่อให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีตามข้อตกลงองค์กรการค้าโลก (WTO) และยังช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว เกิดการจ้างงานเพิ่มและสร้างรายได้ให้กับประเทศ และที่สำคัญ ยังช่วยเพิ่มรายได้ให้กับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. โดยตรง หากไม่มีพื้นที่ส่งมอบสินค้า ก็ทำธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมืองไม่ได้ เพราะจุดส่งมอบสินค้าเป็นส่วนหนึ่งของร้านค้าปลอดอากรในเมืองตามกฎหมายศุลกากร

จากประเด็นร้องเรียนที่นางรวิฐา พงศ์นุชิต นายกสมาคมร้านค้าปลอดอากรไทย ทำถึงหน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่กำกับดูแล ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กรมศุลกากร, ทอท., ผู้ตรวจการแผ่นดิน, สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) รวมทั้ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้พิจารณาสั่งการ ผลปรากฏว่า เรื่องร้องเรียนที่ส่งไปตามหน่วยงานต่างๆ ส่วนใหญ่ไม่ได้ดำเนินการใดๆ มีเพียงผู้ตรวจการแผ่นดินเท่านั้นที่ยังดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเข้มข้น ส่วนกรมศุลกากรพร้อมที่จะแก้ไขปรับปรุงระเบียบออกมารองรับหาก ทอท. จัดหาพื้นที่ทำจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะให้กับผู้ประกอบการทั่วไปที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่กรมศุลกากรกำหนด

หนังสือ ผู้ตรวจการแผ่นดิน

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 สำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้เชิญตัวแทนจากกรมศุลกากร, ทอท. และสมาคมร้านค้าปลอดอากรไทย มาประชุม โดยมีนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นประธานในการพิจารณาประเด็นข้อร้องเรียนสมาคมฯ และล่าสุด สำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำหนังสือด่วนที่สุดที่ ผผ 08/1867 ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2559 ส่งถึงนางรวิฐา พงศ์นุชิต นายกสมาคมร้านค้าปลอดอากรไทย แจ้งผลการพิจารณาว่า “ในขั้นตอนการกำหนดทีโออาร์ โครงการบริหารกิจกรรมเชิงพาณิชย์มีข้อยกเว้นไม่รวมถึงการดำเนินงานร้านค้าปลอดอากร (duty free) ซึ่งผู้แทนกรมศุลกากรให้ความเห็นว่า จุดส่งมอบสินค้าถือเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรที่ ทอท. สามารถดำเนินการได้เองบริเวณพื้นที่ที่เป็นของ ทอท. ดังนั้น จึงขอให้ ทอท. ไปศึกษาว่าจะสามารถกำหนดจุดส่งมอบสินค้าเพื่อเป็นบริการสาธารณะที่ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรขาออกในเมืองรายอื่นสามารถส่งมอบสินค้า ณ จุดที่ ทอท. กำหนดได้หรือไม่ เพราะการมีจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะจะเป็นประโยชน์ต่อ ทอท. ประชาชน และประเทศโดยรวม ซึ่งทางสำนักผู้ตรวจการแผ่นดินได้ทำหนังสือแจ้งมติที่ประชุมไปยัง ทอท. แล้ว หากมีความคืบหน้าจะแจ้งให้สมาคมฯ ทราบต่อไป

ด้านนางรวิฐาเปิดเผยว่า หลังจากที่สำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำหนังสือแจ้งมติที่ประชุม 3 ฝ่าย ให้ ทอท. กลับไปศึกษาเพื่อกำหนดพื้นที่ทำจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะให้ผู้ประกอบการรายอื่นได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันนั้น หาก ทอท. ไม่ปฏิบัติตามความเห็นหรือข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินในเวลาอันสมควร ความหมายทั่วไปคือประมาณ 30 วัน นับจากวันที่ ทอท. ได้รับหนังสือจากสำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 มาตรา 33 กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องดังกล่าวไปให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในฐานะผู้กำกับ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ พิจารณาสั่งการและให้รายงานผลต่อผู้ตรวจการแผ่นดินทราบโดยเร็ว และถ้ายังไม่ปฏิบัติตามความเห็นหรือข้อเสนอแนะดังกล่าวโดยไม่มีเหตุผลอันควร โดยเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ หรือเกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมาก ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทำเรื่องรายงานต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เป็นกรณีเร่งด่วน

นางรวิฐา พงศ์นุชิต นายกสมาคมร้านค้าปลอดอากรไทย
นางรวิฐา พงศ์นุชิต นายกสมาคมร้านค้าปลอดอากรไทย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไมผู้ตรวจการแผ่นดินอ้างถึงข้อยกเว้นใน TOR ของโครงการบริหารกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ไม่ให้รวมถึงการดำเนินธุรกิจร้านค้าปลอดอากร ประเด็นนี้มีความหมายอย่างไร

นางรวิฐากล่าวว่า ใน TOR ของโครงการบริหารกิจกรรมเชิงพาณิชย์ กำหนดข้อยกเว้นเอาไว้ 3 อย่าง คือ 1. ห้ามผู้รับสัมปทานบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ประกอบกิจกรรมธุรกิจร้านค้าปลอดอากร 2. ห้ามประกอบธุรกิจโฆษณาภายในพื้นที่สัมปทาน 3. ห้ามทำธุรกิจขนส่ง ซึ่งกรมศุลกากรยืนยันมาโดยตลอดว่าจุดส่งมอบสินค้าถือเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากร สาเหตุที่ TOR กำหนดข้อห้ามไว้เช่นนี้ก็เพื่อป้องกันการผูกขาด หากผู้ประกอบการรายใดผูกขาดหรือควบคุม pick-up counter ได้ ผู้ประกอบการรายอื่นก็ไม่สามารถทำธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมืองได้

ปัจจุบันโมเดลธุรกิจร้านค้าปลอดอากรของไทยจึงมี 3 รูปแบบ โดยมีพื้นที่ที่อยู่ในการกำกับดูแลของ ทอท. 3 ส่วน คือ พื้นที่ร้านค้าปลอดอากร พื้นที่เชิงพาณิชย์ และจุดส่งมอบสินค้า

โมเดลที่ 1 สนามบินสุวรรณภูมิ พื้นที่ที่ใช้เป็นจุดส่งมอบสินค้า เดิมทีในสัญญาสัมปทานไม่ได้กำหนดพื้นที่จุดส่งมอบสินค้าอยู่ในพื้นที่ร้านค้าปลอดอากรและพื้นที่เชิงพาณิชย์ ต่อมา ทอท. ก็ตีความว่าจุดส่งมอบสินค้าเป็นกิจกรรมเชิงพาณิชย์ จึงถูกโอนเข้ามาอยู่ในพื้นที่เชิงพาณิชย์ และที่สำคัญ จุดส่งมอบสินค้าที่สนามบินสุวรรณภูมิ ทอท. ไม่ได้นำออกมาประมูล หากเข้าไปดูในสัญญาเช่าพื้นที่ทำร้านค้าปลอดอากร และสัญญาเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ทั้ง 2 สัญญา จึงไม่ได้ระบุจำนวนพื้นที่จุดส่งมอบสินค้าเอาไว้

โมเดลที่ 2 สนามบินดอนเมือง ทอท. นำพื้นที่จุดส่งมอบสินค้าเข้าไปรวมกับพื้นที่ร้านค้าปลอดอากร จากนั้นก็นำมาเปิดประมูลพร้อมกับพื้นที่เชิงพาณิชย์ แต่กำหนดข้อห้ามไม่ให้ผู้รับสัมปทานพื้นที่เชิงพาณิชย์นำพื้นที่ไปทำจุดส่งมอบสินค้า ขณะที่สนามบินสุวรรณภูมิตีความว่า จุดส่งมอบสินค้าเป็นการให้บริการทั่วไป ควรอยู่ในพื้นที่เชิงพาณิชย์ แต่สนามบินดอนเมืองทำอีกแบบหนึ่ง บริษัทคิงเพาเวอร์เป็นผู้ชนะการประมูลครั้งนั้น

โมเดลที่ 3 สนามบินภูเก็ต ทอท. แยกจุดส่งมอบสินค้าออกมาจากพื้นที่ร้านค้าปลอดอากรและพื้นที่เชิงพาณิชย์ จากนั้นก็นำออกมาเปิดประมูลต่างหาก โดยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ชนะการประมูลต้องจัดสรรพื้นที่ (operator) จุดส่งมอบสินค้าให้กับร้านค้าปลอดอากรในเมืองทุกรายที่ต้องการเปิดจุดส่งมอบสินค้าภายในพื้นที่ของสนามบินภูเก็ต ส่วนสนามบินอู่ตะเภาก็มีโมเดลคล้ายกับสนามบินภูเก็ต ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองทุกร้านสามารถมาเช่าพื้นที่เปิดจุดส่งมอบสินค้าที่อู่ตะเภาได้

โมเดลสัญญาของ_ทอท1